ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เลือกตั้ง 2562: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ | ความทะเยอทะยาน การจัดลำดับความสำคัญที่จะทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น

เวลา 5 ปี หากพูดอย่างโรแมนติก อาจเป็นระยะเวลานานมากพอที่ทำให้คนอกหักเยียวยาหัวใจ แต่มันก็ไม่ใช่เวลาที่เพียงพอจะทำให้เราลืมใครสักคน หรือพูดกันโต้งๆ ตรงๆ ให้เข้ากับบรรยากาศการเมืองตอนนี้ ก็ต้องบอกว่ามันไม่เพียงพอที่จะทำให้ลืมว่าเรามีสิทธิในการเลือกผู้บริหารประเทศในฐานะพลเมืองคนไทย

5 ปีก่อน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้รับสมญานามว่าเป็น รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี จากมีมการเดินถอดรองเท้าและหิ้วถุงกับข้าวไปใส่บาตร เขาโด่งดังด้วยมีมเหล่านั้น มีเกมที่นำคาแร็กเตอร์เขาไปสร้าง ขณะที่เขาก็ทำงานในฐานะรัฐมนตรีอย่างแข็งขัน และเป็นเจ้าของวลีเด็ด “เวลามีค่า” ซึ่งเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ก็คงทำให้เขารู้ซึ้งถึงค่าของเวลาดี จนตัดสินใจตอบรับเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

ได้ยินมาว่าคุณสนใจเรื่อง Thinking, Fast and Slow ซึ่งว่าด้วยหลักการคิด 2 ระบบคือ System 1 ที่มักเป็นการตัดสินใจจากสัญชาตญาณและอารมณ์ และ System 2 ที่ใช้เหตุผลมาคิดวิเคราะห์ก่อน ตอนที่ตัดสินใจรับเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยตัดสินใจด้วยระบบคิดไหน

     System 2 เพราะใช้เหตุผลและการวิเคราะห์แล้ว เราคิดว่าเราทำได้ และมันจะเป็นประโยชน์ เขาบอกว่า ‘To have a good choice, you need many choices.’ หมายถึงถ้าจะมีตัวเลือกที่ดี คุณต้องมีตัวเลือกเยอะๆ ให้เลือก เพราะฉะนั้น การที่เราเป็นหนึ่งในตัวเลือกให้ประชาชนก็ไม่ได้เสียหายอะไร ในพรรคเองก็มีคนมาร่วมทำงานเยอะ ผมไม่ได้เป็นคนเสนอ พรรคเขาดูหลายๆ คนแล้วเขาก็เลือกมา

 

เป็นเรื่องการตลาดด้วยไหมกับการที่พรรคเพื่อไทยเลือกคุณมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ

     ผมไม่ใช่คนอื่น เราทำงานกับรัฐบาลที่แล้วมาก่อน เขาก็เล็งเห็นว่าใครเคยร่วมงานกันมาและไปด้วยกันได้ จริงๆ ผมอยากให้มีคนรุ่นใหม่มากกว่านี้ด้วยซ้ำ ก็กำลังสร้างทีมกันอยู่ เพื่อให้มีความคิดที่หลากหลายขึ้น ส่วนเรื่องเป็นการตลาดหรือเปล่า ผมว่าพิจารณาได้หลายมิติ แต่ถ้ามองเป็นบริษัทก็คงเป็นการตลาดแหละ เพราะคนที่ถูกเลือกออกมาต้องเป็นคนที่ทำให้ประชาชนไว้ใจได้ ผมว่าคีย์เวิร์ดไม่ใช่คำว่า Marketing แต่เป็นคำว่า Trust หรือความไว้วางใจมากกว่า

     จริงๆ แล้วมันมี 2 ส่วน ก็คือคาแร็กเตอร์กับความสามารถ ซึ่งก็คือความสามารถที่เคยทำงานมาแล้วและเห็นผลงาน มีความเก่งในงานที่ทำ ส่วนคาแร็กเตอร์คือความประพฤติ ว่าเราทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนรวม นั่นคือส่วนที่รวมเป็น Trust ผมว่ามันเป็นส่วนสำคัญในการเลือกตั้งว่าสุดท้ายเขาไว้ใจให้ใครให้ทำหน้าที่แทนประชาชน

 

ตอนนี้คนที่เชียร์คุณบางก็อาจจะมาจากความคิดแบบ System 1

     แน่นอน ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธ อย่างถือถุงแกง ก็เป็นธรรมดา ผมถึงบอกว่าต้องคิดให้ดีๆ อย่าใช้ System 1 มาก มีเหตุผลบ้าง แต่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่มี System 1 เราก็ตายหมด มันเป็นเรื่องของการเอาตัวรอด

 

ภาวะสุญญากาศทางการเมือง 4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นจาก System 1 หรือ System 2

     อาจจะทั้งสอง แต่ผมว่า System 1 ก็แรงนะ มันเริ่มจากการปลุกเร้าอารมณ์ สร้างความเกลียดชัง เกิดเป็นความลำเอียง และที่เห็นชัดคือเรื่อง conffiirmation bias คือคุณจะเลือกฟังเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อคุณ เช่น สมมติคุณไม่ชอบผม ใครพูดเรื่องดีเกี่ยวกับผมคุณจะไม่ฟังเลย แต่ถ้าใครด่าผมคุณจะรู้สึกดี มันทำให้อารมณ์รุนแรงขึ้น ผมว่ามันเป็นเรื่องที่เราต้องพยายามเบาลง ผมก็พยายามทำหน้าที่นั้นนะ พยายามคิดให้เป็นเหตุผลมากขึ้น

     อย่างถ้าถามว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำโครงการไหนดี ผมก็บอกเลยว่า EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก – แผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็ไปได้ คือเราไม่ต้องไปด่ากันทุกเรื่องหรอก อันไหนที่พอไปได้เราก็จะไม่บอกว่าของเขาแย่ แต่อาจจะต้องมีส่วนที่ควรปรับปรุง ถ้าเราพูดกันด้วยเหตุผล ไม่ต้องคิดว่าอีกฝั่งผิดตลอดและฝั่งเราถูกตลอดจะทำให้คนเริ่มมีเหตุผลมากขึ้น

     แต่ก็ต้องเริ่มที่ตัวนักการเมืองด้วย คืออย่าสร้างความเกลียดชัง อาจเพราะผมเป็นนักบริหารมาก่อน จึงคิดแบบนี้ เพราะในแง่ของการบริหารหรือวิชาการไม่ค่อยมีเรื่องของการเกลียดชังนะ อาจจะมีการแข่งขัน แต่ไม่ได้สร้างความเกลียดชังกับบริษัทคู่แข่ง ว่าไปตามดีไม่ดี การเมืองบางครั้งมันโหดร้าย มีเรื่องการสร้างความเกลียดชัง เอาอารมณ์ ความรู้สึก มาปลุกเร้าเยอะๆ ถ้าเรายอมรับกันจะทำให้คนค่อยๆ ใจเย็นลง

 

เวลาเห็นพรรคอื่นหรือแม้แต่พรรคตัวเองใช้ Conffiirmation Bias หงุดหงิดไหม

     การใช้ System 1 มันติดนานนะ ถ้าคุณรักหรือเกลียดใครแล้ว มันเปลี่ยนยาก แต่เราก็ต้องพยายามเป็นตัวเอง ไม่ไปด่าใคร พูดตามหลักการ ใครด่าเราก็ไม่เป็นไร เวลาผมไปปราศรัยคนก็จะเบื่อนิดหน่อย เพราะผมพูดปลุกเร้าไม่เป็น ผมพูดแต่เหตุผล

 

เพราะการใช้อารมณ์มันรวบรวมคนได้ง่ายกว่า

     ใช่ เพราะฉะนั้น System 2 ที่ใช้เหตุผลจึงยาก เพราะต้องอธิบายที่มาที่ไปให้กระชับเข้าใจง่าย ใช้อารมณ์ก็อีกแนวหนึ่ง แต่ก็เป็นธรรมดาสำหรับการเมือง เป็นเหมือนความบันเทิงด้วยบางครั้ง เวลาคนไปฟังบางทีเขาก็ไม่ได้เน้นที่เนื้อหามากนักเพราะเขาตัดสินใจไปแล้ว

 

ในพรรคเพื่อไทยได้คุยเรื่องนี้กันบ้างไหม

     เราพยายามชี้แจงด้วยเหตุผล ต้องเรียนรู้จากอดีต แต่ผมว่าในพรรคไม่มีใครที่เป็น Extremist Demagogue (นักปลุกปั่นทางการเมือง) นะ เรามีคนที่ปราศรัยเก่ง นักวิชาการ นักกฎหมาย ผู้บริหาร ก็ช่วยกันเป็นทีม

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

เหมือนกับว่าความเชื่อทางการเมืองจะทำให้มนุษย์ปักหลักอยู่กับที่ใดที่หนึ่ง

     ผมว่าอย่าเลยนะ อย่าใช้อารมณ์ อย่าใช้ System 1 คุณต้องใช้ System 2 ถ้ามันไม่ดีคุณก็เปลี่ยนได้ มันก็มี ส.ส. ที่ย้ายพรรคไปมา เราก็ไม่ได้ว่าเขาเป็นคนไม่ดี เพราะเขามีสิทธิ์ ทุกอย่างปรับไปตามสถานการณ์ได้ ไม่ใช่ศิลาจารึกที่คุณต้องเป็นแบบนี้ไปตลอด สุดท้ายเขาอาจจะเรียนรู้มากขึ้นว่าอะไรไม่เหมาะกับเขา เขาก็ไป ประชาชนก็อาจจะไม่เลือกเรา ไปเลือกคนอื่น มันถึงต้องมีการพัฒนา (evolution) ไง

     แต่ถ้าคุณรัฐประหารก็จะกลายเป็นเผด็จการกับประชาธิปไตย มันกลับมาที่ System 1 แล้ว ไม่ได้พูดเรื่องนโยบายมากแล้ว แต่ถ้าเราค่อยๆ พัฒนาไปก็จะกลายเป็นประเด็นเรื่องทำงานเก่ง ทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งทำให้คัดกรองได้ง่ายขึ้น

 

ในหนังสือ How Democracy Dies ที่พูดถึงเรื่องมรณกรรมของประชาธิปไตย บอกไว้ว่าสิ่งที่น่ากลัวคือ Elected Autocrats คือเผด็จการที่แอบเข้ามาผ่านการเลือกตั้ง คุ้นๆ ไหมว่าสิ่งนี้กำลังจะเกิด หรือเคยเกิดขึ้นแล้วในบ้านเรา

     เขาบอกว่าประชาธิปไตยในโลกดูเสื่อมลงเพราะมีคนที่ไม่ได้เลื่อมใสประชาธิปไตยแต่ใช้ประชาธิปไตยเป็นทางเข้ามาสู่อำนาจ เช่น ฮิตเลอร์ เปรู เวเนซูเอลา ประชาธิปไตยตายได้ 2 แบบ คือตายด้วยปืนแบบที่บ้านเราเพิ่งตายไป และด้วย autocrats ที่แอบเข้ามา ต้องพยายามระวังตรงนี้

     การดู autocrats มีเช็กลิสต์อยู่สัก 3-4 ข้อ เช่น สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยใช้อำนาจ คล้ายการปฏิวัติ รัฐประหาร การใช้กฎหมายรังแกผู้อื่น การด่าคนอื่นว่าเป็นคนชั่ว การไม่รับฟังความเห็น ปิดกั้นเสรีภาพการทำสื่อ พวกนี้เป็น track record ของคนที่ไม่ได้มีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตย

 

ประชาชนควรทำอย่างไร 

     ต้องให้ความรู้เขา แต่สุดท้ายก็พูดยาก ระบบประชาธิปไตยไม่สามารถห้ามไม่ให้ใครมาสมัครได้ ถึงแม้เขาจะเป็นเผด็จการ เพราะทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน เป็นหน้าที่ของผู้ลงคะแนนเสียงที่ต้องศึกษาประวัติให้ดี และทำให้ดีที่สุด ใครที่ไม่ได้เลื่อมใสในประชาธิปไตยก็จะเห็น track record อยู่ หมายถึงว่าคนที่เข้ามาสู่ประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งไม่ได้ยืนยันว่าคุณเป็นนักประชาธิปไตย เพราะการเลือกตั้งเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมด

     มีคนถามผมว่าสิ่งที่พรรคเคยทำเป็นเผด็จการหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าสิ่งที่พรรคทำมาตลอดคือกระบวนการทางประชาธิปไตย เราไม่เคยเอาอาวุธออกไปยึดอำนาจ เอากฎหมายไปเข่นฆ่าใคร หรือเซ็นเซอร์ใครด้วยการจับติดคุก แล้วแต่คนตีความ

 

มีการดำเนินการทางการเมืองของพรรคครั้งไหนที่คุณรู้สึกอึดอัดไหม

     ถ้าส่วนคมนาคมที่ผมรับผิดชอบก็ไม่มีนะ เราทำไปตามเนื้อผ้า ส่วนเรื่องที่เป็นปัญหา เช่น พรบ. นิรโทษกรรม เราไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะผมไม่ได้อยู่ในสภา ไม่ได้เสนอผ่าน ครม. เราไม่รู้รายละเอียดจึงไม่อยากแสดงความเห็นตรงนั้นมาก แต่ถ้าดูปฏิกิริยาคนจำนวนมากก็ไม่พอใจ เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ ถือเป็นบทเรียน ถึงแม้จะทำถูกต้องตามระเบียบ แต่ประชาชนอาจจะมองอีกแบบหนึ่ง ต้องละเอียดอ่อนมากขึ้น

 

ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการ evolution คือพัฒนาการ ประธานาธิบดีลินคอล์นพูดไว้ว่า ถ้าประชาชนจะเอาก้นมาแหย่ไฟ ก็ต้องให้เขาเรียนรู้ แต่ถ้าเราหวังว่าจะมีอัศวินม้าขาวมาช่วยทุกครั้ง สุดท้ายมันก็เริ่มนับหนึ่งใหม่

 

ในหนังสือเล่มนี้ยังบอกอีกว่า การไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่มาโดยชอบธรรมและเสรีก็ไม่เป็นประชาธิปไตย แบบนี้ การออกไปบนท้องถนนยังถือเป็นสิทธิอยู่หรือเปล่า

     เป็นสิทธิ อย่างคราวที่แล้วที่เราโดนเรียกร้อง เราก็ยุบสภา เป็นไปตามกระบวนการ แต่สิทธินั้นต้องไม่ใช่สิทธิในการทำลายคนอื่น ปิดล้อม สร้างความกลัว เป็นเพียงสิทธิในการแสดงความเห็น ตอนนั้นเราทำพลาด การเลือกตั้งครั้งต่อไปเราอาจจะได้คะแนนเสียงน้อยลง มันก็เป็นระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการ evolution คือพัฒนาการ ประธานาธิบดีลินคอล์นพูดไว้ว่า ถ้าประชาชนจะเอาก้นมาแหย่ไฟ ก็ต้องให้เขาเรียนรู้ แต่ถ้าเราหวังว่าจะมีอัศวินม้าขาวมาช่วยทุกครั้ง สุดท้ายมันก็เริ่มนับหนึ่งใหม่

 

แต่คนไทยขี้เกียจรอ

     นั่นก็เป็นปัญหาไง ผมว่าจริงๆ แล้วถ้าปล่อยให้เป็นระบบไป เราอาจจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นนะ

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

ในความรู้สึกส่วนตัว มีความทะเยอทะยานอยากเป็นนายกรัฐมนตรีแค่ไหน

     ผมไม่ใช่คนที่แข่งขันเพื่อจะเป็นที่หนึ่งให้ได้ เพียงแต่ทำส่วนของเราให้ดีที่สุด เพราะมันมีหลายปัจจัยที่เป็นตัวกำหนด ผมว่าถ้าเราเหมาะสม เราอยู่ตรงไหนก็ได้ แล้วทำตรงจุดนั้นให้ดีที่สุด

 

คนเราควรทะเยอทะยานมากแค่ไหน

     ถ้าเป็นเรื่องที่เราควบคุม 100% เราก็ทะเยอทะยานได้ เช่น เราทำข้อสอบ เราทะเยอทะยานได้ แต่การเป็นนายกรัฐมนตรีหรือแคนดิเดตของพรรคมันมีปัจจัยอื่นๆ มากมายที่เราไม่ได้เป็นคนควบคุม การที่เราทะเยอทะยานอยากเป็นที่หนึ่งให้ได้มันอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เพราะเราเป็นแค่แคนดิเดต เราไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคหรือหัวหน้าพรรค มันมีกรรมการที่ดูแลอยู่ เราก็ทะเยอทะยานได้ในมิติของเรา ทำงานของเราให้ดีที่สุด ให้เขาเห็นผลงานว่าเราเก่งตรงนี้ แต่มันมีบริบทอื่นซึ่งเราควบคุมไม่ได้ และเราไม่รู้ว่าเขามองปัจจัยอะไรบ้าง การเป็นนายกฯ ไม่ได้เป็นแค่นายกฯ ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เป็นนายกฯ ของคนทั้งประเทศ

 

ในฐานะผู้นำควรต้องแสดงถึงความทะเยอทะยานมากแค่ไหน

     ต้องทะเยอทะยานที่จะทำสิ่งที่สัญญากับประชาชนไว้ให้สำเร็จ คำว่าทะเยอทะยานส่วนตัวกับเป้าหมายองค์กรมันไม่เหมือนกันนะ มันต้องทะเยอทะยานในเป้าหมายขององค์กรเพื่อผลักดันองค์กรไปให้ได้ ไม่ใช่ทะเยอทะยานว่าฉันต้องเก่งที่สุด มันเป็นเรื่องของทีมเวิร์ก ความทะเยอทะยานทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้ ตอนนี้ผมทะเยอทะยานที่จะทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด

 

ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มที่สำคัญ มันเป็นก้าวที่สำคัญ เราอาจจะต้องเดินไปอีกล้านก้าวก็ได้ แต่ก็ต้องมีก้าวที่เราเดินออกไป ที่ผ่านมาคนตัวเล็กตัวน้อยถูกละเลยในสังคมเยอะ และเราไม่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะวิจารณ์หรือให้ความเห็น มันแข็งบนอ่อนล่าง

 

ความทะเยอทะยานที่เราอยากสร้างให้สำเร็จหรือเจตนารมณ์หากได้เป็นนายกฯ คืออะไร

     อยากให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เวลาไปลงพื้นที่นี่รู้สึกเลยว่าเขาลำบากจริงๆ เวลาลงพื้นที่เราไม่ได้เดินผ่านๆ เราคุยกับเขาจริงๆ ผมจำได้ว่าตอนไปลงพื้นที่แถวตลาดสายไหมแล้วมีแม่ค้ามาจับมือและร้องไห้ว่าถ้าเข้ามาแล้วจะทำอย่างไรให้ชีวิตเขาดีขึ้น มันเป็นโจทย์ใหญ่ ถ้าผมบอกว่าจะทำให้การส่งออกดี ให้ GDP โต มันเป็นภาพ macro ผมว่ามันไม่ยากมาก แต่การที่จะให้ลงมาถึงระดับเล็กสุดเนี่ย… ผมว่าความทะเยอทะยานคืออยากให้คนไทยมีความเป็นอยู่และโอกาสที่ดีขึ้น โอกาสที่ลูกจะดีกว่าพ่อแม่มีได้ ผมว่ามันคือหัวใจของ social mobility คือให้คนทุกๆ คนมีโอกาสที่ดีขึ้นได้

 

คุณเชื่อขนาดไหนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะพาให้เราไปถึงจุดหมายที่คนไทยจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

     ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มที่สำคัญ มันเป็นก้าวที่สำคัญ เราอาจจะต้องเดินไปอีกล้านก้าวก็ได้ แต่ก็ต้องมีก้าวที่เราเดินออกไป ที่ผ่านมาคนตัวเล็กตัวน้อยถูกละเลยในสังคมเยอะ และเราไม่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะวิจารณ์หรือให้ความเห็น มันแข็งบนอ่อนล่าง ไม่ใช่เศรษฐกิจไทยไม่ดีนะ มันมีการเจริญเติบโตแต่มันกระจุกอยู่ข้างบน เพราะไม่มีใครมาดูแลการกระจายลงด้านล่าง แล้วสุดท้ายถ้าด้านล่างไม่เข้มแข็งก็จะมีปัญหาย้อนกลับมาอยู่ดี

     ประชาธิปไตยอาจจะเป็นการปกครองที่แย่น้อยที่สุด มันอาจจะช่วยบาลานซ์กับระบบทุนนิยมได้บ้าง ก็คือคนไหนมีทุนเยอะก็จะมีพลังที่เข้มแข็ง อย่าง พ.ศ. 2561 กำไรตลาดหลักทรัพย์คือ 1 ล้านล้านบาท แต่ทำไมมันไม่ได้กระจายลงไปสู่ตลาด ผมว่าพอเรามีตัวแทนของแต่ละกลุ่มเข้าไปอยู่ในรัฐบาลจะดูแลคนได้ทั่วถึงขึ้น ถ้าไม่ดูแลเขา ในอนาคตเขาก็เลือกคนอื่นมาดูแลแทน มันก็เป็นตัวที่อาจจะบาลานซ์ อาจจะไม่ขนาดทำให้ประเทศร่ำรวยขึ้น แต่ทำให้มีความยุติธรรมมากขึ้น แต่ก็คงไม่เกิดขึ้นในพริบตาหรอกนะ มันต้องใช้เวลาเหมือนกัน

 

การเลือกตั้งครั้งนี้หลายๆ พรรคพูดถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สำหรับคุณ มีโครงสร้างอย่างไรในการกระจายอำนาจเหล่านี้

     ตอนนี้ปัญหาในสังคมมันซับซ้อนขึ้น เราไม่สามารถตัดเสื้อโหลเป็นนโยบายเดียวแจกได้ แต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาแต่ละอย่าง และผมว่าชุมชนเองก็เข้าใจปัญหาดีกว่าส่วนกลาง แต่การกระจายอำนาจต้องดูความเหมาะสมด้วย อย่างการศึกษา ถามว่าเราสามารถกระจายหลักสูตรไปสู่ระดับตำบลหรืออำเภอหรือเปล่า อาจจะยังไม่ถึงเวลา อาจจะต้องมีส่วนสำคัญบางอย่างที่เราต้องเตรียมให้เขาด้วย เพื่อให้เขามีอำนาจในการดูแลกันเองหรือประเมินผู้บริหารว่าดูแลดีหรือเปล่า งบประมาณก็ให้เขาเอาไปทำในส่วนที่เขาคิดว่าเหมาะสม และส่วนสำคัญบางอย่างที่เป็นพื้นฐาน เช่น หลักสูตรพื้นฐาน ก็อาจจะต้องมีการจัดเตรียมจากส่วนกลางลงไปด้วย ผมว่าการกระจายอำนาจไม่ใช่การให้อำนาจ 100% กับท้องถิ่น แต่ต้องดูความพร้อมของแต่ละพื้นที่ด้วย และที่สำคัญ ต้องกระจายทั้งอำนาจและงบประมาณด้วย

 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ จริงๆ แล้วอาจจะไม่สามารถโทษเผด็จการเพียงอย่างเดียว อาจจะต้องโทษเจเนอเรชันที่ผ่านมา

     มันเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกันมา ผมว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยซ้ำ แต่ว่าอาจจะมาเร่งในช่วงนี้เพราะเมื่อก่อนความเหลื่อมล้ำอาจจะเกิดจากว่าใครมีที่ดิน แรงงาน ทรัพย์สมบัติเยอะกว่า แต่ในปัจจุบันสิ่งสำคัญคือเทคโนโลยีที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น

     อย่างบริษัทสตาร์ทอัพทั้งหลายที่มีเทคโนโลยีมีความคิดสร้างสรรค์ เพียงคนไม่กี่คนก็สามารถสร้างมูลค่ามหาศาลอย่างรวดเร็ว ทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ปัจจุบันจะยิ่งยากขึ้น อย่างพอลงไปถามแม่ค้าที่ตลาด แม่ค้าบอกว่าขายไม่ดีเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ถามว่าจริงหรือเปล่า… ก็ไม่แน่นะ เพราะว่าเขาอาจจะไปซื้อออนไลน์กันหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ผมว่าปัญหามันไม่ใช่ตัดเสื้อตัวเดียวกันหมด มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างว่าเขาอาจจะไม่เข้าถึงเทคโนโลยีหรือเปล่า หรือคนเปลี่ยนไปซื้อโมเดิร์นเทรดแทนหรือเปล่า ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน

     ประเด็นนี้ผมไม่ได้พูดว่าเป็นเรื่องของเผด็จการ 100% แต่เป็นประเด็นที่พอมีตัวแทนของประชาชนเข้าไปดูจะสัมผัสปัญหาได้ละเอียดขึ้น ทางออกของแต่ละตลาดอาจจะเป็นคนละทางออกกัน ทำให้ประชาธิปไตยแก้ปัญหาเฉพาะจุดได้

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

ในฐานะที่คุณเป็นส่วนบนของสังคม ทำงานอยู่ในระดับสูง จากมุมมองนั้น คุณมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือคุณได้ทำงานอะไรให้กับปัญหานี้แล้วหรือยัง

     ความเหลื่อมล้ำอย่างไรก็ต้องมี แต่ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม เราไม่สามารถสร้างระบบให้ทุกคนมีรายได้เท่ากันหมด เพราะสุดท้ายจะไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงานให้หนักขึ้น ผมว่าหัวใจของ inequality ไม่ใช่ความเท่ากันของรายได้ แต่เป็นความเท่ากันของโอกาส หมายถึงว่าทุกคนมีโอกาส ผมถึงเน้นไปที่ลูกว่าลูกมีโอกาสที่จะดีกว่าพ่อแม่

     ไม่ใช่ว่าเราทำให้ทุกคนมีเงินเท่ากันทั้งระบบ แต่ทุกคนมีโอกาสที่จะเข้าถึงโอกาสที่เท่ากัน ทุกคนสามารถเรียนในสิ่งที่อยากเรียนได้ ทุกคนมีรายได้มากพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ หรือโอกาสที่จะเข้าถึงสาธารณสุข ต้องไม่จนเพราะจ่ายเงินให้หมอแล้วหมดตัว

     ส่วนในฐานะผู้บริหาร เราก็ดูแลลูกน้องให้ดี ดูแลลูกบ้านให้ยุติธรรม ดูแลสวัสดิการของเขา ดูแลในกรอบที่เราทำได้ว่าลูกน้องเราต้องได้รับความยุติธรรม ต้องมีสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่ดี มีโอกาสให้ลูกเรียนหนังสือ รายได้ยุติธรรม หัวใจคือการสร้างโอกาสให้เท่าเทียมกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครขวนขวายแค่ไหน ใครขวนขวายมาก ใครขยันเรียนมาก ก็จะมี social mobility หรือการขยับทางสังคมได้ ผมว่าคีย์คือการให้โอกาสคน ก็เหมือนที่เราพยายามทำอยู่เรื่องการศึกษาหรือการสาธารณสุข เราไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องเรียนปริญญาเอก แต่ทุกคนมีโอกาสที่จะเข้าถึงได้

 

แนวคิด Capitalism Without Capital หรือทุนนิยมที่ปราศจากสินค้าทุน สามารถขยายโอกาสทางสังคมได้หรือเปล่า

     เรื่องนี้คือเรื่องเทคโนโลยี สมัยก่อนต้องมีทุน ก็คือที่ดินหรือแรงงานคน แต่สมัยนี้ถ้าคุณมีเทคโนโลยีและเข้าใจแพลตฟอร์มก็สามารถสร้างโอกาสได้ ผมว่าตรงนี้คือข้อสำคัญที่เราต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือให้ความรู้คนว่าจริงๆ แล้วมันมีเทคโนโลยีที่คุณหาเงินได้ ถ้าคุณรู้ขั้นตอนคุณสามารถจะสร้างรายได้ ก็เป็นตัวหนึ่งที่ต้องเอามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

 

แล้วในแง่ของคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีเหล่านี้ เราจะขยายโอกาสไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร

     พอมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง บริษัทใหญ่ๆ จะปรับตัวได้ เพราะเขามีทุน มีความรู้ แต่ถ้าลงมาในตลาดสดเขาจะปรับตัวอย่างไร เพราะเขาไม่รู้วิธีหรอก เขาก็ได้แต่ลองผิดลองถูก ถ้าให้ผมมอง ก็น่าจะเป็นการรวมกลุ่มกัน มีการให้ทุนและให้ปัญญาเขาด้วย หมดยุคแล้วที่เราจะให้เงินกู้ดอกเบี้ยถูก แล้วให้เขาไปลงทุนเองโดยที่ไม่มีใครช่วย ไม่ว่าจะเป็น SME เกษตรกร หรือแม่ค้า ต้องมีทั้งเงินทุนและความรู้

     ผมไปดูตลาดสดคู้บอนมีแม่ค้าเป็นร้อยราย แม่ค้าบอกขายไม่ดี และแถวนั้นมีหมู่บ้านสัก 6-7 หมู่บ้าน หลายพันหลัง ถามว่าทำไมขายไม่ดี ก็พบว่าส่วนหนึ่งไม่อยากขับรถฝ่ารถติดมา บางคนก็ไปโมเดิร์นเทรด ในตลาดมีของกินเยอะแยะเลย สมมติว่าเขารวมกลุ่มกัน 100 ร้านค้าในตลาดคู้บอน ทำคล้ายๆ โมเดิร์นเทรดเลยนะ ทำแพลตฟอร์มขึ้นมาให้หมู่บ้านสั่งสินค้าออนไลน์เข้ามาในหมู่บ้านได้

     ตอนเช้าคุณอยากกินขนมครก ปาท่องโก๋ หรือกาแฟ คุณสามารถสั่งออนไลน์แล้วมีมอเตอร์ไซค์ไปส่งถึงบ้านทุกเช้า แทนที่ทุกคนต้องเข้ามาที่ตลาดทั้งๆ ที่รถติดและไม่มีที่จอดรถ เรามีเดลิเวอรีรวมสินค้าทั้งตลาด ใช้แพลตฟอร์มและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อาจจะทำให้มีคนซื้อปาท่องโก๋เพิ่มอีก 50 คน โดยใช้แพลตฟอร์มที่คุณไม่ต้องเข้าไปเอง แต่ถ้าให้แม่ค้าคนเดียวทำก็คงทำไม่ได้ เพราะถ้ารอคนสั่งปาท่องโก๋ออนไลน์อย่างเดียวก็ไม่มีประโยชน์ คุณต้องรวมกันเป็นกลุ่ม

     จริงๆ แล้วผมว่าก็มีเด็กรุ่นใหม่ที่มีไอเดียทำสตาร์ทอัพเยอะแยะ และก็มีคนที่กำลังมองหาทางออก แต่ปัจจุบันยังไม่มีการนำพบกัน ถ้าคุณนำคนสองกลุ่มนี้มาเจอกันได้จะมีพลังมากขึ้น

 

แต่เทคโนโลยีมีก็อาจมีด้านลบ เช่น การเข้าดิสรัปต์แพลตฟอร์มเดิม และการเข้ามาของเทคโนโลยี แพลตฟอร์มใหม่ๆ หรือหุ่นยนต์ และ AI ก็อาจทำให้คนตกงาน เพราะคนอาจจะปรับตัวไม่ทัน

     เรื่องนี้มีมาตั้งแต่ 200 ปีที่แล้ว ตอนที่มีเครื่องจักรไอน้ำและเครื่องทอผ้ามาก็ไปทุบเครื่องจักร ซึ่งมันก็เกิดมา 4 รอบแล้วมั้ง เครื่องจักรไอน้ำ ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ อะไรอย่างนี้ คือทุกหนคนก็จะกลัวการตกงานหมด แต่ 3 หนที่ผ่านมามันไม่ได้เกิดอย่างนั้นเพราะคนมีเวลาปรับตัวในการเปลี่ยนงาน

 

แต่โลกทุกวันนี้มันเร็ว

     ใช่ หลายคนพูดว่าครั้งนี้เปลี่ยนไปเพราะมันเร็ว ผมเชื่อว่างานยังมีอยู่แต่คนทุกคนต้องปรับตัวให้ทัน สมัยก่อนเราเรียนปริญญาตรี สามารถใช้ปริญญาตรีทำงานจนเกษียณ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ปริญญาตรีคือสำหรับการทำงานครั้งแรก ส่วนงานที่ 2 และ 3 คุณต้องไปหาความรู้เพิ่มเติม ประเด็นแรกคือเราต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น AI มันเป็นความรู้ที่เฉพาะเจาะจงมาก มันไม่สามารถไปแทนคนทั้งคนได้หรอก เพราะฉะนั้น หัวใจของอนาคตคือคุณต้องอยู่ร่วมกับมันให้ได้ คุณต้องเอา AI มาเป็น IA คือ Intelligent Assistance คือเอา AI มาเป็นผู้ช่วยเหลือที่ชาญฉลาดของเรา

     ยกตัวอย่างตอนผมไปเชียงใหม่ รถสองแถวแดงก็ใช้ AI มาแปลภาษาเพื่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยว สบายเลย ไม่ต้องเรียนภาษาแล้ว ใช้ AI แทน หัวใจของอนาคตคือคนต้องรู้เทคโนโลยีแล้วนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบงาน แล้วงานจะเปลี่ยนไปทางงานบริการมากขึ้น

     ผมไปเดินสยามสแควร์วัน ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่มีคนแล้ว เป็นตู้หมด แต่สตาร์บัคส์ฝั่งตรงข้ามประกาศรับคนจำนวนมาก “เพื่อสร้างสัมพันธภาพอันยิ่งใหญ่” เขาบอกว่างานจะย้ายจากงานที่ถูกแทนด้วยเครื่องมาเป็นงานที่ใช้ service mind มากขึ้น หัวใจคืออย่าไปกลัวมัน แต่ต้องเตรียมตัว อยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้นะ คุณต้องเรียนรู้ สังเกต และฝึกความรู้ใหม่ๆ ซึ่งส่วนนี้รัฐต้องมาช่วย ถ้ารัฐไม่ช่วยเลยก็ลำบาก ผมว่าง่ายๆ รัฐทำเป็นศูนย์ข้อมูลแพลตฟอร์ม ทำเป็น training center มีกองทุนสำหรับคนที่จะเปลี่ยนงานก็ทำให้คนมีโอกาสมากขึ้นได้

 

ทุกวันโลกมันเปลี่ยนเร็วจนคนรู้สึกเบื่อชีวิต เหนื่อย และอยากหนีออกไปที่อื่นมากขึ้น

     ก็ไม่สนุกหรอก แต่ว่ามันคือชีวิต ผมอ่านหนังสือ The Road to Character เขาบอกว่า อย่าถามว่าเราต้องการอะไรจากชีวิต แต่ให้ถามว่าชีวิตต้องการอะไรจากเรา เราต้องการอะไรจากชีวิตคือเราอยากทำงานอย่างนี้ เรามี passion ตรงนี้ เราอยากทำนู่นทำนี่ แต่บางครั้งเราทำไม่ได้หรอก เพราะชีวิตต้องการให้เป็นเป็นอีกแบบหนึ่ง เราต้องอยู่รอดให้ได้ก่อน อย่างน้อยเราก็ต้องดูแลครอบครัวให้ได้ก่อน เราอาจจะไม่ได้พอใจกับบริบทปัจจุบัน แต่สุดท้ายเราก็ต้องอยู่รอดให้ได้ แล้วที่เหลืออาจจะมีสิ่งที่มาเติมเต็มความสุขเราในมิติอื่น

     เราเห็นมามากกับคนที่ทำงานออฟฟิศแต่เสาร์อาทิตย์ไปทำงานอื่นที่เติมเต็มแพสชันตัวเอง เช่น ไปวิ่ง ไปขี่จักรยาน ผมว่ามันต้องมีสองบริบทที่ควบคู่กันไปว่าตกลงชีวิตต้องการเงื่อนไขอย่างไร คือที่เราบ่นว่าเหนื่อยที่ต้องทำงาน แต่มีคนเป็น 10 ล้านคนที่ต้องอยู่กับงานที่เขาไม่อยากทำ ซึ่งเหมือนเขารู้ว่าชีวิตต้องการให้เขาทำอย่างนี้ เขาจึงต้องทำ เขาอาจจะอยู่ในสภาวะที่โหดกว่าเราอีก เขาอาจจะอยากหนีไปแต่เขาหนีไม่ได้ แต่เราไม่ได้อยู่ในบริบทนั้น เราจึงอาจจะรู้สึกเบื่อ แต่ผมว่าจริงๆ แล้วหลายอย่างมันต้องทำตามที่ชีวิตกำหนด แล้วที่เหลือค่อยมาเติมเต็มเอา

     อย่างลูกผมหูหนวก ผมก็ต้องพาลูกไปรักษาให้หาย ผมก็ไม่เคยคิดว่าอยากทำอะไร แต่เหมือนชีวิตสั่งผมให้ดูแลลูกคนนี้ให้ดีที่สุด มันก็แล้วแต่เราตีความนะ ถ้าเราเบื่องานแล้วอยากหนีไป แล้วเราจะมีชีวิตอยู่รอดได้ไหม ก็ไม่ได้ แสดงว่าวันนี้ชีวิตต้องการให้เราทำอย่างอื่นเพื่อให้อยู่รอดด้วยไง ก็เลยต้องบาลานซ์กัน แต่ถ้าหากทั้งสองอย่างมันแมตช์กันคือคุณโชคดีมากเลย ถ้าคุณหางานให้อยู่ในแพสชันคุณได้ มันแมตช์กันระหว่างสิ่งที่คุณต้องการจากชีวิต และสิ่งที่ชีวิตต้องการจากคุณ แต่บางทีมันไม่ง่ายหรอก

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

มันเป็นเรื่องของข้อจำกัดทั้งเชิงเศรษฐกิจ โครงสร้าง และค่านิยมสังคมด้วยหรือเปล่า เช่น ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการที่ดี มีโอกาสที่จะปลดปล่อยตัวเอกเป็นอิสระจากข้อผูกมัดต่างๆ เราจะสามารถมีทางเลือกมากขึ้น

     เอาในแง่ความเป็นไปได้ก่อนนะ ถ้าคุณอยากมีรัฐสวัสดิการ คุณก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ชีวิตคุณอาจจะโหดร้ายกว่านี้อีกเยอะ (หัวเราะ) แล้วพอคุณได้แล้ว คุณก็จะต้องการเพิ่มขึ้นอยู่ดี เพราะฉะนั้น ในแง่สมมติอาจจะฟังดูง่าย แต่ในแง่ของความเป็นจริงมันไม่ใช่ ต่างประเทศที่มีรัฐสวัสดิการอย่างสวีเดนหรือสแกนดิเนเวียก็ไม่รู้เขาพอใจหรือเปล่านะ ก็ยังดูเขายังต้องไขว่คว้าต่อ

 

คือมนุษย์มีความต้องการเยอะ

     ใช่ พอเราได้อันหนึ่งแล้ว อีกสักพักเราก็จะเฉยๆ แล้วเราก็จะอยากได้ขั้นกว่าขึ้นไปอีก แต่ผมว่ารัฐสวัสดิการเป็นสิ่งจำเป็นนะ ในบริบทก็ต้องดูความพอเหมาะพอควรด้วย แต่มันทำให้คนกล้าเสี่ยงมากขึ้น อย่างเรื่องการศึกษาหรือสุขภาพ มันทำให้เรากล้ารับความเสี่ยง มีนวัตกรรม เป็นผู้ประกอบการ เป็นนักลงทุนมากขึ้น เพราะเราพลาดได้ แต่ปัจจัยหลักคือต้องบริหารความเสี่ยงให้เป็น ไม่ใช่ลาออกจากทุกอย่างเพื่อทุ่มกับสิ่งเดียว

     ผมอ่านหนังสือชื่อ Originals เขาบอกว่าถ้าไปดูประวัติคนที่เป็น innovator ต่างๆ เขาไม่ได้ take risk 100% นะ เขาไม่ได้ลาออกจากงานแล้วมาเป็น innovator แต่เขามักจะทำทั้งสองงาน คือทำงานด้วยและทำนวัตกรรมในโรงรถตัวเอง คนพวกนี้คือคนที่บริหารความเสี่ยงเป็น คนส่วนมากจะทำสองงานไปก่อนจนกระทั่งคิดว่าพอไหวจึงค่อยเลิกทำงานหนึ่ง คนที่เป็น innovator ไม่ใช่คนที่กล้าเสี่ยงมากๆ แต่เป็นคนที่บริหารความเสี่ยงเป็นจึงจะประสบความสำเร็จ

     ผมว่าปัจจุบันเราไปเห่อสตาร์ทอัพเยอะ ทั้งๆ ที่สตาร์ทอัพล้มเหลวเยอะมาก จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ทางเลือกหลักของคนส่วนใหญ่ มีเฉพาะกลุ่มเล็กๆ ที่จะทำสตาร์ทอัพได้สำเร็จ

 

แล้วอะไรคืออนาคตของเศรษฐกิจไทย

     จริงๆ แล้วสตาร์ทอัพไม่ใช่อนาคตของประเทศ ผมว่าสตาร์ทอัพมีความเสี่ยงสูง มันเหมาะกับแค่คนกลุ่มหนึ่งที่เป็นพวกนักลงทุน แต่ผมว่าหัวใจของประเทศไทยคือ SME มากกว่า คือส่งเสริม SME ที่มีอยู่ 3 ล้านรายให้เข้มแข็งขึ้น แต่สตาร์ทอัพเป็นเรื่องสำหรับคนพิเศษเพียง 1,000 กว่าคน

     แล้วสตาร์ทอัพไม่ได้หมายถึงคุณขายของออนไลน์แล้วคุณจะเป็นสตาร์ทอัพนะ แต่คุณต้องมี 2 ประเด็นสำคัญ คือเป็น disruptor เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจปัจจุบัน เช่น Uber Grab หรือ Airbnb และต้องขยายขนาด (Scaling) ได้ด้วย เพราะฉะนั้น การเป็นสตาร์ทอัพไม่ใช่ง่ายๆ ผมว่าเรายังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสตาร์ทอัพจริงๆ ที่ทำอยู่มันคือ SME เพราะมันไม่ได้ disrupt คน มันไม่มี innovation

 

คุณเคยพูดไว้ว่า ‘เวลามีค่า’ ห้าปีที่ผ่านมา มูลค่าที่เราสูญเสียไปนั้นมากน้อยขนาดไหน

     ผมว่ามหาศาลนะ ดูเหมือนว่ามีหลายอย่างที่ถ้าเป็นรัฐบาลปกติอาจจะผลักดันไม่ได้ เช่น กฎหมายหรือการลงทุน แต่สิ่งมีค่าที่สุดที่เราเสียไปคือการตรวจสอบ การมีส่วนร่วมของประชาชน การดูแลสิ่งแวดล้อม มันอาจจะมีความเร็วในการทำโครงการ แต่ไม่ได้มาจากประชาชน เราไม่มีสิทธิ์เสียงในการวิพากษ์วิจารณ์ การตรวจสอบมันหายไป โดยเฉพาะการออกกฎหมายจำนวนมาก การตัดสินใจโครงการใหญ่ๆ

     อย่างเช่น พรบ. ข้าว เร่งออกมา แต่สุดท้ายก็มีผลกระทบเยอะจนต้องหยุด อาจจะมี fast track เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการลงทุน แต่ประชาชนไม่รู้รายละเอียด ไม่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลไม่มีฝ่ายค้าน ผมว่ามันเสียหายเยอะนะ เพราะกฎหมายที่ออกมาแล้วมันแก้ยาก โครงการที่ลงทุนและทำสัญญาแล้วมันกลับไปยาก หรือการตัดสินใจที่ผิดพลาดในอนาคตใครจะรับผิดชอบเพราะไม่มีใครเลือกคุณมา คุณไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน

     ที่น่าสนใจอีกอย่างคือช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนความเหลื่อมล้ำในสังคมยิ่งมากขึ้น ความมั่งคั่งกระจุกอยู่กับคนกลุ่มบน ขณะที่คนระดับกลาง ล่าง แย่ลง ความสูญเสียโอกาสของคนกลุ่มนี้ที่ขาดตัวแทนมาดูแลน่าจะมีมูลค่ามหาศาลและต้องใช้เวลาในการดูแลให้ฟื้นกลับคืนมา

 

ถ้าคุณได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะใช้เวลาให้คุ้มค่าอย่างไรในสภาพแวดล้อมที่โครงสร้างกำลังย่ำแย่

     ปัญหามันเยอะ คุณต้องจัดอันดับว่าสิ่งไหนสำคัญที่สุดก็เริ่มทำสิ่งนั้นก่อน นั่นคือความเป็น leadership ว่าคุณจะจัดการกับปัญหานั้นๆ อย่างไรในข้อจำกัดที่มี เช่น วันแรกที่คุณได้มาเป็นผู้นำและมีปัญหาเยอะแยะเต็มไปหมด คุณจะเลือกอะไรมาแก้ไขก่อน นั่นคือความท้าทายที่สุดของการเป็นผู้นำ

     อย่างที่ได้เล่าไปว่าจะแยกเป็น 2 ข้อหลักๆ คือ 1. กฎหมาย เช่น รัฐธรรมนูญ มรดกจาก คสช. ที่ต้องแก้ไข สิ่งแรกไม่ใช่เรื่องของทางสภา แต่ต้องให้ประชาชนมาเป็นแนวร่วมกับเราก่อน เพราะการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มันยากมาก ไม่มีทางเลยที่เราจะขับเคลื่อนเองได้ ต้องขับเคลื่อนจากประชาชนเป็นหลัก ตรงนี้ต้องเอาภาคประชาชนเข้ามาร่วม ชี้ให้เห็นปัญหา ผมว่ามันจะเดินไปได้ดีขึ้น แต่ถ้าทำให้เป็นเรื่องการเมืองจะลำบาก

     และ 2. เศรษฐกิจ เช่น การเรียกความมั่นใจจากส่วนบนคืนมา และการแก้ปัญหาเยียวยาส่วนล่าง นำเงินเข้าระบบให้เงินหมุนเวียน เงินทุนของรัฐบาล เรื่องของเศรษฐกิจ ต้องทำเรื่อง domestic economy ให้เข้มแข็งขึ้น แต่ก่อนเราเป็นการส่งออกเยอะ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มส่งออกยากขึ้น ดังนั้น เราต้องเริ่มจากเศรษฐกิจภายในประเทศ หลักๆ ก็จะมีเรื่องการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งต้องดูเรื่องผลประกอบการทางการเกษตร เอาเงินไปช่วยในบางส่วน และการลงทุนในประเทศ สร้างความมั่นใจให้กลับคืนมา เพราะว่าเงินในระบบนั้นมีเยอะแยะ แต่ว่าคนไม่กล้าลงทุน เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความมั่นใจในเรื่องการเมือง

     ต่อมาก็เริ่มปรับปรุงเรื่องการศึกษา เรื่องของสาธารณสุข และทำหน่วยงานราชการให้เล็กลง จัดกฎระเบียบ อันนี้เป็นสิ่งที่ทำได้เลย เพราะเรื่องการศึกษาและสาธารณสุขยังต้องใช้เวลา ราชการต้องทำงานหนักขึ้น ราชการเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา เพราะทางรัฐบาลให้เงินในทุกๆ เดือนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ราชการต้องทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น

     ปัจจุบันทางราชการเองที่เริ่มมีแต่ปัญหาขึ้นมา เงินเดือนราชการ พ.ศ. 2557 ประมาณ 6 แสนล้านบาท และปี พ.ศ. 2562 คือ 1 ล้านล้านบาท จากแต่ก่อนค่าใช้จ่ายประมาณ 24% แต่ปัจจุบัน 35% เพราะราชการใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้หน่วยงานราชการจึงต้องลงไปช่วยเหลือประชาชน ทำงานให้หนักขึ้น เพราะว่าเราเสียเงินอยู่แล้วและไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินเพิ่มอีกเพื่อแก้ไขปัญหา เพียงแต่ว่าเราต้องไปกระตุ้นหน่วยงานราชการให้กระตือรือร้นมากกว่านี้

 

ทำไมประเทศไทยถึงไม่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วสักที

     หากจะพูดถึงประเด็นนี้ ผมว่าเรามีระบบราชการที่ใหญ่โตและรวมศูนย์มากมายมาอย่างยาวนาน ซึ่งระบบนี้อาจจะเหมาะกับสมัยก่อนที่การตัดสินใจมาจากผู้มีความรู้จากส่วนกลาง มีขั้นตอนในการสั่งงาน การทำตามคำสั่ง ระเบียบอย่างเคร่งครัด ยิ่งทางการเมืองไม่มีเสถียรภาพ มีการปฏิวัติรัฐประหารบ่อยครั้ง ยิ่งทำให้ระบบราชการเข้มแข็งขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝ่ายการเมืองเปลี่ยนบ่อยและต้องพึ่งราชการ ต่อไประบบราชการมีความจำเป็นแต่ต้องปรับตัวให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากขึ้น

     การศึกษาที่ผ่านมาก็เป็นตัวอย่างของระบบราชการที่เข้มแข็ง การศึกษาที่ผ่านมาสอนให้เด็กท่องจำกันมากเกินไป ซึ่งคงตอบโจทย์กับเศรษฐกิจแบบเก่า คือให้เด็กไปเป็นคนงานในโรงงาน หรือทำงานราชการที่มีกฎระเบียบชัดเจน ซึ่งการศึกษาแบบนี้ทำให้ไม่มีความคิดสร้างสรรค์และ innovation ดังนั้น เราจึงอยู่ในโลกของ new economy ไม่ได้

     new economy คือ creative economy ที่จะอยู่ด้วย innovation และความคิดสร้างสรรค์ อาจจะดูโทษแรงไปหน่อย แต่การศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งจริง สมมติเราให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์นอกเหนือจากการเรียนวิชา เขาก็จะสามารถสร้างคุณค่า มีอิสระในการพูดในการคิดได้ ต้อลดขั้นตอน กฎระเบียบ และกระจายอำนาจให้มากขึ้น

     และอีกสิ่งหนึ่ง หากเรามองกลับไปในอดีต แต่ก่อนเราเคยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่เรากระโดดไปอุตสาหกรรมค่อนข้างเร็วไปนิดหนึ่ง ทางด้านการเกษตรเรายังไม่พัฒนาไปในทางที่ควรเลย ยังมีความสามารถในการผลิตต่ำ แต่เราไปทำอุตสาหกรรมที่ไม่มีการวิจัย ไม่มี innovation ก็กลายเป็นแรงงานราคาถูกที่เปลี่ยนจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรม เปลี่ยนมาเป็นรับจ้างทำของให้คนอื่น และก็ไม่ได้สร้าง motivation ให้แรงงานเราพัฒนา เพราะภาคการเกษตรเรารายได้ต่ำมาก เราจึงไม่มีผู้แข่งขันในการแย่งแรงงาน หากภาคการเกษตรของเรารายได้ดีก็จะมีผู้แข่งขันกับภาคอุตสาหกรรม ทำให้เราเริ่มคิดที่จะหาทางปรับตัว แต่ตอนนี้เราไม่มีผู้แข่งขัน เลยทำให้เราไม่เกิดการเรียนหรือ technical skill ที่สูงขึ้น ความสามารถในการผลิตจึงต่ำทั้งประเทศ แรงงานของเราจึงไม่ได้มีฝีมือมาก ขณะที่ก็ไม่มี innovation ที่จะช่วยให้พัฒนาในด้านนี้ ผมจึงมองว่าอนาคตต้องพัฒนาด้านการเกษตรให้แข็งแรงขึ้นและพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมและฝีมือแรงงาน คือต้องพัฒนาทั้งความคิดและฝีมือไปพร้อมๆ กัน

     ทั้งหมดนี้ผมว่าค่อยๆ ปรับได้ อย่าไปมองกระจกหลัง ต้องมองไปข้างหน้า มองกระจกหลังมากคุณขับรถไม่ได้ มองแค่นิดหน่อยพอเป็นเครื่องเตือนใจ

 


 เลือกตั้ง 2562:

• ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ | ถ้าคุณไม่กล้าเสี่ยง คุณจะไม่เคยได้รับรางวัลอะไรเลยในชีวิต

• อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | ประชาชนยังมีสิทธิ์ในการเขียนบทให้ประเทศ

ไพบูลย์ นิติตะวัน | อุดมการณ์อันแรงกล้า และหลักศรัทธาที่ถูกสังคมตั้งคำถาม

• เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส | ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยจะไม่มีรัฐประหารอีกต่อไป

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ | สามัญชนผู้หวังหอบหิ้วเสียงของคนตัวเล็กๆ เข้าไปในสภา

• บ.ก. ลายจุด | ขอเป็นไม้ประดับในการเมืองไทย เพิ่มสีสันและแชร์ไอเดียให้เกิดเป็นร่องความคิดของสังคม

• พอลลีน งามพริ้ง | ถ้าทุกคนมีความเท่าเทียม ประเทศไทยจะเดินหน้าไกลกว่าทุกวันนี้

• พอลลีน งามพริ้ง | ถ้าทุกคนมีความเท่าเทียม ประเทศไทยจะเดินหน้าไกลกว่าทุกวันนี้