Kiva | สตาร์ทอัพไม่แสวงผลกำไรที่สร้างโอกาสทางการเงินให้กับคนทั่วโลกกว่า 2 ล้านคน

        “คนจนเพราะไม่อยากทำงาน ขี้เกียจ ทำตัวเองทั้งนั้น”

        ความเชื่อหนึ่งของโลกทุนนิยมที่หลายคนอาจเคยได้ยินหรือซ้ำร้ายบางคนอาจเชื่อแบบนั้นก็ได้

        จริงอยู่ที่ว่าคนที่ยากจนนั้น ‘บางคน’ อาจเป็นแบบนั้น อาจจะขี้เกียจหรือไม่อยากทำงานก็เลยทำให้มีปัญหาทางการเงิน แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุเดียวที่จะทำให้ใครบางคนกำลังตกที่นั่งลำบากด้านการเงิน

         เพราะความยากจนที่เกิดขึ้นกับใครสักคนนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งภายนอก (บริบทของสังคม การเมือง สภาพแวดล้อม โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา หน้าที่การเงิน การถูกกีดกันทางเพศ ผิวสี ความพร้อมของครอบครัว ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ฯลฯ) และภายใน (การตัดสินใจที่ผิดพลาด ไม่ขวนขวายหาโอกาส วิธีการใช้ชีวิต ฯลฯ)

        คนที่มีชีวิตยากจนไม่ได้หมายความว่า ไม่อยากทำงาน ไม่มีความฝัน ไม่อยากทำให้ชีวิตดีขึ้น พวกเขาล้วนแต่อยากออกไปจากจุดที่เลวร้ายของชีวิต และไม่อยากต้องให้คนอื่นมาสงสาร แต่พวกเขาไม่มีโอกาสที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริง

        ไม่ใช่เพียงคนที่ร่ำรวยเท่านั้นที่อยากรู้สึกภูมิใจหรือมีความสุข ไม่ใช่เพียงคนที่ร่ำรวยเท่านั้นที่มีความสามารถและมีความคิดสร้างสรรค์ หลายๆ คนก็มีความสามารถเหล่านี้และทุกคนก็อยากมีโอกาสที่สร้างชีวิตที่ดีกว่าให้กับตัวเองและทำให้ความฝันของตัวเองเป็นจริงทั้งสิ้น

        สิ่งที่ทุกคนต้องการคือโอกาสและคนที่เชื่อว่าเราจะใช้โอกาสนั้นได้อย่างเต็มท่ีตลอดเส้นทางที่จะเดินไปข้างหน้า

 

        นี่คือคอนเซ็ปท์ของ Kiva สตาร์ทอัพเพื่อสังคมไม่หวังผลกำไรที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งที่มีอุดมการณ์เดียวในปี 2005 ซึ่งประกอบไปด้วย แมตต์ แฟลนเนอรี่ (Matt Flanner), เจสสิก้า แจ็คลีย์ (Jessica Jackley), เปรมาล ชาห์ (Premal Shah) และ เซลซา บาชี (Chelsa Bocci) ได้พูดคุยกันถึงประสบการณ์เดินทางของตัวเองในประเทศต่าง ๆ อย่างแทนซาเนีย ยูกันดา อินเดีย และแอฟริกาใต้ แต่ละคนก็ได้เจอกันผู้ประกอบการตัวเล็ก ๆ ในท้องถิ่นทุรกันดารและยากจน ผู้ประกอบการเหล่านั้นถือว่ายากจนและมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (เราพูดถึงเรื่องปัจจัยสี่ที่ไม่เพียงพอด้วยซ้ำ) ต้องการเงินเพียงแค่เล็กน้อยเพื่อจะได้เริ่มทำธุรกิจบางอย่างเพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว

        บางคนแค่ต้องการไดร์เป่าผมสำหรับธุรกิจร้านตัดผม บางคนแค่เงินไม่กี่พันบาทเพื่อเอาไปซื้อแพะซื้อวัวมาเลี้ยงเพื่อขยายฟาร์มที่ทำอยู่ บางรายเป็นแม่ม่ายที่พยายามสร้างธุรกิจเครื่องเทศบรรจุซองขายต้องการเงินหลักหมื่นเพื่อเป็นต้นทุนสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ และอีกมากมายที่พวกเขาได้พบเจอ

        ทั้งสี่คนเลยอยากหาทางช่วยเหลือคนเหล่านี้ที่ได้พบเจอ นักธุรกิจตัวเล็ก ๆ ผู้ประกอบการและชาวนาชาวไร่ที่ยากจนพยายามหาทางเพื่อสร้างรายได้ ยกระดับชีวิตของตัวเอง ครอบครัวและคนรักให้ดีขึ้น ไม่ได้งอมืองอเท้าขี้เกียจ แต่ลุกขึ้นมาสู้กับชีวิตที่แม้จะลำบากแค่ไหนก็ต้องทำ แต่พวกเขาไม่ได้ต้องการสร้างระบบ ‘บริจาค’ เหมือนที่เราคุ้นเคย เพราะมันเป็นความสัมพันธ์ที่คนรวยแบ่งเงินมาให้คนจนนิดหน่อยเท่าที่สบายใจแล้วก็จบไป ส่วนคนที่ได้รับ ก็ไม่รู้นำไปต่อยอดอะไรหรือไม่ เพราะไม่มีใครรู้ ทีม Kiva จึงอยากสร้าง ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างผู้ให้และผู้รับ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับ ‘ความรับผิดชอบ’ ที่ผู้รับต้อง ‘คืน’ เงินเหล่านั้นมาหลังจากที่นำไปสร้างโอกาส ต่อยอด และทำรายได้มากขึ้นแล้ว คนที่ให้เงินก็สามารถนำเงินนี้ไปมอบให้คนอื่นต่อไปได้อีก

 

        เซลซา รองประธานฝ่ายการตลาดและสังคม กล่าวว่า

        “จากประสบการณ์ของฉันในอดีตคือการบริจาคเป็นเรื่องของความรู้สึกสงสาร แม้ว่ามันจะทำด้วยความรักก็ตาม แต่ไอเดียของการ ‘ให้ยืม’ (loan) เปลี่ยนมุมไปเลยสำหรับฉันนะ มันเป็นไอเดียของการมีส่วนร่วมในความสัมพันธ์ ที่เรามีจุดหมายเดียวกัน แชร์สิ่งที่มีร่วมกัน”

        Kiva กลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับคนที่ต้องการ ‘ยืม’ (Borrowers) เงินทั่วโลกสามารถมาแชร์เรื่องราวของตัวเอง (คล้ายกับ Kickstarter หรือ Indiegogo) พร้อมทั้งเป้าหมายสิ่งที่อยากทำ ประวัติส่วนตัว เงินที่ต้องการ และระยะเวลาที่จะเอาเงินมาคืนเมื่อไหร่ ส่วนคนที่ ‘ให้ยืม’ (Lenders) จะมาจากที่ไหนก็ได้ในโลกเช่นกัน เลือกได้ว่าจะสนับสนุนหรือให้ใครยืมเงินไปทำตามความฝันบ้าง เริ่มต้นเพียงแค่ 25 เหรียญ (ประมาณ 900 บาท) ซึ่งถามว่าเยอะไหมก็ไม่ได้เยอะ แต่จะมีคนกล้าให้คนที่ไม่รู้จักยืมเงินบนโลกออนไลน์จริง ๆ เหรอ? แถมยังเป็นช่วงปี 2005 ที่โซเชียลมีเดียกำลังเพิ่งเริ่มต้น (ยังมี Friendster, MySpace, Hi5 อยู่เลย Facebook คือเบบี๋มากๆ ) ขณะที่ eBay/Amazon เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ไอเดียของการโอนเงินไปให้คนแปลกหน้าในต่างประเทศมันฟังเป็นการหลอกลวงชัด ๆ (Scam)

         แต่ด้วยความฝันอันแรงกล้าของกลุ่มผู้ก่อตั้งและความบ้าบิ่นของพวกเขา Kiva จึงกลายเป็นจริงขึ้นมาได้

        เปรมาล ประธานบริษัท Kiva กล่าวว่า

        “Kiva เป็นเหมือนไอเดียที่ถึงจุดที่ต้องเกิด ดังนั้นช่วง 36 เดือนแรกมันเลยคล้ายกับหินก้อนใหญ่ที่กลิ้งลงเขาพร้อมกับคนกลุ่มหนึ่งที่คอยวิ่งตามมันลงมา”

        คนกลุ่มนั้นคือผู้ร่วมก่อตั้งที่ทำงานอย่างหนักตลอดเวลาหลายเดือน ไม่รับเงินเดือน นอนกองกันในห้องของเปรมาล กินพิซซ่าที่ค้างอยู่สองสามวันเป็นอาหารและกระดานไวท์บอร์ดบนฝาผนังที่เขียนความคิดที่เกิดขึ้นช่วงตีหนึ่งตีสอง เวลาประชุมก็ไปที่ ‘ออฟฟิศ’ (พวกเขาชอบล้อว่ามันเป็นออฟฟิศ) อีกแห่งที่เป็นร้านอาหารแถวบ้าน

         เจสสิก้าทำหน้าที่รวบรวมกลุ่มของคนที่จะยืมเงินกลุ่มแรกมา ขอนัดถ่ายรูป สัมภาษณ์ ทำโปรไฟล์ และเขียนเรื่องราวต่าง ๆ เอาขึ้นเว็บไซต์ให้ ส่วนแมตต์ก็สร้างเว็บไซต์แบบแรกขึ้นมาช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ต่อจากนั้นทีมก็เริ่มจัดปาร์ตี้ที่บ้าน โดยคนที่จะมางานปาร์ตี้ต้องจ่ายเงินค่าเข้าโดยการเป็น ‘คนให้ยืมเงิน’ ส่วนโลโก้ของบริษัทก็แลกมาด้วยกีต้าร์ของคนในทีมให้กับกราฟิกดีไซเนอร์เพื่อออกแบบให้ ทุกคนวางงานอื่น ๆ และแผนการจะกลับไปเรียนต่อของตัวเองลงเพื่อมามุ่งมั่นกับ Kiva อย่างหนัก จนมันเริ่มกลายเป็นกระแสเล็ก ๆ ขึ้นมา

        จากที่เริ่มต้นคนรู้จัก Kiva จากงานปาร์ตี้และกลุ่มผู้ก่อตั้ง แต่หลังจากที่คนยืมเงินเอาเงินมาคืน คนที่ให้ยืมก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่สุดยอดมาก นอกจากจะรู้สึกดีแล้ว เงินที่ได้มาพวกเขาก็เอาไปช่วยคนอื่นต่อได้อีก แล้วก็ไปบอกเพื่อนๆ กันปากต่อปากว่าถ้าอยากช่วยเหลือคนอื่น แทนที่จะบริจาคเงิน เอามาให้คนอื่นยืมผ่าน Kiva ดีกว่า จนกลายเป็นว่าคนเข้ามาที่เว็บไซต์จนเติบโตเร็วมาก ทีมต้องคอยอัพเดทโค้ดเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้งานอยู่ตลอดเวลา เปรมาลเล่าถึงช่วงเวลานั้นว่า

         “เราแทบตามกันไม่ทันเลยกับความกระตือรือร้นของคนที่อยากแบ่งเงินให้คนอื่นยืมแบบฟรี ๆ เพื่อไปทำสิ่งดีๆ ”

 

        แน่นอนว่ามีคนเชื่อ ก็มีคนไม่เชื่อในสิ่งที่พวกเขาทำ โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนหรือธนาคาร องค์กรไม่แสวงผลกำไรของพวกเขามีปัญหาในการเปิดบัญชีธนาคารเพราะไม่เชื่อว่าไอเดียนี้จะเวิร์ก นอกจากนั้นยังเจอคำถามเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและการบริหารจัดการดูแล แถมทีมก็ยังเคยเจอปัญหาการโกงจากเจ้าหน้าที่ดูแลเงินในพื้นที่ที่รับผิดชอบและมาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ (เนื่องจาก Kiva ต้องทำงานกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรในพื้นที่นั้น ๆ เช่น สมมติว่า องค์กรไม่แสวงผลกำไรแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ รับเป็นผู้ดูแลลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ Kiva ก็จะโอนเงินมาให้องค์กรที่กรุงเทพฯ แล้วก็ดูแลกันต่อ พอคนที่ยืมเอาเงินมาคืนก็มาคืนองค์กรในพื้นที่ พวกเขาก็เอาไปคืนให้ Kiva) จนพวกเขาต้องกลับมาแก้ไขเรื่องกฎการเข้าร่วมเป็นองค์กรพาร์ทเนอร์และการตวจสอบให้เข้มงวดมากขึ้นเพื่อจะไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก

        นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องทางเทคนิค องค์กรไม่แสวงผลกำไรนอกจากจะเดินหน้าด้วยเงินของผู้ก่อตั้งซึ่งก็ไม่ได้มากมายแล้ว ยังต้องพึ่งพาเงินบริจาคของคนที่เชื่อในวิศัยทัศน์ขององค์กรด้วย ช่วงแรก ๆ เซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์ล่มบ่อยเพราะไม่มีเงินมาซื้ออุปกรณ์ที่ดีกว่านี้ จนกระทั่งมีคนมาบริจาคเงินก้อนหนึ่ง (โดยไม่เอ่ยนาม) จนได้อุปกรณ์ที่ดีขึ้นมาใช้ ต่อจากนั้นก็เปิดระบบ ‘Tips’ หรือการบริจาคผ่านเว็บไซต์ (ซึ่งก็ยังเป็นแหล่งทุนหลักที่ช่วยให้องค์กรอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ใครสนใจอยากช่วยไปตรงนี้ได้ครับ https://www.kiva.org/donate/supportus) ช่วงปีสองปีแรกมันเป็นช่วงเวลาแห่งความโกลาหลแต่ตัวเลขที่พวกเขาทำได้มันน่าทึ่งมา ค่าเฉลี่ยที่คนยืมเงินไปแล้วคืนสูงถึง 97% และมีการให้ยืมเงินไปมากกว่า 500,000 เหรียญ นับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งสุดๆ ไปเลยว่ามั้ย

        การไปเป็นพาร์ทเนอร์กับองค์กรในพื้นที่หลายร้อยแห่งก็ช่วยทำให้วิสัยทัศน์และความตั้งใจของ Kiva ขยายออกไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก นอกจากนั้นยังได้รับความช่วยเหลือของกลุ่มอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยลงแรงในพื้นที่ คุยกับพาร์ทเนอร์และตรวจสอบความน่าเชื่อถือพร้อมทั้งคอยดูเรื่องการกู้ยืมให้เป็นไปอย่างถูกต้อง อาสาสมัครจะคอยไปหากลุ่มคนที่เป็น ‘คนยืม’ แล้วสัมภาษณ์ นำเรื่องราวมาแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วนำขึ้นเว็บไซต์ ซึ่งตอนนี้อาสาสมัครมีมากกว่า 500 คนทั่วโลกแล้ว (ในปี 2018) และคนที่เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ อย่างวิศวกรรม, กฏหมาย, ระบบการเงิน และการบริหารจัดการก็เริ่มเข้ามาร่วมสร้างทีมด้วยกันต่อ

        บุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง Oprah, Bill Clinton หรือ Nicholas Kristof ต่างพูดถึงการสนับสนุนบน Kiva อย่างเปิดเผยทำให้ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น คนที่เคยเป็นผู้ให้ยืมจะบอกเหมือนกันว่า Kiva ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ถึงการให้โอกาสกับผู้อื่น เป็นสิ่งที่เขาสามารถสอนลูกๆ ได้ว่าโลกนี้ยังมีคนที่ต้องการความช่วยเหลืออีกมากมาย เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของคนอื่นได้

        Kiva ไม่เพียงแต่ทำลายกรอบความคิดของการให้คนแปลกหน้ายืมเงินแล้วไม่มีทางได้คืน (ซึ่งแน่นอนมันก็คงมีโอกาสเกิดขึ้นอยู่) ด้วยการจัดตั้งพาร์ทเนอร์ที่ไว้ใจได้ในพื้นที่ หลังจากนั้นก็เป็นการคัดเลือกที่เข้มงวดชัดเจน คนที่มายืมมีเป้าหมายว่าจะใช้เงินทำอะไรแล้วจะคืนเมื่อไหร่ โดยถ้าผ่านการคัดเลือกให้ขึ้นบนเว็บไซต์ก็ยืมได้สูงสุดถึง 15,000 เหรียญ (ประมาณ 535,000 บาท) โดยไม่มีดอกเบี้ยแล้วทยอยคืนภายในเวลา 36 เดือนหรือ 3 ปีต่อจากนั้น

        เป้าหมายของคุณจะมีคนมาให้ยืมเงินรึเปล่าก็ต้องขึ้นอยู่กับว่ามีคนเห็นคุณค่าของมันหรือเปล่าด้วย เช่น ถ้ามีเป้าหมายอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพโดยขอยืมเงิน 50 เหรียญเพื่อซื้ออุปกรณ์มาซ้อม แบบนี้อาจจะยากหน่อยเพราะคนที่ให้ยืมก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเป้าหมายที่วัดผลไม่ได้ แต่ถ้าเป็นอยากยืม 1000 เหรียญเพื่อไปซื้อวัว 5 ตัวสำหรับการขยายฟาร์ม แบบนี้ยังมีโอกาสเพราะเห็นว่าเอาไปทำอะไร

         คนที่มาขอยืมเงินส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่ส่วนใหญ่แล้วไม่สามารถยืมเงินที่ธนาคารด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำได้เนื่องจากไม่มีเครดิตหรือทรัพย์สินมาค้ำประกัน บางคนมาขอยืมเพื่อนำกลับมาสร้างบ้านใหม่อีกครั้งหลังจากเจอภัยพิบัติทางธรรมชาติ บางคนนำมาสร้างสมาคมเพื่อหางานให้กับชาวบ้านในหมู่บ้าน บางคนเป็นผู้ลี้ภัยอพยพที่ไม่มีเอกสารรับรองตัวตนทางกฎหมาย แต่อยากทำธุรกิจของตัวเองก็ไม่สามารถไปกู้ได้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ใช่ปัญหาของบุคคล แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำการเข้าถึงแหล่งเงินส่วนใหญ่นั้นกระจุกตัวอยู่แค่คนที่มีความรู้เพียงพอ มีสถานะทางสังคมบางอย่าง (เช่นการศึกษา ทรัพย์สิน ที่ดิน หรือธุรกิจอื่น ๆ) ที่เป็นเพียงส่วนน้อยของสังคมเท่านั้น

        ถึงตอนนี้ 2022 Kiva มีการให้ยืมและคืนเงินผ่านระบบไปแล้วกว่า 1,600 ล้านเหรียญ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตคนไปกว่า 2 ล้านคนใน 77 ประเทศทั่วโลก มีอัตราการคืนเงินสูงถึง 96% และแสดงให้เห็นแล้วว่าคนที่จนนั้นไม่ได้ขี้เกียจ ไม่ได้ไร้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่ไม่มีความฝันอันยิ่งใหญ่ แต่โอกาสเท่านั้นที่พวกเขาไม่มี

 


อ้างอิง

https://www.kiva.org/blog/1-billion-in-change-how-kiva-went-from-nonprofit-startup-to-global-force-for-good

https://www.kiva.org/borrow