มากกว่าแค่มหาสมุทร มุมมองโลกใต้น้ำจากช่างภาพสารคดีเชิงสิ่งแวดล้อม ‘ชิน’ – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

          ‘ชิน’ – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดีเชิงสิ่งแวดล้อมที่มีการดำน้ำเป็นชีวิตที่สอง เริ่มเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพ Once in a Lifetime ที่เขาดำน้ำไปเฝ้ารอเก็บภาพการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ของปะการัง ซึ่งมีระยะเวลาเพียงแค่ 10 นาที และเกิดขึ้นเพียงปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งผลงานในวันนั้น คว้ารางวัลชนะเลิศในงาน Thailand Dive Expo Photo Competition ปี 2556 และกลายเป็นฟองอากาศแห่งความเป็นไปได้ฟองใหญ่ ในเส้นทางช่างภาพสารคดีของเขาในเวลาต่อมา

ทิศทางการพัฒนาของบ้านเรามันพัฒนาในทางที่จะถลุงทรัพยากรไปเรื่อยๆ

01

เริ่มจากเรื่องไหนก่อนดี เรื่องทรัพยากรสัตว์น้ำที่ลดลงเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การใช้เครื่องมือทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนของชาวประมง หรือปัญหาด้านการสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับระบบนิเวศน์ทางทะเล มีหลายประเด็นที่เราอยากคุยกับเขา

“สถานการณ์ทะเลไทยแย่ลงเรื่อยๆ เละและเน่าหนักเลย ทั้งข้อพิพาทต่างๆ การ overfishing ในหลายๆ พื้นที่ แล้วทิศทางการพัฒนาของบ้านเรา นั้นพัฒนาในทางที่จะถลุงทรัพยากรไปเรื่อยๆ จุดสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลงคือการเปลี่ยน paradigm จากการคิดว่าจะถลุง เป็นการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน”

ช่างภาพสารคดีเชิงสิ่งแวดล้อม ที่เคยเข้ารอบ Finalist ในเวทีประกวด 10 ภาพเล่าเรื่อง ของนิตยสาร National Geographic เมืองไทยในปี 2556 เล่าถึงสถานการณ์ใต้ทะเลไทยให้เราฟัง

“ผมรู้ว่ายาก และท้าทายขนาดไหนที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมเรื่องนี้ได้ ผมไม่ได้มองว่าผมคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ แต่ผมจะทำไปเรื่อยๆ เราก็ลิสต์เรื่องที่อยากเล่าไว้ เช่น เรื่องปากบารานี่สำคัญ ต้องเล่า ฉลามก็ต้องเล่า อันดามันก็ต้องเล่า ปัญหาพื้นที่ทางชายทะเลของไทยมันเยอะ ซึ่งการอนุรักษ์ไม่ใช่เรื่องที่นิยมของบ้านเรา”

02

จริงๆ ชินเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เลือกจะเล่าเรื่องผ่านภาพ หลังจากการได้ออกไปฝึกงานที่เกาะเต่าตั้งแต่สมัยเรียนด้านชีวการแพทย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคอินเตอร์ ทำให้เขาเบนสายจากอาชีพแพทย์มาเป็นงานอนุรักษ์ เพราะช่วงนั้นศึกษาเรื่องปะการังแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่รุนแรง

“ถ่ายรูปนี่เป็นส่วนหนึ่ง ที่เหลือคือการจัดการเพื่อที่จะไปถึงพื้นที่นั้นให้ได้ มันไม่ใช่งานของผมคนเดียว งานที่ออกมาคือความพยายามของคนหลายคน ชุมชน คนที่ช่วยสนับสนุนเงินทุน ชาวเขา ทุกอย่างเป็นความพยายามของหลายๆ คนที่ออกมาได้เป็นงานหนึ่งชิ้น เราเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมอุดมการณ์กัน ยิ่งมีคนทำมากขึ้นผมก็ยิ่งดีใจ มาทำให้พื้นที่สื่อขยายเต็มไปด้วย”

มันไม่ใช่งานของผมคนเดียว
งานที่ออกมาคือความพยายามของคนหลายคน
ชุมชน คนที่ช่วยสนับสนุนเงินทุน

03

Speaker คนล่าสุดของเวที TEDxBangkok 2560 บอกว่า มันไม่อันตรายหรอกข้างใต้น้ำ อาจจะมีสภาพที่ไม่ปกติไปบ้าง แต่งานของเขาคือการทำตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ สนุกกับงานวิจัยมากมาย และการได้ลงพื้นที่จริงๆ เป็นสิ่งที่เติมพลังให้กับชีวิต

“ผมมองว่าผมทำงานออกมายังไงให้ดีที่สุด เราก็เชื่อว่าถ้ามันดีพอ คนจะสนใจมากขึ้นๆ เราจึงต้องอ่านหลายๆ ด้านครับ ต้องเก็บเรื่องราวหลายๆ มุมที่เกี่ยวกับคน สิ่งแวดล้อม ชุมชน มีประเด็นประมงหรือเปล่า หรือประเด็นท่องเที่ยว แล้วค่อยมานั่งดีไซน์ว่าอะไรจะเป็นตัวแทนเรื่องเหล่านี้ดีที่สุด คิดภาพในหัวว่าต้องมีส่วนประกอบอะไรในภาพนั้นบ้างที่จะเชื่อมโยงกัน เพราะหัวใจหลักของ photo journalism documentary คือส่วนประกอบที่มาร้อยเรียงในการประกอบเป็นภาพภาพเดียวที่จะเชื่อมโยงเรื่องราว”

“รู้สึกยังไงกับงานของตัวเองตอนนี้” เราเอ่ยถาม และเขาตอบมาสั้นๆ ด้วยความมั่นใจ

“มันคือความสุขของผมครับ เป็นอาชีพที่ดีของผม”

ชินกำลังทำโปรเจ็กต์ Invasive alien species ที่จะทำกับดร ณณน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Siamensis.org ปัจจุบันรับงานถ่ายรูปเชิงอนุรักษ์จากองค์กรต่างประเทศที่หลากหลาย

เรื่อง : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ