ABC Book Fest

ABC Book Fest 2020: เทศกาลหนังสือเริ่มต้น ที่คนรักหนังสือพลาดไม่ได้ และคนที่(ยัง)ไม่รักหนังสือจะเปลี่ยนใจ

“ถ้ามันมีสักงาน จากวงการอะไรก็ได้ ไม่ต้องงานหนังสือก็ได้ ทำให้คนได้กลับมาใช้ชีวิตกัน มันน่าจะทำให้ความรู้สึกคนและเศรษฐกิจดีขึ้นได้บ้าง และดูเหมือนคนก็รอกันอยู่ รอที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ เพราะพอประกาศออกไป กระแสตอบรับก็ดีมาก”

        ผู้จัดงาน ‘ABC Book Fest 2020 เทศกาลหนังสือเริ่มต้น’ เล่าถึงการรวมตัวกันของกลุ่มสำนักพิมพ์อิสระที่ตั้งใจจัดงานเทศกาลหนังสือขึ้นมา ที่แม้มาตรการรักษาระยะห่างในงานจะเคร่งครัดตามวิถีชีวิตใหม่ๆ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างนักอ่าน นักเขียน และศิลปะ หนังสือ วัฒนธรรม จะแนบแน่นขึ้นกว่าเคย 

        เป็นธรรมเนียมของนักอ่านไปแล้วที่จะตั้งหน้าตั้งตารองานหนังสือที่จัดขึ้นต้นปีและปลายปี แต่เมื่องานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติย้ายฐานทัพไปจัดออนไลน์ หลายคนเลยคอตกไปตามๆ กัน แต่เหตุไม่คาดฝันย่อมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่ทำให้ทั้งนักอ่านและนักเขียนเริ่มเข้าใจว่า ทำไมนะ ทำไมเราถึงตั้งตารอจะได้ไปงานหนังสือ แม้จะซื้อออนไลน์ได้ 

        รวมทั้งทำให้เกิดความคิดที่นำไปสู่วิธีการใหม่ๆ ว่าเราไม่ต้องรอไปงานหนังสือปีละครั้งสองครั้งก็ได้ ไม่ต้องจัดใหญ่ก็ได้ แต่จัดเล็กๆ จัดกระจาย ให้เทศกาลหนังสือกลายเป็นความปกติใหม่ ให้การอ่านใกล้ชิดกับชีวิตมากกว่าที่เคย

        a day BULLETIN พูดคุยกับคณะผู้จัดงาน จรัญ หอมเทียนทอง เจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว และอดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และ ศิริธาดา กองภา บรรณาธิการสำนักพิมพ์เลเจ้นด์ บุ๊คส์ ถึงการรวมตัวกันจัดงาน ‘ABC Book Fest 2020 เทศกาลหนังสือเริ่มต้น’ เทศกาลที่คนรักหนังสือพลาดไม่ได้ และคนที่(ยัง)ไม่รักหนังสือจะเปลี่ยนใจ 

 

ABC Book Fest

เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้ง Amazon.com บอกว่าเหตุผลที่เขาเลือกหนังสือเป็นสินค้าชนิดแรกของแอมะซอน เป็นเพราะหนังสือนั้นเหมาะสมที่จะขายออนไลน์มากที่สุด ทั้งรูปทรง การเก็บสต็อก ไปจนถึงการขนส่ง ตอนนี้เราก็มีช่องทางขายหนังสือออนไลน์มากมาย ทำไมคุณยังอยากจัดเทศกาลหนังสืออยู่อีก 

        คุณจรัญ: มันเป็นงานต่อเนื่องเทศกาลหนังสือฤดูร้อน ที่เราตั้งใจจะจัดในเดือนมีนาคม แต่โดนสถานการณ์ไปเสียก่อน ทุกอย่างมันพร้อมแล้ว มีหนังสือ มีสำนักพิมพ์ ร้านอิสระเตรียมมาออก คนอ่านก็อยากมา รอแค่รดน้ำพรวนดิน

        และช่วงที่ผ่านมาเราก็เห็นกันที่บริษัทใหญ่ๆ ปิดตัวลง ต่อให้มีออนไลน์ แต่คนเขาอยากมาเห็นของ มาจับ มาดู ของบางอย่างมันซื้อออนไลน์ไม่ได้นะ อย่างหนังสือภาพ เถื่อน 100 ของ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ราคาเจ็ดร้อยบาท ต่อให้เป็นนักเขียนที่เขาชอบ เขาก็ไม่แน่ใจว่าจะซื้อดีไหม แต่ถ้าเขาได้มาสัมผัส มาเห็นปก เห็นกระดาษที่ใช้ มันต้องได้กลิ่นคนทำอยู่ในหนังสือ เขาถึงจะซื้อ

        คุณศิริธาดา: ซื้อออนไลน์มันสะดวกแหละ และช่วงหนึ่งที่มันมาเจอกันไม่ได้ ออนไลน์มันก็เป็นตัวช่วยให้อยู่รอดได้ไปก่อน แต่ยังมีคนอีกกลุ่มที่เขาอยากคุ้ยหาหนังสือ อยากจับเล่มจริง มาเดินเล่นในงาน มากระทบไหล่นักเขียน ของแบบนี้มันเป็นเสน่ห์ที่คนได้ใกล้ชิดกัน คนอ่านโหยหางานหนังสือ คนทำหนังสือเองก็อยากมาคุยกับคนอ่านเช่นกัน เขาอยากรู้ว่าคนชอบหนังสือไหม อยากได้ฟีดแบ็กกลับไป มันไม่ใช่แค่ตอบสนองคนอ่าน แต่มันเติมเต็มคนทำงานด้วย ทั้งสองกลุ่มล้วนต้องการกัน

‘ABC Book Fest 2020 เทศกาลหนังสือเริ่มต้น’ นี่เริ่มต้นอะไร เริ่มต้นรูปแบบใหม่ของการจัดงานหนังสือ หรือเน้นหนังสือออกใหม่

        คุณจรัญ: ABC มันมาจาก art, book และ culture ศิลปะมาจากความคิด ความคิดมาจากหนังสือ และหนังสือทำให้เกิดวัฒนธรรม อย่าลืมว่าหนังสือคือชุดความคิดแรกของมนุษย์ ความรู้แรกที่เราได้ก็มาจากหนังสือเด็กที่พ่อแม่ให้เรามา วัยเรียนเรามีความรู้ได้จากการอ่าน ตลอดจนวันตายเราก็ยังมีหนังสืองานศพเป็นบทเรียน เป็นที่ระลึกถึง หนังสือมันอยู่กับเราทั้งชีวิต มันผูกพันกับเรา ไม่ว่าเราจะทำอะไร หนังสืออยู่กับเราตลอดเวลา เวลาเราสุข เราไม่ค่อยคิดถึงเขาหรอก แต่เวลาเศร้าเราจะคิดถึงหนังสือ วันใกล้ตาย นอนอยู่โรงพยาบาล ก็มีหนังสือธรรมะไว้คอยปลอบใจ 

        คุณศิริธาดา: พูดถึงหนังสือกับความตาย มันมีธุรกิจเพื่อสังคมชื่อ ‘ปันการดี หรีดหนังสือ’ แทนที่จะส่งพวงหรีดงานศพที่จบงานแล้วทิ้ง ก็เปลี่ยนจากค่าพวงหรีด 1.000 บาท ไปซื้อหนังสือดีๆ ให้โรงเรียนต่างจังหวัดแทน แม้คนตายจะตายไปแล้ว แต่เรายังทำให้การจากไปของเขาเป็นการส่งต่อความรู้ได้ ในงานครั้งนี้เราก็จะมีตัวอย่างโครงการหรีดหนังสือนี้ด้วย คนจะได้รู้จักและมีทางเลือกมากขึ้น

ABC art book culture แปลว่าในเทศกาลหนังสือครั้งนี้จะไม่ได้มีแค่การขายหนังสืออย่างเดียว

        คุณศิริธาดา: อย่างที่พี่จรัญว่า หนังสือมันคือจุดเริ่มต้น และมันมีการเดินทางของมันต่อไปเรื่อยๆ ตอนเด็กเราอาจอ่านหนังสือประเภทหนึ่ง พอโตขึ้นเราเปลี่ยนไปอ่านอีกแนว หรือเราอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง มันพูดถึงเล่มอื่น ความสนใจเราก็จะต่อยอดไปเรื่อยๆ เป็นศิลปะก็ได้ ดนตรีก็ได้ ในงานเราเลยไม่ได้มีแค่ขายหนังสือ แต่มีฉายหนัง มีดนตรี แต่ทุกสิ่งล้วนมีหนังสือเป็นแรงบันดาลใจ เช่น เขียนไขและวานิช ที่เป็นกวี เป็นนักดนตรีที่เขียนเพลงจากการอ่านหนังสือ บทภาพยนตร์ที่มาจากหนังสือ เพื่อที่จะทำให้เห็นว่าหนังสือเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปวัฒนธรรมจริงๆ

        คุณจรัญ: ยกตัวอย่างวันที่ 31 กรกฎาคม ตอนบ่ายสองโมง เราจะมีเสวนาเรื่องเพลงไทยที่มาจากหนังสือ เช่นเพลง ‘อาลัยรัก’ (ขับร้อง ชรินทร์ นันทนาคร คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร) ก็มาจากหนังสือของศรีบูรพา เพลง ‘คำมั่นสัญญา’ ที่ร้องว่า ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน นี่ก็มาจากกวีของสุนทรภู่ในเรื่อง พระอภัยมณี หรือเพลง ‘หนาวตัก’ ดูซิดูใครสอนให้นอนหนุนตัก ก็มาจากหนังสือ ดรรชนีไฉไล นี่แค่ตัวอย่าง แต่มันมีอีกหลายเพลงมากที่มีที่มาจากหนังสือ 

 

ABC Book Fest

หนังสือมันเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆอย่าง แต่บางครั้งเราก็ลืมเขาไปบ้าง กระโดดไปอยู่ออนไลน์กันบ้าง แต่วันที่ฝนตก ไฟดับ เราก็กลับมาหาหนังสือ มันเป็นเพื่อนเราตลอดเวลา ไม่หนีเราไปไหน 

        อย่างคุณชอบหนังสือเล่มไหน (คุณจรัญหันมาถามผู้สัมภาษณ์)

        ถ้าให้นึกเลยก็คงเป็น สิทธารถะ ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส 

        คุณจรัญ: นั่นแหละ ถ้าคุณอ่าน สิทธารถะ ตอนอายุ 20 ลองอ่านใหม่ตอนอายุ 30 จะรู้สึกว่ามันไม่เหมือนเดิม หนังสือมันอยู่กับที่ แต่เรานี่แหละที่เปลี่ยนไป ฉะนั้น หนังสือมันจะเป็นแกนกลาง เป็นหลักท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง 

        ถ้าคุณอ่านอะไรแล้วน้ำตาไหลนี่สุดยอดเลยนะ แปลว่ามันกระทบใจเรา ประสบการณ์ในชีวิตบางอย่างยังทำเราร้องไห้ไม่ได้เลย ฉะนั้น การอ่านมันมีพลานุภาพมหาศาล อย่างหนังสือชื่อ เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง ผู้เขียน—ดาวเดียวดาย เขาเป็นโรคซึมเศร้า จนเขาได้ไปคุยกับ คุณชมัยภร แสงกระจ่าง ได้คำแนะนำว่าให้ลองเขียนหนังสือ มันรักษาโรคได้ เพราะมันทำให้คนมีสมาธิ และมันก็เปลี่ยนชีวิตคนเขียนจริงๆ เปลี่ยนชีวิตคนอ่านด้วย หรือหนังสือชื่อดังที่ให้คนมาจัดบ้าน เราก็เปลี่ยนพฤติกรรมเราได้ บางทีคนรอบตัวบอกเรายังไม่เชื่อเลยนะ แต่หนังสือมันทำให้เรายอมทิ้งของ ยอมจัดบ้านได้ หรือต่อให้บางคนบอกอ่านหนังสือแล้วง่วง มันก็ยังดีเลย คุณไม่ต้องไปพึ่งยานอนหลับ อ่านหนังสือเอา 

        เราเลยอยากจะชวนท่องเอบีซีกันใหม่ มาเริ่มต้นหาความหมายกันใหม่ ว่าหนังสือเป็นจุดเริ่มต้นอะไรให้เราบ้าง แล้วเราหลงลืมมันไปหรือเปล่า 

        คุณศิริธาดา: อีกความหมายหนึ่งที่ตรงไปตรงมาเลยคือ เราหยุดกันไปสองสามเดือนช่วงล็อกดาวน์ ตอนนี้เราอยากให้ทุกคนกลับมาแล้ว เราล้มกันไปแล้ว กลับมาสู้กันใหม่เถอะ ชื่องาน ABC มันเลยมีสองความหมายหลักๆ

ดูเหมือนว่างานหนังสือไม่ใช่แค่การขายหนังสืออย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว 

        คุณจรัญ: A คือ art มันคืองานศิลปะ มันเป็นมากกว่าการออกร้าน มันสร้างแรงบันดาลใจ ที่เราทำอย่างนี้ได้เพราะคนที่มาร่วมจัดงานกับเรามีจำนวนไม่มากไป ไม่น้อยไป เราเลยคุมมู้ดแอนด์โทนได้ 

        คุณศิริธาดา: ถ้าใครเคยไป Lit Fest ที่มิวเซียมสยามจะพอนึกมู้ดออก แต่สัดส่วนของหนังสือในงาน ABC นั้นใหญ่ขึ้น มีสำนักพิมพ์ 70 กว่าเจ้า ร่วม 150 บูธ ติดต่อกันสิบวัน ในขณะที่ Lit Fest มีสามสิบกว่าบูธ สามวัน เราอยากคงบรรยากาศเป็นกันเอง สนุกสนานแบบ Lit Fest อยู่ แต่จริงจังกับเนื้อหา และมีหนังสือให้คนเลือกมากขึ้น 

        สำนักพิมพ์ที่เราชวนมาก็มีความหลากหลาย เจ้าใหญ่อย่างอมรินทร์ มติชนก็มี หรือจะสำนักพิมพ์เล็ก คาแรกเตอร์ชัดอย่างยิปซี สถาพร ก็มา หรือซอลต์ แซลมอน ที่มีฐานคนอ่านเหนียวแน่น เราอยากให้เป็นเทศกาลที่ใครๆ ก็มาได้ มาได้ทั้งครอบครัว คือสเกลมันไม่ใหญ่มาก แต่มันมีความหลากหลายให้กับทุกความสนใจ 

        คุณจรัญ: เราต้องการปักหมุดหมายงานหนังสือในเมืองขึ้นจากครั้งนี้ ถ้าเราทำที่นี่ได้ เราก็จัดงานอื่นๆ ต่อไปได้ ปลายปีเราอาจจะจัดเทศกาลหนังสือฤดูหนาว มีกิจกรรมหนังสือ มีงานศิลปะเหมือนเดิม แต่ทำให้เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นปกติทุกฤดูกาล

เวลาเราซื้อหนังสือออนไลน์ เรามักจะพุ่งไปยังหนังสือที่เราสนใจเลย และได้หนังสือแค่เล่มสองเล่ม แต่ทำไมการมาเดินแบบไม่มีเป้าหมายในงานหนังสือ เรากลับได้หนังสือกลับมาเต็มไปหมด

        คุณศิริธาดา: คุณจุ๋ม (ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล, สำนักพิมพ์ P.S. Publishing) โปรเจ็กต์เมเนเจอร์ของงานนี้ ออกแบบให้คนที่มางานจะได้เดินครบทุกโซน แต่ละบูธจะได้โชว์ความเจ๋ง เสน่ห์ของตัวเอง ไม่มีอะไรเล็ดลอดสายตาไปได้ และเราตั้งใจให้งานถ่ายรูปสวยทุกมุม ด้านบนดีไซน์เป็นหนังสือยักษ์ห้อยลงมา จะได้ตื่นตาตื่นใจ มาแล้วอยากเดินดูให้ทั่ว 

 

ABC Book Fest

 

        คุณจรัญ: บางคนอาจชอบอ่านแค่ non-fiction แต่ถ้าเดินในงานอาจเจอสำนักพิมพ์ที่ทำวรรณกรรมน่าสนใจ ทำงานแปลดีๆ เต็มไปหมด หรือบางคนไม่เคยสนใจอ่านหนังสือบางประเภทเลย แต่พอคนที่มาด้วยชวนไปดู เขาเล่าแล้วเราก็เริ่มอยากอ่าน มันก็จะทำให้เราอยากเปิดใจลอง งานนี้มันจะทำให้เราเห็นความหลากหลาย ความสนใจมันจะถูกขยายออกไปเรื่อยๆ ในงานแบบนี้ นี่แหละเสน่ห์งานหนังสือ 

การอ่านหนังสือหลากหลายเป็นสิ่งที่แค่ทำได้ก็ดี หรือมันเป็นความจำเป็น

        คุณจรัญ: ในด้านสุขภาพ เรายังต้องกินอาหารหลากหลาย กินให้ครบหมู่ กินผักหลากสีเลย การอ่านก็เช่นกัน เราต้องอ่านหลายด้าน เพราะความรู้มันเชื่อมโยงกัน 

        คุณศิริธาดา: ห้าปีที่แล้วเราอาจไม่สนใจ AI เลยก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องขายออนไลน์หรอก เอาแค่ใช้เฟซบุ๊กเรายังต้องรู้ทันเลยว่าอัลกอริธึมมันทำงานยังไง เราต้องรู้ทันมัน ต้องรู้จักมัน ไม่อย่างนั้นเราก็จะอยู่ในบับเบิลของเราเอง แต่การค่อยๆ ขยายความขอบเขตความสนใจของเราออกไปมันจะช่วยได้ แต่เราไม่ต้องกดดันตัวเองขนาดนั้นหรอกว่าจะต้องอ่านอะไร วันนี้เราอาจจะยังไม่อยากอ่าน แต่ถ้าเราไปงานนี้ หน้าปก หรือบางประโยคมันอาจดึงดูดให้เราหยิบมันขึ้นมาก็ได้ 

 

ABC Book Fest

ท่ามกลางความหลากหลาย มันมีธีมบางอย่างที่เป็นจุดร่วมของงานเขียนยุคนี้ไหม หนังสือมันสะท้อนความสนใจ หรือบันทึกมวลอารมณ์ของสังคมในยุคนั้นๆ ได้ไหม

        คุณจรัญ: เรารู้สึกว่าสมัยนี้ คนอ่านหนังสือกันไม่ยาว บทหนึ่ง 3-4 หน้าพอแล้ว ต้องวางไปทำอย่างอื่นแล้ว คนเขียนเองก็เขียน 3-4 หน้าต่อบทเช่นกัน ไม่ค่อยมีหนังสือยาวๆ เหมือนแต่ก่อน มันก็สะท้อนว่าสมาธิคนสั้นลง หรือมีอะไรต้องทำมากขึ้น หนังสือมันเลยเต็มไปด้วยคำคมมากขึ้น คนชอบคำสวยๆ เข้าใจง่ายๆ อย่างหนังสือแนว how-to ที่ต้องมีการสรุปให้เป็น 4W 1H หรือ what when where why how แต่พระพุทธเจ้าเองก็เคยพูดถึงอริยสัจ 4 ในการเข้าใจรากเหตุเหมือนกัน แต่เราไม่ค่อยสนใจ ต้องให้ฝรั่งไปจัดกรุ๊ปปิ้งมาให้ก่อน หรือพระพุทธเจ้าบอกว่าจะสื่อสารธรรมะ ต้องเข้าใจมนุษย์ที่ต่างกันเหมือนบัว 4 เหล่า แต่หนังสือวิธีการสื่อสาร เขาบอกว่าเราต้องเข้าใจ audience มันต้องอ่านง่าย กระชับแบบนี้ คนสมัยนี้ถึงจะสนใจ ไม่ได้บอกว่าอะไรดีกว่ากันนะ แต่มันแค่ข้อสังเกตต่อพฤติกรรมยุคนี้

        คุณศิริธาดา: คนเขียนเขาก็รู้ทางว่าจะสื่อสารอย่างไรให้คนอ่าน อย่างสำนักพิมพ์ P.S. Publishing เขาก็รู้จักกลุ่มลูกเค้าเขาชัดเจนว่าเป็นวัยรุ่น เด็กมหาวิทยาลัย ไม่ชอบอ่านยาวๆ เขาชินกับแพลตฟอร์มในยุคเขาที่มันทำให้ต้องสื่อสารกระชับ หนังสือเขาเลยเป็นเล่มเล็ก พกง่าย อ่านจบง่าย แต่มันก็ไม่ได้มีรูปแบบเดียว มันขึ้นอยู่กับสำนักพิมพ์แหละที่เขาต้องหาความสนใจของคนอ่านเขาให้เจอ 

        คุณจรัญ: จริงๆแล้วสำนักพิมพ์อย่าง P.S. Publishing หรือนิ้วกลมก็ทำให้คนหันมาอ่านหนังสือมากขึ้น มันเข้ากันได้กับไลฟ์สไตล์คนอ่าน ฉะนั้น ถ้าลูกหลานอยากอ่านอะไรให้อ่านไปเถอะ ขอแค่เขาอยากอ่านก่อน ชอบก่อน ไม่ต้องไปบังคับว่าเล่มไหนดี ไม่ดี ให้เขาลองอ่านไปเอง อ่านแล้วไม่เสียหายหรอก ประทับใจมากน้อยก็อีกเรื่อง เดี๋ยวเขาจะตัดสินใจเอง แล้วเขาจะมีเพื่อนแท้ เพื่อนยาก เหมือนชีวิตผมที่อยู่ได้ด้วยการอ่านหนังสือ

A-art B-book กิจกรรมศิลปะมีแล้ว หนังสือก็มีมากหลากหลาย แต่จะทำยังไงให้ C-culture วัฒนธรรมการอ่านเกิดขึ้นได้

        คุณศิริธาดา: ได้คุยกับเพื่อนชาวเยอรมันที่ทำงานด้านหนังสือมานาน และเยอรมนีก็เป็นประเทศที่รักการอ่าน เราถามเขาว่าทำยังไงให้คนไทยอ่านหนังสือ เขาบอกว่า คนที่เขาไม่อ่าน เราทำอะไรไม่ได้หรอก แต่ที่เราทำได้คือทำให้คนที่ชอบอ่าน อยากอ่านมากขึ้น และอ่านต่อไปเรื่อยๆ นี่ต่างหากที่เป็นหน้าที่ของเรา เราเลยคุยกันในทีมว่า ทำอย่างไรให้คนที่รักการอ่านได้มาเจอกัน มาสนุกด้วยกัน ถ้าเรารักษากลุ่มคนอ่านให้อยู่ด้วยกันไปเรื่อยๆ เหนียวแน่นได้ เราพอใจแล้ว

        คุณจรัญ: รัฐเรายังไม่ได้มองว่าหนังสือคือวัฒนธรรม สำหรับเขาหนังสือมันคือการแสดง ร้องรำทำเพลง เป็นสิ่งที่ต้องอนุรักษ์ 

        คุณศิริธาดา: เขายังมองไม่เห็นว่าการอ่านกับวัฒนธรรมมันเกี่ยวข้องกันยังไง แต่ในต่างประเทศ เขามีหน่วยงานที่ให้ทุนเอาหนังสือประเทศเขาไปแปล อย่างไต้หวัน ที่เขาส่งออกการอ่าน ตั้งแต่มีหน่วยงานจัดพิมพ์ แปลงานของเขา ให้คนประเทศอื่นรู้จักงานของนักเขียนไต้หวันมากขึ้น รวมทั้งมีการแปลหนังสือประเทศอื่นด้วย เพราะมันทำให้คนในประเทศได้เรียนรู้

        คุณจรัญ: ฉะนั้น ถ้าคุณมองข้ามการอ่านไป คุณจะไปคุยกับใครรู้เรื่อง เราไม่รู้จักเขา เขาไม่รู้จักเรา แต่ตอนนี้ไม่ต้องรอภาครัฐหรอก มันเริ่มมีสำนักพิมพ์จากต่างประเทศที่เขาติดต่อเอางานนักเขียนเราไปมากมาย อย่าง ปราบดา หยุ่น หรือ คุณวีรพร นิติประภา ที่งานของเขาก็ไปดังในต่างประเทศ แต่ภาครัฐไม่รู้ 

ดูเหมือนว่าเทศกาลหนังสือไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ระบายหนังสือของสำนักพิมพ์ แต่เป็นจุดเริ่มต้นในการให้คนได้ออกมาเจอความหลากหลาย ให้การอ่านกลายเป็นความปกติใหม่ในชีวิต

        คุณจรัญ: เราไม่ปฏิเสธว่าโลกออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราแล้ว นี่เป็นบริบทของคนยุคนี้ แต่ถ้าเราเชื่อว่าหนังสือมันคือเพื่อนแท้ เราก็อยากร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดวัฒนธรรมการอ่าน คู่แข่งหนังสือไม่ใช่อะไรเลย แต่คือเวลา ทำอย่างไรให้เขาหันมาสนใจหนังสือแทนหน้าจอ เราก็ค่อยๆ พยายามในส่วนของเรา พยายามทำให้หนังสือน่าสนใจ มีเทศกาลที่สนุก ที่ทำให้เขาอยากมาใช้เวลากับมัน เราไม่ต้องไปบังคับเขาหรอก เราทำส่วนของเราให้ดี แล้วปล่อยให้คนเขาอยากมาเอง