ริวอิจิ ซากาโมโตะ ศิลปินที่ไม่เคยเพิกเฉยต่อเสียงหัวใจตัวเอง

        ริวอิจิ ซากาโมโตะ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

        คนเราหนีความตายไม่พ้น ขึ้นอยู่กับว่ามันจะมาหาเราเมื่อไหร่ ข้อคิดหนึ่งเกี่ยวกับความตายคือจะจากโลกนี้ไปยังไงด้วยความยินยอมพร้อมใจ ทำอย่างไรจึงลาโลกได้อย่างสงบ จากไปด้วยรู้สึกว่าเกิดมาทั้งที ตอนที่ยังอยู่ได้ทำเรื่องที่ควรทำ ไม่เพิกเฉยต่อเสียงเรียกจากหัวใจของเราเองในยามเป็นไม้ใกล้ฝั่ง ไม่มีอะไรติดค้างกับชีวิต สำหรับริวอิจิ ซากาโมโตะ เราเชื่อว่าเขาจากโลกนี้ไปด้วยความพอใจกับ 71 ปีที่ผ่านมา

ชื่อ: ริวอิจิ ซากาโมโตะ
เกิด: ค.ศ. 1952 อายุ 71 ปี (เสียชีวิต 28 มีนาคม 2023) 
อาชีพ: นักแต่งเพลง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม นักแสดง
Silver Lining ที่เราอยากพูดถึง: เขาเริ่มอาชีพด้วยชื่อเสียงในเพลงป็อป แต่ในบั้นปลายกลับหวนคืนสู่รากการสร้างสรรค์ของฟากดนตรีคลาสสิก และบทเพลงที่บอกถึงสิ่งที่อยู่ในใจ และมุ่งมั่นทำให้สำเร็จแม้อยู่ระหว่างขั้นตอนการรักษาโรคร้าย “ไม่รู้เหมือนกันว่าจะอยู่ได้อีกกี่ปี สิบปี ยี่สิบปี แต่ก็อยากจะทำดนตรีต่อไป อยากฝากฝีมือสร้างงานดีๆ ที่ไม่ต้องอายใคร”

        ความพอใจไม่เกี่ยวข้องกับชื่อเสียง เงินทอง หรือรางวัลต่างๆ จากเพลงประกอบหนังจากหลายสถาบัน เรากำลังพูดถึงเรื่องมีค่าต่อใจและละเอียดกว่านั้น ในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ ความพอใจของริวอิจิน่าจะมาจากการที่เขาไม่หยุดนิ่ง ไม่จมอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ ไม่ทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาวเมื่อตระหนักถึงความไม่ยุติธรรมและภัยที่กำลังคุกคามโลกและสังคม ไม่เหมือนนักร้องเพลงเพื่อชีวิตบางคนที่กลายพันธุ์มาเป็นนักธุรกิจจ๋าเมื่ออายุดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง ซากาโมโตะไม่ใช่คนแบบนั้น สรุปคือเขาเป็น ริวอิจิ ซากาโมโตะ ในเวอร์ชันที่เขาต้องการจะเป็น เพื่อจะได้ซื่อสัตย์กับตนเองจนถึงวาระสุดท้าย

        ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักดนตรีและนักแต่งเพลงอย่างริวอิจิจะรักเสียงเพลง เรื่องเล่าจากบทสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์เมื่อสี่ห้าปีก่อนเป็นตัวอย่างที่ดี เขาอาศัยอยู่ที่นครนิวยอร์ก มีร้านอาหารที่ชอบไปอุดหนุนชื่อ ไคจิตซึ วันหนึ่งเขาเขียนอีเมลถึงเชฟว่า “สวัสดีครับ ผมชอบอาหารร้านคุณมาก ผมนับถือคุณนะ และชอบร้านอาหารนี้จริงๆ แต่ไม่ชอบเพลงที่เปิดในร้านเลย…” เขาจบอีเมลด้วยเพลย์ลิสต์ของเพลงเบาๆ มีรสนิยมที่เขาจัดหาให้ทางร้าน

        ที่เล่ามานี้ไม่ใช่เรื่องของเซเลบอวดดีกับร้านอาหาร แต่เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่รักเสียงดนตรี และอยากจะมีเพลงเพราะๆ ไว้ฟังเวลากินอะไรที่ถูกปาก

        ริวอิจิ ซากาโมโตะ เรียนและเล่นเปียโนตั้งแต่อายุหกขวบ จากนั้นก็แต่งเพลง พ่อของเขาเป็นบรรณาธิการหนังสือวรรณกรรม แม่ทำงานออกแบบหมวกสุภาพสตรี เขาเริ่มมาจากสายดนตรีคลาสสิก ชอบดนตรีของบาคและเดอบุสซีเป็นพิเศษ พอเป็นหนุ่มก็เริ่มสนใจโมเดิร์นแจซ นักดนตรีอาวองการ์ดอย่าง จอห์น เคจ (เพลง 4’33 ของเคจ “แสดง” หน้าเปียโนตัวหนึ่งโดยไม่มีเสียงคีย์เปียโนเลยแม้แต่เคาะเดียว เขานั่งเฉย ปล่อยให้ความเงียบดำเนินไป เสียงขยับตัวของคนดู กระแอมไอและอื่นๆ คือเสียงเพลงในความยาว 4 นาที 33 วินาที ตามคำจำกัดความของจอห์น เคจ)

        ต่อมาริวอิจิตั้งวง Yellow Magic Orchestra ตามคำชวนของเพื่อนร่วมวง Yellow Magic Orchestra คือวงแนวเทคโนซึ่งแฝงการเหน็บแนม “ความเป็นญี่ปุ่น” ในสายตาคนตะวันตก แถมยังชอบเล่นกับซุ่มเสียงแห่งยุคสมัย ได้แก่ วิดีโอเกม และเศษเสียงต่างๆ ของเมืองใหญ่อย่างโตเกียวในยุค 80 ฯลฯ

        ตอนอยู่ Yellow Magic Orchestra ว่าดังพอตัวแล้ว แต่ริวอิจิมาดังเป็นพลุตอนมาเล่นหนังเรื่อง Merry Christmas, Mr. Lawrence ตามคำชวนของ นางิสะ โอชิมะ โดยที่เขาไม่มีพื้นฐานการแสดงมาก่อน “ตอนนั้นผมยังหนุ่มคะนอง จริงๆ แล้วผมชอบงานของโอชิมะมาก ดีใจมากที่เขาชวน แต่ก็ปากพล่อย บอกเขาว่า – จะเล่นหนังถ้าให้แต่งเพลงประกอบหนังเรื่องนี้”

        ตามด้วยผลงานแต่งเพลงประกอบหนังเรื่อง The Last Emperor ซึ่งตอนแรกผู้กำกับ แบร์นาโต แบร์ตาลุชชี ก็ชวนเขาไปแสดงเฉยๆ แต่จบลงด้วยการแต่งเพลงให้หนังเรื่องนี้จนได้รางวัลออสการ์ เพลงประกอบหนังยอดเยี่ยมเมื่อปี 1987 ส่วน Merry Christmas, Mr. Lawrence ได้รับรางวัลจากเวทีบาฟตาของอังกฤษไปก่อนหน้านี้แล้ว

        งานเพลงของเขาไพเราะด้วยทำนองบาดอารมณ์ ดนตรีจัดเต็มทั้งวงออร์เคสตรา แต่แนวเพลงของเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อมีเหตุการณ์สึนามิที่จังหวัดฟุกุชิมะเมื่อปี 2011 เป็นผลให้เกิดการรั่วไหลของกัมมันตรังสีเมื่อน้ำท่วมโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่นั่น ช่วงก่อนหน้านั้นเขาออกผลงานเดียวชื่อ Energy Flow เป็นเพลงบรรเลงเบาๆ เสียงเปียโนเนิบๆ ไพเราะจับใจ ชวนให้เรานึกถึงเพลงประกอบหนังของค่ายจิบลิ นี่คืออัลบั้มเพลงบรรเลงชุดแรกที่ขึ้นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น งานชุดนี้ออกมาตอนที่ทั้งประเทศกำลังเจ็บปวดกับปัญหาเศรษฐกิจ

        เขาบอกว่าปัญหานิวเคลียร์และสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ และเปิดใจว่า “ถ้ารู้สึกแรงกล้ากับเรื่องไหน ก็ไม่อาจเพิกเฉยได้”

        ริวอิจิ ซากาโมโตะ เป็นหนึ่งในหัวหอกของการรณรงค์ต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ เขาเดินทางไปฟุกุชิมะ ในช่วงที่กัมมันตรังสียังไม่หมดอันตราย เขาถึงกับนำซากเปียโนตัวหนึ่งซึ่งน้ำท่วมจากสึนามิซัดมา โดยตั้งใจใช้เสียงผิดคีย์จากเปียโนตัวนั้นในงานชิ้นหลังๆ “เราคิดว่าเปียโนทุกตัวจะต้องตั้งเสียง นั่นมันผิดนะ เปียโนทำจากวัสดุธรรมชาติ เราฟังว่าเสียงเพี้ยน แต่จริงๆ แล้วคือเป็นความพยายามของเปียโนที่จะกลับคือสู่สภาพธรรมชาติ”

        เขายังขึ้นเวที No Nuke Concert เมื่อปี 2012 อีกด้วย

        ปี 2014 แพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นมะเร็งที่ลำคอ ช่วงนั้นเขาตั้งใจหยุดรับงาน เพื่อทุ่มเทแก่การรักษา แต่เมื่อผู้กำกับ อาเลฆันโดร กอนซาเลซ อิญญาร์รีตู มาชวนเขาเขียนเพลงประกอบหนังเรื่อง The Revenant เขาก็รับงานนี้ เพราะชอบผลงานของผู้กำกับคนนี้มาก เพลงประกอบหนังเรื่องนี้ได้เสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ แต่ไม่ได้รับรางวัล

        ผู้ที่ติดตามผลงานของซากาโมโตะเห็นความเปลี่ยนแปลงจากเพลงป็อปเทคโนทำนองหวานกรีดอารมณ์ มาสู่แนวทางช่วงหลังซึ่งถ้าไม่เน้นการเดี่ยวเปียโน ก็คือเขาจะแต่งเพลงเองโดยอาศัยเทคโนโลยีมาช่วย เพลงรุ่นหลังๆ อย่างชุด Energy Flow, The Revenant คลี่คลายสู่ความไพเราะช้าเนิบ ซึ่งเขาเองก็บอกว่า “ผมอยากได้ยินเสียงกังวาน ให้ตัวโน้ตน้อยลง มีพื้นที่มากขึ้น ไม่ใช่ความเงียบนะ แต่เป็นพื้นที่ ผมอยากดื่มด่ำความไพเราะของเสียงกังวานบ้าง”

        ผลงานของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ มีหลายหลาก ทั้งริงโทนของโทรศัพท์โนเกีย 8800 (คงความเนิบนาบอันเป็นลายเซ็น) เพลงประกอบหนังอีกหลายเรื่อง ทั้งยังเคยแต่งเพลงที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่บาร์เซโลนา ปี 1992 เคยแต่งโอเปรา ซิมโฟนี ซึ่งเป็นงานสมัยใหม่ เขายังแต่งเพลงชุดหนึ่งชื่อ Async (ปี 2017) ให้กับหนังของ อันเดรย์ ตาร์คอฟสกี ผู้กำกับหนังอาร์ตผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซียที่เขาชื่นชอบมาก เป็นเพลงประกอบหนังในจินตนาการ กล่าวคือเป็นหนังของตาร์คอฟสกี แต่ยังไม่ได้สร้าง และคงไม่ได้สร้างเพราะตาร์คอฟสกีตายเมื่อปี 1986

        ในสารคดีเรื่อง Coda เราจะเห็นริวอิจิง่วนกับการค้นหาเสียงมาใช้ในผลงานเพลง หยิบจับสิ่งของรอบตัว เพื่อค้นหาเสียงที่ใช่ การสร้างผลงานในช่วงหลังๆ ทุ่มเทให้แก่งานที่เขามองว่าสะท้อนโลกที่เขาอยากได้ยินอย่างแท้จริง “ผมอยากอาบสรรพเสียง เข้าใจว่าทำแบบนั้นแล้วจะช่วยเยียวยาความเสียหายที่เกิดต่อร่างกายและจิตใจของผมได้”


เรื่อง: ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์​