ดื่มด่ำกาแฟคั่วหม้อดิน ที่ Hoklhong Cafe กระท่อมใจกลางหุบเขา ณ เชียงดาว

กระท่อมมุงหญ้าคาหลังน้อยใจกลางหุบเขา ไม่ใกล้ไม่ไกลตัวอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของร้านกาแฟและที่พักสำหรับชาวแบ็กแพ็กเกอร์ ชื่อว่า ฮกหลง (Hoklhong Cafe) ซึ่งแปลว่า มังกร มังกรตัวนี้เร้นกายเงียบๆ อยู่ท่ามกลางความสงบแห่งขุนเขาหลวงเชียงดาว มีคนคั่วกาแฟ และเจ้าของร้านอย่าง ‘ยุทธ์’ – ธีรยุทธ์ จันทโชติ อยู่หลังเคาน์เตอร์บาร์ไม้ คอยต้อนรับนักเดินทาง ก่อนจะชี้ชวนให้ลองชิมกาแฟที่เขาคั่วเอง บดเอง และชงเองกับมือ พร้อมกับเล่าเรื่องราวชีวิตแบบ To Be Free ให้ฟังอย่างออกรส

ไอหมอกยามเช้าทักทาย กลิ่นกรุ่นกาแฟดริปลอยฟุ้ง กระท่อมหลังน้อยปรากฏกาย พร้อมคำทักทายว่า “เช้านี้จะดื่มอะไรดีครับ” เขายิ้มน้อยๆ ก่อนลุกจากงานคั่วกาแฟข้างร้าน เดินเข้ามาหน้าเคาน์เตอร์บาร์ แล้วเริ่มต้นชี้ชวน “ชอบกาแฟแบบไหนหรอ” เขาถาม เรานิ่ง ครุ่นคิดอยู่นาน เขาจึงเสนอ Cold Drip ที่แช่เย็นไว้ให้เราได้ลองชิม ก่อนที่เรื่องราวของเขาจะค่อยๆ ไหลออกมาให้เราฟัง

ที่นี่อากาศดีนะ เงียบดี ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวคนเยอะแยะอะไรขนาดนั้น ตอนเช้าๆ ก่อนเจ็ดโมงเราก็ไปอาบน้ำที่บ่อน้ำร้อนธรรมชาติแบบไม่เสียเงินสักบาท

เชียงดาว

เชียงดาวในฝัน

ทำไมต้องที่เชียงดาว คำถามนี้คาดเดาไม่ยากว่า ยุทธ์คงตอบมาหลายหน “เราชอบที่นี่เพราะ เป็นแหล่งรวมเหล่าศิลปิน” (ยิ้มกว้าง) ก่อนจะเล่าต่อว่า “ที่นี่อากาศดีนะ เงียบดี ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวคนเยอะแยะอะไรขนาดนั้น ตอนเช้าๆ ก่อนเจ็ดโมงเราก็ไปอาบน้ำที่บ่อน้ำร้อนธรรมชาติแบบไม่เสียเงินสักบาท สายๆ ขี่มอเตอร์ไซค์กลับมาเปิดร้าน หากวันไหนมาเปิดช้า อาจจะมีคนมายืนดริปกาแฟแทนเราแล้วก็ได้” (หัวเราะ) นั่นก็เพราะว่า ที่ฮกหลงเปิดกว้าง ให้ใครต่อใครที่อยากได้อารมณ์ดริปกาแฟเองมีโอกาสมายืนหลังเคาน์เตอร์บาร์ชงกาแฟด้วยตัวเองสบายๆ “แต่คิดเงินนะ” ยุทธ์ฝากบอก

แต่ท่ามกลางเหล่าศิลปิน หรืออากาศดีๆ นั้น ที่นี่ยังเป็นองค์ประกอบหลักความฝันของยุทธ

“ก่อนหน้านี้เราทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ มีตำแหน่งหน้าที่และเงินเดือนค่อนข้างสูง ในระหว่างนั้น เราก็เปิดร้านขายเครื่องดื่มที่กรุงเทพฯ ทุกอย่างดูไปได้ดี แต่แล้วชีวิตเราก็เจอมรสุมแห่งปัญหา ดาหน้าเข้ามาพร้อมกัน เราไม่ไหว”เขายิ้มเจื่อนๆ เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้

เชียงดาว

ชีวิต To be Free

เมื่อเขาไม่ไหว ก็ต้องออกหาความหมายของชีวิต เขาหันหลังให้กับตำแหน่งหน้าที่ ธุรกิจที่พังทลาย และแบกเป้ขึ้นดอย เขายอมรับเลยว่า ตอนนั้นเขาทิ้งทุกคน ทำให้คนที่บ้านมีน้ำตา เพียงเพื่อตามหาชีวิตของตัวเองให้เจอ

“เราว่า ตอนนั้นเราคิดถูก คิดแค่ว่า หากไม่ทำวันนี้ แล้วเมื่อไหร่จะได้ทำ” เขายืนยันในอุดมการณ์ของตัวเอง

เขาย้อนเรื่องราวให้เราฟังว่า ระหว่างที่ยังทำงาน เปิดร้าน เขาเคยไปแจกของให้ชาวบ้านที่หมู่บ้านแม่แมะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับนักเขียนท่านหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นาน ก็อุดหนุนที่ดินของชาวบ้าน จนวันที่เขาเผชิญหน้ากับปัญหาครั้งใหญ่นั้นเอง เขาจึงปลดปัญหาไว้เบื้องหลังแล้วเริ่มต้นออกเดินทาง

“เรามีโอกาสไปหมู่บ้านห้วยน้ำขุ่น อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านเชื้อสายจีนยูนนาน ถัดไปราวๆ 4 กิโลเมตร คือหมู่บ้านของชาวอาข่า ที่นั่นเองที่ทำให้เราพบกับสิ่งที่ตามหา เราเจอคนที่ทำให้เราหลงรักกาแฟ เราตัดสินใจทิ้งตัวอยู่ที่นั่นเพื่อเรียนรู้ให้มากขึ้น”

เขาย้อนมองตัวเองอีกครั้ง แล้วพบว่า การใช้ชีวิตคนเดียวแบบนี้ เขาควรจะพักตัวอยู่ที่ไหน เขาจึงนึกถึงเชียงดาว

เชียงดาว

Hoklhong Café

ความฝันของเขาอยู่บนดอยที่แม่แมะ แต่เขาจำเป็นต้องมีที่พักกาย โชคดีที่นักเขียนคนเดิมได้แนะนำพื้นที่ติดริมถนนใหญ่ ใกล้สี่แยกเข้าตัวอำเภอเชียงดาวให้เขา และฮกหลงจึงได้ก่อร่างสร้างตัว

“เชื่อมั้ย เราทำคาเฟ่เสร็จภายใน 2 อาทิตย์ เราให้ชาวบ้านมาช่วยทำ วัสดุท้องถิ่นอย่างไม้เก่าที่ชาวบ้านรื้อบ้านเดิมทิ้ง และใช้หญ้าคามุงหลังคา เราว่ามันเข้ากันกับไอหนาว ความเงียบ และขุนเขาได้ดี”

หลังจากนั้นไม่นาน ที่พักเล็กๆ ของเขาก็เกิดขึ้น “เราโชคดีที่มีเพื่อนชาวอูรักลาโว้ย หรือชาวทะเล ตอนนั้นเขามาหาเราที่นี่ แต่เราไม่มีพัก เขาจึงตัดไม้ไผ่หลังร้านและสร้างที่พักแบบบ้านของเขาให้เราภายในวันเดียว และนับแต่นั้นมา บ้านหลังนี้จึงเป็นที่พักของแบ็กแพ็กเกอร์จากทั่วโลกไปโดยปริยาย”

ส่วนพื้นที่บริเวณหน้าร้าน จะมีก้อนหินขนาดย่อมล้อมฟืนไฟไว้ ตรงจุดนี้คือศูนย์รวมไออุ่นแบบกะทัดรัดของผู้เป็นเจ้าของและนักเดินทาง เมื่อยามค่ำคืนและไอหนาวมาถึงพร้อมบทสนทนามากมายที่ไม่รู้จบ ข้างๆ กันมีโต๊ะเก้าอี้ไม้ไผ่ ซึ่งในเวลานั้น มีลูกน้องมือขวาของยุทธ์ กำลังขมักเขม่นคัดเลือกเมล็ดกาแฟดิบอยู่ ถัดเข้าไปอีกเล็กน้อย จะเจอกับเครื่องคั่วมือขนาดย่อม และด้านหลังสุดคือที่พักไซซ์เล็กที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ แต่น่ารัก เข้ากับบรรยากาศโดยรอบเป็นอย่างดี เขาเรียกที่นี่อีกชื่อหนึ่งว่า Camping Café

เชียงดาว

Home-Rosted Coffee

ระหว่างที่ฟังเรื่องราวของเขา เราก็ยก Cold Drip ขึ้นมาจิบไปเรื่อยๆ รสเปรี้ยวอมหวานเย็นๆ ชวนให้เราสดชื่น ฟังเรื่องราวแล้วนึกภาพตามไปอย่างน่าสนุก ในขณะเดียวกันกลิ่นเมล็ดกาแฟคั่วหม้อดินข้างๆ ร้านก็ลอยมาเป็นระยะๆ

“หอมใช่มั้ยล่ะ” เขาพักเรื่องชีวิต ก่อนจะกลับมาคุยเรื่องกาแฟให้เราฟัง

“อย่างตัวที่ดื่มอยู่ เราใช้เมล็ดกาแฟขุนช่างเคี่ยนแบบ Dry Process คั่วหม้อดิน เราว่า บอดี้ของกาแฟมันเยอะ เหมาะกับการสกัดเย็นดี” เขาอธิบาย แต่ด้วยความรู้อันน้อยนิดของเราก็ได้แต่พยักหน้ารับคำ ก่อนจะกลืนน้ำกาแฟรสอร่อยลงคอไปอย่างง่ายดาย

“เมื่อกี้เห็นเครื่องคั่วของเรามั้ย” เขาคงอยากเล่าที่มาที่ไปของเจ้าเครื่องคั่วกาแฟเล็กๆ หน้าตาไม่คุ้นชินสักเท่าไหร่ให้เราฟัง  “เครื่องคั่วไทยประดิษฐ์ โดยพระอาจารย์แถวภูชี้ฟ้าเป็นคนทำเลยนะ” ประโยคนี้ ทำเอาเราตาลุกวาว พระสงฆ์ทำเครื่องคั่วกาแฟ!

ส่วนการคั่วหม้อดินก็คือการใช้หม้อดินขนาดพอดีกับปริมาณเมล็ด เราว่ามันมีเอกลักษณ์ดี เราชอบ ยิ่งใช้คั่วไปนานๆ ดินคงดูดซับกลิ่นกาแฟ นี่ก็ใช้มาสองปีแล้ว รู้สึกว่า ยิ่งอร่อย”

เชียงดาว

ชาดอกกาแฟ

หลังจากอธิบายเรื่องกาแฟ เขาเผยิบหน้าไปทางเพื่อนสาวที่มาพร้อมกันแล้วถามว่า “แล้วเพื่อนอีกคนล่ะอยากดื่มอะไรมั้ย” แต่ดูจากสีหน้าแล้ว เจ้าหล่อนจะไม่อยากดื่มกาแฟสักเท่าไหร่ เขาจึงเสนอ ‘ชาดอกกาแฟ’ นั่นล่ะที่ทำให้เราทั้งคู่ตาลุกวาวอีกครั้ง

“ดอกของกาแฟก็ทำเป็นชาได้ หอมและอร่อยมาก เรารับซื้อดอกกาแฟจากชาวอาข่าที่บ้านแม่จันใต้ จังหวัดเชียงราย เขาเก็บดอกที่กำลังจะร่วงมาอบแห้ง แต่หากต้องการคุณภาพดีๆ หรือเก็บดอกที่ติดลูกแล้ว กระบวนการและการคัดเลือกจะค่อนข้างละเอียดและเก็บยาก ชาดอกกาแฟจึงมีจำนวนจำกัด ขนาดเรารับชาวบ้านมายังกิโลกรัมละ 2,000 บาทเลย เราก็มาแบ่งขายให้กับคนที่อยากลองชิม แต่ของปีนี้หมดแล้วนะ” เขาเบรกเราไว้ทัน (หัวเราะ)   

เชียงดาว

แมวดำ

ระหว่างที่เรากำลังสนุกกับเรื่องราวของที่นี่ แมวน้อยสีดำก็วิ่งปรู๊ด ปรี่เข้ามาพันแข้งพันขา บทสนทนาของเราจึงชะงัก แมวสีดำสองตัวนี้ชื่อว่า หยินและหยาง เป็นพนักงานต้อนรับ ที่ใครต่างพากันถามหาเสมอนั่นเอง

“แมวคู่นี้เหมือนกับแมวเก่าของเราที่หายไป เรารับหยินหยางมาจากป้าฝรั่ง พวกมันคลอดในบ้านดินที่เชียงดาว มันน่ารักมาก ติดเราแม้กระทั่งตอนนอน ชอบเดินพันแข้งพันขา บางทีเราก็รำคาญ (หัวเราะ) แต่พวกมันก็อยู่เป็นเพื่อนเราได้ดีเชียว และทุกคนก็รักพวกมันเหมือนกัน”

พวกเราคุยกับเขานานมาก กาแฟหมดแก้ว ชาก็เริ่มพล่องไปเยอะ เราจึงขอตัวกลับ แต่ด้วยคำถามท้ายสุดที่อยากถามเขา เราจึงเดินไปถามแบบอ้อมๆ ว่า ตอนนี้โอเคแล้วใช่ไหม เขายิ้มน้อยๆ แล้วพูดทิ้งท้ายไว้ว่า “เรามีความสุขนะ ได้ชีวิตของเราคืน แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำรวยอะไรนักหากเทียบกับสิ่งที่ทิ้งมาก็ตาม”

กระทั่งเรากำลังจะหมุนตัวกลับ เขาก็พูดตามมาว่า “เอ้อ! ปีนี้กาแฟอาราบิกาที่เราปลูกไว้ที่แม่แมะน่ะ สุกแล้วนะ ปีหน้าคงได้ชิมกัน ไว้มาอีกนะ”… แล้วพวกเราจะกลับมา เราสัญญาไว้ในใจเงียบๆ

หากคุณได้มีโอกาสไปเที่ยวเชียงดาว ก่อนเลยขึ้นไปวัดถ้ำเชียงดาว อย่าลืมเลี้ยวขวาที่สี่แยกก่อนเข้าตัวเมือง ขับรถช้าลง สังเกตขวามือของคุณ ก็จะพบกับมังกรซ่อนกายตัวนี้อย่างแน่นอน

เชียงดาว

เชียงดาว