เรื่องเล่าจากเส้นทางเปื้อนฝุ่นในหมู่บ้านบนยอดดอย ‘อ่างขาง’

ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางรกชัฏในป่า หรือเส้นทางเปื้อนฝุ่นในหมู่บ้านบนยอดดอย ในอดีตทั้งสองเส้นทางดังกล่าวนั้นมีความลำบากไม่ต่างกัน แต่นั่นก็หาใช่อุปสรรคของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่จะเสด็จไปช่วยเหลือราษฎร และเริ่มจัดตั้งโครงการหลวงแห่งแรกขึ้นที่อ่างขาง จนทุกวันนี้เส้นทางที่พระองค์เคยผ่านมีหลายสิ่งที่งอกงามให้ผู้คนที่เดินทางตามรอยพระบาทได้ชื่นชม

_

Royal Agricultural Station Angkhang

_

“อ่างขางในวันนี้ต่างจากอ่างขางเมื่อ 30 ปีก่อนมาก” อัษฎาวุธ ซารัมย์ ช่างภาพอิสระรุ่นใหญ่กล่าวขึ้น ทันทีที่เริ่มต้นรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวพื้นที่อันห่างไกลแห่งนี้ ภาพที่เขามองเห็นนั้นไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงามของวิวทิวทัศน์ในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางเท่านั้น แต่รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวเขาในพื้นที่โดยรอบโครงการหลวง ซึ่งจัดตั้งตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

อ่างขาง

The Starting Point

ผมไปอ่างขางครั้งแรกสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยราวปี พ.ศ. 2520 จำได้รางๆ ว่า ที่นี่เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ยังไม่ได้รับการพัฒนาสักเท่าไหร่ ตัวสถานีเกษตรเองก็ไม่ใหญ่มาก แปลงทดลองปลูกผักยังมีไม่กี่แปลง สภาพแวดล้อมโดยรวมยังดูแห้งแล้ง ลำบาก ห่างไกลความเจริญ ซึ่งแตกต่างกับครั้งล่าสุดที่ผมไปมาเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน

ระยะเวลาที่ห่างกันกว่า 30 ปี สิ่งแรกที่ผมเห็นคือ สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นมาก ความเจริญเดินทางมาถึง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาดีขึ้น สถานีเกษตรใหญ่โตสวยงาม แปลงทดลองผักและผลไม้เมืองหนาวผุดขึ้นมามากมาย ในขณะเดียวกันก็มีโรงแรม ร้านอาหาร เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่แต่ก่อนพื้นที่นี้ไม่ใช่แบบนี้เลย

 

อ่างขาง

My Impression

ที่นี่สวยงาม อากาศดี บรรยากาศรอบตัวดูดีไปหมด ผมได้พบแปลงผัก แปลงผลไม้ ที่ไม่คิดว่าจะปลูกได้ในภาคเหนือของเมืองไทย เจอสวนดอกไม้นานาชนิด สวนบอนไซ แปลงต้นบ๊วยร้อยปี ซึ่งแต่ละที่เต็มไปด้วยความรู้ทางด้านการเกษตรที่น่าสนใจมาก และเมื่อออกจากสถานีเกษตร ตรงข้ามกันจะเป็นโรงเรียนบ้านคุ้ม (เดิม) ข้างๆ นั้นเราจะพบกับตรอกบนเนินเล็กๆ มีแผงขายของที่ระลึก มีโรงแรม ร้านอาหาร โดยพื้นที่บริเวณนี้จะอบอวลไปด้วยบรรยากาศคล้ายเมืองจีน มีอาหารสไตล์จีนยูนนาน นั่นเพราะว่าในสมัยก่อนมีชาวจีนหนีสงครามอพยพมาอยู่ตามชายแดนบนดอยต่างๆ ทางภาคเหนือของไทย กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เช่น ดอยแม่สลอง ภูชี้ฟ้า ผาตั้ง เป็นต้น ทำให้พื้นที่หลายๆ ส่วนรวมทั้งที่นี่ ยังคงมีกลิ่นอายวัฒนธรรมและการใช้ภาษาจีนหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

ในมุมมองของคนถ่ายภาพอย่างผม นอกจากการมาชมบรรยากาศของสถานีเกษตรแล้ว การได้ชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาบริเวณรอบสถานีเกษตร เช่น ชาวมูเซอ ตามหมู่บ้านต่างๆ อย่างหมู่บ้านนอแล หมู่บ้านขอบด้ง นั้นมีความน่าสนใจมากกว่า คนที่นี่มีวิถีชีวิตดั้งเดิม สภาพบ้านเรือนคล้ายเดิม ผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงพูดคุยกันด้วยภาษาเดิม ใส่ชุดพื้นเมืองในชีวิตประจำวันกันเป็นเรื่องปกติ และเมื่อสังเกตดีๆ จะพบว่ามีชาวเขาจำนวนหนึ่งทำงานอยู่ในสถานีเกษตร และยังใช้พื้นที่ในสถานีและบริเวณโครงการหลวงปลูกผัก ปลูกผลไม้ เช่น สตรอเบอรี และชา เพื่อส่งขายให้กับโครงการหลวงอีกที ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เป็นระบบครบวงจร ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้นจากเดิมมาก ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะการเกิดขึ้นของโครงการหลวง และการเสด็จมาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งอดีต

อ่างขาง

What I’ve Learned

เมื่อได้เห็น ได้สัมผัส เราจะเข้าใจอย่างชัดเจนเลยว่าทุกสิ่งที่พระองค์ทำล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ อย่างตามชายแดนในสมัยเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว มีปัญหาอย่างหนัก ไหนจะเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ ผู้ก่อการร้าย คนอพยพ และยาเสพติด ผู้คนในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ก็ให้ความช่วยเหลือไว้มากมาย พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถ และทรงมองการณ์ไกลในหลายๆ เรื่อง เห็นได้จากครั้งหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสคุยกับสองพี่น้องชาวมูเซอที่จังหวัดเชียงราย เขากล่าวถึงปัญหาการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ส่งผลให้มีคนล้มป่วยและตายเป็นจำนวนมาก ตัวเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ได้เรียนหนังสือ จึงได้นำคำสอนจากพระองค์เรื่องการเกษตรที่ถูกหลักมาใช้จนทุกอย่างดีขึ้น เขาพูดกับผมไปน้ำตาคลอไปว่า หากไม่ได้พ่อหลวงก็คงไม่มีวันนี้

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และให้ความสำคัญ เมื่อมาถึงโครงการหลวงขอให้มาดูในสิ่งที่พระองค์ทำให้กับผืนแผ่นดินไทย ให้กับชาวบ้าน ตามรอยพระองค์ไปซึมซับ รับรู้ และเก็บมาคิด มาพัฒนาตัวเอง หรือต่อยอดสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ผมว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าแค่มาถ่ายรูปแล้วกลับไป

 

อ่างขาง
ภาพ : อัษฎาวุธ ซารัมย์

Royal Agricultural Station Angkhang

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง และใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวหลากหลายชนิด เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวเขาทางภาคเหนือ ใช้เพาะปลูกแทนการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ทั้งยังเป็นต้นแบบของโครงการหลวงอื่นๆ อีกทั่วภาคเหนือ

 

_

2000 Tea Plantation

_

 

เรื่องเล่าจากการเดินทางมาอ่างขางครั้งแรกของ คงกฤช ล้อเลิศรัตนะ หนึ่งในนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่ได้ร่วมเดินทางกับโครงการ ‘เดินทางพ่อ’ บนเส้นทางที่นำพาเขาและเพื่อนๆ ไปพบกับมุมมองใหม่ ผ่านเส้นทางของไร่ชา 2000 หนึ่งในสถานที่ที่ครั้งหนึ่งมีแต่ความแห้งแล้ง จนกระทั่งได้รับพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พลิกฟื้นให้กลายเป็นที่แห่งความร่มเย็น และเขียวชอุ่มในทุกวันนี้

อ่างขาง

 

The Starting Point

เราคิดว่าเราก็เหมือนคนรุ่นใหม่หลายๆ คนที่มีภาพจำของอ่างขางว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบครอบครัว มีสวนดอกไม้ให้ได้มาแวะถ่ายรูป เวลามาเชียงใหม่จึงไม่ได้เลือกมาที่นี่ จนกระทั่งได้รับการติดต่อจากทีมงานของโครงการเดินทางพ่อ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการจากกลุ่ม ‘สานต่อที่พ่อทำ’ ที่มีเป้าหมายคือการพาคนรุ่นใหม่ไปสัมผัสและทำความเข้าใจกับการเดินทางพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงตัดสินใจไปทันที เพราะเรารู้ว่าการเดินทางนี้จะทำให้ได้เห็นอ่างขางในมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งเมื่อได้ไปแล้วก็เป็นแบบนั้นจริงๆ

อ่างขาง

My Impression

ที่นี่อากาศดี มีต้นไม้สีเขียวปกคลุมพื้นที่เกือบทั้งภูเขา เราเดินทางไปถึงในวันที่ฝนตก ทำให้ได้ทราบว่าฝนที่ตกบนดอยอ่างขางนั้นไม่เหมือนกับที่อื่น เพราะเป็นฝนจากโครงการฝนหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นเหมือนฝนที่พ่อพระราชทานให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทำการเกษตร หลังจากนั้นเราจึงมีโอกาสได้เดินทางไปยังบ้านขอบด้งและบ้านนอแล สองหมู่บ้านชาวเขาที่มีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย ทำให้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 9 เป็น ‘รูปที่มีทุกบ้าน’ ไม่ว่าบ้านหลังนั้นจะเก่าหรือทรุดโทรมเพียงใดก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน เราสัมผัสได้ถึงแววตาและการแสดงออกที่เต็มไปด้วยความรู้สึกตื้นตันเมื่อพูดถึงพระเจ้าอยู่หัว เพราะพวกเขาคือคนที่ได้รับความช่วยเหลือ ได้มีชีวิตที่สงบสุขด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ นั่นเป็นภาพประทับใจที่เราเองก็ไม่คิดว่าจะได้เห็น

การมาเที่ยวครั้งนี้ เรามีโอกาสได้ออกเดินตามเส้นทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จเมื่อหลายสิบปีก่อน จากจุดเริ่มต้นไปถึงที่หมายบริเวณไร่ชา 2000 เราใช้เวลาเดินกันประมาณ 4 ชั่วโมง ด้วยความที่เป็นเช้าวันฝนตก การเดินทางของเราจึงทุลักทุเลอยู่ไม่น้อย ทั้งเละ ล้ม และลื่น จนเหนื่อยกันทุกคน

เมื่อมาถึงที่หมายก็ได้ทราบจากคำบอกเล่าของวิทยากรว่า ในสมัยที่พระองค์เสด็จนั้นลำบากกว่านี้หลายเท่านัก เพราะที่ตรงนี้เป็นป่าทั้งหมด ไม่มีทางเดินและไม่รู้ว่าจุดหมายคือที่ไหน แต่พระองค์ก็เสด็จมาเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน นำความรู้มาเผยแพร่ให้พวกเขามีรายได้จากการเพาะปลูกพืชเมืองหนาวและเลี้ยงสัตว์ แทนที่จะปลูกฝิ่นเหมือนแต่ก่อน จนกระทั่งผืนดินตรงนี้ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรอันอุดมสมบูรณ์อย่างที่เราได้เห็นกัน เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เรามองความลำบากของตัวเองเปลี่ยนไป ในขณะเดียวกันก็เข้าใจถึงความรักที่ผู้คนที่นี่มีต่อพระองค์มากขึ้น

อ่างขาง

What Ive Learned

นอกจากผู้คนที่เป็นมิตรและธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์แล้ว เราชอบอ่างขางตรงที่สถานที่แต่ละแห่งมีเรื่องราวของตัวเอง การที่เราได้เข้ามาคลุกคลีกับผู้คนท้องถิ่นและรับรู้ความเป็นมาของสิ่งต่างๆ ทำให้การท่องเที่ยวมีความหมายขึ้นมาก และแม้ว่าหลายคนอาจไม่ได้มีโอกาสมาเดินบนเส้นทางนี้เมื่อมาดอยอ่างขาง ทุกคนก็ยังสามารถมาทำความเข้าใจถึงสิ่งที่พระองค์พระราชทานแก่พื้นที่นี้ได้เสมอ เพราะทุกชีวิตบนผืนดินแห่งนี้ ตั้งแต่ต้นไม้ สัตว์ ไปจนถึงผู้คน ทั้งหมดคือเรื่องราวการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ยังคงดำเนินอยู่

อ่างขาง
ภาพ : คงกฤช ล้อเลิศรัตนะ

2000 Tea Plantation

ไร่ชา 2000 เป็นแหล่งผลิตชาชั้นดีของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ที่ใช้พลังงานสะอาดจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเสริมสำหรับใช้ในโรงอบใบชา นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งบนดอยอ่างขาง ด้วยบรรยากาศของหมอกยามเช้าที่แผ่ปกคลุมริ้วลายของแปลงชาซึ่งทอดตัวออกไปสุดแนวเขา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 053-969-476-78 ต่อ 114 ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวสถานีเกษตรอ่างขาง โทร. 053-969-489