เวลา 5 ปี หากพูดอย่างโรแมนติก อาจเป็นระยะเวลานานมากพอที่ทำให้คนอกหักเยียวยาหัวใจ แต่มันก็ไม่ใช่เวลาที่เพียงพอจะทำให้เราลืมใครสักคน หรือพูดกันโต้งๆ ตรงๆ ให้เข้ากับบรรยากาศการเมืองตอนนี้ก็ต้องบอกว่า มันไม่เพียงพอที่จะทำให้เราลืมว่าเรามีสิทธิในการเลือกผู้บริหารประเทศในฐานะพลเมืองไทย
5 ปีก่อน หัวหน้าพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังเล่นการเมืองไปบนวิถีทางของตัวเอง เขาเป็นตัวละครหนึ่งที่มีบทบาทในวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งนั้น จะชอบหรือไม่ชอบ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาคือหนึ่งในตัวละครสำคัญที่โลดแล่นอยู่ในภูมิทัศน์การเมืองมาตั้งแต่ปี 2535—จากหนุ่มน้อยนักการเมืองรุ่นใหม่ กลายเป็นนักการเมืองหน้าเก่ามากประสบการณ์ และ 5 ปีที่ผ่านมา เขาก็ยืนยันว่ายังคงทำงาน และประสบการณ์ก็มากขึ้นในการหวนกลับมาสู่การเลือกตั้งครั้งนี้
การเลือกตั้งครั้งนี้จริงๆ แล้วเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการหรือเปล่า
ผมว่ามันเกินเลยไปจากตรงนั้นนะครับ ประชาธิปไตยกับเผด็จการก็เป็นส่วนหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์เราพูดชัดว่า เราเป็นประชาธิปไตยสุจริต คือวันนี้ผมเข้าใจอารมณ์ผู้คนนะครับ ผ่านมา 5 ปี เศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ ทุกคนก็อยากจะก้าวพ้นภาวะตรงนี้ แล้วก็คิดว่าพอมีการเลือกตั้งก็ใช้คำว่าประชาธิปไตย แต่ว่าหลายครั้ง พอเราได้ประชาธิปไตยมาแล้ว เรารักษามันไม่ได้ ไม่ยั่งยืน สุดท้ายก็จะวนเวียนกลับมาอีก
เพราะฉะนั้น สำหรับประชาธิปัตย์จึงไม่ใช่แค่การก้าวพ้นจากเผด็จการ แต่ต้องก้าวสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนด้วย เพราะปัญหาต่างๆ ไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะหน้าที่เราต้องพูดกัน วันนี้ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ สังคมสูงวัย เหมือนกับประเทศอื่นที่ถูกเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผมถึงบอกว่าเราอย่าคิดว่ามันมีแค่ประเด็นใดประเด็นเดียว เราอยากให้ 24 มีนาคมเป็นโอกาสของคนไทยและประเทศไทย ไม่ใช่แค่เพื่อก้าวพ้นจากสภาพปัจจุบัน แต่สามารถวางรากฐานสำหรับอนาคตได้ด้วย
คำตอบคือเสรีนิยมประชาธิปไตย
ใช่ครับ หลายคนไปเจาะจงคำว่าประชาธิปไตยแค่ว่าต้องมีการเลือกตั้ง ต้องเป็นเรื่องของเสียงข้างมาก แต่ประสบการณ์ทั่วโลกก็ชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วจิตวิญญาณของประชาธิปไตยมีมากกว่านั้น มันคือการมีพื้นที่สำหรับทุกคน การเคารพเสียงของคนอื่น คำว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยจะเป็นอุดมการณ์ที่ค่อนข้างชัดว่า เมื่อมีอำนาจมาตามวิถีทางประชาธิปไตยแล้ว การใช้อำนาจจะต้องมีขอบเขต ประชาชนเลือกมาเพื่อให้ไปผลักดันนโยบาย เพื่อแก้ปัญหา แต่ไม่ได้เลือกมาให้คุณมีอำนาจเพื่อโกง ข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม หรือปิดปากสื่อ นี่คือความหมายของเสรีนิยมประชาธิปไตย
การใช้อำนาจที่แม้จะมาจากกระบวนการประชาธิปไตยยังต้องมีขอบเขต แล้วมันก็จะมีค่านิยมหรือวัฒนธรรมหลายอย่างมารองรับ ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้มีการถกเถียงกันว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามให้รัฐบาลมีอำนาจเต็มแล้ว ก็มีส่วนได้เสียในการเลือกตั้ง กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องไปดีเบตกัน แต่จริงๆ แล้วถ้าเราอยากได้ประชาธิปไตยของแท้ ของเหล่านี้มันจะต้องเกิดขึ้น และไม่ควรที่จะต้องเขียนทุกอย่างไว้ในกฎหมาย เพราะพอเขียนกฎหมายที่มีรายละเอียดเยอะเกินไปสุดท้ายจะตีความกันไปคนละทิศทาง กลายเป็นเรื่องจุกจิกหยุมหยิม แล้วก็ลืมเจตนารมณ์ตั้งแต่ต้น
เจตนารมณ์ที่ว่าจะผุดขึ้นมาให้เห็นไหม ในเมื่อมีคนวางกติกาไว้แล้ว
ผมย้ำมาหลายครั้งนะครับว่า ใครจะมาเขียนสคริปต์ให้กับประเทศไม่ได้ ผมยังยืนยันว่าเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ ประชาชนยังมีสิทธิ์ในการเขียนบทให้ประเทศของตัวเอง
ยกตัวอย่าง มีการวิเคราะห์กันว่าระบบการเลือกตั้งนี้ออกแบบมาเพื่อให้มีพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก ก็ถ้าประชาชนเลือกให้เด็ดขาดมันก็จะมีพรรคใหญ่ เพราะฉะนั้น อย่าไปมองว่ากติกาถูกออกแบบมาเพื่อพยายามบังคับให้เดินไปทางไหนแล้วต้องไปจำนนกับมัน แม้กระทั้งการที่วุฒิสภา 250 คนจะมีสิทธิ์มาเลือกนายก ผมก็ยืนยันว่าถ้าประชาชนแสดงเจตนาของตัวเองชัด ถ้าจะฝืนความต้องการของประชาชน วุฒิสมาชิกก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน
ผมว่า อำนาจของประชาชนมีมากนะครับ อย่าไปประมาท เราก็เห็นว่าบางทีแม้แต่ผู้มีอำนาจในทางการเมืองอยากจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เวลาเจอเสียงดังๆ เขาก็ต้องหยุดชะงักอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะบอกว่ามีเต็มที่ก็คงไม่ได้เพราะกติกา แต่ถามว่าถ้าใช้เต็มที่แล้วมีผลไหม ผมว่ามีผล
แต่ในความจริงที่ผ่านมา 5 ปี เสียงของประชาชนดูเหมือนไม่ได้รับการตอบรับเลย
มันต้องจบลงไงครับ ไม่งั้นเราจะเลือกตั้งและพูดเรื่องประชาธิปไตยทำไม อย่างที่ผมบอก คุณจะพยายามเขียนกติกาหรือจำกัดอะไรก็ตาม แต่อำนาจที่ประชาชนมีอยู่ต้องใช้มันให้เต็มที่ ถ้าไปใช้โดยมีความรู้สึกว่าต้องไปจำนนต่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันก็ไม่ใช่แล้วครับ
แล้วถ้าครั้งนี้ประชาชนเลือกเผด็จการคุณจะยอมรับไหม
ถ้าเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตแล้วประชาชนเลือกฝ่ายเผด็จการเข้ามา เราก็ยอมรับผลครับ ไม่มีปัญหา เพราะว่าที่ผ่านมาในการเลือกตั้งหลายครั้ง พรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้บ้าง ชนะบ้าง เราก็ยอมรับผลการเลือกตั้งเสมอ เราต้องกำหนดบทบาทตัวเอง ซึ่งประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ไม่เคยมีปัญหากับการเป็นฝ่ายค้าน
เชี่ยวชาญในฝั่งฝ่ายค้าน
ไม่ได้อยากเชี่ยวชาญหรอก แต่ว่าเป็นงานที่สำคัญไม่น้อย อาจจะไม่น้อยไปกว่าการเป็นรัฐบาลด้วย และผมว่าพรรคการเมืองไหนที่ไม่พร้อมจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านก็คงไม่ใช่พรรคการเมืองจริง
แล้วรัฐบาลที่มีจุดยืนแบบไหนที่ประชาธิปัตย์จะไม่เอาด้วยเด็ดขาด
หนึ่ง เผด็จการ สอง โกง และสาม อุดมการณ์ในการบริหารประเทศไม่สอดคล้องกับความเชื่อเรา ที่ประชาธิปัตย์อยู่มา 70 กว่าปี เพราะหลายๆ สถานการณ์ เราตัดสินใจชัดเจนว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นรัฐบาล
ยกตัวอย่างเมื่อ พ.ศ. 2522 รัฐธรรมนูญคล้ายๆ แบบนี้เลย เอาวุฒิสภามาค้ำนายก หนักกว่านี้ด้วย เพราะว่ามีสิทธิ์ลงคะแนนในเรื่องกฎหมายสำคัญๆ ตอนนั้น พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เอาวุฒิสภาบวกกับพรรคขนาดเล็กและกลางมาตั้งเป็นนายก ชวนประชาธิปัตย์ไปเป็นรัฐบาล ประชาธิปัตย์ไม่ไป เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเรา
แล้วประชาธิปัตย์ก็เคยเป็นรัฐบาล และได้ตัดสินใจถอนตัวสมัยรัฐบาลนายกชาติชาย ถามว่าอยากเป็นรัฐบาลไหม อยากเป็นเพื่อผลักดันนโยบายแนวคิดเรา แต่ถ้าเป็นแล้วทำไม่ได้ก็ไม่ควรเป็น ไม่ได้ดิ้นรนว่าจะต้องมีตำแหน่งในรัฐบาล
เราชัดเจนมาก เหตุผลที่ทำไมเราถึงออกนโยบายได้ชัดเจน ตอบง่ายๆ เลยเพราะ 5 ปีที่ผ่านมาเราไม่เคยปิดพรรค เราไม่ได้ไปทำกิจกรรมการเมืองเพราะเขาไม่ให้ทำ แต่ผมกับสมาชิกพรรคพูดกันชัดเจนว่าเราหยุดเข้าหาและฟังเสียงประชาชนไม่ได้ เพราะปัญหาของประชาชนไม่ได้หยุดไปด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราถึงมีความพร้อมในการนำเสนอนโยบายก่อน เพราะมันผ่าน 5 ปีของการฟัง กลั่นกรอง คิด วิเคราะห์ ถกเถียง แลกเปลี่ยนกับประชาชน
5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนต้องการอะไรมากที่สุด
เรื่องปากท้องนี่ชัดเจน เพราะฐานะทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้ดีขึ้น คนจำนวนมากแย่ลงด้วยซ้ำ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะว่าเศรษฐกิจในภาคเกษตรและชนบทได้รับผลกระทบมากใน 5 ปีที่ผ่านมา คนเคยขายข้าวราคาหนึ่ง วันนี้ขายได้แค่ครึ่งหนึ่ง คนขายยางเคยขายได้ราคาหนึ่ง วันนี้ขายได้ ⅓ หรือ ¼ ของที่เคยขายได้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว คุณลองนึกดูสิ 5 ปี 7 ปีผ่านไป ข้าวของแพงขึ้นเท่าไหร่ ถ้ารายได้คุณต้องลดลงครึ่งหนึ่งหรือเหลือแค่ ⅓ มันเดือดร้อนมาก
ถ้าได้เป็นพรรคใหญ่ผู้จัดตั้งรัฐบาลสิ่งที่จะจัดการสิ่งแรกคืออะไร
เราจะฟื้นกำลังซื้อทันที เพราะมันคือสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไม่หมุนเวียน และต้องเพิ่มกำลังซื้อในลักษณะที่จะทำให้มันหมุนเวียนอยู่ในชุมชนและท้องถิ่นได้ด้วย เราประสบความสำเร็จกับการใช้นโยบายประกันรายได้พืชผลทางการเกษตรมาแล้ว ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ทำแล้วรัฐบาลก็ไม่ได้มีหนี้สินเยอะ ไม่มีทุจริต ตลาดการค้าขายสินค้าพวกนี้ไม่ได้พังลง ขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไม่ได้ตกลง เพราะฉะนั้น ตัวนี้กลับมาได้ทันที เป็นระบบที่เราริเริ่มไว้ เคยทำแล้ว และจะนำกลับมาปรับปรุงได้ทันที ขยายไปสู่พืชผลตัวอื่นๆ ด้วย
อย่างภาคใต้ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากราคายางและปาล์ม ก็นำตัวนี้มาหนุนกับมาตรการอื่นเพื่อให้ยางไปถึง 60 เพื่อให้ปาล์มไปถึง 4 บาท เรายังขยายตัวนี้มาที่ภาคแรงงานด้วยเพราะเราก็เห็นแล้วว่าค่าแรงมันไม่พอกับค่าครองชีพ แต่ว่าในอดีต การไปบังคับให้ผู้ประกอบการขึ้นค่าแรง ผลที่ตามมาคือการย้ายฐานการผลิต การตกงาน ปัญหาราคาสินค้าปรับขึ้นเพราะต้นทุนแพงขึ้น เราก็เอาแนวคิดประกันรายได้มาว่าถ้าค่าแรงควรเป็นเท่านี้รัฐบาลจะเติมส่วนต่างให้ สองเรื่องนี้ผมว่าครอบคลุมคนจำนวนมาก
แล้วก็บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน เราว่ามันถึงเวลาที่ต้องปล่อยให้เขาใช้จ่ายได้อย่างเสรี การบังคับให้คนต้องรูดบัตรในร้านค้าทำให้เงินไปกระจุกอยู่ในร้านค้าแทนที่จะกระจายรายได้ไปยังแม่ค้าในตลาดสด เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ร้านชำเล็กๆ ซึ่งคนเหล่านั้นก็ไม่ใช่คนรวย
มันจะดูเหมือนเป็นนโยบายประชานิยมที่เอาภาษีประชาชนมาใช้อีกทีหรือเปล่า
บางทีเราใช้ศัพท์บางอย่างคลุมเครือจนไม่รู้ว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร เช่น คำว่าประชานิยม ปรองดอง สมานฉันท์ ใช้กันเยอะจนลืมความหมายที่แท้จริงไป สำหรับพวกเราที่อยู่ในข่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย ประชานิยมมันจะมีลักษณะของการสร้างรัฐให้เป็นตัวอุปถัมภ์ หมายความว่ารัฐกำลังให้อะไรบางอย่างแก่คุณ เพื่อให้คุณเป็นหนี้บุญคุณรัฐ แต่นโยบายของเรานั้นอยู่บนฐานความคิดว่ามันเป็นสิทธิ์ ไม่ได้ตามใจผู้ให้ แต่ตามความจำเป็นของผู้รับ
อย่างที่ผมพูดว่า หนึ่ง คุณเป็นเกษตรกร คุณปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลัง คุณควรจะมีรายได้ขั้นต่ำเท่านี้ มันเป็นสิทธิ์ของคุณ รัฐจึงมีหน้าที่เติมให้ แต่ถ้าประชานิยมจะหมายความว่า ในฤดูกาลนี้ ผมจะให้คุณ 12,000 บาทนะ คราวหน้าก็ 15,000 บาทแล้วกัน ถ้าเงินไม่ค่อยมีก็อาจจะเหลือ 9,000 บาท แบบนั้นคือลักษณะของประชานิยม
สอง คือนอกจากทำตัวเองเป็นผู้อุปถัมภ์แล้ว ยังมุ่งไปที่เรื่องคะแนนเสียงเป็นหลักโดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียง เช่น การไม่รับผิดชอบในเรื่องวินัยของการเงินการคลัง เช่น ประชาธิปัตย์คือผู้ริเริ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่เริ่มโครงการจนขยายไปเป็นถ้วนหน้า วันนี้เราบอกว่าเราให้ 1,000 บาท แต่ผมมั่นใจว่าจะมีนักการเมืองที่มาถึงก็พูดว่าจะให้ 1,500 2,000 3,000 หรือ 5,000 บาท ถามว่าเราอยากให้มากกว่านี้ไหม เราก็อยากให้มากกว่านี้ แต่ที่เราไม่ให้เพราะเราคำนวณผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางการคลัง ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลมากี่รอบก็แล้วแต่ ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง แต่ไม่เคยทำประเทศเจ๊ง ไม่เคยสร้างภาระให้กับประชาชนและประเทศในระยะยาว เพราะฉะนั้น นี่คือความแตกต่างที่ว่าทำไมนโยบายที่เราคิดจึงไม่ใช่ประชานิยม
ผมยกตัวอย่างที่ดูจะเป็นตัวใหม่ในครั้งนี้และมีแง่การวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องประชานิยมคือ ‘เกิดปั๊บ รับสิทธิ์เงินแสน’ ถามว่าเรานึกสนุกขึ้นมาหรือเปล่าว่าเอาเงินแจกเด็ก ไม่ใช่ นี่มาจากงานของ UNICEF, TDRI และอีกหลายหน่วยงานที่บอกว่าการลงทุนกับพัฒนาการของเด็กเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด มีการศึกษาชัดเจนว่าควรจะเป็นตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 8 ปี เราก็เอาตัวนี้มาทำ วันที่เราประกาศ พลเอกประยุทธ์ถามว่าเอาเงินจากไหนมาทำ แต่ตอนนี้พรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์โฆษณาว่าจะให้มากกว่าเรา นี่คือความต่างในกระบวนการ
การผลิตนโยบาย คุณคิดเรื่องของการเกทับเพื่อผลประโยชน์ทางการเลือกตั้งหรือนโยบายที่มีการศึกษาปัญหาจริงๆ ต้องถามพรรคพลังประชารัฐด้วยว่า คุณอยู่มา 4-5 ปี ทำไมคุณไม่เคยมีแนวคิดนี้มาก่อน
คิดว่าจริงไหมถ้าทหารไม่เอาเงิน 1.3 แสนล้านบาทไปซื้อรถถังก็คงซื้อรัฐสวัสดิการได้
จริง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะความจริงก็คืองบประมาณมันมีการจัดลำดับความสำคัญ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ทำโครงการหนึ่ง ก็ต้องมีเงินมาทำอีกโครงการหนึ่ง แต่ว่าเวลาเราเจาะจงโครงการ อย่างโครงการนี้ เราต้องไม่ลืมว่ามันคือการซื้อ 1 ครั้ง แต่งบที่จะทำสวัสดิการต้องทำต่อไปทุกปี
เพราะฉะนั้นสำหรับผม การจัดลำดับความสำคัญ การโยกงบประมาณก็คงจะเกิดขึ้น เช่น เงินที่เราคิดว่าลดได้ในทันทีก็คือประเพณีระยะหลังที่ไปกองงบกลาง 6-7 หมื่นล้านเพื่อให้นายกหาเสียง ซึ่งมันผิดหลัก เพราะว่าของเดิมเขาตั้งไว้สำรองจ่ายฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม งบกลางฉุกเฉินควรเก็บไว้สำหรับฉุกเฉินจริงๆ แต่เราต้องไม่หลอกกัน ไม่ว่าพรรคอื่นจะพูดอย่างไรก็แล้วแต่ เช่น บางพรรคบอกว่าจะบริหารเศรษฐกิจให้โตจนไม่ต้องเพิ่มภาษีเลยก็ยังสามารถทำระบบสวัสดิการได้ ผมว่าไม่จริง ใครที่บอกว่าแค่ตัดงบกองทัพแล้วเอามาทำพวกนี้ได้หมด ผมก็ว่าไม่จริง สิ่งสำคัญก็คือเราพยายามทำระบบสวัสดิการที่ไม่ใช่ประชานิยม
ยืนยันว่าไม่ใช่ประชานิยมแต่เป็นสิทธิ
เป็นสิทธิ จึงเป็นระบบสวัสดิการ คือระบบสวัสดิการพยายามแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำแต่เราต้องไม่ลืมว่าเงินที่จะมาเติมในระบบสวัสดิการก็มาจากประชาชน ถ้าเราอยากลดความเหลื่อมล้ำแต่ไม่แก้ระบบโครงสร้างภาษีเราจะลดได้จริงหรือเปล่า
สมมติว่าทำโครงการสวัสดิการทั้งหมด แต่ขอขึ้น VAT จาก 7% เป็น 15-20% เหมือนต่างประเทศ ประชาชนเดือดร้อน แล้วก็เป็นภาษีที่คนจนจ่ายเท่าคนรวย แล้วเราจะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ถ้าถึงเวลาบอกว่าทำไมระบบสวัสดิการแพงจัง สรรพากรก็เริ่มไปรับชามก๋วยเตี๋ยวเพื่อเก็บภาษีมากขึ้น มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายหนีภาษีไม่ได้อยู่แล้ว แต่เศรษฐีที่มีรายได้เยอะๆ ทำไมเขามีช่องทางที่จะบริหารภาษีโดยไม่ต้องเสีย ผมว่าสภาพอย่างนี้มันต้องทำควบคู่กันไป
ประชาธิปัตย์ถึงบอกว่ารอบนี้ต้องมีการปฏิรูประบบภาษีด้วย ถ้าเราไม่ปฏิเสธความจริง การที่เรากำลังจะเป็นสังคมสูงวัย การที่เทคโนโลยีจะเข้ามาก่อกวนทำให้ไม่มีความมั่นคงในอาชีพ อย่างไรระบบสวัสดิการต้องขยาย เอาตัวเลขง่ายๆ คนที่กำลังเสนอสวัสดิการถ้วนหน้าจะอ้างอิงประเทศในยุโรปโดยเฉพาะ ยุโรปเก็บภาษีประมาณ 40% ของรายได้ของประเทศ ประเทศไทยปัจจุบันเก็บภาษีประมาณ 17-18% ของรายได้ของประเทศ ถ้าคุณอยากมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าแล้วคุณจะมาหลอกคนว่าแค่ 17-18% มันพอ ผมว่ามันไม่ใช่ แต่การที่จะเพิ่มจาก 17% ไปเป็น 20 กว่าเปอร์เซนต์ จะเป็นภาระของใคร ควรจะมาถกกันให้ชัด เพราะฉะนั้น สำหรับประชาธิปัตย์ก็ชัดเจนว่าคนมีกำลังจ่ายในปัจจุบันต้องยอมรับว่าคุณจะต้องจ่ายมากขึ้น
เคสที่ยกมาดูเหมือนจะเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง
ใช่ครับ ผมถึงบอกว่าวันนี้จะน่าเสียดายถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้คนต้องมาตัดสินใจว่าจะให้ใครอยู่ต่อ จะให้ใครกลับบ้าน การเลือกตั้งครั้งนี้ควรจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ไทยต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เสียที ไม่อย่างนั้นเราจะรองรับการแข่งขันกับโลก ผู้สูงวัยที่กำลังเพิ่มขึ้น หรือการปรับตัวของเทคโนโลยีไม่ได้
การกระจายอำนาจกับการปรับโครงสร้าง พูดกับทำจริงมันจะไปด้วยกันได้อย่างไร
ก็ไม่ยากอะไรนะครับ เพราะถ้าเป็นนโยบายมันก็เดินได้ สำหรับประชาธิปัตย์ เรื่องกระจายอำนาจ เราก็เป็นคนทำ อบต. ขึ้นมา เราเป็นคนให้เลือกผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง เราผลักดันกฎหมายเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร วันนี้เราก็บอกว่าถึงเวลาเลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด เราไปดูเมืองภาคธุรกิจ ภาคประชาชนอย่างขอนแก่น เขาอยากทำอะไรเยอะแยะที่บริหารตัวเอง เช่น ขนส่งมวลชน เราก็บอกว่าควรทำรูปแบบการบริหารเมืองแบบพิเศษขึ้นมาได้แล้วสำหรับจังหวัดแบบนี้ แล้วเราก็พูดไปถึงว่าต่อไปนี้การกระจายอำนาจมันไม่ใช่แค่เรื่องท้องถิ่น ในความหมายของ อบต. อบจ. เทศบาล อย่างเดียว กระทรวงศึกษาธิการควรจะให้อำนาจไปอยู่ที่โรงเรียนได้แล้ว
เวลา 5 ปี ผมไปมาไม่รู้กี่โรงเรียน ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนเกือบทุกโรงเรียน ก่อนกลับ ไม่เด็กก็ผู้อำนวยการหรืออาจารย์มายื่นซองให้เพื่อของบประมาณ ที่นี่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ที่นี่ไม่มีห้องแล็บฯ ที่นี่ไม่มีสนามกีฬาดีๆ ที่นี่ไม่มีห้องประชุมดีๆ ในโรงเรียนเหล่านั้นมีของหลายอย่างที่เป็นนโยบายจากกระทรวง จัดไปให้แต่เขาไม่ได้ใช้ ไม่ได้ต้องการ วันนี้แทบเล็ตหายไปไหนหมด เราจึงพูดถึงว่าการกระจายอำนาจมันไม่ได้หมายถึงแค่ อบต. อบจ. เทศบาล เรากำลังจะบอกว่าอย่างกระทรวงศึกษาธิการก็ควรจัดงบไปให้โรงเรียนบริหารเอง เขาจะได้นำเงินส่วนนั้นไปใช้ให้ตรงกับความต้องการของเขา
ความหมายของการกระจายอำนาจคืออะไร แล้วจะสร้างศักยภาพให้ประเทศไทยในอนาคตอย่างไร
คือการทำให้การตัดสินใจในการกำหนดทิศทางและการบริหารไปอยู่ในระดับใกล้ชิดกับประชาชนหรือองค์กรนั้นให้มากที่สุด อย่างเทียบเคียงก็คือเรื่องของโรงเรียนก็ให้โรงเรียนตัดสินใจ ไม่ใช่ให้คนที่กระทรวงศึกษาธิการในกรุงเทพฯ ตัดสินใจให้เขา
ตอนนี้มีกระแสออกมาว่า ผู้ใหญ่ตำหนิเด็กว่าเอาแต่ไปเชียร์พรรคหน้าใหม่ คุณมีความเห็นอย่างไร
ก็ไม่ใช่ผู้ใหญ่ทุกคนนี่ (หัวเราะ) เราต้องยอมรับว่าสังคมมีความหลากหลาย ทั้งเพศ หรือที่อยู่ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งทำให้แต่ละคนอาจจะคิด มีค่านิยม หรือมีอะไรที่ไม่เหมือนกัน สำหรับผม ผมมองว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน และทุกคนต้องมีพื้นที่ ทุกคนต้องสามารถมาตกลงกันได้ ผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยเวลาผู้ใหญ่ไปต่อว่าเด็กว่าทำไมไม่เหมือนตอนเขาเป็นเด็กๆ ซึ่งจริงๆ เขาก็ลืมไปว่าตอนเขาเป็นเด็กเขาก็โดนผู้ใหญ่ในรุ่นนั้นต่อว่าเหมือนกัน
ขณะเดียวกันผมก็ไม่เห็นด้วยว่าเด็กต้องทะเลาะกับผู้ใหญ่เสมอไป พรรคประชาธิปัตย์จึงมีกลุ่ม New Dem ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเอาประเด็นใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ เข้ามา แต่เขาไม่ได้มาเพื่อทะเลาะกับคนรุ่นก่อน เขามาเพื่อทำงานกับคนรุ่นก่อน และเราก็ทำงานได้ด้วยดี ปัจจุบัน มีนโยบายที่ New Dem เอามาบรรจุในนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ได้ ผมต้องการให้มันเป็นอย่างนี้มากกว่า ผมว่าพลัง ไฟ และมุมมองใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่นั้นเป็นประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนก็มีประโยชน์ไม่น้อยไปกว่ากัน ทำไมไม่เอาสองอย่างมาผสมกัน ทำไมต้องจับเรื่องนี้มาชนกับเรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา
การคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ด้วยการประนีประนอม จะทำได้จริงหรือ
มันไม่ใช่การประนีประนอมนะครับ แต่เป็นการหาความลงตัวที่ตอบโจทย์ให้กับทุกคน ซึ่งไม่ได้แปลว่าคุณต้องทิ้งหลักการ หรือถ้าคุณ 10 ผม 0 เราต้องไปเจอกันที่ 5 มันไม่ใช่อย่างนั้น ความหมายของผมคือการทำงานร่วมกัน คิดร่วมกัน และหาทางออกร่วมกัน และผมมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำตรงนี้ได้ด้วยเหตุผลง่ายๆ 2 เหตุผลคือ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของหรือเป็นบุคคลที่พรรคนั้นตั้งขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการ ถ้าเอ่ยชื่อพรรคอื่นมาผมบอกได้หมดว่าเป็นพรรคของใคร ผมเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มา 14 ปี ไม่เคยมีใครเรียกพรรคประชาธิปัตย์ว่าพรรคของอภิสิทธิ์ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงรับความคิดเห็นของคนที่หลากหลายมากำหนดเป็นจุดยืนได้ เพราะเราไม่เคยต้องรอคำสั่งใคร ลูกพรรคผมก็ไม่ได้รอคำสั่งผม ผมเปิดโอกาสให้เขาแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ
สอง นอกจากความเป็นสถาบันแล้ว การที่เราอยู่มานานกว่า 70 ปี ทำให้เรามีคนทุกรุ่น ผมเป็นหัวหน้าพรรคมา 14 ปี ยังมีนักการเมืองที่อาวุโสกว่าผมในพรรคนี้อีกเยอะ และท่านเหล่านั้นไม่เคยทิ้ง ท่านยังคอยจับตาดู ให้คำแนะนำ ให้สติ และเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์หรือสถานการณ์ซึ่งบางทีคนรุ่นผมก็ไม่เคยรู้ว่ามันเคยเกิดอะไรแบบนี้มาก่อน ขณะเดียวกันวันนี้ก็มีคนอายุประมาณ 25-30 กว่าปีเป็นผู้สมัครของเรา ทั้งในเขตเลือกตั้งและในบัญชีรายชื่อเยอะมาก เพราะเราไม่เคยหยุดสร้างบุคลากรทางการเมืองรุ่นใหม่ๆ คนเหล่านี้เข้ามาจากโครงการอบรมเยาวชน และคนเหล่านี้เข้ามาเพราะเราได้เปิดเวทีให้เขาเข้ามาแสดงความคิดความอ่าน และเพราะช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราให้เขาได้มาฝึกงานเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ว่าการทำงานในพรรคการเมืองนั่นเป็นอย่างไร
ตอนนี้ประเทศไทยกำลังถูกครอบงำด้วยอำนาจนิยม คุณจะเปลี่ยนแปลงมันได้อย่างไร
ผมมองว่ามันมีวิธีการที่จะเปลี่ยนได้ในทางปฏิบัติตามความเป็นจริงมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เรื่องรัฐธรรมนูญ ผมประกาศไม่รับ ผมเห็นว่ามันควรแก้เยอะ ผมก็ต้องหาแนวทางว่าจะแก้มันอย่างไร การไปพูดว่าจะฉีกรัฐธรรมนูญ คุณคิดว่าจะทำให้มันแก้ได้ไหมในเมื่อการจะแก้ตามกฎหมายคุณต้องใช้เสียงของวุฒิสภา การที่บอกว่าจะรื้อทั้งฉบับในภาวะที่คนกลุ่มหนึ่งบอกว่าหลายเรื่องในรัฐธรรมนูญนี้มันแย่จริงๆ แต่บางเรื่องก็สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลนักการเมือง ผมบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ผมก็เอาประเด็นต่างๆ ออกมาวางให้สังคมเห็นว่าอะไรสมควรแก้อะไรไม่ควรแก้ ตกลงกันให้ได้เสียก่อน แล้วเดินหน้าไป
ผมไม่เห็นว่ามันเป็นการประนีประนอม ผมเห็นมันเป็นทางเดียวที่จะเดินไปได้ แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยการเอาสองฝ่ายมาชนกัน ผมเชื่อว่าจะไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถสร้างกระแสสังคมให้เห็นความสำคัญได้มากน้อยแค่ไหน
อีกเรื่องเช่นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผมก็พูดตั้งแต่แรกว่าผมไม่เชื่อว่าจะมีใครเก่งพอที่จะเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ เที่ยวไปผูกมัดคนอีก 20 ปี ทั้งๆ ที่อีก 4-5 ปี ยังไม่มีใครรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ถามว่าเอาเข้าจริงๆ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เขาเขียนมาว่าให้ประเทศมั่นคง แข่งขันได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือทันสมัย ผมถามว่าแล้วคุณไปค้านเขาทำไม คุณไม่เอาเป้าหมายนี้หรือ แต่ถ้าคุณไปดูในรายละเอียด จะเห็นว่าสิ่งที่ต้องทำตามลำดับมันไม่ใช่ สำหรับผม อะไรที่เป็นนโยบายของเรา เราก็ทำ ถ้ามันมีปัญหากับแผนก็แก้แผน แต่ถ้าคุณตรงเข้าไปเลยเพื่อจะแก้รัฐธรรมนูญให้ไม่มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีให้ได้ คุณคิดว่าแบบไหนจะเดินไปสู่เป้าหมายได้มากกว่ากัน เพราะการแก้รัฐธรรมนูญวันนี้มันถูกล็อกไว้ แม้แต่ 500 เสียงก็ยังแก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องหาหนทางที่เป็นไปได้ แต่อะไรที่เราต้องปฏิเสธก็ต้องปฏิเสธ อย่างคอร์รัปชัน ไม่มีประนีประนอม ต้องตัดให้ขาดไปเลย ต้องไม่มี
จะจัดการกับอำนาจทหารอย่างไรให้เราไม่อยู่ในวงจรเดิม
มันอยู่ที่รัฐบาล ถามว่าเราอยากให้ทหารอยู่ในการเมืองไหม ไม่อยาก แต่ถามว่าทหารเข้ามาอยู่ในการเมืองได้อย่างไร ถ้าเมื่อปี พ.ศ. 2556 รัฐบาลที่แล้วไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรม หรือถ้าปี พ.ศ. 2548-2549 ไม่มีเหตุการณ์การขายหุ้นชินคอร์ปแล้วไม่เสียภาษี คุณคิดว่าทหารจะเข้ามาได้เหรอ เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่ประชาธิปัตย์พูดชัดก็คือเราไม่สร้างเงื่อนไขให้ทหารเข้ามา เวลาเราบริหาร ความสัมพันธ์ของเรากับทหารเป็นอย่างไร ยุคผมเป็นยุคเดียวที่ส่งสัญญาณชัดว่าอำนาจการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องออกมาจากฝ่ายความมั่นคงเพราะฝ่ายความมั่นคงเป็นเพียงมิติเดียวของการแก้ปัญหา เราผลักดันกฎหมาย สอบต. แต่รัฐบาลอื่นคิดว่าปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องของตำรวจและทหาร แม้กระทั่งกระบวนการเจรจายังให้ทหารเป็นหัวโต๊ะ สมัยผมคุยในทางลับ เราเอาพลเรือนนะ เพราะถ้าจะแก้ด้วยการเมืองก็ต้องว่าไป
สอง ผมเห็นบางพรรคการเมืองแสดงตัวต่อต้านทหารแต่งบกลาโหมเพิ่มขึ้นมากกว่าสมัยผม แล้วนโยบายบางอย่างเขาอาจจะไม่เห็นด้วยแต่ต้องทำตาม อย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาเวลาเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปทำอะไรมักจะไม่ต้องรับผิดชอบ สมัยผมเกิดกรณีอิหม่ามถูกควบคุมตัว เสียชีวิต ขึ้นศาลทหารนะ ผมบอกว่าต้องขึ้น ภาวะฉุกเฉิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประกาศกันมาเรื่อยตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นไปได้อย่างไรที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินมาจนถึงวันนี้ 14 ปี ตอนผมเป็นรัฐบาลมีเป้าหมายว่าต้องยกเลิกภาวะฉุกเฉิน ก็เริ่มต้นได้ 1 อำเภอ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าอำเภอนั้นเมื่อเลิกแล้วก็ไม่ได้มีปัญหาความรุนแรง มีคนมาสานต่อน้อยมากในเรื่องแบบนี้
ผมไม่เคยมีปัญหาที่จะบอกทางกองทัพ สมัยผมถามว่าขอซื้อเรือดำน้ำ เครื่องบิน หรือรถถังไหม ก็ขอครับ แต่ผมบอกว่าลำดับความสำคัญของการคลังเป็นอย่างไร และที่พูดได้เต็มปากเต็มคำเพราะว่าความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสมัยผมเป็นนายกต้องพึ่งพาทั้งทหารและตำรวจ ผมพูดตลอดว่าทหารและตำรวจมีหน้าที่ในการรักษาความสงบและต้องไม่เลือกข้างทางการเมือง ที่คุณต้องรักษาความสงบไม่ใช่เพราะคุณต้องสนับสนุนประชาธิปัตย์ แต่เพราะมันเป็นหน้าที่ของคุณ ที่คุณต้องเข้าไปใช้มาตรการต่างๆ ไม่ใช่เพราะคุณเป็นศัตรูกับผู้ชุมนุม แต่เพราะคุณต้องพยายามทำให้การชุมนุมอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย
พรรคที่บอกว่าต่อต้านทหารหลายพรรคคือพรรคที่นำทหารมาใช้ในทางการเมือง ผมไม่ได้บอกว่ากองทัพไม่ต้องมีการปฏิรูป แต่ฝ่ายการเมืองต้องไม่ลากเขาเข้ามาด้วย และต้องยืนยันบทบาทของตัวเองให้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลของคุณชวนหรือรัฐบาลของผมก็พิสูจน์ชัดเจน
คุณเชื่อว่าถ้าพรรคการเมืองอยู่ในความสุจริต ทหารจะไม่เข้ามายุ่ง
ใช่ครับ ผมมองไม่เห็นว่าเขาจะมีเหตุผลหรือเงื่อนไขอะไรที่จะเข้ามา แต่ต้องบอกตรงๆ ว่าถึงเราไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ แต่วันที่มันเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อ พ.ศ. 2549 และ 2557 ถามว่าคนส่วนใหญ่คิดอย่างไร สมมติว่าถ้ามันไม่มีเหตุหรือเงื่อนไขอะไรเลยแล้วเขาเข้ามา ผมว่าคนคงไม่คิดว่ามันจบสักที แต่คงคิดออกไปสู้
ตอนนี้ทหารไม่เลือกข้างแล้ว แต่เขามีข้างใหม่ เราจะจัดการกับอำนาจตรงนี้อย่างไร
เราต้องแยกระหว่างกองทัพกับทหารที่เกษียณแล้ว ถ้าวันนี้กองทัพและ ผบทบ. เลือกข้างคือผิด แต่คุณประยุทธ์ไม่ใช่กองทัพหรือทหาร แต่เขาคือนักการเมืองคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นทหาร ยึดอำนาจมา แล้ววันนี้ก็อยากจะกลับมาเป็นนายก
ไม่คิดว่ามันเป็นการสืบทอดอำนาจหรือ
เป็นการสืบทอดอำนาจของคุณประยุทธ์ ผมก็พูดไปแล้วว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมันชัดว่ายังให้เขามีอำนาจเต็ม มีอำนาจมาตรา 44 ใช้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าใครอยากลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ลาออก 90 วันหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศ แต่เขาใช้ช่องโหว่ในการไม่ลงสมัคร สส. เลยสักคน แต่มีส่วนได้เสียในการเลือกตั้ง เขาท่องคาถาอย่างเดียวว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม แต่มันก็เหมือนกีฬาที่มีกฎ กติกา มารยาท เช่น เวลาเล่นฟุตบอลถ้าฝ่ายหนึ่งบาดเจ็บล้มลง มีกติกาไหมว่าต้องเตะลูกออกให้ และทุ่มลูกบอลคืนฝ่ายตรงข้าม ไม่มี แต่ทำเพราะเป็นมารยาท
ส่วนเรื่องกองทัพ ถ้าเขาวางตัวเป็นกลางจะไปว่าเขาไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ต้องว่าเฉพาะคนที่อยู่ใน คสช. กลุ่มบุคคลซึ่งมีพื้นเพเป็นทหารและใช้อำนาจความเป็นทหารมายึดอำนาจ แต่ถ้าคุณไม่แยกแยะจะเท่ากับว่าคุณไปตรากองทัพซึ่งเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าเขาแสดงออกหรือใช้สถานะเพื่อเป็นประโยชน์ทางการเมืองให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเขาถึงจะผิด แต่ตอนนี้เรายังไม่เห็น
คาดหวังอะไรกับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้
ผมคาดหวังว่าเราจะมีโอกาสในการเป็นแกนนำรัฐบาลในการพาประเทศเดินไปข้างหน้าจริงๆ หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจและการเมืองแบนี้ พร้อมที่จะวางรากฐานสำหรับอนาคตระยะยาว
ครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณจะได้เป็นผู้นำพรรคหรือเปล่า
ก่อนหน้านี้เขาก็สบประมาทกันว่าประชาธิปัตย์ต่ำร้อย ผมจึงตัดสินใจว่าถ้าต่ำร้อยงั้นผมก็ลาออกเลย ง่ายๆ ผมจะรอดูว่าพรรคการเมืองไหนได้เสียงไม่ถึงร้อยแล้วยังเสนอชื่อนายก
สิ่งที่อยากทำก่อนที่จะลาออกคืออะไร
สองเรื่องใหญ่ๆ วันที่ผมเข้ามาเล่นการเมือง หนึ่ง ผมอยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อันนี้เป็นภารกิจใหญ่มากๆ และวันนี้มันซับซ้อนขึ้น เพราะวันที่ผมเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2535 เราเข้าใจว่าภัยคุกคามประชาธิปไตยมาจากเผด็จการทหารอย่างเดียว วันนี้ทั่วโลกยอมรับแล้วว่ามันมีคนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยได้ เพราะฉะนั้น คำว่าประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต คือสิ่งที่ประชาธิปัตย์กำลังวางว่าเราต้องเดินไปตามแนวทางนี้เท่านั้น ไม่อย่างนั้นความฝันเรื่องประชาธิปไตยจะไม่เป็นจริง
สอง ภาวะเศรษฐกิจ ความมั่นคงในรายได้และอาชีพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ทุกคนคือเป้าหมายสูงสุดอยู่แล้ว ถามว่าประเทศไทยเติบโตขึ้นมา มีความเจริญทางวัตถุระดับหนึ่ง ใช่ แต่วันนี้ด้วยเหตุผลที่ผมพูดไปหลายเรื่อ สังคมสูงวัย เทคโนโลยี หรือความเหลื่อมล้ำมันยังเป็นงานอีกเยอะมากที่เราต้องทำให้ได้ เพราะสองเรื่องนี้เป็นความตั้งใจของผมตั้งแต่ต้น
20 กว่าปีในวงการการเมืองมอบอะไรให้คุณบ้าง
ทุกวันเป็นการเรียนรู้อยู่แล้ว บทเรียนก็เยอะ แต่ว่ามันก็ทำให้เรามีความรอบด้านมากขึ้น มีแง่มุมความคิดต่างๆ ที่ครบถ้วนมากขึ้น
ในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้า ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะได้เป็นนายก อยากเห็นประเทศไทยเดินไปทิศทางไหน
ผมไม่ค่อยเชื่อในคำถามแบบนี้ ผมก็ไปมาหลายเวที ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่านโยบายการศึกษาก็จะมีคนบอกว่าให้ทุกคนมาตกลงกันได้ไหมว่าต้องทำอย่างนี้ แล้วก็จะคิดว่าไม่เป็นไรหรอก ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลมันก็จะเกิดขึ้น ไม่จริงครับ ถ้าคุณเอาคนที่เขาไม่เชื่อในสิ่งที่เขาทำ มันก็เป็นไปไม่ได้
ถ้าคุณประยุทธ์ได้เป็นรัฐบาลต่อแล้วจะเป็นความคาดหวังเดียวกับที่ผมเป็น หรือที่คุณสุดารัตน์เป็นไม่ได้ เพราะเราเชื่อและคิดไม่เหมือนกัน สมมติทุกคนพูดเรื่องกระจายอำนาจ ผมก็ต้องดูประวัติว่าใครเชื่อเรื่องกระจายอำนาจและใครเชื่อเรื่องรวมศูนย์อำนาจ ถ้าคนเชื่อเรื่องการรวมศูนย์อำนาจชนะเลือกตั้งแล้วคุณคาดหวังว่าจะมีการกระจายอำนาจ ก็ไม่ต้องพูดกันแล้ว ถ้าคุณคาดหวังเรื่องการศึกษาให้เดินต่อไป คุณต้องไปดูว่าใครสนใจเรื่องการศึกษาบ้าง และมีการทำงานเรื่องการศึกษาไว้อย่างไร
5 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทย เราเสียอะไรไปบ้าง
เสียสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานหลายอย่าง หลายๆ คนก็ยังรับผลพวงนั้นอยู่ด้วย ได้รัฐบาลซึ่งอาจจะทำให้เกิดความสงบ แต่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้ เพราะมันไม่มีกลไกของการฟังเสียงประชาชน และที่หนักที่สุดก็คือเรื่องเศรษฐกิจที่ถดถอยไป เสียความสัมพันธ์ในระดับปกติกับต่างประเทศ มันเป็นข้อเท็จจริง เราปฏิเสธไม่ได้ ส่วนคนที่สนับสนุนรัฐบาล อาจจะบอกว่ามันคุ้มเพื่อแลกกับอะไรก็ตาม ก็เป็นความเห็นที่อาจจะเข้าใจกันได้ ต้นทุนมันก็มีหลักๆ แบบนี้
ถ้าถามว่าคุ้มไหม ก็ไม่คุ้มอยู่แล้ว ผมชวนเดินออกจากภาวะอย่างนี้ อย่าลืมว่าตอนที่เข้ามา นอกจากบอกว่าจะรักษาความสงบ ใช้เวลาอีกไม่นาน ก็ยังบอกด้วยว่าจะปฏิรูปหลายอย่าง 5 ปีผ่านไป งานปฏิรูปแทบไม่มีให้เห็นเลย ซ้ำร้าย พฤติกรรมที่ผู้มีอำนาจในปัจจุบันเคยประนามว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศเสียหาย วันนี้ผมเห็นว่าทำไม่ต่างกันหรือหนักกว่า
ในฐานะประชาชน เจ็บปวดแค่ไหนที่ใน 5 ปีที่ผ่านมา
ผมไม่พูดถึงความเจ็บปวด ผมพูดถึงความจำเป็นสำหรับผมและพรรคที่จะต้องบอกกับประชาชนที่เจ็บปวดว่าหนทางที่จะหลุดพ้นจากสภาพแบบนี้คืออะไร เราไปชี้หน้าด่าเขาก็อาจจะแก้ไขทุกข์ทางใจได้บ้าง แต่ไม่ได้เกิดการแก้ปัญหาจริง เพราะฉะนั้น วันนี้ต้องหาวิธีทำให้สังคมได้เรียนรู้ แต่ไม่ใช่เรียนรู้แบบตัดตอน ความทุกข์ไม่ได้มีเฉพาะ 5 ปีที่ผ่านมา มันมีความทุกข์ทางด้านอื่นๆ มาก่อนหน้านั้น ความทุกข์จากรัฐบาลที่คอร์รัปชันหรือจากปัญหาเวลาโครงการประชานิยมมันล้มลง ต้องสั่งสมสิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนทั้งหมด
การตัดสินใจของประชาชนครั้งนี้ จะเป็นการตัดสินใจที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้มากแค่ไหน
ผมก็ยังรอคะแนนจากประชาธิปไตยที่สุจริต เพื่อจะมาแก้ปัญหาให้กับทุกคน
คิดอย่างไรกับคนที่บอกว่าเบื่อนักการเมือง ที่บอกว่านักการเมืองพูดเหมือนดี แต่ทำเหมือนเดิม
ก็ขอให้ดูข้อเท็จจริงว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นทุกคน ไม่มีใครที่ไม่มีจุดอ่อน ข้อบกพร่อง หรือไม่เคยผิดพลาดหรอก แต่ว่าการเหมารวมมันอันตราย เพราะการเหมารวมชี้หน้าว่านักการเมืองเลวคือที่มาของเผด็จการ 5 ปีที่ผ่านมา มีการพยายามป้อนความคิดว่านักการเมืองคือความเลว ประชาธิปไตยคือความยุ่งยาก เพื่อให้เผด็จการมีอำนาจได้ มันเป็นวาทกรรม
แล้วเราจะก้าวข้ามมันไปได้อย่างไร
เราต้องช่วยกันผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น และแยกแยะ ทุกวันนี้ขนาดคนที่มีความพร้อมหลายอย่าง มีการศึกษา มีความรู้ ยังต้องกลัวการเมืองเลย ด้วยค่านิยมที่ถูกสร้างขึ้นมาว่าถ้าคุณไปเกี่ยวข้องกับการเมืองแล้วคุณจะแปดเปื้อนและสุ่มเสี่ยง คุณต้องก้าวข้ามตรงนี้ไปให้ได้ ไม่อย่างนั้นการเมืองไม่มีวันเป็นของประชาชน
เด็กรุ่นใหม่บ่นอยากออกไปต่างประเทศ จะเรียกความหวังให้เด็กรุ่นใหม่กลับมาอย่างไร
ผมยืนยันว่ายังมีคนที่พร้อมจะเป็นปากเสียงและตัวแทนที่จะทำให้ความฝันของพวกเขาเป็นจริงได้ ต้องสู้กันต่อ การหนีอาจจะเป็นคำตอบสำหรับบางคนมั้ง แต่ผมไม่นิยมคนที่หนีปัญหา และผมคิดว่าเราอาจจะมีความไม่พอใจอะไรหลายๆ อย่าง แต่นี่คือประเทศเรา สังคมเรา เราไม่คิดจะทำให้มันดีขึ้นเหรอ
เลือกตั้ง 2562:
• ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ | ถ้าคุณไม่กล้าเสี่ยง คุณจะไม่เคยได้รับรางวัลอะไรเลยในชีวิต
• ไพบูลย์ นิติตะวัน | อุดมการณ์อันแรงกล้า และหลักศรัทธาที่ถูกสังคมตั้งคำถาม
• ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ | ความทะเยอทะยาน การจัดลำดับความสำคัญที่จะทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น
• เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส | ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยจะไม่มีรัฐประหารอีกต่อไป
• เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ | สามัญชนผู้หวังหอบหิ้วเสียงของคนตัวเล็กๆ เข้าไปในสภา
• บ.ก. ลายจุด | ขอเป็นไม้ประดับในการเมืองไทย เพิ่มสีสันและแชร์ไอเดียให้เกิดเป็นร่องความคิดของสังคม
• พอลลีน งามพริ้ง | ถ้าทุกคนมีความเท่าเทียม ประเทศไทยจะเดินหน้าไกลกว่าทุกวันนี้