เป็นกันบ้างไหม เวลาหมดรักใครสักคน หรืออยากตัดใจจากใครคนหนึ่ง คุณจะค่อยๆ เห็นข้อเสียของคนคนนั้นมากขึ้น แบบที่คุณถึงกับต้องถามตัวเองว่า “ทำไมถึงไม่เคยเห็นด้านนี้ของเขามาก่อน หรือฉันมัวแต่คิดอะไรไปเองวะ”
จริงๆ ต้องบอกว่า ไม่ใช่คุณที่มองไม่เห็นข้อเสียหรือข้อที่ไม่เหมาะของคนที่แอบชอบมาก่อนหรอก แต่ต้องพูดใหม่ว่า จริงๆ คุณเห็นหรือรับรู้มาตลอด เพียงแต่ก่อนหน้านั้นหรือตอนที่ชอบคนคนนั้นมากๆ คุณไม่ยอมและไม่อยากจะสนใจข้อมูลด้านลบของเขาต่างหาก เรียกอีกอย่างว่า คุณเลือกที่จะมองข้ามไปนั่นเอง
ยกตัวอย่าง เพื่อนเราคนหนึ่งเพิ่งตัดใจจากผู้ชายที่กำลังคุยๆ อยู่ เพื่อนเล่าให้ฟังว่า เพิ่งมารู้สึกได้ทีหลังว่าคนที่คุยด้วยเนี่ยไม่เห็นจะเป็นคนน่ารักอย่างที่เคยคิดไว้เลย เอาจริงๆ ผู้ชายคนนี้เป็นคนไม่ค่อยสนใจคนอื่นด้วยซ้ำ แต่ที่ผ่านมาเพื่อนเราชอบคิดเอาเองว่า เหตุผลที่ผู้ชายคนนี้ดูไม่ค่อยสนใจใครเป็นเพราะเขากำลังมุ่งมั่นกับการสร้างอนาคตตัวเอง ก็เลยยุ่งจนไม่มีเวลาสนใจใคร
กลับกลายเป็นว่าพอเพื่อนเราไม่ชอบคนนี้แล้ว เพื่อนเราคนเดิมกลับมองสิ่งเดียวกันนี้ด้วยคำตอบใหม่และดูจะตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น นั่นคือผู้ชายคนนี้ไม่ค่อยเอาใจใส่คนอื่นนั่นแหละถูกต้องแล้ว และที่เขาดูไม่ได้สนใจใคร ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเขายุ่ง แต่เพราะเขาเป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว
ด้วยความที่ก่อนหน้านี้ เพื่อนเราชอบเขามาก จึงพยายามหาข้อแก้ตัวให้สิ่งที่ผู้ชายคนนี้เป็นในมุมบวกหรือมุมที่ดีเกินความเป็นจริง เข้าทำนองว่า ตอนมีความรัก เห็นอะไรก็สวยงามไปหมด แต่พอหมดรักก็ตาสว่าง เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงมากขึ้น ดังนั้น เวลาคนเราตัดใจจากใครสักคนได้ ความผิดหวังอาจไม่ใช่แค่เรื่องว่าคนนั้นไม่รักเรา แต่กินรวมไปถึงว่าเขาคนนั้นไม่ใช่คนแบบที่เราคาดคิดไว้
สำหรับการมองคนที่แอบชอบในแง่ดีเกินไปนั้น ถ้าอธิบายในมุมวิชาการ มันคือเรื่อง ‘Cognitive Bias’ หรืออคติ ความลำเอียงในการรับรู้ กล่าวคือ สมองคนเรามีข้อจำกัดในการประมวลผล เพื่อช่วยให้เราประมวลผลสิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น สมองคนเราจะประมวลผลสิ่งที่รับรู้โดยโน้มเอียงไปตามสิ่งที่เชื่อก่อนหน้านี้ ซึ่งนำไปสู่ ‘Confirmation Bias’ หรือการเห็นด้วย หรือเปิดรับเฉพาะสิ่งที่ตนเห็นด้วย และปิดรับสิ่งที่ตนต่อต้าน
เช่น เวลาคนเราประทับใจใครสักคน ก็แปลว่าเรามีมุมมองในแง่ดีกับคนนั้นเป็นทุนเดิม จากนั้นเราก็เลือกที่จะเปิดรับข้อมูลที่ส่งเสริมให้เราประทับใจคนคนนั้นมากขึ้น ในทางกลับกัน ข้อมูลอะไรก็ตามที่บ่งชี้ว่าเขาไม่ดี หรือเขาไม่ใช่ หรือไม่เหมาะกับเรา เราก็จะไม่สนใจและพยายามคิดเข้าข้างไปในทางที่ดี
“
พอเชื่อว่าผู้ชายคนนี้แสนดีและเป็นคนที่ใช่ เราก็เกิดความคาดหวังในตัวผู้ชายคนนี้มากขึ้นว่า เขาต้องเป็นสามีที่ดีในอนาคตแน่ๆ เขาต้องผู้ชายที่รักและทะนุถนอมเรา เอาใจใส่ รักคนอื่นเหมือนที่เราเป็น
”
ปัญหาที่ตามมาคือ ความลำเอียงในการรับรู้ทำให้คนเราตัดสินใจผิดพลาดได้ รวมถึงการสร้างความคาดหวังต่อตัวคนที่เราแอบชอบผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง
สำหรับเรื่องแรก เมื่อคนเราเกิดความลำเอียงในการรับรู้ เราอาจตกหลุมรักคนที่ไม่เหมาะกับเราได้ง่าย ยกตัวอย่างกรณีเพื่อนคนเดิม เพื่อนเรามีสเปกในใจว่าอยากได้แฟนที่รักคนอื่นเป็น เหตุผลเพราะเพื่อนเราเป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่น และก่อนหน้านี้เพื่อนเราเคยคบกับแฟนเก่าที่มีนิสัยไม่สนใจใคร แล้วกลายเป็นว่าเพื่อนเราอึดอัดมาก ที่ต้องเห็นแฟนไม่ค่อยแคร์ใคร แถมยังดุและมองเพื่อนเราว่า ไม่ฉลาดเลย ทำนองว่าไปให้คนอื่นเขามาเอาเปรียบทำไม ดังนั้น เพื่อนเราจึงคิดเสมอว่าถ้าอยากคบใครสักคน ก็อยากได้คนที่รักคนอื่นเป็นเหมือนตัวเอง
ทีนี้ พอมาเจอคนใหม่ ความที่เพื่อนเราเป็นคนมองคนในแง่ดี บวกกับเรื่องความลำเอียงในการรับรู้ เพื่อนเราเลยสร้าง ‘ชุดความจริง’ เกี่ยวกับผู้ชายคนใหม่ในมุมที่แสนดี ข้อมูลอะไรก็ตามที่บ่งบอกว่าผู้ชายคนนี้ไม่ค่อยแคร์คนอื่น ก็กลายเป็นว่าถูกกดลงไป จนกระทั่งมีข้อมูลทำนองนี้โผล่ขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ จนเพื่อนเรารู้สึกตงิดๆ บวกกับผู้ชายคนนี้เองก็ทำตัวไม่ค่อยแคร์เพื่อนเราเท่าไหร่ ตอนนั้นนั่นแหละที่เพื่อนเราเริ่มมาคิดได้ว่าผู้ชายที่กำลังคุยด้วยก็ไม่พ้นอีหรอบเดิมเหมือนแฟนเก่า
สำหรับเรื่องที่สอง ต่อเนื่องมาจากเรื่องแรกคือ พอลำเอียงในการรับรู้ ก็เกิดการสร้างความหวังในตัวอีกฝ่ายที่บิดเบี้ยวจากความจริง กล่าวคือ พอเพื่อนเราชอบผู้ชายคนนี้มากๆ เพื่อนเราก็จะเริ่มจินตนาการถึงภาพผู้ชายซูเปอร์แสนดี แถมยังเลือกเปิดรับข้อมูลแง่ดีมาเก็บใส่ใจ ส่วนอะไรไม่ดีก็ยอมไม่รับรู้ ทีนี้พอเชื่อว่าผู้ชายคนนี้แสนดีและเป็นคนที่ใช่ เพื่อนเราก็เกิดความคาดหวังในตัวผู้ชายคนนี้มากขึ้นว่า เขาต้องเป็นสามีที่ดีในอนาคตแน่ๆ เขาต้องผู้ชายที่รักและทะนุถนอมเรา เอาใจใส่ รักคนอื่นเหมือนที่เราเป็น
แต่ก็อย่างที่รู้ว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ พอผู้ชายคนนี้ทำอะไรบางอย่างผิดไปจากที่คาดหวังไว้ เพื่อนเราก็เสียใจและผิดหวังว่า ทำไมผู้ชายคนนี้ถึงไม่เป็นแบบนั้น ที่สำคัญยังพาลโกรธและหงุดหงิดผู้ชายคนนี้อีกด้วย เพราะรู้สึกว่าเขาช่างนิสัยไม่ดีเสียเลย ทั้งที่จริงผู้ชายคนนี้อาจไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่ความที่เพื่อนเราผิดหวังหนัก พอรู้สึกไม่ชอบเขาแล้ว ก็เลยพาลมองผู้ชายคนนี้ในแง่ร้ายมากไปเลย กลายเป็นว่าตอนนี้ก็ไม่ยอมคุยหรือยอมเป็นเพื่อนกับผู้ชายคนนี้ต่อ ซึ่งทั้งหมดนี้ถ้าอธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายๆ มันก็คือเรื่องของการ ‘คิดไปเอง’ และ ‘คาดหวังไปเอง’
“
อย่าให้ความชอบหรือความหลงมาครอบงำจนมองไม่เห็นความจริง
”
ทีนี้มาถึงคำถามว่า แล้วจะทำยังไงที่จะไม่ให้ความลำเอียงในการรับรู้ (Cognitive Bias) มาสร้างปัญหาในความรักความสัมพันธ์
คำตอบง่ายๆ คือ ต้องรู้เท่าทันความคิดตัวเอง ซึ่งพูดง่ายมาก แม้จะทำได้ยากก็ตาม แต่ก็ดูจะเป็นวิธีเดียวที่คุณต้องหัดเตือนตัวเองเอาไว้ว่า เบื้องหลังความคิดความเข้าใจของตัวคุณ มีไอ้เจ้าความลำเอียงในการรับรู้ปนอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแอบชอบใคร ขอให้วางใจเป็นกลางและพิจารณาสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง แล้วคุณอาจตัดสินใจได้ดีขึ้นว่า คนที่คุณแอบชอบอยู่นั้นเหมาะหรือไม่เหมาะกับคุณ
ถัดมาคือ คุณต้องลดการจินตนาการภาพคนที่คุณแอบชอบ เพราะการจินตนาการว่าเขาน่าจะเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ มันเป็นการสร้าง ‘ความคาดหวัง’ ขึ้นมาครอบคนคนนั้นอีกที ซึ่งแปลได้ว่า คุณไม่ได้ชอบคนคนนั้นตามธรรมชาติของเขาจริงๆ แต่คุณกำลังทำให้คนคนนั้นมาตรงตามความคาดหวังของคุณ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่บ้าบอหรือ absurd สุดๆ ที่คุณพยายามให้ใครสักคนมาพอเหมาะพอดีกับความคาดหวังของคุณเอง มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ฉะนั้น หากคุณอยากมีความรักความสัมพันธ์ดีขึ้น เรื่องหนึ่งที่คุณต้องระวังและมีสติให้มากๆ คือ อย่าให้ความชอบหรือความหลงมาครอบงำจนมองไม่เห็นความจริง เพราะทันทีที่คุณหันหลังให้ความเป็นจริง มันคือการก้าวเข้าสู่ความเจ็บปวดไปแล้ว