คุยกับ Rabbit Crossing ครบ 1 ปีที่สูญเสียหมอ ‘กระต่าย’ กฎหมายจราจรไทยก้าวไปถึงฝั่งหรือยัง?

   ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคมปี 2565

        เกิดอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์พุ่งชนหมอสาวระหว่างข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต จากวันนั้น ชื่อของคุณหมอ ‘กระต่าย’ จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจากการขับขี่โดยประมาท

        หมอกระต่าย คือผู้หญิงคนหนึ่งที่ระมัดระวังการใช้ชีวิตในทุกเรื่อง รวมถึงการข้ามถนนบนทางม้าลาย และก่อนเกิดเหตุไม่คาดฝันดังกล่าว เธอมักจะข้ามถนนบริเวณสี่แยกพญาไทเพื่อกลับบ้านทุกๆ วัน แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุแถวนั้นอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้เธอต้องเปลี่ยนไปข้ามทางม้าลายใกล้ๆ กับสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์แทน 

        แต่ใครจะไปคาดคิดว่า หนทางการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ จะทำให้เธอพบกับอันตรายถึงชีวิต ด้วยความประมาทของผู้ขับขี่ที่ไม่หยุดชะลอความเร็วให้กับคนข้ามถนน ทำให้เกิดเรื่องเศร้าสะเทือนใจ และเป็นที่พูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวางนานนับเดือน เกี่ยวกับพฤติกรรมการขับขี่ยานพาหนะโดยประมาทที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ภายในเสี้ยววินาที 

        จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เพื่อนของหมอกระต่ายรวมตัวกันตั้งกลุ่ม ‘เพื่อนหมอกระต่าย’ หรือ ‘Rabbit Crossing’ ผลักดันกฎหมายทางข้ามม้าลาย และส่งเสริมการสร้างวินัยขับขี่ในสังคมให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

        เหตุการณ์ผ่านไปครบปีแล้ว เราจึงอยากพูดคุยถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมากับเพื่อนสนิทของหมอกระต่าย  ‘แนน’ – ธารทิพย์ ตันชวลิต และ ‘น้ำ’ – มาริน ศตวิริยะ สองในกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง Rabbit Crossing 

1 ปีเหตุการณ์หมอกระต่าย

        จากคดีหมอกระต่ายที่กล่าวไปข้างต้น ถ้าถามว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงมากน้อยขนาดไหนตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา หญิงสาวตรงหน้าเราทั้งสองนั่งนิ่งสักพักหนึ่งก่อนจะขอกล่าวย้อนถึง ความตั้งใจในการทำกลุ่ม Rabbit Crossing ก่อนว่า พวกเธอและเพื่อนๆ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้คนตระหนักถึงความสำคัญของการหยุดรถตรงทางม้าลายมากยิ่งขึ้น ยิ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนเพื่อนสนิทของตนเองจนเสียชีวิต ก็ยิ่งทำให้พวกเธอฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ‘ทางม้าลาย’ บ้านเรามันผิดปกติ เพราะคนขับรถไม่ค่อยหยุดให้คนข้าม ทั้งๆ ที่มันเป็นพื้นที่ที่รถต้องหยุดตามกฎจราจร



“ทำไมคนข้ามทางม้าลายต้องระวังรถ ไม่ใช่รถระวังเรา”

 

        การเสียเพื่อนสนิทคนหนึ่งก่อนวัยอันควร ทำให้พวกเธออยากผลักดันเรื่องทางม้าลายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง แนนเริ่มเล่าว่า “ต่ายเป็นเพื่อนสนิทของเรา ก็เหมือนพ่อแม่ที่เขาเสียลูกไป เราก็อินกับเขา อยากจับมือกับพวกเขาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความยุติธรรม เราไม่อยากให้ลูกสาวที่เสียไป ต้องเป็นการเสียเปล่า ถึงจะมีคนเคยบอกว่า เหตุการณ์นี้จะเป็นการตายฟรีอีกครั้งหนึ่ง แต่เราว่านี่มันไม่ใช่นะ มันต้องได้อะไรสักอย่างกลับคืนมา อย่างน้อยก็ในแง่ของจิตใจละ”

        “ถ้าถามว่า ทุกวันนี้คนยังอินกับเรื่องราวหมอกระต่ายเหมือนอย่างตอนแรกๆ ไหม เอาจริงๆ เราเข้าใจว่าในสังคมคงไม่ได้อินขนาดนั้นแล้ว เพราะทุกวันนี้ก็มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นให้ติดตามตลอดเวลา เรื่องที่ผ่านมาก็คงค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา แต่เราก็ยังคิดว่า เราจะพยายามทำมันต่อไป เพราะอยากให้ท้ายที่สุด มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ที่มีคุณค่าต่อทุกคนและสังคม อย่างน้อยก็อยากให้คนตระหนักถึงการข้ามถนนหรือทางม้าลายมากยิ่งขึ้น”

        น้ำเสริมว่า “ฟังๆ ไปอาจจะเป็นความรู้สึกลบ แต่เราก็มองว่า มันก็มีความรู้สึกในแง่บวกด้วยนะ เพราะก่อนหน้านี้เรามีแคมเปญรณรงค์เรื่องความปลอดภัยตรงทางม้าลายใน Change.org มีคนสนใจเรื่องนี้มากกว่าที่เราคิดไว้เยอะมาก จากตอนแรกคิดว่า คงไม่มีใครสนใจ รวมถึงยังมีคนส่งคลิปการขับขี่บนท้องถนนที่มันไม่ถูกไม่ควรมาให้เราดู ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นนะว่าคนเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น แต่อาจจะไม่มีคนที่รวมตัวกันแล้วพูดออกมาว่า เฮ้ย มันมีปัญหานะ แล้วก็ไม่โอเคด้วย  และพวกเราทุกคนก็อยากให้มันดีขึ้น”

        “อีกอย่าง มันก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เขาตระหนักหรือฉุกคิดได้ว่า เออ จริงด้วย เขาต้องระวังและหยุดให้คนข้าม แต่ว่าสังคมก็คือสังคม มันก็มีทั้งคนทำตามกฎ กับคนไม่ทำตามกฎอยู่ร่วมกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีระเบียบคือ คนทำตามกฎต้องไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจนเกินไป ถ้าถามว่าเปลี่ยนไหม หมอก็เชื่อนะว่ามีคนที่เปลี่ยน คนให้ความสำคัญกับทางม้าลายมากขึ้น แต่มันไม่ได้เป็นกลุ่มที่ใหญ่พอจะเปลี่ยนสังคมได้ แต่อย่างน้อยก็มีคนที่ตระหนักตรงนี้มากขึ้นบ้างก็ยังดี” แนนขยายความต่อจากสิ่งที่น้ำพูด

สภาพทางม้าลายไทย

        เมื่อพูดถึงปัญหาทางม้าลายไทย ในมุมของคนที่อยากผลักดันการแก้ไขทางม้าลายให้เหมาะสมกับคนที่ใช้งานจริง หากให้พวกเธอลองประเมินสภาพทางม้าลายไทยคิดว่า ควรให้คะแนนเท่าไหร่ (เต็ม 10 คะแนน)

        น้ำขอตอบคนแรก เธอให้ 3 คะแนน “เรารู้สึกว่า ทางม้าลายไม่ได้เป็นจุดที่ปลอดภัย ถึงเราจะข้ามจุดที่มันเป็นทางม้าลายจริงๆ รถก็ไม่ได้หยุดอยู่ดี บางทีก็หยุดบ้าง ไม่หยุดบ้าง แต่สุดท้ายเราก็ยังต้องระแวงมองซ้ายมองขวาจนกว่าจะไปถึงปลายทาง”

        “แล้วเราก็รู้สึกว่า ถนนไม่ได้เอื้อกับคนเดินเท้าจริงๆ ทั้งที่จริงแล้ว จำนวนคนเดินเท้าในถนนเยอะนะ ซึ่งก็ยิ่งต้องการการคุ้มครองมากกว่าคนขับขี่ยานพาหนะที่ขับรถใช้ความรวดเร็วสูง เพราะรถมันมีเกราะเหล็กหุ้มอยู่ด้วยซ้ำไป แต่คนมีแค่ตัวบางๆ เดินข้ามไป ยิ่งถ้าเป็นจุดที่ไม่ปลอดภัย มืดเปลี่ยว หรือว่าแสงสว่างไม่พอ เส้นไม่ชัด ก็คือจบเลย ทางม้าลายก็เป็นได้แค่เส้นขีดไว้บนถนนเฉยๆ”

        สำหรับแนนให้ 4 คะแนน “จริงๆ ก็น่าจะพอๆ กันแต่ให้สี่คะแนนจะได้ไม่ดูน้อยไป (หัวเราะ) โดยส่วนตัว คิดว่ากฎหมายไม่ได้เข้มงวดพอให้คนหยุดรถด้วยจิตสำนึกของเขาเอง คือหยุดแล้วเขาได้อะไรล่ะ เขาอาจจะคิดว่าต้องไปช้าลง ในมุมของคนขับรถเขาก็คงเหมือนเสียผลประโยชน์ ถ้าพูดตามตรง ที่เราเห็นข่าวมอเตอร์ไซค์รับจ้างต่างๆ ขับเร็วก็เพราะเขาต้องวิ่งทำงาน วิ่งทำรอบ ถ้าให้เขาหยุดทุกทางม้าลาย เขาก็จะรู้สึกว่า เสียเวลา จะหยุดทำไม เขาก็รีบเพื่อตัวเองเป็นหลัก มันก็ยากนะที่จะต้องใช้วิธีการสร้างจิตสำนึกที่ดีที่ทุกคนต้องหยุดรถตรงทางม้าลาย”

        แนนและน้ำชวนคิดต่อถึงสาเหตุที่คนไม่อยากหยุดรถตรงทางม้าลาย เป็นไปได้ไหมว่า ปัญหาสำคัญคือ การบังคับใช้กฎหมายในบ้านเราที่ยังอะลุ่มอล่วย และไม่ได้เคร่งครัดในเชิงปฏิบัติมากนัก “กฎหมาย มันไม่ใช่มีแค่กฎนะ แต่มันต้องมีคนบังคับใช้กฎหมายจริงจังด้วย ซึ่งกฎหมายเป็นเรื่องที่คนในประเทศควรต้องรู้อยู่แล้ว มันถูกเขียนมาเพื่อให้คนใช้ เพราะฉะนั้นประชากรในประเทศก็ต้องติดตามกฎหมาย”

        “แต่ที่นี่กฎหมายมันไม่สตรอง คนก็เลยไม่ค่อยกลัว เพราะรู้สึกว่า เราสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยเงิน มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น และถึงแม้ว่าจะมีกฎอยู่จริงๆ แต่ก็ไม่โดนจับอะ สังคมเรายังมีความอะลุ่มอล่วยในวัฒนธรรมอยู่ เช่น พ่อแม่ขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าไฟแดง จะไปจับผู้ปกครองพรากจากลูกก็น่าลำบากใจ แต่ก็ไม่อยากให้หลงลืมไปว่า การทำตามกฎมันไม่ได้มีผลเสียต่อใครเลยจริงๆ”

        และเมื่อถามถึงแนวทางแก้ไขกฎหมาย ทั้งสองมีความคิดเห็นว่า “ควรมีการปรับโทษให้ชัดเจน คือก่อนหน้านี้มันไม่ได้ระบุอะไรชัดเจน แต่ว่าล่าสุดมันเริ่มมีการกำหนดจ่ายค่าปรับ 4,000 บาท และเริ่มมีตัดแต้มใบขับขี่ ซึ่งมันก็เพิ่งเริ่มใช้ ก็อาจจะต้องรอดูต่อไป ว่าเขาจะมีการบังคับใช้อย่างไร” 

        “ส่วนตัวที่น่าจะเวิร์กคือ การตัดแต้มใบขับขี่ ทุกคนมีแต้มเท่ากันหมด ไม่ว่าคุณจะเป็นคนระดับไหนอะไรอย่างไร เช่นตอนนี้ ทุกคนจะมี 12 แต้มเท่ากันหมด คุณมีหน้าที่รักษาแต้มเอาไว้ ถ้าคุณทำผิดก็จะโดนตัดแต้มเท่านี้ๆ ห้ามขับรถกี่วันๆ คนก็จะกังวลเรื่องนี้มากขึ้นและมันก็จะยุติธรรมสำหรับทุกคนที่ขับขี่บนท้องถนน รวมถึงพวกเขาก็จะขับขี่ระมัดระวังมากกว่าเดิม เพราะค่าปรับ ถ้ามองเป็นจำนวนเงิน ก็ตัดสินกันไม่ได้ว่าถูกหรือแพง เพราะแต่ละคนมองไม่เหมือนกัน”

        “แต่ที่สำคัญที่สุด คนขับรถก็ควรต้องทำตามกฎและระมัดระวังในการขับขี่ด้วย ทุกอย่างก็ทำเพื่อให้ตัวเขาเองปลอดภัยด้วยนะ ไม่ใช่แค่ทำให้คนข้ามทางม้าลายปลอดภัยอย่างเดียว อุบัติเหตุมันส่งผลกระทบทั้งหมด ทั้งตัวคนขับ ครอบครัวของเขาก็อาจได้รับผลกระทบด้วย”

        ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา กลุ่มเพื่อนหมอกระต่ายมีส่วนช่วยในการผ่านโครงการต่างๆ มากมาย เช่น การผลักดันกฎหมาย การปรับปรุงสภาพทางม้าลายหรือการปลูกฝังให้คนสนใจเรื่องการหยุดรถตรงทางม้าลายมากขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวชีวิตของหมอกระต่ายเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนระวังการข้ามถนนมากที่สุด

        “เนื้อเรื่องของกระต่ายเนี่ยแหละ อิมแพ็คที่สุด มันเป็นเรื่องสะเทือนใจที่เขาจากไปอย่างกะทันหัน ในฐานะคนใกล้ชิดเราก็รู้สึกอยู่แล้ว เพราะเขาเป็นคนในชีวิตประจำวันของเรา แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งเขาก็หายไป ซึ่งเขาไม่ควรจะหายไปด้วยซ้ำ รวมถึงเขายังเป็นความหวังของครอบครัว ลูกสาวของคุณพ่อคุณแม่ มันเป็นเรื่องสะเทือนใจสำหรับครอบครัว”  

 

“ในระดับสังคม
เขาก็เป็นคนหนึ่งที่ทำตามถูกกฎระเบียบทุกอย่าง
เขาข้ามทางม้าลายในจุดที่ควรจะข้าม
และทำตามถูกกฎทุกอย่างตอนกลางวันแสกๆ
แต่เขาก็ข้ามไปไม่ถึงฝั่ง”

 

        “เราเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างคงต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยเราก็อยากปลูกฝังความคิดตั้งแต่เด็กๆ อย่างน้อยให้เขาได้รู้จักเรื่องราวเหล่านี้ ค่อยๆ ปรับมายด์เซตให้เข้าใจเรื่องกฎเกี่ยวกับทางม้าลายและตระหนักอยู่ในจิตใจไปเรื่อยๆ เหมือนที่เราถูกสอนตอนเด็กๆ ว่าข้ามถนนต้องมองซ้ายมองขวาอยู่ตลอดนะ อยากให้ทุกคนรู้สึกว่า ถ้าวันหนึ่งเขาเป็นคนขับ เขาต้องระวังและหยุดนะ มันก็คล้ายๆ กับการกระตุ้นให้คนคุ้นชินเรื่อยๆ สักวันหนึ่ง เขาก็คงจำได้ แล้วเขาก็จะตระหนักได้เองว่า ต้องเคารพกฎจราจรเพื่อส่วนรวม และมันก็คงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า

        ทุกวันนี้อุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่มาจากคนขับขี่ยานยนต์ และเราก็ยังคงเห็นข่าวรถชนจนคร่าชีวิตผู้คนอยู่บ่อยครั้ง หากให้แนนและน้ำ ตัวแทนกลุ่ม Rabbit Crossing ฝากถึงคนขับขี่บนท้องถนน พวกเธออยากจะบอกถึงพวกเขาอย่างไร

        สองคนตอบตรงกันว่า “อยากให้คนขับขี่รถในประเทศไทย ไม่ใช่แค่ในเมือง ควรมีน้ำใจกันสักหน่อย เวลาแค่ 5 วินาที 10 วินาทีเราน่าจะหยุดชะลอกันได้ ไม่แซงตรงจุดที่เขาไม่ให้ไป เราไม่ต้องรีบขนาดนั้นหรอก” 

        “ทุกอย่างมันทำเพื่อความปลอดภัยของทุกคน ไม่ใช่แค่คนรอบๆ ตัวเรานะ แต่ยังรวมถึงคนขับรถเองก็ปลอดภัยในการขับขี่บนถนนด้วย สังคมก็จะปลอดภัยและอยู่ร่วมกันง่ายขึ้น เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มันก็มักจะมาจากการเผลอประมาทคนละนิดคนละหน่อย แต่เรื่องทีละเล็กทีละน้อยเหล่านี้หรือเปล่า ที่สามารถคร่าชีวิตคนได้เช่นเดียวกัน หากเราช่วยกันระมัดระวัง และทำตามกฎจราจร สังคมมันก็น่าจะดีขึ้นได้เหมือนกัน”

 

“หยุดชะลอรถ ไม่แซงบนทางม้าลายนะคะ
เพราะวันหนึ่งคุณเองก็อาจจะต้องข้ามทางม้าลายบ้างเหมือนกัน”

 


เรื่อง: จารุจรรย์ ลาภพานิช ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ