คุยกับ นิติกร กรัยวิเชียร ภัณฑารักษ์ผู้อยู่เบื้องหลังนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในหลวง รัชกาลที่ 9

เป็นเวลากว่า 25 ปี กว่าที่พสกนิกรชาวไทยจะได้มีโอกาสรับชมนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กันแบบเต็มๆ อีกครั้ง เพราะครั้งสุดท้ายที่ได้มีการจัดนิทรรศการขึ้น ต้องย้อนไปถึงปี พ.ศ. 2535 ซึ่งเราได้มีโอกาสพูดคุยกับ นิติกร กรัยวิเชียร ภัณฑารักษ์ผู้อยู่เบื้องหลังนิทรรศการ ถึงเรื่องราวมากมายที่กว่าจะทำให้นิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้น

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

ครั้งสุดท้ายที่มีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน นั่นคือย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2535 นั่นหมายถึงเวลา 25 ปีมาแล้ว

01 ที่มาของนิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

จริงๆ เริ่มต้นมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่รับสั่งกับนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมน์ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ ว่ายังมีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่เคยได้รับการเผยแพร่มาก่อน และน่าจะนำมาจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมกัน นั่นเลยเป็นที่มาให้สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำเรื่องกราบบังคมทูล แล้วได้รับพระราชทานพระราชานุญาต จากนั้นเราเลยรวมมือกับโครงการของหอศิลป์กรุงเทพฯ จัดเป็นนิทรรศการขนาดใหญ่ทั้ง 3 ชั้น (‘นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช’ – ชั้น 9, ‘นิทรรศการพระราชาในดวงใจ’ – ชั้น 8, ‘นิทรรศการ ดิน น้ำ ป่า ฟ้า แรงบันดาลใจจากพ่อ’ – ชั้น 7)

งานนี้สำหรับพวกเราถือเป็นงานที่สำคัญมากๆ เพราะว่าครั้งสุดท้ายที่มีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน นั่นคือย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2535 นั่นหมายถึงเวลา 25 ปีมาแล้ว แปลว่าเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ๆ ไม่มีโอกาสได้เห็นภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านเลย จริงอยู่ว่าภาพบางภาพเราอาจจะคุ้นตาบ้าง เพราะเคยเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย หรือในหนังสือต่างๆ แต่รูปอีกจำนวนมากก็ไม่มีใครเคยเห็น โดยเฉพาะรูปจริงๆ ที่มาจากฟิล์มต้นฉบับ ไม่เคยมีใครได้เห็นเลย

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

02 กระบวนการค้นภาพเป็นอย่างไร

จริงๆ เราไม่สามารถจะนับจำนวนภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านได้ เพราะว่าตลอดรัชกาล 70 ปี พระองค์ท่านทรงถ่ายภาพมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ท่านทรงเริ่มถ่ายรูปมาก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์เสียอีก ผมเชื่อว่าภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านคงมีเป็นหมื่นเป็นแสนภาพ ซึ่งในการที่เราจะไปคัดเลือกเองไม่มีทางเป็นไปได้ คนที่มีหน้าที่เก็บรักษาฟิล์มภาพไว้คือฝ่ายช่างภาพส่วนพระองค์ กองงานส่วนพระองค์ ซึ่งเก็บฟิล์มต่างๆ เหล่านี้เอาไว้อย่างดี เมื่อเราประสานกับหน่วยงานก็ได้รับความร่วมมือในการคัดเลือกภาพมาให้เราจำนวนหนึ่ง ซี่งมากพอสมควรที่จะให้ผมซึ่งเป็นภัณฑารักษ์ของงานนี้ ได้คัดเลือกจนเหลือ 200 ภาพและนำมาจัดในนิทรรศการครั้งนี้

03 ในฐานะภัณฑารักษ์ มีการจัดเรียงภาพอย่างไร เพราะดูเหมือนเราได้เห็นช่วงเวลาในชีวิตของพระองค์ท่านผ่านการเรียงลำดับภาพเหล่านี้

เราพยายามที่จะไล่เรียงลำดับเวลา ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะจัดหมวดหมู่ ให้ภาพไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะมีคอลเลคชั่นใหญ่ที่เป็นภาพฝีพระหัถต์ที่ทรงถ่ายสมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นภาพที่เกี่ยวข้องกับโครงการในพระราชดำริ แล้วก็บางส่วนจะเป้นภาพที่เกี่ยวข้องกับประชาชน และอีกส่วนใหญ่เป็นภาพของสุนัขทรงเลี้ยง

เราพยายามจัดหมวดหมู่ แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีภาพฝีพระหัตถ์อื่นๆ ที่ไม่ได้มีเรื่องราวเป็นหมวดหมู่ ซึ่งแซมอยู่ในทุกยุคทุกสมัยด้วย ซึ่งวิธีการคัดเลือกโดยหลัก หนึ่งคือเลือกภาพที่แปลกตา สองพยายามที่จะเฉลี่ยภาพที่น่าสนใจ และผูกเป็นเรื่องราวตามระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆ เราอยากนำมาแสดงทั้งหมด แต่ว่าพื้นที่ก็มีจำกัด และในนิทรรศการหนึ่ง ปริมาณของภาพก็มีความสำคัญ เพราะถ้าจำนวนมากไปกว่านี้ก็อาจจะเยอะเกินไป

04 การได้มีโอกาสเป็นผู้รวบรวม และเห็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์จำนวนมาก คุณเห็นจุดร่วมหรือมุมมองที่พระองค์ท่านทรงมีต่อการถ่ายภาพอย่างไรบ้าง

ต้องบอกว่าพระองค์ท่านทรงชำนาญในเรื่องการถ่ายภาพในทุกแนวทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทรงเป็นพระอัครศิลปิน เราทุกคนทราบดีว่าพระองค์ท่านทรงเป็นศิลปินที่มีพระปรีชาสามารถในหลายๆ ด้าน ทั้งประติมากรรม จิตรกรรม รวมไปถึงเรื่องของดนตรี เพราะฉะนั้น ความเป็นศิลปินของพระองค์ท่านได้สะท้อนออกมาในงานศิลปะทุกแขนง รวมถึงภาพถ่ายด้วย ซึ่งภาพถ่ายของพระองค์ท่านในช่วงแรกจะเป็นภาพพอร์เทรตบุคคลเสียส่วนใหญ่ เราจะเห็นว่าเป็นภาพในครอบครัวของพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านทรงสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกออกมาได้ดีมากๆ รวมถึงการจัดวางแสงเงาก็ทรงทำออกมาได้ดีเยี่ยม และในช่วงต่อมา ก็จะเห็นงานประเภทอื่นๆ ซึ่งทุกงานสามารถสะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ได้อย่างเต็มเปี่ยม

บางภาพอาจจะดูเหมือนว่าธรรมดา แต่ทุกอย่างแฝงไปด้วยความหมาย โดยเฉพาะภาพในช่วงกลางรัชกาล ที่พระองค์ท่านทรงถ่ายภาพพระราชกรณียกิจ เป็นภาพถ่ายที่ถือว่าทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าพระองค์ทรงนำภาพถ่ายเหล่านั้นมาใช้วางแผนงานที่จะช่วยเหลือประชาชนจริงๆ

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

 

ภาพลักษณะหนึ่งที่เราจะเห็นได้ในทุกยุคทุกสมัย และผมตื่นเต้นมากทุกครั้งเวลาที่ได้เห็น คือเรื่องราวความผูกพันของพระองค์ท่านกับประชาชน

05 มีภาพแบบไหนบ้างที่สร้างความแปลกใจให้กับคุณ

มีเป็นจำนวนมากเลยครับ โดยเฉพาะภาพถ่ายในช่วงต้นๆ มีภาพฝีพระหัตถ์จำนวนมากที่ผมไม่เคยเห็น ดูแล้วต้องบอกว่าตื่นเต้นมาก แต่ว่าภาพลักษณะหนึ่งที่เราจะเห็นได้ในทุกยุคทุกสมัย และผมตื่นเต้นมากทุกครั้งเวลาที่ได้เห็น คือเรื่องราวความผูกพันของพระองค์ท่านกับประชาชน

หากเราได้ย้อนไปดูตั้งแต่ต้นรัชกาล จะเห็นได้เลยว่าจะมีภาพที่พระองค์ท่านทรงถ่ายจากการไปเยือนสถานที่ต่างๆ ภาพประชาชนเหล่านั้นที่มาเฝ้ารับเสด็จ ทุกภาพจะเห็นได้เลยว่าประชาชนมาด้วยความปิติยินดี สีหน้าแสดงความชื่นใจ ที่พระองค์ท่านเสด็จไปเยี่ยมพวกเขา พระองค์เสด็จไปเยี่ยมประชาชนทั่วประเทศ คนต่างชาติ ต่างศาสนา จะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน หรือเป็นคนมุสลิม หรือว่าคนไทยคริสต์ ทุกคนต่างรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเคารพพระองค์ท่านเป็นอย่างสูง ภาพเหล่านี้จะเห็นอยู่ในทุกช่วงเวลา ไล่มาจนถึงช่วงปลายรัชกาล

เราจะเห็นว่าเป็นเวลานานหลายปีที่พระองค์ท่านจะเสด็จไปประทับที่โรงพยาบาลศริราช ช่วงนั้นก็จะเห็นภาพประชาชนมาเฝ้ารอด้วยความห่วงใย แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีเหลือง นั่งเฝ้ารอ บางช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จราชดำเนินลงมาทรงพักผ่อนอริยาบถ ในบริเวณโรงพยาบาลหรือท่าน้ำ ประชาชนก็จะดีใจและเปล่งเสียงทรงพระเจริญ ภาพแบบนี้เราจะเห็นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และแสดงให้เราเห็นถึงความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับประชาชน ที่ใกล้ชิดและไม่เคยห่างกันเลย

06 ในฐานะภัณฑารักษ์ อยากให้คนที่เข้ามาดูงานนี้ ได้มุมมองอะไรกลับไป

ผมอยากให้คนที่มาชมงานเดินดูภาพตั้งแต่ต้นนิทรรศการ และคิดตามไปในแต่ละช่วงเวลา เพราะว่างานนี้ก็คือเรื่องเล่าจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมอบให้เราด้วยภาพ และผมคิดว่าคนอายุน้อยๆ หรือคนที่อายุไม่ถึงถึง 70 ปี ส่วนมากก็จะไม่ทันเห็นช่วงเวลาเหล่านั้น แต่เราก็สามารถย้อนเวลากลับไปดูเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลาของพระชนม์ชีพของพระองค์ท่านได้ ช่วงที่พระองค์ท่านกำลังทรงสร้างครอบครัว ช่วงที่พระราชโอรสและพระราชธิดาแต่ละพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่ แล้วเราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของทุกพระองค์ท่านมาเรื่อยๆ และเมื่อถึงช่วงกลางรัชกาล ทุกพระองค์ก็ทรงกลับมาช่วยพระราชบิดาในการดูแลประชาชน ทุกพระองค์ทรงงานอย่างหนัก

เนื้อหาในภาพแต่ละภาพอย่างที่ผมบอก ไม่ได้เป็นสิ่งที่ให้เราดูเพื่อความสวยงามอย่างเดียว เคยมีพระราชดำรัสของพระองค์ท่านได้พระราชทานให้กับกรรมการสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมชานูปถัมน์ เมื่อหลายสิบปีก่อน ความประมาณว่า “การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าได้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนานหรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าแก่สังคมให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง” ซึ่งพระองค์ท่านทรงทำให้เป็นแบบอย่างกับเราทุกคน

07 พูดถึงความตั้งใจในการจัดทำ หนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมมนาถบพิตร

ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่า นิทรรศการนี้มีช่วงเวลาในการจัดแสดงจำกัด แม้จะมีเวลาที่ค่อนข้างยาวนานพอสมควร ที่ประชาชนสามารถมาดูได้ถึงช่วงมกราคม ก็ยังมีเวลาอยู่อีกสองสามเดือน แต่ถ้านิทรรศการจบลงแล้วเราก็คงลืมเลือนกันไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเก็บเรื่องราวเอาไว้ได้ดีที่สุดก็คือหนังสือ ที่รวบรวมภาพทุกภาพที่มีอยู่ในนิทรรศการนี้ ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหลักที่เราจัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา และในการจัดพิมพ์คร่าวนี้เราได้ผู้สนับสนุนที่มีใจกุศลจำนวนมาก ได้ออกทุนในการพิมพ์ทั้งหมด 50,000 เล่ม เพื่อที่จะนำมาจำหน่ายให้ประชาชนทั่วๆ ไปซื้อไปเก็บไว้เป็นที่ระลึก โดยที่เราคำนึงว่าประชาชนแต่ละคนก็มีฐานะไม่เหมือนกัน อาจจะมีคุณลุงคุณป้าที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยมาก เราเลยตั้งราคาหนังสือที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยที่ปกอ่อนในราคา 199 บาท และปกแข็งในราคา 999 บาท โดยที่รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายเราทูลเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลตามพระราชอัชยาศัย

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

_

FYI

_

ผู้ที่สนใจ หนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมมนาถบพิตร สามารถติดตามรายละเอียดการจำหน่ายหนังสือได้ ที่นี่

ส่วนใครที่อยากรับชมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยตาของตนเอง สามารถไปรับชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 07 มกราคม 2561 ที่ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลป์วัฒนธรรมกรุงเทพฯ