แม่ครัวแห่งบ้านไมโกะ | เรียนรู้ถึงการมีความฝันที่ธรรมดาและไม่เอาความฝันมากดดันตัวเอง

   “ชะตาลิขิตมาให้ทำสิ่งต่างๆ แทนที่จะถูกทำให้เป็นอะไรสักอย่าง” 

        ประโยคจากซีรีส์อบอุ่นหัวใจ ‘แม่ครัวแห่งบ้านไมโกะ’ หรือ ‘Cooking for The Maiko House’ ที่ส่งนัยยะถึงคนดูให้คิดถึงการค้นหาความฝันที่ตัวเองต้องการ โดยซีรีส์จำนวน 9 ตอนนี้ สร้างจากมังงะชื่อเดียวกัน และกำกับการแสดงโดย ‘ฮิโรคาซุ โคเรเอดะ’ ที่สร้างชื่อจากงานภาพยนตร์อย่าง Nobody Knows (2004), Like Father, Like Son (2013) และ Shoplifters (2018) โดย แม่ครัวแห่งบ้านไมโกะ เป็นเรื่องราวของคู่เพื่อนซี้ ‘คิโยะ’ และ ‘สุมิเระ’ ที่ออกเดินทางไปยังเกียวโต เพื่อทำตามความฝันในการเป็นไมโกะ ชื่อเรียกของเด็กฝึกหัดเพื่อเรียนรู้การเป็นเกอิชา อาชีพที่ทำหน้าที่สร้างความบันเทิงผ่านการร้องเพลง ร่ายรำ และเล่นดนตรีให้แก่ผู้คน แต่คิโยะกลับถูกให้มาทำหน้าที่แม่ครัวประจำบ้านเสียแทน 

        ในแต่ละตอนจึงเป็นการเล่าถึงกระบวนการฝึกหัดอย่างหนักเพื่อเป็นไมโกะของสุมิเระ พร้อมๆ กับการทำอาหารแสนอร่อยหลากเมนูของคิโยะ ซีรีส์ได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมของญี่ปุ่นผ่านวิถีชีวิตของแต่ละตัวละคร เช่น การแต่งกาย วิถีชีวิต อาหาร และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน  ซึ่งซีรีส์จะพาเราไปพบมุมมองที่น่าสนใจทั้งมิตรภาพ ความฝัน ความสัมพันธ์ หรือแม้แต่ความงามที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องอย่างน่าติดตาม 

‘มิตรภาพและความฝัน’ 

        แม้เรื่องราวเปิดมาด้วยการตามหาความฝันของเด็กทั้ง 2 คน และการที่คิโยะไม่ได้เป็นไมโกะเหมือนกับสุมิเระอย่างที่เพื่อนทั้งสองใฝ่ฝัน แต่คิโยะก็ได้พบความฝันอีกอย่างของตัวเองในการเป็นแม่ครัว และมีความสุขในการทำอาหาร ด้วยมิตรภาพที่ดีของทั้งคู่จึงนำไปสู่การเดินทางตามความฝันที่คอยสนับสนุนกันมาตลอดอย่างมีความสุข จากเรื่องราวของแต่ละตัวละคร สิ่งที่ซีรีส์ต้องการนำเสนอสื่อให้เห็นว่า ทุกคนล้วนมีความฝันเป็นของตัวเองไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ และย้อนคิดว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันคือความฝันที่เรากำลังตามหาจริงๆ หรือเปล่า

        นอกจากนี้ยังมีอีกแง่มุมที่สื่อให้เห็นถึงการกดดันความฝันของตัวเองที่มากเกินไป ซึ่งนำไปสู่การด้อยค่าตัวเอง จนเหมือนเป็นหน้าที่ที่แค่ต้องทำตามความฝันที่ไม่ได้มีความสุข  เพราะฉะนั้นแล้วคนเราสามารถเปลี่ยนความฝันได้ตามแบบฉบับของตัวเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความฝันเดียว เพราะทุกอย่างไม่ได้มีด้านเดียวเสมอ การเลือกเส้นทางชีวิตไม่ได้สามารถนิยามได้ว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี เพียงแค่ทำสิ่งที่ตัวเองรักก็พอ

‘ความสัมพันธ์ และคุณค่าของชีวิต’ 

        เรื่องราวความสัมพันธ์ที่นอกเหนือจากมิตรภาพที่ดีของคิโยะ สุมิเระ และไมโกะคนอื่นๆ แล้ว ซีรีส์ยังนำเสนอความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่เกิดมาจากความไม่เข้าใจกัน สู่การปลดล็อกปมที่ติดค้างอะไรบางอย่างอยู่ในใจ รวมถึงมุมมองของเหล่าเด็กสาวที่เติบโตท่ามกลางแรงสนับสนุนอย่างดีจากครอบครัวที่ส่งผลต่อทัศนคติของตัวละคร นอกจากนี้ยังนำเสนอความรักที่หลากหลายรูปแบบที่ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน แต่ซีรีส์ได้ถ่ายทอดไปถึงเรื่องความรักในสิ่งที่เราทำด้วย อีกทั้งแฝงข้อคิดที่สอนให้รู้จักใช้เวลาให้คุ้มค่ามากที่สุด เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นมานั้นคือ ช่วงเวลาครั้งเดียวในชีวิต สื่อให้เห็นถึงการเห็นคุณค่าของทุกการกระทำ

‘ชวนสังเกตความงามที่สอดแทรกอยู่ในเรื่อง’

        นอกจากเรื่องราวของตัวละครแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การตกแต่งบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือของ จุนอิจิโร ทานิซากิ ที่เราอ่านเจอชื่อ ‘เยิรเงาสลัว’ ที่นำเสนอความงามจากการตกแต่งบ้านของญี่ปุ่นโดยมีแนวคิดว่าสิ่งของที่มีความงามตามแบบฉบับดั้งเดิมญี่ปุ่นจะปรากฏชัดในที่มืดสลัว โดยการหลีกเลี่ยงแสงขาวจากไฟฟ้าที่มาจากวัฒนธรรมตะวันตก และยึดสิ่งที่มาจากธรรมชาตินั้น ‘ดีที่สุด’ ไม่ว่าจะเป็นไม้หรือกระดาษ เราจะสังเกตได้จากตัวอย่างซีรีส์ที่ฉากในบ้านไมโกะจะไม่ได้มีความสว่างเท่าบ้านเรือนทั่วไป เพราะไม่ได้ใช้ไฟสีขาวเหมือนบ้านทั่วไป แต่ใช้ไฟสีเหลืองนวลที่ทำให้เราเห็นเงาจากแสงที่กระทบสิ่งต่างๆ ได้สวยงาม อีกทั้งยังให้ความรู้สึกอบอุ่นของบ้านอีกด้วย นอกจากนี้ชามซุปในเรื่องก็ยังคงมีการใช้ชามไม้ไผ่สีดำที่มีสีแดงอยู่ด้านใน โดยมีลักษณะที่เบาและสามารถสัมผัสถึงความอุ่นของซุปขณะที่ถืออยู่ด้วยสองมือ หรือหลังคาบ้านที่ยังคงเป็นรูปแบบเหมือนร่ม รวมถึงการใช้ประตูเลื่อนที่ใช้กระดาษ ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้จะใช้กระจกแทนกระดาษกันเสียส่วนใหญ่ จริงอยู่ที่บ้านไมโกะใช้ของที่ทันสมัยร่วมด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นโบราณ หรือตามความงามของญี่ปุ่นในสมัยก่อน นอกจากรายละเอียดเหล่านี้แล้ว ในซีรีส์ยังมีสิ่งที่ให้เราสังเกตได้อีกเยอะ

        นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจใน Ep.1 ที่เราขอหยิบมาเล่าเรียกน้ำย่อยให้สักนิด นั่นคือ การเปลี่ยนประตูเลื่อนตามฤดูกาล (ที่เราอาจจะคุ้นตากันบ้างว่าชาวญี่ปุ่นมักจะเปลี่ยนประตูบานใหม่เมื่อถึงฤดูกาลใหม่) ซึ่งตัวซีรีส์ทำให้เราเข้าใจได้ว่า เป็นเพราะลักษณะของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฤดู ลักษณะการใช้งานของบานประตูจึงต้องสอดคล้องไปกับวิธีของแสงอาทิตย์ เช่น เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ลักษณะของบานประตูจะมีความทึบมากกว่าประตูแบบที่ใช้ในฤดูหนาวเพื่อกันแสงแดดส่องเข้ามาสร้างความร้อนให้ภายในตัวบ้าน  

        อย่างไรก็ตาม มิตรภาพระหว่างคิโยะและสุมิเระเป็นสิ่งที่ทำให้ใครหลายๆ คนคงอยากจะมีเพื่อนแบบนี้สักคนในชีวิต ไม่ใช่เพียงเพราะเขาหรือเธอทำอาหารเก่ง หรือเป็นคนที่มีความพยายามสูง แต่เป็นเพราะมิตรภาพของความเป็นเพื่อนที่คอยสนับสนุนความฝันระหว่างกัน และสะท้อนให้เราได้ย้อนกลับมาดูชีวิตของตัวเองว่า เราค้นพบความหมายของชีวิตตัวเองหรือยัง แม้แต่การมีความฝันที่ธรรมดา ไม่ได้ยิ่งใหญ่ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด และเราไม่จำเป็นต้องไปกดดันกับความฝันของตัวเองจนเป็นภาระอันหนักหน่วงที่ต้องแบกไว้ตลอดเวลาก็ได้ 

        Cooking for The Maiko House หรือ แม่ครัวแห่งบ้านไมโกะ จึงเหมือนกับเพื่อนคนหนึ่งที่คอยปลอบโยนและทำให้เรารู้สึกถึงความอบอุ่นหัวใจไปกับมิตรภาพ และเรื่องราวการตามหาตัวเอง ที่ชวนให้คุณได้กลับมาโอบกอดและบอกรักตัวเองอีกครั้ง


เรื่อง: ชุติมณฑน์ แก้วมี