คงไม่มีใครไม่รู้จัก คุซามะ ยาโยอิ ป้านางพญาโพลกาดอต เจ้าของดวงตาขมึงทึงและวิกผมม้าสีส้มอมชมพู ยิ่งช่วงนี้ที่มีผลงานชุดฟักทองจุดพร้อยสีสดมาจัดวางเป็นป่างานศิลปะที่ลานหน้าห้างสยามพารากอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานร่วมกันระหว่างนางพญาศิลปินลายจุดกับแบรนด์แฟชั่นอย่างหลุยส์ วิตตอง
ชื่อ: คุซามะ ยาโยอิ
เกิด: ค.ศ. 1929 อายุ 94 ปี
อาชีพ: ศิลปิน นักออกแบบแฟชั่น นักเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม นักเขียน
Silver Lining ที่เราอยากพูดถึง: หนึ่งในศิลปินชื่อดังที่สุดของโลก เริ่มสร้างสรรค์งานเพราะปัญหาทางจิต เธอใช้ศิลปะ และความมุ่งมั่นตลอดชีวิตบำบัดข้อบกพร่องทางจิต ทำงานอย่างต่อเนื่องแม้ตอนเด็กจะถูกห้าม พอโตขึ้นก็ต้องสู้สุดฤทธิ์ในโลกศิลปะที่ไม่เป็นมิตรกับเธอเลย ทุกวันนี้ในวัยไม้ใกล้ฝั่ง เธอบอกว่า “ถ้าชีวิตฉันจบลง ก็อยากบอกเล่างานของฉันให้คนรุ่นต่อมาให้เขาได้พูดคุยกันถึงความทุ่มเทที่ฉันมีให้กับงานศิลปะ ให้มันเป็นตัวแทนชีวิตฉันหลังจากตัวตายไปแล้ว”
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอเป็นหนึ่งในศิลปินซึ่งดังที่สุดในโลก นอกจากงานบำบัดจิตใจซึ่งสวยถูกใจผู้คนมากมายแล้ว ก็เป็นเพราะเธอยังทำงานศิลปะแม้อายุได้ 94 ปีแล้ว
วัยเด็กกับโพลกาดอต
คุซามะเกิดและเติบโตในช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังทำสงคราม ในวัยเด็กนักเรียนเธอยังโดนเกณฑ์ไปทำงานวันละสิบชั่วโมงที่โรงงานทำร่มชูชีพ ครอบครัวเธอมีฐานะ ทำธุรกิจเพาะเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ขายส่ง และในแปลงเพาะดอกไม้ของที่บ้านนี่เอง คือที่แรกซึ่งเธอมีประสบการณ์หลอน มองเห็นจุดโพลกาดอตหรือไม่ก็ตาข่ายเป็นร่างแหในทุกที่และทุกสิ่ง ภาพวาดด้วยดินสอที่เด็กหญิงคุซามะวาด คือหญิงหน้าโบราณสวมกิโมโนแต่มีจุดทั่วตัวและทั่วภาพ เธอเป็นเด็กชอบวาดรูปมาก และยังเป็นเด็กมุ่งมั่นว่าโตขึ้นจะต้องเป็นศิลปิน
แต่ญี่ปุ่นหัวเมืองในยุคนั้นยังคร่ำครึ แม่สั่งห้ามเธอวาดรูป ริบกระดาษดินสอ และบอกลูกสาวว่าโตขึ้นให้หาสามีรวยๆ และตัวลูกควรจะเป็นแม่บ้านที่ดีต่อไป
แต่คุซามะเชื่อแม่ไหม
คำตอบก็คงจะรู้ๆ กันอยู่ พอโตเป็นสาวเธอก็ขอที่บ้านไปเรียนที่เกียวโต ซึ่งที่บ้านให้เธอไปโรงเรียนลักษณะคล้ายโรงเรียนสอนกุลสตรี แต่เธอกลับหนีไปเข้าโรงเรียนศิลปะแทน แต่อยู่ได้ไม่นานเธอก็เลิกเพราะทนทัศนะคับแคบของครูๆ ในโรงเรียนไม่ได้
“ฉันต้องเป็นศิลปินดังให้ได้”
พออายุ 28 เธอก็เดินทางไปนิวยอร์ก เพื่อไปเป็นศิลปินเต็มตัว สิ่งแรกๆ ที่เธอทำเมื่อไปถึงนิวยอร์กคือขึ้นไปบนยอดตึกเอ็มไพร์สเตต แล้วประกาศเจตนาให้นิวยอร์กและทั้งโลกรู้ว่า “ฉันจะต้องเป็นศิลปินดังให้ได้”
พูดถึงนิวยอร์กเราอาจจะเห็นภาพเมืองเปรี้ยวๆ ที่เป็นบ่อเกิดของงานศิลปะทั้งหลายทั้งมวล แต่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 ถึง 60 นั้นนิวยอร์กยังอนุรักษ์นิยมอยู่มาก แวดวงศิลปะก็มีแต่ผู้ชายซึ่งเป็นฝรั่งผิวขาว ผู้หญิงไม่ค่อยจะมีที่ทางในวงการศิลปะ ยิ่งเป็นผู้หญิงต่างชาติ จากประเทศที่เมื่อยี่สิบปีที่แล้วยังเป็นศัตรูคู่แค้นกับอเมริกา ยิ่งไม่ง่าย
ช่วงแรกๆ คุซามะสร้างผลงานบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ในแนวมินิมัล เป็นชุดเริ่มต้นของงานลายจุด และร่างแห ผลงานมีคุณภาพชนิดที่เชื่อว่าถ้าเธอไม่ใช่ผู้หญิงญี่ปุ่นก็คงได้รับการยอมรับมากกว่านี้ ในเวลาไม่ถึงปีเธอก็เริ่มไปจับงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ ซึ่งศิลปะแขนงนี่ยังอยู่ในช่วงแรกเริ่ม เชื่อว่าการหันไปทำงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ (เอาตัวเองไปไว้ในศิลปะจัดวางซึ่งเต็มไปด้วยลูกบอล หรือไม่ก็สวมเสื้อผ้าซึ่งที่วัตถุรูปลึงค์ประดับห้อยทั่วตัว หรือทำหนังสั้น เป็นตัวเธอสวมกิโมโนกางร่มเดินแปลกแยกอยู่ในเมืองใหญ่ชวนเหงา ฯลฯ) นอกจากนั้นยังมีงานประท้วงสงครามโดยเธอจัดการให้มีแดนเซอร์เปลือยกายไปเต้นกันอยู่ที่หน้าตลาดหลักทรัพย์ที่วอลสตรีท – เนื่องจากเงินที่ไปสนับสนุนสงครามเวียดนามมาจากตลาดหลักทรัพย์ ตามคำอธิบายของเธอ – งานเหล่านี้หวือหวา จับต้องได้ง่าย และน่าสนใจกว่างานจิตรกรรม เธอจึงเริ่มเป็นที่รู้จัก
แต่การจับงานทั้งจิตรกรรม ศิลปะ เพอร์ฟอร์แมนซ์ และกิจกรรมทางสังคมก็เริ่มทำให้เธอเครียด จนต้องกลับญี่ปุ่นเมื่อปี 1973 และวิตกกังวลจนควบคุมตัวเองไม่ได้จนต้องพบแพทย์ คุซามะ ยาโยอิ หายหน้าไปจากวงการศิลปะนับสิบปี
แต่เข้าทศวรรษที่ 80 เธอก็กลับมา สร้างงานจนเป็นที่รู้จักทั้งในยุโรป อเมริกา และในญี่ปุ่น
สำหรับ คุซามะ ยาโยอิ ศิลปะคือการเยียวยา
รูปทรงโพลกาดอตซึ่งเป็นลายเซ็นของเธอ มีที่มาจากภาพซึ่งตามหลอกหลอนเธอมาตั้งแต่เด็ก และการวาดภาพคือวิธีที่คุซามะ ยาโยอิใช้เผชิญหน้ากับความผิดปกติทางจิตใจ ศิลปะจัดวางในช่วงหลังๆ ซึ่งประกอบด้วยดวงไฟในห้องกระจกรอบด้าน มองเข้าไปหรือเดินไปในนั้นแล้วจะรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ท่ามกลางจุดโพลกาดอต หรือดวงไฟกลมจนลายตา รายรอบตัว ไม่มีวันจบ นักวิจารณ์ศิลปะบอกว่างานแบบนี้ (ซึ่งผู้ชมนิยมไปถ่ายรูปอินสตาแกรมกันมาก) เกิดขึ้นเพราะเธออยากจำลองประสบการณ์เห็นภาพหลอนที่มีความหมายลึกซึ้งสำหรับเธอ ให้ผู้ชมได้แชร์ประสบการณ์เดียวกัน ซึ่งใครก็ตามที่มีโอกาสไปชมนิทรรศการที่ว่า คงรู้ดีว่าถ้าอยู่ไปนานๆ ก็มีโอกาสจะหลุดโลกเอาได้ง่ายๆ
ช่วงทำงานศิลปะที่นิวยอร์กยังมีงานชุดหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับวัตถุคล้ายหมอนอันเล็กๆ เย็บเป็นรูปลึงค์นับร้อยนับพันดุ้น เธอเอาไปแปะบนสิ่งของ เย็บติดกับเสื้อผ้าไว้สวมใส่ไปที่ต่างๆ เธอบอกว่า “นี่คือการประกาศอิสรภาพทางเพศของฉัน สมัยเด็กๆ พ่อดุมาก เธอกลัวลึงค์อย่างฝังใจ กลัวการมีเพศสัมพันธ์ วิธีที่จะรักษาอาการนี้ได้คือต้องเอาลึงค์มาใส่ให้เต็มห้อง แล้วเอาตัวฉันเข้าไปอยู่ในห้องนั้น”
มุ่งมั่นทำงานศิลปะมาตลอดชีวิต
“อะไรที่ฉันทำมาแล้วมีความหมายที่สุดน่ะหรือ คำตอบคืองานศิลปะ คือฉันทำงานศิลปะมาตั้งแต่อายุสิบขวบ ทำงานหนักเพราะงานศิลปะมันเรียกร้อง ทุ่มเททั้งกายและใจให้แก่การสร้างสรรค์งานศิลป์ สร้างผลงานให้บรรเจิดให้รู้สึกน่าทึ่งเสมอเมื่อได้เสพงาน
“งานของฉันไม่ได้จำกัดอยู่บนกระดาษหรือผืนผ้าใบ แต่คือโลกทั้งใบซึ่งฉันมองว่าเป็นพื้นที่กว้างไกลไม่รู้จบ ฉันแสวงหาความจริงผ่านงานศิลปะ และทั้งชีวิตก็สู้สุดฤทธิ์ให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในฐานะที่เกิดมาเป็นคน ถ้าชีวิตฉันจบลงก็อยากบอกเล่างานของฉันให้คนรุ่นต่อมาให้เขาได้พูดคุยกันถึงความทุ่มเทที่ฉันมีให้กับงานศิลปะ ให้มันเป็นตัวแทนชีวิตฉันหลังจากตัวตายไปแล้ว”
ในสารคดีสั้นๆ เกี่ยวกับเธอ เราเห็นคุซามะ ยาโยอิในวัยเก้าสิบเศษ ออกจากสถานบำบัดซึ่งเธอใช้เป็นที่พำนัก มาทำงานที่สตูดิโอใกล้บ้านด้วยวินัยเคร่งครัดตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงหกโมงเย็นทุกวัน เธอยังทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง มุ่งมั่นไม่แพ้วันแรกที่เธอแอบที่บ้านไปเรียนศิลปะที่เกียวโต หรือวันที่เธอประกาศความมุ่งมั่นที่ยอดตึกเอ็มไพร์สเตต
การที่ คุซามะ ยาโยอิ ได้ร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่อย่างหลุยส์ วิตตอง (ก่อนหน้านี้ราวสิบปีเธอเคย collab ทำทรังค์ลายจุดกับแบรนด์นี้) เชื่อว่าเหตุหนึ่งเป็นเพราะงานศิลปะของเธออยู่ในสกุลป็อปอาร์ต มีเสน่ห์ต้องตาต้องใจผู้เสพง่าย นอกจากนั้นงานของเธอยังมีความยิ่งใหญ่ เพราะมันมาจากความมุ่งมั่นของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งตั้งใจว่าจะทำงานศิลปะมาตั้งแต่อายุสิบขวบ ศิลปะช่วยรักษาใจเธอมาตลอดจนถึงวัย 94
เรื่อง: ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์