บุธงานหนังสือ

The List | ส่องเบื้องหลังไอเดียสร้างสรรค์ 5 บูธ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47

นอกจากหนังสือปกใหม่น่าสนใจที่หลายสำนักพิมพ์ขนมาเปิดตัวแล้ว งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 ในปีนี้ ยังมีความพิเศษอีกอย่างคือจะเป็นปีสุดท้ายที่จะจัด ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดมาอย่างยาวนานกว่า 23 ปี ก่อนที่จะย้ายไปจัดที่อิมแพ็กอารีนา เมืองทองธานี ในครั้งหน้า ดังนั้น หลายสำนักพิมพ์จึงทิ้งทวนงานหนังสือในครั้งนี้ด้วยการออกแบบบูธสุดสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือสามารถสะท้อนคาแร็กเตอร์ของสำนักพิมพ์ได้เป็นอย่างดี

มาลองไล่เรียงดูพร้อมกันว่ามีบูธจากสำนักพิมพ์ไหนที่โดดเด่นเตะตา จนต้องเข้าไปสอบถามเบื้องหลังไอเดียนั้นบ้าง

บูธงานหนังสือ

สำนักพิมพ์ openbooks

บูธ: E12 Plenary Hall ผู้ออกแบบ: สันติ ลอรัชวี

     “ถ้าคนเคยอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์ openbooks ก็จะพอรู้ว่า หนังสือกับดีไซน์ในยุคหลังๆ ที่เราออกแบบ ถ้าศัพท์สมัยใหม่คือมินิมอล แต่ในความว่ามินิมอลก็คือความเรียบง่ายนั่นแหละ กลับไปสู่ความเรียบง่ายที่สุด เพราะว่าทุกวันนี้โลกก็มีของอะไรมากมายเต็มไปหมด เพราะฉะนั้น เราก็อยากให้ทุกอย่าง simplify ให้สะอาด ให้คนรู้สึกว่าเวลาได้จับหนังสืออ่าน กระทั่งเปิดหนังสือ กระดาษ ดีไซน์ทั้งหมด รู้สึกผ่อนคลาย เพราะเป็นเวลาเดียวที่เขาจะสามารถใช้เวลานิ่งๆ อยู่กับอะไรที่โฟกัสได้”

 

 

     “เพราะฉะนั้น ในการออกแบบบูธทั้งหมดเราพยายามทำให้อยู่ในคอนเซ็ปต์ความเรียบง่าย เป็นอารมณ์ที่เราอยากจะสื่อกับคนอ่าน ที่สำคัญปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จัดที่นี่ เราก็อยากจะทำอะไรพิเศษๆ อยู่แล้ว เราอยากให้คนที่มาได้มีความทรงจำที่ดี รวมไปถึงคนที่ทำงานด้วย เราได้ร่วมงานกับ อาจารย์สันติ ลอรัชวี ที่ออกแบบเซต wisdom ที่เป็นซีรีส์หนังสือของ คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แล้วก็ร่วมกับทีม craftsmanship ที่ทำงานมืออาชีพมาก แล้วคุยกันว่าอยากจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า Temple of Light คือวิหารแห่งแสงทางปัญญา หนังสือคือปัญญาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะหนังสืออะไรก็ตาม เราก็เลยอยากทำให้เห็นว่ามันคือแสงสว่าง ให้ทุกคนอยู่กับแสงสว่าง แล้วมันจะพาทุกคนไปต่อ ก็เลยกลายเป็น Temple of Light สีขาวขึ้นมา แล้วทุกอย่างก็ตามสิ่งที่เรานำเสนอมาตลอดผ่านปกหนังสือ ดีไซน์ และเนื้อหา คือกลับไปสู่ความพื้นฐานที่เรียบง่าย แต่ว่าทำให้เราได้โฟกัสแล้วก็ไปต่อได้”

 

 

     “ตอนบรีฟเราคุยกันว่าอยากได้ Temple of Light ที่เราทำเสร็จได้ในหนึ่งวัน เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการติดตั้งแค่วันครึ่ง ทีมงานก็ต้องออกแบบล่วงหน้า วัสดุก็เป็นวัสดุทั่วไปเวลาเราทำบ้าน เราจำลองเฟอร์นิเจอร์บิลต์อินหรือห้องห้องหนึ่งขึ้นมา เพราะฉะนั้น ในแง่วัสดุคือเราเน้นเรื่องแสง ทีมงานที่คิดเรื่องนี้ก็ต้องไปตามหาวัสดุที่จะเรืองแสงเวลาให้แสงผ่านแต่ไม่ฉูดฉาดจนเกินไป การทำให้เกิดเฉดกับแสง ทุกอย่างที่เราช่วยกันทำก็จะรับกับภาพรวมทั้งหมด”

 

 

     “โดยธรรมชาติคนทำหนังสือก็ไม่ควรจะต้องขายหนังสือ ในระบบทั่วโลก คนทำหนังสือก็คือทำหนังสือ แล้วก็มีระบบการตลาด การจัดจำหน่ายขึ้นมา ซึ่งในประเทศเราอาจจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ระบบก็เลยบังคับให้บางครั้งต้องมาขายเองบ้าง แต่ openbooks ของเราพยายามจะคิดว่าการที่เรามาบูธคือการได้เจอคนอ่าน เพราะปกติเราไม่เคยเจอกันแบบซึ่งๆ หน้า ถ้าเราได้เจอกัน เราได้เห็นคนอ่าน คนอ่านได้เห็นคนทำหนังสือ มันก็เหมือนการสังสรรค์ของคนอ่านและคนทำที่จะได้แลกเปลี่ยนกัน บรรยากาศทั้งหมดก็จะทำให้คนอ่านรู้สึกว่าได้เข้ามาในโลกที่เขาได้เห็นผ่านหนังสือในรูปแบบการจัดบูธ ทุกปีเราก็เปลี่ยนดีไซน์ตลอด แต่ปีนี้เราชัดเจนมากว่าเราต้องการสื่อเรื่องนี้เรื่องเดียวเลย คือข้อความที่เรียบง่ายที่สุดที่ว่า วิหารแห่งปัญญาคือหนังสือ”

 

บูธงานหนังสือ

สำนักพิมพ์ a book

บูธ: D02 Plenary Hall ผู้ออกแบบ: กนิฐปัญณีย์ นิ่มศรีทอง

     “รอบนี้ a book ออกหนังสือใหม่สามเล่ม ซึ่งเป็นการเดินทางหมดเลย ได้แก่ รักสุดสวิส, The Appalachian Trail ใจก้าวเท้าเดิน และ ดาวัย รัสเซีย เจอกันสักทีหมีขาว ปกติแล้วไอเดียของ a book จะเป็นการดึงธีมการออกแบบบูธมาจากหนังสือเป็นหลัก รอบนี้เป็นการเดินทางทั้งสามเล่ม ดังนั้น เราก็เลยคิดว่าธีมรอบนี้น่าจะเป็นการเดินทาง ที่สำคัญคือจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะมางานหนังสือที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะส่งท้ายสักหน่อยว่าเรากำลังจะเดินทางไปที่ใหม่ๆ เป็นการเดินทางที่ยาวนาน ดังนั้น ธีมการเดินทางในหนังสือก็สามารถมาโยงกับเรื่องศูนย์ฯ สิริกิติ์ได้ด้วย”

 

บูธงานหนังสือ

 

     “ปกติบูธ a book ที่ผ่านๆ มา เช่น รอบที่แล้วจะเป็นกล่องไม้ใหญ่ๆ สูงๆ แข็งๆ พอมารอบนี้เราอยากลองวัสดุอื่นๆ บ้าง พอดีเราได้ทำงาน LIT fest เมื่อตอนกลางปี แล้วเรามีการพรินต์ผ้า ก็รู้สึกว่าสวยดี คือผ้ามันมีน้ำหนัก สามารถเล่นเลเยอร์แล้วเป็นมิติได้ เลยเปลี่ยนจากกล่องไม้เป็นงานพรินต์ลงผ้า แล้วข้อดีของผ้าคือเบา การติดตั้งก็ไม่ใช้เวลานานเท่ากับทำกล่องไม้ใหญ่ๆ ขึ้นมา เราก็เลยคิดว่าเราจะทำกราฟิกเป็นเหมือนแลนด์สเคป แต่เป็นแลนด์สเคปที่ดูรวมๆ เหมือนจะแอ็บแสตรก เป็นท้องฟ้าบ้าง เป็นภูเขาบ้าง เป็นเส้นๆ สีๆ บ้าง เพราะว่าเราไม่ได้อยากเฉพาะเจาะจงว่าที่นี่สวิสนะ อันนี้รัสเซียนะ เราก็อยากให้มันแฝงความหมายไว้ในนั้นแหละ แต่ก็ไม่ได้อยากให้มันเล่าเรื่องชัดเจน ก็เลยออกมาเป็นรูปวิวที่สลับซับซ้อน สลับสีไปมา แล้วก็ใช้ผ้าประมาณสองเลเยอร์ เพราะอยากให้มีเลเยอร์หน้าหลัง บนผ้าบางผืนจะมีโควตที่เลือกมาโดยพี่แป้งร่ำ (ชมพูนุท ดีประวัติ) บรรณาธิการ ซึ่งเป็นโควตเกี่ยวกับการเดินทาง เอามาช่วยให้อาร์ตเวิร์กมันดูมีอะไรมากขึ้น”

 

บูธงานหนังสือ

 

     “เราก็ไม่รู้นะว่าคนเข้ามาจะสามารถเชื่อมโยงได้ไหมว่าธีมนี้เป็นการเดินทาง แล้วหนังสือใหม่รอบนี้คือการเดินทางทั้งสามเล่มเลย แต่เราก็รู้สึกว่าเราคิดคอนเซ็ปต์นี้ขึ้นมา มันจะไม่เหมือนว่าเราตั้งคอนเซ็ปต์ขึ้นมาลอยๆ ว่าเราอยากได้อันนี้ เราก็ยัดอันนี้ขึ้นไป แต่เราใช้ทุกการออกแบบของเรา เริ่มต้นมาจากหนังสือของเราก่อนเลย”

 

บูธงานหนังสือ

สำนักพิมพ์สมมติ

บูธ: R52 โซน C ชั้น 2 ผู้ออกแบบ: เอกสิทธิ์ เทียมธรรม

     “ด้วยความที่สำนักพิมพ์เราทำวรรณกรรมคลาสสิก ไตเติ้ลของมันจะค่อนข้างมีความเป็นทางเลือก และไม่ได้เป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่มีความแมส ตัวคาแร็กเตอร์จะมีความจริงจัง ขึงขัง ดังนั้น มู้ดและโทนของบูธจึงมีความชัด คือการตีความออกมาด้วยสีดำ เป็นการตั้งต้นจากไอเดียของ คุณปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล เจ้าของและหนึ่งในบรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติ”

 

บูธงานหนังสือ

 

     “ถ้าได้ย้อนกลับไปเห็นบูธเราในยุคเก่าๆ ก็จะมีความพยายามในการปรับเปลี่ยนหรือหาการออกแบบบูธใหม่ๆ มาตลอดตั้งแต่ปี 2558 ที่เราเริ่มเอาชั้นกระดาษมาใช้กับพื้นที่ เพื่อในการถอดประกอบสามารถทำได้ง่าย เราพยายามจัดวางบูธในพื้นที่ 6×3 เมตร ให้เป็นสัดส่วนที่สุด เพราะหลักๆ ของเรามีหนังสือ 80-100 ปก แล้วก็มีมุมเฉพาะอย่างมุมเครื่องเขียน สินค้าทางวรรณกรรม เราพยายามแบ่งโซนให้ชัดเจน ที่สำคัญในพื้นที่นี้เราก็อยากให้มีความเป็นแบรนดิ้ง ให้เห็นบรรยากาศ เห็น ascent ของเรา มีป้าย มีพิมพ์ดีด มีความคลาสสิกอะไรบางอย่างอยู่ มีจัดอันดับที่ทำขึ้นมาให้เห็น ไม่ได้บอกว่าเป็นหนังสือขายดี แต่เป็นการที่เราแนะนำผู้อ่านของเราโดยตรง แล้วก็สร้างกิมมิกให้บูธ”

 

บูธงานหนังสือ

 

     “การทำแบบนี้ทำให้คนที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่รู้สึกอินไปกับมัน รู้สึกอยากจับ อยากสัมผัส บรรยากาศก็ค่อนข้างร้อยเรียงกันเป็นก้อน อย่างตัวพิมพ์ดีดนี่คือ acsent คือแก่นของการทำสำนักพิมพ์เลยนะ อาจจะเป็นความหลงใหลส่วนตัวของตัวเจ้าของแล้วส่งต่อมาสู่พวกเรา แล้วเราก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ถือเป็นมุมที่บ่งบอกความเป็นสำนักพิมพ์สมมติ ว่าแก่นจริงๆ เราทำหนังสือคลาสสิก เราอยู่กับหนังสือ เราอยู่พิมพ์ดีด เราหลงรักกลิ่นกระดาษ”

 

บูธงานหนังสือ

 

     “เราอยากให้ตัดภาพของการซื้อหนังสือลดราคาในงานหนังสือออกไป แต่ให้มองเป็นการยกสำนักพิมพ์มาไว้ตรงนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้ามาที่บูธ ได้เข้ามาในโลกของสำนักพิมพ์สมมติจริงๆ แม้พื้นที่จะจำกัด แต่เราก็พยายามคิด ออกแบบ ดีที่สุดในเวลาและในปัจจัยที่เราจะควบคุมกันได้”

 

บูธงานหนังสือ

สำนักพิมพ์ Fullstop

บูธ: G17 Plenary Hall ผู้ออกแบบ: สมคิด เปี่ยมปิยชาติ

     “สำนักพิมพ์เราทำหนังสือนิยายภาพ วรรณกรรมภาพ แล้วก็หนังสือภาพ ความสนใจของเราจะมีตัวภาพเป็นตัวเดินเรื่องกับเนื้อเรื่อง แต่เดิมนิยายภาพของสำนักพิมพ์เราจะมีหลากหลายโทน ตั้งแต่โทนมืดไปจนถึงโทนสว่าง นักเขียนแต่ละคนก็จะมีคาแร็กเตอร์งานของแต่ละสไตล์ แต่รอบนี้ที่โดดเด่นจะมีสองโทนคือของ ทรงศีล ทิวสมบุญ ที่เหมือนเป็นด้านมืด กับของ ศศิ วีระเศรษฐกุล ที่เป็นด้านสว่าง ดังนั้น ในบูธนี้ก็จะออกแบบให้ตรงกับคาแร็กเตอร์ของหนังสือ โดยแบ่งเป็นคนละครึ่ง ของศศิเป็นเรื่องเกี่ยวกับการไปเที่ยวญี่ปุ่น ดังนั้น ฝั่งด้านสว่างก็เลยตกแต่งเหมือนเป็นเทศกาลที่ญี่ปุ่น มีการเอาผ้ามาห่อหนังสือ มีป้าย มีแสตมป์ ส่วนฝั่งด้านมืดของทรงศีลก็จะเอาตัวหัวไฟที่เป็นคาแร็กเตอร์ของเขาขึ้นมาใช้เลย ซึ่งความยากในการทำคือด้านมืดจะอยู่กับด้านสว่างได้อย่างไร เราก็เลยแบ่งเป็นสองโซนอย่างที่บอก แล้วก็ให้มาร่วมกันตรงกลางเท่านั้นเอง”

 

บูธงานหนังสือ

 

     “อีกเรื่องหลักของการออกแบบบูธเราคือต้องทำเส้นรอบวงในการเดินให้มากที่สุด เพื่อให้คนเข้าถึงหนังสือได้มากที่สุด ดันส่วนที่เก็บเงินเข้าไปข้างในให้มากที่สุด เพื่อให้คนเคลื่อนไหวเป็นวงกลม ไหลได้เรื่อยๆ แล้วทำให้พื้นที่ในการจัดหนังสือง่ายขึ้น”

 

บูธงานหนังสือ

 

     “ส่วนใหญ่วัสดุที่ใช้ทำบูธจะเก็บไว้ใช้นาน มันก็ทำให้ความฟุ่มเฟือยต่ำ ลงทุนทีเดียวใช้ได้เกือบตลอด แล้วคนก็จะจำได้ด้วย อย่างกล่องไม้นี่ใช้มาเกือบ 18 ปีแล้ว ฉะนั้น บูธ Fullstop ทุกๆ ปีก็จะเป็นประมาณนี้ แต่ธีมจะเปลี่ยนไปตามแต่ละเล่ม เพียงแค่ว่าองค์รวมจะเหมือนเดิม มีลังไม้ มีเคาน์เตอร์ตรงกลาง แล้วแยกงานเป็นฝั่งไป ถ้ามีสามงานก็แบ่งเป็นสามพาร์ต แต่ว่าจะแบ่งล็อกยังไงก็จะเป็นโจทย์ที่ต้องคิด”

 

บูธงานหนังสือ

สำนักพิมพ์ MATICHON x SUNTUR

บูธ: V4 โซน Plaza ผู้ออกแบบ: ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล

     “ปีนี้เราได้ collab กับมติชน ตอนแรกเราได้รับบรีฟจากมติชนคือให้ลองทำเป็นตัวเราเลย เพราะก่อนหน้านี้มติชนจะใช้ศิลปินมาตลอด งานก็จะเป็นแนวเยอะๆ นิดหนึ่ง คือใช้สีจัดจ้าน ครั้งนี้เราก็เลยอยากทำให้ดูมินิมอลมากขึ้น ให้ดูสบาย ก็เลยเลือกเป็นสีฟ้า สีขาว ออกแบบคาแร็กเตอร์แบบที่เราทำอยู่แล้ว โดยเอาตัวหนังสือมาเป็นพระเอกหลักในเรื่องที่จะเล่า ว่าหนังสือช่วยทำอะไรกับเราได้บ้าง เช่น มีหนังสือเป็นเหมือนบ้าน หนังสือทำเราหลับฝันดี หนังสือทำให้เรามีความรู้สูงขึ้น โดยผ่านคาแร็กเตอร์ที่ใช้เป็นสีน้ำกับสีคอมพิวเตอร์”

 

บูธงานหนังสือ

 

     “ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเน้นความเรียบง่ายที่สุด แล้วให้หนังสือเป็นเหมือนเพื่อนเรา ในการออกแบบ เราเริ่มจากการนำหนังสือมาลองพลิกมุมตั้ง นอน เอามาดูว่าหนังสือสามารถเล่นอะไรกับคาแร็กเตอร์ที่เราออกแบบได้บ้าง พร้อมกับเน้นความเรียบง่าย ดูสบายๆ เหมือนให้หนังสือเป็นเพื่อนของเรา สีทั้งหมดก็จะออกแบบให้รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย เหมือนกำลังนั่งอ่านหนังสือ”

 

บูธงานหนังสือ

 

     “เรารู้สึกว่างานหนังสือมันเป็นการจัดนิทรรศการเล็กๆ ของแต่ละสำนักพิมพ์นะ คือไม่ใช่ตั้งใจจะมาขายหนังสืออย่างเดียว แต่ให้เห็นบรรยากาศด้วย”

 

บูธงานหนังสือ

โซนนิทรรศการพิเศษ รักคนอ่าน

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT): สุชาดา สหัสกุล

     “เราจัดงานมาแล้ว 47 ปี ทีนี้เนื่องในโอกาสที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะปิดปรับปรุงสามปี เราก็เลยคิดว่ากว่าสี่สิบปีที่ผ่านมา ผู้สนับสนุนเราส่วนใหญ่ก็คือผู้เข้าชมงาน เราก็เลยอยากจะให้ชื่อธีมว่า ‘รักคนอ่าน’ รักคนที่มางานเรา รักคนที่รักหนังสือ แล้วสำนักพิมพ์ได้เจอกับผู้อ่าน ผู้อ่านกับผู้อ่านได้เจอกัน เพราะมีหลายคู่เหมือนกันนะที่มาเจอกันในงานหนังสือแล้วก็รักกัน”

 

บูธงานหนังสือ

บูธงานหนังสือ

 

     “สืบเนื่องจากเรารักคนอ่าน ก็ต้องถามว่าเราอยากจะทำอะไรให้คนอ่าน เราเลยออกแบบมาเป็นมุมต่างๆ ในโซนพิเศษนี้ ที่เรียกว่าโซนรักคนอ่าน ไม่ว่าจะเป็นมุมนิทรรศการ 6 ทศวรรษของการเปลี่ยนแปลงของงานสัปดาห์หนังสือ จากสนามหลวงจนกระทั่งศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บอกเล่าเรื่องราวว่าเรามีการย้ายที่จัดกี่ครั้ง จัดอย่างไร แล้วเรามายืนหยัดที่นี่ 23 ปี ก่อนจะปิดปรับปรุง มีมุม installation เป็นรถบรรทุก ซึ่งบนรถบรรทุกก็จะให้คนมาเขียนความทรงจำดีๆ ตลอด 23 ปี กับศูนย์ฯ สิริกิติ์ ความประทับใจเกี่ยวกับหนังสือ สถานที่จัด สำนักพิมพ์ที่มาออกบูธ แล้วตรงด้านหน้ารถจะมีการเชิญชวนให้คนถ่ายรูปแล้วแชร์ เพื่อรับโปสต์การ์ดของ คุณป๊อด โมเดิร์นด็อก ส่วนทำไมต้องเป็นหกล้อ เพราะมันเป็นไลฟ์สไตล์คนไทยที่ชอบความสนุกสนาน แล้วบ้านเราชอบมีสโลแกน มีคำขวัญที่ติดท้ายรถบรรทุก เราก็เลยเอารถบรรทุกหกล้อมาเลย ที่สำคัญความประทับใจที่คนเขียนบนรถหกล้อนี้ก็คือสิ่งดีๆ ที่เราจะขนไปที่เมืองทองธานีหลังจากนี้”

 

บูธงานหนังสือ

บูธงานหนังสือ

 

     “รวมไปถึงมุมจอแอลอีดีที่เราเปิดโอกาสให้คนอ่านได้มาแสดงความคิดเห็นว่าในการจัดงานครั้งต่อไปที่อิมแพ็ก เขาอยากให้เราเพิ่มเติมอะไร หรือมีอะไรบ้าง บางคนบอกว่าอยากให้มีหมอนวดเท้าก็มีนะ (หัวเราะ) นอกจากนั้นก็มีมุมซ่อมหนังสือ มุม book fair มุม souvenir มุมลุ้นรับของรางวัล ทั้งหมดนี้คือที่มาของแรงบันดาลใจในการที่จะทำเรื่องของธีมรักคนอ่าน ซึ่งเริ่มต้นมาจากหนังสือ จากการที่มีคนที่มางาน มีคนที่รักในงานหนังสือ และรักในการอ่านหนังสือ”