“
ผมว่าดนตรีกับชีวิตคนเรามันแยกกันไม่ได้ ขนาดเวลาหัวใจเต้น มันยังเต้นเป็นจังหวะไปกับดนตรีที่ฟังเลย
”
‘โต๋’ – ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร นักเปียโน นักร้อง และนักแต่งเพลงบอกกับเราอย่างนั้นก่อนขึ้นเวที Music Matters 2017 ที่สิงคโปร์ในวันที่ปรากฏการณ์ Music Streaming ได้ matters กับชีวิต และวงการดนตรีที่เขาคลุกคลีมาตั้งแต่วัยเตาะแตะ โดยเฉพาะการยืนระยะในวงการดนตรีเอเชียมาอย่างยาวนาน
ยืนยันได้จากการเป็นตัวศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่ได้ขึ้นมาปล่อยพลังในเทศกาลดนตรีครั้งใหญ่ของเอเชียที่เปิดพื้นที่ให้ 40 ศิลปินจากกว่า 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางดนตรีซึ่งกันและกันแบบสุดเหวี่ยง 5 วันเต็ม ก่อนเซอร์ไพรส์อีกต่อด้วยการขึ้นคว้ารางวัล Artist that Matters 2017 ซึ่งพิจารณาตัดสินโดยทีมผู้จัดงานร่วมกับกูรูจาก Apple Music เราจึงอดไม่ได้ที่จะออกเดินทางสำรวจปรากฏการณ์ทางดนตรีไปกับโต๋ และฟัง Play List น่ารักน่าหยิกของเขาไปพร้อมกัน
_
THE BEGINING OF NEW SPORTLIGHT ASIAN ARTIST FROM THAILAND
_
เริ่มแรกเลยผมว่ามันเกิดจากโลกเราเล็กลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากการมี Music Streaming เราสามารถรู้ได้ว่าประเทศต่างๆ ในเอเชียเทรนด์การทำเพลงเขาไปถึงไหน ไม่จำเป็นต้องรอให้เพลงนั้นดังจริงๆ ถึงจะข้ามมาบ้านเรา ทำให้ศิลปินเอเชียด้วยกันเองเริ่มมาจอยกัน ทำเพลงให้กันและกันฟังเองมากขึ้น เช่น ทางอินโดนีเซีย เขาก็เริ่มออกเพลงเวอร์ชันภาษาอังกฤษมากขึ้น จีนเองก็เริ่ม cross งานเพลงเข้ากับประเทศในเอเชียด้วยกัน อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงแถบตะวันตกที่อยู่อีกซีกหนึ่งของโลกถ้ามองแค่เอเชียจะเห็นว่าวงการดนตรีมีการ cross over มากขึ้น
ตอนนั้น Sony Music ของจีนเขาอยาก cross over ด้วยการดึงเราไป featuring กับศิลปินที่นู่น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเพลงฟังซึ่งกันและกัน เขาเลือกเพลงจากอัลบั้มเราให้ไปทำเพลงด้วยกัน กลายเป็นว่า เราได้มีโอกาสไปโปรโมตเพลงของเราที่ปักกิ่งกับ sony music ที่นั่น และได้มีโอกาสไปเล่นที่มาเลเซีย อินโดนิเซีย สิงคโปร์ กลายเป็นศิลปินทุกคนในละแวกนี้สนิทสนมกันหมด สิ่งที่เราเคยคิดเคยบอกกับตัวเองว่าอยากทำเมื่อ 3-4 ปีก่อนตอนที่ตัดสินใจไปเรียนภาษาจีนที่ไต้หวันเลยกลายเป็นจริง
ส่วนการได้มาที่ Music Matter ผมว่าอันนี้เป็นเครือข่ายจากการทัวร์เทศกาลดนตรีเลย มันเป็น network ของ Asia local artist จริงๆ แลกเปลี่ยนกันในแวดวงจริงๆ เหมือนมาเพื่อรู้จักคนในวงการเพลงในทวีปเดียวกัน เช่น เราเล่นเปียโน อินโดนิเซียก็มีศิลปินหญิงที่เล่นเปียโนเหมือนกัน เขาก็จะแชร์ไอเดียว่าเราน่าจะได้เจอกัน หรือจบงานนี้ก็มีไปอัดเพลงกับนักร้องฟิลิปปินส์ เราแต่งเขาร้อง คือมัน cross over กันเยอะมากๆ ตอนนี้
_
THE BEST PREPARATION FOR MUSIC INDUSTRIES IS DOING YOUR BEST TODAY
_
สำหรับผม การไปเล่นนอกบ้านมันเป็นอะไรที่ใช้พลังและยากกว่าเล่นในบ้านเรา กลุ่มคนดูก็อาจจะไม่ใช่กลุ่มที่ตั้งใจมาดูเรา 100% แต่ผมชอบเพราะมันท้าทาย ถ้าเล่นตรงนี้แล้วชนะใจเขา เราจะกลับบ้านแล้วไปเล่นอะไรก็ได้
สิ่งที่ผมคิดเสมอก่อนขึ้นโชว์ในต่างประเทศก็คือ เรามาทำหน้าที่ของเรา เรามาสนุกของเรา อย่าไปคาดหวังว่าคนดูจะเหมือนบ้านเรา แบบที่มาถึงแล้วต้องเย้ โย่ เย้ คนต่างประเทศจะดีอย่างในงานแบบนี้ คือจะเป็นสายที่ดูดนตรีจริงๆ ไม่ต้องเอ็นเตอร์เทนมาก ผมอยากโชว์เปียโนก็ได้โชว์ ผมได้เล่นเซตตามใจตัวเอง ผมอยากพรีเซ็นต์ตัวเองแบบนี้ ประมาณนี้ครับ
ส่วนตัวผมมองว่าการได้มายืนที่ Music Matter เป็นเหมือนการที่เราได้มายืนดู local artist มา crossover กันเอง ทั้งจากอินโดฯ มาเลฯ สิงคโปร์ ซึ่งหลายๆ คนเราก็เคยเจอกันมาก่อนอย่าง SonaOne ตัวมิวสิกสตรีมมิ่งกับเทศกาลดนตรีมันเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ Asian local artist สตรองมากขึ้น
_
MUSIC STREAMING IS NEW PHENOMENA
_
ผมว่ามันเป็นวิวัฒนาการของมนุษย์นะ อย่างสมัยก่อนคนไปไหนมาไหนก็ขี่ม้า ขี่เกวียน ต่อมาก็มีรถม้า รถไฟ สมัยนี้เป็นรถยนต์ อนาคตก็เห็นว่าจะมีรถยนต์ที่ไม่ต้องเติมน้ำมันแล้ว คือมันเป็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยีตามชีวิตคน ตอบสนองความต้องการของคน ซึ่งคนสมัยนี้ก็ต้องการอะไรที่เร็ว ทันใจ ทุกอย่างมันเร็วหมด
ฉะนั้นการที่ดนตรีมาอยู่บนสตรีมมิ่งออนไลน์ มันไม่มีคำว่า “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” มันมีแต่คำว่า “คุณจะอยู่ยังไงกับมัน” เพราะมันคือ Way of Life ของคนสมัยนี้ หน้าที่ของเราในฐานะศิลปินก็ต้องทำเพลงต่อไป เราจะมาหยุดทำเพลง เพราะสมัยนี้มันเป็นสตรีมมิ่งออนไลน์ก็ไม่ใช่ ต้องหาวิธีอยู่กับมันให้ได้
_
NEW CHALLENGE , NEW OPPORTUNITY
_
สมัยนี้กลายเป็นสมุดดนตรีทั้งโลกมาอยู่แค่ปลายนิ้วมือเรา นี่คือข้อดีสุดๆ แต่ก่อนกว่าจะได้ฟังเพลงดีๆ หรือดูโชว์นักดนตรีเก่งๆ ไม่ง่าย กว่าเราจะได้วิดีโอมา กว่าจะได้นั่งดู แต่เดี๋ยวนี้เราสามารถดูได้ทันทีเลย เด็กเจเนอเรชันนี้ผมว่าเป็นรุ่นที่ได้เปรียบมาก เพราะรอบตัวเขามีข้อมูล มีของดีๆ ให้เสพเยอะแยะไปหมด เราจะเห็นเลยว่าเด็กๆ สมัยนี้ที่เล่นแจ๊ซได้ดี ร้องเพลงได้ดีนั้นเพราะเขาได้ฟังเพลงจากศิลปินดีๆ
หรือเวลาทำเพลง เราต้อง In put ไปเรื่อยๆ เราก็จะรู้ว่าตลาดเพลงต่างประเทศเขาฮิตแบบนี้ เพราะการทำเพลง หนึ่งคือเราต้องรู้ว่าเราชอบอะไร ทำอะไร สองคือเราต้องเข้าใจ ต้องรู้ว่าคนที่เขาเดินใส่หูฟังฟังเพลงอยู่บนท้องถนนเขาฟังเพลงอะไรกัน การมาของมิวสิกสตรีมมิ่งทำให้ผมรู้ว่าตอนนี้ อเมริกาแบบนี้ ไต้หวันแบบนี้ หรือเกาหลีเขามาทาง R&B แล้วนะ ไม่ได้เป็น Ballad ประกอบซีรีส์ซึ้งๆ อย่างเมื่อก่อน แต่ละวันผมจะดูเพลย์ลิสต์ในสตรีมมิ่งตลอด พวก new music for you ของ apple ทุกศุกร์จะมีลิสต์เพลงออกมา ถ้าต้องการไปตลาดไหน ก็ต้องรู้ว่าจะต้องดึงอะไรมาใช้บ้าง
_
WHEN MUSIC MATTERS YOUR LIFE
_
MUSIC มัน MATTERS กับชีวิตยังไง… ผมว่ามันแยกกันไม่ได้เลย เพราะดนตรีมันโตมาพร้อมกับวิวัฒนาการของมนุษย์ ผมว่าดนตรีกับชีวิตคนเรามันแยกกันไม่ได้ ขนาดเวลาหัวใจเต้น มันยังเต้นเป็นจังหวะไปกับดนตรีที่ฟังเลย หรือถ้ามองในมุมของศิลปิน ดนตรีมันก็คือไดอารี่ชีวิต หลายคนอาจจะจดบันทึกชีวิตประจำวันตัวเองเป็นตัวหนังสือ แต่นักดนตรีเลือกจดเป็นเพลง
อย่างเวลาเราได้ยินเพลง รักเธอ ก็จะนึกถึงตัวเองในปี 2007 เราคิดอย่างไร เราชอบฟังเพลงแบบไหน ทำผมทรงอะไร (หัวเราะ) ซึ่งตอนนี้ก็พัฒนาขึ้นมา ก็โตขึ้นเรื่อยๆ ดนตรีเลยเหมือนการ Record ว่าตอนนั้นเราเป็นใคร เป็นอย่างไร แล้วตอนนี้เราเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
ยิ่งเราอยู่กับดนตรีมา 15 ปีแล้ว ผมรู้สึกว่าหน้าที่ของผมก็คือการทำเพลง การที่เรามีความสุขกับสิ่งที่ทำ ผมรู้สึกขอบคุณทุกคนที่ทำให้ผมมีโอกาสได้ทำสิ่งที่ทำอยู่ และมีโอกาสได้ยืนอยู่ตรงนี้
เรื่อง : polarpoid.d
ภาพ : musicmatters.asia