The Review | มะลิลา… ก้าวข้ามความฟูมฟายเรื่องเพศสภาพไปสำรวจรอยแหว่งเว้าที่แท้จริงของชีวิต

สิ่งที่สร้างความประทับใจแรกให้เรามากที่สุด หลังจากได้ชมภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา (Malila: The Farewell Flower) ไม่ใช่การที่หนังออกมาพูดเรื่องราวใหญ่โต หรือเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับเพศที่สาม

แต่เราประทับใจมากกับการที่ภาพยนตร์พาเราก้าวข้ามประเด็นดราม่าดาดๆ และถ่ายทอดชีวิตของตัวละครเพศที่สาม ออกมาได้เป็นมนุษย์มากๆ ทำให้เราหลุดออกจากหล่มความคิดเดิมๆ ที่วงการบันเทิงมักเติมสีให้ตัวละครเพศที่สามจัดจ้านเกินไปกว่าการเป็นคนคนหนึ่ง จนกลายเป็นตัวตลก หรือไม่ก็กลายเป็นเหยื่อของสังคม

มะลิลา

แต่ต้องบอกก่อนว่า ประเด็นที่แทรกไว้ในหนังมีหลายแง่มุมมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบความรักที่เลื่อนไหลไปตามเพศวิถี ประเด็นเรื่องความเชื่อที่เข้ามากำหนดชีวิตและแทรกซึมอยู่ในสังคมไทย ไปจนถึงเรื่องการออกค้นหาวิธีเยียวยารอยแผลที่แหว่งวิ่นในหัวใจของคนคนหนึ่ง ฯลฯ

ถ้าจะหยิบทุกประเด็นมาพูดแบบเจาะลึก พื้นที่ตรงนี้คงมีไม่พอ จึงขอเลือกบางประเด็นที่ติดอยู่ในใจมาพูดถึงกันดีกว่า

มะลิลา

มะลิลา

พาร์ตแรกของหนัง พาเราไปผูกพันกับปมและชีวิตของตัวละครทั้งสอง ระหว่าง เชน (‘เวียร์’ – ศุกลวัฒน์ คณารศ) เจ้าของสวนมะลิผู้เจ็บปวดกับอดีต และพิช (‘โอ’ – อนุชิต สพันธุ์พงษ์) ศิลปินนักทำบายศรีที่ตกอยู่ในวังวนของความคิดช่วงสุดท้ายของชีวิต

ที่น่าสนใจมากๆ คือตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ หนังพาเราไปโฟกัสอยู่ในด้านที่ลึก แคบ และส่วนตัวมากๆ ของตัวละคร รูปแบบความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของตัวละครที่เลื่อนไหลไปตามเพศวิถี เปลี่ยนกลับไปมาระหว่างความรักหญิง-ชาย และ ชาย-ชาย ถูกเล่าออกมาในแบบที่เราเข้าใจได้ว่า เออ พออะไรมันเปลี่ยน ความรู้สึกและมุมมองเรื่องความสัมพันธ์มันก็ต้องเปลี่ยน

มนุษย์ก็แบบนี้แหละ…

เหมือนเวลาได้ดูหนังรักที่เคยชอบอีกครั้ง แล้วกลับไม่รู้สึกดีกับมันอีกแล้ว แต่กับเพลงบางเพลงที่เคยเกลียดกลับฟังวนได้ทั้งวัน

มะลิลา

มาพูดถึงเรื่องหนังต่อ

ถ้าถอดเรื่องเพศสภาพออกไป เราว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเจอกับสถานการณ์ ความรัก–ความพัง ในแบบที่ตัวละครทั้งสองเจอได้

เมื่อหนังดำเนินไปถึงช่วงกลางเรื่อง มันกลับพาเราไปตั้งคำถามที่ใหญ่กว่านั้น จนเรารู้สึกว่าหน้าหนังที่จั่วเรื่องความรักของเพศที่สามเป็นเรื่องเล็กลงไปทันที

หนังปล่อยให้ตัวละครตั้งคำถามใหญ่ในชีวิตถึงกระบวนการเยียวยาจิตใจ ช่วงแรกเราได้เห็นว่าตัวละครเลือกรื้อฟื้นความสัมพันธ์ในวันเก่า เพื่อใช้เป็นหนทางในการเติมเต็มช่องโหว่ซึ่งกันและกัน แต่สุดท้ายหนังได้ตั้งคำถามซ้อนเข้าไปอีกชั้นว่า ถ้าเกิดมีสมการที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างความตายเข้ามา แล้วคุณจะหาคำตอบยังไง?

มะลิลา

เรานั่งคุ้ยหาคำตอบในจิตใจในระหว่างที่มองดูตัวละครเชน ที่เลือกเปลี่ยนสถานสภาพตัวเองเข้าสู่การเป็น ‘เพศบรรพชิต’ อีกหนึ่งสภาวะที่ตัวละครใช้ความเชื่อรากฐานที่ลึกที่สุดอย่างหนึ่งของสังคมไทยมารองรับการคงอยู่ของตัวตนตัวเอง ซึ่งผลลัพธ์และสิ่งที่ตัวละครพบในวินาทีสุดท้าย เราคงขอเว้นว่างให้คุณเข้าไปนั่งตีความในโรงหนัง

มะลิลา

ในภาพรวมคงต้องบอกว่ารูปแบบการถ่ายทอดของหนัง เรียกร้องความตั้งใจดูของผู้ชมอย่างมาก และถ้าใครคาดหวังว่าอยากผ่อนคลายกับหนังสูตรตามแบบฉบับไทยๆ ขอบอกว่าเดินผ่านเรื่องนี้เสียดีกว่า

แต่หากใครสนุกกับการเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และชอบท้าทายตัวเองกับคำถามใหญ่ๆ ในชีวิต หนังเรื่องนี้คงทำให้คุณวิ่งวนสนุกสนานอยู่กับคำถามในหัวได้อีกนานเลยทีเดียว

 


FACT

มะลิลา (Malila: The Farewell Flower) เป็นผลงานเรื่องที่สองของ อนุชา บุญยวรรธนะ (เรื่องแรก The Blue Hourอนธการ) โดยตัวภาพยนตร์เดินทางไปคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คิมจีซก อวอร์ด จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน มาแล้ว รวมทั้งรางวัล NETPAC Award จากเทศกาลภาพยนตร์ม้าทองคำ ประเทศไต้หวัน และน่าลุ้นว่าปลายปีนี้จะสามารถคว้ารางวัลใหญ่อะไรในประเทศไทยเราได้บ้าง