เชฟเพนนี กับเส้นทางจากนักเรียน MBA สู่เชฟสาวระดับนานาชาติ

ถ้าเปรียบชีวิตเหมือนอาหาร การเดินทางก็เหมือนการบรรจงปรุงอาหารจานนั้นให้ออกมาอร่อยและน่าทานที่สุด ชีวิตของเชฟสาวอย่าง ‘เพนนี’ – เพ็ญณี จิรายุวัฒนา ก็เช่นกัน เธอผ่านอุปสรรคมากมายที่กลายเป็นบทเรียนล้ำค่า การทำงานอยู่ในครัวท่ามกลางเมืองใหญ่ๆ อย่างลอนดอนและนิวยอร์ก สร้างประสบการณ์ชีวิตและรสชาติใหม่ๆ ที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน และยิ่งตัวเชฟรู้จักรสชาติของเครื่องปรุงมากแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้อาหารจานนั้นเต็มไปด้วยรสชาติอันน่าจดจำที่คุณจะสัมผัสได้จากคำบอกเล่าของเธอต่อไปนี้

ผู้หญิงก็เหมือนผู้ชายนั่นแหละ แค่อาจจะยกของหนักสู้กันไม่ได้เท่านั้นเอง อย่ากลัวว่าถ้าเป็นผู้หญิงแล้วทำดีจะไม่มีใครเห็น ถ้าคุณทำดี มีฝีมือ ยังไงก็ต้องมีคนเห็น

เชฟเพนนี
ภาพ: มณีนุช บุญเรือง

Young Penny

ตอนเด็กๆ เราก็เป็นเหมือนเด็กไทยทั่วไปที่รู้แต่ว่า ต้องเรียนหนังสือ ต้องท่องหนังสือ ต้องเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ เราก็เรียนพิเศษ ทำตามแบบแผนของนักเรียนไทยทั่วไป ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ มันดี แต่มันไม่ได้ช่วยให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบอะไร จนกระทั่งได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ ได้อยู่คนเดียว ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ยิ่งช่วงที่อ่านหนังสือเรียนหนักๆ จะเครียดมาก แต่แทนที่เครียดแล้วจะออกไปช้อปปิ้ง ไปเล่นเกม เรากลับเลือกที่จะเข้าครัว พอเครียดปุ๊บก็ทำอาหารทันที

A Whole New World

การทำอาหารสำหรับเราเป็นการออกจากโลกปกติไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง มันทำให้เราลืมเรื่องเครียดๆ ในชีวิตไปหมด ทำแล้วมีความสุข ผ่อนคลาย แล้วโชคดีที่ตอนนั้นมีคนในอพาร์ตเมนต์เดียวกันเป็นเชฟอยู่ ก็เลยไปปรึกษาเขา เขาก็เล่าให้ฟังว่าเขาทำอะไรบ้าง และตัวเราเองก็เริ่มศึกษาเรื่องโรงเรียนทำอาหารไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งตอนนั้นมีงาน open house ของ The Culinary Institute of America หรือ CIA โรงเรียนสอนทำอาหาระดับแนวหน้าของสหรัฐฯ พอดี หลังกลับจากงานคราวนั้นเราโทรศัพท์กลับไปหาที่บ้านทันทีเพื่อบอกแม่ว่า ไม่อยากเรียน MBA แล้ว ซึ่งเขาเสนอให้เราเรียน MBA ให้จบก่อน แล้วค่อยมาคุยกันอีกที ได้ยินอย่างนั้นปุ๊บเราก็เรียนอย่างอุตลุดเลยนะ มีซัมเมอร์ก็ลงซัมเมอร์ เพราะเราอยากรีบไปเรียนทำอาหารให้เร็วที่สุด

Cook Cook Cook

พอได้มาเรียนทำอาหาร ทุกเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดเราจะทำงานพิเศษเป็นผู้ช่วยสอนบ้าง หรือบางครั้งก็นั่งรถไฟเข้าไปในแมนฮัตตันขอเขาทำงานฟรี ร้านไหนดังๆ เราจะจดไว้หมดเลยว่าอาทิตย์ไหนจะไปร้านไหน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าไปเอาพลังมาจากไหนเหมือนกัน รู้แต่ว่าได้อะไรมากมายจากงานพิเศษเหล่านั้น เพราะนอกจากจะสอนให้เราเก่งขึ้น มีความอดทนขึ้น ยังได้รู้จักคนใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกเยอะ เคยมีคนถามเหมือนกันว่าทำไมถึงทำงานโดยไม่เอาค่าจ้าง ซึ่งเราไม่เคยคิดว่าเราเสียเปรียบเลยนะ มีความสุขมากด้วยซ้ำ เพราะการทำแบบนี้ทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา สิ่งที่ได้มาทั้งหมดมันเทียบออกมาเป็นตัวเงินไม่ได้เลย

Love is All

ตอนที่ได้ไปทำงานในครัวจริงๆ เรากลับมาร้องไห้ทุกวันเลยนะ จำได้ว่าโทรศัพท์กลับไปร้องไห้กับแม่บ่อยมาก แต่เพราะเรารักในสิ่งที่ทำ มันเลยมีพลังบางอย่างที่ผลักดันให้สู้ต่อ และยิ่งหันไปมองเพื่อนร่วมงานที่ยืนอยู่ข้างๆ ตื่นเช้ามาทำงานพร้อมกันกับเรา กลับบ้านดึกเหมือนๆ กับเรา ยิ่งยอมแพ้ไม่ได้ ซึ่งความสุขนั้นได้แผ่ไปถึงคนรอบข้างด้วย ครั้งหนึ่งมีเชฟคนหนึ่งถามเราว่า คุณทำได้ยังไง มาทำงานในครัวทุกวันพร้อมกับรอยยิ้มบนใบหน้า เรายิ้มก่อนตอบไปว่า ก็ฉันมีความสุขไง แค่นั้นเอง

Men vs Women

หลายคนมองว่าเชฟผู้หญิงอาจจะเติบโตทางอาชีพและทำอะไรได้ไม่ทะมัดทะแมงเท่ากับเชฟผู้ชาย เราเองก็เคยคิดอย่างนั้น จนกระทั่งมีวันหนึ่งเจ้านายของเรามาบอกว่า ผู้หญิงก็เหมือนผู้ชายนั่นแหละ แค่อาจจะยกของหนักสู้กันไม่ได้เท่านั้นเอง พร้อมย้ำว่า อย่ากลัวว่าถ้าเป็นผู้หญิงแล้วทำดีจะไม่มีใครเห็น ถ้าคุณทำดี มีฝีมือ ยังไงก็ต้องมีคนเห็น

Worth It

เรื่องที่ประทับใจที่สุดในฐานะเชฟคือมีอยู่คืนหนึ่งเรามีหน้าที่ดูแล station ย่างเนื้อในครัว ผู้จัดการร้านเดินเข้ามาแล้วบอกว่า มีลูกค้าอยากเจอเชฟที่ย่างเนื้อ ตอนนั้นเราใจไม่ดีแล้ว กลัวว่าสเต๊กจะมีปัญหา แต่ก็ต้องออกไปทั้งที่หน้ามันๆ อย่างนั้นเลย พอไปถึงที่โต๊ะ ลูกค้าบอกว่า ขอบคุณนะที่ออกมาเจอ เขาทานสเต๊กที่ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์มาก็หลายร้านแล้ว ไม่เคยมีร้านไหนอร่อยเท่านี้ แล้วยังบอกอีกว่า ถ้าเขาเรียกผู้จัดการร้านมาชม เขาก็ไม่ใช่คนย่าง หรือเรียกหัวหน้าเชฟมาชม เขาก็ไม่ใช่คนย่างอีก เขาเลยต้องเรียกเราเท่านั้น แค่นี้ก็คุ้มกับที่เหนื่อยไปแล้ว (ยิ้ม)

ติดตามเรื่องราวของเชฟเพนนีได้ ที่นี่