พระเมรุมาศในความทรงจำอันโศกสลด โดยช่างภาพกลุ่ม ‘สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล’

เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เหล่าปวงพสกนิกรทั้งประเทศ ได้ร่วมกันเป็นประจักษ์พยานต่อความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และการจากไปชั่วนิรันดร์ ของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในดวงใจไทยทั้งชาติ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ อันยิ่งใหญ่ตระการตา นับเป็นหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยครั้งสำคัญยิ่ง

a day BULLETIN จึงได้ขอความช่วยเหลือจาก อาจารย์เกรียงไกร ไวยกิจ พร้อมเพื่อนช่างภาพอิสระอีก 6 คน อันประกอบด้วย อัครินทร์ อัศววารินทร์, ชฎาธาร ฉายปุริยานนท์, กัมพล คุ้มวงษ์, ชัชวาล ดาจันทร์, พญ.วรรนธนี อภิวัฒนเสวี, และ ณัฐสุดา จันทระ มาช่วยบันทึกภาพที่น่าประทับใจในช่วงงานพระราชพิธีฯ ทั้่งก่อนและหลังงาน

สุดยอดช่างภาพทั้ง 7 คนนี้ร่วมงานกันอยู่บ่อยครั้ง เคยจัดทำหนังสือสารคดีภาพ ‘ปฐมบทแห่งสยาม-ไทย ณ ห้วงกาล’ คว้ารางวัลหนังสือสวยงามจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนนิทรรศการภาพถ่ายที่ห้องศิลป์สห+ภาพ รวมถึงภายในบูธโซนีบริเวณโถงด้านหน้างานโฟโต้แฟร์ ประจำปี 2558 และ 2559 ณ ไบเทคบางนา

ในเบื้องต้น พวกเขามีความตั้งใจที่จะเป็นจิตอาสา ทำงานอาสาสมัครถ่ายภาพประวัติศาสตร์เหล่านี้ เพื่อส่งให้สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เก็บบันทึกไว้เป็นข้อมูลความรู้แก่ชนรุ่นหลัง พวกเขาช่วยกันคัดเลือกภาพที่ตนรักที่สุด นำมาร้อยเรียงรวมเข้ากัน เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ประวัติศาตร์ บรรยากาศโดยรอบ และสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในช่วงก่อน หลัง และระหว่างงานพระราชพิธีฯ

หลังจากนี้ พวกเขาจะรวบรวมภาพอีกจำนวนมาก จัดพิมพ์เป็นหนังสือสองภาษา ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท โซนี ประเทศไทย มีจุดประสงค์ที่จะแจกจ่ายไปยังสถาบันการศึกษา ห้องสมุด สถานทูต ฯลฯ โดยไม่นำออกจำหน่าย และช่างภาพทั้ง 7 คน ไม่รับค่าแรงใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้เป็นหนังสือที่แสดงความไว้อาลัย ถวายเกียรติสูงสุดแด่พระมหากษัตริย์อันเป็นที่ัรัก

 

งานพระราชพิธี

งานพระราชพิธี

งานพระราชพิธีงานพระราชพิธี

 

พวกคุณทำงานเป็นช่างภาพสารคดี และทำงานจิตอาสาให้กับสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้ถ่ายภาพพระราชพิธีสำคัญๆ มาหลายครั้ง คุณพบเห็นความแตกต่างกันอย่างไรกับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในครั้งนี้

เกรียงไกร : ครั้งที่ผมประทับใจมากๆ คืองานเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พบว่ามีความรู้สึกแตกต่างจากคราวนี้อย่างมาก ครั้งนั้นคือความรู้สึกปีติยินดีอย่างยิ่ง ช่างภาพเข้าพื้นที่ตอนตีสามเพื่อไปรอ นับเป็นการรอคอยด้วยความสุข แต่ทันทีที่เราได้เห็นในหลวง เรารู้สึกสะเทือนใจอยู่ลึกๆ เพราะเห็นท่านว่าท่านไม่แข็งแรงเท่าไรแล้ว ครั้งนั้นเหล่าช่างภาพได้เห็นพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิดมาก การจัดการเรื่องความปลอดภัยไม่เข้มงวดขนาดครั้งนี้

กัมพล : ผมได้ขึ้นคนละสแตนด์กัน คืนนั้นพวกเรานอนค้างกันที่ทำเนียบรัฐบาล ทางรัฐบาลจัดที่นั่นให้เป็นที่พักของทีมช่างภาพและนักข่าว พอตีสามเราก็เข้าไปในพื้นที่ ตั้งแต่วันก่อนหน้านั้นมีประชาชนมานั่งจับจองที่นั่งกันเต็มไปแล้ว ทุกคนไปด้วยความสุขใจ ดีใจ ตื่นเต้น มาเพื่อจะได้เห็นในหลวง แต่งานพระราชพิธีคราวนี้คือความโศกเศร้า ผมคาดประมาณจำนวนคนว่ามีมากพอๆ กัน ในงานครั้งก่อน ผู้คนจะมายืนออกันอยู่ตรงถนนราชดำเนิน หน้าลานพระที่นั่ง แต่คราวนี้ ผู้คนกระจัดกระจายตัวออกไปตามจุดต่างๆ รอบบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ การทำงานถ่ายภาพจึงแตกต่างกัน

 

งานพระราชพิธี

งานพระราชพิธี

งานพระราชพิธี

งานพระราชพิธี

 

คุณคิดว่าความโศกเศร้าสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะอย่างไร

ณัฐสุดา : ในงานที่มีความสุข ช่างภาพก็กระตือรือร้นไปกับบรรยากาศ ในงานที่มีความเศร้า ช่างภาพก็จมอยู่กับอารมณ์นั้นไปด้วย ณัฐไปอยู่ในจุดใกล้ศาลหลักเมือง บรรยากาศผู้คนเศร้ามาก แต่เราต้องรู้ตัวตลอดว่าต้องทำงานของเรา จะมัวนั่งเช็ดน้ำตาอยู่ไม่ได้ ต้องดูแลตัวเอง ดูวัตถุตรงหน้า ส่วนเทคนิคการถ่ายภาพนั้นไม่แตกต่าง เทคนิคการถ่ายภาพผู้คนในฝูงชนจำนวนมาก ณัฐจะเฝ้าคอยจังหวะ มองหาคนที่ยังไม่บอบช้ำด้วยการถ่ายภาพจากคนอื่น แล้วเราจะไม่เข้าไปขัดจังหวะชีวิตของเขา จะแฝงตัวรออยู่ในฝูงชน จับตาดูคนที่น่าสนใจ รอคอยไปเรื่อยๆ ในเชิงการจับอารมณ์ ช่างภาพทุกคนคงต้องคุมสติของตัวเองให้อยู่กับตัวตลอดเวลา

เกรียงไกร : ผมคิดว่าอารมณ์และความรู้สึกมีส่วนมากในการสร้างผลงาน ถ้าเป็นความโศกเศร้า ผมว่าเราพีกสูงสุดในวันที่ 13 ตุลาคม ปีที่แล้ว พอมาถึงในปีนี้ ผมออกเดินไปรอบๆ บริเวณงานพระราชพิธี ก็ยังพอสัมผัสอารมณ์โศกเศร้าได้อยู่ เพียงแต่มันไม่เหมือนเมื่อวันที่ 13 แล้ว ในปีนี้ผู้คนไม่มืดหม่น พวกเขาออกมาเพื่อมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ดังนั้น เราจะเห็นผู้คนผ่อนคลายลง ยิ้มแย้ม พูดจาทักทาย ช่วยเหลือกัน มีคนยกกล้องมาเซลฟีตัวเอง มาถ่ายรูปร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อเป็นที่ระลึก ความเศร้าแบบมืดหม่นอย่างเมื่อปีที่แล้วไม่ค่อยเห็น ซึ่งถ้ามองในอีกแง่หนึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีที่ประชาชนได้ผ่านพ้นความโศกเศร้าไปแล้ว

กัมพล : ถ้าเราได้รับแรงส่งจากประชาชนมากพอ เราก็สามารถเก็บอารมณ์เหล่านั้นไว้ในภาพได้เลย แต่ในคราวนี้เราไม่เจอความทุกข์โศกขนาดนั้น ตั้งแต่วันที่ 26 ผมพยายามมองหาอารมณ์แบบวันที่ 13 ตุลาคม ปีที่แล้ว ก็ไม่ค่อยเห็นแล้ว จึงพยายามจับภาพเพื่อเล่าเรื่องอื่นๆ เช่นการถ่ายภาพโคลสอัพไปที่มือ ให้เห็นริ้วรอยหยาบกร้าน เพื่อบอกว่าคุณยายคนนี้ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ แต่เดินทางมาไกลเพื่อร่วมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ภาพจึงน่าจะสื่อถึงความรัก ความจงรักภักดีไม่เสื่อมคลายมากกว่า

 

งานพระราชพิธี

งานพระราชพิธี

งานพระราชพิธี

งานพระราชพิธี

 

สิ่งที่พวกคุณได้เรียนรู้จากการทำงานถ่ายภาพพระราชพิธีในครั้งนี้

เกรียงไกร : ตลอดช่วงหลายเดือนระหว่างการก่อสร้างพระเมรุ ผมเข้าไปถ่ายภาพเป็นระยะๆ และได้เข้าไปถ่ายภาพในจุดสำคัญมากๆ เพื่อเก็บบันทึกให้กับหอจดหมายเหตุ จนถึงคืนวันถอดนั่งร้าน ผมขึ้นไปถ่ายภาพอยู่บนนั้นนานมาก จู่ๆ ก็เกิดคิดขึ้นมาในใจว่า เราถูกเลือกให้มาทำงานนี้ บางสิ่งบางอย่างนำเรามาที่นี่ เรายืนอยู่ตรงจุดนี้เพียงคนเดียว และมีเพียงเราเท่านั้นที่จะบันทึกภาพตรงหน้าเหล่านี้เก็บไว้ให้คนรุ่นหลัง ผมเห็นผู้คนจำนวนมากที่ตั้งใจทำงานของตัวเอง ก่อสร้างพระเมรุอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ในช่วงวันท้ายๆ ที่ด้านบนสุดมีช่างขึ้นไปติดทองย่น ค่ำมืดเหลือแสงเพียงนิดเดียว แต่เขาก็ยังทำงานต่อไปจนเสร็จ ถ้าผมไม่ได้ถ่ายรูปเหล่านี้เก็บไว้ เรื่องราวของผู้คนเหล่านี้อาจจะถูกลืมเลือนไป ผมรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้ดีที่สุด เพื่ออะไรก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน คนรุ่นหลังจะมาเปิดดูหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่รู้สึกขึ้นมาว่าต้องทำงาน ต้องทำให้ดี เราทุกคนควรทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด จนถึงช่วงวันที่ 26 ตุลาคม ผมไม่ได้เข้าไปในบริเวณงาน วันนั้นผมอยู่ที่ท่าพรานนก มองมาที่ฝั่งสนามหลวง เห็นภาพยอดพระเมรุจากตรงนั้น ก็ยกกล้องขึ้นมาถ่าย ด้วยความคิดว่า ถึงแม้เข้างานไม่ได้ เราก็ยังทำงานของเราต่อไปได้อย่างเต็มที่ อย่างน้อยก็เป็นการบันทึกว่านี่เป็นเหตุการณ์สำคัญของวันที่ 26

ผมเองนับว่าโชคดีกว่าน้องช่างภาพรุ่นใหม่เหล่านี้ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผมรับทำงานถ่ายภาพโครงการในพระราชดำริ เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ ตอนเริ่มต้นทำงานก็ยังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ และเพียงแค่เป็นการรับทำงานถ่ายภาพชิ้นหนึ่งเท่านั้น จนเมื่อทำงานไปเรื่อยๆ ออกเดินทางไปตามโครงการในพระราชดำริแห่งสำคัญๆ ทั่วประเทศ ได้เห็นผลงานที่พระองค์ท่านทำไว้ จัดสรรพื้นที่ แล้วลงมือทำการเกษตรต่างๆ ลงไป

ผมก็รู้สึกทึ่ง ว่านี่เป็นภูมิปัญญาที่เรียบง่ายและฉลาดเฉลียวมากๆ ของชาวบ้านที่มีอยู่แล้ว พระองค์ท่านนำมาจัดระบบระเบียบ แล้วนำออกเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้เห็นคุณค่าของเรื่องนี้ ผมรู้ว่านี่เป็นเรื่องจริง เป็นประโยชน์จริงๆ ในระยะหลังได้ติดตามข่าวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เผยแพร่ออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา ที่ตามหลังเรามาอีกหลายๆ ประเทศ พวกเขาก็นำไปประยุกต์และทำตามแล้วก็ได้ผล ผมนึกย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ก็เป็นแรงใจให้ตัวเองทำงานของตัวเอง

 

งานพระราชพิธี

งานพระราชพิธี

 

ในวันข้างหน้า อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เรามุ่งมั่นทำงานต่อไป

กัมพล : สำหรับผม รู้เลยว่างานถ่ายภาพนี่ไม่สามารถดำรงชีพได้ ยกเว้นสำหรับช่างภาพระดับพี่เกรียง หรืออย่างณัฐ ผมเองทำงานออฟฟิศ และมีงานอดิเรกเป็นการถ่ายภาพ ผมเลือกทำงานนี้เพราะความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานของในหลวง ผมก็ยิ่งทำด้วยความรักมากขึ้นไปอีก เท่าที่ทำงานถ่ายภาพมา ไม่เคยมีครั้งไหนที่ถ่ายภาพต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้มาก่อน ผมออกตระเวนตั้งแต่วันที่ 25 เดินไปทั่วจนถึงตลอดวันที่ 26 และไปถึงเช้าอีกวันหนึ่ง

การถ่ายภาพของผมเป็นสไตล์ฝังตัวอยู่กับจุดที่ชอบ เพื่อรอจังหวะเวลาที่จะลั่นชัตเตอร์ แต่คราวนี้ผมเห็นเรื่องราวมากมาย เกิดกระจายออกไปหลายที่ หลายสถานการณ์ ผมวิ่งไปมาหลายจุดเพื่อจะได้บันทึกเรื่องราวไว้ให้ได้มากที่สุด ถึงแม้จะมีคนนำไปตีพิมพ์หรือไม่ก็ตาม แต่เรื่องราวเหล่านี้ต้องได้รับการบันทึกไว้ เป็นความภูมิใจของคนรุ่นเราที่จะได้บอกเล่าต่อคนรุ่นหลัง บริเวณพระเมรุมาศจำลองหลายจุด มีเรื่องราวน่าสนใจเยอะมากจริงๆ

เกรียงไกร : ทีมเราทุกคนไม่ได้เอาอาชีพช่างภาพมาทำเพื่อหาเงิน แต่ละคนมีงานประจำของตัวเองเป็นด้านอื่นๆ แตกต่างกันไป แต่เรารักในการถ่ายรูป เรารู้ว่าการเป็นช่างภาพอิสระนั้นรายได้น้อย อยู่กินลำบากแสนเข็ญแน่ๆ ถ้าไม่ได้เป็นทำงานองค์กรและมีเงินเดือน เรามาทำงานนี้ด้วยอุดมการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานสำคัญๆ ที่ต้องทำงานเพื่อพระมหากษัตริย์ของเรา เราก็เอาความสามารถเท่าที่มีนี่แหละ มาสร้างผลงานให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างไร ผมว่าเราทุกคน ถ้าได้ทำในสิ่งที่รัก ผลงานที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นงานด้านใด มันจะสื่อสารออกมาได้ชัดถึงคุณค่า

ณัฐสุดา : สำหรับเราทุกคน ไม่ใช่เฉพาะช่างภาพ ณัฐว่าไม่ว่าจะทำงานอะไร ในสถานะใด สิ่งที่เราลงมือทำ จะส่งผลกระทบออกไปเสมอ เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเราทำงานที่ดี สักวันมันจะส่งผลที่ดีต่อผู้อื่น เมื่อถึงวันที่ไม่มีในหลวงรัชกาลที่ 9 อะไรจะผลักดันให้เราทำงาน มันคือความเชื่อนี่แหละ ว่างานที่ดีของเราจะต้องมีผลดีต่อผู้อื่นแน่นอน ถ้าเราอยากจะให้สังคมของเราดำรงอยู่และเดินหน้าต่อไป เราก็ต้องช่วยกันทำงานให้ดี

วันที่ 27 ณัฐนั่งถ่ายรูปอยู่ในกลุ่มประชาชน พอดีได้นั่งข้างๆ กับคุณหมอและนายทหารท่านหนึ่ง เราก็คุยเล่นกันเรื่องทั่วๆ ไป จำได้อยู่ช่วงหนึ่งเราคุยกันประเด็นนี้แหละ ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร แล้วเราได้ข้อสรุปเหมือนกัน ว่าขอให้ทุกคนทำหน้าที่ ทำงานของตัวเองให้ดีที่สุดต่อไป ในฐานะที่เป็นคนไทยหนึ่งคน ทำอะไรสักอย่าง ขอแค่ทำงาน ลงมือทำ อย่าแค่บอกรัก หรือบ่นถึงปัญหาโน่นนี่ ขอให้ทำงานให้ดี งานที่ดีจะส่งผลออกไปต่อสังคมรอบข้าง สังคมจะดี และทุกอย่างจะดีเอง

ภาพ : เกรียงไกร ไวยกิจ, อัครินทร์ อัศววารินทร์, ชฎาธาร ฉายปุริยานนท์, กัมพล คุ้มวงษ์, ชัชวาล ดาจันทร์, พญ.วรรนธนี อภิวัฒนเสวี, ณัฐสุดา จันทระ

*สนับสนุนอุปกรณ์ถ่ายภาพโดยบริษัท โซนี่ ไทย จำกัด