เซอร์เดวิด แอตเทนบะระ นักธรรมชาติวิทยาวัยเฉียดร้อย ผู้ไม่เคยหยุดภารกิจสู้เพื่อโลกและธรรมชาติ

        คนหลายรุ่นโตมากับการดูสารคดีชีวิตสัตว์โลกซึ่งเซอร์เดวิดเป็นผู้บรรยาย ผ่านการปลูกฝังให้รักสัตว์รักธรรมชาติ ผู้ที่ภารกิจสุดท้ายของเขาคือการรักษาไว้ซึ่งสิ่งมีชีวิตบนโลก เพื่อความอยู่รอดของเราทุกคน

        ในวัย 90 เศษ มีน้อยคนที่ยังโลดแล่นอยู่ในวงการอาชีพของตน (บางคนใจอาจจะยังสู้ แต่สังขารไม่น่าจะอำนวยเสียแล้ว) จริงอยู่ที่สมัยนี้คนเราเกษียณอายุกันช้าลง ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่มองวัยชราแตกต่างจากคนยุคก่อน วิทยาศาสตร์การแพทย์เข้าใจวัยชราดีขึ้น คนมีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ คนสูงอายุรุ่นนี้จึงแก่ช้ากว่ารุ่นก่อนหน้ามาก แต่พอถึงวัย 70 สว. (สูงวัย) ส่วนใหญ่ก็เต็มใจจะเข้าสู่โหมดของการพักผ่อน และยอมวางมือจากภาระหน้าที่ทั้งปวงที่แบกมาเป็นเวลาหลายสิบปี

แต่ไม่ใช่ ‘เซอร์เดวิด แอตเทนบะระ’

 

ชื่อ: เดวิด แอตเทนบะระ
เกิด: ค.ศ. 1926 อายุ 96 ปี
อาชีพ: พิธีกรภาพยนตร์สารคดีธรรมชาติวิทยา ผู้อำนวยการสร้าง นักชีววิทยา นักธรรมชาติวิทยา นักเขียน นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม
Silver Lining ที่เราอยากพูดถึง: ความมุ่งมั่นแม้ในวัยที่สังขารเริ่มเสื่อมถอย และปณิธานที่ทำให้ชายวัยเกือบศตวรรษยังเดินหน้าไม่หยุดยั้ง

 

        ชื่อนี้มาพร้อมกับหนังสารคดีชีวิตสัตว์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ของบีบีซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุด ‘Life on Earth’ ซึ่งโด่งดังมากในยุค 80s เขาเป็นพิธีกรและผู้สร้างหนังสารคดีเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาและวัฒนธรรมดั้งเดิมมาตั้งแต่ยุคกำเนิดโทรทัศน์ ตอนที่รับงานผู้สร้างที่บีบีซีนั้นเขายังไม่มีเครื่องรับโทรทัศน์ไว้ดูด้วยซ้ำ มาสู่ยุคโทรทัศน์สี ยุคเทคโนโลยี 4 เค 5 เค และยุคสตรีมมิง ทั้งหมดรวมแปดทศวรรษ หรือกว่าแปดสิบปี หลังจาก ‘Life on Earth’ เซอร์เดวิดผันตัวเองจากการทำงานให้บีบีซี มาเป็นผู้สร้างอิสระ

        นอกจากความน่าตื่นตาตื่นใจของเนื้อหาที่ทีมงานดั้นด้นไปถ่ายทำมาเปิดโลกของพงไพรอันสวยงามให้ผู้คนหน้าจอได้ชม สิ่งหนึ่งที่เป็นดีเอ็นเอของรายการหนังสารคดีของเขา คือเสียงบรรยายของเซอร์ เดวิด แอตเทนบะระ

        เขาเป็นคนอังกฤษซึ่งพูดจาเนิบนาบ ด้วยจังหวะจะโคนที่ค่อยเป็นค่อยไป ตลอดเวลาที่เราดูเขาทางโทรทัศน์ เราจะเห็น (และได้ยิน) เสียงพูดเบาๆ เนิบช้า มีผู้จำกัดความสไตล์การให้เสียงของเซอร์เดวิดว่าเป็น ‘การบรรยายแบบกึ่งกระซิบ’ ราวกับเขาไม่อยากรบกวนความเป็นไปของธรรมชาติ หรือสัตว์ป่าซึ่งเขากำลังบอกเล่าเรื่องราวของพวกมันให้เราฟัง เขาเป็นเจ้าของรางวัลเอมมี่ผู้บรรยายยอดเยี่ยมถึงสามครั้ง

        เซอร์เดวิดเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ครอบครัวมีฐานะและมีการศึกษา จึงเป็นธรรมดาที่คนอังกฤษอย่างเขาจะพูดสำเนียงมาตรฐานซึ่งชนชั้นสูงใช้กัน หากลองค้นดูในอินเทอร์เน็ตก็จะพบคลิปโค้ชวิธีพูดให้ได้สำเนียงอังกฤษผู้ดีอย่างท่านเซอร์มากมายหลายคลิป

        สำเนียงผู้ดีเพราะๆ ลีลาเนิบนาบระดับไอคอนอย่างเดียวคงขาดเสน่ห์ที่ทำให้เขาเป็นที่จดจำของคนดูหน้าจอทีวีรุ่นแล้วรุ่นเล่า ถ้าไม่มีท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตน บุคลิกซึ่งทำให้เรารู้สึกถึงความรักความจริงใจที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ สัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งมวล

        แปดสิบปีแห่งการเดินทางไปทั่วโลก ได้สัมผัสและทำความรู้จักสิ่งมีชีวิตหลากหลายรูปแบบ วัฒนธรรมอันรุ่มรวยที่แตกต่างกันบนโลกนี้ ทั้งหมดนี้ตกตะกอนในช่วงบั้นปลายของชีวิตของเซอร์ เดวิด แอตเทนบะระ รายการของเขาเริ่มเบนเข็มจากการนำเสนอความมหัศจรรย์ของสัตว์โลกและผืนป่า หรือเปิดให้คนดูได้รู้จักและรักสัตว์ป่า เป็นแรงบันดาลใจให้รักการผจญภัย มาสู่การเป็นกระบอกเสียงแทนสัตว์ป่าและธรรมชาติซึ่งเขาเฝ้าสังเกตการณ์มาเป็นเวลากว่าแปดสิบปี เหตุผลก็เพราะเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติอย่างกว้างขวางในช่วงแปดสิบปีที่ผ่านมา ทำให้ตระหนักว่า การบริโภคของมนุษย์กำลังทำลายสมดุลของธรรมชาติ

        และถ้าธรรมชาติเสียสมดุล สัตว์ในป่า สิ่งมีชีวิตในน้ำ พืชน้อยใหญ่ สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย รวมทั้งมนุษย์ จะต้องสูญพันธุ์และสูญสิ้น

        ในหนังสารคดีเรื่อง ‘A Life on Our Planet’ (ออกฉายเมื่อปี 2020 ตอนนี้สตรีมอยู่ทาง Netflix)  เซอร์เดวิดเรียงร้อยเรื่องราวของตัวเขาตั้งแต่สมัยยังเด็ก ชอบขุดคุ้ยหาฟอสซิลแถวบ้าน ฟอสซิลคือหลักฐานชิ้นเล็กๆ ซึ่งทำให้เขาอินกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต สู่บัณฑิตหนุ่มจากเคมบริดจ์ซึ่งเริ่มงานในสาขาโทรทัศน์ที่เป็นเทคโนโลยีรุ่นใหม่ในยุคนั้น สู่บทบาทนักสำรวจโลกในทีวีขาวดำ เราจะเห็นหนุ่มน้อยเดวิดสวมกางเกงขาสั้น มือถือมีดสปาร์ตาเดินลุยความรกชัฏของป่าฝนเมืองร้อน หน้าเด๋อด๋า แววตาตื่นเต้นเมื่อได้พบสิ่งแปลกใหม่ในอีกซีกโลก ราวยี่สิบ สามสิบปีต่อมา เราเห็นเดวิดหมอบในพุ่มไม้ จับมือกับกอริลลาป่าในถิ่นที่อยู่ของพวกมัน เขาดูกลมกลืน ตื่นเต้นแต่ไม่ตื่นตระหนก เมื่อถูกขนาบด้วยกอริลลาขนาดใหญ่อย่างน้อยสองตัว เขาเล่าไว้ในคลิปเสียงที่อยู่ในวิกิพีเดียว่า “…กอริลลาเอามือมาแตะหัวผม แล้วจับหัวผมหันซ้านหันขวา แล้วก็เอานิ้ว ซึ่งใหญ่เท่านี้! มาแยงปาก คืออยากให้ผมอ้าปากให้ดู…”

        ใช่แล้ว ไฟล์เสียงของเซอร์เดวิดเป็นคอนเทนต์ที่ขาดไม่ได้ ในวิกิพีเดียที่พยายามสรุปชีวิตของเขาไว้ในความยาวสามหน้า

        ข้อมูลในหนังสารคดีเรื่อง ‘A Life on Our Planet’ เริ่มต้นด้วยจำนวนประชากรของทั้งโลก ปริมาณก๊าซคาร์บอนในบรรยากาศ และพื้นที่ป่าซึ่งยังไม่ถูกทำลาย เราจะเห็นตัวเลขประชากรโลกและก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้น สวนทางกับพื้นที่ป่าที่ลดลง จากปี 1937 ตอนนั้นเขายังเป็นเด็กน้อยขี่จักรยานสำรวจโลกรอบตัว โลกที่เขาบอกว่า “ตอนนั้นธรรมชาติยังบริสุทธิ์อยู่มาก” ประชากรโลกมี 2,300 ล้านคน ปริมาณก๊าซคาร์บอน 280 ส่วนต่อหนึ่งล้าน และพื้นที่ป่ายังเหลือ 66% ช่วงท้ายๆ เรื่องเราก็มาถึงกลุ่มตัวเลขชุดสุดท้ายของปี 2020 ประชากรโลกและปริมาณก๊าซคาร์บอนเพิ่มเกือบสามเท่า พื้นที่ป่าของทั้งโลกหดลดลงเหลือ 35 % หรือเพียงครึ่งของที่เหลืออยู่เมื่อแปดสิบปีก่อน

        เขาบอกว่าโลกเราประคับประคองอยู่ได้ด้วยสมดุลชีวิต ฤดูกาลที่คาดเดาได้ และไม่แปรปรวนช่วยให้มนุษย์ทำการเกษตรได้ ความหลากหลายทางชีวภาพช่วยประคองให้แหล่งอาหารและชีวิตทั้งพืชและสัตว์ดำเนินต่อไป อย่างที่เคยดำเนินมาเป็นเวลา 65 ล้านปี เขาบอกว่าเหลือเชื่อที่มาเห็นว่าสมดุลธรรมชาติกำลังเสีย สิ่งมีชีวิตขาดความหลากหลาย ลิงอุรังอุตังที่เขาเคยติดตามชีวิตของพวกมันสมัยที่ยังเป็นหนุ่มในป่าสุมาตรา ตอนนี้จำนวนลดลงเหลือแค่ครึ่ง ปลาในทะเลกำลังจะหมด ปะการังซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลชีวิตในทะเลกำลังจะตาย พื้นที่ป่าซึ่งควรจะเป็นปอดของโลก และบ้านของสิ่งมีชีวิตหลากชนิด กลายเป็นพื้นที่เกษตรซึ่งปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดียว ถ้ามนุษย์ยังดำเนินชีวิตโดยไม่สนใจความยั่งยืน อีกร้อยปี โลกจะวิปริตพังพินาศจนเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ 

        เซอร์เดวิดไม่ได้แค่ฟ้องว่ามนุษย์และการบริโภคนั้นทำผิดอย่างมหันต์ แต่ยังชี้แนะถึงทางออกที่ทำได้ ถ้าเราจะช่วยกันและผลักดันให้เกิดขึ้นจริง เขาเป็นองค์ปาฐกในการประชุมภาวะโลกรวนซึ่งสหประชาชาติเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2021 หรือที่เรียกสั้นๆว่า COP26 เขาพูดถึงความสำคัญของการฟื้นฟูธรรมชาติให้ความหลากหลายทางชีวภาพกลับคืนมา เน้นความสำคัญของการจำกัดจำนวนประชากรโลกให้คงที่ บอกว่าโลกต้องหันมาใช้พลังงานทดแทนให้มากกว่านี้ ต้องแก้ปัญหาภาวะโลกรวน ต้องลดการบริโภคเนื้อสัตว์ (เพราะพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาลต้องถูกหักร้างถางพงให้กลายเป็นพื้นที่ปศุสัตว์ – ตัวเขาเองก็กินมังสวิรัติ) และต้องมีพื้นที่อาศัยให้สัตว์ป่ามากกว่านี้

        พิธีกรในการประชุมถามเขาตอนหนึ่งว่า “จริงๆ แล้วคุณจะเกษียณสบายๆ ในวัยนี้ก็คงไม่มีใครว่า แต่คุณก็เลือกที่จะมาบอกให้ที่ประชุมเข้าใจว่าเราอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลมขนาดไหน”

        “จริงๆ ถ้าไม่ทำแบบนี้คงจะเป็นแบบนั้นแหละครับ แต่ในฐานะที่ผมโชคดีกว่าคนอื่น คือมีโอกาสได้พบเห็นธรรมชาติและความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งบอกได้เลยว่าเกิดขึ้นเร็วมาก คือเห็นทันตาในชั่วอายุเดียวเท่านั้น คือถ้าเห็นว่าโลกนี้มีปัญหาแล้วจะให้ทำเฉย ผมคงทำไม่ได้หรอกครับ” คือคำตอบของเซอร์เดวิด

        ปัจจุบันเซอร์เดวิดยังเป็นหัวหอกสำคัญของการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม และความอยู่รอดของโลกใบนี้ โลกที่นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าภายในร้อยปีจะเสียสมดุลจนสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันไม่สามารถอยู่ได้ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ชายวัย 96 คนนี้เริ่มมีปัญหาเรื่องความทรงจำ เขาให้สัมภาษณ์นักข่าวหนังสือพิมพ์อังกฤษว่า “ผมมีปัญหาเรื่องความจำบ้างแล้ว ตอนถ่ายทำรายการในสวิตเซอร์แลนด์ ผมกำลังพูดหน้ากล้องถึงทิวทัศน์ทุ่งดอกไม้สีเหลืองตรงหน้า แล้วจู่ๆ ก็นึกไม่ออกว่าดอกสีเหลืองซึ่งบานเต็มทุ่งนั้นชื่ออะไร นิ่งไปแบบนั้นเลย เราเดินทางต่อไปจนถึงอีกเมืองแล้วจึงนึกออกว่าคือ rape seed (พืชวงศ์ผักกาดที่เมล็ดใช้ทำน้ำมันคาโนลา)”

        สำหรับคนวัยเก้าสิบกว่า (ผ่านการผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่าทั้งสองข้าง และฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจไว้ที่หน้าอก) ซึ่งยังเดินเหินได้ไม่มีปัญหา สติปัญญายังแจ่มใส การสูญเสียความจำเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ถือว่ายังเป็นเรื่องเล็กน้อย สิ่งที่ยิ่งใหญ่คือความมุ่งมั่นและตั้งใจของเซอร์เดวิด แอตเทนบะระ ที่ใช้ชีวิตถ่ายทอดความมหัศจรรย์ของธรรมชาติให้ผู้ชมมารุ่นแล้วรุ่นเล่า และตอนนี้ยังเดินหน้าเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้คนหันมารักษาสมดุลของธรรมชาติและโลกใบนี้

 

ตัวอย่างสารคดีเรื่อง A Life on Our Planet


เรื่อง : ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์​