Ask ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ | ทำไมประเทศไทยถึงไม่เคยแก้ปัญหา ‘รถติด’ ได้เลย

          เวลานั่งอยู่หลังพวงมาลัย ท่ามกลางการจราจรของเมืองใหญ่ เหม่อมองทะเลไฟท้ายสีแดงเบื้องหน้าอย่างสิ้นหวัง เรามักจะนึกถึงเขา เช่นเดียวกับเวลาเดินทางออกต่างจังหวัด ต้องนั่งรถไฟกันนานข้ามวันข้ามคืน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องไปฝากชีวิตไว้กับรถทัวร์หรือรถตู้ ที่ขับแข่งกับเวลาอย่างน่าหวาดเสียว เราก็นึกถึงเขา ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ 

 

 

ถึงแม้วันนี้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลการคมนาคมขนส่งของประเทศนี้มานานสองปีกว่า แต่สิ่งที่เขาเคยพูดแถลงไว้ต่อสภาฯ เรื่องพระราชบัญญัติอนาคตของชาติ นั้นมันช่างจับใจ เขาบอกว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดของประเทศเรา คือ “เวลา” มันไม่ใช่แค่ปัญหาในระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาระดับปัจเจกแต่ละคนอีกด้วย

เรากำลังใกล้วันตายเข้าไปทุกทีๆ ในขณะที่เราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากรถติดตอนเช้าสองชั่วโมง รถติดตอนเย็นสองชั่วโมง ระหว่างวันก็นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือไปเรื่อยเปื่อย ประเทศชาติบ้านเมืองไม่ได้เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานมานานเท่าไร ปล่อยเวลาผ่านไปแต่ละวินาทีคือการพลาดโอกาส และพ่ายในการแข่งขันกับเพื่อนบ้าน

 

การทำงานด้านโลจิสติกส์ที่ผ่านมา ทำให้คุณมองเห็นปัญหาเรื่องเวลาและการเดินทาง ในชีวิตประจำวันของคนไทยอย่างไรบ้าง และเราจะมีทางแก้ไขมันอย่างไร

การเดินทางกินเวลาในชีวิตของพวกเรามากเกินไป เจนเนอเรชั่นของพวกเราได้เสียเวลาไปกับการเดินทางเยอะมาก ถ้าคิดเป็นมูลค่า จะรู้ว่ามันมากจริงๆ การจะแก้ปัญหานี้ ก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนระยะยาว ผมคิดว่าเรื่องโลจิสติกส์ การเดินทางในชีวิตประจำวันของเราๆ นี่แหละ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างชัดเจนที่สุด คนรวยสามารถซื้อคอนโดฯ ใกล้ที่ทำงาน กลางแยกอโศกเลย หรือแม้กระทั่งรถไฟฟ้าก็ตาม ถามว่าคนจนสามารถนั่งไปทำงานได้ทุกวันไหม ไม่ได้นะ เพราะเดี๋ยวนี้ราคามันยิ่งแพง

 

แปลว่า คอนโดฯ นั้นแท้จริงแล้วก็คือเวลาใช่ไหม

ใช่ มันคือความสะดวกสบาย ความสะดวกสบายก็คือเวลา เราไม่ได้ซื้อบ้านอย่างเดียว แต่เราซื้อเวลาด้วย นอกจากเวลาแล้ว ก็มีส่วนประกอบอื่นๆ อีกเช่นไลฟ์สไตล์อะไรต่างๆ แต่ประเด็นสำคัญคือถ้าคุณอยู่บ้านในเมือง คุณก็จะได้มีเวลาที่เป็นต่อกว่าชาวบ้าน คุณเดินทางไปไหนมาไหนสะดวก ถ้าคุณไปซื้อบ้านไกลๆออกไป ราคาถูกลง แต่ใช้เวลาการเดินทางนานกว่าหลายเท่า ผมถึงบอกไง ว่าเรามองกันไม่เห็น ว่าจริงๆ แล้วเราจ่ายเงินไปเยอะมาก และทุกวันนี้ การเดินทางคือหัวใจหลักของหลายๆ อย่าง แล้วการแก้ปัญหาสังคมในปัจจุบัน เราไม่ได้แก้ไขปัญหากันถูกจุดนะ ยิ่งแก้ ยิ่งเหลื่อมล้ำ อย่างเช่นรถไฟฟ้า เราจะถือว่าเป็นการแก้ปัญหาไหม ผมว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้แก้ปัญหาให้ทุกคน เพราะมันแพง ผมว่าวิธีแก้ปัญหาการจราจรปัจจุบัน ขั้นแรกคือรถเมล์ต่างหากล่ะ เพราะรถเมล์ช่วยผู้คนได้ทุกหย่อมหญ้า แต่เวลาที่เราวางแผนระยะยาวกัน เรากลับไปให้ความสำคัญกับรถไฟฟ้า และ ไม่ให้ความสำคัญกับรถเมล์

เราทำรถเมล์ไห้ดี มีบัสเลนดีๆ ทำ BRT ดีๆ จะได้ผลกว่า รถเมล์ที่ไม่ต้องไปติดรวมกับรถเก๋ง เหมือนอย่างประเทศเกาหลีที่ใช้ระบบ BRT ทั้งกรุงโซล สิ่งแรกที่ผมทำตอนที่ผมเริ่มทำงานที่กระทรวงคมนาคมคือ เรื่องรถเมล์ เพราะว่ารถเมล์ลงทุนถูกกว่า ลงทุนแค่ประมาณหมื่นล้านบาทเทียบกับรถไฟฟ้าที่ต้องลงทุนมากกว่าสี่แสนล้านบาท แต่รถเมล์สามารถช่วยคนได้เป็นล้าน ปัจจุบันมีผู้ใช้รถเมล์สามล้านเที่ยวในแต่ละวัน ในขณะที่รถไฟฟ้าทั้ง BTS รถใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงค์ รวมกันน่าจะประมาณหนึ่งล้านสองแสนเที่ยว ทุกวันนี้ผมเสียดายจริงๆ ที่ไม่สามารถปรับปรุงรถเมล์ให้สำเร็จได้ เพราะรถเมล์เข้าถึงคนรากหญ้าจริงๆ เรายังปล่อยให้รถเมล์ไปติดรวมกับรถส่วนตัว

ดูเอาง่ายๆ เลยนะ เพียงแค่ในออฟฟิศผม เคยสำรวจกันดูว่ามีคนที่นั่งรถเก๋งมามีเพียงแค่ 10% ส่วนที่เหลือ 90% นั่งรถสาธารณะมา ดังนั้นเราต้องมาเปลี่ยนตรงนี้ไง เรื่องระบบขนส่งสาธารณะ ต้องให้ความสำคัญกับระบบขนส่งสาธารณะ ปรับปรุงให้มีการให้บริการที่ดี เหมือนที่ Gustavo Petro นายกเทศมนตรีเมืองโบโกต้า เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย กล่าวไว้ว่า “A developed country is not a place where the poor have cars. It’s where the rich use public transportation.” (ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ใช่เป็นประเทศที่คนจนมีรถส่วนตัว แต่เป็นประเทศที่คนรวยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ) ถ้าทำได้ จะแก้ปัญหาการจราจรได้อย่างแน่นอน

 

 

เราสร้างถนนมากแค่ไหน ก็ไม่พอกับปริมาณรถยนต์ส่วนตัว แค่ทุกคนเอารถยนต์ส่วนตัวออกมาขับไปทำงาน มันก็เต็มถนนหมดแล้ว จริงๆหลักการคือคุณต้องให้ความสำคัญกับรถเมล์ รถสาธารณะก่อน แต่ประเทศเราไม่เคยให้ความสำคัญกับรถเมล์ เราให้รถยนต์ส่วนตัวมาก่อนเสมอ

 

ทำไมการสร้างถนนเพิ่มไปเรื่อยๆ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหารถติด

ก็เพราะว่าเราสร้างถนนมากแค่ไหน ก็ไม่พอกับปริมาณรถยนต์ส่วนตัว แค่ทุกคนเอารถยนต์ส่วนตัวออกมาขับไปทำงาน มันก็เต็มถนนหมดแล้ว จริงๆหลักการคือคุณต้องให้ความสำคัญกับรถเมล์ รถสาธารณะก่อน แต่ประเทศเราไม่เคยให้ความสำคัญกับรถเมล์ เราให้รถยนต์ส่วนตัวมาก่อนเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ที่จอดรถในอาคาร ต่อไปควรจะต้องมีกฎหมายกำหนดเลย ห้ามไม่ให้มีที่จอดรถในอาคารถ้าอาคารของคุณอยู่ใจกลางเมือง มีสถานีรถไฟฟ้าตั้งอยู่ด้วย คุณก็ไม่ควรจะต้องมีที่จอดรถแล้ว เพราะอะไร ก็จะได้ให้คนนั่งรถไฟฟ้าเข้ามาไง นั่งรถสาธารณะเข้ามา ไม่ต้องดึงรถเก๋งเข้ามาเพิ่มอีกแล้ว แต่บ้านเรากลับมีกฎหมายไปกำหนด ว่าอาคารพวกนี้ต้องมีที่จอดรถเท่าไรๆ ก็ยิ่งไปดึงให้มีรถเก๋งเข้ามาเพิ่มอีก แทนที่จะมีกฎหมายกำหนดให้มีที่จอดสำหรับรถสาธารณะ ให้มีรถเมล์เข้ามาจอด มีรถตู้ ขนาดรถแท็กซี่เรายังไม่มีที่ให้เขาวนเข้ามาจอดรับส่งผู้โดยสาร

กฎหมายเราต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ต้องให้สิทธิรถสาธารณะก่อน และต้องเริ่มต้นที่รถเมล์เป็นอันดับแรก ส่วนรถไฟฟ้าเป็นโครงการในระยะยาว อย่างที่เริ่มเปิดรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะระบบเชื่อมต่อยังไม่ดี ทั้งจากบ้านมาสถานีรถไฟฟ้า ต่อรถเตาปูน-บางซื่อ เปลี่ยนขึ้นสายสีน้ำเงิน และ ต่อรถเข้าที่ทำงานอีก คุณต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการต่อรถแท็กซี่ ไปต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างอีก วันๆ นึงคุณต้องเสียค่าเดินทางรวมแล้วเท่าไร ผมคิดว่าเกินสองร้อยบาทต่อวัน นี่คือปัญหาของชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งที่สุดแล้วกลายเป็นคนรายได้น้อย อยู่ไกล ต้องจ่ายสองสามร้อยบาททุกวันเพื่อไปทำงาน ในขณะที่คนรายได้สูง อยู่ในเมือง จ่ายถูกกว่า เขาขับรถเก๋งไปรวดเดียว หรือมีคอนโดติดรถไฟฟ้าเลย

 

เรื่อง: วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ, จักริน อินต๊ะวงศ์
ภาพ: กฤตธกร สุทธิกิตติบุตร สไตลิสต์: Hotcake