WLCM บริษัทสตาร์ทอัพที่ CEO และพนักงาน ต่างพร้อมใจกันต่อสู้ในสงครามที่ยูเครน

        เป็นเวลาสิบกว่าปีแล้วที่บริษัทสตาร์ทอัพชื่อ WLCM (อ่านว่า Welcome) ได้เปิดให้บริการในเมืองซานฟรานซิสโก บริษัทแห่งนี้แม้จะไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่เหมือนกับ Facebook, Google หรือ Netflix แต่พวกเขาก็เติบโตมาได้อย่างเข้มแข็งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทซอฟแวร์เล็ก ๆ แห่งนี้ให้บริการแบบครบวงจรสำหรับการสร้างแอพพลิเคชั่นให้กับสตาร์ทอัพอื่น ๆ ที่มีลูกค้าอยู่ทุกแห่งทั่วโลก

        ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เมื่อกองกำลังทหารรัสเซียเริ่มทำการบุกเข้าไปเพื่อยึดยูเครน ลินซี่ วิทเมอร์ โคลินส์ (Lindsey Witmer Collins) CEO ของ WLCM ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้อีกต่อไป เพราะพนักงานทั้งประจำและพาร์ทไทม์กว่า 20 ชีวิตของบริษัทและครอบครัวของพวกเขาที่ทำงานอยู่ออฟฟิศในเมืองโอวีฟ (Lviv) ของยูเครนกำลังตกอยู่ในอันตราย ทุกอย่างกำลังสั่นคลอนและไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคตที่จะมาถึง

        ประเทศยูเครนถือเป็นศูนย์กลางของพนักงานสายเทคโนโลยีที่มีความสามารถที่หนึ่งของโลก จึงไม่แปลกใจที่สตาร์ทอัพหลายแห่งมีพนักงานที่บ้านเกิดอยู่ที่นั้นเป็นจำนวนมาก โคลินส์รู้สึกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นฉันเริ่มตัวสั่นและรู้สึกเศร้าอย่างอธิบายไม่ถูกเธอเล่าเรื่องนี้ให้กับนิตยสาร Inc.com ฟังถึงเหตุการณ์ในวันนั้นฉันก็รู้ด้วยว่าตัวเองอยู่ในอยู่ในจุดที่อภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น ๆ เพราะฉะนั้นฉันเลยสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อระดมทุนสำหรับพนักงานและครอบครัวของพวกเขาให้ลี้ภัยออกมาจากตรงนั้นได้

                                       ลินซี่ วิทเมอร์ โคลินส์ (Lindsey Witmer Collins) CEO ของ WLCM

        ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ สร้างความเสียหายต่อชีวิตคนนับไม่ถ้วน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากโควิด-19 ให้ทรุดหนักลงไปมากกว่าเดิม แต่จะบอกว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยก็คงไม่ถูกนัก เพราะรัสเซียเองก็ทำท่าว่าจะก่อเหตุนี้มาได้สักพัก 

        เพราะฉะนั้นโคลินส์เลยพยายามเตรียมตัวรับมือกับเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่ตอนมันเกิดขึ้นจริงๆ เธอรู้สึกว่ามันเหมือนฝันร้ายที่กลายเป็นจริงซะมากกว่า เธอวางแผนกับเพื่อนร่วมทีมชาวยูเครนมาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เริ่มส่งสัญญาณท้าทายว่าจะบุกยูเครนอยู่เป็นระยะ ๆ และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์สัญญาณก็เริ่มชัดขึ้นเมื่อรัสเซียได้รวบรวมทหาร 110,000 นายตามแนวชายแดนติดกับยูเครนเพื่อเตรียมตัวเดินหน้าบุก 

        โคลินส์โพสต์เตือนเพื่อน ๆ ในทีมผ่านแอพพลิเคชั่น ​Slack บอกว่า “ฉันคุยกับทุกคนเพื่อจะโน้มน้าวให้พวกเขาย้ายไปอยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งเร็วยิ่งดีเลย ฉันคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการที่เราตีตนไปก่อนและเตรียมตัวให้มากที่สุด จังหวะเดียวกันฉันก็ติดต่อหาลูกค้าของเราทั้งหมดด้วยเหมือนกัน” 

        โอวีฟเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในฝั่งยูเครนตะวันตก ซึ่งมันก็เป็นข้อดีตรงที่ว่าพนักงานของบริษัทส่วนใหญ่ถือว่าอยู่ใกล้ชายแดนติดกับประเทศโปแลนด์อยู่แล้ว สำหรับพนักงานที่อยู่ทางด้านตะวันออกของประเทศก็ย้ายมาอยู่ใกล้ๆ เมืองโอวีฟและเมืองวินนีตเซีย (Vinnytsia) ที่อยู่ใจกลางประเทศมากขึ้น บางส่วนของพนักงานได้หลบหนีออกมาจากยูเครนเรียบร้อย ที่เหลือตอนนี้ประมาณ 19 คนยังอยู่ในยูเครน มีเพียง 3 คนที่ยังอยู่ในโซนอันตรายทางตะวันออกที่ทหารรัสเซียเข้ามารุกราน แต่ทุกคนก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีเท่าไหร่นัก

        ช่วงสองอาทิตย์หลังจากที่รัสเซียรุกล้ำเข้ามาในยูเครน ​โคลินส์ได้หยุดงานทุกอย่างลงไว้ทั้งหมดเพื่อหันไปให้ความสนใจกับพนักงานของบริษัท นอกจากจะพยายามระดมเงินบริจาคให้พนักงานได้อพยพย้ายถิ่นออกจากยูเครนแล้ว เธอยังสร้างช่องทางสื่อสารทาง Slack ให้พนักงานเพื่อแชร์ข้อความและรายละเอียด ชื่อเบอร์ติดต่อสถานที่ต่าง ๆ สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนั้นยังชดเชยเงินให้กับพนักงานทุกคนในช่วงเวลานี้ แถมจ่ายเงินเดือนล่วงหน้าให้พวกเขาด้วย

                                ภาพจาก www.inc.com

        พนักงานของบริษัทหลายคนยังใช้ทรัพยากรและคอนเนกชั่นที่มีในยูเครนเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่าง ลิเลีย โซโลวี่ (Lilia Solovey) COO ของบริษัทก็เปิดอพาร์ตเมนต์ของเธอให้คนที่ต้องการที่หลบภัยมาอาศัยอยู่ได้ แถมยังช่วยจัดแจงการเดินทางสำหรับเพื่อนร่วมงานของเธอด้วย ที่จริงโซโลวี่เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ครั้งนี้อย่างละเอียด หลังจากที่เริ่มมีข่าวระแคะระคายเกี่ยวกับรัสเซีย เธอกับสามีก็ไปหาบ้านเช่าที่เมืองลิสบอน (Lisbon) ประเทศโปรตุเกสทิ้งไว้ก่อนแล้ว พอรัสเซียบุกจริง ๆ เธอกับสามีใช้เวลาเพียง 20 นาทีเพื่อแพ็คของ เก็บทุกอย่างใส่กระเป๋าเดินทาง อุ้มแมวที่บ้าน ขึ้นรถขับไปกับเพื่อนออกไปทางฝั่งชายแดนประเทศโปแลนด์เรียบร้อย พอถึงเมืองปแชมึชล์ (Przemysl) ประเทศโปแลนด์ เธอพยายามหาตั๋วรถไฟแต่ไม่มีที่ว่างเลย รถเช่าก็ไม่มี สุดท้ายโชคดีไปเจอเจ้าของบริษัทรถเช่าแห่งหนึ่งที่อาสาขับรถพาเธอและครอบครัวไปยังเมืองวอร์ซอ (Warsaw) ที่เธอสามารถซื้อตั๋วเครื่องบินต่อไปยังลิสบอนได้สำเร็จ โซโลวี่เล่าว่า

        “ฉันรู้สึกซึ้งใจมากเลยที่มีคนมากมายที่อยากช่วยเรา เราโชคดีที่ตัดสินใจเร็วและรู้ว่าเราต้องทำอะไร”

แต่ถึงแม้ว่าเธอจะหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย แต่เพื่อน ๆ และบางส่วนของครอบครัวของเธอก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ความน่ากลัวของสงครามยังคงทำให้ทุกวันเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เธอเล่าว่า

        “สมองของคุณไม่รู้วิธีการที่จะปรับตัวเข้าสิ่งที่เกิดขึ้นเลย อย่างความคิดที่ว่าคุณอาจจะไม่มีวันได้เห็นบ้านของคุณอีกต่อไปแล้ว ฉันใช้เวลาเกือบตลอด 24 ชั่วโมงบนโทรศัพท์เพื่ออ่านข่าว รู้สึกเหมือนกับซอมบี้ตอนที่เดินไปซื้อของในห้างที่เมืองลิสบอนเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเราไม่มีอะไรเลย มันไม่มีวันไหนที่ง่ายขึ้นเลย แค่มีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ รู้สึกเหมือนความเกลียดชังกำลังทำให้ฉันแตกสลายจากข้างใน และฉันไม่อยากรู้สึกอย่างนั้นเลย”

        การได้คุยกับเพื่อน ๆ ในทีมของ WLCM ช่วยทำให้ช่วงเวลาของวันดีขึ้นบ้าง บางส่วนของทีมเริ่มกลับมาทำงานกันอีกครั้งแล้วแต่ว่าใครพร้อมหรือไม่พร้อม โคลินส์เองก็เข้าใจว่างานไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ต้องใส่ใจในเวลานี้ เธอทราบดีว่าสิ่งเหล่านี้จะผ่านไป บริษัทเธอจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ในฐานะผู้นำของบริษัท การมีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจะช่วยทำให้พนักงานทุกคนมีเงินใช้จ่ายที่พอเพียง ซึ่งก็เป็นสิ่งสำคัญในสถานการณ์แบบนี้ นอกจากนั้นโคลินส์ยังจ้างนักบำบัดทางจิตของทีมเพิ่มด้วย เพื่อจะได้ดูแลเรื่องสภาพจิตใจของพนักงานที่กำลังเผชิญเหตุการณ์ที่เลวร้ายครั้งนี้

        “สุดท้ายแล้วเราก็ต้องกลับไปทำงาน แต่ฉันจะเอนไปทางพนักงานของบริษัทมากกว่าลูกค้า เพราะลูกค้าเหล่านี้มาเดี๋ยวก็ไป แต่พนักงานของบริษัทเราก็หวังว่าจะอยู่กับเราต่อไป” โคลินส์บอกว่าถึงบริษัทจะหยุดทำงานไปชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือพนักงานชาวยูเครนในช่วงนี้ แต่พวกเขาก็ยังขยายทีมและเปิดรับพนักงานใหม่อยู่เสมอ ผลงานที่ส่งให้ลูกค้าก็ได้รับการชื่นชมและขึ้นติดชาร์ตของ Apple ด้วยเช่นกัน ในฐานะผู้นำของบริษัทโคลินส์ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้บริษัทยังคงดำเนินกิจการต่อไปให้ได้ เพราะรายได้เหล่านี้คือสิ่งที่จุนเจือชีวิตของพนักงานที่ยังอยู่ที่ยูเครน (บางส่วนก็ยังเลือกที่จะอยู่ที่นั้นเพราะครอบครัว)

        “เราต้องทำให้เรือลำนี้ลอยไปต่อ เพราะมันจะช่วยจุนเจือชีวิตครอบครัวของพวกเขาถ้าเกิดว่าสงครามมันยืดเยื้อและสังคมเริ่มเลิกให้ความสนใจ และมากกว่านั้น เราคือกลุ่มเพื่อนที่รักในการสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ที่สวยงามด้วยกัน และเราก็อยากกลับไปทำอย่างนั้นในเร็ว ๆ นี้”

        โลกของการทำงานสมัยใหม่นั้นไร้ซึ่งพรมแดน เราเชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย การประชุมออนไลน์ การประสานงานผ่านแอพพลิเคชั่นกลายเป็นเรื่องปกติ แต่เส้นแบ่งที่หายไปนี้เองก็ทำให้บริษัทยุคใหม่ต้องคำนึงถึงประเด็นนี้ด้วยเสมอ เพราะแต่ละคนอยู่ในสถานที่ที่แตกต่างกัน เผชิญหน้ากับปัญหาที่แตกต่างกัน หัวหน้าหรือผู้บริหารยิ่งต้องมีความเข้าใจลูกน้องให้มากขึ้นกว่าเดิม เห็นอกเห็นใจถึงสถานการณ์ที่พนักงานต่างสถานที่ต้องเผชิญหน้า ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในกรณีของสงครามอาจจะเป็นเหตุที่ดูสุดโต่งสักนิด แต่มันก็ยิ่งทำให้ถึงความสำคัญถึงทักษะในการทำงานร่วมกัน การยื่นมือไปช่วย เข้าใจซึ่งกันและกันในยามที่ลำบาก บริษัทจะใหญ่หรือเล็กขนาดไหนก็ยังต้องขับเคลื่อนด้วยมนุษย์อยู่วันยังค่ำ

        ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) หนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกและผู้ก่อตั้งสายการบิน Virgin เคยกล่าวไว้ว่า

        “ลูกค้าไม่ได้มาก่อน แต่พนักงานมาก่อน ถ้าเราดูแลพนักงาน พวกเขาจะดูแลลูกค้าเอง”

        โคลินส์ก็คงคิดเช่นเดียวกันและพนักงานชาวยูเครนของบริษัทก็คงเห็นไม่ต่างกัน


ที่มา: 

เรื่อง: โสภณ ศุภมั่งมี