‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ ผู้ที่เชื่อว่าการคุยกับคนแปลกหน้าไม่ใช่เรื่องแปลก

การคุยกับคนแปลกหน้าอาจไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับคนไทย ‘ปอม’ – ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ เองก็เคยคิดแบบนั้น จนกระทั่งบทสนทนาสารพัดเรื่องระหว่างเขาและผู้คนในเมืองหลวงแห่งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า นอกจากการพูดคุยกับคนแปลกหน้าจะไม่ใช่เรื่องแปลกแล้ว เรื่องเล่าเหล่านั้นยังทำให้เรารู้จักพวกเขาและตัวเองบนพื้นฐานของความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวในเพจ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’

 

มนุษย์กรุงเทพ

 

สิ่งที่ผมได้จากการสัมภาษณ์คนหลายรูปแบบคือความเข้าใจ ผมมองเห็นคนในรูปทรงกลมมากขึ้น มีหลายมิติมากขึ้น ไม่ได้มองแบบหยาบไปเลย หรือดีไปเลย แต่เป็นสิ่งที่ตัวเขาเป็นจริงๆ

 

The Starting Point

ก่อนที่จะเริ่มทำเพจ มนุษย์กรุงเทพ ผมเป็นฟรีแลนซ์งานเขียนต่างๆ รับทั้งงานสัมภาษณ์ งานสารคดี จนกระทั่งวันหนึ่งนั่งคุยกับแฟนเรื่อยเปื่อยว่า อยากจะทำอะไรขึ้นมาสักชิ้นเป็นงานอดิเรก แล้วแฟนก็พูดถึงเพจ Humans of New York ขึ้นมา ซึ่งในตอนนั้นกำลังดังมากๆ ผมเองอ่านภาษาอังกฤษไม่ค่อยคล่อง แต่เข้าไปดูแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย ไอเดียมันง่ายดีนะ รูปถ่ายก็ถ่ายแบบง่ายๆ ธรรมดาๆ เต็มตัว เลยเข้าทางผม เพราะส่วนตัวถ่ายรูปไม่ค่อยเป็น แต่พอจะมีทักษะในการสัมภาษณ์อยู่บ้าง

 

1st Human of Bangkok

ทุกอย่างมันเริ่มต้นแบบง่ายมากๆ เราคุยกันว่าจะลองทำดูดีไหม พอคิดว่าจะทำ ก็ทำเลย คนแรกที่ได้ไปสัมภาษณ์และลงในเพจคือ คุณวิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร Happening ซึ่งผมเคยสัมภาษณ์พี่เขามาก่อนแล้ว แต่วันนั้นโชคดีที่ได้เจอกันอีกทีที่งานชุมนุมช่างวรรณกรรม ก็เลยขอสัมภาษณ์เขามาประเดิมเป็นโพสต์แรกในเพจ ตอนแรกเราก็เลือกไม่ค่อยถูกว่าจะสัมภาษณ์ใครดี ค่อนข้างมั่วด้วยซ้ำ แต่พอโดนปฏิเสธเยอะเข้าก็เริ่มจับจุดได้ว่า คนไหนน่าจะให้ คนไหนน่าจะไม่ให้ มาพักหลังๆ เราก็จะเลือกคนที่ไม่ค่อยมีใครไปสัมภาษณ์เขาอย่างวินมอเตอร์ไซค์หรือคุณป้ากวาดถนน จะมีคนดังๆ บ้างประปราย อย่าง คุณวิจักขณ์ พานิช, ชานันท์ ยอดหงส์ หรือ วิภว์ บูรพาเดชะ แต่เราก็จะไม่บอกว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร เพราะอยากให้คนอ่านรู้จักเขาในสิ่งที่เขาพูด ไม่ใช่สิ่งที่เขาเป็น

 

Stranger’s Things

ตอนแรกผมก็แอบคิดเหมือนกันว่าคนไทยอาจจะไม่ได้มีนิสัยชอบเล่าเรื่องตัวเองเหมือนคนต่างชาติ เลยทำให้การสัมภาษณ์แต่ละครั้งยากพอสมควร แต่ก็ไม่กล้าคิดดังหรอกครับ เพราะบางทีอาจจะเป็นตัวผมเองที่ไม่มีความสามารถในการสัมภาษณ์เพียงพอ (ยิ้ม) เคยมีครั้งหนึ่งผมตั้งใจจะสัมภาษณ์ผู้หญิงคนหนึ่งที่อุทยานเบญจสิริ ผมเข้าไปคุยกับเขาว่า ‘สวัสดีครับ ผมทำเพจเฟซบุ๊ก อยากจะคุยกับคุณสั้นๆ’ ผู้หญิงคนนั้นก็วิ่งในจังหวะที่เร็วขึ้นแล้วพูดประมาณว่า ‘ไม่เอา แบบนี้น่ากลัว เพิ่งดูทีวีมา’ จากนั้นเขาก็วิ่งเร็วขึ้นๆ จนคนรอบข้างเริ่มมองมาที่ผม มาถึงวันนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจเหตุการณ์วันนั้นเลย แต่มันก็สามารถสันนิษฐานได้ว่า คนไทยยังมีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูง

 

The Best Part

ความสนุกของการทำเพจนี้คือการได้รู้ในเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน อย่างเช่น ครั้งหนึ่งผมได้คุยกับคนกวาดถนน เขาเล่าให้ฟังว่าเหตุผลที่เขามาทำงานนี้เพราะอยากมีสวัสดิการให้ลูกเขา ตอนแรกเขาก็อาย แต่สุดท้ายก็เอาชนะความอายนั้นได้เพราะเขาทำเพื่อลูก ‘ทำเพื่อลูก’ ดูเป็นประโยคคลาสสิกที่ใครๆ ก็พูดกัน แต่เมื่อมันมารวมกับน้ำเสียงและสีหน้าของเขาทำให้ผมทึ่ง ขนลุกเลย

ทุกวันนี้ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่าแบรนดอน สแตนตัน เจ้าของเพจ Humans of New York เขาสัมภาษณ์คนยังไง ทำไมถึงสามารถเข้าถึงคนแปลกหน้าที่เพิ่งเจอได้ลึกขนาดนั้น หลายเรื่องผมยังนึกไม่ถึงเลยด้วยซ้ำ มันดูยากลำบากและเจ็บปวดเหลือเกิน คอนเซ็ปต์ของเขาคือ การเลือกคนธรรมดาทั่วไปนี่แหละ ด้วยแนวคิดแบบที่อยากจะลบค่านิยมของสื่อที่มักจะเลือกสัมภาษณ์คนดังก่อน พอเขาไม่ใช่คนดัง เรื่องของเขาก็เลยเด่นขึ้นมา มันเลยทำให้คนธรรมดาสามารถเล่าเรื่องที่พิเศษได้เช่นกัน

 

มนุษย์กรุงเทพ
ภาพ : มนุษย์กรุงเทพฯ

 

ผมยืนยันไม่ได้หรอกว่าเรื่องราวในเพจนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงมนุษย์กรุงเทพฯ ได้จริงๆ ถ้าจะเปลี่ยนก็คงจะแค่กลุ่มเล็กๆ ผมเองก็เคยคาดหวังว่ามันจะสามารถเปลี่ยนมุมมองของคนภายนอกที่มีต่อคนบางกลุ่มได้ อย่างเช่น คนพิการ หลายๆ คนก็ยังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคนพิการไม่ได้ต้องการความสงสาร การเปลี่ยนความคิดของคนทั้งสังคมใหญ่เกินกว่าที่เราจะทำคนเดียวได้ สิ่งที่ผมได้จากการสัมภาษณ์คนหลายรูปแบบคือความเข้าใจ ผมมองเห็นคนในรูปทรงกลมมากขึ้น มีหลายมิติมากขึ้น ไม่ได้มองแบบหยาบไปเลย หรือดีไปเลย

แต่เป็นสิ่งที่ตัวเขาเป็นจริงๆ การคุยกับคนแปลกหน้าไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียงก็ได้ อย่างหลังๆ ผมคุยกับคนธรรมดาๆ แล้วขนลุกบ่อยมาก เพราะเรื่องเล่าของเขาทั้งเจ๋งและเป็นสิ่งที่เราอาจคิดไม่ถึง ผมเองเมื่อก่อนก็มีข้อจำกัดคือ ไม่ค่อยอยากคุยกับคนที่รวยมากๆ เพราะมีความคิดว่าเขาน่าจะเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะจริงๆ แล้วเราควรคุยกับคนทุกคนแหละครับ พอเราเห็นความหลากหลายในคนมากๆ เราก็จะเข้าใจเขามากขึ้น รวมไปถึงเข้าใจตัวเองมากขึ้นไปด้วย