The Origin

สมสกุล แสงสุวรรณ: การพิชิตใจคนรุ่นใหม่ ออกแบบสินค้าและบริหารธุรกิจอย่างเข้าอกเข้าใจ

ไอเดียการออกแบบดีๆ เกิดจากการทำงานร่วมกันเป็นทีม และการทำความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้อย่างลึกซึ้ง นี่คือปัจจัยแห่งความสำเร็จของโครงการ ‘ดิ ออริจิ้น’ (The Origin) ภายใต้การบริหารงานของออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z (คนที่เกิด พ.ศ. 2538 เป็นต้นไป) เป็นหลัก 

        แม้ว่าผู้พัฒนาฯ หลายรายเริ่มชะลอตัวกันไป แต่โครงการคอนโดมิเนียมของออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ อย่างแบรนด์คอนโดมิเนียมน้องใหม่ ‘ดิ ออริจิ้น’ (The Origin) ที่เข้าใจคนรุ่นใหม่ แก้ Pain Point และตอบโจทย์ทุกการใช้ชีวิตซึ่งปล่อยออกมาในช่วงนี้ กลับได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด หลายทำเลที่เปิดตัวไปไม่นานก็สามารถขายหมด (sold out) ไปเป็นที่เรียบร้อย 

        ‘ตุ๋น’ – สมสกุล แสงสุวรรณ เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนให้โครงการต่างๆ ในเครือออริจิ้นประสบความสำเร็จ เขารับหน้าที่เป็น Chief Design Officer (ประธานเจ้าหน้าที่สายงานออกแบบผลิตภัณฑ์) ทำงานร่วมกับทีมน้องๆ Gen Z ในแผนก ที่มีอายุเฉลี่ยราว 27 ปี จนได้พบกับไอเดียที่น่าสนใจเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ เวิร์กสไตล์ และการเลือกที่อยู่อาศัย โดยมีการออกแบบ 4 ฟังก์ชันและสิ่งอำนวยความสะดวกที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น 

        – Smart Closet ออกแบบทุกพื้นที่ในห้องให้สามารถเก็บของได้เพิ่มขึ้นอย่างชาญฉลาด

        – Hotel Services on Demand เชื่อมโยงบริการช่างและพนักงานทำความสะอาด มาตรฐานระดับโรงแรม

        – Co-Working Space 24 ชั่วโมง พื้นที่ส่วนกลาง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับใช้ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

        – Private Party Room พื้นที่ปาร์ตี้แบบเก็บเสียง ป้องกันเสียงรบกวนทั้งภายนอกสู่ภายในและภายในสู่ภายนอก

        ไอเดียเหล่านี้ ล้วนเป็นผลงานจากทีมของเขา ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวไปไม่ใช่ประเด็นที่เราจะมาคุยกับเขาในวันนี้ แต่เราอยากจะพูดคุยในแบบเจาะลึกลงไป อะไรที่ทำให้คนรุ่น Baby Boomers อย่างตัวเขา สามารถมีความเข้าใจและบริหารจัดการคน Gen Z รวมถึงเข้าใจคนรุ่นใหม่ได้ ซึ่งนับว่าเป็นแกนหลักสำคัญที่ทำให้โครงการ The Origin ออกมาในรูปแบบที่ควรจะเป็น ด้วยความเข้าใจและใส่ใจในทุกรายละเอียด (empathy) ในวิถีชีวิตของผู้คนจริงๆ 

 

the origin

ทำไมโครงการ The Origin ถึงมุ่งเน้นไปที่คน Gen Z 

        เพราะเราทำในสิ่งที่ถนัด ประการแรก ที่ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ อายุเฉลี่ยของพนักงานจะอยู่ที่ 27 ปีเท่านั้น ซึ่งก็คือคนกลุ่ม Gen Z นี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้เราออกแบบโครงการได้อย่างเข้าใจคนกลุ่มนี้จริงๆ ประการที่สอง เราพบว่าน้องๆ กลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มที่กำลังเจริญเติบโต เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคต ขณะที่ยังไม่มีผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายไหนลงลึกถึงความต้องการของพวกเขาจริงๆ เราจึงคิดว่าหากเราทำโครงการให้ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ได้ก็น่าจะออกมาเป็นโครงการที่ดี ซึ่งที่ผ่านมาโครงการ ‘ดิ ออริจิ้น’ (The Origin) หลายทำเลที่เราเปิดจองครั้งแรกก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นับว่าเป็นปรากฏการณ์ มีคนมาต่อแถวกันเพื่อซื้อคอนโดมิเนียมเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้เล็งไปที่ Gen Z ที่มีเฉพาะคนรุ่นใหม่อย่างเดียว แต่เรามองไปถึงบริบทการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันจริงๆ 

ที่คุณกล่าวถึง Gen Z ไม่ได้มีแค่คนรุ่นใหม่ คุณหมายความว่าอย่างไร 

        จริงๆ แล้ว Gen Z ไม่ใช่แค่ตัว Z แต่เป็นตัว C ที่ออกเสียงเกือบพ้องกัน ไม่ได้มีแค่เด็กรุ่นใหม่ใน Gen Z อย่างเดียว อย่างผมเอง ผมก็ใช้ชีวิตแบบ Gen C ถึงผมจะเป็น Baby Boomers ซึ่ง C ที่ว่านี้มีอยู่ 6 C ด้วยกัน ตัวแรกคือ Convenience ความสะดวกสบาย สองคือ Cash Smart การรู้จักใช้เงิน ให้คุณค่าของเงิน สามคือ Creativity ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นพลังในการใช้ชีวิตต่อไป สี่คือ Casual ใช้ชีวิตสบายๆ ไม่จำเป็นต้องใส่สูทตลอดเวลา ให้ความสำคัญที่ความคิด ห้าคือ Control ความสามารถในการบริหารควบคุมเวลาได้ และสุดท้าย Connect ข้อนี้ปฏิเสธไม่ได้เพราะทุกวันนี้เรามีสมาร์ตโฟนกันทุกคน เราจะเชื่อมโยงกับผู้คนอย่างไร นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม Co-Working Space จึงเป็นที่นิยม 

        เพราะฉะนั้น Gen C ที่ว่ามาทั้งหมด 6 C ก็เลยกลายเป็นเรื่องของวิถีการดำเนินชีวิต ไม่ใช่รุ่นของคนที่เกิดจริงๆ อย่างผม เพราะผมไม่ยอมแก่แน่ๆ 

อะไรทำให้คนที่เกิดในรุ่น Baby Boomers ตอนปลาย Gen X ตอนต้นอย่างคุณสามารถปรับตัวเข้ากับความเป็นไปในปัจจุบันได้ขนาดนี้ 

        มีหลายปัจจัยที่หล่อหลอมให้ผมเป็นคนแบบนี้ด้วย ข้อแรกเลยคือภรรยาผมอายุน้อยกว่าผมประมาณ 15 ปี ดังนั้น วิธีคิด วิธีพูดคุย ก็จะถูกดึงเข้าหากัน นอกจากภรรยา ก็จะมีลูกซึ่งเป็นเด็ก Gen Z อายุ 13 ปี ก็ยิ่งทำให้เราผสานไปกับคนรุ่นนี้ รวมถึงความสนใจส่วนตัวของผมเองด้วย ผมวิ่งตามโลก ผมอยู่ในแวดวงของการออกแบบ ซึ่งเป็นงานที่เกาะติดกับเวลา ซึ่งความสนุกมันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่การได้สังเกตเห็นว่าโลกมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเราจะตอบรับมันอย่างไร

 

the origin

เราจะเห็นความขัดแย้งระหว่างคนรุ่น Baby Boomers และคน Gen Z อยู่เสมอๆ โดยที่ฝ่ายหนึ่งก็มอง Gen Z ว่าแข็งกร้าว ไม่เชื่อฟัง อีกฝ่ายก็มองว่า Baby Boomers หัวโบราณ คุณมีมุมมองต่อเรื่องราวเหล่านี้อย่างไร 

       เป็นเพราะเราไม่ค่อยรับฟังกัน คำว่า ‘ฟัง’ กับ ‘ได้ยิน’ มีความหมายที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างที่ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ทุกเช้าวันพุธ ทางฝ่าย Product Design จะมีการประชุมเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทุกครั้งผมก็จะให้โจทย์ไปว่าในเทศกาลนี้ ในเดือนนี้ เราจะคุยกันเรื่องนี้นะ มอบหมายให้น้องๆ ไปค้นคว้ามา แล้ววันพุธหน้าเรามาคุยกัน มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง สมมติว่าโจทย์เป็นเรื่อง City Life เราก็จะดูว่าเรื่องที่เขาเลือกมานำเสนอเป็นเรื่องประเภทไหน ซึ่งก็จะแตกต่างกันไป เพราะโจทย์ที่เราให้ไปค่อนข้างกว้าง บางคนมองไปที่เรื่อง Street Food บางคนมองไปที่เรื่องหมา แมว ต้นไม้ แสง สี ทุกอย่างเป็นไปได้หมด 

        เพราะฉะนั้น การที่น้องๆ แต่ละคนนำเรื่องเหล่านี้มาพูด จะทำให้เรารู้ว่าน้องเขาสนใจเรื่องอะไร นอกจากนั้น พวกเขายังได้โอกาสในการนำเสนอตัวเอง ได้ฝึกการพูดไปด้วย เพื่อนในที่ประชุมก็จะได้คุย ได้ซักถาม นี่คือข้อดีของการรับฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องเป็นการฟังด้วยใจ ไม่ใช่ฟังแค่หู ไม่ใช่แค่ได้ยินแล้วผ่านไป 

        ในแผนกเราจะมีน้องๆ อยู่ประมาณ 20 คน ก็จะมีการคุยกับน้องๆ ทุกเดือนว่าทำงานเป็นยังไง มีปัญหาอะไรไหม ผมบอกกับน้องๆ ทุกคนว่า ถ้าเช้าวันไหนตื่นมาแล้วมีความรู้สึกไม่อยากมาทำงาน ให้บอกทันที เพราะความรู้สึกนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เราจะต้องช่วยกันหาเหตุผลให้ได้ อย่ารอให้เต็มโหล บางคนมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ก็เขียนไว้ในใจ ใส่โหลลงไป สะสมไปเรื่อยๆ พอเต็มโหลก็ระเบิดออกมา 

        ดังนั้น เมื่อน้องคนไหนมีความรู้สึกไม่สบายใจให้มาคุยกัน ปล่อยออกมา ระบายออกไป ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ ทุกอย่างมีทางออก เลวร้ายที่สุดก็คือออกตรงทางที่เข้ามานั่นแหละ ออกจากปัญหาไปก่อน ออกมายืนดูไกลๆ ให้เห็นภาพรวม เพราะถ้าเรายังอยู่ในปัญหา เราก็จะเพ่งไปที่จุดเดียวซึ่งไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร แต่การที่เราได้พูดคุย ได้ระบาย ได้ทำความเข้าใจกันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ปัญหานั้นคลี่คลายและก้าวต่อไปด้วยกันได้ 

        นอกจากเรื่องการรับฟังแล้ว ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าอกเข้าใจกันก็เป็นเรื่องสำคัญ กับคำว่า empathy ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เราระลึกถึงเสมอ ไม่ว่าออกแบบโครงการใดๆ ก็ตาม เมื่อก่อนเราอาจจะใช้คำว่า Human Centric Design ซึ่งเป็นการออกแบบโดยมีคนเป็นจุดศูนย์กลางเพื่อให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย แต่ empathy เป็นอะไรที่ลึกลงไปกว่านั้น เพราะนอกจากการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายแล้ว เรายังต้องเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้า แต่เข้าใจความรู้สึกของพนักงานทุกคนที่นี่ 

        แง่หนึ่งอาจจะเป็นเพราะ ‘พี่โด่ง’ – พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ และ ‘พี่ยุ้ย’ – อารดา จรูญเอก (ภรรยา) เปิดบริษัทนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นพวกเขาอายุแค่ 32 ปี แต่เป็นคนอายุ 32 ที่มีความเข้าใจโลก ทั้งสองยังจำความรู้สึกในวันที่พวกเขาเคยเป็นลูกจ้างได้ดี จึงเป็นโชคดีของพนักงานออริจิ้นที่มีผู้บริหารที่เข้าใจความรู้สึก ทำให้เราแตกต่าง เพราะเราให้โอกาส วันดีคืนดี คุณยกมือขึ้นมาในที่ประชุม บอกว่าไอเดียของเราไม่เวิร์ก เราก็พร้อมที่จะรับฟังว่าทำไมคุณถึงคิดเช่นนั้น หรือถ้าวันนี้คุณมีเหตุผลไม่มากพอที่จะทำให้เราเข้าใจ คุณก็ต้องไปเตรียมตัวมาใหม่ ไปหาข้อมูลมาสนับสนุน บางทีอาจจะมีบางอย่างเป็นความชอบของคุณ แต่คุณก็ต้องมีข้อมูลมาด้วย คุณต้องไปหามาให้ได้ เพราะบนความกล้าเสี่ยงกล้าลองนั้นก็ต้องอยู่บนหลักการและข้อมูล เพราะต้องยอมรับว่าเราก็เป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เราก็ต้องทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจด้วย

แต่เรามักจะเห็นผู้ใหญ่ในองค์กรพูดบ่อยๆ ว่าเด็กสมัยนี้ความอดทนต่ำ ทำงานที่ไหนได้ไม่นาน คุณเจอสถานการณ์แบบนี้ในที่ทำงานบ้างหรือเปล่า 

        เวลาเราสัมภาษณ์งาน ถ้าเป็นน้องๆ ที่พอจะมีประสบการณ์มาแล้ว เราจะพบว่าเด็กรุ่นนี้จะทำงานในบริษัทหนึ่งไม่เกิน 2 ปี แล้วกระโดดไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งเราจะโทษว่าเป็นความผิดของเด็กรุ่นนี้อย่างเดียวก็ไม่ได้ จริงๆ แล้ว ถ้าเราเข้าใจและเข้าถึงวิถีชีวิต หรือปัญหาที่เขาต้องเผชิญ และมีความตั้งใจที่จะช่วยแก้ปัญหาอย่างจริงใจ มันจะค่อยๆ ทะลวงปัญหานี้ไปได้

        อย่างทีม Product Design ของเรา อายุงานส่วนใหญ่ของน้องๆ จะเริ่มมากขึ้น บางคนอยู่ถึง 4-5 ปีแล้ว นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าการเข้าใจและรับฟังน้องๆ รุ่นนี้โดยแท้จริงนั้นสำคัญขนาดไหน พอเราเป็นคนที่ชอบฟัง เราก็จะพบว่าวิธีคิดของคนแต่ละรุ่นแตกต่างกัน อย่างผมในฐานะที่เป็นคุณพ่อรุ่น Baby Boomers ที่มีลูกเป็น Gen Z  ถ้าเป็นในสมัยผม ลูกๆ ก็ต้องทำตามที่พ่อแม่ต้องการ แต่ผมกับภรรยากลับมองว่าเราควรที่จะให้เขาทำในสิ่งที่อยากทำ เขาก็จะมีความสุขโดยอัตโนมัติ และเมื่อเขามีความสุข เขาจะมีความเชื่อมั่น การมองโลก วิธีคิด และตรรกะที่เขามีจะทำให้เขาใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรก็ตาม 

        เหมือนที่ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ อยากให้น้องๆ ในทีมมีความสุขในการทำงาน เพราะถ้าพวกเขามีความสุข เขาก็จะสนุกกับมัน เขาจะทำอย่างเต็มที่ มีความเชื่อมั่น กล้าที่จะลองผิดลองถูก ซึ่งเราก็พร้อมและยินดีที่จะลองผิดลองถูกไปกับพวกเขา จะคอยมองดูพวกเขา เป็นเหมือนช่างเย็บผ้าที่มีหน้าที่ดูแลในเรื่องของรูปแบบและการตัดเย็บ ให้น้องๆ ได้ออกแบบมา เราก็จะคอยดูและให้คำปรึกษาไปพร้อมกัน

 

the origin

the origin

คุณมีกลยุทธ์ในการบริหารคนรุ่นใหม่อย่างไร 

        ในแง่ของการตลาด เขาจะมี 4P (Product, Price, Place และ Promotion) ใช่ไหมครับ แต่ผมคิดว่าของเราเป็น 3P อันดับแรกเหมือนกันคือ Product เรามีความแตกต่าง มีความใส่ใจในรายละเอียดโดยแท้จริง P ที่ 2 คือ People คนของเรานั่นเอง ด้วยความที่ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เป็นบริษัทที่อายุยังน้อย เพิ่งก่อตั้งมาได้ 10 ปี ดังนั้น น้องๆ ในทีมก็จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจสถานการณ์ความต้องการในปัจจุบัน และที่สำคัญ เรามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตลอดเวลา ซึ่งจะตรงกับ P ที่ 3 คือ Period เรามีช่วงเวลาในการทำงานที่รวดเร็ว แต่แม่นยำ เราเลือกช่วงเวลาในการเปิดตัวโครงการได้ดี ถ้าใครที่ตามข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์จะเห็นว่าช่วงครึ่งปีแรก ทุกคนประกาศว่าเศรษฐกิจไม่ดี ต้องปรับยอดลงมาให้สอดคล้อง แต่ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เป็นเจ้าเดียวที่ปล่อยโครงการออกมาขาย และขายได้ด้วย กลายเป็นว่าพอเราขายได้ ตลาดก็กลับมาคึกคัก ตรงนี้เป็นเรื่องของมุมมองต่อสถานการณ์ เรามองว่าตรงนี้เป็นโอกาส 

        ทีนี้จะมีคำพูดอยู่ว่า ‘เราไม่ได้ทำเต็มที่ แต่เราทำให้สำเร็จ’ ซึ่งสองข้อความนี้ต่างกันอยู่นิดเดียว ฟังแวบแรกจะรู้สึกเหมือนว่าที่นี่เป็นเผด็จการ เพราะเหมือนเป็นการบังคับให้ทำให้สำเร็จ แต่จริงๆ แล้วสิ่งนี้เป็นเรื่องของแนวคิด ถ้าเราบอกว่าผมทำเต็มที่แล้ว แปลว่าอะไร แปลว่าเรามีทรัพยากรอยู่แค่นี้ ผมก็ทำเต็มที่ของที่ผมทำได้แล้ว แต่ถ้าเราบอกว่าผมจะทำให้สำเร็จ เราก็จะมองหาวิธีต่างๆ นอกเหนือไปจากทรัพยากรหรือวัตถุดิบที่มีมาทำให้สำเร็จให้ได้ มันคือเรื่องของมายด์เซตเลยนะครับ

        นอกจากนั้น เราจะบอกทุกคนในทีมว่า เรามีหน้าที่หลักๆ ด้วยกัน 3 หน้าที่ หน้าที่แรกคือให้มองว่าตัวเราเองเป็นเจ้าของ สมมติว่าคุณอยู่แผนกบัญชี ถ้าคุณมองในมุมมองของความเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณก็จะดูว่าการใช้จ่ายของบริษัทเป็นอย่างไร หน้าที่ที่สอง ทำหน้าที่ของตัวเองให้ถูกต้อง หน้าที่ที่สามคือมองในมุมมองของลูกค้า 

        หากถ้าคุณเป็นนักออกแบบ คุณแสดงความเห็นในฐานะเจ้าของ คุณก็อาจจะมองว่าโครงการนี้จะสร้างได้จริงหรือเปล่า จะอยู่ในงบประมาณไหม เพราะเราเป็นคนลงทุน หน้าที่ที่สอง คุณเล็งผล คุณก็จะมองว่าที่เราออกแบบมานั้นสวยพอหรือยัง ใช้งานได้จริงหรือเปล่า และหน้าที่ที่สาม คุณเป็นลูกค้าคุณจะซื้อไหม คุณจะชอบไหม เพราะฉะนั้น เวลาคุณแสดงความคิดเห็นด้วย 3 หน้าที่ที่เราเป็น สิ่งต่างๆ ก็จะออกมาดีและตอบโจทย์ 

ดูแล้วคุณจะเป็นคนที่มีความเข้าใจในคนทุกรุ่นมากๆ คิดว่าส่วนไหนในบรรดาโครงการ The Origin ที่เข้าถึงคน Gen Z หรือ Gen C มากที่สุด 

        ทุกวันนี้เวลาเราปล่อยโครงการอะไรใหม่ๆ ออกไป อีกวันก็จะมีบล็อกเกอร์เข้ามารีวิวแล้ว เข้ามาถ่ายทุกมุม เก็บทุกรายละเอียด คนแทบจะไม่ต้องเข้ามาดูของจริงด้วยตัวเองเลย นั่นหมายความว่า วันรุ่งขึ้น ก็จะมีคนนำไอเดียต่างๆ ไปต่อยอดทำโครงการที่คล้ายกันออกมาแล้ว แต่อย่างน้อยๆ เรามั่นใจได้ว่าทุกโครงการของเรานั้นดีที่สุด ณ ขณะนั้นแน่นอน ผมกล้าพูดเลยว่าเราไม่ได้ดูงานจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าอื่นในตลาดเลย และที่สำคัญ ผมบอกน้องๆ ในทีมเสมอว่า ถ้าเราจะออกแบบอะไรสักอย่าง ให้เราปิดหนังสือ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราเปิดหนังสือดูเพื่ออ้างอิงแบบตลอดเวลา ด้วยความที่มันเป็นแบบที่เราชอบหรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็จะเลียนแบบของชิ้นนั้น ซึ่งมันไม่น่าภูมิใจสักเท่าไหร่ แต่ต้องยอมรับว่า บางครั้งรูปเดียวกันนั้นสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้ สิ่งที่ควรทำคือให้ปิดหนังสือ และนึกถึงภาพว่าเราชอบอะไรในนั้น อะไรที่บันดาลใจเรา ให้เรานำเฉพาะส่วนนั้นมาใช้งาน 

        เพราะฉะนั้น เวลาที่เราคุยกับนักออกแบบ โดยปกติแล้ว เขาก็รับงานจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกเจ้าอยู่แล้ว เรามักจะพบว่ามีลายเซ็นบางอย่างที่คงความเป็นเอกลักษณ์ของเขาเอง แต่โครงการของออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จะไม่มีรูปลักษณ์ตายตัว เพราะเราจะมุ่งเน้นไปที่รายละเอียด อย่างโครงการ Park Origin สามย่านและราชเทวี บันไดของสองโครงการนี้จะมีความพิเศษ เป็นแบบพับไปพับมา เพราะจริงๆ แล้ว ด้วยพื้นอันจำกัด เราจะออกแบบลูกนอนได้ความยาวไม่เกิน 25 เซนติเมตร แต่การที่เราทำให้มันสอดเข้าไปเมื่อมันเอียงแล้วจะทำให้ได้พื้นที่ถึง 30 เซนติเมตร ทำให้เราสามารถเหยียบได้เต็มเท้า นี่เป็นตัวอย่างวิธีคิดในเชิงรายละเอียด ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้งานได้ดีขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องของรายละเอียดที่เรายอมแลก

        นอกจากนั้น แผนก Product Design และแผนก Business Development ก็จะมีการบรีฟน้องๆ ฝ่ายขายให้เข้าใจถึงรายละเอียดของโครงการจริงๆ เมื่อก่อนเราอาจจะบรีฟว่าคอนโดฯ มีกี่ชั้น กี่ยูนิต มีสระว่ายน้ำอยู่ตรงไหน ฯลฯ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้น เราจะมุ่งเน้นไปที่คุณค่าของโครงการ ส่วนรายละเอียดต่างๆ ใครก็สามารถไปดูใน Fact Sheet ได้ แต่ในคุณค่าที่ว่านี้คือ เมื่อคุณเข้ามาในห้อง คุณจะเจออะไรบ้าง และมันดีกับคุณอย่างไร ทำไมต้องมีกระจกอัจฉริยะ ข้อดีคือมันช่วยให้ชีวิตคุณสะดวกขึ้น เป็นการเล่าประสบการณ์ เล่าถึงคุณค่า ซึ่งจะตรงกับคอนเซ็ปต์ของ The Origin คือ Live Your Value หรือใช้ชีวิตอย่างที่เชื่อ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่กระฉับกระเฉงตลอดเวลา หรือคุณอยากจะมีมุมสงบๆ เพื่อนั่งสมาธิ เรามีพื้นที่ตอบโจทย์ความต้องการของคุณ เพราะเราเข้าใจว่าความต้องการหรือ passion ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนอาจจะต้องประสบความสำเร็จ บางคนอาจจะใช้ชีวิตอย่างไม่รีบร้อน

อะไรที่ทำให้คุณไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ ตรงกันข้ามกลับแสวงหาสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

        เราท้าทายตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถ้าย้อนกลับไปสัก 60 กว่าปีที่แล้ว มีนักวิ่งคนหนึ่งสามารถวิ่งระยะทาง 1 ไมล์ภายในระยะเวลาน้อยกว่า 4 นาที ก่อนหน้านั้นไม่มีใครเคยคิดว่าคนเราจะสามารถวิ่งระยะทาง 1 ไมล์ภายในระยะเวลาเท่านั้นได้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีนักวิ่งชาวเคนยาคนหนึ่งเพิ่งวิ่งมาราธอนทำลายสถิติด้วยเวลาน้อยกว่า 2 ชั่วโมงได้สำเร็จเป็นคนแรกของโลก ไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน และเป็นการทำลายสถิติของตัวเองด้วย ทั้งสองคนนี้มีมายด์เซตที่เหมือนกัน คือเขาคิดว่ามันเป็นไปได้ ถ้าเขาเรียนรู้และฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด เขาก็ทำได้ และทำต่อไปเรื่อยๆ

        เราเองก็เหมือนนักกีฬา มีความสนุกกับการทำลายสถิติตัวเอง ถ้ามีคนมาถามผมว่าโครงการไหนคือโครงการที่ดีที่สุดของออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ผมก็จะบอกว่า เราก็กำลังทำโครงการที่ดีกว่าโครงการที่ผ่านมา เราท้าทายตัวเองตลอดเวลา แข่งกับตัวเอง และเราสนุกกับการเอาชนะตัวเอง