มานิตา ส่งเสริม | ความหมายภายใต้ 5 ปกหนังสือของดีไซเนอร์ปกหนังสือรุ่นใหม่

เหล่าคนรักหนังสือคงเตรียมกระเป๋าฉีก พร้อมเปย์หนังสือปกสวยๆ ที่จะออกขายใน งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 ที่จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 18-29 ตุลาคมนี้ แต่กว่าจะกลายมาเป็นปกหนังสือสวยๆ ที่เราเห็นนั้น ล้วนต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองไอเดียจำนวนมหาศาล เพื่อที่จะถ่ายทอดแก่นของหนังสือทั้งเล่มออกมาไว้บนหน้าปก และเราคิดว่าในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา คงไม่มีนักออกแบบปกคนไหนที่น่าสนใจมากไปกว่า มานิตา ส่งเสริม ดีไซเนอร์สาวคนนี้

ตอนวางดีไซน์ เรามองภาพรวมทั้งปกหน้าและปกหลัง มันจะเกี่ยวเนื่องกันหมด

นักออกแบบปกผู้เชื่อมโยงภาพรวม

นักออกแบบปก เป็นหนึ่งในอาชีพที่น่าอิจฉาสำหรับนักอ่านคนอื่นๆ เพราะเป็นคนที่มักได้อ่านต้นฉบับคนแรกๆ รองจากบ.ก. และนักเขียน เพื่อที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาของหนังสือทั้งเล่ม และถ่ายทอดออกมาเป็นภาพปก รวมทั้งจัดวางเลย์เอาต์ของหนังสือด้านในแต่ละหน้า

ดังนั้น นักออกแบบปกจึงต้องเจอกับโจทย์ท้าทายที่แตกต่างกันไปในหนังสือแต่ละเล่ม มานิตาบอกเล่าแนวคิดในกระบวนการส่วนตัวของเธอไว้ในงาน ‘Uncover the Cover’ ของโครงการ 100abcd ว่า วิธีคิดของเธอเป็นการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ทั้งเล่มเข้าด้วยกัน (อ่านแนวคิดของนักออกแบบปกคนอื่นๆ แบบเต็มได้ ที่นี่) แต่เคล็ดลับขั้นแรกในการออกแบบของเธออาจจะแตกต่างจากคนอื่นสักหน่อย ด้วยการสร้างภาพภาพใหญ่ของเล่มขึ้นมาก่อน

ในการออกแบบ เราจะสร้างคีย์วิชวลออกมาเป็นอันดับแรกคือ ชื่อเรื่อง พอมันมีคีย์แล้ว เราจะมีทิศทางที่จะไปต่อได้

ด้วยความที่มีพื้นฐานการทำงานกราฟิกดีไซน์ให้กับนิทรรศการต่างๆ ในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ชัดเจนว่า งานของเธอเด่นชัดในสไตล์กราฟิกอาร์ตอย่างมาก มานิตามักมองงานทุกชิ้นของเธอเป็นโปสเตอร์ชิ้นหนึ่ง วิธีคิดนี้ได้สร้างลายเซ็นและเอกลักษณ์ของเธอให้แตกต่างอย่างชัดเจนจากรุ่นพี่นักออกแบบปกคนอื่นๆ ในวงการ

ทำทุกปกเหมือนเป็นปกสุดท้าย

โดยส่วนตัวของผู้เขียน จะติดตาเอกลักษณ์ของนักออกแบบสาวคนนี้จากสไตล์การดีไซน์แบบคลีนๆ ของเธอ แต่บนหน้าปกนั้นกลับเต็มไปด้วยรายละเอียดที่แทรกความหมายลึกซึ้งให้เราตีความ ยกตัวอย่าง SUM : สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย หรือ Revenge ที่เต็มไปด้วยสัญญะสนุกๆ บนหน้าหนังสือ

มานิตา

“อย่างปก Revenge เราชอบเวลาที่เจ้าของสำนักพิมพ์เล่า มันลึกกว่าที่ตัวเองอ่าน เขาจะเขียนอธิบายมา แล้วเราจับได้วลีหนึ่งคือ ‘ความนิ่งที่เดาไม่ได้’ จนกลายมาเป็นภาพอักษรลอยค้างกลางพื้นหลังสีชมพูอย่างที่เห็น”

กระบวนการสำคัญในการทำงานของเธอคือ การเข้าใจคอนเซ็ปต์ของหนังสือให้ครอบคลุมที่สุดทั้งจากการอ่านและการพูดคุยกับบรรณาธิการ ซึ่งหลายๆ ครั้งทำให้งานที่เราได้เห็นจากเธอพาเราก้าวกระโดดไปอีกขั้นของตัวหนังสือ และสิ่งหนึ่งที่เราขอนิยามว่าเป็นสไตล์การทำงานสุดติสต์ของเธอก็คือ การออกแบบปกให้จบในครั้งเดียว และนำเสนอไอเดียที่สมบูรณ์นั้นเป็นงานเพียงหนึ่งชิ้นให้กับบรรณาธิการที่เธอทำงานด้วย ซึ่งเธอให้เหตุผลทิ้งท้ายไว้ว่า

คนที่มาจ้างออกแบบปกเจ้าแรก เขาบอกเราว่า ทำให้เหมือนเป็นปกสุดท้าย

_

5 หนังสือปกสวยที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจ

_

01 Vrais Reves : Histoires Photographiques de Duane Michals

“ปกนี้เห็นครั้งแรกก็ชอบมาก ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร จนมาอ่านถึงรู้ว่าเป็นหนังสือรวมภาพถ่ายของ Duane Michals การออกแบบคำว่า Vrais Reves ให้เหมือนหมึกซึมที่โดนน้ำชะล้างแล้วปล่อยพื้นที่ข้างบนไว้ก็ลงตัวไปหมด”

มานิตา

02 Never Modern : Irénée Scalbert and 6a Architects

“งานออกแบบของ John Morgan studio เป็นปกที่เห็นแล้วรู้สึกสะอาด นิ่ง แข็งแรง ชอบตั้งแต่ชื่อ Never Modern ที่ทำงานกับตัวอักษรแบบ old-style เห็นแล้วเกิดคำถามว่าเนื้อหาพูดถึงอะไรนะ เลยทำให้สังเกตมาตลอดว่าเราจะเป็นคนที่ชอบปกที่บอกไม่หมด เห็นแล้วรู้สึกสงสัย”

มานิตา

03 My Hand-Drawn Characters : Hirano Kouga

“ออกแบบโดย Wang Zhi-Hong นักออกแบบปกชาวไต้หวันที่เราชื่นชม ที่เลือกปกนี้เพราะมันต่างจากเล่มอื่นๆ ที่เขาทำ ปกติรูปแบบของ Wang จะเรียบนิ่ง ตัวอักษรเข้ากริด เนี้ยบๆ แต่เล่มนี้งานออกแบบตัวอักษรดูอิสระ แค่มองรายละเอียดแล้วแยกองค์ประกอบตัวอักษรออกมาทีละตัวก็สนุกแล้ว”

มานิตา

04 ku:nel : 2014.05.01

“นิตยสารไลฟ์สไตล์ของญี่ปุ่น มีช่วงหนึ่งที่ชอบเดินสำรวจนิตยสารต่างๆ แล้วท่ามกลางหน้าปกที่กำลังตะโกนใส่เรา ปก ku:nel แตกต่างขึ้นมาแบบอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่ไม่มี eye-contact กับคนเลยด้วยซ้ำ แต่ใช้ความเงียบ ความเบา สื่อออกมา”

มานิตา

05 A Seat at the Table : Solange

“อันนี้เป็นกึ่งๆ หนังสือ + อัลบั้มเพลง เมื่อปีก่อนที่อัลบั้มของ Solange ออกมา นอกจากงานเพลงที่ดีมาก ปกอัลบั้มก็ออกมาดีเหมือนกัน เราชอบการที่ศิลปินสนใจดึงงานกราฟิกเข้ามาผสม สังเกตได้ว่าจะมีสไตล์การจัดตัวหนังสือแบบ Dada การใช้เส้นเชื่อมโยงคล้ายๆ mind mapping เลยให้ความรู้สึกที่ดีต่องานชิ้นนี้”

มานิตา