Ask อรยา สูตะบุตร | Big Trees กับภารกิจในการรักษาต้นไม้ใหญ่ให้อยู่ร่วมกับเมืองได้อย่างยั่งยืน

อรยา สูตะบุตร ผู้ประสานงานกลุ่ม Big Trees องค์กรอาสาสมัครที่มีจุดประสงค์ในการสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนเกี่ยวกับเรื่องต้นไม้ใหญ่ในเมือง ที่เริ่มจากการรวมตัวกันของคนที่เห็นความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ นำไปสู่การหาทางรักษาต้นไม้ใหญ่ให้อยู่กับเมืองได้ และขยับไปสู่การทำงานอื่นๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการดูแล 60 สวนสาธารณะในเมืองไทย โรงเรียนต้นไม้เพื่อสร้างนักดูแลต้นไม้ใหญ่ โครงการรักบางกะเจ้าเพื่อปกป้องปอดของกรุงเทพฯ

 

 

จริงๆ เมืองไทยมีกฎหมายคุ้มครองต้นไม้อยู่แล้ว เพราะถือว่าต้นไม้เป็นสาธารณสมบัติ เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่คนที่ทำลายต้นไม้ก็เป็นหน่วยงานรัฐเสียเอง

 

ในมุมของคุณ การพัฒนาเมืองให้ยั่งยืนควรเป็นอย่างไร

ต้องบอกก่อนว่าการพัฒนาเมืองแบบไม่มีทิศทาง ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่มีอัตลักษณ์ เมื่อพลาดไปแล้วมันแก้ยากนะ มันไม่สามารถแก้ไปทีละส่วนสองส่วน แก้ตรงนั้นทีตรงนี้ที่มันก็จะเป็นแบบที่เราเห็นกันอยู่นี่แหละ อย่างเมืองหนึ่งก็ต้องมีหลายฟังก์ชัน ทั้งเพื่อการทำงาน การทำธุรกิจ ที่อยู่อาศัย พักผ่อนหย่อนใจ สาธารณูปโภค การเดินทาง ทั้งหมดนี้ก็ต้องอาศัยการวางแผนที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเมืองที่ผ่านการคิดร่วมกัน แล้วก็สอดคล้องกับการใช้ชีวิตแบบเมือง ซึ่งเราเข้าใจว่ากรุงเทพฯ เองก็เคยมีผังเมืองที่ดีมากๆ นะ แต่ต่อมาเราไม่ได้ทำตามนั้น พอมันผิดพลาดไปแล้วก็แก้ไขยาก แล้วบ้านเราก็มีหลายหน่วยงานที่มาทำเรื่องพวกนี้ เชน กทม. กระทรวงมหาดไทย ไฟฟ้า ประปา กรมทางหลวงชนบท ก็เลยมีปัญหาทุกมิติ แล้วก็มีความ-พยายามของผู้ว่าฯ ในหลายช่วงที่อยากจะแก้ไขเรื่องผังเมืองของกรุงเทพฯ อย่างจริงจัง

 

อยากรู้ว่าทำไมต่างประเทศเขาถึงมีเมืองที่บริหารจัดการได้ดี น่าอยู่ มันเกี่ยวกับอะไร เช่น ระบบบริหารราชการของเขา หรือว่าเป็นเพราะประชาชนที่ตื่นตัว

เราว่ามันก็ทั้งสองส่วนนะ อย่างเราไปออสเตรเลียบ่อย เห็นได้ชัดว่าเพื่อนบ้านเขาก็ดูแลกันเอง เช่น เมืองเพิร์ทมีปัญหาขาดแคลนน้ำ จะไม่มีบ้านไหนเลยที่มีสระว่ายน้ำ แม้กระทั่งล้างรถ บางทีคนไทยเราเคยชินกับการเอาสายยางมาฉีดน้ำล้างรถ ข้างบ้านโทร.ไปแจ้งหน่วยงานรัฐเลยนะ เขามาตรวจสอบเลย ซึ่งอีกด้านหนึ่งระบบราชการเขาก็คงมีวิธีที่สามารถดึงคนให้อยากเข้ามาทำงาน มีคนเก่งๆ เข้ามาทำงาน อย่างสิงคโปร์ เขาตั้งอัตราเงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐให้แพงกว่าเอกชนเลยนะ ไม่ใช่แค่เท่ากัน เขาไม่ได้เอาระบบสวัสดิการหลังเกษียณมาดึงดูด เพราะเดี๋ยวคนมาอยู่รอบำนาญ อีกอย่างก็คือเป็นเมืองที่เก็บภาษีแพง และเมื่อประชาชนเห็นว่าภาษีที่ถูกเก็บไปเยอะนั้นทำให้เขาได้ถนนที่ดี มีทางเท้ากว้างสะอาด เขาก็โอเค แล้วรัฐก็ต้องระวังตัว
มีการตรวจสอบกันเอง

 

 

แล้วในเรื่องของต้นไม้ เมืองอื่นๆ เขาทำอย่างไรถึงสามารถทำให้ต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองได้อย่างกลมกลืน ในขณะที่บ้านเราอาจจะไปให้ความสำคัญกับสิ่งก่อสร้างมากกว่า

จริงๆ เมืองไทยมีกฎหมายคุ้มครองต้นไม้อยู่แล้ว เพราะถือว่าต้นไม้เป็นสาธารณสมบัติ เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่คนที่ทำลายต้นไม้ก็เป็นหน่วยงานรัฐเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นระดับเขตหรือส่วนกลาง แล้วตอนนี้ กทม. ก็มอบอำนาจการดูแลต้นไม้ให้กับเขต สมมติว่าคอนโดฯ นี้จะขึ้นแล้วมีต้นไม้ด้านหน้า ต้นไม้บังทางเข้า ก็เรียกเขตมาจัดการ เขาก็บอกว่าเขาล้อมไปปลูกใหม่นะ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ค่อยรอดหรอก

แต่ถ้ากลับกัน คือเราทำให้การทำลายต้นไม้เป็นสิ่งที่ยาก มันก็จะช่วยคุ้มครองต้นไม้ได้มากกว่า แล้วอย่างในต่างประเทศ ถ้าเป็นต้นไม้ใหญ่เขาจะไม่สนใจเลยว่าขึ้นที่ไหน เขาดูที่ขนาด ความเก่าแก่ แล้วก็ชนิด เขาจับขึ้นทะเบียนห้ามตัดเลย อย่างประเทศไทยเอง ตอนนี้คนในสังคมก็ตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น มีความเข้าใจมากขึ้น อย่างแต่ก่อนนี้ กทม. จะอ้างอย่างเดียวว่าก็การบริหาร กทม. มันแยกส่วน เขาไปควบคุมดูแลทั้งหมดไม่ได้ แต่ตอนนี้ กทม. เองก็เริ่มคุยกับการไฟฟ้า ส่วนหนึ่งมันก็มาจากประชาชน มาจากสื่อ ที่ช่วยตีฆ้องร้องป่าว หน่วยงานภาครัฐจะมาทำไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้แล้ว

 

มีตัวอย่างเมืองไหนบ้างที่สามารถจัดการเรื่องต้นไม้ได้ดี

อย่างล่าสุดที่เพิ่งเอาลงเพจ Big Trees ไป ก็คือที่ปารีส ประเด็นเรื่องป้ายโฆษณาที่เขาเพิ่งเอาออกเพื่อหลบที่ให้ต้นไม้ ซึ่งอย่างบ้านเราเองก็มีป้ายโฆษณาเยอะมาก แล้วเราก็ไม่มีการควบคุมอะไรเลย ประชาชนสามารถช่วยเป็นหูเป็นตาทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นได้ เราต้องไม่เงียบต้องรวมตัวกันเพื่อส่งเสียงให้ดังขึ้น การทำงานให้ได้ผลก็ต้องออกแรงพอสมควร อย่างเรื่องต้นไม้ ตัวอย่างที่ดีก็คือของเขตจตุจักร

มันเริ่มจากพี่คนหนึ่ง ชื่อพี่ตุ๊ก ที่แค้นกับการตัดต้นไม้ของเขตมากๆ แกเห็นต้นไม้ของแกมาทุกปี ออกดอกสีชมพูสวยงาม อยู่ดีๆ ทางเขตไปตัดกิ่งเท่ากันหมดเลย แกก็อาศัยว่าเป็นคนไม่ยอมแพ้ ทั้งโทร.ไป ทั้งไปที่เขต โพสต์เฟซบุ๊ก คนแชร์เป็นพันเลย สื่อก็ไปหาแก กลายเป็นว่าตอนนี้เขตจตุจักรจะทำอะไรกับต้นไม้ก็จะมาบอกแก มีอยู่ครั้งหนึ่งมีคนทำต้นไม้ตาย แต่ไม่ใช่ทางเขต เป็นสำนักระบายน้ำ แกก็โพสต์เฟซบุ๊ก ทั้งผู้ว่าฯ ผอ.เขต ต้องประกาศขึ้นป้ายเลยว่าจะซ่อมแซมตรงนี้ จะเอาต้นไม้กลับมาให้ใหม่จริงๆ เรามองว่าเรื่องต้นไม้ใหญ่ที่ Big Trees ทำ มันเป็นแค่สัญลักษณ์ของความเข้าใจระหว่างรัฐกับประชาชนในการดูแลต้นไม้ พอมีเพจเรื่องนี้ ก็เลยกลายเป็นที่ที่คนมารุมกันแสดงความคิดเห็น ก็เป็นเรื่องอื่นๆ อีก ทั้งเรื่องทางเท้า คลอง แม่น้ำ

 


 

ทำความเข้าใจเรื่องต้นไม้ใหญ่อย่างเข้าใจมากขึ้นที่ https://www.facebook.com/BIGTreesProject