ความรัก

Love Actually | Easy to fall but Hard to define หากความรักนี้ว่าด้วยนิยามและความหมาย

เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความอยากรู้เป็นแรงจูงใจผลักดันให้เกิดพฤติกรรมเพื่อขับเคลื่อนชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติของสัญชาตญาณอันเป็นผลผลิตจากวิวัฒนาการ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้ามีใครให้ความสนใจเรื่องความรักของเรา หรือแม้แต่เราเองที่เป็นฝ่ายให้ความสนใจความรักของคนอื่น ‘ความรักและความสัมพันธ์’ น่าจะเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในวงสนทนาอยู่บ่อยครั้ง ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ด้วยเหตุผลพื้นฐานที่สุดนอกเหนือจากความอยากรู้ คือเพื่อแชร์มุมมองและประสบการณ์รักของกันและกัน

หนึ่งในคำถามที่ฟังดูแสนจะธรรมดาอย่าง ‘รักคืออะไร?’ กลับสร้างปฏิกิริยาตอบกลับจากคำตอบของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ไม่ผิดคาดนัก เพราะความรักเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล รักของเรา รักของเธอ รักของเขา แต่ละคนมีประสบการณ์รักและถูกรักเป็นของตัวเอง ดังนั้น ในคำถามเดียวกัน บางคนสามารถตอบได้ทันที บางคนอาจต้องใช้เวลาชั่วครู่เพื่อตรองก่อนตอบ หรือบางคนกลับต้องใช้เวลาชั่วชีวิตเพื่อตอบ มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้คำตอบนี้ได้ เพราะเมื่อเรื่องที่ถูกถามเกี่ยวข้องกับฉากชีวิตของตนแล้ว จากคำถามธรรมดากลับกลายเป็นปัญหาหัวแตกที่คิดยังไงก็คิดไม่ตก

 

ความรักคือสิ่งนามธรรมที่มนุษย์สามารถรับรู้ถึงการมีอยู่ผ่านความรู้สึกและการแสดงออกด้วยการกระทำ

ในทางตรงกันข้าม เมื่อเปิดพจนานุกรมหาคำจำกัดความของคำว่า ‘รัก’ เราจะพบชุดคำที่อธิบายไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน นั่นเป็นเพราะธรรมชาติของมนุษย์ต้องการหาคำอธิบายให้กับทุกๆ สิ่งเสมอ ความรักคือสิ่งนามธรรมที่มนุษย์สามารถรับรู้ถึงการมีอยู่ผ่านความรู้สึกและการแสดงออกด้วยการกระทำ ระบบนิยามหรือการให้ความหมายจึงถูกนำมาใช้เป็นไม้บรรทัดเพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน และถือเป็นข้อตกลงให้ใช้ร่วมกันโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับบางคนอาจมีข้อจำกัดหรือเหตุผลบางอย่างที่ทำให้นิยามความรักไม่ตรงกับพจนานุกรม หรืออาจจะไม่ใกล้เคียงเลยด้วยซ้ำ

ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องมากที่สุด ความหมายของความรักย่อมแตกต่างกันออกไปตามบริบทของยุคสมัย วัฒนธรรม สภาพสังคม และกระบวนการคิดส่วนบุคคล จึงเป็นเรื่องยากอย่างมากที่จะนิยามความรักให้เป็นสากลดังที่ปรากฏในพจนานุกรม

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ผู้ไม่เคยละความพยายามจึงได้นิยามความรักด้วยความรู้และความเข้าใจเฉพาะทางจากการตระหนักได้ถึงข้อจำกัดในบริบทต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในทางศาสนา นิยามความรักคือการเชื่อและศรัทธาต่อคำสอนขององค์พระศาสดา หรือในทางชีววิทยา นิยามความรักคือการกระทำเพื่อการสืบพันธุ์ ซึ่งทำให้เผ่าพันธุ์ดำรงอยู่ได้และสืบทอดต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางจิตวิทยา ช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ความรักได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะมีความข้องเกี่ยวโดยตรงกับความรู้สึก อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมมนุษย์ (จริงๆ แล้วทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมนุษย์ จิตวิทยาจะให้ความสนใจทั้งหมด เพราะจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่มุ่งศึกษาพฤติกรรมมนุษย์เป็นสำคัญ เพื่อทำความเข้าใจ อธิบาย ทำนาย และควบคุมพฤติกรรม) นิยามความรักหมายรวมถึงทฤษฎีและแนวความคิดในแง่มุมของจิตวิทยา จึงแตกต่างจากนิยามโดยทั่วไป เพื่อต้องการให้ความหมายที่ครอบคลุมและรอบด้านมากที่สุด

ความรักแม้จะเกิดขึ้นจากความรู้สึก แต่ไม่ได้เป็นเรื่องความรู้สึกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในระยะยาว ความรักเป็นการแสดงออกทางการกระทำที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน มันจึงเป็นความผูกพันมากกว่าความรู้สึก

ในหนังสือ The Art of Loving ที่เขียนขึ้นในปี 1956 โดย เอริก ฟรอมม์ นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน กล่าวไว้ว่า ความรักแม้จะเกิดขึ้นจากความรู้สึก แต่ไม่ได้เป็นเรื่องความรู้สึกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในระยะยาว ความรักเป็นการแสดงออกทางการกระทำที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน มันจึงเป็นความผูกพันมากกว่าความรู้สึก

นอกจากนี้ ในปี 1986 โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้นำเสนอทฤษฎีความรักสามมุม หรือ Triangular Theory of Love โดยอธิบายว่า ความรักมี 3 องค์ประกอบสำคัญ

ความลุ่มหลง (passion) เป็นองค์ประกอบด้านแรงจูงใจ มีสภาวะทางอารมณ์หรือความรู้สึกจากการกระตุ้นเร้าทางกาย เช่น การตื่นตัว หัวใจเต้นเร็วขึ้น หรือความรู้สึกถูกดึงดูดทางเพศจากความพอใจในลักษณะของฝ่ายตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้เหนี่ยวนำให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างเพื่อตอบสนองการกระตุ้นเร้า เช่น กอด จูบ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์

ความใกล้ชิด (intimacy) เป็นองค์ประกอบด้านอารมณ์ มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน เกิดเป็นความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง ความเห็นใจ ความเอื้ออาทร การแสดงความห่วงใยและใส่ใจ มีความไว้วางใจต่อกัน จนทำให้เกิดความเข้าใจอันดีทั้งในชีวิตของกันและกัน

การผูกมัด (commitment) เป็นองค์ประกอบด้านความคิด คือการตัดสินใจที่จะรักและมีพันธะทางใจหรือทางสังคมเพื่อใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งต่างจากอารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้วหายไป เพราะการผูกมัดจะทำให้ความสัมพันธ์ที่คลุมเครือชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสามารถแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทั้งในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง

ทั้งสามองค์ประกอบนี้เป็นแก่นสำคัญของความรักและความสัมพันธ์ทุกรูปแบบตลอดช่วงชีวิตของเรา ซึ่งสามารถจัดประเภทความรักได้ 7 รูปแบบ ได้แก่
– รักชอบพอ (linking) คือรักที่มีแต่ความใกล้ชิดเท่านั้น เป็นความสัมพันธ์ของเพื่อนและคนรู้จัก
– รักว่างเปล่า (empty love) คือความสัมพันธ์ที่มีการผูกมัดแต่ปราศจากความรัก
– รักคลั่งไคล้หรือรักแรกพบ (infatuated love) เป็นรักที่เกิดขึ้นบ่อย มีเพียงความลุ่มหลงหรือเสน่หาเท่านั้น
– รักโรแมนติก (romantic love) คือรักที่มีความใกล้ชิดและความลุ่มหลง เป็นความปรารถนาที่จะอยู่ใกล้ชิดพร้อมถ่ายทอดความรู้สึกโดยไม่มีพันธะผูกมัด
– รักแบบมิตรภาพ (companionate love) คือรักที่ประกอบด้วยความใกล้ชิดและการผูกมัด เป็นความสัมพันธ์ระยะยาวอย่างเพื่อนสนิทหรือคู่รักที่ใช้ชีวิตร่วมกัน
– รักลวงตา (fatuous love) คือรักที่มีความลุ่มหลงและการผูกมัด เป็นความรักที่เกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว เพราะขาดความเข้าใจระหว่างกัน
– รักสมบูรณ์แบบ (consummate love) คือความรักที่มีครบองค์ประกอบทั้งสาม เป็นความรักในอุดมคติที่ทุกคนต่างวาดฝันและมุ่งหวังให้เกิดขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีองค์ประกอบใดเลย จะเรียกว่าสภาวะไร้รัก (non-love)

 

ประสบการณ์รักที่เกิดขึ้นย่อมทำให้เรารู้จักความรักในแบบฉบับที่เราเข้าใจ

ทั้งหมดนี้คือความรักภาคทฤษฎีในทางวิชาการ ด้วยการรวบรวมข้อมูลที่ได้มาจากข้อเท็จจริง ผ่านการวิเคราะห์อย่างมีระบบแบบแผน พัฒนาจนเกิดเป็นแนวความคิด ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วเราต่างเข้าใจความรักผ่านความรู้สึกจากภาคปฏิบัติเป็นอันดับแรก รักจากแม่ รักจากครอบครัว รักจากเพื่อน รักจากคู่ชีวิต หรือแม้กระทั่งรักจากสิ่งที่เราชอบ เคารพ หรือเทิดทูนก็ตาม

ประสบการณ์รักที่เกิดขึ้นย่อมทำให้เรารู้จักความรักในแบบฉบับที่เราเข้าใจ และเมื่อย้อนกลับไปสู่คำถามที่ว่า ‘รักคืออะไร?’ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกชวนตกใจกับคำนิยามความรักของแต่ละคนที่อาจแตกต่างราวฟ้ากับเหว หรือแม้ในคนเดียวกัน นิยามความรักก็กลับแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาของช่วงชีวิตได้

เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุผลเสมอ นั่นจึงทำให้ ‘รัก’ ของเราไม่เท่ากัน