หลังจากที่ ‘จะเข้’ – จุฬญาณนนท์ ศิริผล เคยนำนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ มาถ่ายทอดเป็นงานนิทรรศการศิลปะ Behind the Painting เมื่อสองปีที่แล้ว วันนี้เขาได้นำโปรเจ็กต์ดังกล่าวมาต่อยอดเป็น Museum of Kirati งานแสดงศิลปะสื่อผสม ที่ปลุกความรักในร่างที่แตกดับของคุณหญิงกีรติให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และเราสนใจว่าทำไมศิลปิน Visual Art รุ่นใหม่อย่างเขาถึงอินกับนิยายสมัย 80 ปีที่แล้วขนาดนี้ อะไรที่อยู่ในเรื่องราวโรแมนติกของคนต่างวัยต่างชนชั้น จนถึงขั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจของเขา
Museum of Kirati…
จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้มาจากการที่ผมไปเป็นศิลปินในพำนักที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วผมเสนอว่าอยากรีเมกหนังเรื่อง ข้างหลังภาพ ซึ่งผมจะแสดงเองทั้งบทของนพพรและคุณหญิงกีรติ พอทำเสร็จก็นำมาจัดแสดงเป็นโปรเจ็กต์ Behind the Painting ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนครั้งนี้ก็นำโปรเจ็กต์เดิมมาขยาย แต่โฟกัสแค่ตัวคุณหญิงกีรติเท่านั้น โดยดึงคาแร็กเตอร์ของเธอออกมาแล้วจัดแสดงคล้ายๆ งานในพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นเหมือนอนุสรณ์สถานสำหรับรำลึกถึงความทรงจำของเธอ ให้ผู้คนได้มองย้อนกลับไปว่าตอนที่คุณหญิงมีชีวิตอยู่ เธอมีชีวิตอย่างไรบ้าง
ข้างหลังภาพ…
ความสนใจเรื่อง ข้างหลังภาพ เริ่มมาจากตอนที่ดูภาพยนตร์เรื่องนี้เวอร์ชันผู้กำกับ เชิด ทรงศรี แล้วไปอ่านบทวิเคราะห์ว่า จริงๆ แล้วนิยายเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องโรแมนติกเท่านั้น แต่แฝงด้วยนัยยะทางการเมืองและสังคมที่น่าสนใจ เพราะกีรติและนพพร เป็นตัวละครที่มาจากคนละยุค กีรติเป็นชนชั้นนำที่อยู่ในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนนพพรก็เป็นชนชั้นกลางยุคใหม่ที่เติบโตขึ้นมาหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเหมือนเป็นการขัดกันของสองคาแร็กเตอร์ ตอนจบเมื่อคุณหญิงกีรติถึงแก่กรรม ก็เหมือนชนชั้นนำที่หมดอำนาจลง และนพพรที่มีชีวิตต่อไป ก็เหมือนชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่มีอำนาจเพิ่มขึ้น
คุณหญิงกีรติ : กลุสตรีที่ดี?…
มุมมองต่อผู้หญิงคนนี้ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเธอในกรอบไหนและช่วงเวลาใด ถ้ามองในยุคสมัยที่ศรีบูรพาเขียนก็อาจจะเป็นกุลสตรีที่ดี มีความระงับจิตใจตัวเองไม่ให้ไปยุ่งกับผู้ชายอื่น มีความจงรักภักดีกับสามีที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รัก แต่ถ้ามองในมุมปัจจุบัน การที่กีรติพยายามบอกใบ้นพพรว่าตัวเองรักเขาตลอดเวลา ก็อาจไม่ใช่กุลสตรีที่ดี เพียงแต่ว่าเธอกำลังเล่นเกมอะไรบางอย่างกับนพพร และเอาตัวเองไปเป็นเหยื่อของบทละครน้ำเน่า บอกว่าตัวเองเป็นคนที่เจ็บปวด ถูกกระทำ ทั้งๆ ที่รู้ทุกอย่างว่ากำลังเล่นบทบาทอะไรอยู่ ผมว่าสุดท้ายแล้วมันก็มองได้หลายแง่มุม
การเมืองและงานศิลปะ…
การเมืองเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่ผมนำมาสร้างสรรค์งานศิลปะ เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราอยู่กับปัญหาทางการเมืองที่มันใกล้ตัวมากขึ้น เกิดปัญหาความขัดแย้งกับชนชั้นกลางระดับล่างกับชนชั้นล่าง จนทำให้ผมอยากพูดอะไรบางอย่างที่ควรจะพูดในช่วงเวลาแบบนี้ และบางครั้งก็ถ่ายทอดมันออกมาเป็นงานศิลปะ
งานศิลปะและการเปลี่ยนแปลงสังคม…
ลึกๆ แล้วผมก็คิดว่างานศิลปะเปลี่ยนแปลงสังคมยากเหมือนกัน เพราะปกติงานศิลปะจะไม่ถูกนำเสนอให้เข้าหาผู้คน แต่มันเรียกร้องให้ผู้คนเข้าไปศึกษาและทำความเข้าใจด้วยตนเอง เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ในระดับกว้างขนาดนั้น แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ผมคิดว่าศิลปินมองว่างานศิลปะเป็นเครื่องมือที่คนคนหนึ่งจะแสดงความคิดเห็นทางสังคมได้ และเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เอาไว้แชร์กับคนอื่น ซึ่งส่วนตัวแล้วบางทีผมก็ไม่ได้สนใจมากว่าคนมาดูงานผมแล้วจะเข้าใจทั้งหมด ผมชอบให้มันคลุมเครือ และมีคำตอบที่หลากหลายมากกว่า
Visual Art ในสายตาคนไทย…
คนไทยส่วนใหญ่ยังติดกับความหมายของ Visual Art ในรูปแบบเดิมๆ อยู่ เช่น ต้องเป็น Traditional Painting เท่านั้น ซึ่งความคิดนี้ค่อนข้างล้าหลังถ้าเทียบกับต่างประเทศ ปัจจัยหนึ่งก็อาจเป็นเพราะว่าเรายังมีพื้นที่ให้งานศิลปะร่วมสมัยไม่มากพอ ถึงแม้ว่าเราจะมีแกลเลอรีเพิ่มขึ้น มีโรงภาพยนตร์ทางเลือกเพิ่มขึ้น แต่ความรู้สึกที่ผู้ชมจะเข้ามามีส่วนร่วมกับงานยังมีช่องว่างอยู่
อีกอย่างหนึ่งคือเราคิดว่ารัฐบาลเองก็ต้องเชื่อว่าวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นส่วนช่วยให้คนเข้าใจสังคมและการอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น อย่างที่ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ รัฐบาลจะสนับสนุนเรื่องนี้มาก แต่ของไทยก็ยังจำเป็นที่ต้องรักษาสิ่งเก่าไว้ก่อน สิ่งใหม่ยังไม่สำคัญ (หัวเราะแห้งๆ) แล้วยิ่งพวกทำอะไรใหม่ๆ ก็จะโดนตั้งคำถามด้วย ทำให้ศิลปะแขนงนี้เกิดขึ้นยากในบ้านเรา
Collaborative Art…
ในอนาคตเราอาจจะเห็นคนทำงานศิลปะทำงานร่วมกับคนสาขาอื่นๆ มากขึ้น เช่น ศิลปินทำงานกับแพทย์ ศิลปินกับวิศวกร หรือไปผสมผสานกับงานชีววิทยา คือเหมือนศิลปะมันจะไปจับคู่กับศาสตร์อื่นๆ มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นกับตัวเองอย่างเดียวอีกต่อไป
—
FYI
—
นิทรรศการ ‘Museum of Kirati’ หรือ ‘อนุสรณ์สถานแห่งความรักของคุณหญิงกีรติ’ จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี ตั้งแต่วันนี้ถึง 21 มกราคม 2561
ภาพ : ภาสกร ธวัชธาตรี