เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

เลือกตั้ง 2562: เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ | สามัญชนผู้หวังหอบหิ้วเสียงของคนตัวเล็กๆ เข้าไปในสภา

“คนส่วนใหญ่มองว่าพรรคการเมืองต้องตอบสนองทุกกลุ่มคนให้ได้ แต่ของพรรคสามัญชนมันขวางเลย อาจจะขวางเกินไปด้วย”

เรานัดเจอ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน และนักกิจกรรมทางสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในร้านกาแฟแห่งหนึ่งย่านชานเมือง เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่เขาจะขึ้นเครื่องไปหาดใหญ่เพื่อประชุมและหารือปัญหากับชาวบ้านในพื้นที่ เขาแต่งตัวเรียบง่ายอย่าง ‘สามัญชน’ พร้อมกับหยิบหลอดสเตนเลสที่พกติดตัวไปทุกที่ออกมาดื่มกาแฟตรงหน้า ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่เราก็แอบเผยกับเขาไปว่า นี่เป็นการคุยกับนักการเมืองที่เรารู้สึก ‘สบาย’ ที่สุด

     พรรคสามัญชนเกิดจากการรวบรวมนักกิจกรรมทางการเมือง เอ็นจีโอ และเยาวชน ผู้ต่อสู้และเคลื่อนไหวด้านความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้านในต่างจังหวัดมาอย่างยาวนาน พวกเขาเจอปัญหาคล้ายๆ กัน คือเมื่อเรียกร้องให้มีการเสนอแก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนในพื้นที่ เสียงของพวกเขากลับโดนปัดตกหรือโดนแก้เนื้อหาสาระจนผิดความตั้งใจเดิม เนื่องจากไปขัดกับอำนาจและแนวคิดการพัฒนาประเทศของคนบางกลุ่ม

     แน่นอนว่าในฐานะพรรคน้องใหม่ขนาดเล็กที่ต้องการหนุนพลังของประชาชนชาวบ้านและหวังไปขัดอำนาจที่ยิ่งใหญ่นั้นย่อมเจอกับเส้นทางที่ไม่ง่าย ไหนจะเรื่องงบประมาณที่มีจำกัด และนโยบายที่ไม่ได้หวือหวาล่อใจประชาชน แต่เลิศศักดิ์และสมาชิกพรรคก็ยังขอกระโจนเข้าสู่สนามทางการเมืองที่ดุดัน เพื่ออย่างน้อยคนสามัญธรรมดาจะได้มีพื้นที่ทางการเมืองกับเขาบ้างสักที

 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

อาวุธของประชาชนไม่ใช่ปืนหรือรถถัง แต่เป็นสองมือสองเท้าของเราที่จะต้องกู่ร้อง กดดัน เรียกร้อง นี่คือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญก็รับรอง แต่ คสช. เขาทำลายสิทธินี้ไปหมด มันน่าเจ็บปวดและรุนแรงมาก เราโดนยึดอาวุธที่สำคัญที่สุดไป

 

ในฐานะพรรคการเมืองใหม่ที่มีสมาชิกจากหลากหลายที่มา ทุกวันนี้คุณแนะนำตัวกันอย่างไร

     สมาชิกพรรคสามัญชนประกอบไปด้วย 3 ส่วน หนึ่ง คือนักกิจกรรมทางสังคม หรือเอ็นจีโอ สอง คือชาวบ้าน สาม คือนักศึกษาและเยาวชน อย่างเมื่อก่อนตัวผมเองเวลาออกไปช่วยชาวบ้านก็แนะนำตัวยากอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะบอกว่าเป็นเอ็นจีโอ เป็นนักวิจัยอิสระ หรือนักกิจกรรมทางสังคม แต่พอมาเป็นพรรคการเมืองก็ยิ่งแนะนำตัวเองยากขึ้นไปอีก

     ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ผมให้ความสำคัญคือผมพูดถึงรากเหง้าตัวเองตลอด ไม่ได้บอกว่าตัวเองจะมาเป็นคนใหญ่คนโตที่ไหน แต่บอกชาวบ้านว่ามาร่วมต่อสู้ คัดค้าน ในเรื่องที่เขาได้รับผลกระทบ โดยทำงานวิชาการ วิเคราะห์ สกัดข้อมูล และให้คำแนะนำด้านข้อกฎหมาย ทุกวันนี้ยังเขินๆ อยู่เลยเวลามีคนมาแนะนำตัวให้ว่าผมเป็นนักการเมือง เพราะวิถีปฏิบัติของพรรคเราไม่ค่อยเหมือนนักการเมืองสักเท่าไร

 

ทั้งๆ ที่พวกคุณก็ต่อสู้กับชาวบ้านมานานอยู่แล้ว ทำไมวันหนึ่งถึงตัดสินใจสร้างพรรคการเมือง

      จากประสบการณ์การต่อสู้ของภาคประชาชน เราพบว่า เวลาเสนอปัญหาให้แก่รัฐบาล ข้าราชการ หรือนักการเมือง เรามักถูกปฏิเสธอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาเสนอร่างกฎหมายดีๆ เช่น กฎหมายป่าชุมชน กฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อม ร่างกฎหมายของเรามักถูกแก้เนื้อหาสาระจนเสียเจตนารมณ์เดิมไปหมด

     เราเลยคิดว่า นอกจากจะทำงานนอกสภาด้วยการขับเคลื่อน เรียกร้อง กดดัน แก้ไขปัญหา เพื่อเจรจาต่อรองกับผู้มีอำนาจแล้ว เราน่าจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาดู เพื่อเวลาต้องการเสนอข้อกฎหมาย อาจจะทำให้มันไม่ถูกแก้เนื้อหาสาระจนเกินควร ซึ่งถ้าทำได้จริงๆ เราจะได้มีประชาธิปไตยทั้งสองส่วน คือประชาธิปไตยที่อยู่ในสภา และประชาธิปไตยข้างนอกที่ทำอยู่แล้ว เพื่อมีช่องทางต่อรองได้มากขึ้น และหวังให้อำนาจทางการเมืองที่วนเวียนอยู่ในคนกลุ่มเดิมๆ เช่น ชนชั้นนำ ได้แบ่งปันและมีพื้นที่ให้คนอย่างพวกเราบ้าง

 

ที่ผ่านมามองว่านักกิจกรรมทางสังคมมีอำนาจน้อยเกินไปไหม

     ไม่ได้น้อยเกินไป แต่เราคิดว่าถ้าจะทำให้สมบูรณ์ขึ้นเราควรต่อสู้ทั้งในและนอกสภา เพื่อทำให้ประชาชนได้มีช่องทางในการรับประโยชน์มากขึ้น ก็คล้ายๆ กับวรรคทองที่เขาพูดกันว่า ‘ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชนชั้นนั้น’ ซึ่งเรารู้สึกว่าชนชั้นสามัญชนอย่างพวกเราก็น่าจะทดลองและเข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจนั้นมากขึ้น เพื่อหวังให้การเขียนกฎหมายมันรับใช้คนชั้นสามัญชนมากขึ้น

 

ช่วงเวลา 5 ปี ที่ประเทศไทยตกอยู่ในระบอบเผด็จการ ชาวเอ็นจีโอต้องเผชิญความเจ็บปวดมากขนาดไหน โดยเฉพาะการถูกปิดปากเสียงไม่ให้ออกมาเรียกร้อง

     ถ้าย้อนไปถึงช่วงรัฐประหารปี 49 คนทำงานในภาคประชาชนมีความขัดแย้งกันสูงมาก เพราะมีกลุ่มคนในพวกเราเข้าไปสนับสนุนรัฐประหาร เนื่องจากเราทำงานกับประชาชนตลอดมา เราพยายามพูดถึงเรื่องการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตัวเองได้ นี่เป็นวาทกรรมหรือคำขวัญอันสวยหรู ซึ่งวาทกรรมนี้จะเป็นจริงเมื่อเราเชื่อมั่นในพลังของประชาชน แต่เรากลับพบว่า คนที่ยึดถือแนวทางวาทกรรมเหล่านี้กลับไปสนับสนุนรัฐประหาร ส่งผลโดยตรงในการทำให้วาทกรรมมันกลับด้าน เพราะรัฐประหารเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐ และลดอำนาจประชาชนไปโดยปริยาย

     เราเห็นว่าปัญหาของการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ตาม มักจะเข้าข้างนายทุนอยู่เสมอ และมีการออกกฎหมายหรือนโยบายที่กดขี่ย่ำยีรังแกประชาชน เช่น โครงการพัฒนาต่างๆ ที่สร้างผลกระทบกับประชาชน แล้วก็กีดกันประชาชนออกไปจากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

     เช่น ในสมัยทักษิณที่มีการปกครองรูปแบบเผด็จการรัฐสภา และมีผู้ได้รับประโยชน์เป็นกลุ่มชนที่ผูกขาด เมื่อเกิดรัฐประหารปี 49 เหล่าเอ็นจีโอก็กระโดดเข้าใส่ เพราะมองว่ามันเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่จะล้มอำนาจของเผด็จการรัฐสภาลงได้ เหมือนล้มกระดานแล้วมาเล่นกันใหม่ และใช้โอกาสนี้เอาประเด็นปัญหาของตัวเองเข้าไปล็อบบี้กับผู้มีอำนาจ แต่ปัญหาคือสิ่งที่เอ็นจีโอทำเพื่อสนับสนุนรัฐประหาร โดยเฉพาะในปี 57 นั้น ไม่ได้เป็นการล้มประชาธิปไตยในรัฐสภาอย่างเดียว แต่มันล้มประชาธิปไตยที่อยู่นอกสภาด้วย เพราะ คสช. ออกกฎหมายและคำสั่งมากมายที่ทำให้อำนาจประชาธิปไตยบนท้องถนนอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายห้ามชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป ลิดรอนช่องทางของสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น การยื่นหนังสือ ยื่นจดหมาย การร้องเรียน

     นี่คือความเสียหายและความอดสูอย่างยิ่งที่เกิดจากการคิดไม่ครบถ้วน คิดอย่างมักง่าย การสนใจแต่การต่อท่ออำนาจ ไม่สนใจในแง่ของการสร้างพลังประชาชนให้เข้มแข็ง แต่ไปล็อบบี้และสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ และหวังว่าเขาจะช่วยเราได้ มันนำมาซึ่งความอ่อนแอของภาคประชาชน อาวุธของประชาชนไม่ใช่ปืนหรือรถถัง แต่เป็นสองมือสองเท้าของเราที่จะต้องกู่ร้อง กดดัน เรียกร้อง นี่คือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญก็รับรอง เราเป็นคนสามัญธรรมดา จะมีอำนาจต่อรองกับรัฐได้ก็ด้วยสิ่งนี้ แต่สิ่งที่ คสช. ทำคือเขาทำลายสิทธินี้ไปหมด มันน่าเจ็บปวดและรุนแรงมาก เราโดนยึดอาวุธที่สำคัญที่สุดไป

     ถ้าพูดให้เห็นเป็นรูปธรรม อย่างผมจะออกจากบ้าน ก็เป็นไปได้ว่าจะมีทหารสองคนมาหาถึงบ้านเลยแล้วบอกว่า ได้ข่าวว่าพรุ่งนี้จะไปชุมนุมที่ศาลากลางเหรอ ผมขอร้องไม่ให้ไปนะ คือมันมีการข่มขู่คุกคามทั่วทุกที่ เป็นพันๆ กรณี มีคนที่โดนคดีห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ไปประมาณ 400-500 คน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กับแค่เรื่องจะไปยื่นหนังสือให้หน่วยงานของรัฐก็ถูกกดเอาไว้

 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

 

แล้วมองว่าการที่ภาคประชาชนออกมาตั้งพรรคการเมืองเองแบบพรรคสามัญชน เป็นคำตอบของปัญหานี้หรือไม่

     เป็นคำตอบที่สำคัญส่วนหนึ่ง อย่างน้อยเราก็พยายามจะบอกว่า อย่าทำลายการเลือกตั้งนี้ ประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งมีความสำคัญมาก ถึงแม้เราจะเห็นว่าตัวเองมีความเสียเปรียบอยู่ก็ตาม อย่างพรรคสามัญชนเองอาจจะได้ ส.ส. สัก 1-2 คน แต่จะไปเทียบกับคน 400 คนได้ยังไง การเข้าไปในสภาของเราแค่ 1-2 คน อาจจะไม่มีความหมายเลยก็ได้ แต่เราอยากจะบอกว่า อย่างน้อยการเลือกตั้งนี้ ถ้าคุณคิดว่าอยากแชร์อำนาจกับรัฐก็มาตั้งพรรคการเมือง เพราะมันทำให้คนไทย 70 ล้านคน สามารถเข้าถึงการเมืองมากกว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ด้วยการมาตั้งพรรคของตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 

รู้สึกอย่างไรที่มีพรรคเล็กพรรคน้อยเกิดขึ้นมากมายในการเลือกตั้งครั้งนี้

     รู้สึกดี แต่อาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะมันอยู่ในบรรยากาศของเผด็จการ และในกฎหมายเลือกตั้งที่ค่อนข้างปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งยังสร้างกติกา เงื่อนไข และอุปสรรคให้กับคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่อยากเข้าถึงการเมืองจนเกินจำเป็น เช่น ต้องยื่นเงิน 1 ล้านบาท ต้องหาสมาชิก 5,000 คน ภายใน 1 ปี มันเป็นภาระทางเอกสารและทางธุรการที่ทาง กกต. ควรจะสนับสนุนให้ดีกว่านี้ เช่น เรายื่นเอกสารออนไลน์ได้ไหม หรือเงิน 1 ล้าน มันก็ไม่สมควร มีเงิน 5,000 หรือ 10,000 ก็สร้างพรรคการเมืองได้แล้วหรือเปล่า

     แต่โดยรวมแล้วผมรู้สึกดีที่ได้เห็นพรรคเล็กพรรคน้อยเกิดขึ้นมากมายในการเลือกตั้งครั้งนี้ มันสื่อให้เห็นว่า เจตจำนงทางการเมืองของประชาชนไม่ได้ผูกขาดอยู่กับระบบคิดที่มีแค่ 2 พรรคใหญ่ แบบประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย หรือแบบเดโมแครตกับรีพับลิกัน แต่มันมีเจตจำนงทางการเมืองมากมายไปหมด เช่น พรรคสามัญชนที่มีความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำ พรรคกรีนที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง หรือพรรคเฉพาะประเด็น เช่น พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย

 

เป้าหมายของคุณในฐานะเอ็นจีโอและในฐานะนักการเมืองเป็นเป้าหมายเดียวกันไหม

     เมื่อก่อนไม่เคยคิดว่าเป็นเป้าหมายเดียวกัน แต่เดี๋ยวนี้คิดมากขึ้นว่ามันเป็นเป้าหมายที่ใกล้เคียงกัน คือการนำพลังของประชาชนที่อยู่นอกสภาให้ไหลเข้ามาสู่ในสภา เพื่อเปิดช่องทางเจรจาต่อรองกับอำนาจ นี่แหละเป้าหมายของเรา

 

มีคนเคยบอกว่า นักการเมืองเป็นพวกพูดเก่ง โน้มน้าวเก่ง ไปดูนักกิจกรรมดีกว่า เพราะพวกนั้นเขาทำจริง เจ็บจริง คุณเห็นด้วยไหม

     ผมไม่คิดว่านักการเมืองเป็นแค่นักพูดนะ นักการเมืองเป็นทั้งนักพูดและนักปฏิบัติที่มีความสำคัญมาก แน่นอนว่านักการเมืองห่วยๆ ก็พูดอะไรแบบน้ำท่วมทุ่ง หรือพูดเพื่อสร้างกระแสความนิยมต่างๆ ก็มีเยอะแยะไปหมด แต่โดยสภาพและหน้าที่ของนักการเมือง เมื่อเข้าไปในสภา หน้าที่หลักของเขาคือการออกกฎหมาย เขาก็ต้องเป็นนักปฏิบัติด้วย ที่ผลักดันกฎหมายและนโยบายออกมาสู่ประชาชน

     ส่วนนักเอ็นจีโอ ผมเห็นด้วยว่าส่วนใหญ่เป็นนักปฏิบัติมาก แต่กระบวนการคิดวิเคราะห์ของเราอาจไม่ดีเท่านักการเมืองบางคนด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น นักการเมืองไม่ใช่นักพูดอย่างเดียว แต่เป็นนักปฏิบัติด้วย ส่วนเอ็นจีโอ เป็นนักปฏิบัติที่อาจจะไม่เก่งเรื่องการพูดโน้มน้าวเท่าไหร่ โดยเฉพาะการพูดหาผลประโยชน์เข้าตัว

 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

 

ในฐานะคนที่คลุกคลีกับชาวบ้านและคนชายขอบ คุณมองว่าชาวบ้านเหล่านี้ตื่นตัวกับการเลือกตั้งครั้งนี้แค่ไหน แล้วเขาเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองอย่างไรบ้าง

     ผมว่าชาวบ้านตื่นตัวกับการเมืองมากกว่าพวกเอ็นจีโออย่างผมอีก ยกตัวอย่าง เหมืองทองที่จังหวัดเลย หรือเหมืองอื่นๆ ที่ผมเข้าไปทำงาน ชาวบ้านรู้ว่าอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต ในการทำเหมือง มีทั้งส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง เขาจึงเข้าไปเป็นสมาชิก อบต. เพื่อที่จะได้อำนาจทางการเมืองมา เข้าไปยกมือขัดแย้ง เห็นต่าง ผมว่าเขาเข้าใจการเมืองมากกว่าเอ็นจีโอ แต่ที่ผ่านมาเอ็นจีโอเองนี่แหละที่เข้าไปกีดกันชาวบ้านไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งอาจเป็นการคิดวิเคราะห์ของเอ็นจีโอที่ยังไม่ครบถ้วนกระบวนการ

 

ทำไมถึงกีดกัน

     เขาอาจจะคิดเหมือนคนส่วนใหญ่ คือมองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก นักการเมืองพูดเก่ง โน้มน้าวเก่ง หาผลประโยชน์ ไม่จริงจังในการปฏิบัติ แล้วมองว่ามันเป็นพื้นที่เปรอะเปื้อน คิดว่าคนดีๆ มีอุดมการณ์พอเข้าไปในการเมืองก็มักจะถูกกลืนจนเละเทะ แต่ชาวบ้านเขามองว่าถ้าเขาไม่เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องแล้วใครจะช่วยเขา

 

เราเห็นว่าพรรคสามัญชนสนับสนุนชาวบ้าน คนรากหญ้า แล้วคนเมืองเองจะได้อะไร

     จริงๆ พรรคสามัญชนไม่ได้ต้องการแยกเมืองกับชนบทออกจากกัน แต่พรรคสามัญชนพยายามเชื่อมเมืองกับชนบทเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก

     ปัจจุบัน ถ้ามองในสเกลของทั้งโลก คน 1% ถือครองทรัพย์สินมหาศาล มากกว่าคนอีก 99% ที่เหลือรวมกันอีก เรารู้สึกว่านี่เป็นปัญหาที่รุนแรงของสังคม เราไม่ได้มองว่าพรรคสามัญชนต้องการเป็นฐานเสียงของคนชนบทโดยไม่สนใจคนเมือง แต่เราคิดว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของคน 1% เป็นปัญหาสำคัญที่คนเมืองสมควรจะตระหนัก

 

พูดแบบนี้ได้ไหมว่าพรรคสามัญชนเหมาะสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น

     ผมเห็นด้วยว่าพรรคสามัญชนไม่สามารถเป็นตัวแทนผลประโยชน์ให้กับคนทุกกลุ่มคนในประเทศนี้ นโยบายของพรรคสามัญชนหลายข้อน่าจะไปขัดผลประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม และเป็นประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะชนชั้นกลาง หรือคนชั้นกลางระดับสูง หรือชนชั้นสูง ที่ต้องการนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก

     คือพรรคการเมืองส่วนใหญ่อาจจะมองถึงการผลักดันเศรษฐกิจที่จะทำให้ทุกคนได้รับผลประโยชน์ มีชีวิตที่อยู่ดีมีสุข ได้เงินเดือนดี ได้ค่าแรงดี ได้สวัสดิการดี แต่พรรคสามัญชนค่อนข้างจะเป็นพรรคที่นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจในมุมมองที่แตกต่าง เราคิดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการ คิดถึงว่าทำยังไงที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงในสังคมไทย

     นโยบายของเราเป็นเชิงโครงสร้าง เชิงอุดมคติ เชิงอุดมการณ์สูง แต่เราก็จำเป็นต้องมี มันจะต่างจากพรรคการเมืองอื่นที่มีนโยบายที่จับต้องได้อย่างเร่งด่วน ฉับพลัน เห็นผลเลย แต่สำหรับสามัญชนอาจจะต้องใช้เวลาหลายปี เพราะเป็นการปรับปัญหาเชิงทัศนคติ ดังนั้น นโยบายของเราจึงไม่ดึงดูดอย่างนั้น แต่มันจะทำให้คนมีอุดมการณ์และมีเจตจำนงในระยะยาวได้

     พรรคสามัญชนไม่ได้มุ่งนโยบายเรื่องการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เราพยายามมุ่งนโยบายไปที่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งมันยากและเห็นผลช้า ประชาชนอยากเห็นอะไรที่ง่ายกว่านั้น อย่างพรรคนี้ให้เบี้ยยังชีพ 600 แล้วพรรคนี้ล่ะให้เท่าไหร่ จะให้ 1,500 1,800 2,500 หรือ 3,000 เขาสนใจตัวเลขแบบนี้ แต่เขาไม่ได้สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ แม้กระทั่งรู้ว่าตัวเองโดนกระทำขนาดไหน โดนฉกชิงเอาความมั่งคั่งของสังคมไปขนาดไหนก็ตาม

 

แต่ในความจริง มันเป็นไปได้ไหมที่พรรคการเมืองหนึ่งจะตอบสนองได้ทุกคน

     ส่วนใหญ่เขาก็มองกันแบบนั้น มองว่าต้องเป็นพรรคการเมืองที่ตอบสนองทุกกลุ่มคนให้ได้ แต่พอดำเนินนโยบายมาแล้วจะตอบสนองได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่พรรคสามัญชนนั้นมันขวางเลย อาจจะขวางเกินไปด้วย

 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

 

พรรคสามัญชนตั้งเป้าหมายไว้อย่างไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้

     พรรคสามัญชนส่ง ส.ส. เขต 16 เขต อีสาน 10 เขต ภาคเหนือ 3 เขต และกรุงเทพฯ 3 เขต บวกปาร์ตี้ลิสต์อีก 6 รวมเป็น 22 จากทั้งหมด 500 วัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นอยู่ ผมมองว่าจะทำให้พรรคสามัญชนสร้างความนิยมจนมาเป็น ส.ส. ค่อนข้างยาก เราต้องฝ่าระบบหัวคะแนน ฝ่าระบบความคิดว่าพรรคการเมืองต้องมีเงิน ทุกสิ่งทุกอย่างในการเมืองต้องใช้เงินมหาศาล ป้ายหาเสียงแผ่นหนึ่งราคา 800 บาท ถามว่าพรรคสามัญชนจะทำได้สักกี่แผ่น เรามีเงินให้ผู้สมัคร ส.ส. แต่ละเขต แค่ 15,000 บาท ทั้งค่าน้ำมันรถ ค่ากับข้าว ค่าทำป้าย แล้วเราจะไปได้กี่กิโล ถ้าพื้นที่มันไปไกลถึง 2-3 อำเภอ เราจะไปทำความรู้จักกับประชาชนได้แค่ไหน ซึ่งมันต่างจากพรรคอื่นๆ ที่เขามีเงินเป็นแสนเป็นล้าน ที่สามารถไปได้ทุกครัวเรือนในเขตนั้นๆ สามารถเคาะประตูบ้านได้เลย

     วิถีแบบนี้ทำให้พรรคสามัญชนตีฝ่าไปได้ยาก ผมเชื่อว่าพรรคสามัญชนมีอุดมการณ์และจุดยืนที่ดีต่อสังคม แต่จุดยืนทางความคิดแบบนี้ก็ไม่ง่ายนักในประเพณีการเมืองไทย คือคนไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้หรอก สนใจแค่ว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร ใครมีความสัมพันธ์กับชาวบ้านสูง รู้จักมักคุ้นกันดี เขาจะได้คะแนนเสียงดีกว่าเรา ดังนั้น พรรคสามัญชนเองไม่ได้มีความมั่นใจมากว่าจะชนะการเลือกตั้ง ส.ส. เขต คือไม่ได้ดูถูก หรือไม่ให้ความสำคัญกับผู้สมัคร ส.ส. เขต ว่าต่อให้หาเสียงไปก็ไม่ชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้หมายความแบบนั้น เพราะผู้สมัคร ส.ส. เขตของเราเองก็พยายามให้ถึงที่สุดที่จะทำให้ชาวบ้านทั่วๆ ไปได้เข้าใจพรรคสามัญชนมากที่สุด

     พรรคสามัญชนก็มีความหวังเล็กๆ ว่าคะแนนจาก ส.ส. เขตรวมกันทั้งหมดอาจจะได้สัก 1 ปาร์ตี้ลิสต์ไหม ก็ไม่ต่ำกว่า 75,000 ถึง 90,000 เสียง ซึ่งไม่ง่ายเลย

 

ถ้าผลออกมาไม่เป็นอย่างที่หวัง พรรคสามัญชนจะทำอะไรต่อไป

     นโยบายของพรรคสามัญชนทำหน้าที่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือพยายามผลักดันให้มี ส.ส. เข้าไปในสภาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อีกส่วนหนึ่งคือทำหน้าที่กับกรอบคิดของคน เข้าไปแทรกแซงความคิดของคน ผมคิดว่า ถึงแม้ว่าจะไม่มี ส.ส. เข้าไปในสภาก็ตาม แต่พรรคสามัญชนก็ยังทำหน้าที่ส่วนที่สองได้อยู่ เราเชื่อว่านโยบายของเราสร้างผลประโยชน์ระยะยาวให้กับประเทศ ถ้าประชาชนตอบรับความคิดของเรา ก็จะทำให้เขาตั้งคำถามต่อโครงสร้างของการเมืองและสังคมมากกว่านี้

 


 เลือกตั้ง 2562:

• ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ | ถ้าคุณไม่กล้าเสี่ยง คุณจะไม่เคยได้รับรางวัลอะไรเลยในชีวิต

• อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | ประชาชนยังมีสิทธิ์ในการเขียนบทให้ประเทศ

• ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ | ความทะเยอทะยาน การจัดลำดับความสำคัญที่จะทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น

• ไพบูลย์ นิติตะวัน | อุดมการณ์อันแรงกล้า และหลักศรัทธาที่ถูกสังคมตั้งคำถาม

• เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส | ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยจะไม่มีรัฐประหารอีกต่อไป

• บ.ก. ลายจุด | ขอเป็นไม้ประดับในการเมืองไทย เพิ่มสีสันและแชร์ไอเดียให้เกิดเป็นร่องความคิดของสังคม

• พอลลีน งามพริ้ง | ถ้าทุกคนมีความเท่าเทียม ประเทศไทยจะเดินหน้าไกลกว่าทุกวันนี้