พอลลีน งามพริ้ง

เลือกตั้ง 62: พอลลีน งามพริ้ง | ถ้าทุกคนมีความเท่าเทียม ประเทศไทยจะเดินหน้าไกลกว่าทุกวันนี้

ในวัย 52 ปี ไฟแห่งความมุ่งมั่นของ ‘พอลลีน’ – พาลินี งามพริ้ง ยังคงลุกโชนอยู่เสมอ เราเห็นได้จากการเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกของพรรคมหาชน ที่ทางพรรคชูนโยบายในเรื่องของสิทธิเท่าเทียมกันของทุกคนในสังคม โดยเฉพาะสิทธิของชาว LGBT ที่วันนี้ยังคงถูกมองว่าเป็นคนชายขอบอยู่ และยังไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐอย่างเพียงพอ

เธอบอกกับเราว่าจะไม่ยอมจำนนกับความคร่ำครึที่มีอยู่ และจะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าให้เข้าใจกันได้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงการสร้างความเท่าเทียมให้กับคนในประเทศ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ต่อจากพวกเรา มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเหมือนกับประเทศที่ให้การยอมรับในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และเจริญก้าวหน้าได้ไม่แพ้พวกเขา

พอลลีน งามพริ้ง

 

นโยบายที่เน้นความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสำหรับกลุ่ม LGBT มีความสำคัญมากพอที่จะนำมาชูเป็นประเด็นใหญ่ของพรรคมหาชนอย่างไร

     ตัวตนของคนแต่ละคนเป็นแก่นแท้ของชีวิต การที่เรารู้จักตัวเอง ซื่อสัตย์กับตัวเอง ให้เกียรติตัวเอง เคารพตัวเองเป็นหัวใจสำคัญในการทำทุกอย่าง เพราะถ้าเราไม่คิดถึงเรื่องนี้ ไม่ซื่อสัตย์กับตัวเอง การจะปรับนิสัยหรือเพิ่มศักยภาพให้เต็มที่จะเป็นเรื่องยาก เรื่องนี้จึงตอบสนองทุกอย่าง ถ้าพูดแบบง่ายๆ ก็เหมือนกับเราที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ เลยมีความเข้าใจทั้งผู้หญิงและผู้ชาย การตัดสินอะไรบางอย่างต้องการความคิดเห็นจากทั้งสองฝั่ง ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจนั้นดีขึ้นมากกว่าการมองในมุมเดียว

     ส่วนเรื่องของ LGBT หรือความหลากหลายทางเพศ หลายคนมองว่าเป็นประเด็นเล็กๆ แล้วเพียงพอเหรอที่จะยกมาใช้ขับเคลื่อนประเทศนี้ แต่เรากลับคิดว่าเรื่องนี้เป็นสาระสำคัญเลยของการทำงานในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องการเมืองซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีความเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก พรรคมหาชนสนใจเรื่องนี้ตลอดเวลา เพราะเรื่องของความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม

     คุณลองนึกภาพตามนะว่าถ้าทุกคนมีความเท่าเทียม สังคมมีความเท่าเทียมกันแล้ว เมื่อทำอะไรก็ตามเราจะคิดจากพื้นฐานก่อนว่าคนเรามีความหลากหลาย และในความหลากหลายนี้ก็ต้องมีความเท่าเทียม แล้วความคิดนี้ก็จะขยายไปสู่ความคิดทางการเมือง เมื่อมีความเท่าเทียมเราก็จะไม่มีการเหยียดหยาม ไม่ดูถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพียงแค่คิดต่างกันแค่เล็กน้อย

 

ในส่วนของเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมกันจะช่วยให้ภาคธุรกิจเติบโตได้อย่างไร

     ในสังคมมีคนหลากหลาย มีคนจน มีคนรวย มีความหลากหลายทางชนชั้น คนชั้นกลาง คนชั้นสูง ถ้าเราทำให้ทุกคนเท่าเทียมในเชิงเศรษฐกิจได้ ความสามารถอาจจะต่างกันแต่โอกาสต้องได้เท่ากัน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP 6% หรือ 10% มันไม่มีความหมายเลยถ้าเกิดว่าโอกาสทางเศรษฐกิจไม่เท่ากัน

     เรื่องของสังคม เรื่องต้นทุนมนุษย์ก็เช่นกัน ถ้าเยาวชนที่เกิดมามีต้นทุนที่ต่างกัน รัฐบาลมีโอกาสให้พวกเขาน้อยกว่าคนที่อยู่ในสังคมเมือง ถ้าสังคมมันแตกต่างกันแล้วเราทำให้มันใกล้เคียงกับความเท่าเทียมมากที่สุด ความเท่าเทียมเป็นคำที่อุดมคติก็จริง แต่ถ้าเราลดช่องว่างทำให้ทุกคนมีความเสมอภาคทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ก็จะกลายเป็นภาพใหญ่ทันที

     ดังนั้น เรื่องของความเท่าเทียมทางเพศจึงไม่ใช่ประเด็นเล็กๆ ที่หลายคนมอง ถ้ามองแค่ว่ากะเทยมาลงสมัคร ทอม ดี้มาลงสมัคร ถ้ามองแค่นั้นก็เป็นแง่มุมที่ตื้นเขิน ในเมื่อเรามีสิทธิเท่าเทียมกัน เราสามารถหย่อนบัตรลงคะแนนได้ เรามีสิทธิทุกอย่างในประเทศ แล้วทำไมเราจะไม่มีสิทธิ์ลงสมัครเลยเหรอ เราไม่มีสิทธิ์เข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคมได้เหรอ

 

เพราะการชูประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ​ และคุณเองก็เป็น LGBT ด้วย คนเลยตั้งข้อสงสัยว่าการลงสมัครเป็นผู้แทนครั้งนี้เพื่อที่จะทำงานให้แต่กับคนกลุ่มนี้เท่านั้นหรือเปล่า

     ต้องไม่ไปติดกับดักว่าเราเป็น LGBT และเราจะเข้าไปเพื่อทำงานให้กับพวกเราเท่านั้น การคิดแบบนั้นไม่มีประโยชน์เลยที่จะมี LGBT อยู่ในสภา ซึ่งก็ไม่ต่างกับการคิดว่าการมีตัวแทนภาคเกษตรกร มีตัวแทนของชาวนาชาวสวนยางเข้าไปอยู่ในนั้น แล้วเขาจะทำงานรับใช้แต่กลุ่มของตัวเอง นั่นก็ไม่มีประโยชน์ที่เขาจะเข้าไปอยู่ในสภา เราอยากเข้าไปเพราะรู้ว่าปัญหาของกลุ่มเราคืออะไร แล้วเราสามารถพูดเรื่องนั้นได้อย่างลงลึกและดีที่สุด เราสามารถบอกถึงปัญหาและแก้ในเรื่องที่ตัวเองถนัดได้ แต่ทั้งนี้เราก็จะทำงานเพื่อรับใช้คนอื่นด้วย

 

ที่ถามไปอย่างนั้น เพราะตอนนี้แต่ละพรรคต่างชูนโยบายหลักของตัวเองออกมา และส่วนใหญ่จะเป็นการใช้คำหรือประโยคสั้นๆ เพื่อให้คนเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนโยบายของพรรคมหาชนอาจทำให้คนทั่วไปสงสัยว่า ถ้าฉันเลือกคุณเข้าไปแล้วคนที่ไม่ได้มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับประโยชน์อะไร

     ผู้ชายหรือผู้หญิงเขาไม่ได้เสียอะไรเลย การที่เราอยากแก้กฎหมายสำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น เราไม่ได้ไปเอาสิทธิ์ของคนปกติมา สิทธิพื้นฐานของทุกคนในสังคมนั้นมีอยู่แล้ว แต่กับคนอย่างเราสิทธินั้นยังไม่ได้รับการตอบสนอง

     ใครจะรู้ว่าในอนาคตคุณจะมีลูกหรือหลานที่เกิดมาเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า ถ้ามีเขาต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกกดดันและการปิดกั้นจากสังคม เราออกมาแก้ไขไม่ใช่เพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศในยุคนี้ แต่ทำเพื่อคนในยุคถัดไป ซึ่งหลายๆ คน หลายๆ ครอบครัวอาจลืมไปว่าต้องมีสักวันที่เขาจะมีญาติพี่น้องที่มีความหลากหลายทางเพศ ถ้าเราไม่เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงกันตั้งแต่วันนี้ เขาอาจจะต้องเผชิญกับเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ 

 

พอลลีน งามพริ้ง

 

เราค่อนข้างเป็นห่วงคุณในเรื่องนี้ เพราะการต่อสู้ในสภานั้นมีความดุเดือดมาก โดยเฉพาะกับคนรุ่นก่อนที่ยังไม่ยอมรับและตัดสินไปแล้วว่า LGBT มีหน้าที่เพียงแค่เป็นคนช่วยสร้างสีสันเท่านั้น ไม่ใช่คนที่ควรมีบทบาทสำคัญในสภา ที่พูดแบบนี้เพราะเห็นมาทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ LGBT ยังถูกกันไว้ให้เป็นแค่เสียงส่วนน้อยเท่านั้น

     เรื่องนี้เราไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาเลย มองเป็นความท้าทาย เพราะปัญหาคือสิ่งที่แก้ไม่ได้ แต่ความท้าทายคือสิ่งที่แก้ได้ ถ้าไม่เริ่มวันนี้คนรุ่นใหม่หลังจากเรา ก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ แล้วก็ต้องต่อสู้กับความคิดเก่าตลอดเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าความคิดเก่าไม่ดี เราก็ต้องใส่ใจพวกเขาด้วย

     แต่ถามว่าจริงๆ แล้วเราทำการเมืองนี้เพื่อคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่กันแน่ เรามองว่าการเมืองสำหรับคนรุ่นเก่าคือ การผลักดันให้มีรัฐสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้เขามีความสะดวกสบายหลังจากที่ทำงานหนักมาเป็นเวลาหลายปี เป็นเรื่องที่ต้องดูแลเขา แต่สังคมเองก็ต้องขับเคลื่อนไปสู่อนาคต ต้องตอบสนองโลกให้ทัน เพราะคนรุ่นใหม่คือคนที่จะมาแทนพวกเรา

     แล้วทีนี้จะเป็นการต่อสู้แบบรุนแรงเลยไหม ไม่เลย เป็นแค่การปรับตัวเข้าหากัน เราต้องพยายามอธิบายกับคนรุ่นเก่าเหมือนที่พ่อแม่ของเราพยายามจะอธิบายกับเราให้เป็นอย่างเขา แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราก็ต้องเป็นฝ่ายอธิบายกับพ่อแม่เราว่าทำไมถึงต้องทำแบบนี้ ทำไมถึงจะต้องปรับตัวให้ทัน เพราะสังคมมันเปลี่ยนไป ถ้าพูดคุยกันแบบนี้โดยที่ไม่ไปขัดแย้งกับความคิดเก่าๆ การดูถูกเหยียดหยามก็ไม่น่าจะมี ถ้าเราซื่อสัตย์และเคารพตัวเองมากพอ เราจะเคารพคนอื่นด้วย 

 

ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศในต่างประเทศจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเขามีความเข้มข้นจริงจัง ทั้งสภาพสังคม การเรียกร้องสิทธิ และปัจจัยต่างๆ ที่ต่างจากบ้านเรามาก คนไทยเปิดกว้างกับ LGBT กันอยู่แล้ว เลยมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสบายๆ ไม่เห็นต้องจริงจังอะไรมากเลย ความคิดแบบนี้จะส่งผลให้คุณทำงานยากขึ้นไหม

     ต่างประเทศมีคนที่คิดสุดโต่งค่อนข้างเยอะ เกลียดก็เกลียดเลย แต่ก็มีคนยอมรับ เคารพ ศึกษาหาข้อมูล และทำความเข้าใจ ไม่ใช่แค่ยอมรับอย่างเดียว มีความเข้าใจด้วย มีกฎหมายสิทธิมนุษยชนในเรื่องของความเท่าเทียมกัน คนก็เคารพกฎหมายนี้ และการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นไปอย่างจริงจัง ถ้ามีการเหยียดก็จะถูกฟ้องร้อง แต่กลุ่มที่เกลียดชังก็มีเยอะเหมือนกัน มีการทำร้าย ไล่ล่า แม้กระทั่งเข่นฆ่า

     ซึ่งสังคมไทยจะเป็นตรงกลาง คนไทยจะไม่มีอะไรกับ LGBT ถ้าเราไม่ไปยุ่งกับเขา คุณก็อยู่ของคุณไป ซึ่งในความคิดจริงๆ ยังมีการเหยียดอยู่ เพียงแต่เขาไม่ได้แสดงออกมาจนกว่าจะถูกกระตุ้น หลายคนบอกว่าเคารพในความแตกต่าง แต่เขาไม่ได้ยอมรับ เขามีเพื่อนเป็นเกย์ เป็นกะเทยก็จริง แต่เขาไม่รู้หรอกว่าลักษณะของเกย์กับกะเทยนั้นแตกต่างกัน เขาไม่รู้ว่ารสนิยมทางเพศกับอัตลักษณ์ทางเพศเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกัน เราต้องพยายามอธิบายว่าอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศ และไม่ได้เป็นตัวบอกว่า LGBT คนอื่นต้องเหมือนเรา

     การที่เราบอกว่าเรายอมรับ LGBT ยอมรับความหลากหลายทางเพศ เป็นการยอมรับเพราะว่าเขาไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรา แต่เมื่อมีคนที่หลากหลายทางเพศอยู่ในครอบครัว จะเริ่มเกิดปัญหาขึ้นมาทันที กลัวชาวบ้านว่า กลัวชาวบ้านนินทา จนกระทั่งคนในครอบครัวซึ่งเขาควรจะได้รับความรักความเข้าใจมากที่สุด กลับไม่มีการพูดคุยทำความเข้าใจกัน และผลักไสไล่ส่งเขาไป หรือต่อว่า ติเตียน แอนตี้ แม้กระทั่งไล่ออกจากบ้าน ที่บอกว่ายอมรับคือการยอมรับแค่คนที่อยู่ในโทรทัศน์ พิธีกรคนนี้ตลกดี หรือเดินไปเห็นบนถนนก็ยอมรับเพราะคนคนนั้นเขาไม่ได้มาข้องเกี่ยวด้วย แต่ลึกๆ ในทุกอณูสังคมยังมีความเหยียด มีความไม่เข้าใจอยู่ ยังไม่ได้มองเป็นคนเป็นคนเท่ากันอยู่

     บางคนมองว่า LGBT คือคนที่ทำบาปทำกรรมมาแต่ชาติปางก่อน ชาตินี้ถึงเกิดมาเป็นแบบนี้ พ่อแม่บางคนมาพูดกับเราว่าลูกเขาก็เป็นแบบพอลลีน เขายอมรับได้ เพราะว่าชาติก่อนคงทำบาปทำกรรมไว้เยอะ เรางงกับตรรกะแบบนี้ ทำไมไม่คิดว่าตัวเองทำบุญไว้ ลูกถึงสามารถมีความสุข เป็นตัวของตัวเองได้ นี่คือตัวอย่างของการยอมรับในความไม่เข้าใจ

 

ถ้าอย่างนั้นปัญหาทางสังคมที่จริงจังของคน LGBT คืออะไร เพราะคุณก็บอกว่าถ้าเอาแค่เพศสภาพเริ่มต้น ชายหญิงทุกคนก็มีสิทธิ์มีเสียงกันอยู่แล้ว

     จริงๆ ไม่ใช่การให้สิทธิ์กับ LGBT หรอก สิทธิ์ของทุกคนในฐานะพลเมืองไทยมีอยู่แล้ว เพียงแต่เราถูกตีตราว่าคนคนนี้ไม่เหมือนคนอื่น ผู้ชายรักผู้ชายไม่มีสิทธิ์แต่งงานกัน เพราะเป็นเรื่องแปลกประหลาดไม่เหมือนคนอื่น ผู้ชายหรือผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะรักใครก็มีสิทธิ์ในฐานะพลเมืองอยู่แล้ว การแก้ไขเรื่องกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้ามา

     ผู้หญิงข้ามเพศและผู้ชายข้ามเพศประสบปัญหามากมายเรื่องของเพศสภาพ อย่างเรื่องบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตเวลาเดินทางไปต่างประเทศ เขาก็จะถูกตีตรา ถูกตั้งข้อสังเกตมากกว่าคนอื่น ทั้งๆ ที่อาชญากรหรือคนทำผิดกฎหมายมีทั้งชาย หญิง เกย์ กะเทย ทอม เหมือนกันหมด คนดีคนเลวมีอยู่ในทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา มีอยู่ในทุกเพศสภาพ แต่พอเราเข้าไปที่ตม. บางทีก็ถูกจับถูกตรวจอวัยวะเพศ เพราะเพศสภาพไม่ตรงกับสิ่งที่เขาเห็น หรือมีปัญหาในการไปติดต่องานราชการ

     สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่าเราอับอายขายหน้า ความเป็นมนุษย์ของเราต่างจากคนอื่นขนาดนั้นเลยเหรอ นี่คือสิ่งที่เราต้องแก้ไขเรื่องกฎหมาย เป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้ทั้งในองค์กร บุคคลในสังคม ครอบครัว เพื่อน อาจารย์ หัวหน้าหรือแม้กระทั่งเจ้านาย เพื่อทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขและดึงศักยภาพของแต่ละคนนั้นมาใช้ได้อย่างเต็มที่

 

พอลลีน งามพริ้ง

 

คุณมองว่าความเท่าเทียมที่แท้จริงในภาคของสังคมมวลรวมต้องเป็นอย่างไร

     ถ้าเราตัดสินใจโดยผู้ชายหรือแค่เพียงเพศเดียว ก็จะมีการเอนเอียงและไม่ยึดหลักความเป็นจริง ดูง่ายๆ เลยเวลาเราออกแบบห้องน้ำสาธารณะ มีพื้นที่อยู่ 100 ตารางเมตร แล้วจะแบ่งครึ่ง 50 50 ให้ผู้ชายครึ่งหนึ่งให้ผู้หญิงครึ่งหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงการตัดสินใจแบบนี้ต้องมีส่วนร่วมทั้งชายและหญิง เราจะรู้ว่าผู้หญิงต้องใช้พื้นที่เยอะกว่า เพราะเวลาเข้าปัสสาวะเขาต้องนั่ง ต้องมีที่แขวนกระเป๋า ความเท่าเทียมคือการที่เอาเรื่องของความอ่อนด้อยของคนหรือเงื่อนไขที่ต่างกันมาตัดสินด้วยเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

     ความเท่าเทียมไม่ได้หมายความว่าต้องแบ่งครึ่งทุกอย่าง คนที่มีความด้อยหรือมีเงื่อนไขจำเป็นมากกว่าก็ควรจะได้สิ่งที่สมเหตุสมผล ดังนั้น เราจึงเห็นว่าในห้างสรรพสินค้า ห้องน้ำผู้หญิงจะคิวยาวมากเพราะว่ามีห้องอยู่ 4 ห้อง แต่ผู้ชายก็มีห้องอยู่ 4 ห้อง แล้วก็มีโถปัสสาวะอยู่ 10 โถ นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมผู้ชายไม่ต้องรอคิวแต่ผู้หญิงต้องรอคิว ถ้าเราตัดสินใจด้วยฐานความคิดของผู้ชายและผู้หญิง ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิด แล้วทุกคนก็จะไม่มีปัญหา

 

แต่คนส่วนใหญ่มักจะมุ่งไปสนใจแต่พรรคที่ออกมาบอกว่าจะแก้ปัญหาปากท้อง สร้างความมั่งคั่งในชีวิตให้พวกเขาได้ มากกว่าจะเลือกพรรคที่มีนโยบายเพื่อสังคมแบบนี้

     ปัญหาปากท้องก็คือเรื่องของความเท่าเทียมไง ทุกวันนี้ปัญหาปากท้องเกิดขึ้นเพราะคนไม่เท่ากัน มีคนที่ได้เยอะกว่ามีคนที่ได้น้อยกว่า คนที่ยึดครองเศรษฐกิจบางอย่างอยู่ มีการผูกขาด มีการใช้กลไกต่างๆ ที่ทำให้เกิดการผูกขาด คนรวยมีแต้มต่อ ถึงเวลาที่จะหาเสียงก็โยนเศษเงินไปเพื่อให้เขาเลือก และสุดท้ายเราก็ถูกกด ถูกเหยียบย่ำเหมือนเดิม นี่คือความไม่เท่ากันจริงๆ

     เมืองไทยเป็นประเทศที่ที่ร่ำรวย เราอาจจะไม่ได้มีทรัพย์ใต้ดินเยอะ แต่เรามีทรัพย์บนดินเยอะ หยอดอะไรลงไปก็ขึ้น คนไทยไม่ต้องกลัวอดตายเลย เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เรามีครบ แล้วเราจนไหม เราไม่ได้จน แต่ที่เราจนเพราะมันไม่เท่ากัน เราถูกใส่ความคิดเรื่องความฟุ้งเฟ้อ เรื่องแบรนด์เนมเข้าไป แล้วก็ไปสร้างความต้องการให้กับคนที่เขาไม่มี เกษตรกรขายข้าวไปหนึ่งเกวียนยังซื้อโทรศัพท์มือถือเพื่อที่จะมาแข่งกับคนในเมืองยังไม่ได้เลย แต่เราไปสร้างค่านิยมแบบนี้ เราไปสร้างความต้องการแบบนี้ นี่คือสิ่งที่ทำให้คนไทยจน แต่จริงๆ คนไทยไม่เคยจนเลย

 

เราจะต่อสู้กับกระแสที่รุนแรงของทุนนิยมได้จริงๆ เหรอ เพราะตอนนี้เมื่อโลกเปิดกว้างทุกอย่างก็ทะลักเข้ามาหมด แม้แต่ประเทศที่เคยเป็นประเทศปิดอย่างจีน สังคมทุนนิยมก็เข้าตีจนกำแพงเมืองจีนแทบพังลงแล้ว

     การอยู่ในโลกของทุนนิยมต้องมีภูมิคุ้มกัน เราทำงานในวงการโฆษณา ทำงานในวงการการตลาดมาเยอะ เราไม่ได้ว่านักการตลาดนะ แต่ว่าต้องรู้เท่าทัน อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็นมากจนเกินไป เราไม่ต้องไปโจมตีระบบทุนนิยมหรอก

     ดูจากประเทศมหาอำนาจต่างๆ ที่เดินไปหาทุนนิยมสิ ซึ่งในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาที่เป็นทุนนิยมจ๋า อยู่ๆ ก็พังครืน แล้วก็เข้าไปสู่ระบบสังคมนิยม กลายเป็นว่ารัฐเป็นเจ้าของธุรกิจหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจรถยนต์ เป็นต้น กลายเป็นว่าทุนนิยมแบบสหรัฐอเมริกากลายเป็นสังคมนิยมมากกว่าประเทศจีนเสียอีก จีนซึ่งเป็นสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ทุกวันนี้ก็เป็นทุนนิยมแบบพุ่งกระจาย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเยอะมาก ทุกอย่างเป็นหยินและหยาง มันจะไหลเข้าหากัน ถ้าคุณเป็นทุนนิยมแบบไม่มีวินัยไม่มีระเบียบเลย คุณก็จะไปสู่จุดล่มสลาย แล้วคุณก็จะกลายเป็นสังคมนิยมในที่สุด

     เราสามารถอยู่กับทุนนิยมได้ไหม ถ้าใช้ความคิดว่าเมืองไทยนั้นรวยอยู่แล้ว ทำไมเราไม่เริ่มคิดในเรื่องของ innovation ของเราเอง อย่างรถยนต์ ทำไมเราไม่สร้างแบรนด์ของตัวเอง ทำไมเราจะผลิตรถยนต์ของตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในเอเชีย เราก็เคยอยู่ในวงการรถยนต์ แต่พอทำเป็นแบรนด์ไทย เป็นยี่ห้อไทยขึ้นมา คนไทยก็ไม่ใช้ แต่ถ้าเริ่มจากรัฐบาลก่อนล่ะ ให้รถตำรวจทุกคันเป็นยี่ห้อไทย หน่วยงานราชการต้องซื้อยี่ห้อของไทยเท่านั้น เทคโนโลยีมันไม่ต่างกันแล้ว ชิ้นส่วนต่างๆ ก็ทำในเมืองไทย 80%

     เราเท่าเทียมกันในประเทศแล้ว เราก็ต้องเท่าเทียมกับประเทศอื่นด้วย ไม่ใช่โทรศัพท์รุ่นใหม่ออกมาก็ซื้อตลอดโดยที่ไม่มีแบรนด์ของตัวเอง เราต้องเท่าเทียมกับเขา เราต้องมีนโยบายเรื่อง SME ออนไลน์ ทำไมคนไทยจะต้องขายของผ่านเว็บท่าต่างประเทศ ทำไมเราไม่มีเว็บท่าของเราเอง ทำไมเราไม่มีอีคอมเมิร์ซของตัวเอง เขามีอเมซอนเรามีเจ้าพระยาได้ไหม เขามี Alibaba เรามีตลาดไทหรือจะเป็นชื่ออะไรก็แล้วแต่ เป็นเว็บท่าของไทยที่ขายของเกษตรผลิตภัณฑ์ OTOP คนทุกตำบลสามารถเข้าถึง รัฐบาลเข้าไปฝึกอบรมในการที่จะโพสต์สินค้าขายในโลกออนไลน์

     ปัจจุบันนี้คนในชนบทใช้อินเทอร์เน็ตแค่ไลน์ เฟซบุ๊ก ทำไมเราไม่เข้าไปให้ความรู้ให้เขาเข้าถึงการค้าขายออนไลน์ เราจะได้ไม่ต้องตกเป็นทาสของพ่อค้าคนกลางต่างประเทศเพียงอย่างเดียว เมื่อโลกหมุนไปแบบนี้ นโยบายเศรษฐกิจการเมืองและสังคม ก็ต้องหมุนไปตามความเป็นจริงของโลก

 


เลือกตั้ง 2562:

• ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ | ถ้าคุณไม่กล้าเสี่ยง คุณจะไม่เคยได้รับรางวัลอะไรเลยในชีวิต

• อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | ประชาชนยังมีสิทธิ์ในการเขียนบทให้ประเทศ

• ไพบูลย์ นิติตะวัน | อุดมการณ์อันแรงกล้า และหลักศรัทธาที่ถูกสังคมตั้งคำถาม

• ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ | ความทะเยอทะยาน การจัดลำดับความสำคัญที่จะทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น

• เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส | ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยจะไม่มีรัฐประหารอีกต่อไป

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ | สามัญชนผู้หวังหอบหิ้วเสียงของคนตัวเล็กๆ เข้าไปในสภา

• บ.ก. ลายจุด | ขอเป็นไม้ประดับในการเมืองไทย เพิ่มสีสันและแชร์ไอเดียให้เกิดเป็นร่องความคิดของสังคม