สุพัฒนพงษ์

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์: จากรากเหง้าสู่อนาคตที่ยั่งยืน ต้นแบบเมืองแห่งความสุขของระยอง

เคยสงสัยหรือไม่ว่าเมืองที่คุณอยู่อาศัยมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง?

        เมืองในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงเมืองที่คุณต้องเข้ามาอาศัยเพื่อทำงานเลี้ยงชีพ แต่หมายถึงเมืองเกิดที่บ้านของคุณตั้งอยู่ ที่ที่ครอบครัวของคุณอยู่พร้อมหน้า และคุณต้องใช้เวลาเฉพาะช่วงวันหยุดเพื่อเดินทางกลับไปเยี่ยมเยือน ก่อนจะต้องเดินทางกลับสู่เมืองใหญ่เพื่อทำงานต่อ

        ไม่แปลกที่คุณอาจคิดออกเพียงแค่สถานที่บางแห่งหรือสิ่งของบางอย่าง เพราะการพัฒนาของเมืองใหญ่ในปัจจุบันผลักดันให้ผู้คนจากต่างถิ่นละทิ้งบ้านเกิดและทยอยเข้ามาแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่ ทิ้งเมืองเล็กๆ ให้กลายเป็นเมืองรอง ทิ้งเรื่องราว ประวัติศาสตร์ และของดีที่เมืองอื่นไม่มีเอาไว้ โดยที่อาจไม่รู้เลยว่ามันมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สร้างความภาคภูมิใจ สร้างความสุขเล็กๆ ให้เกิดขึ้นได้ไม่แพ้เมืองใหญ่ เพียงรอวันที่จะมีใครหันมาสนใจเท่านั้น

        ไม่ต่างกับระยองที่คนส่วนใหญ่มักนึกถึงพระเจ้าตาก สุนทรภู่ ผลไม้ หรือเกาะเสม็ด โดยไม่รู้มาก่อนว่าเมืองอุตสาหกรรมแห่งนี้ยังมีเรื่องราวแง่มุมของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม สถานที่ อาหาร ชุมชน ที่น่าสนใจให้ศึกษาเรียนรู้ ต่อยอด ทั้งในเชิงองค์ความรู้และการท่องเที่ยว ซุกซ่อนอยู่อีกมากมาย

        จากโจทย์ที่ต้องการจะยกระดับและชูอัตลักษณ์เมืองรองอย่างระยองให้เป็นที่สนใจ ทำให้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำการศึกษา ค้นหา เรียนรู้ และเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดระยองสู่โครงการ ‘เส้นทางแห่งความสุข’ เพื่อให้ผู้คนในพื้นที่และคนทั่วไปได้รู้จักระยองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น โดยมุ่งหวังว่าระยองจะเป็นเมืองต้นแบบที่ทำให้เมืองรองต่างๆ ทั่วประเทศเริ่มหันมาสนใจรากเหง้า และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ในที่สุด

        “ผมคิดว่าเมืองรองแบบนี้ยังมีอีกเยอะในประเทศไทย แล้วนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นตอที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มี migration ของจังหวัดเมืองรองไปอยู่จังหวัดเมืองใหญ่ ทุกคนไม่มีสิ่งที่จะยึดเหนี่ยว แต่ถ้าสามารถทำให้ทุกเมืองมีเสน่ห์ของตนเองได้ ก็จะเกิด mobility ของการเชื่อมโยง เกิดเป็นธุรกิจ เป็นการค้าขาย เป็นการจ้างงาน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเมือง คนก็จะเกาะติด นั่นคือสิ่งที่คิดว่าจะเป็นผลจากการทำโครงการเส้นทางแห่งความสุขซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบหรือโมเดลได้ในอนาคต

        “เราอยู่ในจังหวัดที่ดี ถือเป็นความสุข เป็นความภาคภูมิใจ โดยสรุปคือ GC จะดีใจมากถ้าทำให้คนระยองมีความสุขกับสิ่งที่เราทำ แล้วความสุขนั้นคือความสุขที่ทุกคนได้ค้นหาตัวตนเจอ และภาคภูมิใจในถิ่นฐานตัวเอง” สุพัฒนพงษ์ที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณในปีนี้กล่าวพร้อมกับรอยยิ้ม 

 

สุพัฒนพงษ์

จุดเริ่มต้นศึกษาวิจัยและทำโครงการ ‘เส้นทางแห่งความสุข’ ของ GC คืออะไร ทำไมถึงต้องเป็นเมืองรองอย่างจังหวัดระยอง

        ต้องเล่าว่า GC เป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ สิ่งที่ GC ให้ความสนใจและมุ่งเน้นมาตลอดไม่ใช่แค่เรื่องกำไร แต่เป็นความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ผสานนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างสรรค์ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคน เป็นเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข (Chemistry for better living) และการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ทั้งตัวบริษัทเองต้องมีความเข้มแข็ง ชุมชนก็ต้องเข้มแข็ง สิ่งแวดล้อมก็ต้องดีเช่นเดียวกัน

        ส่วนจังหวัดระยองถือเป็นจังหวัดที่มีคุณค่า มีบุญคุณ เพราะว่าฐานการผลิตของบริษัทอยู่ที่นี่มากว่า 30 ปี การเจริญเติบโตมีมาอย่างต่อเนื่อง จนวันนี้ที่ GC กลายเป็นบริษัทต้นๆ ของประเทศไทย เพราะฉะนั้น โจทย์การทำงานในวันนี้ทำแค่ชุมชนรอบข้างโรงงานไม่พอแล้ว ต้องคิดถึงภาพรวมต่อคนระยองทั้งจังหวัดด้วย 

         จังหวัดระยองถือเป็นเมืองอุตสาหกรรม และมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย แต่กลับเป็นแค่เมืองผ่าน จึงต้องกลับมาพิจารณาดูว่าจะทำอย่างไรให้ระยองไม่เป็นแค่เมืองผ่านอีกต่อไป ต้องมาดูเรื่องความเป็นอยู่ ดูว่าระยองมีอะไร GC มีหลายโครงการที่เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว อันเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เช่น โครงการเชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน เป็นต้น พอประสบความสำเร็จในเรื่องของอาหาร ก็มาศึกษาในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ควบคู่กันไป เกิดเป็นโครงการเส้นทางแห่งความสุข ซึ่งพบว่าเมืองรองยังมีของดีมากมาย หลายๆ เรื่องเป็นความรู้ใหม่ ไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำ

อย่างเช่นอะไรบ้างที่คุณได้พบจากการลงพื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์

        ก่อนหน้านี้ผมเพิ่งลงพื้นที่สำรวจเมืองระยองมาสองรอบ ได้ไปเห็นเอกสารโบราณที่วัดโขด (ทิมธาราม) เป็นเอกสารสมุดพระมาลัยที่เข้าใจว่าทำขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ยังเก็บรักษาได้มีคุณภาพดีมาก ซึ่งมีฉบับเดียวหลงเหลืออยู่ที่นี่ อีกฉบับหนึ่งอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งน่าตกใจว่ามีเอกสารอายุหลายร้อยปีที่สีสันต่างๆ ยังคงความสมบูรณ์อยู่อย่างน่าประหลาดใจ ผมมาสายวิทยาศาสตร์ เป็นวิศวกร มาสังเกตว่าสมุดพระมาลัยมีลักษณะพับไปพับมา แต่การพับไปพับมายังคงอยู่ได้ มันต้องมีเทคนิคบางอย่างเข้ามา นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่น่าศึกษา แต่ก็น่าเสียดายเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นเหมือนกันที่ไม่สมบูรณ์ด้วยกาลเวลาและการเก็บรักษา ซึ่งพบสมุดข่อยที่เป็นพงศาวดารอยุธยาโดนปลวกกินไปเสียเยอะ แต่ยังสามารถอ่านเท่าที่อ่านได้ เสียดาย ถ้าทำโครงการนี้ก่อนหน้าสักสิบปี ระยองน่าจะมีพงศาวดารเพิ่มอีกหนึ่งฉบับ (หัวเราะ)

        เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ทำให้เห็นว่าเมืองรองมีอะไรดีเยอะเลย จากการศึกษาทั้งอาหาร ทั้งศิลปะวัฒนธรรม หากสามารถทำเส้นทางแห่งความสุขให้เกิดขึ้นได้ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน จะช่วยเรื่องความเป็นอยู่ในชุมชน สุดท้ายคือคนระยองจะได้รู้จักรากเหง้าตัวเองอย่างหยั่งลึก และเกิดความภาคภูมิใจ 

ทำไมคนต้องอนุรักษ์ ศึกษาแง่มุมประวัติศาสตร์ รากเหง้า และตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ที่ตนเองอยู่ สิ่งเหล่านี้สำคัญกับชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่

        อย่างตอนที่น้องๆ ทีมวิจัยจากศิลปากรไปสำรวจเอกสารโบราณที่วัดราชบัลลังก์ พบเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งเป็นบันทึกเกี่ยวกับงานบุญ คล้ายๆ เป็นเหตุการณ์ที่เป็นกิจกรรมของวัด แล้วพบว่าคนระแหงซึ่งหมายถึงคนจังหวัดตาก มาทำบุญที่วัดทะเลน้อย หรือวัดราชบังลังก์ ช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ เรื่องพวกนี้ต้องไปศึกษาต่อ แต่สิ่งสำคัญคือเราควรจะเห็นถึงความเชื่อมโยงของหลายๆ เรื่องในเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์ให้เป็นภาพเดียวกัน แล้วจะเข้าใจ คนรุ่นใหม่ก็จะเข้าใจ

        ตัวอย่างเช่น วัดทะเลน้อย สันนิษฐานว่าวัดนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์วีรกรรมทุ่งเพลงบ้านทะเลน้อยที่คนไทยรบพุ่งกันเอง ในเวลาก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แทนที่จะมาศึกษาแค่ว่าใครเป็นใคร รบชนะกันเมื่อไหร่ ผมคิดว่าถ้าทำในเชิงของการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงว่าในยามนั้นแต่ละฝ่ายคิดอย่างมีตรรกะอย่างไร ทำไมถึงรบพุ่งกัน จะเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจและให้คนรุ่นใหม่ขบคิดต่อไปได้

        ดังนั้น ยิ่งถ้าเศรษฐกิจพัฒนาไปไกลขึ้น หรืออีกหน่อยจะมีเรื่อง EEC มีอะไรต่างๆ เข้ามา จะเป็นเรื่องยากมากในการที่จะมารื้อฟื้นเรื่องพวกนี้ในอนาคต เพราะความเจริญจะกลบไปเสียหมด แล้วอาจจะชำรุดเสียหายไปจนไม่น่าสนใจ 

จริงๆ แล้วเมื่อพูดถึงเมืองรอง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมองในภาพกว้างซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ในขณะที่คนเมืองรองต่างมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลัก เมืองรองก็ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเรื่อยๆ คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

        ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เจอทุกวันนี้ เพราะทุกคนต่างวิ่งแสวงหาไปยังเมืองใหญ่กันหมด ด้วยความเจริญที่กระจุกตัว ความภูมิใจในถิ่นของตัวเองน้อยลง แต่ผมเชื่อว่าวันนี้มันดีขึ้น มีคนรุ่นใหม่ที่สนใจและกลับไปพัฒนาบ้านเกิดหรือท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้น เพียงแต่อาจจะไม่มีที่เกาะที่ยึด อย่างกลุ่มเมืองใหญ่ๆ มักหาที่ยึดไม่ยาก ต้องเข้าใจว่าทั้งหมดทั้งปวงของสิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองใหญ่ เพราะว่ามีศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ มีความภาคภูมิใจ ที่เป็นสิ่งดึงดูดให้คนอยู่ มันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ต้องเข้าใจที่มาของจุดแข็งของแต่ละเมืองด้วย พอเมืองรองไม่ถูกสนับสนุนให้ได้รับรู้ถึงจุดแข็งจุดเด่น ก็ไม่สามารถพัฒนาออกมาเป็นรูปของเศรษฐกิจที่ดีได้ ซึ่งสุดท้ายถ้าระยองทำได้ เมืองรองอื่นๆ ก็ต้องทำได้เช่นกัน

 

สุพัฒนพงษ์

พูดถึงขั้นตอนการดำเนินโครงการ ทำไมจึงเลือกทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร

        โดยส่วนตัวผมเองชื่นชมในมหาวิทยาลัยศิลปากร ผมคิดว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ทรงคุณค่า มีความรู้ ความชำนาญ ผลิตบัณฑิตและบุคลากรที่มีความสามารถ แล้วเท่าที่ผมทราบ ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้ขาดเรื่องความรู้ความสามารถ ขาดเพียงงบประมาณและการส่งเสริมเท่านั้นเอง ผมมีความเชื่อว่าถ้าหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความสนใจและมุ่งมั่นสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ เมืองรองทุกเมืองในประเทศไทยยังมีประวัติศาสตร์ที่ชาวศิลปากรสามารถไปค้นคว้าและวิจัยแล้วก็ช่วยยกขึ้นได้อีกมากมาย GC จึงเข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้

        ก่อนหน้านี้ GC ทำเรื่องอาหาร พอมีเรื่องแหล่งดึงดูดทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ที่ศิลปากรจะเข้ามาร่วมช่วยกันศึกษา ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็จะมาสานต่อแนวคิดของ GC ต่อไป

การได้รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในมุมของคุณมันสนุกอย่างไร

        ผมสนุกแล้วก็ภาคภูมิใจในประเทศไทยมาก ผมคิดว่าคนไทยควรจะรู้จัก เรียนรู้ และสนับสนุนประวัติศาสตร์ประเทศไทยมากกว่านี้ อย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งรู้จักประเทศไทยและประวัติศาสตร์ไทยดีมาก เพียงแต่ประวัติศาสตร์ไทยบนหนังสือที่เคยเรียนกันมาช่างน้อยกว่าคุณค่าที่แท้จริงของประวัติศาสตร์ไทยที่มี แล้วประวัติศาสตร์ไทยไม่ใช่เรื่องของภูมิศาสตร์อย่างเดียว แต่ควรจะพูดถึงเชิงเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน ให้เห็นในแต่ละยุค ไล่เรียงมา เพื่อเพิ่มพูนความรู้รอบตัว ปลูกฝังเป็น core value หรือค่านิยมของคนไทยที่แท้จริง

        การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยในอดีตมุ่งสอนแค่เหตุการณ์เกิดที่ไหน เมื่อไหร่ เวลาใด แต่ไม่ได้บอกถึงตรรกะของเหตุการณ์นั้น ทำไมถึงเกิดเหตุนั้น ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ยังไม่มีคำตอบ แต่ผมเชื่อว่ามีคำตอบเหล่านี้อยู่ในประเทศ สามารถค้นหาได้โดยทีมมหาวิทยาลัยศิลปากร หรือที่สถาบันอื่นๆ อีกหลายแห่ง มีแน่นอน เพียงแต่ว่าควรจะรีบทำเรื่องนี้กันเร็วๆ เพราะว่าแหล่งความรู้เหล่านี้อาจจะหมดไป จะด้วยผู้รู้ที่สูญหายไป หรือการเก็บบันทึกที่ชำรุดไปก็ตาม

ดังนั้น โครงการเส้นทางแห่งความสุข นัยหนึ่งก็หมายถึงการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่ดี จะสามารถต่อยอดสู่การสร้างสรรค์เศรษฐกิจในท้องถิ่น (Creative economy) ได้ด้วยใช่ไหม

        ทันทีที่ทุกคนรู้ว่าเมืองที่อยู่อาศัยมีดีอะไร อาหาร จุดท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม เป็นเขตอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐกิจ ที่ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการให้ความสนใจในเรื่องของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นอกจากจะเป็นความภาคภูมิใจแล้ว มันยังเป็นองค์ประกอบที่ทำให้สามารถปักหลักอยู่ที่นี่ได้ นำไปบูรณาการต่อได้ ใช้ความภาคภูมิใจสร้างแรงดึงดูดให้คนมาเยี่ยมชม ให้คนมาเห็น มาอยู่อาศัย มาพักผ่อน มาร่วมชื่นชมไปกับสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ สิ่งเหล่านั้นจะต่อยอดไปสู่เรื่องเศรษฐกิจในท้องถิ่นเอง

        จังหวัดระยองมีทะเลที่สวยงาม มีผลไม้ อาหาร ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วันนี้คนระยองรู้ว่าชายทะเลหน้าบ้านแต่ก่อนมีเรือสำเภาจอดเต็มเลย เพราะมีหลักฐานจากภาพเขียนในวัดโขด (ทิมธาราม) รู้ว่าที่แห่งนี้เป็นที่ที่คนไทยเคยเข้าใจผิดซึ่งกันและกัน เคยขัดแย้งและต่อสู้กัน และเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเกิดเป็นอนุสรณ์ที่วัดราชบัลลังก์ ซึ่งเป็นตัวแทนสะท้อนว่าคนไทยต้องสามัคคีกัน ทุกเมืองล้วนมีรากเหง้าพวกนี้อยู่หลายแห่ง 

หากมีการพัฒนาย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาต่อพื้นที่อุตสาหกรรมของธุรกิจ GC ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อย่างก่อนหน้านี้ทาง GC ก็เคยมีโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand (UTO) ที่ชวนคนมาร่วมเก็บขยะที่เสม็ดด้วย

        GC ทำตามมาตรฐานสากล หรือต้องให้ดีกว่าด้วยซ้ำไป การที่ GC เป็นสมาชิกของบริษัทในดัชนีแห่งความยั่งยืนของดาวโจนส์ แล้วก็ตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ความจริงสิ่งที่ GC ทำไปหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องขยะพลาสติก เข้าใจได้ว่าบริษัทก็มีส่วน เพราะผลิตภัณฑ์บางส่วนผลิตเป็นพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วก็กลายเป็นปัญหาเรื่องขยะพลาสติก คือบริษัทจะเลือกแบบไม่ผลิตเม็ดพลาสติกพวกนี้เลยก็ได้ เพราะไม่ใช่สัดส่วนสำคัญเท่าไหร่นัก แต่เลือกทำมากกว่านั้นคือสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไทยว่าพลาสติกมันมีประโยชน์ถ้าใช้ให้ถูกอย่างรู้คุณค่า ไม่ใช่ว่าเป็นโทษอย่างเดียว ที่ขยะพลาสติกเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากใคร มันเกิดจากทุกคน ถ้าไม่ใช้พลาสติก คุณไปทิ้งเศษเหล็ก ทิ้งแบตเตอรี่ใช้แล้วก็จะเป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจและใช้อย่างถูกต้อง 

        สำหรับโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand (UTO) อันเป็นโครงการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในท้องทะเลไทย ด้วยการเก็บขยะพลาสติกในทะเลมาสร้างสรรค์ชีวิตใหม่ให้เป็นสินค้าแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า หรือของใช้ เป็นการเปลี่ยนวัฏจักรการเดินทางของขยะให้เปลี่ยนไป (From Trash to Treasure) ตอกย้ำแนวคิด GC Circular Living คู่ขนานกับโครงการเชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน และเส้นทางแห่งความสุข

        GC เป็นรายแรกๆ ที่เล็งเห็นปัญหาเรื่องขยะพลาสติกก่อนที่จะกลายมาเป็นปัญหาสำคัญอย่างทุกวันนี้ ทางโครงการฯ ได้ช่วยกันเก็บขยะที่เสม็ดร่วมกับคนที่นั่นและ ททท. ทำให้คนระยองรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้ไม่ต้องรอให้มีการร้องขอ เพียงสร้างความตระหนักรู้ว่าเรื่องนี้รอไม่ได้ อย่าปล่อยให้เป็นขยะลงลำคลอง จากลำคลองไปลงทะเล เพราะมันยากเหลือเกินที่จะไปเก็บจากทะเล แต่สุดท้าย GC ก็ทำสิ่งที่ยากที่สุดคือเก็บจากทะเลมาแปลงเป็นเสื้อ เป็นสินค้าแฟชั่น ร่วมกับมูลนิธิ Ecoalf ของสเปน ทำให้คนไทยได้เห็นว่า จากสิ่งที่ยากที่สุด สามารถนำขยะกลับมาทำเป็นของมีคุณค่าได้ แต่ทางที่ดีที่สุดคืออย่าให้ไปถึงขนาดนั้นเลย 

 

สุพัฒนพงษ์

หลังจากนี้จะมีการพัฒนาต่อยอดโครงการเส้นทางแห่งความสุขอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ GC อย่างไรบ้าง

        GC เป็นแค่ผู้เริ่มต้น เป็นโมเดลให้ และยินดีช่วยสนับสนุนให้คำปรึกษาได้ อย่างโครงการเชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน ที่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางแห่งความสุข แล้วการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็นำโมเดลของระยองไปประยุกต์ใช้กับจังหวัดเมืองรองอื่นๆ บริษัทก็ไปช่วยสนับสนุน อย่างน้อยเป็นการจุดประกายเล็กๆ ให้แก่กัน ซึ่งได้ไปร่วมมาประมาณหนึ่งปีแล้ว

        โดยโครงการนี้นำเอาเชฟชุมชนจาก 30 จังหวัดเมืองรองทั่วประเทศมาเรียนกับเชฟชุมพลและเชฟชั้นนำชาวไทยอาสากว่า 10 คน เพื่อพัฒนาคุณภาพของอาหารท้องถิ่น และสอนให้รู้จักการทำครัวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม GC นำผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ หรือ bio-plastic คือพลาสติกที่ทำมาจากพืชและสลายตัวได้ตามธรรมชาติไปทำเป็นบรรจุภัณฑ์ เพื่อที่จะบรรจุของร้อน บรรจุอาหารได้ โดย GC สนับสนุนบรรจุภัณฑ์พวกนี้ให้บรรดาเชฟทั่วไทยได้เอามาใช้แทนโฟม 

ฟังดูเหมือนสิ่งที่ GC ทำคือเอาองค์ความรู้ไปในพื้นที่ สร้างมูลค่า เพื่อที่ชุมชนหรือจังหวัดจะสามารถดำรงต่อไปด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน

        ถูกต้อง เป็นการจุดประกาย ถือว่าหนังยังไม่จบ ตอนนี้ได้คอนเทนต์ในเรื่องเส้นทางแห่งความสุขที่คิดว่าจะสมบูรณ์ในอีกไม่นานแล้ว ซึ่งจะต้องเห็นภาพของจังหวัดระยองโดยรวม ทะเล ผลไม้ อาหาร ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ที่มาของท้องถิ่น มันจะเป็นคอนเทนต์ที่ประกอบกันเป็นเรื่องเส้นทางแห่งความสุข หลังจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของคนระยองที่จะมาช่วยกัน มาซึมซับกับเรื่องพวกนี้ได้มากขนาดไหน มาบริหารจัดการมรดกที่มีชีวิต (Living heritage) นี้อย่างไร ซึ่งจะเป็นเฟสต่อๆ ไปในอนาคต

GC ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมาตลอด ทำอย่างไรให้การทำธุรกิจมีความยั่งยืนประสบความสำเร็จได้ในทุกวันนี้ โดยเฉพาะในแง่การดำเนินการธุรกิจ

        การประกอบธุรกิจทุกวันนี้แทบเป็นมาตรฐานแล้วว่าธุรกิจต้องแบ่งปัน ต้องเปิดโอกาส สร้างโอกาส บริษัทใหญ่ต้องหันมามอง เข้าใจปัญหาสังคม การทำเรื่องนี้เพราะ GC เข้าใจว่าบริษัทอยู่คนเดียวไม่ได้หรอก วันหนึ่งชุมชนอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้ ประเทศไทยยังต้องอยู่ต่อ ต้องอยู่ร่วมกัน ไม่สามารถปล่อยให้เหตุการณ์ใดทำให้จังหวัดเมืองรองเกิดความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น มันจะต่างกันมากเกินไป คนอพยพ คนอยู่จังหวัดเมืองรองย้ายไปอยู่เมืองใหญ่ คนที่เหลืออยู่ในจังหวัดเมืองรองคือคนสูงอายุ แล้วประเทศไทยจะอยู่ได้อย่างไร ต้องเฟ้นหาจุดแข็งของเมืองรอง หยุดการอพยพของคน ให้อาศัยอยู่ในท้องถิ่น ให้ดูแลพ่อแม่ กินข้าวเย็นด้วยกันทุกมื้อ และพึ่งพาตัวเองให้ได้ นั่นคือสิ่งที่ต้องทำต่อ ทุกอย่างเริ่มจากสิ่งเล็กๆ และผลลัพธ์ที่ออกมามันต้องคุ้มค่ามาก

โครงการเส้นทางแห่งความสุขจะส่งผลดีหรือสร้างความสุขกลับมาให้กับ GC เองได้อย่างไรบ้าง

        ผมว่า GC ได้ทำให้สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่และมีฐานการผลิตได้เห็นการเติบโตไปพร้อมกัน อันนี้สำคัญกว่า ผมว่าเวลานี้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของบ้านเมืองยอมรับว่าต้องแบ่งปัน ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นความภาคภูมิใจของ GC ที่จะสร้างต้นแบบเมืองรอง โดยอาศัยระยองเป็นหลัก และทำให้จังหวัดที่มีคุณลักษณะคล้ายๆ กันมีโอกาสเอาต้นแบบนี้ไปใช้ เพื่อสร้างโอกาสที่ดีในด้านเศรษฐกิจ ทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ซึ่งใครจะเอาโมเดลนี้ไปใช้ก็ยินดี เพียงแต่อย่างที่บอกว่าตอนนี้อาจจะยังไม่สำเร็จ ซึ่งได้คอนเทนต์ที่ดีแล้ว ตอนนี้กำลังรอคอยชาวระยองทั้งจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับช่วงต่อ หรือมาทำร่วมกัน ทำให้เป็นเทศกาล ปลูกฝังเป็นแคมเปญ เป็นการรณรงค์ ซึ่งไม่พอหากแค่มาฝึกไกด์ ต้องชวนทุกคนมาบูรณาการทำต่อไป

        เราอยู่ในจังหวัดที่ดี ถือเป็นความสุข เป็นความภาคภูมิใจ โดยสรุปคือ GC จะดีใจมากถ้าทำให้คนระยองมีความสุขกับสิ่งที่เราทำ แล้วความสุขนั้นคือความสุขที่ทุกคนได้ค้นหาตัวตนเจอ และภาคภูมิใจในถิ่นฐานตัวเอง ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ถ้าคนระยองพูดว่า “โห ใช่เลย” ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลยว่านี่เป็นจังหวัดที่น่าอยู่ มีเรื่องราวที่ลูกหลานพึงได้รับรู้และเก็บไปเล่าต่อ แล้วเก็บเป็นค่านิยม เป็นความผูกพัน ที่จะไม่ยอมให้มันสูญหายไป แล้วทุกคนจะเรียกคนอื่นๆ ให้มาร่วมชื่นชมในสิ่งที่ระยองมี ซึ่งก็คือความสุขนั่นเอง

 


Rayong Time Ago

        Rayong Time Ago คือซีรีส์คอลัมน์เล่าคอนเซ็ปต์มรดกที่มีชีวิต (Living Heritage) ของจังหวัดระยอง ผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสถานที่เก่าแก่ ซึ่งขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ โดยมีจุดตั้งต้นจากโปรเจ็กต์ที่ร่วมมือกันระหว่างคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC