เราได้เจอกับ ‘เต้ย’ – ภาณุมาศ ทองธนากุล ในอีกสิบกว่าปีให้หลังจากที่เขาตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตตัวเองครั้งใหญ่นั่นคือลาออกจากงานประจำ ประสบการณ์วันนั้นกลายเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์อย่าง การลาออกครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นเขาเล่นสนุกทดลองออกแบบชีวิต พร้อมทั้งทำสิ่งที่ชอบมาอย่างต่อเนื่อง (ตัวอย่างเช่น ผลงานหนังสือเล่มล่าสุด Life is a Lottery ที่ออกกับสำนักพิมพ์แซลมอนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา) วันนี้เต้ยบอกกับเราว่า เขาเลิกสนใจคำว่าอิสระไปแล้ว เพราะชีวิตเหมือนกับการย้ายจากกรงหนึ่งไปสู่อีกกรง สิ่งที่เขาสนใจคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ศาสตร์แห่งการทำให้ดีขึ้น’ มากกว่า
“
12 ปีที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในงานประจำ มันคือการย้ายจากกรงหนึ่งไปสู่อีกกรงนะ แต่โชคดีที่ตอนนี้มันเป็นกรงที่เราชอบ
”
ย้ายจากกรงไปสู่อีกกรง…
12 ปีที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในงานประจำ มันคือการย้ายจากกรงหนึ่งไปสู่งอีกกรงนะ แต่โชคดีที่ตอนนี้มันเป็นกรงที่เราชอบ แต่ละซี่กรงก็ถูกประดับลวดลาย ฉลุให้สวยงาม อยู่ในกรงนั้นเราไม่ทุกข์ทรมานมาก และเป็นกรงที่เปิดประตูหน้าเอาไว้ตลอด อยากจะเดินออกไปเมื่อไหร่ก็ไป ชีวิตตอนนี้มันไม่ถึงขนาดอิสระทุกอย่าง แต่มันก็สุขใจที่ได้อยู่
จัดการความเบื่อ…
การเป็นฟรีแลนซ์อยู่บ้านอย่างเดียวมันน่าเบื่อนะ เราเลยพยายามจะตั้งภารกิจให้ตัวเอง อย่างช่วงนี้เป็นเทศกาลดูสารคดี ช่วงก่อนหน้านั้นเป็นเทศกาลฟังเพลงประเทศแปลกๆ หรือดูกูเกิลสตรีทวิวไปยังเมืองแปลกๆ แล้วเปิดเพลงประเทศเหล่านั้นไปด้วย การที่เราไม่อยู่กับงานประจำทำให้ต้องจัดการกับความเบื่ออีกรูปแบบหนึ่ง เราต้องบรรจุสิ่งต่างๆ เข้ามาอยู่ในชีวิต และถ้าบรรจุดีๆ ก็จะเต็มไปด้วยสิ่งที่ชอบ แต่ถ้าบรรจุไม่ดีก็จะทำให้เราหงุดหงิด และอยากออกไปเจอเพื่อนๆ เพื่อสลัดความเบื่อตรงนั้นออกไป
สะสมของในตู้เย็น…
ช่วงเวลาที่เริ่มเขียนหนังสือหรือเข้าถ้ำ คือช่วงที่เราค่อนข้างมั่นใจว่าของในตู้เย็นพร้อมแล้ว เราสามารถหยิบวัตถุดิบจากตู้เย็นมาใช้ได้ ไม่ได้อยู่ในภาวะที่รู้สึกว่าตัวเองขาดกะหล่ำ ขาดใบกะเพรา แล้วต้องออกไปหา ต้องรู้สึกว่าตัวเองพร้อมก่อน ถ้าอยากยืนระยะทำงานสร้างสรรค์ได้ยาวๆ เราต้องมีวัตถุดิบ ไม่ได้อยู่กับห้องเฉยๆ หรือถ้าอยู่กับห้องเฉยๆ เราก็ต้องเปิดหน้าต่างออกไปเรียนรู้จากโลกออนไลน์ ผมก็พยายามรักษาสมดุลตรงนี้อยู่
Why สำคัญกว่า What...
หนังสือ Life is a Lottery ห่างจากเล่มที่แล้ว 2 ปี เป็นสองปีที่เราไม่รู้จะเขียนอะไรเลย จนเหมือนกับคนท้อง มาแล้วมาเลย เผลอๆ การไม่กะเกณฑ์ว่า เดี๋ยวพอเราเดินทางไปประเทศนี้กลับมาต้องเขียนหนังสือให้ได้ หรือพอมองปฏิทินแล้วบอกว่า ตุลาคมนี้ต้องออกหนังสือให้ได้ แบบนั้นไม่ใช่จุดตั้งต้นที่ดีในการเขียน เพราะว่า Why สำคัญกว่า What คนชอบนึกว่าจะเขียนอะไรดี แต่การเขียนหนังสือจริงๆ กัดกินชีวิตเรา ถ้าเกิดภาวะวุ่นวายเข้ามาก็มีโอกาสล้มเลิกสูง และสิ่งเดียวที่ทำให้เราอยู่ได้คือ Why เหตุผลว่าทำไมเราถึงเขียน ถ้ามันใหญ่เพียงพอ ต่อให้จะมีภาวะยุ่งเหยิงอะไรเข้ามา สุดท้ายการวิ่งมาราธอนครั้งนี้จะถึงเป้าหมาย
“
เรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตเรา ไม่ได้ดีขึ้นด้วยการปล่อยไปตามยถากรรม เรื่องครอบครัว เรื่องสุขภาพ เรื่องความสามารถที่เพิ่มขึ้น ล้วนต้องเอาเวลาไปจ่ายทั้งนั้น
”
เวลาคือสิ่งที่แพงที่สุด…
เรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตเรา ไม่ได้ดีขึ้นด้วยการปล่อยไปตามยถากรรม เรื่องครอบครัว เรื่องสุขภาพ เรื่องความสามารถที่เพิ่มขึ้น ล้วนต้องเอาเวลาไปจ่ายทั้งนั้น ถ้าไม่มีเวลาไปนั่งฟังความสุขความทุกข์ของคนในครอบครัว ความสัมพันธ์เราจะไม่ดีขึ้น ถ้าไม่เอาเวลาไปจ่ายให้กับร่างกาย สุขภาพจะไม่ดีขึ้น แต่ก่อนเราไม่มีเวลาเพราะว่าเราขายมันให้กับบริษัทจนหมด บริษัทเรียกร้องอะไรเราก็จ่ายไปด้วยเวลา สุขภาพแย่ ความสัมพันธ์แย่ ผมว่าเวลานี่แหละเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ได้มาจากการออกจากงานประจำ
จงออกแบบชีวิต…
เราเอาเวลาที่เคยใช้ไปกับการแลกเงินมาซ่อมแซมจุดอื่นๆ แต่ละเดือนอาจจะมีรายได้ไม่เยอะมากก็ได้ แต่ถ้าส่วนอื่นๆ ในชีวิตมันเต็ม เรากล้าพูดได้เต็มปากว่าชอบชีวิตแบบนี้ สำหรับคนหนุ่มสาวหรือคนเมืองอาจมองว่าเราสู้ในระบบไม่ได้แล้วหรือเปล่าเลยหนีออกมาแบบนี้ ซึ่งก็จริง เราต้องโจมตีตัวเองตลอดเวลา เราไม่ต้องสู้ก็ได้ ไม่ต้องสู้ในสงครามที่เราไม่อยากร่วม ก็อยู่แบบน้อยๆ ไปแบบนี้
ศาสตร์แห่งการทำให้ดีขึ้น…
ทุกวันนี้ผมสนใจศาสตร์แห่งการทำให้ดีขึ้น เราจะมีสุขภาพดีขึ้นได้อย่างไร ออกกำลังกายยังไงให้มันดี เพราะที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตแบบกะๆ เอาว่าประมาณนี้แหละมั้ง นึกว่าเข้าใจ เหมือนประกอบพัดลม มีใครอ่านคู่มือพัดลมไหมล่ะ? ซื้อมาเสียบปลั๊กก็ใช้เลย ซึ่งบางคนคิดว่าร่างกายเหมือนพัดลม เกิดมาเป็นร่างกายกูนี่ก็ใช้ไปสิ แต่จริงๆ มันมีรายละเอียดอยู่ เราต้องศึกษาสิ ทำยังไงให้ดีขึ้นวะ เอาคำถามนี้ไปใส่กับทุกอย่างเลย