เดวิด ฮอกนีย์ ศิลปินรุ่นเก๋าที่ใช้ภาพวาดสร้างความหวังและเสรีภาพในตัวมนุษย์

        กล่าวได้ว่า เดวิด ฮอกนีย์ คือศิลปินซึ่งยังมีชีวิตอยู่ชื่อดังที่สุดของอังกฤษ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of Merit เครื่องราชฯ สูงเป็นอันดับสามของประเทศ เขาได้รับมอบหมายให้ออกแบบ The Queen’s Window กระจกสีเฉลิมพระเกียรติควีนเอลิซาเบธที่สอง ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (ตอนนั้นเขาอายุแปดสิบเศษแล้ว) ภาพเขียนของเขาจากยุควัยหนุ่มชื่อ Pool with Two Figures เพิ่งมีผู้ประมูลไปในราคา 90 ล้านดอลลาร์ (ราวๆ สามพันหนึ่งร้อยล้านบาท) นับเป็นภาพเขียนราคาแพงที่สุดของผลงานของศิลปินซึ่งยังมีชีวิตอยู่

 

ชื่อ: เดวิด ฮอกนีย์
เกิด: ค.ศ. 1937 อายุ 85 ปี
อาชีพ: จิตรกร ช่างเขียนแบบ นักออกแบบ นักทำภาพพิมพ์ ช่างภาพ
Silver Lining ที่เราอยากพูดถึง: เขายังทำงานต่อเนื่อง ต่อยอดแนวทางของตนเองไม่หยุดยั้ง ช่วงนี้มีผลงานของเขาแสดงตามมิวเซียมทั่วโลกหกแห่งพร้อมกันทั้งในอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย เขาบอกว่า “ตอนนี้รู้สึกสบายดี เป็นเพราะผมยังเขียนภาพอยู่แหละ เวลาเขียนภาพ ผมรู้สึกอายุสามสิบ”

       

        ศิลปินวัย 85 คนนี้ก็ยังทำงานต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง เขาให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า “ตอนนี้รู้สึกสบายดี เป็นเพราะผมยังเขียนภาพอยู่แหละ เวลาเขียนภาพผมรู้สึกอายุสามสิบ”

        เดวิด ฮอกนีย์ ไม่ใช่เพิ่งจะมาดัง ย้อนกลับไปในยุค 70s เขาเป็นหัวหอกคนแรกๆ ของศิลปะแนวป็อปอาร์ต และยังเป็นศิลปินอังกฤษคนแรกที่วาดภาพเกี่ยวกับชีวิตเกย์ผู้ชาย ก่อนหน้านั้นการรักร่วมเพศยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายในอังกฤษ ผลงานและภาพเขียนของเขาเด่นด้วยสีสันสดใส เป็นภาพเขียนสมัยใหม่ซึ่งใช้ขนบอย่างจิตรกรยุคโบราณ ซึ่งภาพส่วนใหญ่เป็นภาพบุคคล ภาพชีวิตประจำวัน ภาพทิวทัศน์ สิ่งที่เพิ่มเติมมาคือมุมมองร่วมสมัย และความสดใสอันเป็นเอกลักษณ์

        จากการนั่งดูสารคดีและบทสัมภาษณ์ของ เดวิด ฮอกนีย์ หลายต่อหลายเรื่อง ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงตามสังขารของชายผู้นี้ ขณะเดียวกันก็พบว่าตัวตนของเขาที่แทบจะไม่เปลี่ยนไปเลยในช่วงเกือบหกสิบปีที่ผ่านมา เดวิดในวัยหนุ่มโกรกผมเป็นสีบลอนด์ซีดขาว (ชวนให้นึกถึง แอนดี้ วอร์ฮอล เจ้าพ่อป็อปอาร์ตทางฝั่งอเมริกา) สวมแว่นทรงกลมกรอบหนา ขับใบหน้าแววเด็กดื้อให้เด่นชนิดแนวๆ เสื้อผ้าที่สวมใส่ สีสันอาจไม่สะดุดตา แต่แอบใส่ลูกเล่นของสีสันที่แอ็กเซสซอรี อย่างสูทสีอ่อนลายทางถี่ๆ ก็มาพร้อมเนกไทลายขาวน้ำเงิน สูทสีเขียวเข้มมากๆ มีสเวตเตอร์สีน้ำเงิน ตัดด้วยผ้าพันคอไหมสีส้ม อะไรทำนองนี้ แว่นกลมกรอบดำ ในวัยชราก็เปลี่ยนไปเป็นแว่นกลมกรอบทองดูน้ำหนักเบา สวมสบาย เขาพูดจาอย่างจริงใจและเข้าใจง่าย ในบทสัมภาษณ์เมื่อปี 1980 เขาบอกว่า “ผมว่างานตอนนี้ยังไม่ใช่งานที่ดีที่สุดครับ สักวันจึงจะถึงเวลานั้น”

        เป็นคำพูดซึ่งบ่งบอกทัศนะของการเดินไปข้างหน้าในการทำงาน ซึ่งได้รับการพิสูจน์ในอีกสี่สิบปีต่อมา

        เดวิด ฮอกนีย์ ในวัยที่ยังถือไม้เท้าเดินคุยกับผู้สัมภาษณ์ สนทนาเรื่องงานไปทั่วแกลเลอรีเมื่อราวสิบปีก่อน เขายังยืนเขียนภาพในโลเคชันได้เป็นชั่วโมงๆ เวลาทำงานก็ใส่สูทอย่างที่เจ้าตัวชอบ ในวัย 84-85 เขาต้องพึ่งพารถเข็นบ้างแล้ว “เดี๋ยวนี้ผมเข้านอนสามทุ่ม คนแก่ก็เป็นแบบนี้แหละครับ”

        เดวิด ฮอกนีย์ เป็นศิลปินผู้ชอบย้ายถิ่นฐาน ช่วงทศวรรษที่ 60s เขาย้ายไปอยู่แคลิฟอร์เนีย จากประเทศอังกฤษและบ้านเกิดของเขาที่เมืองแบรดฟอร์ด “เคยเป็นเมืองอุตสาหกรรม อาคารแทบจะทุกหลังมีเขม่าจากโรงงานมอมจนดำ ท้องฟ้าขมุกขมัว นานๆ จะมีแดดสักครั้ง พอผมได้ยินว่าแคลิฟอร์เนียเป็นดินแดนของสายลมแสงแดด อากาศอุ่นทั้งปี ไม่มีความหนาวเย็น ผมเลยอยากลองไปดูสักครั้ง พอไปที่นั่น เห็นสายลมแสงแดดอย่างที่เขาว่ากัน เห็นสีสันสดใสที่เขาใช้ในบ้านเมือง ซึ่งเป็นสีแนวเดียวกับที่ผมใช้ในภาพของผมตอนนั้น ก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่แคลิฟอร์เนียทันทีครับ”

        แคลิฟอร์เนียที่ว่านั้นคือนครลอสแองเจลิส ที่นี่เองที่เขาวาดภาพซึ่งจัดว่าเป็นภาพเขียนระดับไอคอน เป็นภาพซึ่งแทนคำว่า “เดวิด ฮอกนีย์” ได้โดยไม่ต้องพูดอะไรมาก คือชีวิตแสนสุขในแอลเอซึ่งไม่เคยมีใครคิดจะวาดไว้บนผืนผ้าใบมาก่อน บ้านทรงโมเดิร์นสีขาวสว่าง สระว่ายน้ำสีฟ้าในแดดใส ร่องรอยของชายหนุ่มเปลือยกายที่โดดน้ำหรือแหวกว่ายอยู่ในสระ ภาพ Pool and Two Figures ซึ่งประมูลไปเป็นเงิน 90 ล้านดอลลาร์ก็เป็นหนึ่งในภาพวาดชุดที่ว่านี้

        สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับงานของฮอกนีย์คือเขาไม่ได้หยุดอยู่ที่ความสำเร็จเดิมๆ หรือแนวการสร้างสรรค์ที่เขาคุ้นเคย นอกจากการวาดภาพวิว ภาพบุคคล ซึ่งล้วนแต่เป็นเพื่อนฝูงและผู้คนในวงการศิลปะที่แวดล้อมเขาอยู่ (ภาพบุคคลเหล่านี้เขาวาดไว้คนหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งภาพ เป็นแบบซึ่งเขากลับไปวาดได้เรื่อยๆ) “แต่ละคนมีใบหน้าแตกต่างกันไปนิดๆ หน่อยๆ ผมต้องรู้จักแบบ จึงจะวาดให้ออกมาดีได้” เขาหันมาเล่นกับภาพถ่าย ทั้งภาพถ่ายในฟอร์แมตปกติและโพลารอยด์ เมื่อเขาเห็นว่าภาพถ่ายมันไม่เต็มตาอย่างที่จิตรกรอย่างเขามองโลก เขาก็หันมาทำคอลลาจ ได้ผลงานชิ้นใหญ่เบ้อเริ่ม พร้อมกับการมาของเทคโนโลยี feature phone เขาก็เริ่มหัดวาดภาพในมือถือ ตามด้วยการหันมาลองใช้แอปฯ ในไอแพด (ตอนนั้นเดวิดอายุราวเจ็ดสิบกว่าแล้ว) โดยหารือกับทางบริษัทให้ช่วยปรับแอปฯ ให้มีคุณสมบัติซึ่งตรงกับการใช้งานของช่างวาดมากขึ้น เดวิด ฮอกนีย์ ใช้ภาพวาดไอแพดมาประกอบกันจนเป็นภาพวาดทิวทัศน์ใหญ่เต็มผนังมิวเซียม อย่างในงานแสดงล่าสุดที่ลอนดอนชื่อ Bigger & Closer ซึ่งนอกจากจะมีผลงานใหม่ๆ จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังเป็นโชว์ที่รวมงานจากตลอดระยะเวลา 60 ปีที่เขาทำงานไว้ด้วย

        ช่วงวัยชรา เขาย้ายจากแคลิฟอร์เนียกลับบ้านเกิดที่อังกฤษบ่อยขึ้น จนมาใช้ชีวิตในบ้านไร่ที่แคว้นนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ช่วงต้นๆ ของการระบาดของโควิด-19 เขามาอาศัยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่นี่ “ผมมากักตัวในบ้านน่าอยู่หลังนี้ ที่นี่จะสูบบุหรี่ก็ได้ไม่มีใครว่า”

        ลืมบอกไปว่า เดวิด ฮอกนีย์ สูบบุหรี่ สูบทั้งเวลาที่ทำงานและไม่ทำงาน สำหรับเขา “การสูบบุหรี่คือตัวแทนของเสรีภาพในยุค 60s สมัยนี้ไม่มีเสรีภาพที่ว่านั้นอีกแล้ว”

        อย่างไรก็ดี ในช่วงกักตัว คนอย่าง เดวิด ฮอกนีย์ มีหรือที่จะไม่ทำงาน แทนที่จะเก็บตัวกลัวโรค หรือหม่นหมองเพราะความน่ากลัวของโรคระบาด เขากลับสร้างผลงานชุดหนึ่งซึ่งสื่อให้เห็นความสดใสในโลกของความหวัง The Arrival of Spring, Normandy 2020  คือชื่อของงานชุดนั้น

        เมื่อเข้าสู่บริเวณจัดแสดง (ในงานเต็มไปด้วยภาพทิวทัศน์ฤดูใบไม้ผลิอันสดสวยและแอบเท่ ซึ่งเป็นลายเซ็นงานของ ฮอกนีย์ อีกราวห้าสิบภาพ) ในภาพแรกที่จุดเริ่มการจัดแสดง ผู้ชมจะได้รับชมการคลี่คลายของธรรมชาติจากพื้นดินสีน้ำตาลแข็งกระด้างและต้นไม้กิ่งโกร๋นเหงาซึ่งเพิ่งผ่านพ้นฤดูหนาว มาเป็นสีเขียวของต้นหญ้า ไม้ผลิใบออกดกหนาขึ้นจนในที่สุดก็ออกดอกบานขาวงามเต็มต้น เป็นแอนิเมชันซึ่งมาจากไฟล์ข้อมูลในไอแพด ซึ่งบันทึกไว้ตามขั้นตอนการวาดภาพของศิลปินวัย 85 คนนี้

        “โลกเราสวยงามนะครับ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองความสวยงามของโลกอีกแล้ว”

        ตลอดหกสิบปีที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากภาพเขียนซึ่งเกี่ยวกับเสรีภาพในการใช้ชีวิต ความสุขรื่นรมย์ เดวิด ฮอกนีย์ แสดงให้เราเห็นความหวังและความงามในโลกซึ่งเพิ่งผ่านวิกฤต “ตอนนี้ผมอยากแต่จะวาดภาพเท่านั้น ผมอายุแปดสิบห้าแล้ว จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้ แถมยังสูบบุหรี่อีก อยู่อีกห้าปีมั้งครับ ก็ไม่รู้เหมือนกัน”


เรื่อง : ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์​