ถ้าให้แปลความหมายของ Spaces within Space คงจะเป็น ‘พื้นที่ที่สาม’ ที่อาจเกิดจากสองพื้นที่ที่ทับซ้อนกันอยู่ และยังเป็นคอนเซ็ปต์โปรเจ็กต์ใหม่ของบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ที่จับมือกับ Fabrica ดีไซน์สตูดิโอระดับโลกจากประเทศอิตาลี สรรค์สร้างพื้นที่ที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่ เกิดเป็นทุนการศึกษารูปแบบตารางเมตรในโครงการเพื่อสังคมที่ชื่อว่า Space Scholarship ซึ่งมอบที่อยู่อาศัยให้กับเด็กนักเรียนที่เข้ามาศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ
เราได้คุยกับ ‘เป๋า’ – สรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง ผู้อำนวยการคอร์ปอเรทมาร์เกตติ้ง และเอพี ดีไซน์ แล็บ และ Sam Baron ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ Fabrica ในงานเปิดตัวนิทรรศการ Spaces Within Space : A Vision of Co-Living Generation ที่ผ่านมา ทั้งคู่พูดถึงการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ ความคิดเห็นที่มีต่อ ‘สเปซ’ ในปัจจุบันและอนาคต ไปจนถึงวิธีคิดส่วนตัวต่อการทำงานและการใช้ชีวิต จนออกมาเป็นบทสัมภาษณ์ 2 ชุด ที่มีความคิดแบบทับซ้อนกันอยู่ ทั้งคู่เชื่อว่าในอนาคตคำว่า co-living จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ และเราต่างก็ต้องเรียนรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมกัน โดยมีฟังก์ชันและการดีไซน์ของพื้นที่เป็นตัวช่วยให้ความสัมพันธ์ในนั้นมันดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุด
_
Sappasit Foongfaungchaveng
_
การทำแบรนดิ้งของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ อย่างไร
ที่เอพี เราไม่เรียกลูกค้าว่า consumer (ผู้บริโภค) เพราะเขาไม่ได้บริโภคบ้านเราแล้วหมดไป และเราก็ไม่ได้เรียกว่า customer (ลูกค้า) ด้วย เพราะเราไม่ได้ตั้งใจจะขายของให้เขา แต่เราเรียกว่า user (ผู้ใช้งาน) เพราะเราออกแบบทุกอย่างให้เขาใช้งาน กระบวนการคิดของเราจะให้ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง ทำยังไงถึงจะเข้าใจว่าคนเมืองในยุคนี้มีวิถีชีวิตแบบไหน เราจะตอบโจทย์ชีวิตเขาในสเปซที่มียังไงล่ะ? และคำจำกัดความของ ‘สเปซ’ มันโตไปถึงไหนแล้ว? อยู่ในโทรศัพท์ได้หรือเปล่า อยู่ในทีวีได้หรือเปล่า อยู่บนหน้าจอคอมได้หรือเปล่า ทุกครั้งที่เราจะออกแคมเปญ มันจะต้องมีนวัตกรรมเกี่ยวข้องอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการนี้ สนามฟุตบอลเอพี หรือการออกแบบห้องร่วมกับ นาโอโตะ ฟุคาซาวา
สำหรับคุณและเอพี คำจำกัดความของ ‘สเปซ’ ในตอนนี้โตไปถึงไหนแล้ว
ตอนนี้คำว่า สเปซ ในคำจัดความของเราไม่ได้เป็นแค่หนึ่งมิติ หรือแค่พื้นที่ที่เรานั่งอยู่แล้วนะ มันอาจจะอยู่ในพื้นที่ไหนก็ได้ และอาจจะไม่ใช่รูปธรรมอย่างเดียวก็ได้ AP Space ก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ สนามฟุตบอลเอพีของปีที่แล้วถือเป็นความสำเร็จมาก ใครๆ ก็พูดถึง ปีนี้ วันนี้เลย เมื่อเช้าเฟซบุ๊กเพิ่งเตือนว่า เมื่อปีก่อนเราเปิดตัวสนามฟุตบอลไป เราเองก็เพิ่งรู้ว่าทั้งสองโครงการเปิดตัววันเดียวกันเลยเหรอเนี่ย แล้ววันนี้จะเป็นยังไงนะ ซึ่งตอนที่คิดโครงการนี้กับทีม ทุกคนอยากเอาชนะสิ่งที่ทำในปีที่แล้ว แต่หนึ่งเดือนผ่านไป โจทย์มันผิด เราไม่ควรตั้งต้นด้วยความอยากได้รางวัลด้วยซ้ำ เลยกลับมาถามตัวเองว่าเราเก่งอะไร และเราอยากจะมอบอะไรให้กับใครที่ต้องการมากกว่า
เมื่อเรารู้ว่าเรามีคอนโดฯ ยูนิตไหนเหลือบ้าง ใกล้มหา’ลัยไหนบ้าง ทำให้เกิดโครงการ Space Scholarship ขึ้น โดยการให้ทุนการศึกษาเป็นตารางเมตรกับนักเรียนที่จะเข้ามาต่อมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่ไม่มีกำลังทรัพย์สำหรับค่าที่พัก และบังเอิญว่าตอนนั้นเราเริ่มเป็นเพื่อนกับ Fabrica แล้ว เรารู้ว่าเขาโดดเด่นทางด้านความหลากหลายของวัฒนธรรม ทีมเขาถ้าไปดูจะเหมือนอยู่ในองค์กรสหประชาชาติ มีครบทุกชาติ เขาจึงเข้าใจเรื่องความแตกต่าง เข้าใจถึงการใส่ฟังก์ชันบวกกับวัฒนธรรมเข้าไปในงานออกแบบ เกิดเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับคนจากหลากหลายแบ็กกราวนด์มาอยู่ด้วยกัน เป็น co-living อย่างแท้จริง
ในการทำโครงการ Space Scholarship ได้คลุกคลีกับน้องๆ นักศึกษา คุณคิดว่าชีวิตและการงานในอุดมคติของเด็กรุ่นใหม่คืออะไร
ผมนึกย้อนไปตอนหนุ่มๆ สมัยเข้าวัยเลข 30 และทุกคนในยุคนั้นอยากเป็นเจ้าของธุรกิจสักอย่าง ขอเรียกว่าเป็นยุคแรกๆ ของสตาร์ทอัพแล้วกัน ถ้าเรียกว่า SMEs มันจะฟังดูไม่เซ็กซี่เท่าไหร่ (ยิ้ม) ประกอบกับ New Year’s resolution ของเราในปีนั้นคือ ต้องเป็นเจ้าของธุรกิจให้ได้ แรกเริ่มอยากทำยาสีฟัน เพราะเวลาเปิดนิตยสารที่ไปถ่ายบ้านเก๋ๆ มุมไหนก็สวย แต่มันยังไม่มียาสีฟันที่ดีไซน์สวยๆ ห้องน้ำอุตส่าห์สวย แล้วต้องมีหลอดเนี่ยโผล่มาแบบไม่เข้ากัน เราเลยศึกษาเรื่องยาสีฟันอยู่ประมาณ 8 เดือน อ่านทุกอย่าง อ่านอย่างละเอียด รู้ว่าคนกลัวปากเหม็นและฟันไม่ขาว สุดท้ายก็พบว่ายาสีฟันที่จะประสบความสำเร็จก็คือแบรนด์ที่มีอยู่ตามท้องตลาดอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้ทำ ตอนนั้นบอกกับตัวเองเลยนะว่าถ้าคิดสินค้าอื่นขึ้นมาไม่ได้ คงจะไปซื้อร้านก๋วยเตี๋ยวสักร้าน เพื่อจะได้ไม่ผิดสัญญากับตัวเอง
อยู่ดีๆ ไอเดียกางเกงว่ายน้ำก็เข้ามาในหัว เลยเกิดเป็นแบรนด์ Timo ขึ้นมาช่วงแรกดีไซเนอร์ก็เป็นเพื่อนๆ ที่รู้จัก พอเขาเริ่มโตก็ไม่มีเวลาทำให้เราแล้ว เราเลยต้องมีทีมดีไซเนอร์ของตัวเอง ทุกครั้งที่ออกแบบลายหนึ่ง ดีไซเนอร์จะทำมา 15 แบบ แล้วเราจะเลือกแค่แบบเดียว ถามว่าทำไม สำหรับผู้หญิงไปทะเลหกวัน อาจจะซื้อชุดว่ายน้ำสัก 4 ชุด ชุดละหกพันเอง ถูกจังเลย ในขณะที่ผู้ชาย กางเกงว่ายน้ำตัวละ 3 พัน กลับรู้สึกแพงมาก อาจจะต้องเก็บเงิน 2 ปี และซื้อตัวเดียวใส่ยาวไปเลย 3 ปี เพราะฉะนั้น ในฐานะที่เราทำกางเกงว่ายน้ำผู้ชาย มันจะต้องโดนเขา ต้องชกหน้าเขาจริงๆ แต่มันไม่ยากตรงที่ว่าเราชอบ เรามี passion อยู่แล้ว กลุ่มลูกค้าก็คือตัวเราเอง เราเลยรู้ว่าเขาต้องการอะไร
แต่เดี๋ยวก่อนนะ ชีวิตของผมแบบนี้จะถือเป็นอุดมคติของคนรุ่นนี้ได้จริงๆ เหรอ
จริงๆ เราเลยอยากรู้ว่ามันสวยหรูอย่างที่คนนอกเห็นหรือเปล่า และมันต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง
(เลิกคิ้ว) เอาจริงๆ ผมไม่ได้เลือกชีวิตแบบนี้นะ ทุกอย่างมาจาก passion หมดเลย ส่วนตัวเราชอบงานดีไซน์และเป็นนักสื่อสาร พี่จะพูดอะไรให้หนูหันมาฟังพี่ตั้งแต่ประโยคแรกได้ นี่คืองานแบรนดิ้ง ซึ่งการผสมผสานสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เราต้องทำงานหนัก หนักมากๆ พอเรามี passion ตื่นเช้ามาก็ต้องดูทุกเว็บละ วันนี้มีอะไรใหม่ๆ ใครตาย แล้วเขาทิ้งอะไรเอาไว้ information คือสิ่งที่สำคัญที่สุด คนชอบพูดว่า big data สำคัญ แต่ latest data ก็สำคัญนะ เพราะนั่นคือสิ่งที่สร้าง big data เพราะฉะนั้น ทุกวันเราต้องรู้ก่อนคนอื่น ไม่ต้องรู้ทุกอย่างก็ได้ แต่รู้จริงในสิ่งที่เรารู้ และต้องมีโฟกัส อย่างผมทำงานมาหลายอย่างก็จริง แต่เนื้องานเหมือนเดิมตลอดคืองานดีไซน์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม แบรนดิ้ง มันจะวนๆ อยู่แค่นี้ ไม่ว่าจะทำโรงแรม ทำ TCDC หรือเอพี มันอยู่ในเส้นทางเดิม งานแฟร์ที่เราไปดูก็งานเดิม เครือข่ายก็เครือข่ายเดิม ฉะนั้นเราต้องรู้ว่าตัวเองชอบอะไร สมัยเราเด็กๆ งานพีอาร์คือสิ่งที่เก๋ที่สุด ยุคต่อมาต้องเป็นภัณฑารักษ์ถึงจะเท่ อีกยุคหนึ่งอาจจะต้องไปทำนิตยสาร ซึ่งถ้าเราเขวไปเขวมา เราจะอยู่ที่เดิม ไม่ได้ก้าวขึ้นมาสักที แต่ถ้าเราโฟกัส ต่อให้มีเด็กรุ่นใหม่ที่เฟรชกว่า ใหม่กว่า สิ่งเดียวที่เรามีมากกว่าคือเราทำงานมามากกว่าเขา
_
Sam Baron
_
คุณมีวิธีสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างผลงานที่แตกต่างอย่างไรบ้าง
ผมพยายามจะให้ความสนใจกับรายละเอียดเล็กๆ ในชีวิตของคนทั่วไป บางทีเราจะสังเกตเห็นพฤติกรรมบางอย่างที่ต่างกันไปตามพื้นหลังของวัฒนธรรม ซึ่งความต่างเล็กๆ นี้ เราเห็นแล้วเอาไปตีความ ไปปรับเปลี่ยนมันลงในงานด้านดีไซน์ได้เหมือนกัน อีกอย่างคือผมชอบไปดูพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ถือเป็นแรงบันดาลใจที่ดีเลย เพราะงานอาร์ตเป็นอะไรที่อิสระมาก ดุเดือดบ้าคลั่งแค่ไหนก็ได้ แล้วก็ยังสามารถเดินทางได้ไกลกว่าคนเป็นศิลปิน ในฐานะดีไซเนอร์ เรามีหน้าที่หนึ่งคือต้องคิดตอบโจทย์ที่ได้รับ ดังนั้น เวลาคิดจะสร้างอะไร มันต้องมีเซนส์เรื่องความเป็นไปได้อยู่คู่กันเสมอ มุมหนึ่งมันก็คือข้อจำกัดแหละ แต่มันก็ดีตรงที่มันบังคับให้เราต้องต่อสู้เพื่อหาคำตอบมากขึ้น
พอจะยกตัวอย่าง รายละเอียดเล็กๆ ที่คุณเลือกมาใช้กับโปรเจ็กต์ Space Scholarship ให้ฟังหน่อยได้ไหม
สำหรับโปรเจ็กต์นี้น่าจะเป็นราวโลหะสีฟ้าที่ติดอยู่ตามกำแพงห้อง ซึ่งมีไอเดียมาจากการวาดเส้นลงบนกระดาษธรรมดาๆ จนพอลองมองแบบสามมิติ เส้นเส้นหนึ่งก็สามารถกลายเป็นเฟอนิเจอร์ในบ้านได้เหมือนกัน เราจึงดีไซน์ราวแขวนนี้ไว้ในหอพักทั้งสองห้อง คุณสมบัติของมันคือคุณสามารถเปลี่ยนสิ่งของต่างๆ มาแขวนใช้ได้ตามต้องการ เช่น นำโคมไฟมาแขวนไว้เวลาที่จะอ่านหนังสือ หรือบอร์ดมาแขวนเพื่อปักหมุดบันทึกสิ่งต่างๆ หรือปรับเปลี่ยนเพื่อใช้เป็นชั้นวางของก็ได้ตามที่สะดวก และคุณอาจเปลี่ยนมันหลายครั้งในหนึ่งวันก็ยังได้ เราอยากให้พื้นที่ของห้องสามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลาย เพราะสุดท้ายคุณต้องใช้ชีวิตทุกวันอยู่ที่นี่ มันเลยจำเป็นมากสำหรับเราที่จะต้องเสนอทางเลือกหลายๆ ทางที่เปิดกว้างให้ผู้อยู่ แล้วให้พวกเขาเป็นคนตัดสินใจเลือกพื้นที่แบบที่เขาต้องการ ผมคิดว่างดีไซน์ที่ดีไม่ควรเลือกตำตอบสุดท้ายแก่ผู้ใช้ แต่ควรจะเสนอคำตอบที่เป็นไปได้หลายๆ ทางมากกว่า
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมกับดีไซน์ก็น่าสนใจเหมือนกัน เรามักคิดเสมอว่าสถาปัตย์คือกล่องของการใช้ชีวิต การร่วมมือระหว่าง Fabrica และ AP Thailand ครั้งนี้มีการตำแหน่งกันใหม่นิดหน่อย โดยเป้าหมายของ AP คือให้พื้นที่สำหรับการใช้ชีวิต ส่วนของ Fabrica คือหาวิธีพัฒนางานดีไซน์ให้เป็นหนึ่งเดียวกับสถาปัตยกรรม ผมเชื่อว่าดีไซน์มีอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ของนมกล่องที่คุณกิน วิธีที่คุณสวมเสื้อ ไปจนถึงวิธีที่คุณแบ่งห้องต่างๆ ในพื้นที่หนึ่ง โดยธรรมชาติมันคือสิ่งรอบตัวที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น คล่องตัวขึ้น ไม่ใช่อะไรที่มีแล้วรู้สึกฝืนหรือคอยจำกัดทางเลือก เราต่างหากที่จะเป็นคนเลือกปรับดีไซน์ให้เข้ากับชีวิตของตัวเอง
อะไรคือสิ่งที่น่าสนใจที่สุดที่คุณพบระหว่างการทำโปรเจ็กต์ Space Scholarship
คงจะเป็นวิถีชีวิตที่เราพยายามนำเสนอ ซึ่งอาจจะใหม่สำหรับเด็กหลายๆ คน โดยปกตินักเรียนนักศึกษามักจะต้องอาศัยในหอพัก แต่เราอยากให้พวกเขารู้สึกว่านี่คือบ้านจริงๆ ถึงแม้เขาจะมาจากคนละจังหวัด คนละวัฒนธรรม แต่แทนที่มันจะเป็นปัญหา มันกลับเป็นสิ่งที่ดี แล้วที่สำคัญ ช่วงชีวิตที่คุณเป็นนักศึกษามันเป็นเวลาแรกที่คุณจะได้ค้นหาและเริ่มสร้างตัวตนของตัวเอง ไม่มีพ่อแม่คอยบอกหรือห้ามให้ทำอะไร มันเป็นช่วงเวลาแห่งความอิสระและเป็นรากฐานว่าคุณจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แบบไหน
ในช่วงเวลานี้ที่อยู่อาศัยจึงมีส่วนสำคัญ เราอยากสร้างพื้นที่ที่เคารพตัวตนและความเป็นส่วนตัว แต่ก็เปิดให้เด็กๆ ได้พบกับเพื่อนใหม่ มีความสงบในยามที่เขาอยากอ่านหนังสือหรืออยู่ตัวเอง และมีพื้นที่สำหรับการกินข้าวร่วมโต๊ะ พูดคุยกัน หรือทำงานไปด้วยก็ยังได้ ไม่มีข้อจำกัดตายตัว นี่คือการเสนอรูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ ที่เราหวังว่าเด็กๆ ที่มาอยู่ในบ้านหลังนี้จะได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับไป ไม่ใช่แค่ในเวลา 12 เดือนในบ้าน แต่เขาจะได้รู้ว่าโอกาสในชีวิตนั้นยังมีอีกมาก และเขาจะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่กับอุปสรรคทางสังคม เมื่อเราเปิดใจให้กว้างและยอมปรับเพื่อคนรอบข้าง เราจะเจอกับทางเลือกอีกมากมาย
ภาพ: กฤตธกร สุทธิกิตติบุตร, รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล