บนเวที TED Talk ที่กรุงเทพฯ เมื่อสองปีก่อน ‘โอ๊ต’ – ชยะพงส์ นะวิโรจน์ พาผองเพื่อนไปวาดลวดลายสวิงแดนซ์สนุกสุดเหวี่ยง พร้อมกับพูดถึงวิธีสร้างคอมมูนิตี้ว่าประกอบด้วยสามขั้นตอน ความคลั่งไคล้ในบางสิ่งบางอย่าง การเริ่มต้นสร้างระบบนิเวศขึ้นมา และหล่อเลี้ยงไว้ด้วยบรรยากาศแห่งความสุข ในฐานะนักธุรกิจถึงแม้ชีวิตแต่ละด้านจะไม่ได้สอดประสานเป็นเนื้อเดียว แต่เขายึดหลักการในการดำเนินชีวิตและทำธุรกิจคล้ายคลึงกัน คือเรื่อง Co-creation และ Compassion ถือเป็นสิ่งสำคัญ เคารพคนอื่น มองโลกในแง่ดี และนำข้อดีของทุกคนมารวมกันไว้เพื่อสร้างคุณค่าให้กับทุกคน
ช่วยอธิบายระบบนิเวศของสวิงแดนซ์ ถ้าเปรียบเทียบแต่ละสเต็ปกับโลกธุรกิจ ผู้คนที่นี่ create value ให้กับชุมชนนี้อย่างไร
ผมคิดว่านี่เป็นอีกโลกหนึ่งเลย แยกออกจากเรื่องธุรกิจ มันคือศิลปะแห่งความสนุกสนาน ได้ปลดปล่อย ปล่อยวางสิ่งที่ถือมาทั้งวัน ลืมโลกของงานเพื่อมาผ่อนคลาย พบปะคนที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่มีโอกาสที่จะได้สัมผัสทุกวัน คนที่อยากสัมผัสสิ่งที่แตกต่างเขาก็จะมา แล้วเขาจะรู้สึกว่าไม่เคยเต้นมาก่อนเลย การที่เขาเต้นได้เขาก็จะรู้สึก artistic ขึ้น รู้สึกมีมิติ มีสีสันอีกเฉดหนึ่งเข้ามาในชีวิตเขา
เหมือนกับตอนที่สวิงแดนซ์เริ่มเข้ามาในชีวิตผม เป็นอีกหนึ่งสีที่เพิ่มเข้ามาในชีวิต แล้วเติมเต็มชีวิตเราได้ พอได้เติมเต็ม เราก็รู้สึกว่าต้องพยายามทำให้คนอื่นๆ ได้สัมผัสสีสันเหล่านี้ด้วย พอมีคนอื่นๆ ได้เข้ามาสัมผัส ก็เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เขา เกิดการบอกต่อ เกิดเป็นความรักความชอบ ทั้งหมดนี่คือสวิงแดนซ์ เป็นที่ที่ผู้คนได้มาเพื่อให้ เพื่อรัก เป็นความรักที่ไม่ได้โรแมนติกอย่างเดียว แต่มันเป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งกว่านั้น
เรียกว่า compassion ได้ไหม
แปลกมากๆ ผมก็นึกถึงคำนี้ ผมเพิ่งจะเขียนคำนี้ลงในสมุดบันทึก เขียนไว้ตัวใหญ่มาก เขียนทั้งหน้าเลย ซึ่งปกติไม่เขียนอะไรทั้งหน้าแบบนี้ในสมุด (นิ่งคิดไปครู่ใหญ่) …การที่คนเราจะอยู่ร่วมกันได้ ต้องมีวัฒนธรรมแห่งความสอดคล้อง สามัคคีกัน ต้องมีทั้งการเคารพและความเมตตาแก่กัน ให้อภัยกันได้ ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันแล้วรู้สึกว่ามีพลัง ไม่ได้อยู่ร่วมกันเฉยๆ เรายังมา co-create อะไรบางอย่างด้วยกัน นี่คือความรู้สึกของผมต่อคำว่า compassion (เมตตา) เป็นความรู้สึกอบอุ่น การเผื่อแผ่ให้คนอื่น ผมคิดว่า
“
compassion อยู่ในร่มของความรัก เพราะความรักคือพลังเหนือทุกสิ่งใด เป็นกระสุนพลังที่ไม่มีวันหมด
”
ความรักมันมีหลายมิติ แล้ว compassion คือหนึ่งในนั้น compassion อาจมีสีเป็น sky blue ขณะที่ romance อาจจะมีสี maroon red
ทำไมเวลาพักผ่อนจากงาน เราถึงต้องมาอยู่ร่วมกับคนอื่น ทำไมเราไม่อยู่ของเราคนเดียว
ผมเองก็ต้องการอยู่คนเดียวเป็นบางครั้งนะครับ (หัวเราะ) จริงๆ การอยู่คนเดียวเป็นการพักผ่อนรูปแบบหนึ่ง จะให้เจอคนมากๆ ทุกวันก็ไม่ไหว อยากมีเวลาส่วนตัว เดี๋ยวคนจะคิดว่าผมเป็น extrovert เกินไป จริงๆ แล้วผมก็ชอบอยู่คนเดียวเหมือนกันนะ บางครั้งขอนอนอ่านหนังสือคนเดียว แต่พอได้มาอยู่ร่วมกับคนอื่น เราเลยรู้สึกว่าอยู่คนเดียวมันเติมพลังไม่ได้เท่ากับอยู่รอบๆ คนที่เติมพลังให้เราได้ แล้วมันสร้างแรงบันดาลใจบางอย่างให้เราได้ด้วย เราเองก็หายเหนื่อย ได้เจอคนที่ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ
ในช่วงที่เรารู้สึกจิตตกก็อยากจะมีไหล่มาให้ซบ นั่นก็คือคอมมูนิตี้ มันสามารถทำให้คนหนึ่งเป็นมากกว่าคนหนึ่งได้ อยู่คนเดียวฉันก็เป็นของฉันอย่างนี้ แต่ถ้ามาอยู่ด้วยกันหลายคนฉันกลับจะยิ่งมีพลัง มีแรงบันดาลใจ ได้เรียนรู้มากกว่าการอยู่คนเดียว ได้เติบโตจากการพบคนอื่น
สำหรับผม สวิงแดนซ์เป็นเหมือนเพาเวอร์แบงก์เพื่อให้เราก้าวต่อไป เป็นความงดงามของมนุษย์ที่เราสามารถมีพลัง มีเคมี มีแรงดึงดูดระหว่างกันเพื่อเติมพลังให้แก่กันได้ แต่ถ้าอยู่ไม่ถูกที่ก็ดูดพลังเหมือนกัน
“
สำหรับผม สวิงแดนซ์เป็นเหมือนเพาเวอร์แบงก์เพื่อให้เราก้าวต่อไป
”
อยากรู้ว่าเวลาคุณไปอยู่ในแวดวงไหนแล้วรู้สึกว่าถูกดูดพลัง
(หัวเราะ) ก็มีบ้างแหละ แต่ที่สวิงแดนซ์ไม่ดูดพลังเรา เพราะเราเริ่มต้นสร้างสิ่งแวดล้อมให้เสริมพลัง ถ้าเราเริ่มต้นสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดูดพลัง มันก็จะดูดพลังของเรา ที่นี่จึงมีพลังงานเชิงบวก พวกเราอยู่กับความเป็นจริงนะ พวกเราไม่ได้โลกสวยหรือเพ้อฝันอย่างเดียว ถ้าจะถามว่าผมเคยเชิญใครออกจาก The Hop ไหม ก็เคยนะ เพื่อปกป้องคอมมูนิตี้
กลับไปที่คำถามว่ามีอะไรดูดพลังไหม สำหรับผม อะไรที่ท้าทายมากๆ มันก็เหนื่อยเหมือนกันนะ พูดกันตรงๆ งานทุกสิ่งทุกอย่างสามารถดูดพลังเราหมดแหละ แต่คำว่า ดูด อาจให้ความรู้สึกว่าถูกเอาออกไปหมด แต่ความจริงแล้วผมมองมันเป็นความท้าทายมากกว่า งานที่ยิ่งใหญ่ควรจะท้าทายและผลักดันเราจนไปถึงเป้าหมาย พอถึงตรงนั้นเราก็จะหายเหนื่อย เป็นวันที่เราเฉลิมฉลองชัยชนะกับตัวเอง การที่เราท้าทายตัวเอง ก็เพราะเชื่อว่าสุดท้ายมีรางวัลรออยู่ เราไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเช้าตื่นมาแล้วทำอะไรที่ซ้ำๆ กันเหมือนเครื่องจักร ผมคิดว่าทุกคนเลือกได้ เลือกใช้ชีวิตด้วยความท้าทาย ตื่นมาในวันใหม่ๆ คือเป้าหมายที่รอให้เราได้พิชิต ถึงตอนนั้นเราจะหายเหนื่อยทันที
หลายคนถามผมว่าทำได้ไง ไม่เหนื่อยหรอ ทำงานหลายด้าน มีหลายความรับผิดชอบ แต่ผมก็พยายามจัดลำดับความสำคัญ ผมมองว่าแต่ละระบบนิเวศไม่ได้รวมเข้าด้วยกัน แต่มันเหมือนกับใยแมงมุมที่ยึดโยงกันอยู่ เพียงแต่มันเป็นเส้นทางคนละสาย ผมก็พยายามคิดว่ามันน่าจะมีสิ่งที่คอยทำหน้าที่ยึดโยงทุกระบบนี้ไว้เข้าด้วยกัน
สวิงแดนซ์ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนที่สะท้อนได้ครบทุกมิติหรอก ไม่รู้สิครับ คงเป็นเพียงมิติหนึ่ง ผมเองก็ไม่เคยสะท้อนความเป็นตัวตนเยอะขนาดนี้ เพราะเรารู้ว่ามันมีความหลากหลายแต่เราก็ไม่ได้จับมารวมเป็นก้อนเดียว ลองจินตนาการถึงโลกที่ทุกคนทำงานด้วยจุดเด่นของตัวเอง และมีความชื่นชมกันและกัน เพื่อ co-create สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง โลกจะสนุกขึ้นเยอะเลย แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบทั้งหมด ถ้าเราตั้งเจตนาที่ดีแล้วผลออกมาไม่ดี เราก็ต้องมี compassion ไว้ลองกันใหม่ วิเคราะห์ขั้นตอน แล้วทำอีกครั้ง
สิ่งนั้นก็คือการที่สิ่งมีชีวิตจะต้อง create value ใช่ไหม
แค่นั้นยังไม่พอ เราต้องทำอะไรที่แตกต่าง ทำในสิ่งที่ไม่เหมือนคนอื่น
ต้องเป็นคนแบบไหนถึงจะสามารถดึงดูดให้ทุกฝ่ายเข้ามาสร้างคุณค่าร่วมกันได้
ต้องมองเห็นจุดเด่นในทุกๆ คน ผมเองก็มองหาจุดดีและจุดแข็งของคนรอบข้างตลอดเวลา เราหาสิ่งที่เรารู้สึกชื่นชม และให้คุณค่าแก่เขา พยายามพูดคุยแล้วชูสิ่งดีๆ ที่เขามีให้เด่นออกมา ส่วนเรื่องที่เขาไม่เก่ง ผมจะไม่ไปพูดถึงเท่าไหร่ เพราะจุดแข็งมีพลังมากกว่าจุดอ่อน ในทุกๆ คอมมูนิตี้ที่ผมทำผมพยายามหาจุดแข็ง หาพลังของทุกคนที่เราสามารถปลุกให้ขึ้นมา แต่ก็ไม่ใช่สำหรับทุกคนที่เราจะทำแบบนี้ได้ เพราะมีคนเป็นร้อยเป็นพันคน
ผมชอบคน weird อยากทำความรู้จักกับเขา อยากหาความพิเศษที่มีในตัวเขา I love weird people because they are special, they have power and new color that adds to the world. และพวกเขาก็สุดๆ ไปในทางใดทางหนึ่ง เราสามารถพูดคุยกับเขาได้ และเรียนรู้จากเขาได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ผมชอบในการที่จะนำพลังของคนเหล่านี้มารวมกัน
เคยมีใครในชีวิตที่ทำให้คุณรู้สึกสูญเสียความเชื่อมั่นในคนคนนั้นไหม
คงไม่ถึงขั้นหายนะขนาดนั้นหรอก เนื่องจากเราเป็นคนที่มีพลังบวก คนอื่นๆ ก็จะมีพลังบวกกับเราเช่นกัน มันเป็น law of attraction ถามว่ามีคนที่ดูดพลังไหม ถ้าบอกว่าไม่มีก็โกหกแล้ว เราก็แค่หลีกเลี่ยงหรือเลือกที่จะไม่ให้เขาดูดพลังเรา เราต้องลองพยายามกับเขาก่อนครั้งหรือสองครั้ง ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ควรเสียเวลา เพราะมีอีกเป็นล้านคนที่เราสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันได้
ลูกน้องของคุณที่บริษัทก็คงมีความสุข เพราะว่าคุณได้มอบพลังให้แก่พวกเขา
ที่บริษัทผมให้ทุกคนทำ StrengthsFinder ค้นหาว่าคุณเป็นคนแบบไหน จุดแข็งของคุณคืออะไร อย่างของผมคือ futuristic, positivity, achiever, competitive แต่ละด้านจะบอกรายละเอียดเพิ่มเติมอีก ซึ่งแบบวัดนี้มีการศึกษาและงานวิจัยรองรับความแม่นยำ ผมจึงได้ให้ฝ่ายบุคคลจัดซื้อนำมาให้ทุกคนได้ทำ จะได้รู้จุดเด่นของแต่ละคน เพื่อเราจะได้ปรับสไตล์การทำงานให้เหมาะสม แล้วการทำงานก็จะสนุกขึ้น เราทำงานกับจุดเด่นของเขาซึ่งผมว่าสำคัญทีเดียว
ขอถามตรงๆ ว่าในโลกแห่งความจริง คนเป็นหัวหน้าหรือคนเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ เขากดขี่และเอารัดเอาเปรียบคนอื่นมากกว่าที่จะมาร่วมมือและสร้างสรรค์อะไรร่วมกันหรือเปล่า
ผมเองในฐานะนักธุรกิจ เคยสวมหมวกของทุกฝ่าย พบว่าท้ายที่สุดแล้วเราต้องมี win-win situation ให้ได้ ต้องไม่เอาเปรียบกันเกินไป คำถามนี้ของคุณสามารถตอบได้กว้าง ถ้าเป็นด้านผู้ค้า บางทีก็โดนบี้จากเจ้าของพื้นที่ ซึ่งผมรู้สึกว่าไม่โอเคอย่างมาก ในโลกของการค้าจึงจำเป็นต้องมี compassion เช่นกัน
แล้วก็วนกลับมาที่ว่า ถ้าคุณสร้างความแตกต่างได้ คุณก็ต่อรองได้ คุณก็ capture value ได้ ถ้าคุณต่อรองไม่ได้ นั่นคือแพ้ในการค้า แต่ผมมองว่า
“
Some people can be poor if all they have is money.
”
ก็มีแค่เงิน แต่โคตรจนเลย เพราะไม่มี compassion ไม่มีมิตรภาพ เปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้ร่ำรวย แต่กลับหยิบยื่นอะไรให้คนอื่น สร้างคุณค่าให้คนอื่น คุณก็จะกลายเป็นคนรวย คือตัวเลขไม่ได้เป็นตัวระบุคน
อย่าง มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก สร้างเฟซบุ๊กขึ้นมาจนตอนนี้ทำรายได้มหาศาล แต่เขาคงไม่ได้คิดถึงตัวเลขตั้งแต่วันแรกที่สร้าง ตัวเลขเป็นเพียงสิ่งสะท้อนคุณค่าของสิ่งที่คุณสร้างขึ้นมา เพราะเวลาเริ่มต้น เราจะเริ่มจากความรักมากกว่า ผมจึงไม่ค่อยคิดถึงเรื่องตัวเลขปลายทาง คุณต้องค่อยๆ สร้าง ค่อยๆ ทำ สุดท้ายถ้าคุณ สร้างสิ่งที่มีคุณค่าจริง ตัวเลขมันจะสะท้อนออกมาเองโดยที่คุณอาจไม่ได้คาดถึงด้วยซ้ำ
โครงการธุรกิจใหญ่ของคุณก็เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มทุนต่างๆ จะยิ่งทำให้มีความหลากหลายและมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการลงทุนรายเดียวหรือเปล่า
แน่นอนครับ แล้วจุดประสงค์ของสุขสยามที่เราทำก็ไม่ได้หาผลตอบแทนในเชิงตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการสร้างแลนมาร์กของประเทศ ผมคิดว่าความเจริญหรือความรุ่งเรืองต้องกลับมาริมแม่น้ำอีกครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาต้องกลับมาเป็นไอคอนของสยาม คนมองข้ามความเจริญของแม่น้ำ คนล่องเรือวันละ 4-5 แสนคน เราจะทำให้คนกลับมามองแม่น้ำอีกครั้ง เราไม่ได้อยู่กับตึกคอนกรีตอย่างเดียวนะ เราต้องอยู่กับธรรมชาติ
คุณชอบด้านศาสนาไหม
ชอบครับ ผมคิดว่าที่ทำงานทุกวันได้เพราะสูดลมหายใจเป็น ค่อยดึงสติเรา ผมเคยไปเข้าร่วมวิปัสสนาตอนอายุ 15 เป็นเวลา 7 วัน เคยบวชเณรตอนเด็ก และบวชพระปีที่แล้ว เรื่องสมาธิกับสติทำให้เกิดปัญญา สติทำให้ไม่วอกแวก เป็นอาวุธหลักในการดำเนินชีวิต
เวลาเต้นสวิงเข้าสู่สมาธิไหม
แน่นอนครับ สมาธิมากๆ เพราะเราจะลืมทุกอย่างรอบตัว เหมือได้เข้าไปในอีกโลกหนึ่ง ต้องโฟกัสกับคู่ที่เต้นกับเรา รอยยิ้ม เสียงเพลง คือโมเมนต์ที่เราต้องอยู่ อยู่กับปัจจุบัน แล้วสนุกไปกับมัน อยู่กับโมเมนต์นั้น เราต้องใช้สมาธิค่อนข้างสูงมาก เป็น concentration เป็นการฝึกสมาธิได้เหมือนกัน
FYI
แบบประเมิน CliftonStrengths โดย ดอกเตอร์โดนัลด์ โอ คลิฟตัน (1924-2003) อดีตประธานของ Gallup ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยาโดยอาศัยจุดแข็ง (the father of strengths-based psychology and the grandfather of positive psychology) จากสมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกา (American Psychological Association)
ปี 2001 Gallup ได้เปิดตัวแบบประเมิน CliftonStrengths เป็นครั้งแรกในหนังสือ Now, Discover Your Strengths (ได้เวลาค้นหาจุดแข็งของคุณแล้ว) ปี 2007 Gallup ได้ตีพิมพ์ StrengthsFinder 2.0 และเผยโฉมแบบประเมินฉบับปรับปรุง
CliftonStrengths เป็นรากฐานของการค้นพบจุดแข็งและการพัฒนาตนเอง ช่วยให้ผู้คนมุ่งสู่ความเป็นเลิศ นับตั้งแต่ผู้บริหารธุรกิจระดับสูงและผู้จัดการ ไปจนถึงพนักงานขาย พยาบาล ครู นักเรียน บาทหลวง และสายอาชีพอื่นๆ ผู้คนกว่า 12 ล้านคน ได้ใช้ประโยชน์จากการนำพาชีวิตด้วยจุดแข็งของตน
ดูรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมได้จากหนังสือ เจาะจุดแข็ง 2.0 : StrengthsFinder 2.0 โดย ทอม แรธ สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์ และจากเว็บไซต์ www.gallupstrengthscenter.com