Ask ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ | เพื่อให้กรุงเทพฯ เติบโตอย่างยั่งยืน เราควรมุ่งอนุรักษ์หรือเร่งพัฒนา?

อาจารย์ ดอกเตอร์ พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ผู้เชี่ยวชาญด้านการผังเมือง ซึ่งเราชวนเขามาพูดคุยถึงกระแสการพัฒนาและอนุรักษ์ในปัจจุบันของไทย รวมทั้งประเด็นเชิงกฎเกณฑ์และความคลุมเครือต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นระยะเวลาเนิ่นนาน

 

 

ตอนนี้ถ้าวันดีคืนดีจะมีสถานีรถไฟฟ้ามาโผล่หน้าบ้าน คุณก็เหมือนถูกหวย แต่ถ้าคุณโชคร้ายคุณจะโดนเวนคืนที่ดิน

 

คุณคิดว่าทำไมประเด็นของเรื่องการอนุรักษ์และการพัฒนา ยกตัวอย่าง ‘ป้อมมหากาฬ’ ถึงถูกจุดขึ้นจนเป็นกระแสสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง

ถ้าพูดกันตามตรง การให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่ของประเทศไทยนั้นมีมานานแล้ว แต่เราไม่ค่อยพูดถึงว่าหลังจากอนุรักษ์แล้วเราจะทำอย่างไรกับมันต่อไป ประเด็นอยู่ตรงนี้ ที่พอภาครัฐจะเริ่มดำเนินการตามแผน ก็เริ่มมีกระแสว่าจริงๆ แล้วยังมีวิธีที่ดีกว่านั้นหรือเปล่าในการพัฒนาเปลี่ยนแปลง เพราะบริบทของการอนุรักษ์ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และแน่นอนว่าการที่เราจะทำการพัฒนาพื้นที่จะต้องมีคนได้คนเสีย ต้องมีคนเจ็บปวด แต่ตอนนี้เราไม่มีกลไกในการแชร์ความเจ็บปวดและสร้างประโยชน์ร่วมกันที่ดี

ตอนนี้ถ้าวันดีคืนดีจะมีสถานีรถไฟฟ้ามาโผล่หน้าบ้าน คุณก็เหมือนถูกหวย แต่ถ้าคุณโชคร้ายคุณจะโดนเวนคืนที่ดิน ซึ่งจริงๆ ทั่วโลกมีกลไกที่ดีกว่านั้น อย่างเช่นการขยับปรับเปลี่ยนกรรมสิทธิ์บางส่วน ซึ่งกฎหมายการจัดรูปที่ดินในไทยมีกลไกการคืนสิทธิ์แค่เพียงแนวราบอย่างเดียว ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสมสำหรับพื้นที่เมืองชั้นในหากต้องเสียพื้นที่ไปปรับปรุงเป็นอย่างอื่นด้วย ในขณะที่ในต่างประเทศมันไปไกลกว่านั้น คุณสามารถคืนสิทธิ์ได้ในแนวตั้ง ถ้าพื้นที่ที่มีไม่พอสร้างที่อยู่ใหม่ คุณก็รวมกรรมสิทธิ์กับเพื่อนบ้านเพื่อสร้างเป็นตึกขึ้นมา แล้วแบ่งพื้นที่ชั้นกันไป วิธีคิดแบบนั้นทำให้ทุกคนมีความสุขและยังอยู่ที่เดิมได้

 

แต่เรายังไม่มีกฎหมายที่ออกมาช่วยตรงจุดนี้ ลักษณะของปัญหาเชิงอนุรักษ์และพัฒนาในประเทศไทย ได้แก่อะไรบ้างในความคิดของคุณ

เรามีปัญหาในเชิงอนุรักษ์เยอะมาก เพราะว่ากฎหมายของเราเก่า และไม่เชื่อมโยงกันระหว่างกฎหมายที่ว่าด้วยโบราณสถาน และกฎหมายที่ว่าด้วยผัง พ.ร.บ. โบราณสถานฯ ที่ดูแลโดยกรมศิลปากรถูกใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ซึ่งในเชิงของคอนเซ็ปต์นั้นแคบ ระบุแค่ว่าโบราณสถานคืออสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณค่าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทุกอย่างถ้าเข้านิยามนี้ก็จะกลายเป็นโบราณสถานโดยอัตโนมัติ แต่หากอธิบดีเห็นว่ามีคุณค่ามากก็สามารถประกาศเป็น ‘โบราณสถานขึ้นทะเบียน’ ได้

ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างคลุมเครือในส่วนของโบราณสถานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เพราะเคสที่มีปัญหาโดยมากจะเป็นการถกเถียงกันว่า อาคารหรือสิ่งก่อสร้างนั้นๆ เป็นโบราณสถานหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศจะมีการขยายความของโบราณสถานออกไปกว้างขึ้น เช่น กลุ่มอาคารประวัติศาสตร์ ฯลฯ และมีการแบ่งระดับความสำคัญของโบราณสถานที่ละเอียดกว่า ทำให้มีความชัดเจนของแนวทางการอนุรักษ์ที่มากกว่า คราวนี้ประเด็นที่สองที่ผมจะพูดต่อ คือถ้ากฎหมายที่ว่าด้วยโบราณสถานมีการพัฒนา มันต้องถูกส่งต่อเป็นกลไกในเชิงผังเมืองที่ถูกต้องด้วย แต่กฎหมายสองตัวนี้ของไทยไม่เชื่อมโยงกัน

กรมศิลปากรมีเขตอำนาจแค่พื้นที่ของโบราณสถาน เขาไม่มีอำนาจภายนอกที่จะไปบอกว่าตึกนี้ตึกนั้นห้ามสูงกว่าโบราณสถาน ซึ่งตรงนี้กลไกทางผังเมืองต้องเข้ามามีบทบาท แต่ที่ผ่านมาเรามักจะทำในเชิงรับหลังเกิดปัญหาแล้วเท่านั้น อีกปัญหาคือเราไม่เคยคิดว่าจะปกป้องกลุ่มอาคารที่มีคุณค่าเอาไว้โดยลงรายละเอียดกันอย่างไร เรายังขาดการทำรายละเอียดผมพูดแบบนั้นดีกว่า คือมันมีเครื่องมือ แต่เราคลุมครอบไปด้วยข้อกำหนดด้านความสูงและการใช้ประโยชน์อาคารแบบหยาบๆ เท่านั้น จึงทำให้การอนุรักษ์ไม่มีประสิทธิภาพ

 

 

เพื่อให้เห็นตัวอย่างชัดๆ เรากำลังพัฒนาและอนุรักษ์ป้อมมหากาฬด้วยทัศนคติแบบไหน

สุดโต่งครับ สุดโต่งทั้งสองฝั่ง อย่างรัฐก็ใช้คอนเซ็ปต์ที่โบราณในการอนุรักษ์ และเป็นการอนุรักษ์ที่ไม่ได้ให้คุณค่าเรื่องของชุมชน เรื่องของชีวิตที่อยู่ในพื้นที่ มันเหมือนการแช่แข็งทุกอย่างเอาไว้ เราให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์วัดวัง แต่เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับชุมชน ดังนั้น แนวคิดนี้เลยเป็นที่ถกเถียงในปัจจุบันว่าคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งร่วมสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมา เขาไม่มีคุณค่าเลยเหรอ ตรงนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยถกเถียงกัน อย่างป้อมมหากาฬมันไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเชิงการใช้งานที่เกิดขึ้น มีแต่ภาพหลังปรับปรุงที่เน้นความสวยงาม

แต่อีกด้านหนึ่ง การบอกว่าชุมชนนี้มีคุณค่าก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยป้องกันการใช้อำนาจของรัฐที่อาจจะไม่ถูกต้องที่นิยมใช้กันมานาน แต่ว่าจริงๆ แล้วก็ยังไม่มีการประเมินอย่างจริงจังว่าชุมชนนี้มีคุณค่ากว่าชุมชนอื่นหรือเปล่า มีคุณค่ามากน้อยขนาดไหน บ้านไม้เก่าเป็นของหายากจริงหรือเปล่าถ้ามองจากภาพรวม ซึ่งบางส่วนอาจเป็นเพราะภาครัฐยังไม่ขยายนิยามของโบราณสถานออกมาครอบคลุมพื้นที่ลักษณะนี้อย่างจริงจัง เราพูดกันอยู่ว่าศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่นี้เป็นของดี แต่ถามว่ามันหายากจริงๆ หรือเปล่า ไม่มีใครตอบเรื่องนี้ได้ชัดเจน ซึ่งถ้าระบบการให้ความสำคัญเรื่องมรดกวัฒนธรรมถูกสร้างขึ้นมาด้วยมาตรฐานที่วัดได้ ความคลุมเครือตรงนี้จะตอบได้หมด ว่าทำไมต้องเก็บพื้นที่ตรงนี้ไว้ และเก็บด้วยเครื่องมือแบบไหน

 

ถ้าเปรียบกรุงเทพฯ เป็นมนุษย์สักคน ร่างกายของมนุษย์คนนี้อยู่ในอาการแบบไหน และเราควรจะเยียวยาเขาอย่างไร

ผมว่าเอ๋อครับ (หัวเราะ) เราป่วยแล้วก็ยังไม่รู้ตัว แล้วอาการก็กำลังลามไปถึงสมอง ปัญหาจราจรก็รุมเร้าเราอยู่ พื้นที่ขนาดใหญ่ของรัฐที่ควรจะพัฒนาได้ก็ยื้อกันไปมา เถียงกันไม่จบ คือเราไม่ชัดเจนในเชิงนโยบายการพัฒนาเมืองตั้งแต่ต้น ซึ่งตรงนั้นมันก็เป็นปัญหาในตัวมันเองเรื่องหนึ่ง เหมือนคนป่วยกายที่ตอนนี้อาการเริ่มลามไปถึงสมอง ไปถึงเชิงความคิด กลายเป็นว่าเราไปตั้งแง่และไม่ฟังกัน ในการแก้ปัญหาทุกๆ เรื่อง ซึ่งผมก็ยังเชื่อว่ามันสามารถหาทางออกได้ ไม่ว่าจะในเชิงกฎหมายหรือในเชิงนโยบาย คือทุกฝ่ายต้องตั้งสติ ลดทิฐิลง แต่เหมือนว่าเราไม่กล้าลองอะไรสักอย่าง ทะเลาะกัน เก้ๆ กังๆ แล้วรอว่าสักวันหนึ่งจะมีอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เราต้องเปิดใจและต้องลองทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

 


 

ติดตามเรื่องราวของการพัฒนาเมืองเพิ่มเติมได้ที่ Urban Design and Development Center