Highgate Cemetery

Highgate Cemetery | เดินเล่นในสุสานกลางกรุงลอนดอนที่เป็นมากกว่าหลุมศพของผู้ล่วงลับ ด้วยความรักและการจากลา

บ่ายวันสุดท้ายของทริปช่วงปีใหม่ในลอนดอน เราตัดสินใจไป Highgate Cemetery ตามคำแนะนำของเพื่อนชาวอังกฤษเมื่อ 5 ปีก่อน นาฬิกาบนหน้าจอมือถือบอกเวลา 15 นาฬิกา 12 นาที พร้อมกับเสียงของเพื่อนสนิท ‘คาเล่’ เตือนให้เร่งฝีเท้าฝ่าอากาศหนาวไปยังทางเข้าสุสาน เรากึ่งเดินกึ่งวิ่งมาถึงประตูเหล็กขนาดใหญ่ที่ห่างจากสถานีรถไฟใต้ดิน Archway ประมาณสิบนาที จ่ายแบงก์สิบสำหรับค่าเข้าชมคนละ 4 ปอนด์ ให้กับลุงคนขายตั๋วหน้าตาใจดีคนหนึ่ง เขาบอกว่า สุสานกำลังจะปิดในอีก 45 นาทีข้างหน้า ถ้ารีบเดินหน่อยก็น่าจะได้ดูทั้งหมด

 

     “ของ Casio ใช่ไหมเนี่ย?” เขาชี้นาฬิกาบนข้อมือคาเล่พลางนับเงินทอนไปด้วย

     “เหมือนใช่ไหม แต่ไม่ใช่ (หัวเราะ) นี่ซื้อมาจาก eBay 2 ปอนด์เองครับ มาจากเมืองจีน” คาเล่ตอบอย่างภูมิใจที่นาฬิกาสวยจนมีคนทัก แถมราคายังถูกกว่าตั๋วเข้าสุสานตั้งครึ่งหนึ่ง

     “จริงอะ ลุงก็ชอบนาฬิกามากๆ เคยอยากได้ Casio เหมือนกัน อยากรู้ไหมลุงใส่อะไร” ว่าแล้วลุงแกก็ถกแขนเสื้อข้างซ้ายขึ้นอย่างใจเย็น อวดนาฬิกา Rolex เรือนสีเงินวาววับ

 

โอเค… เวลาเดินสุสานเราเหลือ 40 นาทีแล้วนะ

Highgate Cemetery

     นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรามาสุสานในต่างประเทศ ก่อนหน้านี้เราเคยไป Pere Lachaise Cemetery ในปารีส ที่มีหลุมศพของคนดังๆ อย่าง เฟรเดริก ชอแป็ง นักดนตรีชาวโปลิช, ออสการ์ ไวลด์ นักเขียนชาวไอร์แลนด์ และ จิม มอร์ริสสัน ศิลปินชาวอเมริกัน แล้วยังเคยตามรอยเจสซีกับซีลีนจากหนังเรื่อง Before Sunrise ของผู้กำกับ ริชาร์ด ลิงก์เลเตอร์ ไปสุสานไร้ญาติ Friedhof Der Namenlosen (Cemetery of the Nameless) ในกรุงเวียนนามาแล้ว แต่คาเล่ยังเป็นเวอร์จิ้นด้านสุสานอยู่ การเอ่ยปากชวนเขามาเที่ยวสุสานจึงมีความกระอักกระอ่วนพอควร เพราะรีแอ็กชันที่ตอบกลับมาคือสีหน้าเหยเก แม้สุดท้ายจะยอมตกลงไปเป็นเพื่อนด้วยก็ตาม

Highgate Cemetery

Highgate Cemetery

     Highgate Cemetery ตั้งอยู่บริเวณลอนดอนตอนเหนือ ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในขุมทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดของประเทศอังกฤษ ทุกอย่างเริ่มจากช่วงตอนต้นของศตวรรษที่ 19 ตอนนั้นอัตราการเสียชีวิตของคนในลอนดอนพุ่งขึ้นสูงมาก ในขณะเดียวกันกลับไม่มีพื้นที่สำหรับสุสานที่เพียงพอ เกิดเป็นสุสานตามที่ต่างๆ ที่ไม่ควรมี ไม่ว่าจะเป็นบริเวณที่อยู่อาศัย ใกล้ๆ ร้านค้า หรือผับ เพียงเพราะแค่มีพื้นที่ว่างเท่านั้น

     สัปเหร่อรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยแต่งตัวเป็นบาทหลวงโดยไม่ได้รับอนุญาต ศพหลายศพถูกฝังท่ามกลางคนแปลกหน้าที่อยู่ถัดกันไม่กี่ฟุต ซ้ำยังมีการใช้ปูนขาวช่วยให้ศพย่อยสลายได้เร็วขึ้น เพราะอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีศพใหม่มาฝังแทนที่

     ลอนดอนในยุคนั้นจึงเป็นฝันร้ายของทั้งคนตายและคนอยู่ รัฐบาลจึงต้องหาวิธีการแก้ไขอย่างเร็วเพื่อสาธารณสุขของชุมชน เกิดเป็นสุสานเอกชนขึ้นทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ Kensal Green (1833), West Norwood (1836), Highgate (1839), Abney Park (1840), Brompton (1840), Nunhead (1840) และ Tower Hamlets (1841)

Highgate Cemetery

     สุสานแห่งนี้เคยเป็นของบริษัทเอกชนชื่อ London Cemetery Company ผู้ออกตัวว่าทำธุรกิจนี้เพื่อค้ากำไรโดยเฉพาะมาตั้งแต่แรก เดิมทีมีแค่ฝั่งตะวันตกอย่างเดียว จนกระทั่งช่วง 1850s ที่รัฐบาลออกกฎหมายห้ามให้มีพิธีฝังศพใจกลางกรุงลอนดอน ธุรกิจนี้จึงเติบโตแบบก้าวกระโดดและได้รับความนิยมอย่างมาก จนมีการขยายพื้นที่สุสานออกไปอีกราวๆ 19 เอเคอร์ เป็นสุสานฝั่งตะวันออกที่เรามาในวันนี้ (ส่วนสุสานฝั่งตะวันตกคนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ก็ต่อเมื่อจองทัวร์เท่านั้น)

     ธุรกิจสุสานบูมอยู่พักใหญ่ก็เริ่มถดถอยเมื่อที่ว่างที่มีเริ่มลดน้อยลง ในขณะที่อัตราค่าบำรุงรักษากลับเพิ่มขึ้นทุกวัน สุสานเอกชนหลายแห่งถูกปล่อยรกร้างไม่มีคนดูแล ทำให้ภาครัฐท้องถิ่นต้องยื่นมือเข้าไปช่วย แต่ไม่ใช่สำหรับที่นี่ เพราะสุสานแห่งนี้ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล แต่อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคของผู้คน กำไรจึงไม่ใช่เป้าหมายของ Highgate Cemetery อีกต่อไปแล้ว เหมือนที่พวกเขาบอกว่า “We run for the public benefit, not for profit.”

     เรารับโบรชัวร์สุสานมาจากคุณลุงนาฬิกาโรเล็กซ์ เปิดดูรายชื่อคนดังที่มีหลุมศพอยู่ที่นี่ ส่วนใหญ่จะเป็นนักคิดนักเขียนชาวอังกฤษ ทั้ง วิลเลียม ฟอยล์ (1885-1921) ผู้ก่อตั้งร้านหนังสือ Foyles ที่โด่งดังมากในอังกฤษ, แพทริก คอลฟิลด์ (1936-2005) ศิลปินป๊อปอาร์ต หรือ ทอม มาร์เจอริสัน นักวิทยาศาสตร์ผู้ริเริ่มนิตยสาร New Scientist

highgate cemetery

     แต่ที่เราตั้งใจมาดูคือหลุมศพของ คาร์ล มากซ์ (1818-1883) ผู้เป็นทั้งนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง นักสังคมนิยม และนักปฏิวัติชาวเยอรมัน เขาเคยสรุปแนวคิดของตัวเองไว้ในหนังสือชื่อ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (Manifesto of the Communist Party หรือ The Communist Manifesto) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1848 ว่า “ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น”

     ขณะกวาดไล่สายตาผ่านรายชื่อเจ้าของหลุมศพบนโบรชัวร์มาเรื่อยๆ คาเล่สะดุดตากับนามสกุลของผู้ชายคนหนึ่ง พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่อ่านว่า TRUELOVE เรามองหน้ากันเป็นนัยๆ ว่าคนบ้าอะไรจะชื่อโรแมนติกได้ขนาดนั้น เป้าหมายวันนี้จึงไม่ใช่การไปหา คาร์ล มากซ์ อย่างเดียว แต่เป็นการตามหา เอดเวิร์ด ทรูเลิฟ ที่เรารู้จักจากคำนิยามในโบรชัวร์แค่ว่า ‘คนทำหนังสือหัวรุนแรง’ ไปพร้อมกันด้วย

Highgate cemetery

     อากาศในลอนดอนตอนต้นเดือนมกราคมไม่เอื้อกับการเดินเล่นในสุสานเท่าไหร่ แอพพลิเคชันอากาศบนไอโฟนบอกอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส แต่เรากลับรู้สึกหนาวกว่านั้น และเพราะพระอาทิตย์ในฤดูหนาวตกตอนประมาณ 4 โมงกว่า บรรยากาศในสุสานวันนั้นจึงเป็นแสงสุดท้ายสีส้มอุ่นก่อนจะค่อยๆ ลับตาไป

     เราเดินไปตามเส้นทางหลักของสุสาน เมื่อเดินจนครบรอบก็จะกลับมาที่ประตูทางเข้าอีกครั้ง ระหว่างทางมีหลุมศพหลายรูปแบบ ทั้งแบบทั่วไป แบบโมเดิร์น แบบมินิมอล แบบแมกซิมอล แบบที่อุดมไปด้วยไม้ดอก แบบที่โหรงเหรงๆ จนมาถึงหลุมศพ ​คาร์ล มาร์กซ์ ที่ใหญ่โตสมคำเล่าลือ มีรูปปั้นศีรษะของเขาขนาดยักษ์อยู่ด้านบนมองเห็นได้แต่ไกล บนหลุมศพมีคำอุทิศเขียนว่า Workers of all lands unite ทั้งภรรยาและหลานชายของเขาก็ถูกฝังไว้ที่นี่เช่นเดียวกัน มีดอกไม้สองสามช่อวางอยู่บริเวณด้านล่างของหลุมศพ ที่ไม่รู้ว่าเป็นของลูกหลานหรือเป็นของคนทั่วไปที่ชื่นชอบแนวคิดอันบ้าบิ่นของเขา

Highgate cemetery

     หลุมศพแต่ละยุคก็มีคุณค่าทางศิลปะไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่มีค่ากว่าความสวยงามของหลุมศพคือคำอุทิศที่สลักไว้บนนั้น ถ้อยคำที่เลือนหายบ้าง ไม่หายบ้าง คือความรู้สึกที่คนอยู่มีต่อผู้ตาย บางอันซาบซึ้งจับใจ บางอันก็เรียกรอยยิ้มได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น

– With Christ which is far better (อยู่กับพระเจ้าในที่ที่ดีกว่า)

– A very loving soulmate and father (เนื้อคู่และพ่ออันเป็นที่รัก)

– Better a spectacular failure, than a benign success (การล้มเหลวอย่างยิ่งใหญ่ดีกว่าชัยชนะที่เรียบง่าย)

– So young. So fair. So brave (ยังเยาว์, ยุติธรรม และกล้าหาญ)

– Parted – To Meet Again (แยกจากเพื่อพบกันใหม่)

     เราอาจจะไม่รู้จักชื่อใครบนหลุมศพเหล่านั้นเลยสักชื่อ แต่คำอุทิศที่สลักไว้ทำให้เรารู้ว่าพวกเขาเป็นที่รักของใครบางคนตอนที่มีชีวิตอยู่ ตัวอักษรเหล่านี้ทำให้การมาเดินสุสานไม่หดหู่เหมือนที่หลายคนคิด และทำให้คาเล่ผู้ที่ไม่เคยมาสุสานเลยอมยิ้มอยู่หลายครั้ง แม้ที่แห่งนี้จะเต็มไปด้วยคำบอกลาและความโศกเศร้า แต่ต้องอย่าลืมว่าทั้งหมดนี้สร้างขึ้นมาเพราะความรักที่คนอยู่มีต่อคนที่จากไป

     เราเดินผ่านหลุมศพแปลกๆ หลายหลุมอย่างของ ดักลาส อดัมส์ นักเขียนเจ้าของผลงานเรื่อง Hitchhiker’s Guide to the Galaxy ที่มีถ้วยกระเบื้องใส่ปากกาลูกลื่นหลายด้ามเพื่อคุณอดัมส์จะได้เขียนหนังสืออีกเล่มบนฟ้า

Highgate cemetery

Highgate cemetery

     หรือหลุมศพที่สร้างเป็นรูปหนังสือจากสำนักพิมพ์ Penguin ของ จิม สแตนฟอร์ด ฮอร์น ตรงสันหนังสือเขียนว่า the final chapter บนหน้าปกเขียนว่า partner พร้อมกับรูปนกเพนกวินสองตัว ไปจนถึงหลุมศพสไตล์โมเดิร์นที่ไม่มีคำอุทิศอะไรเลยนอกจากฉลุตัวอักษร D.E.A.D และเนื่องจากเทศกาลคริสต์มาสเพิ่งผ่านไปไม่นาน หลุมศพของหลายคนมีการตกแต่งด้วยเครื่องประดับวันคริสต์มาส มีไฟสวยงามให้เข้ากับช่วงเวลารื่นรมย์แห่งปี

highgate cemetery

     นาฬิกาบอกเวลา 15 นาฬิกา 50 นาที เจ้าหน้าที่เดินสั่นกระดิ่งวนสองรอบเพื่อให้สัญญาณว่าสุสานกำลังจะปิด เราและคนอื่นๆ เร่งฝีเท้าแข่งกับความมืดที่กำลังจะมาถึง พอออกจากประตูเหล็กบานเดิม เราเดินย้อนกลับไปทางสถานีรถไฟใต้ดิน แวะเข้าผับท้องถิ่นระหว่างทางเพื่อหลบหนาว สั่งเบียร์หนึ่งไพน์ ค็อกเทลหนึ่งแก้ว และปีกไก่ทอดชุดใหญ่ ถือเป็นออเดิร์ฟเลี้ยงส่งเรากลับกรุงเทพฯ และส่งคาเล่ไปอเมริกาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

 

“ไว้ไปนิวยอร์ก จะลองไปสุสานที่นั่นบ้าง” คาเล่พูดขึ้นมาขณะยกแก้วเบียร์ขึ้นดื่ม

 

ดีใจที่เพื่อนชอบ

ว่าแต่… มิสเตอร์ Truelove อยู่ตรงไหนกันแน่วะเนี่ย เพิ่งนึกได้ว่าสุดท้ายก็หาไม่เจอ

 


Highgate Cemetery East

ที่อยู่: Swain’s Ln, Highgate, London N6 6PJ, United Kingdom

เว็บไซต์: www.highgatecemetery.org
*หมายเหตุ หากใครสนใจไป Highgate Cemetery West ด้วย สามารถจองทัวร์ล่วงหน้าได้บนเว็บไซต์

เวลาทำการ: ทุกวัน 10.00 – 16.00 น. (รอบสุดท้าย 15.30 น.)

สถานีรถไฟใต้ดิน: Archway Station (ไม่ใช่ Highgate Station ชื่อเดียวกันก็จริง แต่เดินไกลกว่ามาก)

ค่าเข้าชม​: 4 ปอนด์ (ประมาณ 200 บาท)