เมื่อห้าปีที่แล้ว หลังเรียนจบจากคณะวิจิตรศิลป์ สาขาภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ‘น็อต’ – พิชากร ชูเขียว เดินทางกลับบ้านที่ลำปาง เพื่อค้นหาแนวทางการสร้างงานของตัวเอง แต่สุดท้ายเขาได้ตัดสินใจกลับมาเชียงใหม่ ใช้ที่ดินของครอบครัว สร้าง Tua Pen Knot Studio เพื่อสร้างผลงานในสไตล์ของเขา ซึ่งมีความดิบตามวัสดุดั้งเดิมแต่เพิ่มเติมความคิดสร้างสรรค์ลงไปจนกลายเป็นงานชิ้นพิเศษเช่นเดียวกับสตูดิโอของเขา
“ผมกลับไปลำปางโดยไม่รู้ว่าเรียนจบแล้วจะทำอะไร ทดลองทั้งเขียนการ์ตูน ทำคาแร็กเตอร์นู่นนี่ แล้วสุดท้ายรู้สึกว่ามันไม่ใช่ แต่ผมติดนิสัยมาจากสมัยเรียนอย่างหนึ่งคือชอบด้นสด ชอบไปหาของเก่าจากหลังคณะ เอามาเพนต์ทับบ้าง ทำเป็นอินสตอลเลชันบ้างมาส่งอาจารย์จนติดเป็นนิสัย ตอนอยู่บ้านเลยเอาผ้ากระสอบ เอาอะไรที่หาได้มาทดลองสร้างงาน ผ่านไปเกือบปี แม่ก็เข้ามาคุยว่า น็อตอยากทำงานอะไร ผมก็บอกไปว่าไม่อยากทำงานบริษัท อยากทำงานของตัวเอง แม่เลยบอกว่าถ้าตั้งใจจริงๆ แม่มีที่อยู่ที่เชียงใหม่ จะใช้ก็ได้”
คุณพ่อของน็อตสร้างบ้านให้หลังหนึ่ง โดยน็อตเป็นคนออกแบบตกแต่งภายในเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาอยากออกแบบเองทั้งบ้าน แต่พ่อไม่ยอมเพราะเห็นว่าเพิ่งจบใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ อีกปีผ่านไปเขาจึงได้ตัดสินใจขอยืมเงินพ่อมาต่อเติมสตูดิโอโดยออกแบบขึ้นเองทั้งหมด
“สตูดิโอนี้เอาไว้ใช้ทำงานรีไซเคิล เริ่มจากนำกระสอบชิ้นเล็กๆ มาทำเป็นสมุด มาทำเป็นกระป๋าแบบต่างๆ โคมไฟ เริ่มไปหาวัสดุตามร้านขายของเก่า เราชอบของที่คนทิ้ง ชอบเหล็ก ชอบสนิม เลยคิดว่าสตูดิโอที่เราสร้างขึ้นมาก็ควรจะเป็นสิ่งที่เราชอบมากที่สุด เป็นซิกเนเจอร์ของเรา เราชอบไสตล์ Rough รู้สึกว่าความดิบมีความสวยงามที่คนมักจะมองข้าม แต่ผมเชื่อว่าความงามของเราไม่เท่ากัน ผมมองเห็นความงามจากวัสดุแบบดั้งเดิม เพียงแต่แต่งเติมความเป็นเราลงไปนิดๆ หน่อยๆ”
“แทบทุกอย่างในสตูดิโอเป็นสิ่งที่เราไปเก็บมา บันไดนั่นก็ใช่ กระจกมาจากร้านกาแฟที่เขารื้อแล้วมันเหลือก็ไปเก็บมา ซึ่งที่ทำนี่ไม่ใช่เพราะว่ารักโลกเท่าไหร่หรอก แต่เพราะเรามีเงินน้อย (หัวเราะ) แล้วเราอยากทำให้เงินที่มีน้อยสร้างมูลค่าให้ได้มากที่สุด ส่วนไอ้ที่ว่ารักโลกนี่มาจากการที่คนอื่นมอง คนอื่นพูดว่า “เอ้ย น็อตรักษ์โลกนี่หว่า” ซึ่งผมก็ตอบว่ารักก็ได้ครับ แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างที่ผมทำอยู่บนแนวคิดที่ว่า เอาของที่คนทิ้งแล้วมาใส่ไอเดียลงไป เพิ่มเติมความคิดสร้างสรรค์ลงไป ทำอย่างไรก็ได้เพื่อสร้างมูลค่าให้ได้มากที่สุด คือซื้อถูกขายแพงนั่นแหละ”
บ้านและสตูดิโอหลังนี้น็อตมองว่าไม่ใช่แค่ที่ทำงานเพียงอย่างเดียว มันคือ Sculpture ชิ้นหนึ่งที่เขาจะเจาะรูต่อเติมมันขึ้นมาเพื่อสร้างคอมโพสิชันให้กลายเป็นประติมากรรมในแบบของเขา
“เวลาจ้างช่างมาทำบ้าน ช่างจะปวดหัวมาก เพราะเขาจะไม่เข้าใจว่าทำไมขั้นบันไดต้องไม่เท่ากัน ตัวบ้านก็เหมือนกัน ช่างเคยถามว่าผนังทำไม่ไม่ฉาบให้เรียบ แต่ผมคิดว่าวัสดุมันมีความสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้ว มันสวย มันคล้ายงานวาดหรืองานปั้นสักชิ้นแล้วด้วยซ้ำ ไม่จำเป็นต้องปรับแต่งอะไรอีก ก็เหมือนชีวิตของคนเราที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบทุกคน แล้วผมก็ชอบความไม่สมบูรณ์แบบตรงนั้น บ้านนี้ก็เลยกลายเป็นบ้านที่ไม่สมบูรณ์แบบที่สมบูรณ์แบบสำหรับผม
“ผมคิดว่าการทำบ้านหรือทำสตูดิโอ มันไม่มีวันจบ อย่างล่าสุดคิดว่าบ้านควรจะมีพื้นที่สีเขียวบ้าง ด้านบนเคยปลูกหญ้าแต่คงเพราะร้อนเกินไปมันเลยไม่งาม ก็เลยตัดสินใจเอาหญ้าออกแล้วคิดว่าจะปลูกพืชผักสวนครัวแทน พอมีเงินเราก็อยากจะทำโน่นนี่เพิ่ม หรืออีกทีพอแก่ตัวแข้งขาไม่ดีเราก็อาจจะอยากทำทางลาดแทนบันไดก็ได้ ผมคิดว่ามันเป็นความสนุกอย่างหนึ่ง เหมือนทำงานศิลปะน่ะครับ จบหรือไม่จบมันอยู่ที่คนสร้างงานเท่านั้นจะเป็นคนตัดสินใจ”
_
Inspired by Space
_
เมืองแห่งความเป็นไปได้
เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีคนทำงานศิลปะเยอะ และเปิดกว้างสำหรับการพูดคุยทางศิลปะมากกว่าที่อื่น ทุกคนคุยภาษาเดียวกับเรา
ในความโดดเดี่ยวที่ไม่เหงา
ผมชอบไปนั่งร้านกาแฟ โดยเปลี่ยนร้านไปเรื่อยๆ ทุกเดือน เพื่อคลายความเหงาจากการอยู่บ้านทำงานคนเดียว แต่ล่าสุดเริ่มเปลี่ยนมานั่งร้านไอติมแล้ว
ความสมบูรณ์แบบที่เลือกแล้ว
ในการสร้างงานผมอาจจะชอบความไม่สมบูรณ์แบบก็จริง แต่ถ้าเป็นเรื่องคู่ชีวิตนี่ต้องเป๊ะที่สุด