ในขณะที่หมู่มวลผู้หญิงกำลังมองความสุขที่แตกต่างกัน บางคนอาจมองเรื่องความสวย ความสมบูรณ์แบบ การได้ช้อปปิ้งอย่างเอาเป็นเอาตาย และการเป็นที่ยอมรับในสังคม บางคนดิ้นรนหาโอกาสโดดเด่นเฉิดฉาย มีสปอตไลต์ส่องตลอดเวลา แต่ ‘ขวัญ’ – สู่ขวัญ บูลกุล หญิงสาววัยสี่สิบกว่าๆ ช่วยปรับโฟกัสสายตาของเราให้มองเห็นสิ่งละอันพันละน้อยรอบๆ ตัวว่าเป็นความสุขอันเรียบง่าย การพบปะตัวจริงของเธอ ทำให้เราเข้าใจว่าเธอไม่ใช่โรลโมเดลของภาพฟุ้งฝันในอุดมคติของทุนนิยมและบริโภคนิยม จนเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ผู้หญิงทุกคนหันมาดูแลตัวเองมากกว่าที่เคย
สาวๆ ก่อนจะมีสไตล์คงต้องเสียสตางค์กันมามากมาย หากไม่มีสตางค์แล้วเราจะดูมีสไตล์แบบคุณได้ไหม
สตางค์จะมีมากมีน้อยเราก็มีสไตล์ได้ค่ะ พี่ว่าเดี๋ยวนี้เสื้อผ้าและเครื่องสำอางเขาทำออกมาราคาถูกๆ น่ารักๆ เยอะแยะไป โลกของเรามีผู้ผลิตมากขึ้น ผู้บริโภคก็มีตัวเลือกมากขึ้น คงไม่จำเป็นที่ต้องไปซื้ออะไรที่มันแพงเกินไป เสื้อผ้าบางอย่างก็มีราคาถูกแสนถูก ซื้อมาใส่ได้สองสามครั้งก็คุ้มแล้ว แต่ก่อนที่จะคิดถึงเรื่องสไตล์ สิ่งแรกที่ต้องคิดถึงก่อนเลยคือทัศนคติที่ดี พี่ว่าจะทำให้ผู้หญิงดูน่าสนใจมากกว่าการมีสไตล์
สังเกตได้จากเวลาที่เราเห็นผู้หญิงอวบๆ น่ารักๆ เรารู้สึกว่า โอ้โฮ น่ารักจังเลย อยากกอดเขา เพราะเห็นเขาเป็นคนร่าเริง ยิ้มง่าย พูดจาอ่อนโยน เป็นมิตรกับทุกคน แต่กับผู้หญิงบางคนมีสไตล์ แต่งตัวสวยตั้งแต่หัวจรดเท้า สมบูรณ์แบบตั้งแต่ทรงผม ใบหน้า รวมทั้งรูปร่างรูปทรง สิ่งนั้นทำให้เรามองเขาด้วยอาการตาค้าง แล้วเอ่ยขึ้นมาในใจว่า โอ้โฮ… ทำไมสวยอย่างนี้ล่ะ สวยจังเลย แต่กลับไม่ได้มีความรู้สึกอยากอยู่ใกล้ๆ
“
เรื่องทัศนคติของแต่ละคนจะเป็นเรื่องที่อยู่ภายในที่สุด และในที่สุดมันก็เป็นผลออกมาในการกระทำหรือในคำพูดของคนคนนั้นนั่นแหละ ที่ทำให้เขาเป็นคนที่เราอยากอยู่ใกล้ๆ หรืออยากถอยออกห่าง
”
อีกอย่างคือเรื่องกาลเทศะ เราเป็นสาวสไตล์ไหนก็ได้จริงไหม เราแต่งตัวยังไงก็ได้ แต่ไม่ควรใส่สีดำไปงานแต่งงานหรือเปล่า ยกเว้นใส่ไปร่วมงานแต่งของเพื่อนชาวญี่ปุ่น อันนั้นไม่เป็นไร แต่ถ้าจะไปงานแต่งของเพื่อนที่เมืองจีน ก็ไม่ควรใส่สีดำหรือขาวแน่ๆ ดังนั้น เวลามีคนถามเรื่องราคาถูกหรือแพง พี่ก็บอกว่า ไม่ได้สนใจ ไม่เคยมองคนอื่นด้วยคำว่า อุ๊ย! ใส่เสื้อราคาถูกนี่นา เราใส่แพงกว่า พี่ชื่นชอบคนที่เป็นตัวของตัวเอง และมีความมั่นใจ
แต่ถ้าจะให้ชื่นชมในรายละเอียดไปมากกว่านั้น ก็คือคนคนนั้นรู้จักรูปร่างตัวเอง รู้ว่าแต่งตัวอย่างไรถึงจะออกมาดูดี บางคนต้นขาใหญ่ ต้นแขนใหญ่ ไหล่แคบ ไหล่กว้าง เอวหนา เอวตรงเป็นทรงกระบอก บางคนหน้าอกใหญ่ หน้าอกเล็ก สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือเรื่องพื้นฐานที่เราควรจะรู้มากกว่า มากยิ่งกว่าจะไปรู้ว่ามีแบรนด์อะไร ราคาเท่าไหร่เสียอีก
ตอนแรกเราคิดว่าต้องมีสไตล์ดีๆ เสียก่อน ด้วยการมีเสื้อผ้าแบรนด์เนม แล้วจะนำพาเราไปสู่สังคมอีกระดับหนึ่ง
ถ้าเข้าไปอยู่แล้วมีความสุขก็ทำไปเถอะค่ะ แต่ถ้าเข้าไปอยู่แล้วรู้สึกอึดอัด แนะนำว่าอย่าเข้าไปเลย ถามจริงๆ เถอะ มันจำเป็นด้วยเหรอที่เราต้องเข้าไปอยู่ในสังคมที่วัดกันด้วยอะไรแบบนั้น ตัดสินกันด้วยสไตล์เหรอ เงินเหรอ ไม่สิ! ไม่เห็นว่าเราจะต้องกระเสือกกระสนที่จะไปตรงนั้นเลย ทำไมถึงต้องอยากด้วย สำหรับคนบางคน ในวัยบางวัย เราอาจจะต้องการการยอมรับจากผู้คนในสังคม เรารู้สึกว่าถูกตัดสินจากคนที่มองมา นั่นเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าไปให้ความสำคัญกับมันมากนัก ไม่ต้องมาคอยคิดว่าใครจะมองเรายังไง ช่างเขาเถอะค่ะ
…อะ โอเค เพราะพี่อายุขนาดนี้แล้วก็อาจจะพูดแบบนี้ได้ แต่ในขณะที่น้องๆ ยังมีความเป็นเด็ก เป็นวัยที่ต้องการเป็นที่ยอมรับจากผู้คนในสังคม เพราะฉะนั้น เรื่องที่ว่าน้องควรแต่งตัวยังไง ควรทำยังไง พูดอะไร มีไลฟ์สไตล์ยังไง เก๋ไหม แพงไม่แพง มันอาจเป็นสิ่งที่น้องยังกังวลมาก เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเจอ ต้องอยู่กับมัน ต้องเรียนรู้กันไป แต่ในท้ายสุดแล้วน้องก็จะกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราต้องใส่ใจสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมากแค่ไหน ใส่ใจขนาดนั้นแล้วทำให้ชีวิตมีความสุขหรือเปล่า การได้เป็นที่ยอมรับจากคนอื่นทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการจริงหรือเปล่า ถ้าคำตอบว่าใช่ นี่คือสุดยอดของเป้าหมายในชีวิต ก็ทำไปเถอะ แต่เมื่อถึงวันที่เรามีประสบการณ์ในชีวิตมากขึ้น สุดท้ายก็จะรู้ว่าความสุขของตัวเองคืออะไรกันแน่
ตอนสมัยยังสาวๆ คุณให้ความสำคัญกับเรื่องการยอมรับทางสังคมแค่ไหน แล้วมาถึงตอนนี้คุณรู้จักตัวเองว่าเป็นคนอย่างไร
ทุกอย่างคงเริ่มจากความชอบ จนในที่สุดก็กลายเป็นรสนิยม ซึ่งมันเกิดจากอะไรก็ไม่รู้ และไม่รู้ว่าเกิดขึ้นมาตอนไหนด้วย มาจากเหตุผลอะไร แค่เดาๆ ได้ว่ามันอาจจะเป็นสิ่งที่เราคลุกคลีมาตั้งแต่เด็กๆ ได้เห็นคนใกล้ชิดแต่งตัวแบบนี้ ได้เห็นคนที่เราชอบใส่เสื้อผ้าแนวนี้ หรือสาวๆ บางคนได้รับแรงบันดาลใจมาจากคุณย่าคุณยายก็ได้
อย่างพี่รู้ตัวว่าชอบใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวตอนสมัยเรียนอยู่ ม.6 ตอนนั้นเรารู้แค่ว่าใส่เสื้อเรียบๆ แบบนี้แล้วมั่นใจ มองตัวเองในกระจกแล้วชอบ ชอบที่ตัวเราเป็นแบบนี้ แต่กว่าจะพัฒนามาเป็นตัวเองที่ชัดเจนอย่างทุกวันนี้ได้ ก็ผ่านช่วงวัยรุ่นที่ได้ลองใส่เสื้อผ้าบ้าๆ บอๆ มาทุกสิ่งทุกอย่าง ลองมาเยอะเหมือนกัน เอาง่ายๆ เลยนะ ลองสังเกตตัวเองว่าชอบใส่เสื้อผ้าชุดไหนที่สุด ใส่แล้วเป็นตัวของเราเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่พยายามเป็นอย่างอื่น นั่นแหละคือสไตล์เรา
สมมติให้พี่ใส่เสื้อลายดอกบานฉลุดุจเจ้าหญิง เราเหมือนจะต้องประดิษฐ์คำพูดคำจา วิธีการเดินต้องหนีบนิดๆ ประดักประเดิด เขินตัวเองที่อยู่ในชุดนั้น หรือบางชุดที่คัดสรรมาอย่างดีแล้ว แต่พอใส่ปุ๊บ เมื่อจะลุกจะเดินกลับรู้สึกแปลกๆ พี่มองว่าเสื้อผ้าเป็นสิ่งที่รับใช้เรา ไม่ใช่เราต้องคอยปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อไปตามรับใช้เสื้อผ้า
ที่สุดแล้ว สิ่งที่เราควรซื้อหาก็คือเสื้อผ้าที่เราใส่แล้วรู้สึกสบายใจกับตัวเราเอง
ใช่ๆ ถูกต้องเลยค่ะ พี่เชื่อในความเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล คนเราแต่ละคนไม่เห็นต้องไปเหมือนใคร ชอบแบบไหนก็เป็นแบบนั้น เพียงแค่ว่าในความชอบนั้นก็ต้องไม่ลืมเรื่องสำคัญที่บอกไว้ด้วย คือกาลเทศะหรืออะไรพวกนั้น
การแต่งหน้าก็เหมือนกัน บางคนชอบกรีดอายไลเนอร์หนาๆ จนเกือบเต็มทั้งเปลือกตา แต่ขณะที่บางคนไม่แต่งหน้าอะไรเลย แต่กลับทาลิปสติกสีแดงจัด พี่มองว่าสาวๆ แต่ละคนเลือกที่จะแต่งหน้าแบบนั้น เพราะเราแค่ต้องการแสดงออกถึงตัวตนไม่ได้แต่งเพื่อที่จะเป็นคนที่สวยที่สุด แต่เพื่อให้รู้ว่านี่คือฉัน และพี่ขวัญชื่นชอบที่เราเป็นกันแบบนี้ เพราะนั่นแปลว่าเราเคารพในตัวเอง ยอมรับในตัวเอง ซึ่งคนแบบนี้แหละคือคนที่มีเสน่ห์ เปี่ยมไปด้วยความสุข
ส่วนคนที่ยอมรับตัวตนของตัวเองไม่ได้ พยายามที่จะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะให้คนอื่นยอมรับ แสดงว่าเขาไม่เคารพตัวเอง แล้วเขาก็อาจจะหาความสุขจากตัวตนของตัวเองไม่ได้เลย
ทำไมการช้อปปิ้งนี่มันช่างให้ความสุขกับเราเหลือเกิน คุณคิดว่าตัวเองเป็นพวก shopaholic ไหม
(หัวเราะ) พี่พูดถึงเรื่องนี้เสมอว่า การที่พวกเราสาวๆ เป็นคนชอบช้อปปิ้งหรือชอบสะสมข้าวของ เพราะเราประมาณตัวแล้วว่าสิ่งที่เราซื้อๆ กันมานั้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต
“
ถ้ามันคือความสุขของเราก็ทำไป หากอยากจะมีลิปสติกสีแดงซ้ำๆ กันเป็น 10 แท่ง ก็เอาสิ!
”
แต่สิ่งที่เหนือไปกว่านั้น หลังจากช้อปปิ้งกลับมาแล้ววันหนึ่งพบว่าในห้องของเราเต็มไปด้วยเสื้อผ้าที่อัดแน่นจนหาที่แขวนไม่ได้ รีดเท่าไหร่ก็ยับ เพราะมันอัดกันอยู่ในตู้ รื้อออกมาทีกลายเป็นทะเลเสื้อผ้าที่ท่วมเท่าหัวเข่า รื้อกันอยู่สามวันจนน้ำหนักลดเลย ท้ายสุดก็ต้องเอาไปบริจาค เชื่อไหมว่าการรื้อตู้เสื้อผ้า ตู้รองเท้า หรือโต๊ะเครื่องแป้งออกมา จะทำให้นิสัยการช้อปฯ ของตัวเองเปลี่ยนไป พอมองข้าวของที่กองๆ ไว้ จะได้เห็นนิสัยที่แท้จริงของตัวเองมากขึ้น ได้เห็นพฤติกรรมการซื้อของตัวเองมากขึ้น อะไรที่มักจะซื้อซ้ำๆ ก็เตือนตัวเองว่าไม่ต้องซื้อแล้ว จะลดราคากี่เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ต้องไปสนใจมัน แถมยังตอบเรื่องสไตล์ของตัวเองได้ชัดขึ้นเมื่อเห็นภาพเสื้อผ้าทั้งหมดได้อีกด้วย
แต่แหม! ป้ายลดราคาตัวแดงๆ มันก็ช่างหลอกล่อเหลือเกินนะ
ใช่ๆ พี่ก็เคยเป็น โรคที่พอเห็นป้ายเซลแล้วต้องพุ่งเข้าไปใส่ เราเป็นเหมือนกันใช่ไหม ประเภทที่ยอมแพ้ให้กับกางเกงบางตัวที่แม้จะเล็กไปนิดหรือใหญ่ไปหน่อย คือจริงๆ แล้วยังไม่ค่อยชอบหรอก แต่พอมันลดราคาก็ต้องซื้อเก็บไว้ก่อนแล้วกัน กางเกงพวกนี้แหละค่ะที่ซื้อมาแล้วก็ได้แต่แขวนอัดๆ ในตู้น่ะ ไม่เคยใส่จริงหรอกเพราะเราไม่ได้ชอบมันจริงๆ เวลาไปเดินช้อปฯ นะ ก็จะ… โอ๊ยๆ ตัวนั้นก็น่ารัก ตัวนี้ก็น่ารัก แต่ลืมไปว่าพวกของลดราคาที่ว่าน่ารักๆ พวกนั้นมันเคยเหมาะกับเราตั้งแต่สมัยยี่สิบปลายๆ หรือสามสิบต้นๆ (หัวเราะ) แต่ในวันที่เราอายุสี่สิบห้า และในวันที่เรามีหน้าที่การงานอีกแบบหนึ่งไปแล้ว เพราะฉะนั้น การที่เราจะหยุดโรคนี้ได้ ก็คือการรื้อตู้เสื้อผ้านี่แหละ ยังไงๆ ก็ต้องรื้อนะ รื้อเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการซื้อของตัวเองนั่นเอง
เรียนรู้จากเสื้อผ้าของตัวเองแล้ว อยากให้คุณเล่าเรื่องประสบการณ์การทำงานและวัยที่เปลี่ยนผ่านให้เราฟังหน่อยสิ ว่าคุณเรียนรู้อะไร
พี่ชอบสมัยที่ยังทำงานอยู่ที่เนชั่นฯ พี่เห็นว่าในช่วงวัยนั้น ลักษณะของการทำงานเป็นสิ่งที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือการวิจารณ์งานกันตรงๆ ไม่มีมาอ้อมค้อมหรือถนอมน้ำใจ เช่น หากงานทำออกมาไม่ดีก็พูดออกมาเลยว่า ทำออกมาได้ยังไง ห่วย!
กับเรื่องการทำงาน เราต้องวิจารณ์กันตรงๆ ใช่ไหม
ใช่ๆ พี่ว่าดีนะ ไม่อย่างนั้นมันเสียเวลา แต่จะว่าไปเราถือว่าโชคดีที่ยังไม่เคยโดน ดีที่รอดมาได้ (หัวเราะ)
“
พี่ไม่ได้ถือว่าการวิจารณ์กันตรงๆ เรื่องงานนั้นเป็นสิ่งไม่ดี พี่กลับคิดว่านั่นเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราได้แก้ไขตัวเอง พัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็วที่สุด
”
ดีกว่ามามัวแต่ถนอมใจกัน อีกด้านหนึ่งมันก็ดีนะ ที่คนคนนั้นเขาแคร์ความรู้สึกของเรา แต่กว่าที่จะรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี หรือต้องเปลี่ยนจุดไหน กลับต้องใช้เวลามากกว่าเดิม สู้พูดเลยดีกว่า ยิ่งรู้อยู่แล้วว่าเขาไม่ได้เกลียดเรานะ แต่นี่คือประโยคตรงที่สุดที่เขาจะช่วยแก้จุดอ่อนให้เราได้ ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของการมองคำวิจารณ์ด้วย
เมื่อตอนทำงาน เราพูด เราวิจารณ์กันตรงๆ แล้วกับเรื่องครอบครัวล่ะ เราควรใช้วิธีพูดตรงๆ บ้างหรือเปล่า
อย่างกับพี่โชค (โชค บูลกุล, สามี) เราก็แต่งงานกันมานานแล้ว อาจจะมีช่วงแรกๆ ที่ใช้คำพูดคำถามเพื่อบอกกันตรงๆ บ้าง แต่โดยพื้นฐานแล้วเขาจะเป็นผู้ชายไม่ค่อยพูด จะเป็นประเภทลงมือทำให้เห็นมากกว่า อย่างสมัยก่อนเราซื้อของเข้าบ้าน กลับมาถึงพี่ก็กองๆ ไว้ก่อน แล้วไปทำอย่างอื่น แต่พี่โชคเป็นคนเรียบร้อยและมีระเบียบมาก เขาก็จะไม่ได้ว่าหรือพูดอะไร แต่เขาจะลงมือทำให้ดู พอพี่เดินกลับมาก็เห็นเขากำลังจัดการเอาของไปเก็บให้เรียบร้อย หรือแต่ละครั้งที่เราไปช้อปปิ้งกลับมา ตัวเขาซื้อของอะไรมา จะแกะกระดาษทิ้งถังขยะ พับถุง แล้วเอาของไปวางในที่ที่มันควรอยู่ เมื่อพี่เห็นพี่ก็รู้ว่าเขาเป็นคนแบบไหน ชอบอะไรไม่ชอบอะไร โดยที่ไม่จำเป็นต้องพูดว่า ‘ขวัญน่าจะทำอย่างนี้นะ’ คือทุกอย่างไม่จำเป็นต้องพูด แต่ถ้าถามว่าพี่โชคเป็นคนพูดตรงๆ ไหม กับการทำงานร่วมกับลูกน้องอาจจะใช่ แต่กับพี่ เขาคงพยายามอ่อนโยนกับเรา
แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังรับคำวิจารณ์ตรงๆ ไม่ได้อยู่ดี
จริง พี่ขวัญเห็นเยอะเลยว่าบางคนรับคำวิจารณ์ไม่ได้ เพราะคิดว่าการวิจารณ์ผลงานเป็นการตำหนิส่วนตัว เพราะเธอเกลียดฉัน เธอจึงว่าฉัน
ซึ่ง… มันไม่ใช่ (เสียงสูง) คนละเรื่องเลย พี่เองก็เป็นคนที่ชอบพูดตรงเหมือนกัน ถ้าถูกก็ถูก ถ้าผิดก็ผิด แต่ก็ต้องดูตาม้าตาเรือเหมือนกัน มันไม่ใช่ว่าทุกคนพร้อมจะยอมรับคำวิจารณ์ได้ หากมีคนทำงานรอบตัวที่กล้าวิจารณ์ตรงๆ ก็ขอให้น้องรู้เลยนะคะว่าตัวเองโชคดีมาก เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่จะแก้ไขจุดอ่อนตัวเอง แก้ได้ถูกจุด และขอยืนยันว่า คำวิจารณ์ตรงๆ เท่านั้นที่จะทำให้เราพัฒนาได้เร็วมากจริงๆ
งั้นเดี๋ยวพี่ขวัญช่วยดูกระจกเลยนะคะ ว่าเสื้อผ้าหน้าผมที่ทางทีมเราเตรียมให้ในวันนี้ พี่ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร
(หัวเราะ) งั้นพี่ก็ขอพูดตรงๆ นะคะ น้องเปลี่ยนสีลิปสติกให้พี่เดี๋ยวนี้เลยค่ะ