อกหัก

Love Actually | อกหักดีกว่ารักไม่เป็น แด่ความรู้สึกในวันเก่าและความเจ็บปวดรวดร้าวจากรักที่ไม่สมหวัง

คุณเคยอกหักหรือผิดหวังในความรักไหม? เชื่อว่าคุณยังจำทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นได้เสมอแม้เวลาจะผ่านมานานแค่ไหนก็ตาม น้ำตาของความเศร้าเสียใจที่หลั่งไหลออกมาไม่ขาดสาย อาการทุรนทุรายรุนแรงจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ และความรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวราวสิ้นใจ ล้วนเป็นอาการและความรู้สึกที่คนอกหักและผิดหวังจากความรักต่างเข้าใจเป็นอย่างดี

     น่าแปลก! ทั้งๆ ที่ร่างกายของเราปกติดีทุกอย่าง แต่ทำไมกลับรู้สึกทุกข์ทรมานเจียนตายขนาดนี้ได้ เกิดอะไรขึ้นกับเรากันแน่? เพื่อค้นหาคำอธิบายและสาเหตุของอาการบาดเจ็บทางความรู้สึกจากสภาวะอกหัก นักวิทยาศาสตร์จึงมุ่งให้ความสนใจไปที่ ‘สมองและการทำงานของระบบประสาท’ เป็นสำคัญ และเพื่อความเข้าใจอย่างชัดเจน เราจำเป็นต้องเริ่มศึกษาตั้งแต่ช่วงเวลาแรกเริ่มที่ความรู้สึกรักเกิดขึ้น

     เมื่อเรามีความรัก กลไกการทำงานของร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย สมองจะสั่งการหลั่งสารสื่อประสาทและฮอร์โมนหลายชนิด ได้แก่ โดปามีน เพื่อทำให้ร่างกายเกิดความรู้สึกมีความสุข เกิดความพึงพอใจ ช่วยกระตุ้นแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ให้เพิ่มมากขึ้น ออกซิโตซิน ช่วยยับยั้งความรู้สึกเศร้าหมองและความวิตกกังวล ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย วาโซเปรสซิน ทำหน้าที่สร้างเสริมความผูกพันใกล้ชิด เกิดเป็นความเชื่อมั่นและเชื่อใจกันและกัน เพราะช่วยยับยั้งความรู้สึกหวาดกลัวไว้ และสุดท้าย เอนดอร์ฟิน ทำให้รู้สึกมีความสุขขั้นสุด จนสามารถหลงลืมความทุกข์และความเจ็บปวดอื่นใดได้ชั่วขณะ ผลจากการทำงานของสารเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกดีและมีความสุขเมื่อมีความรักที่สมดังหวัง

     ในทางกลับกัน เมื่อเราอกหักหรือผิดหวังจากความรัก สมองจะสั่งการหลั่งสารสื่อสารประสาทและฮอร์โมนอีกชุดหนึ่ง ซึ่งส่งผลทำให้ร่างกายทำงานแตกต่างออกไปจากเดิม แล้วความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็แปรเปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน ได้แก่ คอร์ติซอล หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด เมื่อหลั่งออกมาจะทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะตึงเครียดและตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ร่างกายจะเข้าใจว่ากำลังตกอยู่ในอันตราย ทำให้กล้ามเนื้อต้องการเลือดเพื่อมาหล่อเลี้ยงมากขึ้นกว่าปกติ และอะดรีนาลิน ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักมากกว่าปกติ เพื่อสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย

     โดยปกติ ทั้งคอร์ติซอลและอะดรีนาลินเป็นกลไกทางวิวัฒนาการที่ทำให้เราสามารถเอาตัวรอดจากอันตรายที่เกิดขึ้นในยามคับขันได้อย่างดีเยี่ยม เป็นการตอบสนองการเผชิญหน้าเพื่อตัดสินใจว่าจะต่อสู้หรือหลบหนี ซึ่งช่วยกระตุ้นร่างกายให้ทำงานด้วยประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อต้องรับมือกับภัยที่คุกคามชีวิตที่เกิดขึ้นภายนอก

     ในกรณีอกหัก แม้ว่ารอบตัวเราไม่มีภัยคุกคามใดๆ แต่หัวใจกลับต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งๆ ที่ร่ายกายไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานมากมายขนาดนั้น ท้ายที่สุดกล้ามเนื้อหัวใจจะเหนื่อยล้า จนหัวใจขาดเลือด มีความรู้สึกเจ็บแน่นที่หน้าอกชั่วคราว และเกิดอาการหน้ามืดหรือหมดสติได้ อาการเหล่านี้ทางการแพทย์เรียกว่า Broken Heart Syndrome ค้นพบครั้งแรกในปี 1990 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงถ้าร่างกายประสบสภาวะเช่นนี้บ่อยๆ จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจในท้ายที่สุด

 

     ในเบื้องต้น เราทราบแล้วว่าความเจ็บปวดจากการผิดหวังจากความรัก เป็นผลจากการทำงานของสมองและระบบประสาท แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ข้อค้นพบใหม่ๆ สามารถเชื่อมโยงและอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างอาการอกหักกับสมองได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

     ในปี 2009 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาและมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา สงสัยว่าทำไมเวลาอกหักแล้วต้องเจ็บอก? จึงได้นำกลุ่มอาสาสมัครที่เพิ่งถูกหักอกมาหมาดๆ ไม่เกิน 6 เดือน เข้าร่วมการทดลองที่ทำร้ายจิตใจไม่น้อย เพราะพวกเขาต้องดูภาพอดีตคนรักและต้องนึกหวนไปในวันวานอันหวานชื่นอีกครั้ง พร้อมทั้งเข้าเครื่องสแกนการทำงานของสมอง พบว่า Anterior Cingulate Cortex หรือ ACC ซึ่งเป็นสมองส่วนทำหน้าที่รับรู้ความเจ็บปวดทางร่างกายกลับทำงานเมื่อเกิดความรู้สึกเจ็บปวด (ทางใจ) เพราะอกหัก

     จึงสรุปผลการศึกษาได้ว่า ไม่ว่าเราจะรู้สึกเจ็บปวดทางกายหรือทางใจ ล้วนเกิดจากการกระตุ้นของสมองส่วนเดียวกัน เราจึงรู้สึกเจ็บเหมือนกัน และถ้าต้องการระบุรายละเอียดให้ลึกลงไปอีก เราจะพบอีกว่า สมองส่วน ACC ทำงานร่วมกับเส้นประสาทบริเวณช่องอก นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเจ็บเฉพาะตรงอกเท่านั้น

 

     สุดท้ายแล้ว ‘เจ็บ’ คือคำเดียวที่สามารถอธิบายความรู้สึกเมื่ออกหักหรือผิดหวังจากความรักได้ดีที่สุด เพราะสมองรับรู้ความเจ็บปวดทางใจหรือทางอารมณ์ เป็นความเจ็บปวดเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย สมองจึงสร้างกลไกการทำงานเพื่อช่วยให้เราหลุดพ้นจากความรู้สึกเจ็บเพราะอกหัก และสามารถเริ่มมีความรักครั้งใหม่ได้ โดยสมองจะสั่งการทำงานอัตโนมัติเพื่อกำหนดและเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฟื้นฟูความรู้สึกจากความเศร้าโศกเสียใจ ทำให้ชีวิตสามารถดำเนินต่อไปอย่างเป็นปกติสุขที่สุด คล้ายคลึงกับวิธีการที่สมองพยายามเลิกพฤติกรรมเสพติดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เนื่องจากการตกหลุมรัก ถือเป็นอาการเสพติดรูปแบบหนึ่งด้วย

      ดูเหมือนว่าร่างกายของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เผชิญกับความเจ็บปวดเท่านั้น แต่ยังถูกออกแบบให้สามารถเยียวยาและรักษาอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในเรื่องความรัก ความรู้สึกเจ็บจากการถูกหักอก จึงเป็นความรู้สึกพื้นฐานที่สุดของชีวิต เพราะอย่างน้อยก็พิสูจน์ได้ว่าเราเป็นผู้ที่มีหัวใจ มีความรู้สึกที่พึงมี แม้ว่าความรักอาจไม่ใช่ประสบการณ์แสนสุขเสมอไป ในทางตรงกันข้ามอาจสร้างความทุกข์ทรมานให้เกิดขึ้น แต่เราก็ยังคงแสวงหาความรัก และขับเคลื่อนชีวิตให้ดำรงอยู่ได้โดยมีความรักเป็นเชื้อเพลิงคอยหล่อเลี้ยงชีวิต ความรักอาจจะทำให้เราทุกข์ แต่เรากลับยินดีและพร้อมเดิมพันด้วยความรู้สึกที่มีอยู่เต็มเปี่ยมทั้งหัวใจ

 

     ผมยังคงเชื่ออย่างหนักแน่นกับคำกล่าวที่ว่า ‘อกหักดีกว่ารักไม่เป็น’ เพราะความรักทำให้เราเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อใดที่เราอนุญาตให้ความรักเบ่งบานในพื้นที่ของหัวใจแล้ว ความผิดหวังจากรักหรืออาการอกหักย่อมเป็นสิ่งสามัญที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ หน้าที่ของเราคือการดูแลและรักษาหัวใจของตัวเองให้เต้นไปตามจังหวะในทุกความรู้สึก ทุกห้วงอารมณ์ และทุกความสัมพันธ์ของชีวิต

     เพราะหนึ่งในเหตุผลพื้นฐานของการมีชีวิตคือ การได้เป็นผู้ที่รู้สึกรักและถูกรัก