ช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ เราได้คุยกับเพื่อนผู้หญิงหลายคนเกี่ยวกับเรื่องหัวใจ และมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทำเราสะพรึงกลัวมาก ถึงขั้นเอามือทาบอก ร้องว่า “โอ๊ย นี่มึงดูอะไรกันขนาดนี้” นั่นก็คือเรื่องการส่องเฟซบุ๊กของคนที่แอบชอบ
อันที่จริงต้องบอกก่อนว่า เรื่องส่องเฟซบุ๊กเป็นหนึ่งในประเด็นวิทยานิพนธ์ที่เราเคยศึกษา แต่ถึงอย่างนั้น ทุกครั้งที่ได้ยินใครเล่าเรื่องนี้ก็ยังทำให้เราตื่นเต้นได้เสมอ ยิ่งช่วงหลังๆ ที่คนย้ายไปเล่นอินสตาแกรมกันมากขึ้น และมีลูกเล่นใหม่ๆ เช่น ไอจีสตอรี (IG Story) ก็ทำให้เรื่องการ ‘ส่อง’ พัฒนาและน่าติดตามไปขึ้นอีก
ทีนี้เราเลยคิดว่า ไหนๆ ก็มีคนมาพูดเรื่องนี้ให้ฟังบ่อยๆ ก็น่าจะลองเขียนดูหน่อย ว่าการส่องเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียคนที่แอบชอบมันเป็นอย่างไร และมีอะไรที่น่าสนใจในแง่มุมทางวิชาการเรื่องการจีบกัน
การส่องคืออะไร? การส่องหมายถึงการเข้าไปดูเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียของคนอื่นโดยไม่ทิ้งร่องรอยให้คนนั้นรู้ตัว ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า creep (ย่องคลาน) และ stalk (ไล่ตาม) ส่วนเหตุผลของการส่องก็มีได้หลายอย่าง เช่น แค่อยากเผือกว่าอีกฝ่ายเป็นใคร แต่ที่จะเล่าในกรณีนี้คือ ส่องเพราะสนใจหรือแอบชอบ
สำหรับแพลตฟอร์มยอดนิยมที่คนมักใช้ในการส่องคนที่แอบชอบก็คือ เฟซบุ๊ก เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเฟซบุ๊กเป็นที่ที่คนนิยมใช้เพื่อการเข้าสังคมและบอกเล่าตัวตน ดังนั้น ข้อมูลต่างๆ เช่น ประวัติการทำงานการศึกษา ความชื่นชอบ งานอดิเรก มีแฟนหรือไม่มีแฟน ทัศนคติทางการเมือง หรืออีตานี่มีเพื่อนร่วมกับเราเป็นใครบ้าง จึงปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊กมากกว่าแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น นั่นจึงทำให้เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับการจะเริ่มต้นรู้จักตัวตนอีกฝ่าย
ปัจจุบันก็เริ่มมาเป็นส่องอินสตาแกรมกันบ้างแล้ว เนื่องจากอินสตาแกรมเองเป็นแพลตฟอร์มที่คนใช้บอกเล่าตัวตนด้วยเหมือนกัน เพียงแต่เน้นผ่านรูปภาพ วิดีโอ ต่างจากเฟซบุ๊กที่มีฟอร์แมตอื่นๆ ด้วย เช่น สเตตัส ลิงก์โพสต์ เป็นต้น
นอกจากนี้การที่หลายคนหันไปเล่นอินสตาแกรมบ่อยกว่าเฟซบุ๊ก ก็ยิ่งทำให้อินสตาแกรมเป็นที่ที่เหมาะแก่การส่องมากขึ้นเข้าไปอีก เพราะมันมีข้อมูลตัวตนอีกฝ่ายที่สดใหม่มากกว่า
“
การส่องจึงมีลักษณะเป็นการตกหลุมรักแบบทางเดียว
”
ยิ่งมีไอจีสตอรี (IG Story) ที่เน้นให้ลงรูปหรือวิดีโอ ไลฟ์แบบเรียลไทม์ของวันนั้น ก็ยิ่งเหมาะสำหรับการติดตามดูว่าคนที่เราแอบชอบเขาทำอะไร อยู่ที่ไหน ไปกับใคร เพียงแต่ว่าการส่องในที่นี้ก็อาจไม่ได้หมายถึงการส่องในแบบเดิม เพราะอินสตาแกรมดันโชว์ชื่อว่าใครมาดูไอจีสตอรีของเราบ้าง เพียงแต่คนที่เข้าไปดูก็สามารถทำให้มันดูเนียนๆ หรือไม่มีนัยยะว่าแอบชอบได้ เพราะก็มีคนเยอะแยะที่ชอบรันดูไอจีสตอรีของเพื่อนเป็นประจำทุกวัน (ซึ่งประเด็นไอจีสตอรี ไว้มีโอกาสจะมาเขียนจริงจัง เพราะไอจีสตอรีมีมิติที่ทั้งทำให้มันคลุมเครือและไม่คลุมเครือได้)
การส่องจึงมีลักษณะเป็นตกหลุมรักแบบทางเดียว หากว่ากันตามหลักวิชาการ การส่องเฟซบุ๊กถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการจีบกันของมนุษย์ เนื่องจากแต่เดิมการจะรู้เรื่องของอีกฝ่ายได้นั้นจะเกิดขึ้นในลักษณะเป็นการเปิดเผยตัวตนแบบสองทาง หรือที่เรียกว่า Two-way self-disclosure หมายถึง คนสองคนสื่อสารระหว่างกันเพื่อรู้จักตัวตนของอีกฝ่าย หรืออาจจะใช้บุคคลที่สามเป็นแหล่งข้อมูล เช่น ถามเพื่อนของคนที่แอบชอบ
ขณะที่ตอนนี้เราสามารถรู้จักอีกฝ่ายแบบทางเดียวได้เลย โดยไม่จำเป็นที่อีกฝ่ายต้องมาสื่อสารทางตรงกับเรา หรือที่เรียกว่า One-way self-disclosure ผลคือมันทำให้เกิดอีกปรากฏการณ์หนึ่งตามมาคือ การตกหลุมรักแบบทางเดียว หรือการที่เราชอบใครสักคนเพราะเราดูเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียของเขา โดยที่ทางนั้นไม่ต้องมาอ่อยหรือแอ๊วเราเลย
นี่ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางวิชาการด้านการจีบกัน ว่าโซเชียลมีเดียเข้ามาทำบทบาท ‘บุคคลที่สาม’ ที่ใช้ขอข้อมูลอีกฝ่าย และยังทำให้เกิดการตกหลุมรักแบบทางเดียวด้วย
เราจะมาดูกันว่าคนเราเวลาจีบๆ กัน หรือดูๆ กันอยู่ เขาจะส่องเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียกันอย่างไร ประเด็นสำคัญที่เดาว่าหลายคนน่าจะอยากรู้คือ เวลาจีบกัน เขาจะส่องเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียด้วยหรือเปล่า
จากการศึกษาในวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การจีบกันบนสื่อออนไลน์’ ของเรา พบว่าการส่องจะเกิดใน 2 ช่วงตอนจีบ คือ 1. ช่วงทำความรู้จัก กับ 2. ช่วงที่กำลังจะสนิทสนม โดยทั้งสองช่วงนั้นมีวัตถุประสงค์และวิธีการส่องที่แตกต่างกัน
ช่วงทำความรู้จัก การส่องจะถูกใช้เพื่อเช็กคร่าวๆ ว่าคนที่เรากำลังจะรู้จักอยู่เนี่ยเป็นใคร ทำงานที่ไหน เป็นเพื่อนกับใคร เหตุผลก็เพราะในช่วงนี้คนจะไม่มั่นใจ (Uncertainty) ว่าอีกฝ่ายไว้ใจได้ไหม มีตัวตนจริงหรือเปล่า ดังนั้นก็เลยใช้การส่องเพื่อเช็ก แต่หากฝ่ายถูกจีบมั่นใจอยู่แล้วว่าคนนี้มีตัวตนจริง เช่น เป็นเพื่อนของเพื่อน ก็อาจจะไม่ส่องในช่วงนี้ (เพราะยังไม่ได้สนใจตัวอีกฝ่าย) แต่จะไปส่องอีกทีคือช่วงถัดไป
ช่วงถัดไปคือช่วงที่กำลังจะสนิทสนม ในช่วงนี้ก็คือช่วงเดียวกับที่เราตกใจเพื่อนชะนีอย่างที่เกริ่นไป มันเป็นช่วงที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือสองฝ่ายต่างสนใจในตัวอีกฝ่าย ก็เลยใช้การส่องเพื่อทำความรู้จักมากขึ้น เช็กว่ามีแฟนหรือยัง หรือมีคู่แข่งหัวใจอยู่หรือเปล่า รวมทั้งเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาความสัมพันธ์
“
ส่องได้ส่องไป แต่อย่าให้ลั่นก็พอ
”
ยกตัวอย่าง เพื่อนชะนีของเรานางหนึ่งที่เข้าไปส่องเฟซบุ๊กผู้ชายแบบละเอียดยิบ คือไล่ดูทั้งโพสต์และคอมเมนต์ รวมไปถึงคอมเมนต์ตอบคอมเมนต์อีกที บางทีถ้าคนคอมเมนต์มีความน่าสงสัยว่าจะได้ข้อมูลเพิ่ม เช่น ดูเหมือนจะรู้อะไรสำคัญๆ บางอย่างของผู้ชายคนนั้น ก็จะเข้าไปส่องเฟซบุ๊กคนที่มาคอนเมนต์ต่ออีก หรือถ้ามีผู้หญิงมาคอมเมนต์ แล้วดูใช้ภาษาอ่อยๆ อย่างมีพิรุธ ก็จะเข้าไปส่องว่านางเป็นใคร มีโอกาสจะเป็นคู่แข่งหัวใจหรือเปล่า
นอกจากนี้เท่าที่เราคุยกับเพื่อนผู้หญิงหลายคน ก็น่าตกใจมากว่าผู้หญิงจำนวนไม่น้อย มีความพยายามถึงขั้นไล่ส่องดูย้อนหลังเป็นหลักปี ซึ่งนี่คือสิ่งที่ทำให้เราสะพรึงมากว่าจะดูอะไรกันขนาดนั้น เพราะตัวเรา อย่างเก่งก็ดูย้อนหลังไม่เกิน 6 เดือน ถ้าเลยไปกว่านี้ก็ไม่ค่อยอยากรู้อะไรแล้ว แถมหลายคนก็มีเทคนิคการส่องสไตล์นักสืบแบบเหนือชั้น เช่น ถ้าอยากรู้ว่าอีกฝ่ายมีแฟนไหม หลายคนจะใช้วิธีดูรูปไปงานแต่งงาน เพราะคนส่วนใหญ่มักจะพาแฟนไปออกงานด้วยกัน หรือใช้วิธีดูว่าใครถ่ายรูปให้ กล่าวคือพวกรูปที่ไปไหนมาไหน ถ้ามีรูปยิ้มหน้าบานหรือยิ้มหวานๆ ใส่กล้อง ก็สันนิษฐานได้เลยว่าตากล้องคือแฟนมันนั่นเอง
หรือบางคนก็ใช้การส่องเพื่อรู้ว่าอีกฝ่ายสนใจเรื่องอะไร เป็นคนแบบไหน เพื่อที่จะได้รู้ว่าควรหาเรื่องอะไรไปชวนคุยเพื่อสร้างความสนิทสนมถูกใจกันมากขึ้น อย่างคู่รักคู่หนึ่งที่เราสัมภาษณ์ ทีแรกฝ่ายชายเหมือนจะได้กินแห้ว เพราะชวนสาวคุยเท่าไหร่ก็คุยไม่สนุก สุดท้ายก็เลยไปไล่ดูเฟซบุ๊กของผู้หญิง และพบว่าผู้หญิงคนนี้ชอบทำอาหาร เพราะนางถึงขั้นสร้างอัลบั้มรูปในเฟซบุ๊กเป็นเรื่องทำอาหารโดยเฉพาะ ผู้ชายคนนี้ก็เลยกลับไปจีบใหม่โดยใช้เรื่องทำอาหารเป็นเรื่องชวนคุย ปรากฏว่าถูกใจผู้หญิงคนนี้มาก ก็เลยคุยกันสนุกขึ้น ต่อมาก็คุยเรื่องอื่นกันได้เรื่อยๆ จนในที่สุดก็ชอบกันจนตกลงกันเป็นแฟน ปัจจุบันแต่งงานมีลูกด้วยกันไปแล้ว
ดังนั้น ถ้าจะให้สรุปว่าคนเขาส่องกันช่วงไหนบ้าง คำตอบคือ มันขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นเจ้าตัวคิดยังไงกับอีกฝ่าย ถ้ายังไม่ชอบ แต่อยากรู้ว่าเป็นใคร ก็จะไปส่องเพื่อเช็กแค่คร่าวๆ แต่ถ้าชอบหรือถูกใจ ก็จะไปส่องเพื่อสืบ เพื่อดูว่าจะเอาไงต่อดี
และทั้งหมดนี้ก็ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับส่องเฟซบุ๊ก ส่องโซเชียลมีเดียของคนที่แอบชอบ ที่เราได้ศึกษาและวิเคราะห์ ซึ่งเราเชื่อว่าหลายคนคงมีประสบการณ์เหล่านี้ร่วมอยู่แล้ว เพราะคงเคยทำกันมาหมด ใช่ไหม?
และสุดท้ายที่อยากฝากไว้สำหรับนักส่องทั้งหลาย คือ…
“ส่องได้ส่องไป แต่อย่าให้ลั่นก็พอ”