ลาว คำหอม

Ask ลาว คำหอม | เราใช้พลังวรรณกรรมเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร?

หกสิบปีที่ ฟ้าบ่กั้น ยังคงถูกอ่าน เรื่องสั้นระดับตำนานอย่าง ไพร่ฟ้า และ เขียดขาคำ ยังคงถูกอ้างอิงโดยนักวิชาการเพื่อแสดงตัวอย่างของการกดขี่ทางชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในสังคม ตัวละครอย่างอินถา และนายนาค นางาม ยังคงเห็นๆ กันอยู่ว่าออกมากระโดดโลดเต้นอยู่ในโลกแห่งความจริง

ถ้าเราเชื่อตามที่ ลาว คำหอม หรือ ลุงคำสิงห์ ศรีนอก เคยเขียนไว้ในคำนำว่า หนังสือไม่ได้เกิดจากความว่างเปล่า และมันไม่ได้มีอิสระอย่างสิ้นเชิงจากสภาพการณ์ในยุคสมัยที่มันถูกสร้างขึ้น นั่นก็แปลว่า ฟ้าบ่กั้น คือบันทึกของวันเวลาในช่วงที่มันถูกเขียนขึ้นมา เรื่องที่น่าเศร้าสำหรับคนรุ่นเรา คือในทุกๆ ทศวรรษที่มันถูกนำกลับมาอ่านใหม่ ทำไมมันยังคงอ่านได้ อ่านดี อยู่เหมือนเดิม? ถูกตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และถูกนำไปแปลเป็นทุกภาษาหลักในโลก ราวกับว่าเรื่องราวความทุกข์โศกเหล่านี้เป็นอกาลิโก ข้ามผ่านยุคสมัยและดำรงอยู่ทุกสังคม

     ยิ่งเมื่อนำ ฟ้าบ่กั้น กลับมาอ่านอีกครั้งในปี พ.ศ. 2561 แล้วก็กวาดตามองไปดูข่าวสารบ้านเมือง ยิ่งทำให้เราสลดหดหู่และสิ้นหวังอย่างรุนแรง จนอดรนทนไม่ได้ ต้องขับรถออกไปในวันฟ้าฝนไม่เป็นใจ มุ่งไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนถนนตัดใหม่ใหญ่โต รถราทันสมัยแล่นกันขวักไขว่ ผ่านเสาตอม่ออภิมหาโครงการคมนาคม สู่อำเภอปากช่อง ณ ไร่ธารเกษม แหล่งพำนักเร้นกายของนักเขียนชราผู้วางปากกาและใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบสุขกับครอบครัวอบอุ่นพร้อมหน้า ในบ้านเล็กๆ ท่ามกลางไร่สวนร่มรื่น

     ทำไมสังคมยังคงวนเวียนอยู่ในวังวนน่าเศร้าเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง? ทำไมวรรณกรรมที่สั่นสะเทือนภายในใจของเราได้ขนาดนี้จึงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ดั่งใจเรา? เราถามด้วยความสับสนงุนงง

     ท่ามกลางเสียงพายุฤดูร้อนหวีดหวืออยู่ภายนอก ภรรยาและลูกสาวของเขากำลังวุ่นวายกับการตระเตรียมงานมุทิตาจิต ที่จะมีขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ นักเขียนชราผู้ผ่านการต่อสู้ทางอุดมการณ์มายาวนาน หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มผอมบางที่ผ่านเวลามาหกทศวรรษ เปรียบเหมือนกับร่างกายผ่ายผอมของผู้เขียนมันขึ้นมาที่ผ่านเวลามากว่าแปดทศวรรษ นั่งอย่างสงบสุขภายใต้โคมไฟเรืองรอง

     หูตาฝ้าฟางไป แต่สมองยังคงแจ่มใส จดจำเรื่องราวมากมายในอดีต และจิตใจยังคงสว่างไสว เชื่อมั่นในพลังของมนุษย์ปุถุชน

     กลางเดือนเมษายังมีฝนฟ้าตกกระหน่ำ ลมหนาวพัดโชยมาเป็นระลอกๆ แม้กระทั่งดินฟ้ายังวิปริตผันแปรไปตามกาลเวลา เผด็จการคนแล้วคนเล่าหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาย่ำยีบีฑาบ้านเมือง แต่ ลาว คำหอม ยังคงยืนหยัดกับความเชื่อและอุดมการณ์

     เขายืนยันว่าสังคมนี้ไม่สิ้นหวัง หลายสิบปีที่เมล็ดพันธุ์ของวรรณกรรมมากมายได้ถูกหว่านพรมลงบนพื้นดินแห้งผาก หลายเมล็ดแข็งแกร่งทนความแล้ง ก็ค่อยๆ เสียดแทงยอดขึ้นมาจนเติบใหญ่ ทำให้ประชาชนค่อยๆ ตื่นรู้ถึงพลังของตัวเอง หลักคุณธรรมค่อยๆ แผ่ขยายตัวออกไปบนพื้นราบ แล้วสังคมก็กำลังค่อยๆ เดินหน้าไปบนหนทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือหนทางสู่แสงสว่างของประชาธิปไตย

 

ลาว คำหอม

 

ทราบมาว่าเมื่อปีที่แล้วคุณลุงป่วยหนักมาก โชคดีที่สามารถฟื้นคืนกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม

     เป็นไข้ป่าน่ะครับ ไม่เคยเป็นแบบนั้นมาก่อน หนาวสั่น หนาวมาก ตอนหลับก็หนาว พยายามดิ้นออกจากความหนาว จนต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมา เขาบอกว่าเป็นอาการของไข้ป่า เพราะยุงกัด ก็คงเป็นยุงแถวนี้แหละ ตอนนั้นผมไปลาวแค่วันเดียว คงโดนกัดตั้งแต่ก่อนไปแล้วมันเป็นระยะฟักตัว ก็เลยกลับมาค่อยเป็น ก็ปกติๆ ไม่มีอะไร คราวนั้นเป็นแค่วูบเดียวแล้วก็หาย ไม่เหมือนกับที่คนเขาบอกว่าล้มหมอนนอนเสื่้อ อันนี้ไม่ได้นอนเลย แต่ผมวูบแค่แป๊บเดียว (20 กว่าวัน) ก็ไปเข้าโรงพยาบาล ไปศิริราช หมอเจาะเลือด เจาะหาอะไรเยอะแยะ จนในที่สุดจึงได้พบเชื้อไข้รากสาด

     คนผอมๆ จะได้เปรียบ ธรรมดาคนผอมจะมีภูมิต้านทานโรคภัยไข้เจ็บมากกว่าคนอ้วน เขาบอกว่าร่างกายมนุษย์ก็เปรียบเหมือนพื้นดิน ถ้าคนผอมๆ ก็เหมือนพื้นดินแห้งแล้ง เป็นดินทราย มีเชื้อโรคอะไรตกลงไปก็ไม่สามารถเจริญงอกงามได้ เชื้อโรคมันสู้ความแล้งไม่ได้ คนอ้วนเปรียบเหมือนดินดี เชื้อโรคตกลงไปบนดินอุดมสมบูรณ์ ก็เติบโตได้ดีกว่า ผมใช้ชีวิตแบบชาวบ้านๆ นี่แหละ ชาวบ้านต้องเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าชาวเมือง ชาวเมืองนั่งๆ นอนๆ มากกว่า นานๆ ผมเข้ากรุงเทพฯ ที นอกจากจะมีธุระอะไรสำคัญ

 

ในช่วงงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา คุณลุงได้ไปพบปะนักอ่านบ้างไหม

     ไม่อะไรกับมันมากแล้วนะครับ เพราะมันก็พอจะเห็นๆ กันอยู่ว่าโลกหนังสือตอนนี้ มันผ่านไปแล้ว โลกการอ่านกำลังเปลี่ยนแปลงไปจริงๆ คนกับหนังสือนับวันก็จะห่างกันออกไปเรื่อยๆ นักทำหนังสือทั้งหลายที่อยู่ได้ ต้องทำหนังสือที่มีเหตุผลพอจะอยู่ได้ ไม่ใช่หนังสือแบบไร้ที่มาที่ไป

 

หนังสือของคุณลุงที่นำมาพิมพ์ใหม่ในช่วงนี้ขายดีไหม

     หนังสือของผมมีคนอ่านมาโดยตลอดนะครับ ตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรกมาก็ไม่เคยว่างจากตลาดเลย จะดีจะเลว หนังสือ ฟ้าบ่กั้น ก็พูดได้ว่ามีเนื้อหา มีชีวิต ผมใช้คำว่ามีกระดูก มันจึงทรงตัวอยู่มาได้ ส่วนหนังสือที่คล้ายๆ ลูกโป่ง สีสันสวย ล่องลอยได้ สุดท้ายก็จะค่อยๆ หายไป ถ้าเป็นหนังสือเรื่องชาวบ้านๆ แต่เนื้อหามันมีกระดูก คุณจะชอบหรือไม่ชอบ คุณอ่านตอนจะเล็กจะโต มันก็อยู่ได้

     ยิ่งถ้าได้อ่านหลายรอบก็น่าจะได้เห็นแง่มุมต่างๆ ของหนังสือ แล้วแต่จะคิดในห้วงนั้นๆ ในอายุหนึ่งก็คิดอย่างหนึ่ง ในอารมณ์หนึ่งก็คิดอย่างหนึ่ง เหมือนกับตอนผมอ่านหนังสือของศรีบูรพา อ่านหนังสือของพี่เสนีย์ (เสนีย์ เสาวพงศ์ ) อ่านหนังสือที่เขาว่ามันอ่านได้

 

ทำอย่างไรเราจึงจะเขียนหนังสือได้อย่างมีกระดูก

     ผมคิดว่าในชีวิตคนเรานี้ มีปัญหาที่อยากแก้ มีสิ่งที่อยากทำ พลังที่จะทำสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ น่าจะมาตอนสมัยหนุ่มๆ

     เรื่องที่ผมจำได้ชัดเจนติดตาจนถึงทุกวันนี้ คือที่สถานีรถไฟบัวใหญ่ เป็นสถานีรถไฟทั่วๆ ไปนี่แหละ มันเฉอะแฉะ ช่วงไหนเป็นหน้าฝน คนที่ไปสถานีรถไฟกลับมาจะต้องตัวเปรอะไปหมด จนวันหนึ่งผมเห็นมีคนเขียนจดหมายฉบับหนึ่ง เป็นจดหมายร้องทุกข์ไปถึงหนังสือพิมพ์ เกียรติศักดิ์ เขาบอกว่ากรมรถไฟน่าจะดูแลคนใช้สถานีบ้าง หินที่เคยเอามาปูหน้าสถานี ตอนนี้ถูกคนเหยียบจนจมลงดินไปไม่เหลือแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าจะช่วยเหลือประชาชนก็น่าจะหาหินบดหินย่อยมาปูที่หน้าสถานีให้ใหม่ก็จะดี หลังจากนั้นไม่ถึงอาทิตย์ ไม่ถึงอาทิตย์นะครับ ผมก็เห็นรถคราดต่ำบรรทุกหินมาปูเต็ม สถานีนั้นก็เปลี่ยนภาพใหม่ไปเลย

     ผมจึงคิดได้ว่า เอ แบบนี้นี่เอง หนังสือพิมพ์มีพลัง หลังจากนั้นก็คิดว่าตัวเองในฐานะปุถุชนคนหนึ่ง ถ้าอยากจะทำอะไร ก็น่าจะใช้พลังตรงนี้แหละเรียกร้องผ่านตัวหนังสือ

ตัวหนังสือมีพลัง เหมือนกระสุนปืนเมื่อยิงออกไปก็ส่งผลกระทบ แต่ปืนนั้นต้องเป็นปืนจริง ไม่ใช่ปืนแก๊ป

     เรื่องวันนั้นยังคงติดตาอยู่ กลับไปสถานีรถไฟบัวใหญ่ทีไร ก็ยังคิดเรื่องนี้ในใจ เราเห็นอานุภาพของหนังสือ อยากเขียนหนังสือ อยากทำหนังสือพิมพ์ แล้วก็ตัดสินใจ ณ ขณะนั้นเลยนะ ว่าจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ สมัยนั้นเขามีวิชาการหนังสือพิมพ์ จบจากโรงเรียน ผมก็ไปสมัครเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ เขาเพิ่งเปิดแค่สองปี

     ผมยังจำตอนเป็นนักหนังสือพิมพ์เด็กๆ ตอนที่จอมพล ป. กำลังจะถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร

     เช้าวันนั้นไปสัมภาษณ์จอมพลสฤษดิ์ ขณะนั้น อาทิตย์ กำลังเอก ยังเป็นร้อยเอก พวกนักศึกษาก็มาเดินขบวนที่ทำเนียบ นักศึกษาจุฬาฯ ออกมาชักธงดำขึ้นยอดเสา จอมพลสฤษดิ์ก็บอกว่าเดี๋ยวผมชักธงลงมาเอง แกให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ผมจะไม่วัดรอยเท้าจอมพล ป. แล้วสุดท้ายจอมพล ป. ต้องหนีไปเขมร ออกไปทางจันทบุรี เจ้าสีหนุก็เปิดวังเขมรินรับไว้ จอมพลสฤษดิ์ยังตามระราน สั่งออกวิทยุให้เจ้าสีหนุปล่อยจอมพล ป. ผ่านประเทศออกไป ผ่านไปเลยให้ไกลที่สุด จอมพลสฤษดิ์บอกว่าเป็นหนูจะสู้กับราชสีห์เหรอ สีหนุโกรธมาก พูดแบบนี้ก็ตัดญาติขาดมิตรกัน พอเป็นศัตรูกัน เขาก็จะเรียกร้องเขาพระวิหาร เพราะเป็นของเขมร แต่ไหนแต่ไรมาเขาไม่เคยเรียกร้องอะไร ถือว่าใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะทางขึ้นอยู่ทางฝั่งประเทศไทย

     คิดดูแล้วนะ นโยบายระหว่างประเทศถ้าเราทำดีๆ ช่วยแก้ปัญหาพรมแดนได้เยอะ แต่ถ้าจัดการไม่เป็น ก็เกิดเรื่องกระทบกระทั่งกันได้

 

คุณลุงชอบติดตามข่าวการเมืองมาตั้งแต่เด็กๆ เลยหรือ

     ที่โรงเรียนประจำอำเภอบัวใหญ่ มีหนังสือพิมพ์อยู่ในห้องสมุด ก็หนังสือพิมพ์ เกียรติศักดิ์ นี่แหละ โรงเรียนเราไม่มีงบประมาณจัดซื้อหรอก แต่ว่าร้อยโท สมพันธ์ ขันธะชวนะ ที่เป็นเจ้าของหนังสือ เขาส่งมาให้ ถือว่าโด่งดังมากสมัยนั้น เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐบาลจอมพล ป.

     ผมก็ตามอ่านด้วยความมัน อ่านการเมืองเรื่องที่เขาเป็นปรปักษ์กัน มีนักเขียนเก่งๆ หลายคน เหตุที่ผมใช้นามปากกาตัวเองว่า ค.ส.น. ก็เพราะติดอ่านบทความของ คุณกลิ่น สุคนธนิตยกุล เขาเป็นคนโนนสูงนี่เอง เขาใช้นามปากกา KSN เขียนโจมตีจอมพล ป. อ่านข่าวการเมืองมากจนติดกระแสฝ่ายซ้าย ฝ่ายค้านมาโดยตลอด นั่นคือความคิดเห็นทางการเมือง หนังสือพิมพ์ทุกยุคสมัย นักหนังสือพิมพ์เขาเรียกร้องหาประชาธิปไตยกัน จอมพล ป. เป็นเผด็จการ การจะสู้กับเผด็จการ เราไม่มีอาวุธอย่างอื่นเลยนอกจากสื่อ เผด็จการหมายถึงทหารนะ พวกชาวบ้านจะสู้กับเผด็จการทหาร ไม่มีอาวุธ เราก็ใช้สื่อ

 

นักหนังสือพิมพ์สมัยก่อนเขาไม่กลัวเผด็จการกันหรือ

     เป็นยุคสมัย เป็นวิญญาณของนักต่อสู้ เขาพูดไว้ว่า หนังสือพิมพ์คือผู้ทำความจริงให้ปรากฏ

ในโลกของเผด็จการนั้น ความจริงถูกบดบังไปเยอะ เพราะฉะนั้น จึงเป็นภารกิจของหนังสือพิมพ์ ที่จะเป็นหูเป็นตาให้ประชาชน เมื่อประชาชนมีหูมีตามากขึ้น ก็เป็นอาวุธอย่างเดียวที่จะสู้กับเผด็จการทหารได้

     โลกก็เป็นอย่างนี้่ ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ คือหลังจากนั้น ตัววัตถุซึ่งหมายถึงหนังสือพิมพ์ก็เปลี่ยนบทบาทไป คนไม่ได้อ่านหนังสือ ตอนนี้มีสื่อใหม่ๆ เข้ามา โซเชียลมีเดียมีลักษณะเป็นคนละอย่างจากหนังสือพิมพ์ กระจายทั่วไปหมด สร้างกระแส เขาก็สู้ๆ กันอยู่นะ ประชาชนคอยตามกระแส กระแสไหนถูกใจประชาชนก็ลุยกันไปได้ ที่เขาลุยๆ กันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะสร้างกระแสขึ้นมา นี่คือการทำงานในยุคปัจจุบัน โลกมันเปลี่ยน

     เมื่อก่อนเรามีอำนาจรวมศูนย์ มองเห็นเป็นตัวเป็นตนได้ ถ้าไม่พอใจก็จับโยนทิ้งได้ แต่เดี๋ยวนี้อำนาจชัดๆ แบบนั้นไม่มี เพราะมันละลายตัวลงมาอยู่ในมือประชาชน กระจายออกไปเยอะ

     สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงๆ กลายเป็นโซเชียลมีเดีย ลองพลิกๆ ดูไอ้เฟซบุ๊กนั่นมันมีบทบาทนะ เดี๋ยวนี้เห็นเขาทำอะไรกันเยอะแยะ ตอนนี้ผมเห็นเขาสับคุณประยุทธ์ (ประยุทธ์จันโอชา) กันอุตลุต มีคนออกมาด่าในเฟซบุ๊กกันเยอะ จนอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ดูหน้าตาร่วงโรยไป ที่สุดแล้วในปลายทาง คำตอบคือประชาธิปไตยเสมอ ไม่มีใครชนะประชาชนได้หรอก อำนาจจริงๆ อยู่กับประชาชน สังเกตนะครับ ไม่ใช่ว่าประชาชนทุกคนต้องมีความสามารถในการปลุกระดม ด้วยปากด้วยวาจา แต่ประชาชนทุกคนมีตีน เพราะฉะนั้น ถ้าประชาชนลุกขึ้นมาพร้อมๆ กัน แล้วก็ออกเดินพร้อมกัน เราต่อสู้ด้วยฝ่าตีน ลุยอะไรก็ได้

     สังเกตนะ เมืองไทยเรานี่สิ่งที่รัฐบาลกลัวและสิ่งที่ประชาชนต้องการ ก็คือฝ่าตีนของประชาชน บางทีเพียงแค่พวกเขาออกมายืนนิ่งๆ เพื่อแสดงให้ฝ่ายอื่นรู้ว่ายังมีพวกเขาอยู่ก็จะได้ไม่กล้าทำอะไร และถ้าได้จังหวะดีๆ เขาออกเดินพร้อมกัน ก็สามารถพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้อีกครั้ง ผมเชื่อของผมแบบนี้นะครับ ว่าปรากฏการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นโดยเร็ว ถ้าผู้ปกครองยังจับสัญญาณไม่ได้ ในขณะที่ประชาชนเขารู้แล้ว เขารู้ว่าเขาเป็นเจ้าของอำนาจ ถ้าเขาพร้อมเมื่อไร ไม่ว่าใครก็อยู่ไม่ได้ อำนาจทั้งหลายนี้ ถ้าพลังฝ่าตีนของประชาชนขยับเมื่อไร ไม่มีอะไรอยู่ได้

 

ลาว คำหอม

 

ในหนังสือ ฟ้าบ่กั้น มีเรื่องราวการต่อสู้ของชนชั้น สภาพเหมือนกับการต่อสู้ทางการเมืองในบ้านเราในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

     มันเป็นเรื่องของสามัญชนต่อสู้กับอำนาจ ผมเขียนเรื่องนี้ด้วยความตั้งใจจริงๆ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ผมอยากพูดแทนประชาชน ว่าประชาชนกำลังแสวงหาสิ่งนี้อยู่ แต่เหล่าผู้ปกครองได้สร้างระบบกลไกในการปกครองต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มีกลไกอำนาจ มีอำนาจที่มองไม่เห็น เขาสร้างคติความเชื่อต่างๆ นานา กระจัดกระจายอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ละคร นิทาน สื่อ ในคำพูดทั้งหลายทั้งปวง เพื่อพยุงอำนาจของชนชั้นผู้ปกครองดำรงอยู่ ประชาชนก็ขึ้นไปไม่ถึงเสียที พอพยายามจะต่อสู้ เขาก็ยกขึ้นไปให้สูงขึ้นอีก ประชาชนก็มือสั้นเกินไป คลำฟ้าไม่ถึง เขาก็เล่นกลอยู่อย่างนี้ นอกจากประชาชนจะสร้างพลังของตัวเอง จนพวกเหล่านั้นหาทางลงไม่ได้ เพราะบนพื้นราบนี่เราก็ขยายพลังออกไปให้มั่นคง ให้เป็นที่ของประชาชนเสีย พวกเหล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาชนด้วย อำนาจที่แล้วมาเป็นอำนาจเชิงอิทธิฤทธิ์ อิทธิพลอะไรต่างๆ จะค่อยเสื่อมสลายไป เมื่อประชาชนมีการศึกษามากขึ้น เดี๋ยวนี้จะสังเกตว่าผู้มีอำนาจหมดความขลังไปเยอะแล้ว ไม่น่ากลัว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วทั้งโลก

 

ก่อนจะจากโลกนี้ไป คุณลุงจะได้เห็นพลังอำนาจของประชาชนลุกขึ้นมาสำเร็จไหม

     เดี๋ยวนี้ประชาชนก็ไม่แพ้แล้วนะครับ เราไม่ได้เป็นผู้แพ้แล้ว เรามีรัฐธรรมนูญ มีกฎเกณฑ์ คำว่าประชาชนต้องหมายรวมถึงทหารด้วยนะ แม้แต่ชนชั้นสูงก็เป็นประชาชนเช่นกัน ถ้าทุกคนยอมรับอำนาจประชาชน ยอมรับประชาธิปไตย ประชาชนก็ชนะ พวกเหล่านั้นยอมรับประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว ที่เขาไม่กล้าทำอะไรมากนี่ เพราะเขารู้ว่าประชาชนมีอำนาจ จึงไม่น่ากลัว เป็นเรื่องปกติธรรมดา

     ประชาชนเดี๋ยวนี้ ประเทศไทยตอนนี้ ทุกฝ่ายยอมรับแล้ว ยอมรับว่าประชาชนฆ่าไม่ตาย ลักษณะอย่างนี้เหมาะสมกับสังคมไทยนะครับ เราหลีกเลี่ยงความรุนแรง ประชาธิปไตยจะช่วยให้เราไม่ต้องใช้ความรุนแรง ให้ประชาชนมีส่วนในการบริหารอำนาจ ไม่ต้องมานั่งบงการ ผมว่าสังคมเราตอนนี้น่ารักดี

 

ประเทศไทยดีขึ้นเรื่อยๆ จริงหรือ

     เอ… เราจะเอาอะไรเป็นตัวบ่งบอกล่ะว่าดีหรือเลว ถ้าเป็นเรื่องประชาธิปไตย สำหรับผมรับได้กับสภาวะที่เป็นอยู่ เพราะเห็นว่าประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะการศึกษา ยอมรับว่าระบบการศึกษาของเราไม่เลวร้ายหรอก สามารถสอนให้คนคิด สอนให้คนรู้จักตัวเอง เปิดช่องให้มีส่วนร่วมบริหารอำนาจ

 

แล้วสภาพแวดล้อมในละแวกบ้านที่ปากช่องนี่ล่ะ เห็นการพัฒนา เห็นการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้น

     สังคมทุกสังคมนั่นแหละนะ อำนาจในการจัดการมักจะขึ้นอยู่กับพลังของทุนหรือทรัพย์สิน การที่ทรัพย์สินไปอยู่ในมือของคนบางกลุ่มบางส่วนเท่านั้น ก่อให้เกิดสังคมมาเฟีย สังคมมาเฟียก็คือคนที่ครอบครองทรัพย์สินมากก็มีพลังมากกว่า มีกำปั้นโตกว่าคนอื่น สามารถข่มเหงคนอื่นได้ ก็เป็นแบบนี้โดยทั่วไป

     สำหรับสังคมกึ่งๆ กลางๆ อย่างบ้านเรา คนที่กำปั้นโตมีเยอะ บังเอิญว่าบรรดาพวกที่มีกำปั้นโตเขาเจรจาแบ่งสันปันส่วนทรัพย์สินที่เป็นฐานอำนาจของเขาได้เรียบร้อยแล้ว ที่ดินจึงต้องมีการปฏิรูป คนที่ครอบครองที่ดินมากมายแต่ก่อนหมายถึงคือมีทรัพย์สินเยอะมากจนมีกองทัพส่วนตัวได้เลย ไปข่มเหงรังแกประชาชน โภคทรัพย์เป็นฐานของอำนาจ ยิ่งรวยมากยิ่งพลังอำนาจมาก ก็สามารถจัดการอะไรได้ ถ้าให้พูดถึงปากช่อง คนที่มีทรัพย์สินมากๆ เขาจัดสรรกันได้เรียบร้อยแล้ว เลยไม่มีปัญหาอะไร

 

ลาว คำหอม

 

ไร่ธารเกษมของคุณลุงใหญ่โต คุณลุงก็ถือว่าเป็นคนมีกำปั้นโตด้วยใช่ไหม

     นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้วครับ ผมก็เป็นคนๆ หนึ่งที่มีอำนาจอยู่ในขอบเขตของตัวเอง คือสั่งลูกสั่งเต้าได้เท่านี้ (หัวเราะ) ให้เขาช่วยทำอะไรให้ได้ มันก็แค่นี้ แต่ถ้าขยายวงออกไปจากนี้ มันไม่เกี่ยวแล้ว คนละส่วนกันแล้ว

     ทุกวันนี้เป็นสังคมเปิด บ้านเมืองเรามีประชาธิปไตยเติบโตเข้มแข็งขึ้นมาเรื่อยๆ สังคมไทยผ่อนคลาย สบายๆ เด็กรุ่นใหม่ไม่ต้องรู้สึกกดดันอะไรเลย ทุกคนมีเสรีภาพ ลูกสาวของผมคนหนึ่งไปทำมาค้าขายก๊อกๆ แก๊กๆ เขาเป็นเสรีชน อีกคนหนึ่งมาอยู่ดูแลพ่อ เขาก็เป็นเสรีชน ยอมรับกันและกันในฐานะสังคมครอบครัว มีระบบอาวุโส ระบบคุณธรรมค้ำจุนในบ้านเราอยู่ ผมว่าสังคมลงตัวมากขึ้นแล้วล่ะ เราประคับประคองกันมาได้ ดึงอำนาจมาตั้งแต่ 2475

     เมื่อก่อนเป็นอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ อำนาจเหนือชีวิต เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วการต่อสู้กับอำนาจแบบนั้น

 

สังคมดีขึ้นแบบนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพลังวรรณกรรมของนักเขียนรุ่นคุณลุงใช่ไหม

     ส่วนใหญ่คงเป็นเพราะโลกเราสลายเข้าหากัน มันโยงกันไปหมด ถ้าเกิดความกระทบกระเทือนตรงจุดใดจุดหนึ่ง มันก็สะเทือนไปทั้งโลก เมื่อโลกเชื่อมต่อกันประสานกันอย่างนี้ จึงเกิดเป็นภาวะอย่างที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ พื้นฐานประชาธิปไตยกลายเป็นพื้นราบ เกิดขึ้น เกิดขึ้น

     ผมคิดว่าวรรณกรรมใดๆ ในโลกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายที่หล่อเลี้ยงบำรุง ให้ความเพลิดเพลินเจริญใจ ในฐานะที่วรรณกรรมเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง และอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายที่เป็นแก่นเป็นสาร ช่วยสานแกนให้กับโลกเรา ซึ่งบังเอิญว่าสังคมของเรามีวรรณกรรมฝ่ายที่เป็นแก่นเป็นสารนั้นเป็นหลักเป็นฐานมากกว่า ฝ่ายที่ให้ความบันเทิงเริงรมย์ก็มีอยู่ เขาทำหน้าที่ของเขาไป เราเปิดวิทยุ ดูทีวี ดูหนังดูละคร ฟังเพลงเพลิดเพลิน นั่นก็เป็นพลังวรรณกรรม เป็นพลังศิลปะเหมือนกัน

     แต่ฝ่ายที่เป็นหลักเป็นฐานนั้นบ้านเรามีอยู่เยอะมาก เข้มแข็ง เป็นฝ่ายที่มีเหตุมีผล เมื่อสังคมมีเหตุมีผล เราก็พูดจากันได้ ต่อรองกันได้ มาเฟียผลประโยชน์ทั้งหลายมีเยอะแยะไปหมด ไม่ใช่ไม่มี เพียงแต่ตกลงกันได้ ไม่ล้ำแดนกัน แต่ในที่สุด ฝ่ายประชาชนมีการศึกษา ขยายพื้นฐานออกไปแข็งแรงขึ้น มาเฟียคนไหนจะมาทำอะไรเขาก็ยากขึ้น

 

คุณลุงจะทำไร่ทำสวนเหมือนตอนหนุ่มๆ อีกไหม

     คงจะไม่ ผมอยากมีในสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้แล้ว อาจจะด้วยพื้นฐานของความเป็นพุทธศาสนิกชน คือยึดถือในความสงบสุข

ความสุขกับความสงบจะแยกออกจากกันไม่ได้ สงบแล้วก็สุขด้วย ถ้าสงบเฉยๆ คืออยู่นิ่งๆ อาจจะไม่มีความสุขก็ได้

     คือสงบเพราะมีอะไรมากดทับอยู่ แต่สงบสุขคือบรรยากาศแบบนี้แหละ ผมก็พอใจแล้วกับไร่ธารเกษมที่เป็นดินแดนของความสงบสุข ใครมาเยี่ยมเยียนสิ่งแรกที่ได้สัมผัสก็คือความสงบสุข น่าอยู่ เรียบร้อย ไม่มีอะไรน่ากลัว ถ้าสังคมไหนไม่น่ากลัว มันก็สงบสุขแบบนี่แหละ สังคมไหนที่มีปัญหาอยู่ ก็เพราะยังมีสิ่งที่น่ากลัวอยู่

 

คุณลุงยังมีแรงเขียนหนังสืออยู่ไหม

     โดยวัย โดยสังขาร มันก็หมดแล้ว มันเป็นวัยเกษียณแล้วนะครับ

 

ทำไมไม่บอกเล่าให้ลูกๆ ช่วยจดไว้

     งานเขียนต้องเกิดขึ้นจากข้างใน แล้วแผ่ขยายออกไปข้างนอก ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นในใจของใครแล้ว มันก็จะงอกงามขึ้นมาเอง มันจะบังคับให้เขาเขียนออกมาเอง ถ้ามีความต้องการ มีความสำนึกบางอย่างอยู่ในใจ วันหนึ่งเขาก็จะอยากเขียนออกมาเอง เพื่อบอกว่าเขาคิดอย่างนี้ เขาต้องการโลกอย่างนี้ แต่ตราบใดที่สิ่งนั้นที่อยู่ข้างในยังมีพลังไม่มากพอ มันก็จะอยู่ข้างในตัวเขาต่อไป เมื่อเรารู้แล้วก็อยากให้คนอื่นรู้ด้วย พลังนี้แบบแหละที่ทำให้เราต้องหาทางแสดงออก

     คนอื่นมีอาวุธอย่างอื่น นักพูดก็พูดไป นักการเมืองก็แข่งขันกันไป นักร้องก็แต่งเพลงร้องไป ทุกคนทำด้วยพลังของตัวเอง สำหรับตัวผมเองโตมาก็อยากเขียนหนังสือ เขียนๆ จนทุกวันนี้คิดตัวเองได้ทำมามากพอแล้วสำหรับการเขียนหนังสือ อาวุธของเราคือหนังสือ เราใช้หนังสือนี้มาจนเกิดผลดีผลร้ายอย่างไร ก็อย่างที่รับรู้โดยทั่วกันแล้ว

 

นักอ่านรุ่นลูกรุ่นหลานคงเสียดายที่คุณลุงไม่เขียนอีก

     เอ ผมเข้าใจว่าถ้าเราเขียนมากๆ โดยปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพ มันก็อย่างนั้นแหละนะครับ ครั้งหนึ่ง ชาติ กอบจิตติ เคยมาถามผมว่า เราจะเขียนมากหรือเขียนน้อยดี ผมตอบไปว่า เขียนดีก็แล้วกัน ถ้าเขียนมากแล้วมันดี ทำได้ก็ทำไปเถอะ แต่ถ้าขี้เกียจเขียน ก็เขียนน้อยๆ แต่ขอให้เขียนดี มันก็มีผลต่อคนอ่าน ต่อความคิดของคน ต่อสังคมได้ นักเขียนอย่างเรากำลังเล่นกับความคิดของคนนะครับ เหมือนเป็นเทพเจ้า

     ตลอดทั้งชีวิตที่ผ่านมาของผม ต่อสู้ดุเดือดเรื่องการบ้านการเมืองทุกชนิด เคยถูกกล่าวหาว่าร้ายสารพัด แต่มันก็ไม่ได้มีอะไรหรอก ผมอยากเห็นพลังของประชาชนเติบโต กล้าแข็ง เราก็ต้องช่วยกันพยุง แต่อีกฝ่ายที่เขาอยากเห็นประชาชนอ่อนแอ เพื่อที่เขาจะได้ปกครองได้ง่ายๆ แบบล้าหลัง ก็พยายามกด พยายามบีบ แต่นั่นมันก็เป็นพลังฝ่ายล้าหลัง ในที่สุดเมื่อความเจริญพัฒนามากขึ้น ประชาชนมีการศึกษามากขึ้น พลังล้าหลังแบบนั้นก็หมดไปโดยปริยาย ทำไม่ได้แล้ว

     คุณไม่สามารถจะบงการความคิดของคนได้แล้ว ยิ่งเขาสามารถสื่อสารกันได้ง่าย เขาก็ยิ่งมองเห็นพลังของตัวเองว่าคนแบบเขามีเยอะ คนคิดแบบเขามีเยอะ ความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นในคนหมู่มาก ฝ่ายที่จะใช้พลังจัดการบงการ ก็จะรามือไปเอง เดี๋ยวนี้ผมว่าเขารามือกันไปเยอะแล้ว ที่เหลือนอกนั้นก็ต้องหาวิธีพลิกแพลงต่างๆ เราเดินทางมาถูกแล้วล่ะ ประเทศเราเดินมาทางนี้ก็คงไม่มีใครมาทำอะไรเราได้

 

คุณลุงเคยสอน ชาติ กอบจิตติ เขียนหนังสือไหม

     ไม่หรอก การเขียนหนังสือสอนกันไม่ได้ เรื่องเทคนิควิธีนี่ผมก็เห็นว่ามีคนเขาสอนกันบ้างนะ อย่างหนังสือของนายตำรา ณ เมืองใต้ เดี๋ยวนี้ยังมีขายอยู่นะครับ เล่มโตๆ วิชาการประพันธ์ เขาบอกเทคนิค ขึ้นต้น ลงท้ายอย่างไร เขาบอกวิธีการเขียนหนังสือ ผมเข้าใจว่าโรงเรียนต่างๆ ก็ยังใช้หนังสือนั้นสอนกันอยู่ เดี๋ยวนี้คนอยากเขียนหนังสือกันมาก มหาวิทยาลัยก็มีการสอนกันเท่าที่ผมรู้

     แต่ผมว่านักเขียนสอนกันไม่ได้นะครับ มันต้องงอกจากข้างใน เมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในหัวใจของเราแตกต่างกัน บางคนเหมือนพริก เมื่อเขียนออกมาก็เผ็ดจี๋ บางคนเหมือนมีสวนอ้อยในใจ เขียนออกมาก็หวาน บางคนเหมือนสะเดา เขียนออกมาก็ขมขื่น นี่เป็นธรรมดา

 

ปันปัน

 

คุณลุงยังคิดถึงเพื่อนเก่าสมัยก่อน ที่เสียชีวิตไปในระหว่างการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ไหม

     แล้วแต่ความคิดของคนด้วยนะครับ ถ้าเป็นคนที่นับถือบูชาวีรชน พวกที่ถือลัทธิวีรชน เขาจะกล้าเดินเข้าหาภยันตราย เดินฝ่าคมศาสตราวุธ คนเหล่านั้นล้มหายตายจากไปอย่างวีรบุรุษ เขามีความสุขแบบนั้น เดินเข้าสู่ความตายโดยไม่สะทกสะท้าน ผู้นับถือวีรชนจะคิดว่าเมื่อฉันตาย ฉันได้ทำหน้าที่ในฐานะวีรชนแล้ว คนที่นอนแก่ตายบนเตียง นั่นไม่ใช่ความตายแบบวีรชน ยิ่งถ้าคุณเจ็บป่วยนอนบนเตียงสามสี่เดือน นั่นคือคุณอ่อนแอ

     แต่ผมเองไม่ใช่พวกถือลัทธิวีรชน ผมนับถือหลักแก่นแกนที่เป็นคุณธรรม ถ้าเราทำให้คุณธรรมขยายตัวออกไปเป็นกระแสหลัก เราทุกคนก็จะได้อยู่อย่างสงบสุข มั่นคงพอแล้ว คุณธรรมเติบโตออกไป ผมไม่อยากเห็นมันเป็นเสาแกร็นๆ คุณธรรมต้องเติบโตออกไปจนเต็มพื้นที่ พระพุทธเจ้าคงคิดอย่างนั้น ท่านต่อสู้กับฮินดู ฮินดูพยายามเอาชนะด้วยการสร้างภาพหลอนว่ามีเทพเจ้าเต็มไปหมด มีเทพเจ้าไปซ่อนอยู่ทุกซอกหลืบทุกมุม มีเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่นั่นเป็นพลังที่เติบโตในความมืด ความคิดมืดแบบนี้สามารถเติบโตได้ คนที่อยู่ในความมืดก็พัฒนาสายตาขึ้นมาให้มองเห็นอะไรๆ ได้ในโลกมืดนั้น แต่มันมืด ถ้าเรามองไปจากข้างนอก ในขณะที่เขาอยู่ข้างในบอกว่ามันไม่มืด นี่คือสภาพการณ์ของความคิด

     ผมคิดว่าเราควรทำให้โลกนี้สว่างอย่างที่เป็นอยู่นะครับ พระพุทธเจ้าแสดงไว้ชัดเจน ว่าโลกที่หมดสิ้นความมืดไป ด้วยจิตใจที่เข้มแข็งมุ่งมั่นที่จะนำแสงสว่างมาให้โลก ท่านจุดประกายไฟให้แสงสว่างแก่มนุษย์ นับเป็นคุณสูงสุดที่บุคคลคนหนึ่งได้ทำไว้

 

มนุษย์เราแท้จริงแล้วมีแสงสว่าง หรือว่าเรามืดดำย่ำแย่

     วรพจน์ พันธ์พงศ์ เขียนหนังสือไว้ชื่อว่า เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง เขาคิดอะไรผมก็ไม่รู้ แต่คำนี้มีความหมาย ถ้าคนเกิดสำนึกรู้ ก็เกิดเป็นแสงสว่าง เดาว่าเขาคงคิดแบบนี้ เมื่อมีแสงสว่างแล้วก็เชื่อมั่นในตัวเอง ศรัทธาตัวเอง ศรัทธามากขึ้นจนไม่ต้องสนใจคนอื่น แต่ถ้ามากไปจนถึงจุดนั้นก็อาจจะเป็นอันตราย เราไม่ต้องไปถึงจุดนั้นหรอก

 

สงสัยว่าตอนหนุ่มๆ คุณลุงเคยเกเรเกตุง ทำตัวแย่ๆ บ้างหรือเปล่า

     เอ โดยพื้นฐานผมเรียนรู้จากวัด ผมเป็นเด็กวัดตั้งแต่ห้าขวบ การที่เติบโตมาในวัดอย่างนี้ พื้นฐานเป็นพุทธศาสนิก บนเส้นทางของวัดไม่มีทางที่จะไปทำตัวเกเรได้ ไม่เหมือนเพื่อนคนอื่นที่บ้านรวย ไปเป็นจิ๊กโก๋ เกเรเกตุง ก็เพราะพลังข้างในเขาเป็นอย่างนั้น เขาก็แสดงออกมา แต่พลังข้างในของผมเป็นสายวัด ผมก็แสดงออกแบบวัดๆ ไม่มีโอกาสไปเกเรเกตุง เพราะเราเดินบนเส้นทางนี้ตลอด ผมก็เห็นพวกเด็กๆ จับกลุ่มกันมาท้าตีท้าต่อย มันเป็นสัญชาตญาณ ถ้าเส้นทางในชีวิตเขาไม่เป็นแบบนั้น เขาก็คงไม่เป็น

 

ลูกๆ ของคุณลุงเป็นคนสายวัดเหมือนกันไหม

     พวกเขาคงเกเรไม่เป็นล่ะมั้ง สิ่งแวดล้อมก็มีอิทธิพลนะครับ แต่ผมสังเกตดูลูกๆ ผม เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นคุณมากกว่าสิ่งแวดล้อมที่เป็นโทษ การศึกษาที่ได้ร่ำเรียนมาก็ช่วยให้แยกแยะอะไรดีอะไรเลว ผมเชื่อว่าเขารู้แล้ว เพียงแค่รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี รู้สองอย่างนี้ก็พอแล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปสอนอะไรแล้ว ถ้าเขารู้ว่าอะไรดี เขาก็เลือกทำในสิ่งที่เชื่อว่ามันดี อยากทำงาน หาสตางค์ อยากขายของ อยากทำอะไร ในสิ่งที่เขาทำได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

 

คุณลุงได้ไปพบเจอกับคนรุ่นใหม่ที่แย่ๆ บ้างไหม

     สังคมที่เขาอยู่มันโตขึ้น เขาเองก็โตขึ้น แต่ผมเชื่อว่าโดยส่วนใหญ่พื้นฐานของสังคมคือคุณธรรม สิ่งเลื่อนลอยเหล่านั้นไม่มีพลังมากพอที่จะเก็บคนหนุ่มสาวเหล่านั้นไว้ได้นานนัก เมื่อกาลเวลาผ่านไป เมื่ออายุเขาจะมากขึ้น ในที่สุดเขาก็คิดได้เอง ผมจึงไม่วิตกกังวลเวลาเห็นเด็กจับกลุ่มจับแก๊งอะไรกัน เมื่ออายุมากขึ้นเขาก็จะรู้เองนะครับ

     ขอเพียงแต่พวกเขาประคับประคองตัวเองไว้ ไม่บูชาลัทธิวีรชนเกินไป จนเดินไปให้ใครเขาแทงตัวเอง แค่นี้พอแล้ว เราห้ามเขาไม่ได้ เป็นเรื่องชะตากรรมของแต่ละคน พูดแบบนี้เหมือนผมยอมจำนน แต่ไม่ใช่

ทุกคนมีชะตากรรมเป็นของตัวเอง ซึ่งเราเองเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตัวเองว่าจะเอายังไง

     เหมือนผมกำหนดชะตากรรมของผม ว่าผมจะเดินบนเส้นทางนี้

 

ตั้งแต่ตอนหนุ่มๆ คุณลุงรู้แน่ชัดได้อย่างไร ว่าชีวิตนี้จะมั่นคงยืนหยัดเดินบนเส้นทางนี้ตลอด

     ผมชัดเจน ผมดิ่งไปทำหนังสือพิมพ์ เพราะผมเห็นอิทธิพลของหนังสือ เรามีเครื่องมือที่ดีกว่าคนอื่นๆ เพราะหนังสือมันแพร่ไปได้กว้างกว่า หนังสือ ฟ้าบ่กั้น มันมีพลังในตัวของมันเอง ผมมีเครื่องมือคือหนังสือ เครื่องมือของผมที่จะส่งความคิดของผมออกไปให้กับมนุษยชาติ เพื่อนพ้องร่วมยุคร่วมสมัย เขียนหนังสือเสร็จแล้ว ถ้ามันดีพอ คนน่าจะยอมรับได้ ก็นำออกไปกระจาย ผมคิดว่า ฟ้าบ่กั้น แปลเป็นภาษาหลักๆ ของโลกทุกภาษาแล้ว สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราอยากพูดกับโลก ก็ได้แพร่ออกไปแล้ว สมเจตนารมณ์แล้ว

     ตอนนี้ผมนั่งดูแต่ละจุดๆ เหมือนได้หว่านเมล็ดความคิดลงไป เมล็ดเหล่านั้นก็กำลังผลิดอกออกผลของมันเอง คนที่เขียนหนังสืออย่างน้อยก็น่าจะมีความรู้สึกอย่างลุงนะครับ เขียนแล้วเก็บไว้จะมีประโยชน์อะไร หนังสือต้องให้คนอ่าน อ่านมากเท่าไร ก็ถือว่านั่นคือความสำเร็จ เกิดมาชาติหนึ่งได้ทำสิ่งที่ตัวเองรู้ตัว ก็ขอให้ทำอย่างนั้น

 

จริงๆ แล้วทุกคนก็น่าจะมีความคิดที่ตัวเองอยากจะบอกกับโลก แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีคนมารับฟัง

     เท่าที่เราคุยกันมา ดูท่าทางคุณน่าจะเป็นคนมีเพื่อนมากนะครับ คุณก็แพร่ความคิดของคุณไป แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนๆ นำสิ่งที่พบเห็นมา เอามาวิเคราะห์และสังเคราะห์ สองคำนี้แหละที่คุณต้องมี ในการทำความคิดของตัวเองให้เป็นรูปธรรม การวิเคราะห์ทำอย่างไร คุณก็ต้องไปคุยกับเพื่อนๆ นะครับ แล้วก็สังเคราะห์ให้กับโลก ถ้ามีจังหวะก็เขียนหนังสือ ถ้าความคิดมันอิ่มตัวพอ เมื่อคุณอยากแสดงออกอย่างมาก มันจะบังคับมือคุณให้เขียนออกมาเอง

 

ตอนเขียน ฟ้าบ่กั้น คุณลุงเขียนออกมาด้วยวิธีนี้ใช่ไหม

     เขียนด้วยลายมือนะครับ จะใช้พิมพ์ดีดก็เมื่อต้องการทำก็อบปี้เท่านั้น ผมคิดว่าการเขียนลายมือมันแก้ได้ง่ายกว่า พิมพ์ดีดก็แก้ได้ แต่ในการเขียน สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือสมาธิ เราเพิ่งมาพบเครื่องจักรเครื่องกลพิมพ์ดีดเมื่ออายุมากแล้ว เครื่องพิมพ์ดีดก็เลยไม่สามารถทำให้เรามีสมาธิได้ ไม่เหมือนกับนั่งเขียน นั่งเขียนไปเรื่อยๆ เหมือนกับการนั่งสมาธิ การเขียนหนังสือคือการทำสมาธิ เหมือนพระสวดมนต์ นักร้องร้องเพลง ศิลปินวาดรูป ทุกคนก็กำลังทำสมาธิ ถ้าปราศจากสมาธิ เราจะสร้างงานความคิดออกมาเป็นรูปธรรมไม่ได้ ก็แค่นี้ครับ มันไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร คุณวิเคราะห์ให้เห็นรูปเห็นร่าง แล้วก็สังเคราะห์เพื่อส่งออกไป

 

ผมเคยอ่าน ฟ้าบ่กั้น ครั้งหนึ่งตอนเด็กๆ อ่านแล้วไม่รู้เรื่องเท่าไหร่ จนเพิ่งนำกลับมาอ่านใหม่อีกครั้งสองสามวันมานี้

     หนังสือเมื่อเราอ่านครั้งแรกเราเห็นอย่างนี้ เว้นไปสักสิบปี นำกลับมาอ่านอีกที เห็นอีกมุมหนึ่ง แสดงว่าหนังสือนั้นมีเรื่องราวหลายขั้นหลายตอน หนังสือแบบที่ลุงเขียน เขาเรียกว่า สัจจะนิยม หรือ เรียลิสม์ บอกเล่าสิ่งที่ตัวเองเห็น ภาพเหล่านี้สะเทือนใจ แล้วก็บอกเล่าให้เพื่อนในโลก ถ้าเขารู้สึกสะเทือนใจเหมือนเรา ก็เท่ากับหนังสือนั้นประสบความสำเร็จ ผู้เขียนก็ประสบความสำเร็จ

     คือถ้าเรารู้สึกโกรธบางสิ่งบางอย่าง แล้วคนอ่านรู้สึกโกรธด้วย ถือว่าเราประสบความสำเร็จ ผมอยากให้อินถาแจกแจงโลกของเขา ตอนนั้นผมเพียงแต่บอกว่าฟ้าสวรรค์เป็นเรื่องเลื่อนลอย อินถาสนใจเรื่องความรักของเขากับบัวคำ นั่นคือโลกของเขา อินถาเป็นตัวแทนความคิดของผม ทำงานแทนผม ตัวละครทุกตัวคือตัวแทนความคิดของเรา นายนาค นางาม ในเรื่อง เขียดขาคำ ก็เป็นตัวแทนของผมเช่นกัน

… … 

 
คำหอม ศรีนอก : ขอถามคำถามหนึ่งได้ไหม ในความเห็นของพ่อ ทำไมวรรณกรรมสมัยก่อนช่วยบอกเล่าความทุกข์ยากของคนอื่น แต่วรรณกรรมยุคนี้ ส่วนใหญ่เขียนบอกเล่าคร่ำครวญความทุกข์ในใจตัวเอง

     เป้าหมายมันต่างกันนะลูก พ่อใช้หนังสือเป็นอาวุธของพ่อ สร้างโลกของพ่อ อาวุธนี้ที่พ่อควบคุมได้ อาวุธที่พ่อเพิ่มศักยภาพให้มันได้ แต่นักเขียนรุ่นนี้อาจจะไม่ได้คิดอย่างนี้ เป้าหมายของเขายังไม่ชัดเจน เขายิงไปโดยไม่มีเป้า มีเสียงตูมใหญ่ แต่ไม่มีผลอะไร นักเขียนต้องมีเป้าหมาย ไม่ใช่สะพายปืนเข้าป่าไปแล้วยิงเรื่อยเปื่อย เห็นใบไม้ไหวก็ยิงใส่สุ่มสี่สุ่มห้า

     งานเขียนเป็นงานที่ต้องใช้ความคิด กลั่นออกมาจนมีเรื่องราว เหมือนเหล้ามีหลายชนิด แต่กว่าจะเป็นหัวเหล้าจริงๆ ต้องผ่านการกลั่นกรอง คนรุ่นใหม่เหมือนนักทำเหล้าสาโท ทำเองกินเองแล้วก็เมาเอง แต่วันหนึ่ง จนเมื่อเขาเบื่อแล้ว เขาจะเริ่มคิดได้ว่าต้องกลั่นมันเสียที เมื่อนั้นเขาก็จะเป็นนักเขียนที่มีความหมาย ไม่ใช่สักแต่ว่าพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ

     แต่พ่อว่าให้เขาเขียนต่อไปเถอะลูก ถ้าเขายังเขียนอยู่ เขาก็จะเดินไปสู่เป้าหมายนั้นด้วยตัวของเขาเอง มันไม่มีเส้นทางอื่นหรอก เขียนไป เขียนไป ในที่สุด นักเขียนจะซาบซึ้งกับคำว่า ปากกาคมกว่าดาบ เมื่อเขาเชื่อมั่นอย่างนั้นแล้ว เขารู้ว่าตัวเองมีอาวุธอันทรงอานุภาพอยู่ในมือแล้ว ต่อไปเขาก็ย่อมมีสิ่งที่อยากทำ เขาก็จะใช้ดาบนั้นให้เป็นประโยชน์ พ่อเชื่อมั่นจริงๆ ว่าปากกาคมกว่าดาบ พวกพี่ศรีบูรพาเขาเปลี่ยนแปลงโลก พวกนักเขียนทั้งโลกก็ใช้วรรณกรรมแท้ๆ เปลี่ยนแปลงโลกได้