‘ณัฐ’ – ณัฐสุดา จันทระ เธอเป็นอดีตนักโฆษณา และเคยผ่านประสบการณ์ทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชนมาอย่างโชกโชน นอกจากนั้นเธอยังหลงรักการถ่ายภาพ ซึ่งการลั่นชัตเตอร์ของเธอนั้นเป็นเหมือนการบันทึกประวัติศาสตร์และห้วงอารมณ์ในเวลานั้นให้คงอยู่ และช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา หลังการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เธอเป็นคนหนึ่งที่ลุกออกมาบันทึกช่วงเวลาประวัติศาสตร์ในตอนนั้นไว้ และหนึ่งในภาพของเธอได้กลายมาเป็นปกของ a day BULLETIN ฉบับ 507 ซึ่งเราจะพาคุณไปคุยกับเธอถึงเรื่องราวและความทรงจำในวันนั้น
“
เราอยากเก็บภาพที่คิดว่าจะอธิบายอารมณ์ของเราและทุกคนในช่วงเวลานั้นไว้
”
_
13 October 2016
_
13 ตุลาคมปีที่แล้ว หลายคนคงกำลังตกอยู่ในความโศกเศร้า มึนงง หลังทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ณัฐสุดา จันทระ ช่างภาพสาว ก็เป็นอีกคนที่ตกอยู่ในความรู้สึกนั้น แต่ที่ต่างออกไปเธอตัดสินใจที่จะไปปักหลักอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อบันทึกภาพช่วงเวลาประวัติศาสตร์แห่งความสูญเสียของคนไทยเอาไว้
“เราเคยมีบทเรียนตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพี่นางฯ สิ้นพระชนม์ ฟังข่าวพระราชสำนักก็พอจะเดาสัญญาณได้ หลายคนคงรู้สึกเหมือนกับเรา แต่ไม่มีใครอยากให้เกิด บรรยากาศที่ศิริราชวันนั้น ผู้คนก็พยายามสวดมนต์ บางคนพยายามร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เต็มไปด้วยความสับสนมึนงง เราก็เหมือนกัน คือรู้ว่าจะมาถ่ายภาพ แม้เราจะเคยถ่ายวิกฤตการณ์มาเยอะ แต่ถึงเวลาจริงๆ ก็แทบไม่รู้ว่าจะต้องถ่ายอะไร”
ณัฐสุดาเล่าต่อว่า จนใกล้ถึงเวลานายกรัฐมนตรีแถลงข่าว ช่วงเวลานั้นภายรอบอาคารที่ศิริราชยังคงมีเสียงสวดมนต์อยู่เรื่อยๆ บางช่วงเวลาความต่อเนื่องของภาพในกล้องของเธอขาดหายไป เพราะความรู้สึกทำให้ไม่สามารถกดชัตเตอร์ในมือได้
“ก่อนนายกฯ ประกาศ เรายืนอยู่ในความเงียบ แล้วก็มีเสียงกรี๊ดมาจากอีกฝั่ง โดยเราอาศัยฟังข่าวจากลุงคนข้างๆ ซึ่งเขาเป็นคนเดียวที่มีวิทยุอยู่ตรงนั้น เราสัมผัสได้ว่าทุกคนไม่อยากเชื่อ ทุกคนรอว่าจะมีปาฏิหาริย์ แล้วก็ส่งเสียงร้องเพลงสดุดีมหาราชา เพลงสรรเสริญฯ หรือเพลงอะไรที่เขาพอจะนึกได้ พอข้างบนมีเงาของใครเขาก็จะเฝ้ามองคอยชะเง้อว่าจะมีใครสักพระองค์ออกมา เราอยากเก็บภาพที่คิดว่าจะอธิบายอารมณ์ของเราและทุกคนในช่วงเวลานั้นไว้ ซึ่งเป็นภาพนอกเหนือไปจากการเห็นคนกรีดร้องเสียใจมากๆ เพราะจริงๆ แล้วการแสดงความเสียใจมีหลายรูปแบบแบบ ไม่ใช่แค่การฟูมฟายอย่างที่สุดที่เรามักเห็นตามภาพที่สื่อออกมา เราแค่อยากบันทึกอารมณ์ที่ต่างกันตรงนั้นไว้”
_
14 October 2016
_
หลังจากนั้นวันรุ่งขึ้นในพระราชพิธีเคลื่อนพระบรมศพอัญเชิญมายังพระบรมมหาราชวัง ณัฐสุดาก็เดินทางไปเก็บภาพบันทึกภาพบรรยากาศเหตุการณ์ในวันนั้นบนถนนราชดำเนิน
“เราปักหลักอยู่ตรงนั้น และไม่ได้ดูข่าวเลยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ได้เหมือนเคย คนก็แออัดเข้ามา เราได้ยินเสียงคนประกาศว่าห้ามใส่หมวก ห้ามใส่แว่นดำ แล้วก็จะมีความเงียบเป็นช่วงๆ ถ้าคุณอยู่ ณ วันนั้น มันเงียบจนสะพรึงอยู่ลึกๆ กลายเป็นว่าเสียงกดกล้องของเรายังดัง เราไม่เคยเจอความเงียบแบบนี้มาก่อน
“ก็รอคอยจังหวะที่รถคันแรกมา เราก็ไม่รู้หรอกว่าท่านต้องเสด็จมาในรถคันแรก มารู้ทีหลัง เรารู้ว่ามีแต่ความเงียบตรงนั้น และเราต้องถ่ายไว้ก่อน พอขบวนผ่านไปสักพักเราก็ได้ยินเสียงปืนหลายนัด ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าคืออะไร จนเดินมาที่สนามหลวง เลยได้รู้ว่ามันคือเสียงปืนยิงสลุต”
“
เหตุการณ์ในวันนั้นทั้งหมดมันทำให้เราเห็นว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง ถ้ามีเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่ทำให้คนไทยรวมใจกัน เราจะเป็นมิตรที่ดีต่อกันมาก
”
_
22 October 2016
_
ตลอดช่วงเวลาเดือนตุลาคม คนไทยทั่วประเทศต่างออกมาแสดงความอาลัยถวายแด่พระองค์ท่านในรูปแบบที่ต่างกัน มีหลายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์ที่รวมใจคนไทยไว้เป็นหนึ่งเดียวมากที่สุดคือ วันที่ประชาชนชาวไทยหลายแสนคนเดินทางมารวมตัวกันเพื่อร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ณ ท้องสนามหลวง วันนั้นณัฐสุดาบันทึกภาพเหตุการณ์แบบพาโนรามา ซึ่งในองค์ประกอบของภาพมีประชาชนจำนวนมากกำลังชูพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ และมีฉากหลังเป็นพระบรมมหาราชวัง ซึ่งกลายมาเป็นภาพปกของ a day BULLETIN ฉบับนี้
“บรรยากาศในวันนั้นผ่อนคลายกว่าเดิม เพราะว่ามันทิ้งช่วงกับเหตุการณ์วันที่ 13 เกือบสองอาทิตย์ ช็อตนี้เราใช้เลนส์ 70-200 แล้วถ่ายแนวตั้งเป็นพาโนรามา ที่เราไม่กวาดแนวนอนก็เพื่อที่จะเก็บภาพวัดและผู้คน แทนที่จะถ่ายภาพเดียวแล้วเอามาครอป เราก็ถ่ายแนวตั้งและเอาภาพมาต่อกันหลายๆ ภาพเพื่อที่จะได้ความละเอียดภาพสูงสุด
“ในภาพนั้น หนึ่งภาพจะมีขนาด 24 เมกะไบต์ ก็กลายเป็นเอา 24 คูณ 9 ภาพ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็น 9 ภาพ แต่มันลงตัวพอดี ซึ่งเราเรียนรู้มาจาก พี่เกรียงไกร ไวยกิจ ว่าเวลาถ่ายภาพเราไม่ควรยึดอยู่กับวิธีเดียวแล้วจบ แต่ให้เรามองว่าภาพภาพนี้ไปได้ไกลแค่ไหน มันเป็นช่วงเวลาวินาทีที่เราประมวลผล หลายคนคงเป็นเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรให้ภาพของคุณสามารถอธิบายเรื่องราวในวันนั้นได้”
หนึ่งปีผ่านไป 13 ตุลาคม กำลังจะเวียนมาอีกครั้ง ณัฐสุดาทิ้งท้ายถึงถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วงเวลาที่ทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ในวันนั้น
“เหตุการณ์ในวันนั้นทั้งหมดมันทำให้เราเห็นว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง ถ้ามีเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่ทำให้คนไทยรวมใจกัน เราจะเป็นมิตรที่ดีต่อกันมาก เราได้เห็นคนเผื่อแผ่ เห็นคนมีน้ำใจ คือพอมีเป้าหมายเดียวกัน เราจะทำสิ่งที่ดีต่อกัน แบ่งปันพื้นที่ ไม่มีด่ากัน ถ้ามีอะไรสักอย่างที่รวมใจกัน เชื่อว่าเราก็ทำอะไรดีๆ ต่อกันได้”