นพเก้า เนตรบุตร หรือ ‘ครูอ๋าย’ ศิลปินปักลวดลายผ้า อดีตสาวนักโฆษณาที่รู้สึกเบิร์นเอาต์จากงาน จึงออกเดินทางค้นหาตัวเองกลับคืนมา ด้วยการทำงานอดิเรกที่หลากหลาย เธอหัดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หลายอย่าง จนกระทั่งมาพบเจองานอันเป็นที่รัก งานที่อดตาหลับขับตานอนทำจนดึกดื่น แล้วอยากตื่นเช้าขึ้นมาทำต่อไปเรื่อยๆ และคิดว่าจะเป็นงานสุดท้ายของชีวิต นั่นคือการปักลวดลายผ้า
_
Healing Your Heart
_
จริงๆ เธอเริ่มต้นหัดปักผ้าเมื่อสี่ห้าปีมานี้เอง หลังจากการทำงานอยู่ในวงการโฆษณามาตั้งแต่เรียนจบ จนอายุสี่สิบกว่าๆ
ในตอนนั้นเริ่มมีกระแสสโลว์ไลฟ์กำลังมา พวกคนหนุ่มสาวแนวฮิปสเตอร์หันไปสนใจทำงานคราฟต์และแฮนด์เมด เธอไปเข้าคอร์สเรียนวิชางานฝีมือต่างๆ เพื่อมาทำเป็นงานอดิเรก จนกระทั่งไปเรียนด้านการปักผ้า
“ตอนแรกก็ปักผ้าไป ทำงานไป ถือว่าการปักผ้าเป็นการเยียวยาตัวเองแบบหนึ่ง นอกจากนี้ เมื่อก่อนเคยชอบวาดรูป ถ่ายรูป เดินทางท่องเที่ยว แต่พอปักผ้าเป็น ก็ไม่ได้ไปไหนอีกเลย ตอนเย็นหลังเลิกงานกลับมาถึงบ้านก็ปักผ้า วันหยุดตื่นเช้ามาก็ปักผ้า จนในที่สุดก็ลาออกจากงาน และหันมาเป็นครูสอนปักผ้าเป็นอาชีพ ตอนนั้นไม่คิดเลยว่าจะมีรายได้พออยู่ได้ไหม แค่อยากทำงานนี้มาก รักและคิดถึงงานนี้ตลอดเวลา และในที่สุดถึงตอนนี้ก็อยู่ได้พอเพียง”
ครูอ๋ายแนะนำคนหนุ่มสาวที่ทำงานประจำแล้วรู้สึกเบื่อหรือเครียดว่า ควรหางานอดิเรกสนุกๆ เพื่อช่วยเยียวยาจิตใจ ในบางครั้ง งานอดิเรกอาจจะช่วยให้เราค้นพบตัวเอง และเกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเองชัดเจน
“จากเมื่อก่อนเป็นคนใจร้อน ขี้เหวี่ยง ขี้วีน เพราะในวงการโฆษณา เราต้องต่อสู้ต่อรองกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงานตลอดเวลา เราจึงสร้างเกราะป้องกันตัวเองขึ้นมา ใครพูดอะไรผิดไป เราก็จะเหวี่ยงใส่ไปก่อน แต่พอมาปักผ้า ก็รู้สึกว่ามันเป็นงานเย็น รู้สึกใจเย็นลง คงเพราะเซลล์สมองเปลี่ยนแปลงไป”
เธอบอกว่าการทำงานฝีมือเป็น ‘งาน 1 ต่อ 1’ หมายความว่าเมื่อคุณปักลงไปแต่ละฝีเข็ม จะเกิดเป็นความคืบหน้าของงานทีละฝีเข็ม ทุกอย่างต้องลงมือทำตรงหน้า จึงจะเกิดเป็นผลงานออกมาจริง การทำงานฝีมือแบบนี้จึงทำให้ผู้ทำได้เข้าสู่ความจริงของโลกมากกว่า
“งานแบบนี้ทำให้เรายอมรับความเป็นไปรอบตัว ความจริงของโลก เข้าใจเหตุและผลว่าเกิดจากการลงมือทำของเราเอง ต้องลงมือทำ งานจึงจะสำเร็จ”
ระยะหลังๆ มานี้ เพื่อนมักจะทักว่าเธอใจเย็นลงมาก ชีวิตและจิตใจปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และเมื่อเธอนำวิชานี้ไปถ่ายทอด ลูกศิษย์ที่มานั่งเรียนก็พูดตรงกันว่างานแบบนี้ช่วยเยียวยา
“อย่างน้อยที่สุด คุณรู้สึกว่ามีผลงานสำเร็จออกมาตรงหน้า หลายคนที่มาเรียนไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำงานฝีมืออะไรได้ ไม่คิดว่าฉันจะปักผ้าได้ เราเองถ้าเป็นเมื่อสิบปีก่อน ก็ไม่เคยคิดหรอกว่าทำสิ่งนี้ได้ ทุกคนกลัวไปก่อน บอกว่าฉันไม่มีหัวทางด้านศิลปะ ฉันไม่ใช่คนแบบแม่พลอย ที่จะมานั่งพับเพียบปักผ้า แต่พอลงมือทำจริงๆ ก็ได้ผลงานออกมาจริงๆ สิ่งนี้ที่ทำให้คนทำงานภูมิใจ และเป็นสุขใจ”
เคล็ดลับที่สำคัญ คือเมื่อเราทำงานเสร็จออกมาชิ้นแรก สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นตามมา คือเราจะอยากลงมือทำชิ้นต่อไปอีกเรื่อยๆ
ครูอ๋ายบอกว่าขอเพียงให้ลงมือทำ อดทนทำออกมาให้เสร็จ แล้วเราทุกคนจะสามารถไปต่อไป
_
Living Your Passion
_
เราถามครูอ๋ายว่า ให้ย้อนกลับไปมองถึงการทำงานออฟฟิศว่าไม่ดีอย่างไร งานในวงการโฆษณานั้นสูบกินพลังชีวิตคนทำงานมากเลยหรือ? เธอตอบว่ามันไม่ถึงขั้นเลวร้าย เพียงแต่การทำงานออฟฟิศแตกต่างจากการทำงานฝีมือ เพราะผลงานของเราไม่ได้ออกมาเป็นรูปธรรมให้เห็น
ถึงแม้งานโฆษณาจะช่วยสร้างธุรกิจและทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไป ตัวเธอเองทำงานในวงการโฆษณามาเนิ่นนาน ได้รับรางวัลมามากมาย แต่กลับรู้สึกว่าเปล่าภายในใจตัวเอง ข้อดีประการหนึ่งของงานประจำตลอดทางที่ทำงานมา คือเธอได้เก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ รสนิยม เรื่องราวข่าวสารใหม่ๆ รอบตัว จนเมื่อมาเริ่มต้นทำงานที่แท้จริงของตัวเอง ก็ได้นำมาประยุกต์ใช้ และได้พบคุณค่าของตัวเองกลับมา
“ตอนทำงานโฆษณาก็สนุก แต่มันซ้ำซากจนเบื่อ การปักผ้าก็ซ้ำๆ เหมือนกัน แต่เรายังไม่เบื่อ เพราะได้ลองศึกษาขั้นสูงขึ้นไปๆ คิดว่าจะไม่เบื่อแน่นอน งานปักผ้าน่าจะเป็นงานสุดท้ายในชีวิต เพราะยังมีวิชาด้านนี้อีกมากมายที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน เราก็ยังรู้สึกท้าทายไปได้เรื่อยๆ”
ถึงแม้รายได้ในชีวิตตอนนี้จะไม่เท่ากับตอนทำงานโฆษณา แต่ก็พออยู่พอกิน ครูไม่ได้ทำงานปักผ้าขาย แต่ยึดเอาการเป็นครูสอนเป็นงานที่ทำให้มีรายได้มากกว่า ลูกศิษย์มาเรียนแล้วก็มีความสุข และสามารถนำไปเป็นวิชาชีพได้ นั่นก็เท่ากับว่างานที่รักสามารถไปเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้ด้วย
“ถึงแม้ว่างานปักผ้าจะถือว่าเป็นงานที่เล็กน้อยมากๆ แต่ก็เป็นหนึ่งในงานเล็กๆ เหมือนงานอื่นๆ นั่นแหละ ที่เป็นประโยชน์จริงๆ ได้” ครูอ๋ายบอก
อย่างน้อยที่สุดมันก็ให้ความงาม ขั้นต่อมามันให้ความสุข และสำหรับบางคน มันเป็นวิชาชีพ ครูอ๋ายสรุปว่างานที่ดีคืองานที่ให้ความสุขกับตัวเอง และเป็นประโยชน์กับผู้อื่น
“คุณต้องลองนะ ลองค้นหาดู ทดลองทำหลายๆ งาน ลองทำในฐานะที่เป็นงานอดิเรกไปก่อน แล้วคุณอาจจะเจองานที่เป็นงานที่แท้จริงของชีวิตของคุณเอง”
ครูเล่าถึงเพื่อนสนิทคนหนึ่งชอบเล่นไพ่จีน เล่นแบบอดหลับอดนอน พวกเขาคุยกันว่างานอดิเรกเป็นเกมการละเล่นเล็กน้อยแบบนี้จะเป็นประโยชน์อะไรได้ จนได้ข้อสรุปว่า ถ้าเราไปสอนคนแก่ให้หัดเล่นบ้าง จะได้ฝึกสมอง ไม่เป็นอัลไซเมอร์ เพราะไพ่จีนเล่นยาก ต้องใช้ความจำเยอะมาก แบบนี้งานอดิเรกเล็กๆ น้อยๆ ของเราก็กลายเป็นประโยชน์ขึ้นมาได้
“เหมือนงานปักผ้า มันเป็นงานจิ๊บจ๊อย เล็กน้อยมาก แต่ก็เล็กน้อยเหมือนกับงานอื่นๆ งานของเราไม่ต้องยิ่งใหญ่อะไรก็ได้ เพราะในความเล็กน้อยนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว”
ครูย้ำเตือนว่าชีวิตคนเราผ่านไปแต่ละวันๆ ปีหนึ่งถ้าเราไม่ได้ทำอะไร มันก็ผ่านไปสูญเปล่า แต่ถ้าเราได้ทำงานที่รัก เมื่อเวลาผ่านไปแล้วหันมองกลับมา เห็นว่าตัวเองทำงานเสร็จเป็นชิ้่นเป็นอัน ก็จะภูมิใจ สุขใจ
_
Inspired by the King
_
ก่อนหน้านี้ ครูอ๋ายไม่เคยปักภาพในหลวง รัชกาลที่ 9 มาก่อน เพราะถือว่าเป็นของสูง เธอมิกล้าอาจเอื้อม จนกระทั่งถึงวันที่ 13 ตุลาคม เมื่อปีที่แล้ว เริ่มมีข่าวเกี่ยวกับอาการประชวรเผยแพร่ออกมา เธอจึงตัดสินใจเลือกรูปภาพที่เธอรักและหยิบผ้าขึ้นมาลงมือปักลายเพื่อส่งแรงใจและถวายพระพร ผลงานภาพนั้นได้ลงในนิตยสาร a day ในช่วงเดือนหลังจากนั้น
“คนรุ่นเราเติบโตมากับช่วงเวลาที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระราชกรณียกิจต่างๆ พวกเราเห็นด้วยความเคยชินในข่าวทางทีวี จนกระทั่งเราไม่มีท่านแล้ว จึงสำนึกได้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นช่างมากมาย และส่งผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนทุกหมู่เหล่า ปีที่ผ่านมา เราไปร่วมทำสารคดีกับรายการ Heart Work ที่โครงการดอยคำ จังหวัดเชียงใหม่ ขนาดในทุกวันนี้ยังลำบากทุลักทุเล เรานึกเทียบกับเมื่อสี่สิบห้าสิบปีก่อนที่พระองค์ท่านเสด็จไป ต้องทุรกันดารกว่านี้ไม่รู้กี่เท่า ท่านบุกเบิกทุกสิ่งทุกอย่างไว้ พอได้ไปเห็นก็รู้สึกซาบซึ้งในหัวใจ”
ครูอ๋ายบอกกับ a day BULLETIN ว่าในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นแรงบันดาลใจให้กับการทำงานของเธอ เมื่อได้เห็นว่าคนอื่นทำงานหนักกว่า เหนื่อยยากกว่า เธอเองก็ไม่อยากบ่นเบื่ออะไรอีก เธออยากลงมือทำงานที่รัก อยากให้ผลของงานนั้นได้ถูกส่งต่อ และเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นต่อไป
_
ล้อมกรอบ
_
ชีวิตคนเราผ่านไปแต่ละวันๆ ปีหนึ่งถ้าเราไม่ได้ทำอะไร มันก็ผ่านไปสูญเปล่า แต่ถ้าเราได้ทำงานที่รัก เมื่อเวลาผ่านไปแล้วหันมองกลับมา เห็นว่าตัวเองทำงานเสร็จเป็นชิ้่นเป็นอัน ก็จะภูมิใจ สุขใจ – ‘ครูอ๋าย’ – นพเก้า เนตรบุตร