friends with benefits

Love Actually | ‘มากกว่าเพื่อน แต่ไม่ใช่แฟน’ ดีร้ายอย่างไร? กับความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน

เรามีคนรู้จักอยู่สองสามคนที่เคยมีความสัมพันธ์แบบ friends with benefits หรือแบบ ‘มากกว่าเพื่อน แต่ไม่ใช่แฟน’ ซึ่งรวมไปถึงการมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งร่วมกัน แต่ว่าแทบทุกคนที่เรารู้จักไม่สามารถรักษาสถานะแบบเบลอๆ นี้ได้ยาวเลย

     เหตุผลเพราะ มักจะเกิดปัญหาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มอยากเป็นเจ้าข้าวเจ้าของหรือคบหาจริงจังกับอีกฝ่าย แต่ว่าอีกฝ่ายกลับไม่ต้องการคบแบบนั้น ผลที่ตามมาคือไปต่อกับสถานะเบลอๆ นี้ไม่ได้ และจบลงด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างหยุดและแยกย้ายกันไปเอง

     อย่างในงานวิจัยชื่อ Friendship After a Friends with Benefits Relationship: Deception, Psychological Functioning, and Social Connectedness (2013) โดย Jesse Owen และคณะ พบว่ามีเพียง 20% ของคนที่มีความสัมพันธ์แบบ friends with benefits ที่พัฒนาเป็นแฟนกันได้ต่อ และพบว่ากว่า 85% ไม่ยอมพูดให้เคลียร์กันถึงสถานะของทั้งคู่ ซึ่งสุดท้ายก็ไปต่อไม่ได้

     ฉะนั้น มันเลยค่อนข้างชัดเจนว่า

ความสัมพันธ์หรือสถานะแบบเบลอๆ ที่ไม่ตกลงให้ชัดเจนว่าเป็นอะไรกันแน่นั้น ไม่ใช่พื้นฐานที่ดีที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มีความสุข

     เข้าทำนองที่คนชอบพูดกันว่า ความสัมพันธ์ที่แข็งแรงเกิดจากการสื่อสารและการตกลงกันให้ชัดเจน

     ถ้าถามเรา เราก็เคยคิดแบบนี้เหมือนกันนะว่า ความสัมพันธ์ที่ดีมันต้องชัดเจนสิ! ยิ่งปล่อยให้งงๆ เบลอๆ นานเข้า ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อใครเลย แต่ว่าไม่นานมานี้เราเพิ่งเข้าใจเรื่องนี้ในมุมที่กว้างขึ้น โดยได้เห็นว่าไม่ใช่ทุกสถานะเบลอๆ จะแย่ไปเสียหมด เพราะมันยังมีอีกรูปแบบที่ไม่ได้แย่และอาจเป็นผลดีกับคู่รักบางคู่ด้วย

     สถานะที่ว่านี้คือสถานะแบบ ‘มากกว่าเพื่อน แต่ไม่ใช่แฟน แต่ก็อยากจะเป็นแฟน’ ที่เราขอเรียกมันสั้นๆ ว่า ‘some’ ยืมมาจากคำฮิตในหมู่วัยรุ่นเกาหลีซึ่งเกิดจากชื่อเพลงดังเมื่อ 3-4 ปีก่อน นั่นคือเพลง Some ร้องโดย SoYou วง Sista กับ JunggiGo

     เนื้อหาของเพลงพูดถึงสถานะเบลอๆ ของชายหญิงคู่หนึ่งที่ชอบกัน แต่ก็ยังไม่แน่ใจชัดเจนว่าอีกฝ่ายคิดยังไงแน่ หรือพร้อมจะตกลงเป็นแฟนกันไหม มันเลยกลายเป็นคำว่า some ในทำนองว่า ‘เป็นอะไรสักอย่าง’ ซึ่งถ้าถามว่ามันอารมณ์ไหน มันก็อารมณ์ช่วงคนใกล้จะเป็นแฟนกันนี่แหละ

     ถ้าว่ากันตามตรง สถานะ some เป็นเหมือนช่วงรอยต่อ (Transition) หลังจากคนสองคนได้ศึกษาดูใจและสนิทสนมกันถึงจุดที่ชอบกันแล้ว แต่ก็ยังไม่สนิทใจหรือมั่นใจมากจนถึงขั้นตกลงคบกัน แน่นอนว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่หลายคนบอกว่ามันแฮปปี้ที่สุด อาจจะแฮปปี้กว่าตอนเป็นแฟนด้วยซ้ำ เพราะมันได้ลุ้น ซึ่งโดยปกติแล้ว คู่รักหลายคู่จะไม่ค้างอยู่ในสถานะ some นานนัก อาจจะแค่เดือนหรือสองเดือนก็ตกลงเป็นแฟนกันแล้ว พูดอีกอย่างคือสถานะ some เป็นเหมือนจุดพักสั้นๆ ก่อนกระโดดไปเป็นแฟน

     แต่ถ้าบังเอิญฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่เปิดใจให้ใครง่ายๆ อยากใช้เวลาดูใจใครนานๆ หรือกลัวการผูกมัด สถานะ some ก็อาจลากยาวนานกว่าคู่รักทั่วไป หรือไม่มันอาจเป็นสถานะสุดท้ายของคนสองคนก็ได้เช่นกัน

     อย่างตัวเราก็เคยอยู่ในภาวะแบบนี้เช่นกัน ตอนแรกเราไม่เข้าใจคนรักว่าเมื่อถึงจุดที่ต่างฝ่ายต่างชอบกันแล้ว ทำไมถึงไม่ยอมเปิดใจมาลองคบกัน ทำไมถึงพอใจจะให้สถานะมันเบลอๆ อย่างนี้อยู่อีก แต่ว่าพอคุยกันเรื่องนี้ทีไร ก็กลายเป็นว่าแย่กว่าเดิม เพราะกลายเป็นการกดดันอีกฝ่ายไปอีก

     สิ่งที่ตามมาคือ คนรักเราก็ไม่แฮปปี้ เพราะลึกๆ เขาก็ไม่พร้อมที่จะพูดเรื่องนี้ แต่ถามว่าเขาอยากให้เราหายไปจากชีวิตเขาหรือลดระดับมาเป็นเพื่อนเลยไหม? ก็ไม่ใช่ เพราะดูแล้วเขาเองก็ไม่ได้ต้องการแบบนั้น เนื่องจากทุกครั้งที่เราถอดใจว่าพอแล้ว เขาก็เศร้าและไม่มีความสุข ซึ่งคนอาจมองว่าแบบนี้เข้าข่ายเรียกว่า ‘กั๊ก’ หรือเปล่า?

     เราคิดว่าสามารถมองแบบนั้นได้เหมือนกันนะ แต่ต้องดูกันในรายละเอียดด้วยว่า กั๊กเพราะเห็นแก่ตัว? กั๊กเพราะยังไม่เข้าใจความต้องการตัวเองดีพอ? หรือกั๊กเพราะกลัวการถูกผูกมัดด้วยนิยามคำว่าแฟน?

     ถ้าเป็นเราแต่ก่อน เราคงจับทุกอย่างที่เข้าข่ายว่ากั๊กเข้าไปในกล่อง ‘เพราะเห็นแก่ตัว’ แต่หลังจากผ่านการใช้ชีวิตและพูดคุยกับผู้คนมาถึงจุดหนึ่ง เราได้เรียนรู้ว่าคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ระยะเวลาและการเข้าใจตัวเองของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน แถมแต่ละคนก็มีเงื่อนไขแตกต่างกันไปอีก

การจะใช้เกณฑ์เพียงเกณฑ์เดียวตัดสินใจว่าการขอคงสถานะเบลอๆ นั้นเท่ากับความเห็นแก่ตัว มันคงเป็นการด่วนตัดสินมากไปหน่อย

     นอกจากนี้เรายังเคยคุยกับคนหลายคนที่มีปมกลัวการถูกผูกมัด หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ชอบการถูกกดดันหรือการตกลงอะไรที่ชัดเจน เพราะรู้สึกเปราะบางกับการถูกผูกมัด โดยเฉพาะนิยามของคำว่าแฟน

     แต่ถามในแง่ของพฤติกรรมหรือการกระทำ พวกเขายินดีและมีความสุขที่จะเอาใจคนรักในแบบที่คนเป็นแฟนเขาทำกัน และหลายคนยังบอกอีกด้วยว่า “เอาจริงๆ มันก็เรียกว่า ‘แฟน’ แล้วแหละ! เพียงแต่ไม่ชอบให้เรียกว่า ‘แฟน’ เท่านั้นเอง” ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับว่าพวกเขาอยากจะไปคบซ้อนหรือใช้ประโยชน์จากการไม่ถูกเรียกว่าเป็นแฟนกับใคร หรือเพื่อไว้ใช้จีบคนอื่น เปล่าเลย มันเป็นแค่เรื่องความเปราะบางภายในใจเท่านั้นเอง

     ส่วนตัวเรา เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเดาว่าคงมีคู่รักหลายคู่ที่เดินทางมาถึงสถานะ some แล้วก็ต้องเซย์กู๊ดบายกันไป เพราะพบว่าอีกฝ่ายไม่ยอมตกลงที่จะเรียกว่าแฟน ก็เลยเข้าใจว่าคงพัฒนาต่อไม่ได้แล้ว ก็เหมือนกับตัวเราที่เกือบจะถอดใจอยู่หลายรอบ แต่โชคดีว่าเราพยายามเข้าใจคนรักและมีโอกาสได้คุยกับคนกลัวการถูกผูกมัด ก็เลยค่อยๆ เข้าใจและยอมรับว่าคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีความเปราะบางและเหตุผลแตกต่างกันไป

     ฉะนั้น ถ้าเราเสียสละความพอใจของตัวเองด้วยการไม่ถือสากับเรื่องนิยามที่ชัดเจนได้ เราก็ควรจะทำ เพื่อให้ความสัมพันธ์ไปต่อ เพราะอย่างไรเสียคนรักของเราก็ดีและแคร์เรามาก สุดท้ายแล้วความสุขของเราคือการที่เราและเขาต่างแฮปปี้ที่จะได้เป็นตัวของตัวเองทั้งคู่ และนี่คือความรักที่เราอยากมอบให้

     หากใครก็ตามที่กำลังเผชิญกับสถานะเบลอๆ คุณอาจต้องทบทวนมันให้ดีก่อนว่าความสัมพันธ์ของคุณมีเนื้อในที่เป็นไปเพื่ออะไร? เพื่อเซ็กซ์แบบ friends with benefits หรือเปล่า? หรือเป็นเพราะจริงๆ แล้วอีกฝ่ายอยากกั๊กคุณไว้กับเขา แต่ก็ยังอยากคุยกับคนอื่นอีกหรือเปล่า? หรือเพราะอีกฝ่ายเขาแค่มีเงื่อนไขหรือความกลัวการถูกผูกมัด แต่ลึกๆ เขาก็รักและอยากดูแลคุณ?

     สถานะเบลอๆ มันอาจจะเบลอระหว่างคุณกับเขาได้ แต่สำคัญคือคุณต้องไม่เบลอเอง เพราะถ้าคุณรู้ตัวว่าอยู่ในสถานะเบลอๆ นี้ไปเพื่ออะไร อย่างเช่น ถ้าคุณชัดเจนว่าคุณอยากเป็น friends with benefits กับคนคนนั้น และคุณก็ชัดเจนกับการเป็นแบบนั้น สถานะนี้ก็ยังดำเนินไปได้ต่อ หรือถ้าสถานะเบลอๆ นี้ดำเนินไปเพราะคุณแค่ไม่อยากกดดันคนรักคุณ มันก็ไปได้ต่อ และดีไม่ดีเขาอาจเอ่ยปากยอมเป็นแฟนคุณก็ได้เมื่อถึงวันหนึ่งที่เขาพร้อม

     ฉะนั้น อย่ารังเกียจทุกสถานะที่มันเบลอๆ เลย มันอาจมีรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ ขอเพียงคุณเข้าใจมันและเข้าใจตัวเอง คุณก็จะชัดเจนเองว่าเอาไงกับมันดี