บางกอกน้อยโมเดล

บางกอกน้อยโมเดล: สุขภาพดี เริ่มต้นได้ ด้วยปลายนิ้ว

เพียงระยะเวลาแค่ 3 ปี ประเทศไทยจะมีประชากรที่อยู่ในวัยสูงอายุประมาณ 13 ล้านคน ในจำนวนนี้จะมีปัญหาด้านสุขภาพมากกว่า 5 ล้านคน และต้องอยู่ตัวคนเดียวไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้นผู้สูงอายุเหล่านี้จะเสียชีวิตโดยลำพังถึงปีละ 5 หมื่นคน

        จะดีแค่ไหน หากประเทศไทยมีบริการและบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งสามารถเข้าถึงคนไข้และผู้ป่วย เพื่อให้การดูแลรักษาที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบดูแลและสร้างเสริมสุขภาพชุมชนผ่านระบบฐานข้อมูลสุขภาพ (ศิริราชสานสองวัย: บางกอกน้อยโมเดล) โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อพัฒนาต้นแบบสุขภาวะเขตเมือง และมุ่งหวังขยายผลสู่พื้นที่รอบโรงพยาบาลทั่วประเทศต่อไป

        ร่วมพูดคุยกับ รศ. นพ. นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม ในฐานะหัวหน้าโครงการ ถึงบทบาทและการดำเนินงานของบางกอกน้อยโมเดล ซึ่งเปรียบเสมือนก้าวแรกที่สำคัญ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่รวมถึงกำหนดต้นแบบการดูแลสุขภาวะที่ดียิ่งขึ้นและครอบคลุมทุกมิติของชีวิต ให้กับประชากรภายใต้บริบทที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมเมืองและสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้

 

บางกอกน้อยโมเดล

เริ่มต้นที่คนใกล้ชิด ส่งเสริมให้ชีวิตมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

        สิ่งหนึ่งที่คนไทยเราถือปฏิบัติคือการให้ความสำคัญกับครอบครัวและคนใกล้ชิด คอยเอาใจใส่กันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูล และดูแลยามเจ็บไข้ ประกอบกับประเทศไทยก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เกิดความท้าทายในการเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามทำนองว่าถ้าโรงพยาบาลศิริราชซึ่งตั้งอยู่ในเขตบางกอกน้อยเป็นคนคนหนึ่งที่คอยให้การรักษาคนจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ป่วยนอกประมาณ 3,500,000 คนต่อปี แล้วเราดูแลคนรอบข้างมากน้อยเพียงใด

        จึงเกิดเป็นโครงการบางกอกน้อยโมเดล ซึ่งมีหลักการสำคัญคือส่งเสริมให้สถานพยาบาลในพื้นที่ สามารถดูแลคนใกล้ตัวหรือคนในพื้นที่นั้น ด้วยบริการทางการแพทย์ในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์และพื้นฐานทางจิตใจที่ดีให้สมาชิกในครอบครัวทั้งวัยเด็ก วัยทำงาน ซึ่งเป็นรุ่นลูก รุ่นหลาน เน้นการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ พฤติกรรมที่เหมาะสมและปลอดภัยในชีวิตประจำวัน และการป้องกันโรค ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพที่ดี โดยอาศัยศักยภาพของบุคลากรและองค์ความรู้ที่มีส่งเสริมให้ทุกคนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

สำรวจข้อมูลสุขภาพชุมชน 5 มิติ วางแผนการพัฒนาดูแลคุณภาพชีวิตคนเมือง

        ก่อนที่โรงพยาบาลศิริราชจะเข้าไปดูแลประชาชนในเขตบางกอกน้อยได้ก็ต้องมีข้อมูลสุขภาพเสียก่อน แต่หลังจากได้ศึกษาข้อมูลสุขภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพประชาชน พบว่า ข้อมูลที่มีอยู่ยังแบ่งแยกเป็นส่วนๆ ขาดการบูรณาการ ทำให้ไม่มีฐานข้อมูลด้านสุขภาพของคนในชุมชนเขตเมืองในมิติต่างๆ แบบองค์รวม เราจึงได้พัฒนาระบบเพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพผ่านแอพพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต รวมทั้งผ่านหน้าเว็บไซต์ ซึ่งให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติมอีก 4 มิติที่ส่งผลต่อสุขภาพด้วย ได้แก่ ความปลอดภัยในชีวิต สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ และสังคม

        เพราะว่าการปรับปรุงสภาพสังคมแวดล้อมให้ดีขึ้น ควบคู่กับการสนับสนุนด้านสุขภาพ จะทำให้คนในเขตบางกอกน้อยมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้นด้วย เช่น คูคลองไม่มีน้ำเน่าเสีย ปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ทางเท้าปลอดภัย ผู้สูงอายุเดินได้สะดวก ส่งเสริมให้มีอาชีพและรายได้ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็จะไปส่งเสริมให้คนสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นการวางแผนการพัฒนาดูแลคุณภาพชีวิตคนเมืองอย่างครอบคลุมและรอบด้าน หากมุ่งเน้นดูแลสุขภาพด้วยการรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถช่วยให้มีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนได้

ดำเนินการรอบด้านเพื่อส่งเสริมให้คนบางกอกน้อยมีสุขภาวะที่ดีครบทุกมิติ

        การดำเนินโครงการ เริ่มต้นด้วยการสำรวจข้อมูลสุขภาพ ซึ่งเราพบว่าการมีแอพพลิเคชันและเว็บไซต์ช่วยเพิ่มความสบายใจในการตอบคำถามที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนได้ ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากขึ้น แต่บางส่วนก็ต้องการอาสาสมัครเข้าไปเก็บข้อมูล โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ข้อมูลที่เรามีตอนนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับข้อมูลสุขภาพอื่นๆ ของกรุงเทพฯ ถือเป็นจำนวนข้อมูลสุขภาพที่มากที่สุดเท่าที่เคยมี และครบถ้วนครอบคลุมทั้ง 5 มิติ ที่สำคัญคือเราให้ความคุ้มครองข้อมูลทุกอย่าง โดยมีระบบรักษาข้อมูลตามมาตรฐานสูงสุด ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติเพื่อสิทธิคนไข้

        ขั้นตอนต่อมาคือการวิเคราะห์ข้อมูลและนำผลที่ได้มาวางแผนการดูแลสุขภาพให้ประชากรในเขตบางกอกน้อย เช่น จากข้อมูลทำให้รู้โรคประจำตัวที่พบบ่อยในแต่ละช่วงอายุ และความเสี่ยงอื่นๆ นำไปสู่ขั้นตอนที่สาม คือการหาแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพให้คนในชุมชนบางกอกน้อย เช่น การอบรมปฏิบัติการช่วยชีวิตด้วยวิธี CPR เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตให้ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันในเขตบางกอกน้อย หรือให้บริการทางการแพทย์ทางไกลที่เรียกว่า telemedicine โดยให้คนไข้วัดความดันที่บ้านแล้วส่งข้อมูลมาที่แพทย์

        สำหรับระดับหน่วยงานเราได้ส่งข้อมูลสุขภาพเหล่านี้ไปให้เพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตในมิติอื่นๆ นอกจากมิติสุขภาพ เช่น วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เข้ามาช่วยสำรวจเพิ่มเติมเพื่อดูเรื่องการทำตลาดร้อยปีของชุมชนบ้านบุ เพื่อส่งเสริมปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ เรากำลังส่งข้อมูลให้สถานีตำรวจเพื่อดูเรื่องความปลอดภัย เรากำลังมีโครงการพัฒนาคูคลอง ส่งเสริมให้มีการสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้คนบางกอกน้อยมีสุขภาวะที่ดีครบทุกมิติ

 

บางกอกน้อยโมเดล

มอบความปรารถนาดีให้คนในชุมชน ส่งความช่วยเหลือได้ตรงจุดและรวดเร็ว

        แม้ว่าศิริราชเป็นสถาบันการแพทย์ที่ประชาชนให้ความเชื่อถืออยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่โครงการทำเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ที่ผ่านมาเราซื้อใจคนในชุมชนบางกอกน้อยได้ก็จริง แต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นตามคือต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการทำงานแทบจะตลอดเวลา เพราะแต่ละชุมชนมีลักษณะเฉพาะ โดยมุ่งเน้นไปที่คนดูแลคนไข้และผู้สูงอายุ ส่งความปรารถนาดีให้คนในชุมชน แล้วเราจะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือตอบแทน ทำให้เราสามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว

        นอกจากนี้เรายังพัฒนาเว็บไซต์ให้ใช้งานได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น สามารถเข้าถึงคนได้เป็นวงกว้าง เพราะเว็บไซต์มีข้อดีตรงที่ไม่กินพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเหมือนแอพพลิเคชันบนมือถือ รวมถึงระบุข้อมูลสถานที่ของผู้ตอบแบบสอบถามด้วย ทำให้รู้ได้ทันทีว่าใครอยู่บ้านหลังไหนในเขตบางกอกน้อย เผื่อในกรณีเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือมีสภาวะสุ่มเสี่ยง โรงพยาบาลศิริราชจะสามารถส่งความช่วยเหลือไปยังสถานที่นั้นได้ตรงจุดและรวดเร็ว ในเว็บไซต์ยังเพิ่มการใช้งานเกี่ยวกับการถามตอบประเด็นสุขภาพเบื้องต้น เพื่อให้คำแนะนำและข้อมูลสุขภาพที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้”

มุ่งสู่การดูแลรักษาสุขภาพอย่างมีระบบและทิศทางที่ชัดเจนทั่วประเทศไทย

        โครงการบางกอกน้อยโมเดลออกแบบมาเพื่อให้สามารถใช้ได้กับทุกชุมชนทั่วประเทศ โดยเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานพยาบาลในพื้นที่กับทุกคนในพื้นที่ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ถ้าโมเดลนี้ถูกนำไปใช้จริงในทุกพื้นที่ ประเทศไทยก็จะมีฐานข้อมูลสุขภาพของคนทั้งประเทศ ซึ่งนำไปสู่การดูแลรักษาสุขภาพอย่างมีระบบและทิศทางที่ชัดเจน

        โรงพยาบาลศิริราชจึงขอเชิญชวนทุกคน ร่วมให้ข้อมูลสุขภาพและเป็นอาสาสมัครในพื้นที่รอบโรงพยาบาล เพื่อสำรวจ เก็บข้อมูล แบ่งปันความรู้ และดูแลประชากรในชุมชนในพื้นที่ชุมชนบางกอกน้อย ซึ่งเป็นต้นแบบโครงการที่จะรองรับรูปแบบสังคมเมืองและสังคมผู้สูงอายุ โดยประยุกต์ใช้แอพพลิเคชันและเว็บไซต์ที่เข้าถึงทุกคน นำไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ต่อเนื่อง และแม่นยำ รวมถึงเฝ้าระวังปัญหาสุขลักษณะ ด้วยความตั้งใจสูงสุดของเรา คือมุ่งหวังขยายผลสู่พื้นที่รอบโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย

บางกอกน้อยโมเดล

        ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เพื่อส่งความห่วงใยจากชาวศิริราชสู่ชุมชนบางกอกน้อย ด้วยการกรอกข้อมูลสุขภาพเพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรัก เป็นอาสาสมัครเก็บข้อมูลในพื้นที่ หรือสนใจนำข้อมูลไปศึกษาและพัฒนาต่อยอดด้านสุขภาพ เพียงคลิกเข้าไปที่ www.bangkoknoimodel.com