เด็กแล้วไง? อ่านบทสัมภาษณ์หนักๆ เรื่องชีวิตและธุรกิจของ ‘พีช’ – พชร จิราธิวัฒน์

          ความเป็นนักสู้ของ ‘พีช’ – พชร จิราธิวัฒน์ ไม่ได้เกิดจากแรงกดดันที่เขาเกิดมาในตระกูลจิราธิวัฒน์ (เราเชื่ออย่างนั้น) เพราะเขาเล่าให้เราฟังว่า ครั้งหนึ่งชายคนนี้เป็นแค่เด็กตัวอ้วนที่ถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษ และเป็นชาวเอเชียเพียงไม่กี่คนในมหาวิทยาลัยชื่อดังของที่นั่น ชีวิตช่วงนั้นก็ไม่ได้สวยหรูอย่างที่ใครหลายคนอิจฉา เขากลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการถูกกลั่นแกล้งอย่างหนักหน่วง ยังไม่นับเรื่องของการถูกเหยียดเชื้อชาติจากคนที่อยู่ในประเทศโลกที่หนึ่ง เมื่อความอดทนนั้นพุ่งไปจนถึงขีดสุด เขาค้นพบกับคำสั้นๆ ที่เป็นเหมือนสัจธรรมของชีวิต คือคำว่า

ช่างแม่ง

และลุกขึ้นมาชนกับคนเหล่านั้นด้วยการไม่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอหรือความเสียใจ เพราะเขาให้เหตุผลว่าคนแกล้งจะมีความสุขมาก ถ้าเห็นคนที่ถูกแกล้งเสียใจ ยิ่งเราแสดงให้เห็นว่าตัวเองเจ็บปวดมากเท่าไหร่ คนแกล้งก็จะยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น

จากเด็กน้อยที่เคยนอนร้องไห้อยู่ใต้ผ้าห่มในวันนั้น ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง และกลายเป็นชายหนุ่มที่มีมาดที่ยียวน ขยี้หัวใจสาวๆ และไม่กลัวอะไรก็ตามที่จะเข้ามาท้าทายชีวิต แต่ในความเข้มแข็งที่เขามีนั้นใช่ว่าจะทำให้เขาเป็นคนที่เข้าไปลุยกับทุกเรื่อง ประสบการณ์ได้สอนให้พชรกลายเป็นคนที่คิดทุกอย่างก่อนจะลงมือทำอะไร ในความร้อนแรงของพลังวัยหนุ่ม เขามีบทเรียนที่ใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตในหลายๆ มุมมอง ทั้งในฐานะคนทำธุรกิจ นักดนตรี และนักแสดง

วันนี้เรากำลังจะเห็นเขาในอีกบทบาทในฐานะ Friend of UNICEF ซึ่งหน้าที่นี้มีความสำคัญกับเขาแค่ไหน และชีวิตในตอนนี้ของเขากำลังเดินไปทิศทางทางใด ความฝันที่อยากเปลี่ยนแปลงของคุณภาพชีวิตและการศึกษาของเยาวชนจะเป็นไปได้หรือไม่ การพูดคุยที่อยู่ถัดไปจากนี้จะบอกเล่าทุกอย่างของชายคนนี้ให้กับคุณ

หลายคนยังไม่ค่อยเห็นคุณในแง่มุมของนักธุรกิจ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าตอนนี้ธุรกิจของคุณมีอะไรน่าสนใจบ้าง

ผมตั้งบริษัทนี้กับเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นประถม มันเกิดจากการนั่งคุยกันในบ่ายวันหนึ่ง แล้วบอกว่ามึงกับกูเนี่ยต้องหาอะไรทำร่วมกันได้แล้ว แล้วเราเป็นคนชอบกิน ก็คิดว่าทำร้านอาหารกันไหม ตอนแรกคิดจะทำร้านอาหารเป็นจริงเป็นจัง แต่ไปๆ มาๆ รู้สึกไม่เวิร์ก ทำอะไรกินเองก็ไม่เคยอร่อยว่ะ ก็ลองเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น แล้วโชคดีมากเพื่อนผมดันไปกินขนมอย่างหนึ่งที่ต่างประเทศ คนต่อแถวเยอะมากเลย ก็เลยบินไปดูด้วยกัน แล้วก็ตัดสินใจนำเข้ามา ตอนนี้ผมเพิ่งเริ่มธุรกิจ Potato Corner Thailand มาได้ปีครึ่ง เรามีสาขา 12 แห่งแล้ว และกำลังจะขยายเพิ่ม ทุกอย่างเพิ่งเริ่มทำ ผมเลยไม่มีโอกาสได้พูดมาก แล้วก็ไม่ค่อยอยากทำตัวให้ดังกว่าแบรนด์ตัวเอง เพราะหน้าที่ของเราคือบริหาร ไม่ใช่พีอาร์ และธุรกิจของเราไปได้ดีในปีที่ผ่านมา สิ่งที่ท้าทายคือการปรับให้เข้ากับคนไทยให้ได้

ในมุมของการทำธุรกิจ มีวิธีคิดต่างจากงานแสดงแค่ไหน

สำหรับผม งานธุรกิจคือความบ้าบิ่นกว่างานอื่นมากๆ กล้าเปิดธุรกิจใหม่ขึ้นมาสู้กับแบรนด์ใหญ่ที่มีอยู่ก่อน ซึ่งในระหว่างการทำงานเราต้องเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดทุกอย่างวิ่งไปเร็วมาก ทุกอย่างเร็วตามชื่อจริงๆ เราต้องขยายตัวให้เร็ว ปรับตัวให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคืองานที่ต้องทำให้เสร็จในระหว่างวัน ส่วนในตอนเย็น ผมทำงานเพลงในสตูดิโอ โชคดีมากที่มีสตูดิโออยู่ที่บ้าน ผมก็กลับมาทำงานส่วนตัวได้ทุกเย็น งานที่ออฟฟิศเสร็จแล้วก็รีบกลับบ้านมาทำอีกงานต่อ คือทุกงานในชีวิตผมก็ไม่เคยคิดว่าเป็นงานมั้ง เลยทุกอย่างทำได้เรื่อยๆ รู้สึกแบบเหมือนคนกลับบ้านมานั่งเล่นเกมนั่นแหละ มันสนุกทุกอย่างเลย

ทุกครั้งที่ล้มเราจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง แล้วก็เชื่อได้เลยว่ารอบต่อไป
เราจะทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม ผมมองว่าข้อผิดพลาดคือสิ่งที่ทำให้คนเก่งขึ้น

แล้วคุณสนุกในงานที่ออฟฟิศอย่างไร

มันดีตรงที่เราได้เติบโต คุณนึกออกไหม เหมือนเรากำลังสร้างอะไรสักอย่างแล้วมองเห็นการเติบโต เหมือนเล่นเกมอีกเช่นกัน ผมจึงไม่เครียดถ้ามันไม่เวิร์ก เพราะถือว่าได้เรียนรู้ อย่างน้อยเราได้บทเรียนอะไรบางอย่างจากงานเสมอ ทุกครั้งที่ล้มเราจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง แล้วก็เชื่อได้เลยว่ารอบต่อไปเราจะทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม ผมมองว่าข้อผิดพลาดคือสิ่งที่ทำให้คนเก่งขึ้น ทุกวันนี้ก็ยังเรียนรู้ ยังมีอะไรที่ทำผิดพลาดอยู่อีก และก็ยังต้องมาคอยแก้ปัญหาอยู่เลย ก็หวังว่าจะเก่งขึ้นไปทุกวันๆ แต่จริงๆ แล้วคุณไม่ต้องล้มเยอะๆ แบบที่ผมพูดนี้ก็ได้นะ (หัวเราะ) ล้มเยอะก็เปลืองเงิน เปลืองเวลา คือคุณสามารถเรียนรู้จากการล้มเล็กๆ น้อยๆ ได้ แต่ไม่ต้องล้มเลยจะดีกว่า ทำงานอย่างระมัดระวังไป เพื่อเรียนรู้อะไรที่อยู่ระหว่างทาง คือผมเองก็ไม่อยากทำธุรกิจจนติดตัวแดงหรอก เราก็ต้องคิดว่าในกรณีนี้ถ้าต้องอัดฉีดเงินเข้าไปจริงๆ เราจะทนติดลบไปได้ไกลแค่ไหนเพื่อจะกลับมาได้ อันนี้ก็ต้องวางแผนแบบเป็นจริงเป็นจัง แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนที่สามารถทนทำงานอยู่กับความเสี่ยงเยอะๆ เพราะคนส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนที่ไม่ค่อยกล้าเสี่ยง ผมกลับคิดว่าถ้าไม่ทำเราจะเสียดาย

ถ้าเปรียบเป็นนักพนัน คุณชอบเทหมดหน้าตัก?

ใช่ เกือบหมด เหลือเก็บไว้หน่อย เผื่อกลับบ้าน (หัวเราะ)

ปัญหาของคนที่เกิดมาในตระกูลที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจน่าจะเป็นเรื่องการพิสูจน์ตัวเอง สำหรับคุณปัญหาเหล่านี้หมดไปหรือยัง

ผมไม่เคยต้องพิสูจน์ตัวเองให้พ่อแม่เห็น แต่ผมพิสูจน์กับตัวเองมากกว่า เพราะผมแข่งกับตัวเอง แข่งกับตัวเองทุกวัน ผมคุยกับตัวเองหน้ากระจกทุกเช้า นั่นคือสิ่งที่ทำ (หัวเราะ) มันเหมือนเป็นการเช็กตัวเองว่ากำลังทำอะไร เราพร้อมที่จะทำสิ่งนั้นหรือเปล่า ผมชอบคุยกับตัวเอง คิดว่าวิธีนี้มันเวิร์กนะ คือในหัวคนเรามันมีเสียงอยู่ แล้วจริงๆ เหมือนเราคุยกับตัวเองตลอดเวลา ขนาดจะไปกินข้าว เราก็จะคิดว่าวันนี้กินอะไรดีวะ ผมแนะนำให้คุณลองไปทำดู

คนหนุ่มสาวรุ่นของคุณ นิยามคำว่าความสำเร็จอย่างไร

ไม่มีครับ ไม่มีทางไปถึง เพราะคนที่ประสบความสำเร็จจะเป็นคนประเภทที่จะคิดสเตปต่อไปในชีวิตทันที คนพวกนี้ไม่มีใครมานั่งมองอดีตหรอก ไม่งั้นถ้าคิดว่าประสบความสำเร็จแล้วก็จะไม่ทำอะไรอีก ถ้าวันนี้เราคิดว่าสิ่งที่ทำมาคือจุดสูงสุดแล้ว ชีวิตก็คงหยุดอยู่แค่นั้น ในชีวิตนี้ที่ผมเคยคุยกับคนเก่งๆ มา พบว่าไม่มีใครคิดเลยว่าตัวเองเก่ง ยิ่งผมคิดว่าเขาเก่งเท่าไหร่ เขากลับยิ่งคิดว่าตัวเองโง่ ยิ่งอยากเรียนรู้ อยากเก่งมากกว่าเดิม นั่นคือทัศนคติของคนเก่ง คนที่ประสบความสำเร็จจริงๆ

ผมว่าเรายอมแพ้ง่ายเกินไปในทุกๆ เรื่อง ส่วนใหญ่เราเป็น loser ครับ ไม่กระเสือกกระสน คำที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทยคือคำว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก’ ผมว่าส่วนใหญ่เราถูกสอนกันมาแบบนั้น สังเกตดูประเทศที่เขาแร้นแค้น เจอกับภัยธรรมชาติ หนาวเหน็บ ไม่มีอะไรจะกิน สภาพแวดล้อมทำให้ต้องสู้ แต่ประเทศเราอยู่เฉยๆ ก็มีกิน เพราะโชคดีเรามีความอุดมสมบูรณ์ สังคมเราถูกพัฒนากันมาแบบนั้น ถูกปลูกฝังมาแบบนั้น อย่าไปฝันอะไรมาก ใช้ชีวิตสบายๆ อย่าไปต่อสู้ดิ้นรนอะไร พอคนมีความคิดแบบนี้ ก็จะมีคนบอกว่าทำไมต้องทะเยอทะยานด้วย แล้วเราก็ไปดูถูกคนแบบนั้นด้วยนะ ซึ่งมันไม่ถูกหรือเปล่า คนอย่างนี้ต่างหากที่ต้องชม เรายอมแพ้กันง่ายไป นิดหนึ่งก็ไม่ทำ นิดหนึ่งก็เบื่อ แล้วอย่างนี้เมื่อไหร่จะเป็นที่หนึ่ง ในเมื่อวันนี้แค่นี้ยังยอมแพ้

เมื่อเติบโตขึ้นมาจนถึงวันนี้ คุณรู้สึกกับชีวิตอย่างไร

ผมเป็น perfectionist มาตลอดชีวิต และหัวเสียจริงๆ ในเรื่องงานที่ไม่ได้ดั่งใจ ผมเป็นคนบ้าเรื่องนี้มาก แต่สุดท้ายเราเรียนรู้ว่าต้องยอม แต่ก่อนไม่เป็น จนกระทั่งวันหนึ่งเรียนรู้ว่าสิ่งที่สมบูรณ์แบบแม่งไม่มีจริงว่ะ ต่อให้อยากให้มี แต่สุดท้ายเมื่อไม่ได้จริงๆ ก็ต้องปล่อย ผมปล่อยวางในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ คือความสมบูรณ์แบบมันไม่มีหรอก เราอยากให้สมบูรณ์นะ แต่จะปล่อยวางเมื่อไปถึงคำว่าดีแล้ว คือบางอย่างก็ต้องโอเค เราต้องยอมปล่อย เพื่อไปทำอย่างอื่นต่อ ยกตัวอย่างตอนอัดเพลง ก็จะมีบางเพลงที่อยากได้ดีกว่านี้อีก ทั้งที่จริงๆ แค่นี้ก็ดีแล้ว ไม่งั้นก็ยิ่งจะเสียเวลา เปลืองเงิน เปลืองพลังงานคนอื่น เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อย

คุณคิดถึงอนาคตตัวเองบ่อยแค่ไหน

คิดตลอด โอ้โฮ เป็นคนวางแผนเยอะ มีทั้งสั้นและยาว แต่ไม่ใช่แบบต้องทำตามเป๊ะๆ นะ แค่วางเอาไว้ให้เป็นไกด์ไลน์เฉยๆ ว่าชีวิตต้องประมาณนี้ อย่างเช่น ใน 5 ปีข้างหน้า ผมคิดว่าสิ่งแรกคือเรื่องเพลงก่อน คิดว่าต้องเสร็จแล้วสักชุดหรือสองชุดแน่นอน ชุดแรกก็น่าจะเสร็จปลายปีนี้ แล้วงานแสดงก็คง อืม… อันนี้เดายากมาก ส่วนด้านธุรกิจส่วนตัว ก็คิดว่ามูลค่าบริษัทใน 5 ปี ต้องไปถึงสองพันล้านบาทให้ได้ และอีก 5 ปี คงแต่งงานแล้วแหละ (หัวเราะ)

เรื่องเงินนั้นไม่ใช่ประเด็นเลย แต่เราได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ

อยากให้คุณเล่าถึงบทบาท Friend of UNICEF ที่คุณทำงานการกุศลเพื่อเยาวชน

การมาทำงานตรงนี้ ถามว่าทำแล้วได้อะไร เรื่องเงินนั้นไม่ใช่ประเด็นเลย แต่เราได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ คืออย่างน้อยที่สุด การได้ลงมือทำอะไรเพื่อคนอื่น แม้จะเพียงเล็กน้อยแต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำไรเลย นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่างประเด็นหนึ่งที่ผมเข้ามามีส่วนร่วม คือเรื่อง human rights ความเท่าเทียมกันของคน นี่เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทยเรา เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ เพราะว่าชุดความคิดนี้กำลังลามออกไปในยุคปัจจุบัน คนไทยเรามีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ลดลง เราเข้าใจอะไรต่างๆ น้อยลง คนในสังคมเปลี่ยนไปมาก เพราะระบบต่างๆ ของประเทศเปลี่ยนไป แล้วผมก็รู้สึกว่าเราไม่อยากอยู่ในประเทศที่แย่ๆ กันหรอกนะ จึงต้องมีใครสักคนลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ไม่งั้นทุกอย่างก็จะห่วยแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วจนถึงวันหนึ่งซึ่งเราแก่ลง ก็ต้องทนอยู่กับอะไรแบบนี้ไปจนตายเหรอ ลูกของเรา หรือใครก็ไม่รู้ ก็ต้องเจอสิ่งเหล่านี้ที่วนเวียนไปไม่มีวันจบ เลยรู้สึกว่าบทบาทตรงนี้เป็นอะไรที่ผมต้องทำ ผมไม่อยากเห็นประเทศเราโกลาหลไปกว่านี้

ปัจจุบันเรากำลังอยู่กับความโกลาหลระดับไหนกัน

ผมรู้สึกว่ามันกำลังขยายตัวออกไปกว้างมาก เช่น อย่างแรกที่เจอคือคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไม่มีความรับผิดชอบอะไรเลย หลายๆ คนที่ไม่มีตรรกะในการคิด ไม่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น หรือไม่พยายามทำความเข้าใจ ผมรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่ ระบบการศึกษาประเทศเราปล่อยปละละเลยเรื่องพวกนี้มานานเกินไป เราให้ความสำคัญกับการท่องจำ แต่ไม่ได้สนใจในการสร้างบุคคลากรจริงๆ จังๆ ขึ้นมา แล้วเมื่อคนบริหารประเทศไม่ดี ก็ลามทำให้ปัญหายิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก ทำให้เกิดสังคมเกิดความไม่เท่าเทียม มีคนขาดโอกาสมากขึ้น หลายๆ อย่างกำลังแย่ลง ในขณะที่งบประมาณของประเทศกลับพุ่งสูงขึ้น ถ้าเราดูตามข้อมูลตัวเลขของรัฐบาล GDP ของเราก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น ภาพรวมของการส่งออกประเทศก็ไม่ได้แย่ เราควรจะมีเงินมากกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่เรากลับใช้จ่ายงบประมาณไปอย่างไร้สาระกับอะไรก็ไม่รู้ เสียเงินไปกับอะไรที่ไม่รู้เรื่องเลย ซึ่งจริงๆ แล้วพวกเราเองนั่นแหละที่ปล่อยปละละเลยคนในประเทศกันเอง ผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศเราแย่ลง เลยอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องแบบนี้ การทำอาชีพนักแสดงหรือนักธุรกิจอาจจะไม่ได้แก้ไขอะไรได้ทั้งหมด แต่คนอย่างเราสามารถพูดแทนคนอื่นได้ อย่างน้อยให้เขายืมเสียงเราพูดแทน ให้ชีวิตเขาดีขึ้น ให้เขาเป็นบุคลากรที่ดีให้กับประเทศไทย ผมว่าสิ่งที่กำลังทำเป็นจุดเริ่มต้นมากกว่า

ในบทบาทตรงนี้คุณได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

ในความคืบหน้าพวกนี้ต้องใช้เวลานานมาก เป็นงานปิดทองหลังพระ งานที่ยูนิเซฟทำมันไม่ได้เด่นชัดเหมือนพอเกิดสงครามแล้วมีองค์กรส่งอาหารไปช่วย อันนั้นเห็นผลเลย คนได้กินข้าวปุ๊บ ช่วยให้เขาพ้นจากความหิวได้เลย แต่เรื่องของยูนิเซฟเป็นการค่อยๆ พัฒนาไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน บางทีต้องใช้เวลาเป็นสิบปีหรืออาจจะมากกว่านั้น กว่าจะพัฒนาได้ก็ต้องค่อยๆ ทำไป อย่างแรกเราเองก็ยังต้องหวังพึ่งงบประมาณ หวังพึ่งนโยบายจากรัฐบาล เพราะจริงๆ ก็ไม่สามารถทำอะไรข้ามหน้าข้ามตารัฐบาลของประเทศได้มากขนาดนั้น แล้วรัฐบาลประเทศเราก็เปลี่ยนกันบ่อยเหลือเกิน พอเปลี่ยนทีหนึ่งนโยบายก็เปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยนและต้องใช้เวลา ทุกอย่างมันลำบาก

คุณสนใจปัญหาพวกนี้ตั้งแต่ก่อนจะได้รับคำชวนจากยูนิเซฟแล้วหรือเปล่า

ใช่ ผมค่อนข้างกังวลกับเรื่องการศึกษาเป็นหลัก เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ผมเชื่อว่าถ้าคนไม่สามารถคิดได้ ก็จะมีแต่อะไรที่แย่ๆ เกิดขึ้นตามมา มันเป็นเรื่องจำเป็นถ้าเราจะยกระดับทุกๆ อย่างขึ้นไปพร้อมกัน เช่น คนอ่านหนังสือน้อยลง เพราะคนเราเอาเวลาไปทำอย่างอื่นหมด ไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะคนไม่ได้มีตรรกะในการคิด สุดท้ายแล้วก็ทำให้ทุกอย่างแย่ วงการหนังสือก็ล้มไปก่อน พอเราไม่ได้อ่านหนังสือดีๆ ก็ไม่สามารถคิดอะไรได้ แล้วเราก็ไม่อยากอ่านในที่สุด ในขณะที่ต่างประเทศยังอยู่ ที่ไต้หวันวงการหนังสือเขาดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะประชากรเขามีคุณภาพ และก้าวข้ามขั้นการพัฒนาไปแล้ว ถ้าไม่มีการศึกษา เราก็จะพัฒนาไปไหนต่อไม่ได้ เพราะเราคิดไม่ได้

เรื่อง : ทรรศน หาญเรืองเกียรติ, ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ และ พัทธมน วงษ์รัตนะ
ภาพ : กฤตธกร สุทธิกิตติบุตร
สไตลิสต์ : Hotcake
เสื้อผ้า : Heidi’s Secret by Timmyy