เรานัดเจอ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ ‘หนูหริ่ง’ หรือ ‘บ.ก. ลายจุด’ ที่มูลนิธิกระจกเงา เขาและทีมกำลังทำงานรับบริจาคและคัดแยกหนังสือนำส่งไปให้โรงเรียนในต่างจังหวัด ดูเป็นงานแบบเอ็นจีโอธรรมดาๆ ตรงหน้าที่เขาพอจะทำได้ในตอนนี้ โดยที่ภายในใจยังคงคุกรุ่นและอยากจะสร้างสีสันให้กับการเมืองในภาพใหญ่ เขาเป็นเอ็นจีโอมาตลอดทั้งชีวิต และร่วมเคลื่อนไหวการเมืองมาหลายช่วงเวลา มาถึงจุดเปลี่ยนที่รู้สึกว่าต้องเติบโตขึ้นและเข้าสู่แวดวงการเมือง ตามลำดับวิวัฒนาการในชีวิตของเอ็นจีโอทุกคน แต่ก็ต้องวุ่นวายกับการจดทะเบียนชื่อพรรค เงื่อนไขอีกสารพัดในการหาสมาชิกและเงินทุน จนเขาคิดว่าอยากเป็นแค่ไม้ประดับในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขอช่วยเพิ่มสีสันโดยการให้ความเห็นแสบๆ คันๆ เกาะกระแส และแชร์ไอเดียดีๆ ของตัวเอง เผื่อว่ามันจะได้เกิดเป็นร่องความคิดให้กับพรรคการเมืองหลักๆ ได้นำใช้ นำไปอ้างอิง
เมื่อเป็นเอ็นจีโอแล้ว ถึงจุดหนึ่งก็ต้องการเข้ามาสู่อำนาจใช่ไหม
มันเป็นสูตรของพวกเอ็นจีโอ พอเราทำงานถึงจุดหนึ่งจะเริ่มคิดอ่านเรื่องนโยบาย แล้วอยากขึ้นไปเป็นผู้เล่น เข้าไปมีบทบาททางการเมือง จนเกิดคำพูดที่ว่า เวลาเอ็นจีโอไปเล่นการเมือง เราจะเสียเอ็นจีโอดีๆ ไปคนหนึ่ง และได้นักการเมืองเลวๆ กลับมา มันเหมือนเป็นกับดัก พอถึงจุดหนึ่งคุณจะมองเห็นภาพใหญ่ เห็นความเชื่อมโยงระดับมหภาค เห็นโครงสร้าง คุณจะอยากขยับโครงสร้าง คุณไม่อยากขยับแค่กิจกรรมที่อยู่ตรงหน้า คุณอยากสร้างอิมแพ็กต์ มันเป็นกิเลสหนึ่งของพวกเรา แต่พอเข้าการเมืองไปก็เป็นหลุมพราง
ปัญหาคือ เมื่อคุณเป็นนักการเมือง คุณจะเจอสภาพแวดล้อมแบบใหม่ เริ่มตั้งแต่คุณทำพรรคเลย พอจะทำพรรคคุณต้องหาพวก เพราะมันเป็นเรื่องของคะแนนเสียง ดังนั้น ความสำเร็จคือคุณต้องมีพวกและคะแนนเสียง งานก็จะกลายเป็นอีกประเภทหนึ่ง เป็นเรื่องของการจัดการและเทคนิคพอสมควร และถ้าคุณอยากเข้าไปได้เร็วๆ ก็ต้องลงทุนมาก แล้วมันจะวุ่นวายมาก เพราะจะมีผู้คนที่เดินเข้าหาคุณ เก้าอี้จะดึงคนเข้าหาคุณ สิ่งหนึ่งที่ผมอยากแนะนำคือ อย่าเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เพราะคุณจะเจอคนทุกประเภท ถ้าคุณมีโอกาสมีที่นั่ง ทั้งในเชิงปริมาณและความซับซ้อน มันยากมาก
คุณอธิบายแบบนี้ ฟังดูเหมือนคุณยังติดอยู่ในความคิดที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก
ก็ส่วนหนึ่ง มันมีกับดักระหว่างทาง แต่ผมเชื่อว่าการเมืองจะดีขึ้นได้ แต่กว่าคุณจะไปถึงจุดต่างนั้นคุณต้องผ่านดงโคลนไป ถึงคุณไม่ติดอยู่ในหลุมโคลนนั้น คุณจะหลุดไปได้ไกลกว่าเนินโคลนหรือเปล่า มันเป็นเรื่องที่ท้าทาย ถ้าหลุดไปได้มันก็สวยงามนะ ถ้าเราสามารถขยับการเมืองไปได้อีกสัก 2-3 ก้าว ซึ่งต้องใช้แรงและความมุ่งมั่นอย่างมาก
ซึ่งคงไม่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งในครั้งหรือสองครั้งถัดจากนี้
ถูก คุณต้องอยู่ในการเมืองให้ได้สัก 20 ปี รัฐบาลชุดหนึ่งอายุอาจจะสั้น แต่การที่คุณทอดเวลายาวนานพอและรักษาความมุ่งมั่นไว้ ในขณะที่คุณมีประสบการณ์มากขึ้น ผมคิดว่าเงื่อนไขคือต้องยาว คนที่เข้าสู่การเมืองแล้วยังอยู่ในโคลน เพราะเขาเข้าไปเพราะโอกาส เขาไม่ติดเรื่องเลอะโคลนนะ เพราะมันมีของที่เขาเก็บเกี่ยวได้ในโคลน แต่ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนแปลงการเมือง คุณต้องเป็นคนอีกประเภทหนึ่ง มันจะมีบทพิสูจน์ว่าคุณจะรักษาความสนุกแบบนี้ต่อไปได้สักกี่ปี ผมก็ดูว่าใครจะสนุกได้ยาว ผมเห็นธนาธร ปิยบุตร ผมก็รู้ว่าเขาสนุกและเขาจัดเต็ม แต่พออยู่ในนั้นแล้วติดโคลน มันไม่สนุกเหมือนตอนคุณอยู่บนฝั่งหรอก
ผมเห็นพรรคพวกเอ็นจีโอที่มาทำการเมือง พอตีโจทย์เป็นนโยบาย มันมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณา ความเป็นเอ็นจีโออย่างเดียวไม่พอ มุมมองไม่พอ เพราะมองจากมิติทางสังคมอย่างเดียว ไม่มองมิติอื่น ง่ายๆ คือคุณจะหาเงินได้อย่างไร เราพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ โอกาสของคนด้อยโอกาส เราคิดแต่เรื่องการใช้เงิน แต่คุณจะไม่ได้ยินว่าเราหาเงินอย่างไร จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องชี้ขาดนะ เมื่อก่อนก็คิดว่าเราจะลงทุนเรื่องการศึกษา เรื่องสังคม เรื่องคนด้อยโอกาส ถ้าคุณหาเงินมาได้มันจะง่ายเลย เงินเป็นเรื่องที่เราไม่คิดมาก่อนแต่ต้องมาคิด เอ็นจีโอคนอื่นๆ ในพรรค พวกเขาบอกว่าขอแค่เสียงเดียว ซึ่งโอกาสก็ไม่ง่าย คำถามคือถ้าคุณไม่ได้เสียงจากการเลือกตั้งครั้งนี้เลย สถานะของพรรคจะเป็นอย่างไร
อย่างนี้รอบหน้าคุณก็เตรียมความพร้อมแน่นอน
อีก 20 ปี ผมจะครองอำนาจรัฐ ถ้าผมไม่ตายก่อน (หัวเราะ) ผมมีไอดอลเป็น วรัญชัย โชคชนะ เขาบ้าการเมือง แต่เป็นคนน่าสนใจนะ เขาเป็นคนเดียวในทางการเมืองที่สามารถรักษาความสม่ำเสมอของตัวเองกว่า 30 ปี และเขาฉายความสดใส สนุก มีความสุขที่อยู่กับการเมือง ถึงแม้เขาจะได้เป็นแค่วอลเปเปอร์ทางการเมือง ผมคิดว่าผมมีคุณสมบัตินี้ของเขาและรักษามันไว้ได้ 20 ปี โดยที่ผมไม่เบื่อ
เพราะเวลาเราอยู่ในการเมือง 10 กว่าปี มันจะมีช่วงที่เบื่อการเมืองมาก ลูปมันไม่ไปไหน ซึ่งคนที่สนใจการเมืองจะรู้ว่าถ้าประชาชนเบื่อการเมืองและถอยจากมัน จนไม่มีบทบาททางการเมือง สิ่งนี้จะยิ่งไม่มีทางเปลี่ยนแปลง มันเป็นกับดักของประเทศ ดังนั้น จึงต้องทำให้คนสนใจการเมือง เพียงแต่จะทำอย่างไรให้เรามีเวลาและประสบการณ์เพียงพอ ที่จะอยู่กับมันและสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้การเมืองเปลี่ยนแปลง
แต่ถ้าผมนำเงินทั้งหมดให้พรรค ทุ่มสุดตัว พอผมหมดตัวไปโดยไม่ได้ที่นั่ง ผมก็เลิก แล้วมันก็ไม่สนุกแล้ว ไม่ได้ทำงานทำการอย่างอื่น เพราะมัวแต่เคลื่อนไหวทางการเมือง ชีวิตก็เจ๊ง ถ้ามันไม่มีอะไรดีขึ้นก็ต้องเลิก ดังนั้น โมเดลวรัญชัยจึงเป็นที่สุดสำหรับผม แต่กับคนอื่นอาจจะไม่ใช่
เขาไม่ได้อยู่ได้ด้วยการเป็นมือรับจ้าง เขาอยู่ได้ด้วยจิตวิญญาณของเขาจริงๆ เขาสนุก ชีวิตของเขาและคุณค่าของเขาอยู่ตรงนั้น ความหมายของการมีชีวิตอยู่ของเขาคือตรงนั้น เพราะเขารู้การเมือง เขารู้จักคน รู้วิวัฒนาการ นี่เป็นคุณค่าของเขา เรามองว่าเราเป็นสภาพแวดล้อมที่สร้างบรรยากาศเสริมเล็กๆ น้อยๆ อย่างน้อยเราก็เป็นหน่วยขบขัน ผมอยากเป็น ชาร์ลี แชปลิน ผมไม่มีปัญหาถ้าคนจะขบขันการกระทำของผม เพียงแต่เราไม่ใช่ตลกที่ไม่มีคลาส
ในเมื่อปัญหาสังคมไม่สามารถแก้ได้ สิ่งที่ทำให้เราได้คือการตลกไปกับมันใช่ไหม
มันคือการทำงานไปเรื่อยๆ จริงๆ งานของมูลนิธิกระจกเงาดีมากนะ เราคิดว่าเราทำงานได้ผลพอสมควรเพราะเป็นสเกลที่เราทำได้ แต่ถ้าเราเห็นทั้งโครงสร้างของสังคม มันต้องขยับข้างบนหรือปรับข้างล่าง ในทัศนะของผม ผมมองว่าผมอยู่ในสถานะที่มีโอกาสเป็นผู้เล่นข้างบนได้ ดังนั้น ผมควรจะเล่นเกมนี้ เพียงแต่ต้องออกแบบว่าเราจะเล่นเกมนี้อย่างไร เพื่อให้มีการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
ตอนนี้ผมเพียงแค่เอาตัวเองเข้าไปไว้ในนั้นก่อน ถึงแม้จะยังไม่ขยับไปไหน แต่ค่อยๆ ดูว่ามันจะมีจังหวะเล่นอย่างไร จริงๆ แล้วผมเดินตรงๆ แบบที่คนอื่นทำไม่ได้เพราะผมไม่มีศักยภาพ สมมติพรรคเกียนได้ทำเหมือนพรรคกรีนของต่างประเทศ พรรคกรีนน่าสนใจมาก เพราะเขาไม่สำเร็จในเชิงที่นั่งในสภา แต่เขาทำให้สองพรรคใหญ่ต้องบรรจุนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไป โดยเขาผลิตข้อเสนอทางการเมืองที่สื่อสารโดยตรงไปถึงผู้ลงคะแนน และผู้ลงคะแนนชอบ ทำให้ทั้งสองปีกซ้ายขวาก็ต้องใช้หาเสียงด้วย เขาเรียกว่าการทำร่องคิด คือคุณไม่ต้องมีที่นั่งมาก แต่ทำให้โอบามาผลักดันนโยบายสิ่งแวดล้อมของคุณได้ มันเป็นขบวนการของพรรคกรีน มันเป็นช่องทางนามธรรมที่คุณออกเสียงได้โดยไม่ต้องมีที่นั่งมาก และคุณสามารถสื่อสารไปถึงคนประเภทเดียวกันได้ หรือพรรคไพเรตก็เช่นกัน ผมว่าอีกสัก 10-20 ปี คอนเซ็ปต์แบบพรรคไพเรตจะมา เพราะมันจริง ฐานมันกว้างกว่า ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนมีมากกว่า ทำให้คนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองได้จริง
แต่เรายังไม่เห็นร่องคิดดังว่านั้นของคุณเลย
ก็สื่อไม่ค่อยให้พื้นที่กับพรรคเล็กๆ มีบ้างแต่น้อย และข่าวการเมืองมักรายงานความขัดแย้ง แต่ไม่รายงานนโยบาย เราเป็นสังคมบุคคล ไม่ได้ดูที่ประเด็น ทั้งที่หลายเรื่องเป็นเรื่องใหญ่มาก และทุกพรรคก็เสนอนโยบายดีๆ ทั้งนั้น อาจจะเป็นเพราะรอบนี้คนสนใจแต่เรื่องเอาหรือไม่เอารัฐบาลทหาร แต่เรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในคราวนี้ก็คือกัญชา ที่คนกลุ่มเล็กๆ ผลักดันแล้วได้ผล ถ้ารูปแบบนี้มันเกิดขึ้นกับทุกๆ ประเด็นจะดีมากเลย เพราะมันจะมีแรงส่งจากขบวนคอยดันไปเรื่อยๆ ซึ่งมันต้องเป็นแบบนั้น คุณต้องตั้งลำ เพียงแต่คุณใช้เครื่องมือทางการเมืองช่วยทำให้ประเด็นนั้นมีขบวน แล้วสังคมจะเดินต่อไป ไม่อย่างนั้นมันจะมีแต่พรรคการเมืองที่เสนอกันให้จบๆ ไป แล้วรอบหน้าค่อยมาดูใหม่ว่าสังคมสนใจเรื่องอะไร
สำหรับคุณ อะไรเป็นร่องคิดทางการเมืองที่คุณอยากฝากไว้ในอนาคต
เรื่อง Think Tank เพราะประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงเยอะมากเพื่อให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่มีใครพูดถึงเรื่องคนขี่รถจักรยานยนต์ย้อนศรบนทางเท้า ฝ่าไฟแดง เด็กแว้น มันมีเรื่องจำนวนมาก สิ่งนี้ต้องมี Think Tank และการจะมี Think Tank ได้ต้องเกิดจากประชาชนช่วยกัน ต้องมีโครงสร้างให้คนเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นนั้นๆ
ยกตัวอย่าง เพื่อนผมคนหนึ่งสนใจเรื่อง Airbnb และเชื่อสุดหัวใจเลยว่า Airbnb คือคำตอบ แต่สถานะของ Airbnb ตอนนี้ไม่ถูกต้อง เขาอยากผลักดัน เขาต้องการจะเอาสิ่งนี้ไปเสนอ พอคนอื่นๆ รู้ว่ามี Think Tank นี้ ก็มารวมตัวกัน และมีการนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน มันจะคล้ายๆ กับซอฟต์แวร์ที่เป็น open-source คือมันจะต่อยอด แทนที่จะต้องรอรัฐบาล เช่น ประเด็นเด็กตีกัน สุนัขจรจัด มันมีมาตั้งแต่เราทุกคนเกิด จึงต้องรวบรวมข้อมูลให้มีความสดใหม่ตลอดเวลา และมีแพลตฟอร์มรวบรวมความคิดของผู้คนต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นรัฐ ราชการ เอ็นจีโอ ซีเอสอาร์ของบริษัท หรือใครก็ตามที่สามารถเข้าถึง Think Tank นี้แล้วมาขับเคลื่อน
ซึ่งแพลตฟอร์มแบบนี้ พวกพรรคไพเรตในเมืองนอกเขามี ช่วงหลังวิวัฒนาการของพรรคไปไกลมากและน่าสนุกมาก เขาทำให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการผลิตนโยบายพรรคได้ และนโยบายนั้นต้องผ่านกระบวนการถกเถียงจนกว่าจะแหลมคมพอที่จะใช้งานได้
มันจะต่างจากการมีราชการและคณะกรรมาธิการอย่างไร
ต่าง เพราะนั่นเป็นการคิดจากข้างบนลงมา ถ้าเป็นระบบราชการก็คือฝ่ายนโยบายและแผน ถ้าเป็นพรรคการเมืองคือคณะกรรมการนโยบายพรรค ก่อนผมทำพรรค ผมพบว่าคนกลุ่มนี้เป็นอัจฉริยะจริง แต่พวกเขาคิดได้อยู่บนความจำกัด เพราะปริมาณมันใหญ่มากจนคนแค่ไม่กี่คนนั้นทำไม่ได้ และมีหลายเรื่องที่ต้องมาจากคนที่อยู่ในวงการและสนใจจริงๆ เพราะมันมีรายละเอียดเยอะและอาจจะมีทางลัดในการแก้ปัญหาที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ
ผมเห็นข้อความหนึ่งในพันทิป ทำไมบัตรประชาชนต้องถ่ายเอกสารสองด้าน ในเมื่อด้านหลังมันเหมือนกันหมด ทำไมเราไม่ถ่ายเอกสารหน้าเดียวเพราะมันประหยัดเงินมหาศาล มีคนเห็นด้วยมากมาย เวลาผ่านไปนานมากจนกระทู้นั้นหายไปแล้ว แล้วต่อมาก็มีกระทู้คำถามแบบเดิมโดยผู้ใช้คนอื่นอีก จนวันหนึ่งรัฐบาลเปลี่ยนการถ่ายเอกสารบัตรประชาชนจากสองด้านเหลือด้านเดียว ไอเดียบ้าๆ แบบนี้แหละมีอยู่เต็มไปหมด เราจึงต้องมีแพลตฟอร์มมารวบรวมและนำไปใช้งานจริง
คล้ายกับโลกโซเชียลมีเดีย
ก็คล้ายๆ ตรงที่เป็นเวที แต่มันยังไม่สกัด สิ่งที่ใกล้เคียงกว่าแต่ก็ยังห่างไกลอยู่ คือ Wikipedia มันคือการตกแต่งและจัดเรียงข้อมูล มีแพตเทิร์นของไอเดียและความรู้ว่าในไอเดียหนึ่งประกอบด้วยโครงสร้างอะไรบ้าง เช่น สภาพการณ์ของปัญหา ตัวแปร เหตุผล การจัดการ กฎหมายและองค์กรที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ค่อยๆ แตกไป ค่อยๆ เขียน ค่อยๆ เติม มันคล้าย Wikipedia แต่มันไม่ใช่แค่ข้อมูลข้อเท็จจริง มันเป็นไอเดีย พวกพรรคไพเรตมีแพลตฟอร์มหนึ่งชื่อ Liquid Feedback ซึ่งเป็นเสมือน Groupware ตัวหนึ่ง มันไม่ใช่แค่ฟังก์ชันให้มาถกเถียงกันเหมือน Wikipedia แต่มันเกือบเป็นระบบปฏิบัติการของพรรคไพเรต และมันมีเรื่องนี้อยู่ในนั้น
มันคล้ายๆ การทำงานสมัยนี้ ที่ทุกคนไประดมความคิดบน Google Sheets หรือ Google Docs
ใช่ และยิ่งมันอยู่ในที่สาธารณะระดับที่ใกล้เคียงกับ Wikipedia ก็จะมีไอเดียใหม่ๆ มาเติม เช่น ผมคุยกับเพื่อนนักดนตรีคนหนึ่งเรื่องการแก้ปัญหาจราจร เขาบอกว่าต้องทำเลนจักรยานวิ่งไปกับโครงสร้างทางด่วน ผมว่าไอเดียนี้บ้าดีและเป็นไปได้ เราอยู่ในช่วงเวลาที่มีปัญญาชนอยู่ไม่น้อยแต่เราไม่นำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาต่อ
ผมไม่ได้หมายถึงว่าถ้าใครเสนอไอเดียแล้วจะทำได้เลย แต่มันน่านำมาขัดเกลาต่อ ผมว่ามันมีมูลค่า มีคนไม่น้อยที่มีเรื่องแบบนี้อยู่ในตัวเขา ถ้าคุณฝึกให้ประชาชนขบคิดเรื่องพวกนี้ และให้ผู้ที่สามารถร่วมงานกันได้มาเจอกัน มันทำให้คนเหล่านั้นมีโอกาสขยายขอบเขต สิ่งเหล่านี้เราไม่เรียกว่าการศึกษา มันเป็นการยกมูลค่าของมนุษย์ มันไม่ใช่แค่ผลิตไอเดีย แต่ทำให้มูลค่าของคนที่ร่วมในกระบวนการผลิตเปลี่ยน
เราเป็นเราได้จากการนำคนอื่นมารวมในตัว เราอาจจะมีประสบการณ์ส่วนตัวอยู่บ้าง แต่เราก็เต็มไปด้วยประสบการณ์ของคนอื่น ดังนั้น การสร้างประสบการณ์เป็นการเพิ่มมูลค่าของชาติและสังคม
คุณเคยมีประสบการณ์การนำไอเดียคนอื่นมาผสมกันแล้วประสบความสำเร็จไหม
ยังไม่มี งานที่ผมเคยมีส่วนร่วมและสร้างผลกระทบมากที่สุดในชีวิตคือปัญหาแก้ไขสัญชาติของเด็กชาวเขา ผมคิดว่าผมเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งที่ช่วยผลักดัน แต่มันยังเป็นการทำงานแบบอยู่ข้างล่างแล้วผลักดันขึ้นมา มีปัจจัยแวดล้อมบางอย่างสนับสนุน มันเป็นความโชคดี ผมวางมือจากศูนย์ข้อมูลคนหายมานานแล้ว แต่มันเป็นไอเดียของผม ผมเจอเหตุการณ์เด็กผู้หญิงชาวเขาตัวเล็กๆ หายในหมู่บ้านและตามหาไม่เจอ 2 ปี จึงเริ่มต้นการคิดแบบเป็นระบบถึงปัญหา แทนที่จะช่วยเป็นกรณีๆ แล้วจบ ผมมองเป็นปัญหาคนหายเลย มันโชคดีที่ผมได้ไปดูงานการจัดการคนหายในต่างประเทศว่าเขาทำอย่างไร ผมจึงกลับมาแล้วทำสิ่งนี้
เพราะคุณเติบโตมาในยุคที่มีเทคโนโลยีและดิจิตอลด้วยหรือเปล่าที่ทำให้เกิดไอเดียเรื่อง Think Tank
ใช่ เพราะเราเห็นโอกาส ทุกวันนี้ผมดูยูทูบทุกวัน เพราะมันเป็นความรู้ แล้วดูอะไรมันก็ใช่ไปหมด มันสนุกตรงที่เหมือนคุณต่อจิ๊กซอว์ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าคุณดูอะไรมา คุณก็นำมาต่อจิ๊กซอว์ที่คุณมีอยู่ได้ โครงสร้างของความเข้าใจ ล่าสุดผมดูสารคดีเรื่องวิวัฒนาการของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง เรื่องกำเนิดสิ่งมีชีวิต เรื่องกำเนิดโลก ทฤษฎี Big Bang สนุกมาก ทุกอย่างมันใช่ไปหมด แล้วเราสามารถนำความรู้หนึ่งมาประยุกต์ใช้กับอีกงานหนึ่งได้ ต่อให้เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน แต่มันมีหลักสากล
คุณคิดว่าเทคโนโลยีสามารถพาคนรุ่นเราให้มีสังคมและการเมืองที่ดีขึ้นได้ในอนาคตไหม
ผมเชื่อ อย่างเช่นเพลง ประเทศกูมี ปล่อยมาทีเดียว ทำให้เรามารื้อประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ กันเลย คุณธนาธรพูดถึงวรรณกรรมเรื่อง ปีศาจ ก็ทำให้คนกลับมาตั้งคำถามกับวรรณกรรมเรื่องนี้ มันอาจจะไม่ใช่ขบวนใหญ่ แต่สายธารนี้จะไม่ขาดแล้ว เพราะมีเทคโนโลยีเป็นตัวร้อย เทคโนโลยีทำให้เราเจอกันได้ ทำให้คนคิดเหมือนกันมาเจอกัน กลุ่มในเฟซบุ๊กทำหน้าที่นี้ มันสร้างชุมชนของคนที่สนใจเรื่องเดียวกันให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
ตอนนี้เทคโนโลยีกำลังจัดการกับเผด็จการและคนชนชั้นสูงไหม และในรูปแบบไหน
ใช่ ในรูปแบบที่คุณประยุทธ์บอกว่าไม่อยากอ่านโซเชียลฯ เหมือนกับเมื่อก่อนที่เสก โลโซ บอกว่าไม่อยากไปพันธุ์ทิพย์พลาซ่า
แต่ถึงไม่เข้าโซเชียลฯ เขาก็อยู่ไม่ได้อยู่ดี
ใช่ เพราะมันจะก่อกวนเขาไปเรื่อยๆ เหมือนกับตอนนี้แผ่นซีดีก็ไม่มีแล้ว เวลามันเปลี่ยนยุค การผลิตมันเปลี่ยนหมด ก็ปรับตัวกันไป
เทคโนโลยีเล่นงานหรือช่วยงานเอ็นจีโอ
ผมยังไม่รู้สึกว่ามันเล่นงานเราเลย แต่อาจจะมีปัญหาบ้าง อย่างเช่นมูลนิธิกระจกเงา วันหนึ่งเราเคยเติบโตอย่างมากจากการใช้เฟซบุ๊กในการสื่อสาร จนวันหนึ่งอัลกอริทึมเปลี่ยน พังหมดเลย เผยแพร่อะไรไปไม่ถึงผู้อ่านเลย นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรต่อ มันใช้เวลาคุณสั้นมาก เหมือนโทรศัพท์ Blackberry ที่เป็นที่นิยมอยู่ช่วงหนึ่งแล้วก็หายไป แม้แต่เวลาที่คุณหายไปคนยังไม่รู้ว่าคุณหายไปเลย มันเป็นพายุ
คุณอายุขนาดนี้แล้ว คุณสู้กับพายุแบบนี้อย่างไร รู้สึกว่าตามไม่ทันไหม
รู้สึกมีบางอย่างที่ตามไม่ทัน
แล้วอย่างนี้การเลือกตั้งครั้งหน้าจะอยู่รอดไหม
ผมรอดแน่ เพราะผมยืดหยุ่นได้ ผมไม่ตาย เดี๋ยวปีหน้าถ้าเลือกตั้งผู้ว่าฯ ผมจะมา แต่ผมไม่ได้คิดเรื่องการได้ที่นั่งจริงๆ แค่เข้าไปเล่น เหมือนเป็นคุณวรัญชัย ที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ แค่สนุก แต่ระหว่างสนุกนั้นผมจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ให้สังคมได้บ้าง ถ้าลงสมัครผู้ว่าฯ ผมไม่ต้องตั้งพรรคแล้ว เพราะผู้ว่าฯ ไม่ต้องใช้พรรค พอได้รัฐบาลใหม่ เดี๋ยวอยู่สัก 1-2 ปีแล้วยุบสภา ผมก็ตั้งพรรคเกียน v.2 ลงสมัครใหม่ หากไม่สำเร็จก็ยุบพรรคไป รอเลือกตั้งใหม่ผมก็ตั้งพรรคเกียน v.3 มาอีก เพราะผมเดินแนวทางคุณวรัญชัย
อยากรู้ว่าทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงเผด็จการ กับช่วงประชาธิปไตย ช่วงไหนสนุกกว่ากัน
ช่วงเผด็จการสิ ตอนผมไปทวงเงินคุณประยุทธ์นี่สนุกมากเลย แต่พอหลังเปิดเลือกตั้ง มันไม่ค่อยมีพื้นที่ให้ผมเท่าไหร่แล้ว หากคุณจะขับเคลื่อนอะไรบางอย่างคุณต้องการเงื่อนไข ผมเป็นแค่คนชักเรือใบ ถ้าไม่มีกระแสลม เรือใบก็ไม่ไป ผมเป็นคนมีเซนส์ลม ถ้าผมรู้ว่ากระแสมันมาผมก็จะชักเรือใบ คนจำนวนมากไม่รู้แล้วไปชักใบเรือตอนไม่มีลม มันก็ไม่มีประโยชน์
ความสำเร็จของชีวิตคุณคืออะไร
คือการเรียนรู้ พื้นหลังผมไม่มีอะไรเลย ผมมาจากครอบครัวตึกแถว พ่อแม่ผมไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียง ชีวิตในวัยเด็กของผมไม่ได้ประสบความสำเร็จในการเรียน และสิ่งที่อยู่ในหัวผมมีแต่ความว่างเปล่า มันไม่ได้เกิดจากการที่ผมเป็นกบฏหรือมีความคิดต่าง มันมีรุ่นพี่บางคนที่อ่านหนังสือเยอะจริงๆ แล้วคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบ แต่สำหรับผม ผมไม่ได้เลือก มันเตะผมออกไป
ผมเรียนหนังสือไม่จบชั้น ม.6 ต้นทุนผมต่ำมาก ดังนั้น ผมคิดว่าการที่ผมมีโอกาสได้ทำงานในแวดวงเอ็นจีโอ ได้พบปะกับโลกและผู้คน ใช้ชีวิตทันสังคมในช่วงเวลานั้น ได้สุดๆ กับเทคโนโลยี เมื่อมีโอกาสเคลื่อนไหวทางสังคมหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองผมก็ทำเต็มที่ มันเป็นสิ่งที่ผมได้เก็บเกี่ยวและเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ถึงแม้ผลของมันจะไม่เป็นไปตามที่คิด แต่ผมให้คุณค่ากับสิ่งที่ผมตัดสินใจทำ
สิ่งที่ผมกังวลที่สุดคือเมื่อเวลาผ่านไปแล้วเราเสียดายว่าทำไมไม่ทำสิ่งนั้นในเวลานั้น ผมมีคำตอบให้กับตัวเอง อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าทำแล้วไม่สำเร็จ
อยากรู้ว่าจุดเปลี่ยนไหนในชีวิตที่คุณผ่อนคลายลงและมองเรื่องการเมืองเป็นเพียงความสนุก
หลายอย่างครับ อันดับแรกคือ ผมคิดว่าการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2550 จะใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2534 ที่รัฐประหารจะจบใน 18 เดือน แต่มันยาว จริงๆ หลังเลือกตั้งปี พ.ศ. 2550 ผมก็ถอยแล้ว และผมก็คุยกับเอ็นจีโอคนอื่นว่าเราต้องถอย เพราะมีการเลือกตั้งแล้ว ภารกิจของเราจบแล้ว แต่หมอเหวงกับอาจารย์จรัญไม่ถอย บอกว่าไม่จริง มันไม่จบที่การเลือกตั้ง ขบวนข้างหลังมันยังไม่จบ เราถอยไม่ได้ แล้วก็เกิดการเคลื่อนไหวต่อ จนเกิดเหตุการณ์ปิดทำเนียบปี พ.ศ. 2551 สืบเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2553
ซึ่งปีนั้นหนักเลย มันเป็นเหตุการณ์ที่มีคนตาย ตอนนั้นชีวิตผมเดือดร้อนมาก ผมต้องแบกสถานการณ์ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนที่แบกสถานการณ์พวกนี้ไม่ได้ ผมมีส่วนร่วมอยู่ 4-5 เดือน แล้วก็เริ่มถอยออก พอประมาณปี พ.ศ. 2557 ก็โดนคดีใหญ่ ผมทำงานไม่ได้ไปเป็นปี ไม่รู้จะเอาอย่างไรกับชีวิต ไม่คิดว่าการเมืองจะทำกับผมได้ขนาดนี้ เพียงแค่ผมไม่ไปรายงานตัว คุณเอาผมขึ้นศาลทหาร จับผมติดคุก เอาปืนกลมาจ่อหัวผม ปิดตาผม เอาผมไปขัง อายัดบัญชีผม มูลนิธิก็โดนด้วยเพราะผมเป็นประธานมูลนิธิ ลูกผมต้องไปอยู่เมืองนอก วุ่นวายไปหมด
เวลา 10 ปีนี้เปลี่ยนคุณเลยใช่ไหม
เมื่อก่อนผมนี่ใสกิ๊งเลยนะ (หัวเราะ) แต่ตอนนี้มีเขี้ยวเล็บ เบื้องหลังความตลกคือเขี้ยวเล็บและความโกรธแค้น เพราะคุณแสดงความเกรี้ยวกราดแบบนั้นออกมาไม่ได้ มันไม่มีผลในเชิงบวก แต่ถ้าคุณแปลงมาเป็นความขบขันได้มันจะเป็นเกราะป้องกันตัวคุณ คุณแค่น่าหมั่นไส้แต่คุณไม่ตาย คุณไม่โดนยิงเหมือนคุณไม้หนึ่ง ก.กุนที เต็มที่ก็มาทุบสักที
เลือกตั้ง 2562:
• ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ | ถ้าคุณไม่กล้าเสี่ยง คุณจะไม่เคยได้รับรางวัลอะไรเลยในชีวิต
• อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | ประชาชนยังมีสิทธิ์ในการเขียนบทให้ประเทศ
• ไพบูลย์ นิติตะวัน | อุดมการณ์อันแรงกล้า และหลักศรัทธาที่ถูกสังคมตั้งคำถาม
• ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ | ความทะเยอทะยาน การจัดลำดับความสำคัญที่จะทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น
• เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส | ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยจะไม่มีรัฐประหารอีกต่อไป
• เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ | สามัญชนผู้หวังหอบหิ้วเสียงของคนตัวเล็กๆ เข้าไปในสภา
• พอลลีน งามพริ้ง | ถ้าทุกคนมีความเท่าเทียม ประเทศไทยจะเดินหน้าไกลกว่าทุกวันนี้