คนรอบข้าง

Love Actually | แรงหนุนจากคนรอบข้าง ส่งผลบวกต่อ ‘คู่รักเพศเดียวกัน’ ได้อย่างไร?

คนจำนวนไม่น้อยมักมองความสัมพันธ์ของตัวเองเป็นแบบปัจเจก หมายถึงถ้าคบใครมันก็เป็นเรื่องของเรากับอีกคน ส่วนคนอื่นไม่เกี่ยว แต่ถ้าว่ากันตามตรง มีตัวอย่างให้เห็นเยอะมากว่าคนอื่นนี่แหละตัวดีเลยที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ บางครั้งอาจถึงขั้นทำให้เลิกรากันได้เลย

 
     ไม่เชื่อก็ดูปัญหาระดับชาติอย่างแม่ผัว-ลูกสะใภ้ได้ หรือไม่ถ้าเพื่อนคุณไม่ชอบขี้หน้าแฟนของคุณขึ้นมา ก็เป็นเรื่องใหญ่ได้เหมือนกัน ฉะนั้น เวลาคบใครก็ตาม เราไม่ได้คบแค่คนนั้นคนเดียว แต่คบเป็นแพ็กเกจคือ ครอบครัว เพื่อน และคนรอบข้างของเขา ในทางกลับกัน อีกฝ่ายก็ต้องเจอกับแพ็กเกจของฝั่งเราเช่นกัน

     ทีนี้ถ้าเป็นคนรักเพศเดียวกัน (Homosexual) หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) เรื่องที่จะมีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องก็จะยิ่งยากและยิ่งซับซ้อน เพราะไม่ใช่แค่คนรอบข้างจะยอมรับแฟนหรือไม่ แต่ไปไกลว่านั้นคือพวกเขาจะยอมรับตัวตนของเรา ยอมรับแฟนเรา และยอมรับความสัมพันธ์ของเรากับแฟนได้หรือเปล่า ซึ่งมันสร้างความอึดอัดยิ่งกว่าความสัมพันธ์แบบกระแสหลักหรือคนรักต่างเพศ (Heterosexual) มากโข
 
     สำหรับบทความนี้จะไม่เน้นไปที่คนรักเพศเดียวกัน แต่จะพูดถึง ‘คนรอบข้าง’ แทน เหตุผลก็เพราะอยากชี้ให้เห็นว่าการช่วยให้ความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันดีและมีความสุข ไม่ได้อาศัยแค่ความเข้าใจของเจ้าตัว (คนรักเพศเดียวกัน) เท่านั้น แต่คนรอบข้างก็มีส่วนสำคัญมากด้วย
 
     อย่างในงานวิจัยโดย Karen L. Blair และ Diane Holmberg1 ในปี 2008 พบว่า การสนับสนุนจากคนรอบข้างส่งผลดีต่อความสัมพันธ์และสภาพจิตใจของคู่รักเพศเดียวกัน นอกจากนี้ หากคนรอบข้างสนับสนุนความสัมพันธ์ (support for relationship) กล่าวคือไม่ใช่แค่สนับสนุนทั่วไปๆ (general support) ยังเชียร์การคบกันด้วยละก็ จะช่วยให้ความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันยิ่งดีขึ้นไปอีก

     อธิบายให้เห็นภาพ ถ้าคนรักเพศเดียวกันมีเพื่อนฝูงหรือพ่อแม่ที่ไม่ต่อต้าน แต่สนับสนุนให้ทำตามใจตัวเองได้ เจ้าตัวก็จะรู้สึกสบายใจกับการคบหาแฟน และถ้ายิ่งพ่อแม่หรือเพื่อนถึงขั้นเชียร์ อารมณ์ประมาณว่าลูกหรือเพื่อนเรารักใคร เราก็รักด้วย เจ้าตัวก็จะมีความสัมพันธ์กับแฟนที่ดีขึ้นไปอีก เพราะได้แรงหนุนจากคนรอบข้างเต็มๆ

     ดังนั้น จะเห็นได้ว่าคนเราทุกคนต่างเป็นปัจจัยของกันและกัน บางครั้งคุณอาจอยู่ในจุดที่เป็น ‘คนรอบตัว’ ของคนที่รักชอบเพศเดียวกัน เช่น คุณเป็นเพื่อนของเขา เป็นแม่ของเขา เป็นพี่สาวของเขา เป็นหัวหน้าของเขา และถ้าคุณอยากช่วยให้คนที่คุณรักเหล่านั้นมีความสุข สิ่งหนึ่งที่คุณทำได้เลยก็คือ การเป็น ‘คนรอบตัว’ ที่ไม่ต่อต้าน แต่คอยให้กำลังใจและสนับสนุน
 
     อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องยากที่จะให้คุณลุกมาสนับสนุน ยิ่งถ้าคุณมีความคิดว่า ถ้าพวกเขาเป็นแบบที่คุณคิดไว้มันน่าจะดีกว่า เช่น ถ้าเขาชอบคนต่างเพศได้ก็น่าจะดี ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าคนหลายคนไม่ได้ตั้งใจจะต่อต้านหรือขัดเพราะไม่ชอบ แต่ขัดเพราะว่ารักและเป็นห่วงมากต่างหาก โดยคิดว่าถ้ามีรสนิยมทางเพศแบบกระแสหลักจะใช้ชีวิตได้ง่ายกว่า ไม่ต้องมาเจอแรงกดดันจากสังคม

     หรืออาจติดภาพว่าความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันไม่มั่นคงและไม่ยั่งยืนเท่ากับความสัมพันธ์แบบรักต่างเพศ ซึ่งข้อนี้ก็สบายใจได้เลย เพราะในงานวิจัยโดย Glenn I. Roisman และคณะ2 ในปี 2008 พบว่าคู่รักเพศเดียวกันที่ตกลงคบหาจริงจัง (committed relationship) ไม่ได้แตกต่างจากคู่รักต่างเพศเลย กล่าวคือ เมื่อพวกเขาตกลงคบกัน พวกเขาก็จริงจังเหมือนกับคู่รักกระแสหลักนั่นแหละ ที่สำคัญงานวิจัยนี้ยังพบด้วยว่า คู่รักเลสเบี้ยนยังเข้ากันได้ดีมาก (Lesbian couples interacted more harmoniously than other couple types.)

     ดังนั้น ถ้าคุณเป็น ‘คนรอบข้าง’ ของคนรักเพศเดียวกัน คุณอาจต้องชั่งใจด้วยว่าคุณจะแปรความรักและความเป็นห่วงใยของคุณต่อพวกเขาอย่างไรดี? คือคุณอยากให้พวกเขามาเป็นแบบที่คุณคิดไว้ เพราะคุณคิดเองว่าทางนี้มันดีกว่า หรือคุณจะแปรความรักนั้นด้วยการสนับสนุนให้พวกเขาได้เป็นตัวของตัวเองและได้คบกับคนที่เขารัก

     แต่อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ ถ้าคุณเชียร์สิ่งที่พวกเขาเป็น พวกเขาจะมีความรักความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่คุณอยากเห็น คือได้เห็นคนที่คุณรักมีความสุข
 
     บางครั้งความรักอาจหมายถึงการที่คุณร่วมยินดีที่คนที่คุณรักได้เป็นตัวของตัวเองก็ได้นะ คุณคิดว่าไง?

 


เอกสารอ่านประกอบ

1Blair, K. L., & Holmberg, D. (2008). Perceived social network support and well-being in same-sex versus mixed-sex romantic relationships. Journal of Social and Personal Relationships, 25(5), 769-791.

2Roisman, G. I., Clausell, E., Holland, A., Fortuna, K., & Elieff, C. (2008). Adult romantic relationships as contexts of human development: A multimethod comparison of same-sex couples with opposite-sex dating, engaged, and married dyads. Developmental Psychology, 44(1), 91-101.