กว่าจะกลายมาเป็นวงดนตรีที่ขึ้นชื่อว่าร็อกสุดๆ และแสดงสดได้มันเป็นอันดับต้นๆ ของศิลปินไทย หนังสือมีส่วนสำคัญมากในการบ่มเพาะความคิดของพวกเขาให้เติบโตขึ้นมา สมาชิกทุกคนในวงโลโมโซนิกคือนักอ่านตัวยง โดยเฉพาะ บอย นักร้องนำของวง ครั้งหนึ่งเรานัดสัมภาษณ์เขา เราเห็นเขาเหน็บหนังสือติดตัวออกมาด้วย เมื่อสอบถามจึงได้ความว่า การอ่านหนังสือคือกิจวัตรประจำวันที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกกำลังกายและการซ้อมดนตรีเพื่อเตรียมร่างกาย
การอ่านหนังสือดีๆ คือการออกกำลังกายทางความคิดให้พร้อมสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เช่นกัน จึงไม่แปลกใจเลยว่าเพราะอะไรสมาชิกของวงโลโมโซนิกจึงได้ขึ้นชื่อว่ามีความคิดความอ่านที่คมคายและผลิตผลงานเพลงที่มีคุณภาพเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย
…
เด็กชายโรอัลด์ ดาห์ล
ผู้เขียน: โรอัลด์ ดาห์ล ผู้แปล: สาลินี คำฉันท์
แนะนำโดย: ‘ออตโต้’ – ชาญเดช จันทร์จำเริญ ตำแหน่ง: มือกลอง
หนังสือเล่มแรกที่เปลี่ยนให้ออตโต้กลายเป็นคนรักการอ่านและเริ่มอ่านหนังสืออย่างจริงจัง
“ผมอ่านเล่มนี้ครั้งแรกตอนอายุ 8 ขวบ เพราะมีเพื่อนเป็นแฟนหนังสือของโรอัลด์ ดาห์ล เขามาที่บ้านผมเพื่อจะมาเล่นเกมแล้วเขาก็หยิบหนังสือเล่มนี้ติดมือมาด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นคือวันนั้นผมปล่อยให้เขานั่งเล่นเกมไปคนเดียว ส่วนผมเอาแต่อ่านหนังสือเล่มนี้ มันเป็นหนังสือที่ไม่โลดโผน ไม่มีไคลแมกซ์ ไม่มีอะไรที่บ่งบอกว่ามันคือหนังสือเล่มที่ดีที่สุด แต่พอจับแล้วเราวางไม่ลงเลยล่ะ
“มันคือหนังสือว่าด้วยชีวประวัติของโรอัลด์ ดาห์ล นักเขียนชาวเวลส์ที่โด่งดังกับผลงานเรื่องสั้น และเขียนเรื่องเด็กขำขันแต่น่าขนลุก เล่มนี้ตัวเขาเป็นผู้เขียนเอง เล่าเรื่องราวสิ่งที่พบเห็นและกว่าจะมาเป็นตัวเขาในปัจจุบัน อ่านง่าย ไม่ต้องจินตนาการสูงเลย เพราะเขาตั้งใจเขียนให้เด็กๆ อ่านกัน ผมใช้เวลา 5 วันในการอ่านจนจบ หลังจากนั้นผมก็เริ่มอ่านหนังสือจริงจังมากขึ้น เป็นการอ่านอย่างจริงจังที่เปลี่ยนจากการนั่งอ่านข้างนอกกับคนอื่นเข้าไปนั่งอ่านในห้องนอนตัวเองเงียบๆ คนเดียว”
Ju-On
ผู้เขียน: Kei Ohishi
แนะนำโดย: ปิติ เอสตราลาโด สหพงศ์ เดน โดมินิค ตำแหน่ง: มือกีตาร์
นิยายสยองขวัญที่ดีที่สุดในความทรงจำของปิติ ผู้เป็นแฟนตัวยงของหนังสือแนวสยองขวัญ
“จำได้ว่าอ่านเล่มนี้ตอนอยู่เรียนอยู่เกรด 8 มันเป็นอะไรที่ตื่นเต้นมากเลยนะ เพราะตอนนั้นเราก็เริ่มจะเป็นวัยรุ่นแล้ว ก็จะชอบอะไรที่มันสืบสวนสอบสวน อะไรที่มันสยองขวัญเร้าใจหน่อยๆ ตามอ่านเล่มนั้นเล่มนี้มาเยอะพอสมควร แต่พอมาเจอ Ju-On แล้วรู้สึกว่ามันสนุกกว่าเล่มอื่นๆ ที่ผ่านมาเยอะ ไม่ใช่สนุกในแง่ของความน่ากลัว สยดสยองนะ แต่เป็นความสนุกตรงที่เขาสามารถเขียนเพื่อสร้างบรรยากาศให้เรามีอารมณ์ร่วม ทำให้เรารู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น เป็นตัวละครในหนังสือเลย
“เมื่อก่อนเราดูหนังผี เราก็จะชอบมีความสงสัยว่า ทำไมผีมันดุจัง แล้วเล่มนี้มันช่วยไขคำตอบให้เรา ด้วยการอธิบายเหตุผลเบื้องหลัง พาย้อนกลับไปดูเรื่องราวในอดีตตอนที่ผียังมีชีวิต เหตุผลการตายของเขา ซึ่งถ้าตัดภาพมาในปัจจุบันเรื่องนี้มันก็ธรรมดาเนอะ แต่ในช่วงเวลาที่เราอ่าน เราบอกได้เลยว่าเล่มนี้ละเอียดกว่านิยายสยองขวัญเล่มอื่นๆ ที่อ่านอยู่”
เพชรพระอุมา
ผู้เขียน: พนมเทียน
แนะนำโดย: ‘บอย’ – อริย์ธัช พลตาล ตำแหน่ง: ร้องนำ
คำคารวะจากบอยต่อพนมเทียนผู้เขียนที่ทำให้ รพิน ไพรวัลย์ กลายเป็นสุภาพบุรุษที่ผู้อ่านทุกคนต้องตกหลุมรัก
“จริงๆ แล้ว เพชรพระอุมา ถือเป็นนวนิยายที่มีความยาวมากที่สุดเรื่องหนึ่งเลยนะ แต่สามารถทำให้คนอ่านหลายๆ คนวางไม่ลง ไม่รู้สึกว่ายาวเลย มันเป็นนวนิยายไทยที่ดีมากๆ มันมีทั้งความคลาสสิกแต่ในขณะเดียวกันมันก็มีความร่วมสมัย กลมกล่อม ทั้งๆ ที่เรื่องราวการผจญภัยแบบนี้มันคือการเรฟเฟอร์เรนซ์มาจากนิยายต่างประเทศ แต่พนมเทียนสามารถใส่บริบทความเป็นไทยเข้าไป อย่างสภาพพื้นที่ ฉาก คาถาอาคม สิ่งลี้ลับต่างๆ
“ทุกคนอ่านแล้วจะต้องยกย่องและรัก รพิน ไพรวัลย์ (ตัวละครหลักในนวนิยาย) กันหมด เพราะเขาเป็นสุภาพบุรุษที่น่านับถือ มีความรับผิดชอบในหน้าที่และมีความรักที่มั่นคง ถ้ามีคนอย่างรพิน ไพรวัลย์ ในประเทศนี้เยอะๆ คงจะดีมากเลย แต่คนที่ผมต้องคารวะด้วยความนับถือจริงๆ คือพนมเทียนผู้สร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมาได้อย่างกลมกล่อมพอดีขนาดนี้”
TRUE GRIT
ผู้เขียน: ชาร์ลส์ ปอร์ติส ผู้แปล: เชน จรัสเวียง (แดนอรัญ แสงทอง)
แนะนำโดย: ‘ป้อม’ – ฉัตรชัย งามสิริมงคลชัย ตำแหน่ง: มือกีตาร์
นวนิยายฉายที่ภาพท้องทุ่งตะวันตกที่มีเสน่ห์อันสำคัญอยู่ที่สำนวนแปลของ แดนอรัญ แสงทอง
“ผมเจอเล่มนี้ด้วยความบังเอิญตอนเดินผ่านแผงขายหนังสือ ด้วยความที่ผมเป็นแฟนหนังสือของคุณแดนอรัญ แสงทอง อยู่แล้ว ก็เลยตัดสินใจซื้อมาอ่านอย่างง่ายดาย นอกจากฝีไม้ลายมือในการประพันธ์แล้ว สิ่งที่ทำให้เราชอบแดนอรัญมากๆ คือสำนวนการใช้ภาษาของเขาที่ออกจะโบราณๆ หรือที่เขาเรียกว่าภาษาดึกดำบรรพ์ พอนำมาเล่าในนิยายที่ฉายภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว มันเลยออกมาดีมาก สำนวนการแปลของเขาทำให้นิยายมีเสน่ห์มากๆ
“ถ้าเปรียบการแปลของแดนอรัญกับการทำดนตรี เขาไม่ได้เขียนเพลงขึ้นมาเอง แต่เขาเป็นคนคัฟเวอร์เพลง แต่เรากลับรู้สึกว่าเพลงๆ นี้หรือหนังสือเล่มนี้เหมือนถูกเขายึด กลายเป็นของเขาเองไปเลย แล้วดีเทลของท้องทุ่งในอเมริกาก็ละเอียดยิบ หาข้อมูลมาดีมาก ตอนอ่านอยู่เรารู้สึกเลยว่า โฮ งานแปลระดับนี้ไม่ได้มีให้เห็นกันบ่อยๆ นะ สรุปว่าวันนั้นเปิดอ่านตอนเช้า ตอนเย็นก็อ่านจบพอดีเลยครับ (หัวเราะ)”