หลังเลือกตั้ง

The List | 5 หนังสือแนะนำ อ่านหลังเลือกตั้ง โดย สุรเดช โชติอุดมพันธ์

เลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมจบลงแล้ว แต่เรื่องราวอื่นๆ ยังไม่จบ ทั้งความไม่นิ่งของจำนวน ส.ส. ฟากฝั่งใดจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ประเทศของเราจะเดินหน้าไปอย่างไร ทิศทางไหน ในขณะที่เหมือนจะมีกลิ่นของความขัดแย้งรอบใหม่ผุดขึ้นเป็นหย่อมๆ ในช่วงที่เฝ้ารอให้การเมืองนิ่งนี้ a day BULLETIN ชวน รองศาสตราจารย์ ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์ อาจารย์สายวรรณกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำงานวิจัยและวิจารณ์วรรณกรรมอย่างต่อเนื่อง มาแนะนำวรรณกรรมที่ควรค่าแก่การอ่านฆ่าเวลาระหว่างเฝ้ารอให้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศคลี่คลาย—อ่านเพื่อเข้าใจ อ่านเพื่อสงสัย อ่านเพื่อสกัดนำความรู้ที่ตกผลึกแล้วมาใช้ เพื่อให้เราไม่เดินกลับไปสู่ความอึมครึมเหมือนที่ผ่านมา…

 

การอ่านวรรณกรรมทำให้เรารู้จักคนอื่น สิ่งอื่น ซึ่งในโลกปัจจุบันมันจำเป็น การอ่านวรรณกรรมทำให้เรารู้ว่าคนอื่นเขาพบเจออะไรมาบ้าง และทำให้เราเข้าใจว่าคนอื่นเขาคิดยังไง ไม่อย่างนั้นทุกคนก็จะอยู่แต่กับชีวิตตัวเอง

หลังเลือกตั้ง

01 Sostiene Pereira (คำยืนยันของเปเรย์รา) — Antonio Tabucchi เขียน

     “คำยืนยันของเปเรย์รา เป็นนิยายเกี่ยวกับจริยธรรมของอาชีพสื่อ เป็นการตั้งคำถามว่าสื่อที่ดีควรเป็นอย่างไร ต้องนำเสนอความจริงแบบไหน ผมคิดว่า เปเรย์รา เหมาะกับการอ่านไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด มันเป็นเรื่องของการยึดถือหลักคุณธรรม (integrity) ของมนุษย์ เป็นสิ่งที่บางครั้งเราก็ลืมไป อยากแนะนำให้อ่านกัน เพราะเมื่อบางครั้ง คุณเห็นความอยุติธรรม คุณก็อาจจำเป็นต้องพูดถึง อย่าปล่อยไป

     ซึ่งผมคิดว่า ในยุคนี้ โซเชียลมีเดียก็กำลังทำหน้าที่นั้น แต่ว่าหลังๆ ก็เฮกันไปผิดบ้าง ถูกบ้าง เจอข่าวปลอมบ้าง ในขณะที่เราก็ค่อนข้างเห็นพลังของคนรุ่นใหม่เยอะ เช่น กรณี กกต. ที่มีปัญหาเยอะ คนรุ่นใหม่ก็ไม่ยอม มีการทำแคมเปญใน Change.org ขึ้นมา ก็เป็นมิติที่ดีที่มีคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมา สมัยก่อนถ้าไม่มีโซเชียลมีเดียก็อาจจะไม่แรง เพราะเรื่องราวต่างๆ จะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่พอมีโซเชียลมีเดีย ทุกอย่างมันถูกถ่ายรูป ถูกส่งต่อ กระพือขึ้นมาได้ง่าย ผมเลยอยากแนะนำให้อ่านเล่มนี้ เพราะมันกล่าวถึงเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์อย่างตรงไปตรงมา”

 

หลังเลือกตั้ง

02 คนในนิทาน — กร ศิริวัฒโณ เขียน

     “คนในนิทาน เป็นเรื่องเล่าที่ซับซ้อนมาก เล่มนี้คนไทยเขียน เกี่ยวกับสังคมไทยโดยตรง ประเด็นก็คือ มันกำลังบอกว่าจงอย่าได้ทำอะไรผิด เพราะจะกลายเป็นแผลที่ทำให้คนอื่นนำไปเล่าต่อได้ และจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแบล็กเมล ทั้งๆ ที่สุดท้ายแล้วไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง แต่มันกำลังชี้ให้เห็นว่าการแบล็กเมลส่งผลอย่างไร อธิบายภาพของสังคมไทยที่อ่อนไหวต่อเรื่องหน้าตา และวิธีการเขียนก็สนุก อ่านสนุก เปิดโปงให้เห็นภาพหลายๆ อย่างของสังคม เช่น เรื่องอคติต่างๆ

     ถ้าจะสปอยล์ก็คือ เรื่องเริ่มต้นด้วยคำบอกเล่าที่ว่าตัวละครเอกมีอะไรกับสุนัข แล้วก็นำประเด็นที่มีคนแอบเห็นไปกระพือ บอกว่าเดี๋ยวฉันจะเล่าให้คนอื่นฟัง ตัวเอกเลยต้องยอมทุกอย่าง มันเหมือนเรื่องตลกขำขื่นอยู่เหมือนกัน แต่วิธีการเล่าทำให้เห็นความหมายโดยนัย (implication) ของผลกระทบจากเรื่องตลกที่ทำให้ตัวเอกจากผู้ชายที่ทุกคนเคารพกลายเป็นมีจุดอ่อนให้ลูกเขยใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุม (manipulate) มันแสดงให้เห็นโครงสร้างอำนาจของไทย ว่ามีระดับชั้น (hierarchy) อย่างไร ผู้ชายปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไร เป็นเรื่องของชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องของคนชั้นสูง อ่านแล้วก็ได้เห็นภาพอีกแบบหนึ่งของสังคมไทย”

 

หลังเลือกตั้ง

03 Lelaki Harimau (สมิงสำแดง) — Eka Kurniawan เขียน

     “สมิงสำแดง เป็นนิยายแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย เกี่ยวกับความอัดอั้นของคนที่อยู่ในสังคม ใช้ภาพเสือเป็นสัญลักษณ์นำเสนอเรื่องของความอัดอั้นที่พร้อมจะปรากฏขึ้นมาทำลายล้าง เป็นเรื่องการคัดง้างจารีตสังคม ซึ่งอินโดนีเซียก็ไม่ได้ต่างจากไทยมาก ผมอ่านรอบแรกแล้วชอบ ผมว่ากุรณียาวันเป็นนักเขียนที่ดี เขียนเก่ง

     ผมเขียนรีวิวไว้ว่า สมิงสำแดง น่าจะเป็นนิยายอีกเล่มที่นอกจากจะสนุกจนวางไม่ลงแล้ว ยังทำให้เราเห็นความสามารถของกุรณียาวัน นักเขียนอินโดนีเซียที่สำรวจก้นบึ้งของจิตใจมนุษย์ ความปรารถนาที่เร้นลับ ความรุนแรงในครอบครัว ในสังคมที่เต็มไปด้วยความลำบากและเหลื่อมล้ำ ทำให้คนในสังคมมีปัญหาในการสื่อสารและพัฒนาความสัมพันธ์ทางจิตใจ ภาษาเขาอ่านง่าย สุดท้ายในตอนจบ ตัวละครเอกซึ่งก็คือเด็กคนหนึ่งจะกลายเป็นเสือ เพราะเก็บกดความรู้สึกเอาไว้เยอะ แล้วระเบิดออกมา

     อยากให้ลองอ่านดู ประเด็น magical realism ไม่สำคัญเท่าการนำเสนอสภาพความเก็บกดหรือความรุนแรงในสังคมอินโดนีเซีย ที่ไม่ใช่ความรุนแรงเชิงสังคมในภาพใหญ่ แต่เป็นความสัมพันธ์ของคนในบ้าน ระหว่างพ่อ-ลูก แม่-ลูก ของเด็กผู้หญิงที่อาจไม่ได้สนใจเรื่องอุดมการณ์ต่างๆ เธอเลยเห็นถึงความไร้ความหมายของชีวิต”

 

หลังเลือกตั้ง

04 The Periodic Table — Primo Levi เขียน

     “The Periodic Table เป็นเล่มที่ผมหยิบมาเพราะอยากเห็นวรรณกรรมที่มีการทดลองแบบนี้มากขึ้นในไทย เรื่องนี้เขียนโดย Primo Levi เป็นนักเขียนชาวอิตาเลียน เขามีเชื้อชาติอิตาเลียน-ยิว ที่สำคัญเขาเป็นนักเคมีมาก่อนจะมาเขียนหนังสือ จริงๆ แล้วเขามีอีกเล่มหนึ่งที่ดังกว่าคือ If This is a Man ที่แปลว่า ‘ถ้านี่คือมนุษย์’ เขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาที่อยู่ในค่ายกักกันที่เอาช์วิทซ์ (Auschwitz) คือ Levi เป็นคนยิวที่ถูกจับ แล้วก็ไปอยู่ในแคมป์กักกันในช่วงการฆ่าล่าเผ่าพันธุ์ชาวยิว โชคดีที่ไม่ตาย ถูกปล่อยออกมา

     จริงๆ แล้วพื้นฐานเขาเรียนเคมีมา วิธีการเล่าในเล่ม The Periodic Table จึงแบ่งบทต่างๆ เป็นชื่อธาตุ เริ่มตั้งแต่ตอนที่เขาเกิดโดยใช้ธาตุเป็นตัวนำในการเล่า เขาทำให้เห็นว่าเคมีไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว แสดงให้เห็นว่าสารเคมีต่างๆ ซึ่งมีปฏิกิริยาต่อกันมันขนานไปกับอารมณ์หรือเหตุการณ์ในชีวิตของเขาอย่างไร อันนี้อยากให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์กับวรรณกรรมสามารถเข้ามาใกล้กันได้มากกว่าที่คิด เป็นวิธีการเล่าที่น่าสนใจ เราน่าจะแปลงานแบบนี้มากขึ้น อยากเห็นนักเขียนไทยสร้างผลงานแบบนี้ ผ่านวิธีการเล่าที่ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดิมๆ”

 

หลังเลือกตั้ง

05 Santa Evita — Tomas Eloy Martinez เขียน

     “เรื่องสุดท้ายที่หยิบมาคือ Santa Evita อันนี้สนุกมาก ออกแนวสัจนิยมมหัศจรรย์เหมือนกัน แต่จะเป็นเชิงนิยายชีวประวัติ คือในชีวิตจริง ซานตา เอวิตา เป็นภรรยาของ นายพล ฆวน โดมิงโก เปรอน ประธานาธิบดีอาร์เจนตินาสามสมัย ระหว่างดำรงตำแหน่งเขาได้รับการสนับสนุนจากภรรยา และทั้งสองได้รับความนิยมล้นหลามในหมู่ชาวอาร์เจนตินาจำนวนมาก ประเด็นคือนายพลเปรอน เป็นคนที่เติบโตมากับนโยบายประชานิยมต่างๆ เช่น แจกเงิน ที่กลายเป็นเพลงดังของมาดอนนา ชื่อ Don’t Cry for Me Argentina

     ซึ่งนิยายเล่มนี้จะเป็นชีวประวัติที่เซอร์เรียลมาก เนื่องจากชีวิตจริงของเธอก็เซอร์เรียล เพราะเธอเป็นคนสวย คนเขียนไปเก็บชีวิตของเธอมาเล่าในแนวกึ่งนวนิยาย เช่น หลังจากที่เธอตาย ศพของเธอถูกสตัฟฟ์ไว้ แล้วก็โดนขโมย มีข่าวลือว่ามีคนไปร่วมหลับนอนกับศพของเธอ มันมีตำนานเยอะมาก ด้วยความที่เป็นสตรีหมายเลขหนึ่งที่สวย จากเดิมเป็นแค่ดารา ต่อมาเป็นภรรยานายพล แล้วก็เป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง ชีวิตจริงบางทีมันยิ่งกว่านิยาย พอเขียนเล่ามาแบบนี้มันแยกไม่ออกเลยว่านี่คือนิยายหรือชีวิตจริง สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

     Eloy Martínez สามารถนำเรื่องเล่าเหล่านี้มาเกี่ยวโยงกับเรื่องการเมือง โดยเล่าว่าเอวิตาเป็นคนอย่างไร เกิดมาอย่างไร มีความทะเยอทะยานแบบไหน เล่นกับภาพที่เธอสร้างขึ้นมา แม้เธอตายไปแล้วก็ยังมีภาพนั้นอยู่ คนก็อยากจะเข้าไปดูศพของเธอ แม้แต่หลุมศพก็ต้องปิดประตูแน่นหนา ซึ่งบางทีการเมืองจริงๆ แล้วมันไม่ต้องเป็นเรื่องซีเรียส เข้ม หรือน่าเบื่อเสมอไป มันอาจมีมิติของความเหนือจริงออกมาได้เหมือนกัน”